นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดในสิงค์โปร์ (ภายใน Bishan Public Public)

นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดในสิงค์โปร์ (ภายใน Bishan Public Public)

ดองอัลบั้มนี้มานานมาก จริงๆ ได้ภาพชุดนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 แต่เพิ่งจะนำมาลงให้เพื่อนๆ ชม
จริงๆ ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ “Bishan Public Library” ไปเมื่อปี 2012 ลองอ่านย้อนหลังที่
บรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดในสิงคโปร์ : Bishan Public Library

Read more

นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)

เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง

ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้

ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง

ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน

วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย

เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์

พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด

[nggallery id=63]

นายห้องสมุดพาเที่ยวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ม.ศิลปากร

ไม่ค่อยได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดนานแล้ว วันนี้จัดให้สักทริปแล้วกันครับ สำหรับวันนี้เราจะเข้าไปชมห้องสมุดในมหาวิทยาลัยกันบ้าง ที่นั่นคือ “หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาศิลปากร” ตามมาดูกันเลยดีกว่าครับ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหอสมุดแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาศิลปากร
ที่อยู่ : เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทรศัพท์ : 034-255092 / โทรสาร : 034-255092
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclib/
บล็อกของห้องสมุด : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog
Facebook ห้องสมุด : http://www.facebook.com/suslib.sanamchandra

หมายเหตุ ภาพห้องสมุดผมถ่ายเอาไว้นานแล้ว ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนไปบ้างหรือปล่าว

วันที่ไปเยี่ยมชมห้องสมุดแห่งนี้ ผมได้เดินทางไปพร้อมกับคณะเยี่ยมชมจากชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (ชบอ.) ซึ่งวันเดินทางไปตรงกับวันเสาร์ แต่ด้วยการนัดหมายที่ดีจึงได้เจอรุ่นพี่ มอ. บรรณารักษ์ (พี่ปอง) มาให้คำอธิบายและนำชมห้องสมุด แบบว่าแอบดีใจที่ได้เจอรุ่นพี่คนนี้มากๆ ด้วย

กระบวนการแรกก่อนเดินชมห้องสมุด พี่ปองได้พูดถึงภาพรวมของห้องสมุด รวมถึงกิจกรรมที่หอสมุดแห่งนี้ได้จัด ผมเองก็ได้เปิดมุมมองในเรื่องกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ของที่นี่ด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์จากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
– กิจกรรมยืมไม่อั้น (ช่วงปิดเทอม)
– การเดินแบบแฟชั่นหนังสือ
– การตกแต่งรถสามล้อด้วยหนังสือ
– กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในงานองค์พระ (งานประจำปีของจังหวัดนครปฐม)

ภายในอาคารหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ จริงๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 อาคารนะครับ
โดยอาคารแรกที่พวกเราเยี่ยมชมจะเป็นอาคาร 4 ชั้น โดยแบ่งการให้บริการดังนี้

อาคารชั้น 1 ประกอบด้วย
– รับฝากของ
– งานบริการยืม คืน (เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง)
– งานธุรการ
– หนังสืออ้างอิง
– โถงนิทรรศการ (ช่วงที่ไปมีการแสดงงานศิลปะด้วย)
– ร้านกาแฟ

อาคารชั้น 2 ประกอบด้วย
– หนังสือสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
– วิทยานิพนธ์
– บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า
– บริการฐานข้อมูล
– ถ่ายเอกสาร
– ห้องน้ำ
– ทางเชื่อมไปอาคาร มล.ปิ่น มาลากุล

อาคารชั้น 3 ประกอบด้วย
– หนังสือสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา
– หนังสือเยาวชน
– ปริญญานิพนธ์
– ห้องน้ำ

อาคารชั้น 4
– หนังสือสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา
– หนังสือภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส
– นวนิยาย
– ศูนย์ข้อมูลวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา
– ฝ่ายวิเคราะห์และทรัพยากรห้องสมุด

ส่วนอีกอาคารนึงก็คือ อาคาร มล.ปิ่นมาลากุล นั่นเอง (อันนี้ไม่ได้เยี่ยมชมทั้งตึก) ได้ชมแค่ชั้น 1 เอง เพราะเวลามีจำกัด แต่ก็ต้องบอกว่าแค่ชั้น 1 ก็สุดยอดแล้ว

ส่วนอื่นๆ ที่เดินดูแล้วชอบก็คงไม่พ้นป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในห้องสมุด เพราะอ่านแล้วโดนใจมาก เช่น แก้กรรมด้วยการออกสื่อ …..

เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสจะไปอีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลมาให้เพื่อนๆ อ่านอีก หวังว่าจะได้พบกันอีกเร็วๆ นี้นะครับพี่ปอง อิอิ
สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ และชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาด้วยนะครับที่เปิดโอกาสให้ผมไปเปิดหูเปิดตาบ้าง อิอิ

ภาพบรรยากาศหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ในกล้องผม

[nggallery id=61]

Libraryhub พาชมห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีอำเภอเมืองยะลา

ช่วงนี้ได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่บ่อยมาก และการลงพื้นที่ของผมก็ยังคงเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุดอยู่ เมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสไปที่จังหวัดยะลา จึงอยากนำเสนอห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา ให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชนแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา
ที่อยู่ : สำนักงาน กศฯ. จังหวัดยะลา 1 ถนนอาคารสงเคราะห์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://yala.nfe.go.th/lbckyala

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาเพิ่งเปิดให้ใช้บริการเมื่อต้นปี 2555

ลักษณะอาคาร : เป็นอาคารเอกเทศ มี 2 ชั้น
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย
– มุมหนังสือทั่วไป 000-999 , นวนิยาย
– มุมเด็กและครอบครัว
– มุมบริการอินเทอร์เน็ต
– มุมวารสาร / สิ่งพิมพ์
– ห้องนักเขียนเมืองยะลา

ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย
– ห้องใต้ร่มพระบารมี
– ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
– ห้องอาเซียนศึกษา


ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเด่นในหลายเรื่องซึ่งผมจะสรุปให้อ่านดังนี้

1. หน้าจอสืบค้นหนังสือแบบ touch screen
อันนี้ผมชอบเป็นการส่วนตัว โปรแกรมที่ใช้จริงๆ ก็เป็น PLS แต่อุปกรณ์ Hardware ของที่นี่เป็นเครื่องแบบระบบสัมผัสซึ่งใช้ง่ายพอควร

2. ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
ข้อมูลละเอียดดีและเป็นข้อมูลที่ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของเมืองยะลาได้ดีทีเดียว

3. ห้องอาเซียนศึกษา
แยกเป็นห้องเอกเทศมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนค่อนข้างครบ แถมด้วยการจัดห้องในลักษณะคล้ายๆ โรงภาพยนตร์ ซึ่งห้องนี้ใช้ประยุกต์ในการสอนภาษาได้ด้วย

4. พื้นที่บริเวณรอบนอกอาคาร
เป็นพื้นที่โล่งสามารถจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้

5. นอกรั้วของห้องสมุด มีการจัดกิจกรรม “เรียนรู้ภาษาอาเซียน”
ซึ่งมีการเปลี่ยนทุกสัปดาห์สัปดาห์ละคำ (สัปดาห์ที่ผมได้เป็น “คำขอบคุณ” ของทั้ง 10 ชาติอาเซียน)

เอาเป็นว่าพี่น้องที่อยู่แถวนั้นถ้ามีเวลาผมก็ขอแนะนำว่าเป็นห้องสมุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
ปล.อื่นๆ ก็คงเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไปผมไม่ขอบรรยายแล้วกัน

ชมภาพบรรยากาศห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาทั้งหมด

[nggallery id=59]

บรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดในสิงคโปร์ : Bishan Public Library

วันนี้นายห้องสมุดพาเที่ยวขอพาเพื่อนๆ ไปชมห้องสมุดในต่างประเทศบ้าง ซึ่งห้องสมุดที่ผมจะพาไปชมวันนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ห้องสมุดแห่งนี้โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมมากๆ และห้องสมุดแห่งนี้ คือ “Bishan Public Library

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดแห่งนี้
ห้องสมุด : Bishan Public Library
ที่อยู่ : 5 Bishan Place, #01-01, Singapore 579841
เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน 10.00 – 21.00 น.
การเดินทาง : สถานีรถไฟฟ้า Bishan

อย่างที่เกริ่นไว้แหละครับว่าห้องสมุดนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อาคารห้องสมุดเป็นเอกลักษณ์มากๆ แถมเป็นอาคารเอกเทศ (ห้องสมุดประชาชนของประเทศสิงคโปร์หลายแห่งมักอยู่ในห้างสรรพสินค้าและใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้า)

อาคารห้องสมุดประชาชน Bishan มี 5 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นใต้ดิน – ห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน – หนังสือเด็ก
ชั้น 1 เป็นโซนวารสาร นิตยสาร และเคาน์เตอร์บริการยืมคืน
ชั้น 2 มุมหนังสือนวนิยาย บันเทิงคดี
ชั้น 3 มุมหนังสือสารคดี และหนังสือทั่วไป และหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์
ชั้น 4 มุมหนังสือเยาวชน และโซนมัลติมีเดีย

จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมประทับใจ คือ
– มุมอ่านหนังสือหรือช่องทำงานส่วนตัว (ช่องที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารมีลักษณะเป็นช่องๆ กระจกสี) ซึ่งที่นี่เรียกว่า pods

– พื้นที่โซนเด็กที่แยกออกจากโซนอื่นๆ ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
– การให้บริการยืมคืนหนังสือด้วยตัวเองผ่านตู้ Kiosk หน้าห้องสมุด (บริการ 24 ชั่วโมงจริงๆ)

– บริการบรรณารักษ์ตอบคำถาม แม้ว่าเคาน์เตอร์บรรณารักษ์จะอยู่ที่ชั้น 1 แต่ในชั้นอื่นๆ ก็มีบริการถามบรรณารักษ์เช่นกัน โดยสามารถโทรภายในลงมาถามก็ได้ หรือจะถามผ่านระบบ FAQ ก็ได้

เอาเป็นว่าก็เป็นห้องสมุดที่ให้แง่คิดและไอเดียกับผมอีกแห่งหนึ่ง
ถ้ามีโอกาสก็อยากให้เพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมกันนะครับ

ชมภาพบรรยากาศที่ผมถ่ายมาได้ที่นี่

[nggallery id=57]

นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

นายห้องสมุดไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนานเลยนะครับ วันนี้ผมจึงขอนำเสนอห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ไปค่อนข้างบ่อยเช่นกัน นั่นคือ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” นั่นเอง เอาเป็นว่าในห้องสมุดแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้างไปอ่านกันดู

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (สังกัด กทม นะครับ) (ข้อมูลจากห้องสมุดประชาชนกรุงเทพฯ)

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ด้านหลังพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 และเปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดโดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 198 ตารางเมตร

การให้บริการภายในของห้องสมุดก็จะคล้ายๆ กับห้องสมุดประชาชนที่อื่นๆ นั่นแหละครับ เช่น

หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา

– บริการที่นั่งอ่านหนังสือ
– บริการยืมคืน
– บริการสื่อมัลติมีเดีย
– บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
– บริการหนังสืออ้างอิง
– บริการหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา (อันนี้เยี่ยมมากๆ)
– บริการมุมเด็ก
– บริการสอนใช้คอมพิวเตอร์
– บริการกาแฟ-เครื่องดื่ม
ฯลฯ อีกมากมาย ต้องลองไปใช้กันดูนะครับ

การสมัครสมาชิกเพียงแค่เพื่อนๆ นำบัตรประชาชนมา และเสียค่าสมาชิกเพียง 50 บาทต่อปี ก็จะได้รับบัตรสมาชิกอันแสนสวย
สมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการยืมหนังสือ 1 สัปดาห์ 4 เล่ม ครับ ถ้ายืมเกินก็เสียค่าปรับวันละ 1 บาทต่อ 1 เล่มครับ

เอาหล่ะครับ Hilight จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้
คือ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชน กับ บริษัท Microsoft นั่นเอง
แล้ว Microsoft มาช่วยอะไรห้องสมุดแห่งนี้บ้างหล่ะ …
– คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในมุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และห้องคอมพิวเตอร์
– CAI และสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta เพื่อการเรียนรู้มากมาย
– WIFI hotspot เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
– จัดบุคลากรมาสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ

มาที่นี่แล้วทำให้ผมรู้สึกว่า “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” ของกรุงเทพฯ มันช่างเป็นสถานที่ๆ เหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง แล้วไม่รู้จะทำอะไรก็มาลองใช้ห้องสมุดแห่งนี้ได้นะครับ

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี เปิดให้บริการ วันอังคาร – เสาร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 20.00 น. วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ปิดบริการในวันจันทร์ ติดต่อสอบถาม โทร. 02-252-8030

ชมภาพห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีทั้งหมดได้เลยครับ

[nggallery id=52]

พาชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติฉบับนายบรรณารักษ์พาเที่ยว

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวและเยี่ยมชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมา
จึงอยากแชร์ความคิดเห็นและนำเสนอรูปภาพภายในอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติให้เพื่อนๆ ได้เห็น

เพื่อนๆ หลายๆ คนคงทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้หอสมุดแห่งชาติได้มีการเปิดตัวอาคารใหม่ที่ได้จัดสร้างจนเสร็จและถยอยย้ายของ (หนังสือวิทยานิพนธ์ รายงานวิจัย หนังสือหายาก เอกสารโบราณ) มาไว้ที่นี่จนเสร็จ

การเดินทางมาที่นี่ผมยังคงใช้รถเมล์โดยสารสาย 9 เช่นเคย (วงเวียนใหญ่ – หน้าหอสมุดแห่งชาติ)

หอสมุดแห่งชาติด้านหน้าเมื่อเรามองเขาไป เราก็ยังคงเห็นอาคารเดิมอ่ะครับ (อาคารใหม่อยู่หลังอาคารเก่า)
เมื่อผ่านประตู รปภ. ก่อนเข้าไปในอาคารเก่า ผมก็สะดุดกับป้ายที่อยู่ที่โต๊ะของพี่ รปภ. มีข้อความสรุปง่ายๆ ว่า

หอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่ราชการ ไม่อนุญาตให้คนที่แต่งกายไม่สุภาพเข้ามาใช้บริการ……” (อันนี้เดี๋ยวผมขอยกยอดไว้เขียนวิจารณ์คราวหน้านะ)

เข้ามาดูที่ตึกใหม่กันดีกว่า หลักๆ แล้วแต่ละชั้นมีอะไรบ้าง

ชั้นที่ 1 บรรณารักษ์ในส่วนงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (งาน ISBN, CIP) + ห้องสมุดวชิรญาณ พื้นที่ลานเอนกประสงค์
ชั้นที่ 2 ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย
ชั้นที่ 3 ห้องบริการหนังสือหายาก
ชั้นที่ 4 ห้องจัดเก็บเอกสารโบราณ ตู้พระธรรม

หลักๆ ในวันนั้นผมลองเดินตรวจสอบจากชั้น 1 (ลานอเนกประสงค์) และ ชั้น 2 นะครับ (ชั้นอื่นๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดบริการอ่ะครับ)

การเดินทางเข้าไปที่อาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมีหลายวิธีครับ เช่น
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางห้องสมุดดนตรี
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางหอจดหมายเหตุ
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 1
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 2

ชั้น 1 วันอาทิตย์นี่แบบว่าอย่างเงียบเลย อาจเพราะว่าปิดไฟในลานอเนกประสงค์จึงทำให้มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การนั่งเล่นละมั้ง เดินอยู่คนเดียวแบบว่าน่ากลัวมากๆ เลย แม้ว่าจะเป็นอาคารใหม่ก็เถอะแต่ดูเงียบมากๆ

ชั้น 2 เป็นห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย แต่ถ้าเพื่อนๆ ต้องการจะค้นวิทยานิพนธ์ เพื่อนๆ ก็ควรปฏิบัติดังนี้

“ค้นคว้าวิทยานิพนธ์และรายงานวิจัย โปรดค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือชั้น 2 อาคารเดิม และจดเลขหมู่หนังสือหรือรหัสเลขและปีพ.ศ. ก่อนเข้าใช้บริการชั้น 2 อาคารใหม่”

ข้อความที่ผมนำมาลงนี้เป็นข้อความที่มาจากคำแนะนำที่ทางหอสมุดแห่งชาตินำมาติดไว้ที่ชั้น 1 และหน้าประตูห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของอาคารใหม่ด้วย

ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่าเพราะอะไร เอาเป็นว่าลองดูรูปนี้ครับ แล้วจะเข้าใจ

(ตึกใหม่แต่ระบบไอทียังไม่พร้อมครับ)

ภายในห้องวิทยานิพนธ์เข้าไปแล้วบรรยากาศดีกว่าอาคารเดิมเยอะมาก โต๊ะเก้าอี้เยอะมากๆ เลย ณ เวลาที่ผมเข้าไปนี้มีผู้ใช้บริการ 3 คน บวกบรรณารักษ์อีก 2 คน สรุปว่าห้องนั้นมีแค่ 6 คน (รวมผมด้วย) ห้องใหญ่บรรยากาศดี จริงๆ อยากให้มีการใช้เยอะๆ นะ จะได้คุ้มค่าไฟหน่อย แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปอ่ะครับ

การใช้บริการห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. สืบค้นวิทยานิพนธ์ที่ต้องการ (ที่อาคารใหม่นี้จะเก็บวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปี 2547 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากต้องการฉบับเก่ากว่านี้ต้องไปที่หอสมุดแห่งชาติ เขตลาดกะบัง เฉลิมพระเกียรติ)
2. กรอกแบบฟอร์มขอใช้บริการ (ใส่ชื่อ-นามสกุลผู้ที่ขอยืม, เลขหมู่และปีของหนังสือ)
3. รอบรรณารักษ์ไปหยิบ
4. แลกบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ที่เคาน์เตอร์
5. นำไปใช้ได้เลย
6. นำมาคืนที่เคาน์เตอร์เพื่อแลกบัตรคืน

หนังสือวิทยานิพนธ์ที่จัดเก็บที่นี่มีการลงเลขหมู่ในลักษณะนี้
ตัวอย่าง 054/51 = หนังสือวิทยานิพนธ์ปี 2551 เล่มที่ 54

เอาหล่ะครับวันนี้ก็ขอ Review เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ เนื่องจากเวลามีจำกัดมาก
วันหลังจะกลับมา Review แบบละเอียดอีกทีนึงแล้วกัน เอาเป็นว่าก็ขอชื่นชมในส่วนดีและขอติเพื่อปรับปรุงในส่วนที่ต้องเสริม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ

“เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงนามอนุมัติ ให้ก่อสร้างอาคารใหม่หอสมุดแห่งชาติด้วยงบประมาณ จำนวน 438,000,000 บาท (สี่ร้อยสามสิบแปดล้านบาท) และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2552 และเปิดให้ใช้บริเวณอาคารใหม่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554”

ชมภาพบรรยากาศอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด

[nggallery id=51]

วิจารณ์และพาชมห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคม

อย่างที่เมื่อวานได้เกริ่นเอาไว้ว่ามาบรรยายที่โรงเรียนค้อวังวิทยาคมทั้งที เลยขอเยี่ยมชมห้องสมุดในโรงเรียนนี้ดูบ้าง และขอเก็บภาพต่างๆ มาด้วย เพื่อลงในบล็อก Libraryhub วันนี้เลยขอทำตามสัญญาเอาเรื่องนี้มาลงให้อ่านและชมภาพกัน

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดที่จะพาไปชม
สถานที่ : ห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคม
ที่อยู่ : 85 หมู่.7 ตำบลค้อวัง อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร 35160
เว็บไซต์ : http://www.kww.ac.th/web54/index.php

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำอำเภอนะครับ ทำการสอนในระดับมัธยมศึกษา (ตั้งแต่ ม. 1- ม. 6) จำนวนนักเรียนรวมแล้วประมาณเกือบ 1000 คน

ห้องสมุดโรงเรียนแห่งนี้เพิ่งจะได้รับการพัฒนาและปรับปรุงด้านสถานที่หลายส่วนด้วยกัน เช่น มีการติดแอร์ในห้องสมุด และออกแบบมุมบริการต่างๆ ในห้องสมุดมากมาย

หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ครอบคลุมเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนหรืออ่านประกอบการเรียน มีการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบดิวอี้

การยืมคืนก็คงคล้ายๆ กับห้องสมุดโรงเรียนอื่นๆ แหละครับ คือ แบ่งการยืมคืนเป็นสองส่วนคือระดับนักเรียนและครูอาจารย์

จากการเดินสำรวจรอบๆ พบว่า
1. ชั้นที่เก็บจุลสาร จดหมายข่าวยังดูเละเทะไม่เรียบร้อย
คำแนะนำ = เลือกจัดเก็บข่าวสารที่มีประโยชน์ หรือ ตัดบทความที่น่าสนใจเก็บไว้ เพื่อทำกฤตภาคออนไลน์ต่อไป

2. การจัดนิทรรศการในห้องสมุดมีพื้นที่ค่อนข้างน้อย
คำแนะนำ = สามารถจัดวางนิทรรศการบนโต๊ะอ่านหนังสือได้เลย หรือทำป้ายคำคมที่เกี่ยวกับการอ่านมาแปะไว้บริเวณรอบๆ ห้องสมุด

3. มุมโต๊ะที่อ่านหนังสือค่อนข้างคมมาก (กลัวเด็กชนแล้วหัวจะแตก)
คำแนะนำ = หานวมมาหุ้มบริเวณมุมโต๊ะลดอันตรายที่จะเกิดขึ้น

***ผมคอมเม้นต์ให้ทางทีมงานห้องสมุดได้รับทราบแล้ว และคาดว่าจะมีการปรับปรุงเร็วๆ นี้

เอาเป็นว่าที่เหลือผมว่าก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะผู้ใช้บริการมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเหมือนกัน (สำหรับโรงเรียนต้องระวังมากๆ ด้วยเพราะ Tablet กำลังจะมา) ผมก็จะขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ บรรณารักษ์ทุกๆ คนด้วยเหมือนกัน

ปล. ที่ห้องสมุดไหนอยากให้ผมไปเยี่ยมชมและวิจารณ์ก็ติดต่อมาได้ครับยินดีมากๆ ถ้าไม่ไกลมากไม่คิดค่าบริการอยู่แล้ว อิอิ

ชมภาพห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคมทั้งหมดได้ที่นี่เลย

[nggallery id=48]

พาเที่ยวห้องสมุด SCG ? XP Library

พาเที่ยวห้องสมุดในวันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวของการไปเยี่ยมชมห้องสมุดของ SCG (XP Library)
จริงๆ แล้วผมไปเยี่ยมชมที่นี่มาเมื่อประมาณปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะว่าง เลยเอามาเล่าวันนี้
เอาเป็นว่าไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ ห้องสมุดแห่งนี้มีความพิเศษในหลายๆ อย่างยังไงบ้าง

ภายใน SCG XP ส่วนที่เป็นห้องสมุด (XP Library) จะอยู่ชั้น 2 และส่วนพื้นที่นิตยสาร (XP Magazine) จะอยู่ที่ชั้น 1


ห้องสมุด XP Library นี้เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบและตกแต่งภายในที่ดีมาก
บรรยากาศโดยทั่วๆ ไปภายในห้องสมุดเหมาะแก่การนั่งอ่านหนังสือมากๆ

การจัดหมวดหมู่หนังสือของที่นี่ไม่ได้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้หรือแอลซีหรอกนะครับ
แต่ที่นี่คิดการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบฉบับของตัวเอง (เพราะเป็นห้องสมุดเฉพาะ)

ซึ่งแยกหนังสือหลักๆ ออกเป็น
– สถาปัตยกรรม
– ออกแบบและตกแต่ง
– วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
– การจัดสวน
– การออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์

สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นห้องสำหรับคุยงานเป็นกลุ่ม (สำหรับปรึกษางาน)
และยังมีบริการถ่ายเอกสารและสแกนหนังสือด้วยนะครับ

ในส่วนที่เป็น XP Magazine มีระบบสืบค้นที่ค่อนข้างทันสมัยซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท HP ในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบหน้าจอสัมผัสและโปรแกรมที่พัฒนามาเพื่อการนำเสนอข้อมูลนิตยสาร (ต้องลองไปเล่นดูนะ สุดยอดจริงๆ)

ระบบสืบค้นหนังสือบนเว็บไซต์ก็ทันสมัยมากๆ
http://www.scgexperience.co.th/th/service/library.aspx

อ๋อ แต่ต้องบอกก่อนนะว่า ห้องสมุดแห่งนี้เข้าได้เฉพาะสมาชิก (SCG XP) เท่านั้นนะครับ
แต่สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถทดลองเข้าฟรีได้ 1 ครั้ง (คล้าย TCDC)

การเป็นสมาชิกของที่นี่ไม่ใช่แค่สมาชิกห้องสมุดนะครับ แต่ต้องเป็นสมาชิกของ SCG XP เลยซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย
โดยสมาชิกของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ
1. Student Member (200 บาทต่อ 1 ปี)
2. Customer Member (600 บาทต่อ 2 ปี)
3. Professional Member (1000 บาทต่อ 2 ปี)

สิทธิประโยชน์ที่เด่นๆ สำหรับสมาชิก
– ใช้บริการ มุม XP Magazine ได้ฟรี (นิตยสารดีๆ จากทั่วโลก เรื่องการออกแบบและตกแต่งกว่า 250 ชื่อเรื่อง)
– ใช้บริการ XP library ได้ (หนังสือด้านการออกแบบภายใน ตกแต่งสวน วิศวกรรมโยธา การสร้างบ้าน)
– Internet Wifi สามารถใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายได้วันละ 2 ชั่วโมง
– นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มภายใน XP Cafe ได้อีก
– ยิ่งไปกว่านั้นใช้เป็นบัตรลดในการซื้อหนังสือที่ Asia book ได้ด้วย

เอาเป็นว่าสำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็เข้าไปดูได้ที่
http://www.scgexperience.co.th นะครับ
เว็บไซต์ของส่วนงานห้องสมุด XP Libraryhttp://www.scgexperience.co.th/th/service/library.aspx

เป็นยังไงกันบ้างครับกับห้องสมุดแห่งนี้ ผมเองไม่ได้ไปมาปีกว่าๆ แล้ว แต่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายๆ ส่วนที่เปลี่ยนไป
และผมเชื่อว่าต้องเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นแน่ๆ ดังนั้นเพื่อนๆ คนไหนว่างก็แนะนำให้ไปชมนะครับ

ก่อนจากกันในวันนี้ก็ขอทิ้งท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายใน SCG XP และ XP library นะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อนไว้จะพาไปเที่ยวห้องสมุดที่อื่นๆ บ้างนะครับ อิอิ

ชมภาพบรรยากาศภายใน SCG XP และ XP library

[nggallery id=37]

แวะมาชมห้องสมุดศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

วันนี้มีโอกาสมาเดินเล่น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เลยขอแวะมาชมห้องสมุดของที่นี่สักหน่อย
ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ ชั้นใต้ดินของ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”


เอาเป็นว่าผมขอนำเสนอข้อมูลตามสไตล์บรรณารักษ์ที่ชอบเที่ยวห้องสมุดแล้วกัน ดังนี้

Collection หลักๆ ของหนังสือที่นี่มีดังนี้
– หนังสือทั่วไป
– นวนิยาย
– เรื่องสั้น
– พระราชนิพนธ์ (ไม่ให้ยืม)
– หนังสืออ้างอิง
(ไม่ให้ยืม)
– หนังสือด้านศิลปะ (Collection หลักในห้องสมุดแห่งนี้)
– หนังสือเด็ก (มีมุมพิเศษที่แยกออกจากโซนปกติ)

การจัดกิจกรรมของห้องสมุดแห่งนี้ก็จะเน้นในเรื่องของกิจกรรมด้านศิลปะเป็นหลัก (เข้ากับสถานที่)
เช่น การทำที่คั่นหนังสือ การทำโปสการ์ด ….. โดยกิจกรรมเหล่านี้เด็กๆ จะชอบมากๆ

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมด้านไอทีบ้าง เช่น ไอทีเพื่อคนรุ่นใหม่ ฯลฯ

การเข้าใช้บริการห้องสมุดของที่นี่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอด
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ห้องสมุดที่นี่ก็ขอความกรุณาให้ลงชื่อเข้าใช้ด้วย

ที่นั่งในห้องสมุดแห่งนี้มีเยอะมากและเลือกนั่งได้หลายแบบ เช่น โต๊ะอ่านเป็นกลุ่ม ที่นั่งแบบโซฟา ฯลฯ
จำนวนที่นั่งผมนับคร่าวๆ จำนวนเกือบๆ 100 ที่นั่ง
นับว่าเยอะดีครับ

บรรยากาศภายในก็เงียบสงบดี เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้สมาธิเพื่อการอ่านหนังสือ
นอกจากหนังสือที่ให้บริการแล้วที่นี่ยังมีคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการด้วยนะครับ

การสมัครสมาชิกก็เหมือนกับห้องสมุดในกรุงเทพแห่งอื่นๆ แหละครับ (สังกัดเดียวกัน)
คือสมัครสมาชิกปีนึง 10 บาท และค่ามัดจำหนังสือ 40 บาท รวมๆ แล้ว 50 บาทครับ
ผมว่าคุ้มค่ามากๆ ยืมหนังสือได้ 2 เล่ม 1 สัปดาห์ หากคืนเกินกำหนดก็จะปรับเล่มละ 1 บาทต่อ 1 วัน

ที่นี่มี WIFI ให้ใช้ด้วยนะครับ แต่ต้องมาแจ้งที่เคาน์เตอร์บริการทุกครั้ง
เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนรหัสสำหรับการเข้าใช้ทุกวัน
โดยเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนทุกวันเนื่องจากต้องการเก็บสถิติการใช้งาน Wifi ในห้องสมุดครับ

ห้องสมุดแห่งนี้มี facebook ด้วยนะ ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.facebook.com/artlibrary

เอาเป็นว่าหากใครว่างๆ และแวะมาเที่ยวแถวๆ นี้ ผมก็ขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้ไว้เป็นที่อ่านหนังสือดีๆ อีกที่หนึ่ง

สำหรับการเดินทางมาที่นี่ เพื่อนๆ สามารถดูคำแนะนำด้านล่างนี้ได้เลย
“หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน 10330 เปิดให้บริการในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ในเวลา 10.00-21.00 น. มีรถประจำทางสาย 11, 15, 16, 21, 25, 29, 34, 36, 47, 50, 54, 79, 93, 141, 204, 501 ผ่าน และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสถานีสยาม แล้วเดินมาตามทางเชื่อมเข้าสู่อาคารหอศิลปวัฒนธรรมฯ ได้เลย

ชมภาพบรรยากาศภายในห้องสมุดได้เลยครับ (ภาพบางส่วนผมนำมาจาก facebook ของห้องสมุดนะครับ)

[nggallery id=34]