โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (หลักสี่) รับสมัครบรรณารักษ์ด่วนที่สุด

วันศุกร์แบบเบาๆ อย่างนี้ ขอประชาสัมพันธ์เรื่องข่าวงานบรรณารักษ์ดีกว่า วันนี้เปิดเมล์แล้วมีคนฝากมาลง Libraryhub ก็เลยจัดให้ (แบบว่าวันนี้ใจดี) เป็นตำแหน่งงานบรรณารักษ์ เห็นบอกว่า รับด่วนที่สุด ใครสนใจก็อ่านต่อด้านล่างเลยนะครับ

ปล. ขอ Copy จากเมล์มาลงแล้วกันครับวันนี้

คุณวุฒิและคุณสมบัติ
1.ปริญญาตรีด้านบรรณารักษศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์, สารสนเทศศาสตร์ หรือ สารนิเทศศึกษา
2.มีประสบการณ์การทำงานในห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ
3.สามารถสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านการแพทย์ (E-Databases, E-Journals) ได้เป็นอย่างดี
4.สามารถใช้ภาษาอังกฤษทั้งการพูด อ่าน และเขียนได้เป็นอย่างดี
5.สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานได้เป็นอย่างดี
6.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กระตือรือร้น และรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
7.มีมนุษยสัมพันธ์ดี สุขภาพจิตและกายดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน้าที่และความรับผิดชอบโดยสังเขป
1.พัฒนาห้องสมุดของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้เป็นศูนย์ข้อมูลด้านโรคมะเร็งสำหรับคนไทย
2.บริหารจัดการห้องสมุดโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มุ่งเน้นเป็น electronic / digital library
3.จัดหาหนังสือ วารสาร หรือสื่อต่างๆ เช่น CD-Rom, DVD ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งเข้าห้องสมุดตามความเหมาะสม
4.จัดหมวดหมู่หนังสือแบบ (NLM – National Library of Medicine) และแบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกา (LC – Library of Congress Classification)
5.บริการยืม – คืน แก่บุคลากรโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
6.แนะนำและจัดอบรมการสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านการแพทย์
7.บริการและตอบคำถามและช่วยค้นคว้าข้อมูลทางการแพทย์
8.จัดหาข้อมูลทางการแพทย์เพื่อเข้าประชุมทางวิชาการต่างๆ เช่น Tumor Board, Journal Club
9.จัดบริการวารสารประจำสัปดาห์ (Journal Weekly) ให้แก่บุคลากรผ่านทาง E – mail

คุณสมบัติในการคัดเลือก
หากมีประสบการณ์ในการทำงานในห้องสมุดทางการแพทย์หรือศูนย์สารสนเทศทางการแพทย์ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

วิธีการสมัคร
วิธีที่ 1 สมัครด้วยตนเอง : งานบริหารทรัพยากรบุคคล อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชั้น 11
วิธีที่ 2 สมัครทางไปรษณีย์ : ส่งหลักฐานการสมัคร และจ่าหน้าซองตามที่อยู่ข้างล่างนี้ วงเล็บมุมซองว่าเอกสารสมัครงาน

ส่งที่ งานบริหารทรัพยากรบุคคล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชั้น 11 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

วิธีที่ 3 สมัครทาง E-Mail : ส่งหลักฐานการสมัคร และระบุหัวข้อ สมัครงาน ที่ E-Mail : hr_ccc@cccthai.org หรือ udomsups@hotmail.com

สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.cccthai.org/th_/subweb/hr/
โทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-576-6663-5

ใครสนใจก็ดำเนินการสมัครตามรายละเอียดข้างบนเลยนะครับ
ขอให้เพื่อนๆ โชคดีครับ

โรคทางมือที่อาจเกิดกับบรรณารักษ์ (Hand : Medical Librarian)

หัวข้อที่แปดแล้วนะครับมาอ่านสรุปงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” กันต่อเลย
หัวข้อ คือ โรคทางมือที่อาจเกิดกับบรรณารักษ์ (Hand : Medical Librarian)
วิทยาการโดย นายแพทย์สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์ กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิศสิน

หัวข้อนี้ถือว่าเป็นการเติมความรู้ในเรื่องของสุขภาพและการดูแลสุขภาพในวิชาชีพบรรณารักษ์
อาชีพของบรรณารักษ์เรามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับกระดูและข้ออย่างไร
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การยกของหนักก็ทำให้มีโอกาสที่จะบาดเจ็บข้อหรือกล้ามเนื้อเช่นกัน

โดยวันนี้ท่านวิทยากรขอแนะนำโรคทางมือที่อาจเกิดกับบรรณารักษ์

โรคที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ไม่ได้เกิดจากการยกของหนัก แต่การยกของหนักทำให้มีโอกาสเป็นได้ง่ายขึ้นก็เท่านั้นเอง

โรคนิ้วสะดุด

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– พบในวัยกลางคน
– เกิดอาการที่นิ้วแม่มือ, นิ้วนาง, นิ้วกลาง

การรักษา

-พักการใช้งานชั่วคราว
– ใส่เครื่องดามมือ
– ทานยาแก้อักเสบ
– ฉีดยาแก้อักเสบ (ฉีดสารสเตอรอยด์)
– ผ่าตัด

โรคอักเสบบริเวณข้อมือ

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– พบในวัยกลางคน

การรักษา

– พักการใช้งานชั่วคราว
– ใส่เครื่องดามมือ
– ทานยาแก้อักเสบ
– ฉีดยาแก้อักเสบ (ฉีดสารสเตอรอยด์)
– ผ่าตัด

โรคเส้นประสาทถูกกดทับ บริเวณข้อมือ

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– คนท้องหรือตั้งครรภ์เกิดบ่อยมาก
– เกิดอาการชาเป็นพักๆ ถ้าหนักๆ จะเกิดอาการชาแล้วไม่หาย

การรักษา

– การรักษาจากต้นทาง (สาเหตุ) เช่น ปรับปรุงวิธีทำงาน การปรับการนั่งทำงาน การวางมือบนแป้นคีย์บอร์ด
– ดามข้อมือ
– ทานยา ยาแก้อักเสบ วตามิน B6
– ผ่าตัด

โรคข้อเสื่อมทางมือ

ข้อมูลทั่วไป

– ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
– พบในวัยกลางคน
– ข้อนิ้วยึดติดในตอนเช้า
– ลักษณะนิ้วเก

การรักษาขั้นต้น

– แช่น้ำอุ่นๆ ช่วงเช้า 3-5 นาที

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มาจาก
– กรรมพันธุ์
– อายุ, เพศ, น้ำหนักตัว, ภาวะประจำเดือน
– การทำงาน

เอาเป็นว่ายังไงซะก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

ผู้ใช้บริการขอบอก : ห้องสมุดการแพทย์ที่ถูกใจผู้ใช้บริการ

สรุปหัวข้อที่เจ็ดของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
หัวข้อ คือ ห้องสมุดการแพทย์ที่ถูกใจผู้ใช้บริการ (Use the Medical Library ? : Resident)
วิทยาการโดย นายแพทย์ภัทรกานต์ สุวรรณทศ นักศึกษาแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลเลิศสิน

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ผมรู้สึกว่าฟังสบายที่สุดแล้วสำหรับการฟังสัมมนาวันนี้
เพราะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในการใช้ห้องสมุดการแพทย์ในมุมมองของผู้ใช้บริการ
อย่างที่บอกอ่ะครับว่าฟังง่าย แต่หัวข้อนับว่าเป็นประโยชน์เลยทีเดียว

วิทยากรได้นำภาพบรรยากาศในห้องสมุดการแพทย์มาให้พวกเราดู โดยเน้นที่รูปหนังสือเล่มใหญ่ๆ (หนังสือด้านการแพทย์ส่วนใหญ่เล่มใหญ่ หนา และหนัก) ทำให้ผู้ใช้บริการหลายคนไม่นิยมที่จะยืมหนังสือเหล่านี้ออกจากห้องสมุด ปัจจุบันนักศึกษาแพทย์หลายคนนิยมใช้ Ipad บ้าง Ebook reader บ้าง เพื่อที่จะใช้อ่าน E-book วิทยากรได้โชว์ว่าในเครื่องคอมตัวเองก็เก็บหนังสือ e-book มากมาย ราวๆ 400 กว่าเล่ม นี่ก็เป็นส่วนนึงที่อยากแสดงให้เห็นว่า “ใครจะไปแบกหนังสือในห้องสมุดบ้าง”

แล้วตกลง “มีห้องสมุดการแพทย์ไว้ทำไม” วิทยากรได้แบ่งการใช้งานห้องสมุดการแพทย์ออกมาเป็น 2 ส่วน คือ
– ใช้ในแง่แหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ วารสาร ฐานข้อมูล e-book ฯลฯ
– ใช้ในแง่ส่วนตัว เช่น พักผ่อน นัดพบ หาความรู้เพิ่มเติม

ห้องสมุดการแพทย์ในฝันตามสไตล์นักศึกษาแพทย์

1 การเป็นแหล่งข้อมูล (อันนี้เน้นการให้บริการทางเว็บไซต์ หรือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้) โดยห้องสมุดจะต้องมีฟีเจอร์เพิ่มเติม คือ

1.1 ระบบการค้นหาที่ใช้ง่าย และค้นหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 ระบบการสะสมองค์ความรู้ จัดเก็บข้อมูลได้เป็นระบบ
1.3 ระบบการสร้าง สามารถสร้างองค์ความรู้ หรือ มีพื้นที่ในการเขียนเรื่องต่างๆ ในเว็บห้องสมุด
1.4 ระบบการเผยแพร่ ถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้เพื่อให้ผู้อื่นได้อ่านและแสดงความคิดเห็นได้

2 สื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ เช่น

2.1 ไฟล์วีดีโอทางด้านการแพทย์ เช่น การผ่าตัด การรักษาเฉพาะที่ ฯลฯ
2.2 ไฟล์ภาพทางด้านการแพทย์ เช่น ภาพการวินิจฉัยโรคต่างๆ ฯลฯ
2.3 ไฟล์ฟิล์มภาพ X-ray เช่นภาพกระดูดหัก กระดูแตก กระดูกคต ฯลฯ

3 บรรยากาศภายในห้องสมุด

3.1 สถานที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้
3.2 สถานที่เงียบสงบ

4 ส่วนสนับสนุน

4.1 หนังสือพิมพ์
4.2 วารสาร
4.3 อินเทอร์เน็ตไร้สาย

5 อื่นๆ

5.1 ห้องน้ำ
5.2 ห้องอาหาร

นี่ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้ใช้บริการ หากเราสามารถทำตามความต้องการของผู้ใช้บริการได้ ห้องสมุดก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ตลอดไป นั่นแหละครับ

การจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในห้องสมุดการแพทย์

สรุปมาจนถึงหัวข้อที่หกแล้วนะครับสำหรับงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
หัวข้อ คือ IT Management in Medical Library (การจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในห้องสมุดการแพทย์)
วิทยากรโดย นายแพทย์ธีรชัย ยงชัยตระกูล หัวหน้ากลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงพยาบาลเลิศลิน กรมการแพทย์

หัวข้อนี้จริงๆ แล้วมีเนื้อหาคล้ายๆ ของผมเลย แต่มีเนื้อหาต่างกันอยู่บ้างแหละ
ซึ่งโดยหลักๆ ท่านวิทยากรได้เล่าภาพห้องสมุดออกมาเป็น 3 มุมมองใหญ่ๆ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต

หัวข้อที่บรรยายเป็นการจุดประเด็นให้คิดและวิเคราะห์ตาม
เพื่อทำให้เรา รู้จักอดีต / เข้าใจปัจจุบัน / คาดเดาอนาคต ของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์

ห้องสมุดสมัยโบราณ (Ancient Ages)
ห้องสมุดในอดีตคงต้องมองย้อนไปตั้งแต่เกิดห้องสมุดแห่งแรกของโลกบริเวณที่เกิดอารายธรรมเมโสโปเตเมียเลย (เมื่อ 4000 ปีก่อน) ในยุคนั้นมีการแกะสลักตัวอักษรลงในแท่นดินเหนียว ถัดมาจนถึงยุคของอียิปต์โบราณที่ใช้กระดาษปาปิรุสบันทึกข้อมูล ไล่มาเรื่อยๆ จนถึง Royal Library at Dresden ที่บันทึกข้อมูลด้วยหนังสัตว์ และมีการนำหนังสัตว์มาเย็บรวมกันที่เรียกว่า Codex เป็นครั้งแรก

ภาพ Codex จาก http://extraordinaryintelligence.com

ห้องสมุดในยุคกลาง
ในยุคนี้จะพูดถึงเรื่องทวีปยุโรปได้มีการจัดสร้างห้องคัดลอกหนังสือ (Scriptorium) ไล่ไปจนถึงจีนที่เริ่มมีการทำกระดาษครั้งแรกของโลก และการกำเนิดเครื่องพิมพ์เครื่องแรกของโลก โดย johannes gutenberg

ห้องคัดลอกหนังสือ จาก http://joukekleerebezem.com

ห้องสมุดในยุคใหม่
อันนี้เริ่มใกล้ตัวเราขึ้นมาหน่อย โดยนับเริ่มตั้งแต่การเกิด Library of congress ถัดมาก็เรื่องของการจัดหมวดหมู่หนังสือต่างๆ เช่น Dewey, UDC ไปจนถึงการเกิดโรงเรียนบรรณารักษ์ และการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือด้านบรรณารักษ์ระหว่างประเทศ…

คำอธิบาย หรือ ที่มาของคำว่า Librarian มีที่มาอย่างไร
Liber (Latin) = เปลือกด้านในของต้นไม้
Libraria (Latin) = ร้านหนังสือ
Librarie (anglo french)
Librarie (old-french) = cellection of books
Librarian = บรรณารักษ์
สมัยก่อนใช้คำว่า library-keeper

การจัดการสื่อในห้องสมุดจะเปลี่ยนไปแค่ไหน
– จากหนังสือ จะกลายเป็น Digital File
– จากชั้นหนังสือ จะกลายเป็น Storage Server

การจัดการด้านเครือข่ายในห้องสมุด
– การเข้าถึงข้อมูล จากต้องเข้ามาที่ห้องสมุด จะกลายเป็น เข้าที่ไหนก็ได้
– การเข้ารับบริการ จากต้องเข้าใช้ตามเวลาที่ห้องสมุดเปิด จะกลายเป็น เข้าได้ 24 ชั่วโมง

ท่านวิทยากรได้ยกตัวอย่างมาตรฐานของสมาคมห้องสมุด พ.ศ. 2552 โดยหมวดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะถูกแทรกอยู่ในหมวด 5, 7, 8

หลังจากที่พูดถึงภาพอดีตแบบกว้างๆ ไปแล้ว ทีนี้มาดูปัจจุบันกันบ้างดีกว่า

งานที่เกี่ยวกับสื่อในห้องสมุด และการบริการในห้องสมุด งานไอทีที่จำเป็นในงานดังกล่าวจะประกอบด้วย
– Server = ดูเรื่องของการจัดการ, ความปลอดภัย, ฐานข้อมูล
– Client = เครื่องของผู้เข้ารับบริการจะต้องเข้าใช้งานได้ ตรวจสอบผู้ใช้ได้
– Network = มีให้เลือกทั้งแบบมีสายและไร้สาย (ปัจจุบันรพ.เลิศสิน เช่น leased line)
– Content = content ทั้งหมดสามารถเข้าผ่าน intranet ได้
– Software


ตัวอย่างระบบห้องสมุดในอนาคตที่คาดว่าจะเป็น :-
*** อันนี้น่าสนใจมากครับ
– Berkeley (1996 โมเดลเก่าของเขา แต่ใหม่ของเรา)
– Harvard University “Library digital Initiative”
– Stanford University “Digital Repository”

ภาพโมเดล Stanford University "Digital Repository"

“IT จะรับหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลแทนห้องสมุด หนังสือจะเปลี่ยนเป็น สื่อที่ใช้เก็บเพื่ออ้างอิงและสะสม”
ห้องสมุดจะเปลี่ยนเป็นศูนย์การเรียนรู้ และ บรรณารักษ์จะเปลี่ยนเป็นนักสารสนเทศ

บรรณารักษ์การแพทย์กับเครือข่ายสังคมออนไลน์

ถึงคิวที่ผมจะต้องสรุปการบรรยายในส่วนของผมเองในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ภายใต้หัวข้อย่อย คือ E-Medical Librarian and Social Network
วิทยากร คือ ผมเองครับ (นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์) นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้


สำหรับหัวข้อที่ผมบรรยายก็มีสไลด์ประกอบ ซึ่งเพื่อนๆ ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

(บรรยายเรื่องเครื่องมือออนไลน์ ก็เลยขอนำมาเสนอเป็นตัวอย่าง อิอิ)

จริงๆ เรื่องที่ผมบรรยายให้ที่นี่ เป็นหัวข้อที่ผมบรรยายให้ห้องสมุดอื่นๆ ฟังบ่อยมาก
แต่ที่ไม่เหมือนที่อื่น คือ ปกติผมจะใช้เวลาบรรยายเรื่องนี้ 6 ชั่วโมง แต่สำหรับที่นี่ผมย่อเหลือ 1 ชั่วโมง
(เนื้อหาที่ผมเคยบรรยาย 6 ชั่วโมง ลองอ่านเรื่องเก่าดูที่ “สรุปการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians“)

เริ่มจากการพูดถึงคำว่า Cybrarian ว่ามีที่มาจากคำว่า Cyber + Librarian
นั่นก็หมายถึงบรรณารักษ์ในยุคไซเบอร์ หรือ ผมจะขอแทนว่าเป็น บรรณารักษ์ยุคใหม่แล้วกัน
โดยแน่นอนสิ่งที่บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีนอกจากความรู้ในด้านวิชาชีพของห้องสมุดแล้ว
ยังต้องมีความรู้รอบด้าน และติดตามข่าวสารใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะไอที

“ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที” ประเด็นอยู่ที่ว่างานในห้องสมุดปัจจุบันเกือบทุกส่วนต้องพึ่งพาไอทีหรือคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ งานบริหาร งานจัดทำรายการ ฯลฯ

“ไอทีสำหรับบรรณารักษ์” คงไม่ต้องถึงขั้นว่า เขียนโปรแกรม หรือ พัฒนาโปรแกรม เหมือนพวกโปรแกรมเมอร์หรอกนะครับ
แต่ผมแค่ต้องการให้เรารู้จักโปรแกรม เข้าใจโปรแกรม และนำโปรแกรมไปใช้งานให้ถูกต้องก็เท่านั้นเอง

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

เครื่องมือออนไลน์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาห้องสมุด (แบบฟรีๆ) มีดังนี้
– Blog
– E-mail
– MSN
– Twitter
– Facebook
– Youtube
– Flickr
– Slideshare (ตัวอย่างการใช้ดูจากไฟล์สไลด์ที่ผมบรรยายไว้ด้านบนเลยครับ)

ก่อนที่ผมจะมาบรรยายให้ที่นี่ฟัง ผมได้ศึกษาเว็บไซต์ของห้องสมุดการแพทย์หลายที่ และพบจุดที่ต้องปรับปรุงหลักๆ คือ กระดานถามตอบ (forum) ซึ่งปัจจุบันได้กล่าวเป็นที่อยู่ของพวกสแปมโฆษณาไปหมดแล้ว ผู้ดูแลต้องรีบดำเนินการปรับปรุงโดยด่วน และอีกจุดหนึ่งที่หลายๆ แห่งเป็น คือ การไม่อัพเดทเว็บไซต์มาเป็นปีๆ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาเจอแต่ข้อมูลเก่าๆ

ทางออกของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมขอแนะนำให้ลองนำบล็อกมาใช้แทนเว็บไซต์ห้องสมุด เนื่องจากอัพเดทง่าย ไม่ต้องมีความรู้เรื่องโปรแกรมก็สามารถอัพเดทเว็บไซต์ของห้องสมุดได้แล้ว

ปัจจุบันบล็อกถูกนำมาใช้หลากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น :-
1. การสร้างบล็อกขององค์กร
2. การสร้างบล็อกเพื่อกระจายข่าวสาร
3. การสร้างบล็อกเพื่อสร้างเครือข่าย
4. การสร้างบล็อกเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

บล็อกฟรีที่ผมแนะนำให้ใช้ คือ www.wordpress.com เพราะว่ามีลูกเล่นเยอะแถมคนเจอใน google ได้ง่ายอีกด้วย

ตัวอย่างบล็อกที่ผมแนะนำคือ บล็อกเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย http://www.libraryhub.in.th

เรื่องของบล็อกห้องสมุดหลายๆ แห่งชอบถามว่าเขียนเรื่องอะไรได้บ้าง ผมเลยทำตัวอย่างหัวข้อมาให้ดู ยังไงก็ลองเอาไปประยุกต์กันดูนะครับ
– รายชื่อหนังสือยอดนิยมในห้องสมุด ประจำเดือน….
– กิจกรรมในห้องสมุด ประจำเดือน….
– ประมวลภาพกิจกรรมวันเด็ก ณ ห้องสมุด
– แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
– แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
– ขอคำแนะนำ เรื่องหนังสือนิทานในห้องสมุดหลายเล่มถูกเด็กฉีก
– รวมภาพผลงานของเด็กๆ ที่เข้ามาวาดภาพ ระบายสีในห้องสมุด


เครื่องมือออนไลน์อีกตัวที่ไม่พูดไม่ได้แล้ว คือ Facebook

ห้องสมุดหลายๆ แห่งมี facebook แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร โพสแบบไหน
ดังนั้นผมจึงนำตัวอย่างการใช้งาน facebook มาให้ดู เช่น
– แนะนำหนังสือที่น่าสนใจในห้องสมุด
– ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น
– ทักทายพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการออนไลน์
– โปรโมทบล็อกหรือเว็บไซต์ของห้องสมุด
– เชิญเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้องสมุด
– ให้บริการออนไลน์
– โพสรูปกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุด

นอกจากนี้ยังได้แนะนำเรื่องการดูสถิติการเข้า facebook ของผู้ใช้บริการ หรือ สมาชิกได้
โดยการตั้ง page ของห้องสมุดแล้วดูที่ “ดูอย่างละเอียด” จะพบข้อมูลการเข้าใช้ของสมาชิกดังรูป

รณีศึกษาการใช้ facebook ที่น่าสนใจดูได้ที่
http://www.facebook.com/thlibrary (กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย)
http://www.facebook.com/groups/133106983412927/ (กลุ่ม Librarian in Thailand)
http://www.facebook.com/groups/183430135056067/ (ชมรมบรรณารักษ์การแพทย์)

จบจากเรื่อง facebook ก็ต่อในเรื่องที่ใกล้ๆ กัน คือ Twitter
ห้องสมุดหลายๆ แห่งไม่รู้จัด twitter ซึ่งผมก็อธิบายแบบง่ายๆ ว่า
Twitter เป็นการโพสประกาศแบบสั้นๆ 140 ตัวอักษร ให้คนที่เป็นเพื่อนเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร
การใช้งาน twitter ที่ผมขอแนะนำ คือ การนำมาใช้ในการถ่ายทอดสดการสัมมนา หรือ การจัดกิจกรรมในห้องสมุด

ปิดท้ายด้วยการนำเสนอการใช้ไอทีแบบง่ายๆ สร้างงานแบบสร้างสรรค์
(นำเสนอตัวอย่าง infographic ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งใช้แค่โปรแกรม powerpoint เท่านั้น)
ลองอ่านเพิ่มเติมและชมภาพ infographic ได้ที่ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

ทิ้งท้ายไว้สักนิดให้คิดแล้วกันครับว่า “เปิดใจ และตามมันให้ทัน เรื่องไอทีไม่ยากเหมือนที่คิด”

บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย

หัวข้อที่สี่ที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
คือ บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย
วิทยากรโดย นายแพทย์วุฒิชัย จตุทอง หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนวิชาการ โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์

หัวข้อนี้ผมได้อยู่ฟังนิดเดียวเอง เนื่องจากถูกเรียกไปคุยเรื่องการจัดตั้งชมรมบรรณารักษ์การแพทย์
ผมจึงขออนุญาติสรุปจากสไลด์ของท่านวิทยากรแล้วกันนะครับ ซึ่งก็อ่านแล้วพอได้สาระอยู่บ้าง

บรรณารักษ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการสนับสนุนการวิจัย เกี่ยวเพราะว่าเป็นตัวการในการค้นหาข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการ (คล้ายที่อาจารย์ทวีทองบอกครับ) เมื่อนายแพทย์จะทำงานวิจัยสักชิ้นก็จะมาหาข้อมูลที่ห้องสมุด บรรณารักษ์ก็จะช่วยค้นหาข้อมูลต่างๆ ให้ ถือว่าเป็นการสนับสนุนงานวิจัยได้แล้ว

ในโลกปัจจุบันที่มีสภาวะการแข่งขันสูง ท่านวิทยากรจึงนำรูปภาพมาเปรียบเทียบว่าถ้าเราอยากอยู่รอดในทะเล เราต้องเป็นฉลาม หรือไม่ก็เหาฉลาม ถึงจะอยู่รอดได้ เพราะถ้าเป็นปลาชนิดอื่นก็คงเป็นเหยื่อของปลาฉลามอยู่ดี

นักวิจัยต้องการอะไรจากห้องสมุด (บรรณารักษ์)
– หัวข้องานวิจัย / โจทย์งานวิจัย
– Review Literature
– การอภิปรายย่อยเป็นกลุ่มๆ
– ฐานข้อมูลสืบค้นออนไลน์
– ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานวิจัย (สำหรับผู้เริ่มต้นทำงานวิจัย)

นักวิจัยคิดอย่างไรกับห้องสมุด
– ห้องสมุดมีความสำคัญ และจะให้ประโยชน์กับนักวิจัยอย่างไร
– ห้องสมุดของหน่วยงานตัวเองดีกว่าห้องสมุดของหน่วยงานอื่นหรือไม่ อย่างไร
– ห้องสมุดมีเครือข่ายหรือไม่
– ห้องสมุดมีฐานข้อมูลอะไรบ้าง

แหล่งข้อมูลสำหรับงานวิจัยในห้องสมุด แบ่งออกเป็น

1. ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต : แหล่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจ เช่น

http://www.google.com
http://www.webmedlit.com
http://www.medmatrix.org
http://www.tripdatabase.com

2. เอกสารที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์โดยทั่วไป

– Grey Literature Report
– Netprints
– SIGLE
– CPG

3. ฐานข้อมูลการแพทย์ออนไลน์ ที่ควรรู้จัก เช่น

– Medline
– EMBASE
– CINAHL
– PsychInfo
– ERIC

การศึกษารูปแบบการวิจัยแบบ Systematic Review สามารถดูข้อมูลได้จาก
http://www.cochrane.org
http://www.york.ac.uk/inst/crd/welcome.htm
http://hstat.nlm.nih.gov
http://www.acpjc.org
http://www.clinicalevidence.com
http://www.uptodate.com

รูปแบบของการสืบค้นในฐานข้อมูลก็มีอยู่หลายแบบ เช่น การสืบค้นด้วยคำสำคัญ, การสืบค้นตามเงื่อนไข, การสืบค้นแบบไล่เรียง ฯลฯ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึในการค้นหา คือ เรื่องการตัดคำ หรือการใช้ธีซอรัส (ความสัมพันธ์ของคำสืบค้น)…..

การวิจัยกับบทบาทที่เปลี่ยนไปของบรรณารักษ์ยุคดิจิทัล
ในอดีตเราอาจจะถูกมองว่าเป็นผู้อนุรักษ์หรือผู้เก็บหนังสือ แต่ด้วยบทบาทในสังคมสมัยใหม่ทำให้เราได้เปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นผู้จัดการสารสนเทศ และทิศทางในอนาคตเราจะกลายเป็นผู้เอื้ออำนวยความรู้ (ผู้ชี้นำความรู้)

บรรณารักษ์จะสนับสนุนการทำวิจัยได้อย่างไร
– จัดหางานวิจัย และให้คำปรึกษาในการใช้งานวิจัย
– วิเคราะห์และจัดหมวดหมู่งานวิจัย
– พัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัย
– พัฒนาเครื่องมือเพื่อเข้าถึงงานวิจัย
– เผยแพร่งานวิจัย

ตัวอย่างกรณีศึกษาบรรณารักษ์กับการสนับสนุนงานวิจัย : บรรณารักษ์พบนักวิจัย สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการหาแหล่งข้อมูลเพื่อการวิจัย
– ให้คำแนะนำบริการ และการเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์
– แนะนำฐานข้อมูลที่ใช้เป็นแหล่งตรวจสอบการอ้างอิงผลงานทางวิชาการ (Citation analysis)
– จัดโปรแกรมฝึกอบรมเรียนรู้การใช้สารนิเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการค้นคว้าข้อมูล
– ประสานความต้องการระหว่างนักวิจัยกับสำนักหอสมุด

เป็นยังไงกันบ้างครับบทบาทของบรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนการวิจัย
บทบาทนี้ผมว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเหล่าบรรณารักษ์ในสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างดีที่เดียว
ยังไงก็ลองทำความเข้าใจและเอาไปประยุกต์ใช้กันดูนะครับ

แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน

หัวข้อที่สองของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่ผมจะสรุป
คือ แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน
วิทยากรโดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอีกหัวข้อหนึ่ง (จุดประสงค์ที่ผมมาฟังตั้งแต่เช้าก็เพื่อหัวข้อนี้โดยเฉพาะนั่นแหละครับ)

ท่านวิทยากรขึ้นมาเกริ่นถึงประวัติการทำงานของตัวเอง (ซึ่งเยอะมากๆ เลย)
นอกจากนี้ยังมีผลงานทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมายด้วย เช่น โปรแกรมที่ในวงการแพทย์รู้จักดี UCHA

ท่านได้เล่าถึงความประทับใจและกล่าวขอบคุณบรรณารักษ์การแพทย์คนหนึ่ง
ซึ่งย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เครื่อง Electroconvulsive therapy หรือ เครื่อง ECT ซึ่งมีราคา 300,000 บาท (ในช่วงนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือที่แพงมากๆ) ท่านจึงอยากศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่อง ECT บ้าง โดยที่เริ่มจากการค้นหาข้อมูลของเครื่อง ECT ซึ่งท่านก็ได้ขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์คนนั้นให้รวบรวมข้อมูลให้หน่อย ซึ่งผลปรากฎว่าบรรณารักษ์คนนั้นใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็สามารถรวบรวมข้อมูลได้เกือบทั้งหมด (ตอนแรกอาจารย์ทวีทองคิดว่าคงประมาณสองสัปดาห์จึงจะได้อ่าน) เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ มาแล้วอาจารย์ก็ได้วิจัยและพัฒนาจนทำให้สามารถประดิษฐ์เครื่อง ECT ได้ในราคาแค่ 300 บาท

เป็นยังไงกันบ้างครับ เห็นยังว่า บรรณารักษ์ในวงการแพทย์สามารถสนับสนุนการทำงานของแพทย์ได้อย่างไร
จากสไลด์ของอาจารย์ ผมจึงขอนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ บรรณารักษ์ และสิ่งที่ได้มา ให้ดูตามภาพได้เลย

ต่อมาอาจารย์ก็ได้เห็นความสำคัญของงานห้องสมุดกับการบริการฐานข้อมูลการแพทย์

จนในปี 2541 ที่ท่านวิทยากรมาอยู่ที่กรมควบคุมโรค จึงได้มีการจัดซื้อฐานข้อมูล full text ของวารสารการแพทย์ เพื่อให้บริการ โดยรูปแบบการให้บริการก็ คือ แพทย์ พยาบาล บุคลากรในหน่วยงาน สามารถติดต่อขอใช้บริการฐานข้อมูล Full text มาที่ห้องสมุดกรมควบคุมโรค (ผ่าน จดหมาย แฟกซ์ อีเมล์) แล้วทางบรรณารักษ์ก็จะค้นข้อมูลและจัดส่งเนื้อหาไปให้

แต่ผลที่ได้ คือ 1 ปีมีคนค้นหาเพียงแค่ 53 เรื่องท่านั้น เนื่องจากปัญหาของการซื้อฐานข้อมูลต้องดูเรื่องจำนวนสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานข้อมูลด้วย ดังนั้นนอกหน่วยงานจึงไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ จึงทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าที่ควร

ในปี 2549 กรมการแพทย์ได้ลงทุนในการซื้อฐานข้อมูล E-Journal ในราคา 3 ล้านบาท โดยรูปแบบการให้บริการยังคงคล้ายๆ กับการให้บริการในปี 2541 แต่คราวนี้นำเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ intranet และ VPN เข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้แพทย์สามาารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้เมื่ออยู่ในกรมการแพทย์ ส่วนแพทย์ที่อยู่นอกองค์กรก็สามารถใช้ VPN เข้ามาใช้งานฐานข้อมูลได้ด้วย

ผลที่ได้ จำนวนการเข้าถึงฐานข้อมูลมีมากขึ้นแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนอีกเช่นเคย เนื่องจากการใช้ VPN มากๆ บริษัทผู้ขายก็แจ้งเตือนจำนวนการใช้งานมาเป็นระยะๆ และการต่อ VPN เองก็ค่อนข้างซับซ้อน

ในปี 2554 กรมการแพทย์จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องของฐานข้อมูลการแพทย์ โดยที่ขอความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ หรือ สถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ที่ใหญ่ๆ เพื่อนำฐานข้อมูลมารวมกันและให้บริการแก่หน่วยงานที่ขาดงบประมาณ รูปแบบการทำงานแบบง่ายๆ คือ หน่วยงานที่มีฐานข้อมูลนำฐานข้อมูลมาลงไว้ที่ส่วนกลางที่เดียวและสะสมข้อมูลไปเรื่อยๆ การให้บริการก็สามารถทำได้โดยการใช VPN หรือส่งคำข้อผ่านทาง webboard, email ก็ได้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ลดต้นทุนเรื่องการบอกรับฐานข้อมูลแบบ full text และจำนวนการใช้งานฐานข้อมูลก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย

สิ่งที่มุ่งหวังจากการพัฒนาฐานข้อมูล Full text ร่วมกันคือ นักวิชาการเก่ง หมอเก่ง พยาบาลเก่ง ซึ่งจะทำให้องค์กรเก่ง กรมเก่งไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่เก่งก็เพราะว่าบรรณารักษ์นั่นเอง

ปัจจุบัน Elibrary ของกรมการแพทย์ คือ http://www.dms.moph.go.th

แนวคิดระบบข้อมูลใหม่ของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– อยากรู้อะไรต้องได้รู้
– ทำได้ด้วยตนเอง
– เรียนรู้ง่าย จำนวนคลิ๊กที่เข้าถึงข้อมูลต้องน้อยที่สุด
– เมื่อส่งคำถามแล้วต้องได้คำตอบเดี๋ยวนั้นเลย
– ทำกราฟ และสถิติได้หลายรูปแบบ
– ฟรี ไม่ต้องตั้งงบประมาณ

แนวคิดเสริมของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– โปรแกรมเดียวสามารถใช้ได้ทุกงาน
– ฝึกอบรมรอบเดียวก็เพียงพอ
– ไม่ต้องสร้างหลายโปรแกรม
– ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ก็สามารถใช้งานได้
– พัฒนาต่อยอดได้เรื่อยๆ
– ประหยัดงบประมาณ
– มาตรฐานด้านเทคโนโลยี

ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำโปรแรกม UCHA ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับระบบห้องสมุดได้ด้วย
ใช้งานได้ง่ายแถมครอบคลุมการทำงานในโรงพยาบาลได้อีก ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว

สามารถหาอ่านข้อมูลโปรแกรม UCHA ได้เพิ่มเติมที่ http://110.164.65.40/wiki/doku.php

กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์

หัวข้อแรกที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์
คือ กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์ (KPI สำหรับบรรณารักษ์แพทย์)
วิทยากรโดย นางสาวนุชนาท บุญต่อเติม ข้าราชการบำนาญ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายในหัวข้อนี้ วิทยากรได้ถามคำถามชี้นำว่า “การประเมินผลการปฏิบัติงานมีความสำคัญอย่างไร และ เราเองที่ได้มาฟังการบรรยายในวันนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไหน”

สิ่งที่เราต้องรู้จักก่อนจะเข้าเรื่องการประเมินผลงาน คือ ตัวประเมิน หรือ งานที่เราจะใช้ประเมิน
ซึ่งทำความเข้าใจง่ายๆ คือ งานที่เราได้ทำให้องค์กรมีอะไรบ้าง และงานไหนที่เป็นงานหลัก งานรอง หรืองานจร บ้าง
เราต้องรู้จักเรียงลำดับความสำคัญของงานให้ได้ ว่างานไหนสำคัญมากหรือน้อย ซึ่งแต่ละช่วงเวลาในการประเมินจะไม่เหมือนกัน

เช่น ปีก่อนเราถูกมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยนักวิจัย (งานประเมินในปีนั้นก็อาจจะนำเรื่องนี้มาประเมินได้) ปีนี้เราถูกมอบหมายให้ดูเรื่องการสร้างเครือข่ายกลุ่มงาน (งานประเมินในปีนี้ก็จะนำเรื่องนี้มาประเมินได้เช่นกัน) ดังนั้นจะสังเกตว่า ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ตัวประเมินไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวเดียวกันเสมอ

ตัวประเมิน หรือ งานที่เราจะใช้ประเมินในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 7 ตัว (รวมกับสิ่งที่องค์กรกำหนดมาให้แล้ว)

การประเมินผลงานในระดับบุคคล คือ การวัดผลการปฏิบัติงานของบุคลากรคนหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามลักษณะงานของบุคลากรนั้น

วัตถุประสงค์ของการประเมิน สามารถมองได้ 2 มุม คือ
– มุมมองขององค์กร – ผู้บังคับบัญชา
– มุมมองของบุคลากร

องค์ประกอบของการประเมิน มีดังนี้
1. ผู้ประเมิน
2. ผู้ถูกประเมิน
3. เกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมิน
5. การให้คำปรึกษา
6. การใช้ประโยชน์

KPI = Key Performance Indicator = ตัวชี้วัดผลงาน
ก่อนอื่นเราต้องมานั่งดู PI เป็นหลัก ซึ่งหมายถึง กิจกรรม หรือ งานประจำวัน ซึ่งหลักๆ แล้วนั่นคือ job descriptions นั่นเอง

ขั้นตอนการหา KPI
1. จัดกลุ่มงาน = เอา job descriptions มาดูแล้ว จัดกลุ่มงานที่มีความใกล้เคียงกันอยู่ในชุดเดียวกัน
2. ผลที่คาดหวัง = ให้วิเคราะห์ผลที่คาดหวังจากแต่ละกลุ่มงาน ส่วนนี้อาจจะใช้เครื่องมือเพิ่ม คือ Balance Scorecard***
3. ตัวชี้วัดผลงาน (ดูที่ PI เป็นหลัก) = ให้นำผลที่คาดหวังมาวัดผลโดยกำหนดคะแนนตาม ร้อยละของงาน, สัดส่วนของงาน, ระยะเวลา, มูลค่า, จำนวน
4. ตัวชี้วัดผลงานหลัก = ให้เลือกตัวชี้วัดผลงานหลักของตำแหน่งงานออกมา 3-7 ตัว เพื่อพิจารณาอีกที โดยดูจากความสำคัญของผลงานที่มีต่อองค์กรมากที่สุด

***Balanced Scorecard ของ ก.พ.ร.นำมาใช้ในการบริหารภาครัฐของไทย ได้มีการกำหนดกรอบ 4 มิติ ดังนี้ (1) คุณค่าด้านประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ (2) คุณค่าด้านคุณภาพการบริการ (3) คุณค่าด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และ (4) คุณค่าด้านการพัฒนาองค์การ

หลักการของ S-M-A-R-T
S = Specific = ชัดเจน ไม่คลุมเครือ
M = Measurable = วัดผลได้
A = Achievable without compromising another result = สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ
R = Realistic = สามารถทำได้จริงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
T = Time framed = มีการกำหนดเวลาที่แล้วเสร็จแน่นอน

ตัวอย่าง KPI ของห้องสมุดแพทย์
– ร้อยละของการค้นหาเอกสารทางการแพทย์ได้ทันเวลาที่กำหนด
– ร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อการบริการของห้องสมุด
– ร้อยละของการส่งหนังสือสำรองตามกำหนดยืม
– ร้อยละของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการซ่อมแซมหนังสือชำรุด
– ร้อยละของการสรรหาหนังสือที่ได้รับอนุมัติให้ทันตามเวลาที่กำหนด
– ร้อยละความสำเร็จของการพัฒนา website
– ร้อยละของจำนวนหนังสือหายในห้องสมุด
ฯลฯ

สรุปเนื้อหาจากการฟังและจากสไลด์คงได้เท่านี้นะครับ เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการบรรยายค่อนข้างสั้นจึงได้ข้อมูลเพียงเท่านี้ แต่จากการดูสไลด์บรรยายยังเหลือข้อมูลอีกมากเลยครับ เอาไว้ถ้าทางเจ้าภาพนำสไลด์ขึ้นเมื่อไหร่ผมจะนำมาลงให้ชมอีกทีแล้วกันครับ

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”

วันก่อน (วันที่ 2-3 สิงหาคม 54) ได้รับเกียรติให้ขึ้นบรรยายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์ เป็นคนจัดงาน หลายคนเลยสงสัยว่าผมไปเกี่ยวกับห้องสมุดการแพทย์ได้อย่างไร ผมเลยขอนำเรื่องราวที่ได้ไปร่วมมาเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมได้อ่านกัน

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอบรมชมเชิงปฏิบัติการ
ชื่องานภาษาไทย : การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์ รุ่นที่ 3
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Value Added for Medical Librarian
วันที่จัดงาน : 1-3 สิงหาคม 2554 (4-6 สิงหาคม 2554 ศึกษาดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์)
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมกาญจนาภิเษก ชั้น 25 โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์
ผู้จัดงาน : โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์

เอาหล่ะครับ ขอตอบคำถามแรกก่อนดีกว่าว่า “ผมไปเกี่ยวอะไรกับบรรณารักษ์การแพทย์ และทำไมถึงถูกเชิญมาบรรยายในงานนี้ด้วย” หลักๆ แล้วถูกเชิญเพราะว่าพี่บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดของโรงพยาบาลเลิศสินส่งเมล์มาเชิญ ซึ่งตอนแรกๆ ก็งงเหมือนกันว่าผมจะไปบรรยายได้หรอ เพราะผมเองไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์มากก่อนเลย แต่หัวข้อที่บรรยายก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับ “บรรณารักษ์การแพทย์กับการประยุกต์ใช้งานด้านไอที” เลยรู้สึกว่าเข้ากับตัวเองมากขึ้น ยิ่งได้รู้โครงการที่จะตั้งชมรมบรรณารักษ์การแพทย์ด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกว่าห้องสมุดในกลุ่มการแพทย์น่าสนใจมากเลยทีเดียว เลยตอบรับเข้าร่วมงานในครั้งนี้

งานที่เป็นการบรรยายจะมีแค่วันที่ 1 – 3 สิงหาคมเท่านั้น ซึ่งผมเองได้เข้าร่วมแค่วันที่ 2 – 3 สิงหาคม (วันที่ 1 สิงหาคมป่วยครับ)
ผมก็คงจะสรุปเนื้อหาได้แค่ของวันที่ 2 และ 3 เท่านั้นนะครับ ยังไงก็ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยล่วงหน้าเลยแล้วกัน

หัวข้อที่บรรยายอยากบอกว่าเยอะมากๆ เลยครับ เอางี้ดีกว่า ผมขอแยกเป็นตอนๆ ให้อ่านแล้วกันนะครับ โดยหัวข้อที่ผมสรุปมาก็มีดังนี้

กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์ โดย นางสาวนุชนาท บุญต่อเติม
แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน โดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล
การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ โดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม
บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย โดย นายแพทย์วุฒิชัย จตุทอง
E-Medical Librarian and Social Network โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์
IT Management in Medical Library โดย นายแพทย์ธีรชัย ยงชัยตระกูล
Use the Medical Library ? : Resident  โดย นายแพทย์ภัทรกานต์ สุวรรณทศ
Hand ? Medical Librarian  โดย นายแพทย์สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์
การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์

เอาเป็นว่าภายในอาทิตย์นี้ ผมจะสรุปหัวข้อต่างๆ ลงในบล็อก Libraryhub นะครับ
อยากให้เพื่อนๆ ค่อยๆ ติดตาม เพราะจะได้อ่านและคิดตามไปด้วยกัน
ผมว่าห้องสมุดในกลุ่มการแพทย์มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจมากๆ เยอะเลย

ปล. วันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อน เรื่องไหนที่เขียนแล้ว ผมจะนำ link มาไว้ที่บล็อกนี้แล้วกันนะครับ
สำหรับภาพในวันงานทั้งหมดเพื่อนๆ ติดตามได้จากด้านล่างนี้เลยแล้วกันนะครับ

ภาพบรรยากาศในงานการเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์ รุ่นที่ 3

[nggallery id=45]