ดองอัลบั้มนี้มานานมาก จริงๆ ได้ภาพชุดนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 แต่เพิ่งจะนำมาลงให้เพื่อนๆ ชม
จริงๆ ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ “Bishan Public Library” ไปเมื่อปี 2012 ลองอ่านย้อนหลังที่
บรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดในสิงคโปร์ : Bishan Public Library
พาเที่ยว
นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)
เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง
ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้
ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง
ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)
อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน
วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย
เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์
พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน
เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ
ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด
[nggallery id=63]
บรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดในสิงคโปร์ : Bishan Public Library
วันนี้นายห้องสมุดพาเที่ยวขอพาเพื่อนๆ ไปชมห้องสมุดในต่างประเทศบ้าง ซึ่งห้องสมุดที่ผมจะพาไปชมวันนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ห้องสมุดแห่งนี้โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมมากๆ และห้องสมุดแห่งนี้ คือ “Bishan Public Library”
ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดแห่งนี้
ห้องสมุด : Bishan Public Library
ที่อยู่ : 5 Bishan Place, #01-01, Singapore 579841
เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน 10.00 – 21.00 น.
การเดินทาง : สถานีรถไฟฟ้า Bishan
อย่างที่เกริ่นไว้แหละครับว่าห้องสมุดนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อาคารห้องสมุดเป็นเอกลักษณ์มากๆ แถมเป็นอาคารเอกเทศ (ห้องสมุดประชาชนของประเทศสิงคโปร์หลายแห่งมักอยู่ในห้างสรรพสินค้าและใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้า)
อาคารห้องสมุดประชาชน Bishan มี 5 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นใต้ดิน – ห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน – หนังสือเด็ก
ชั้น 1 เป็นโซนวารสาร นิตยสาร และเคาน์เตอร์บริการยืมคืน
ชั้น 2 มุมหนังสือนวนิยาย บันเทิงคดี
ชั้น 3 มุมหนังสือสารคดี และหนังสือทั่วไป และหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์
ชั้น 4 มุมหนังสือเยาวชน และโซนมัลติมีเดีย
จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมประทับใจ คือ
– มุมอ่านหนังสือหรือช่องทำงานส่วนตัว (ช่องที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารมีลักษณะเป็นช่องๆ กระจกสี) ซึ่งที่นี่เรียกว่า pods
– พื้นที่โซนเด็กที่แยกออกจากโซนอื่นๆ ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
– การให้บริการยืมคืนหนังสือด้วยตัวเองผ่านตู้ Kiosk หน้าห้องสมุด (บริการ 24 ชั่วโมงจริงๆ)
– บริการบรรณารักษ์ตอบคำถาม แม้ว่าเคาน์เตอร์บรรณารักษ์จะอยู่ที่ชั้น 1 แต่ในชั้นอื่นๆ ก็มีบริการถามบรรณารักษ์เช่นกัน โดยสามารถโทรภายในลงมาถามก็ได้ หรือจะถามผ่านระบบ FAQ ก็ได้
เอาเป็นว่าก็เป็นห้องสมุดที่ให้แง่คิดและไอเดียกับผมอีกแห่งหนึ่ง
ถ้ามีโอกาสก็อยากให้เพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมกันนะครับ
ชมภาพบรรยากาศที่ผมถ่ายมาได้ที่นี่
[nggallery id=57]
นายห้องสมุดพาชม พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
นานๆ ทีจะมีโอกาสออกไปดูงานนอกสถานที่ วันนี้ผมมีอีกสถานที่นึงที่น่าสนใจมาฝาก
นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “The Jim Thompson House”
สถานที่นี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น…
– เรือนไทยที่มีการผสมผสานของชีวิตความเป็นอยู่อย่างคนตะวันตก
– เรื่องราวของสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในบ้านหลังนี้
– ความเป็นมาและเรื่องราวความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านหลังนี้ (คุณจิม)
ฯลฯ
เรื่องราวชีวประวัติของคุณจิมทอมป์สัน (เจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน) เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ
ตั้งแต่เรื่องของการก่อสร้างเรือนไทยหลังนี้ การทำงานของคุณจิม รวมถึงเรื่องของวงการอุตสาหกรรมผ้า
เรื่องที่คุณจิมหายสาบสูญนี่ก็เป็นอีกประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
การเดินในบ้านจิม (พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน) ครั้งนี้
จากเรื่องข้อมูลต่างๆ และรูปแบบของการจัดเรือนไทยทำให้ผมขนลุกอยู่ตลอดเวลา
(ที่ขนลุกนี้ไม่ได้หมายความว่าเพราะเรื่องไม่ดีนะครับ แต่เป็นเรื่องรายละเอียดในบ้านหลังนี้ต่างหาก)
การเข้าชมบ้านหลังนี้ต้องเสียค่าเข้าชมด้วยนะครับ
ผู้ใหญ่ 100 บาท และเด็ก 50 บาท ครับ
ซึ่งการเข้าชมจะมีไกด์เดินพานำชมและเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยนะครับ
ภายในเรือนไทยหลัก (ตัวบ้านหลัก) ไม่ให้ถ่ายภาพนะครับ แต่เพื่อนๆ สามารถถ่ายภาพจากนอกอาคารเข้ามาในตัวบ้านได้
สาเหตุก็เพราะว่า ถ้าเราเข้าไปถ่ายภาพอย่างนี้เราจะไม่ตั้งใจฟังเรื่องราวจากไกด์ไงครับ
เอาเป็นว่าถ้าใครพอมีเวลาว่างและสะดวกผมก็ขอแนะนำให้เป็นสถานที่ที่เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่ดีแห่งหนึ่งนะครับ
การเดินทางบอกตรงๆ ว่านั่งรถไฟฟ้าไปก็สะดวกครับ ลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติและเดินอีกนิดก็ถึงและ
สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมของ “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน”
สามารถชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.jimthompsonhouse.com/thai/index.asp
ชมภาพบรรยากาศใน “พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน” ทั้งหมด
[nggallery id=53]
พาชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติฉบับนายบรรณารักษ์พาเที่ยว
วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวและเยี่ยมชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมา
จึงอยากแชร์ความคิดเห็นและนำเสนอรูปภาพภายในอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติให้เพื่อนๆ ได้เห็น
เพื่อนๆ หลายๆ คนคงทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้หอสมุดแห่งชาติได้มีการเปิดตัวอาคารใหม่ที่ได้จัดสร้างจนเสร็จและถยอยย้ายของ (หนังสือวิทยานิพนธ์ รายงานวิจัย หนังสือหายาก เอกสารโบราณ) มาไว้ที่นี่จนเสร็จ
การเดินทางมาที่นี่ผมยังคงใช้รถเมล์โดยสารสาย 9 เช่นเคย (วงเวียนใหญ่ – หน้าหอสมุดแห่งชาติ)
หอสมุดแห่งชาติด้านหน้าเมื่อเรามองเขาไป เราก็ยังคงเห็นอาคารเดิมอ่ะครับ (อาคารใหม่อยู่หลังอาคารเก่า)
เมื่อผ่านประตู รปภ. ก่อนเข้าไปในอาคารเก่า ผมก็สะดุดกับป้ายที่อยู่ที่โต๊ะของพี่ รปภ. มีข้อความสรุปง่ายๆ ว่า
“หอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่ราชการ ไม่อนุญาตให้คนที่แต่งกายไม่สุภาพเข้ามาใช้บริการ……” (อันนี้เดี๋ยวผมขอยกยอดไว้เขียนวิจารณ์คราวหน้านะ)
เข้ามาดูที่ตึกใหม่กันดีกว่า หลักๆ แล้วแต่ละชั้นมีอะไรบ้าง
ชั้นที่ 1 บรรณารักษ์ในส่วนงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (งาน ISBN, CIP) + ห้องสมุดวชิรญาณ พื้นที่ลานเอนกประสงค์
ชั้นที่ 2 ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย
ชั้นที่ 3 ห้องบริการหนังสือหายาก
ชั้นที่ 4 ห้องจัดเก็บเอกสารโบราณ ตู้พระธรรม
หลักๆ ในวันนั้นผมลองเดินตรวจสอบจากชั้น 1 (ลานอเนกประสงค์) และ ชั้น 2 นะครับ (ชั้นอื่นๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดบริการอ่ะครับ)
การเดินทางเข้าไปที่อาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมีหลายวิธีครับ เช่น
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางห้องสมุดดนตรี
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางหอจดหมายเหตุ
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 1
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 2
ชั้น 1 วันอาทิตย์นี่แบบว่าอย่างเงียบเลย อาจเพราะว่าปิดไฟในลานอเนกประสงค์จึงทำให้มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การนั่งเล่นละมั้ง เดินอยู่คนเดียวแบบว่าน่ากลัวมากๆ เลย แม้ว่าจะเป็นอาคารใหม่ก็เถอะแต่ดูเงียบมากๆ
ชั้น 2 เป็นห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย แต่ถ้าเพื่อนๆ ต้องการจะค้นวิทยานิพนธ์ เพื่อนๆ ก็ควรปฏิบัติดังนี้
“ค้นคว้าวิทยานิพนธ์และรายงานวิจัย โปรดค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือชั้น 2 อาคารเดิม และจดเลขหมู่หนังสือหรือรหัสเลขและปีพ.ศ. ก่อนเข้าใช้บริการชั้น 2 อาคารใหม่”
ข้อความที่ผมนำมาลงนี้เป็นข้อความที่มาจากคำแนะนำที่ทางหอสมุดแห่งชาตินำมาติดไว้ที่ชั้น 1 และหน้าประตูห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของอาคารใหม่ด้วย
ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่าเพราะอะไร เอาเป็นว่าลองดูรูปนี้ครับ แล้วจะเข้าใจ
(ตึกใหม่แต่ระบบไอทียังไม่พร้อมครับ)
ภายในห้องวิทยานิพนธ์เข้าไปแล้วบรรยากาศดีกว่าอาคารเดิมเยอะมาก โต๊ะเก้าอี้เยอะมากๆ เลย ณ เวลาที่ผมเข้าไปนี้มีผู้ใช้บริการ 3 คน บวกบรรณารักษ์อีก 2 คน สรุปว่าห้องนั้นมีแค่ 6 คน (รวมผมด้วย) ห้องใหญ่บรรยากาศดี จริงๆ อยากให้มีการใช้เยอะๆ นะ จะได้คุ้มค่าไฟหน่อย แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปอ่ะครับ
การใช้บริการห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. สืบค้นวิทยานิพนธ์ที่ต้องการ (ที่อาคารใหม่นี้จะเก็บวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปี 2547 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากต้องการฉบับเก่ากว่านี้ต้องไปที่หอสมุดแห่งชาติ เขตลาดกะบัง เฉลิมพระเกียรติ)
2. กรอกแบบฟอร์มขอใช้บริการ (ใส่ชื่อ-นามสกุลผู้ที่ขอยืม, เลขหมู่และปีของหนังสือ)
3. รอบรรณารักษ์ไปหยิบ
4. แลกบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ที่เคาน์เตอร์
5. นำไปใช้ได้เลย
6. นำมาคืนที่เคาน์เตอร์เพื่อแลกบัตรคืน
หนังสือวิทยานิพนธ์ที่จัดเก็บที่นี่มีการลงเลขหมู่ในลักษณะนี้
ตัวอย่าง 054/51 = หนังสือวิทยานิพนธ์ปี 2551 เล่มที่ 54
เอาหล่ะครับวันนี้ก็ขอ Review เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ เนื่องจากเวลามีจำกัดมาก
วันหลังจะกลับมา Review แบบละเอียดอีกทีนึงแล้วกัน เอาเป็นว่าก็ขอชื่นชมในส่วนดีและขอติเพื่อปรับปรุงในส่วนที่ต้องเสริม
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ
“เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงนามอนุมัติ ให้ก่อสร้างอาคารใหม่หอสมุดแห่งชาติด้วยงบประมาณ จำนวน 438,000,000 บาท (สี่ร้อยสามสิบแปดล้านบาท) และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2552 และเปิดให้ใช้บริเวณอาคารใหม่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554”
ชมภาพบรรยากาศอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด
[nggallery id=51]
นายบรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน
ไปเที่ยวหัวหินกันมั้ยๆๆๆๆ ไหนๆ ก็มีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งที ก็ขอแวะห้องสมุดแถวๆ นั้นกันสักหน่อย
ห้องสมุดแห่งหนึ่งที่น่าสนใจของหัวหินและอยู่ใกล้จุดที่คนชอบไปถ่ายรูป คือ ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน
ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน แค่ชื่อเพื่อนๆ ก็คงเดาได้ว่าหน้าตาของห้องสมุดมันต้องเป็นห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟแน่ๆ
อ่ะ ถูกต้องครับ “ห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟ” และที่สำคัญมันอยู่ที่ “หัวหิน” และตั้งอยู่ใกล้ๆ “สถานีรถไฟหัวหิน”
ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดการรถไฟแห่งที่ 3 ของประเทศนะครับ เปิดให้บริการในวันที่ 26 กันยายน 2552
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด
ความคิดริเริ่มในการเปิดห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำตู้รถไฟเก่ามาปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดรถไฟ เพื่อที่จะขยายการบริการด้านการศึกษาค้นคว้าและเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว นั่นเอง
ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน ได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานในการพัฒนาและปรับปรุง ได้แก่
– การรถไฟแห่งประเทศไทย นำรถไฟเก่ามาปรับปรุงใหม่
– กศน ดูแลในส่วนการจัดการสื่อและการให้บริการห้องสมุด
– จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริจาคเงินเพื่อตกแต่งภายใน รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในห้องสมุด
– เทศบาลเมืองหัวหิน ดูแลเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านนอกห้องสมุด และสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ภายในภาพรวมยังคงมีกลิ่นความเป็นรถไฟอยู่ด้วย โดยเฉพาะที่นั่งอ่านหนังสือยังคงใช้เก้าอี้ที่ใช้ในตู้รถไฟปรับอากาศ (คิดถึงภาพเก้าอี้นวมในรถไฟได้เลย) แถมด้วยเฟอร์นิเจอร์บางอย่างก็ยังคงใช้อุปกรณ์ที่มาจากตู้รถไฟเดิมด้วย
การจัดการเรื่องสื่อ (หนังสือ วารสาร นิตยสาร….)
– มีการรับสมัครสมาชิกเหมือนห้องสมุดประชาชน
– ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ใช้คือ PLS 5 (ของกศน.)
– การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– การจัดวางหนังสือยึดหลักหมวดหมู่ไม่ได้เรียงตามเลขหมู่ เช่น หมวดอาหาร หมวดธรรมะ หมวดภาษา
ใครที่สนใจอยากจะไปเยี่ยมชมต้องมาในวันจันทร์-เสาร์เท่านั้นนะครับ และในช่วงเวลา 9.00-17.00 ด้วย
เพราะนอกนั้นในวันอาทิตย์ หรือวันหยุดอื่นๆ ห้องสมุดปิดนะครับ
เอาหล่ะพาเที่ยวพอแล้วดีกว่า ใครมีโอกาสก็ลองไปชมกันดูเองนะครับ
หรือจะดูรูปภาพห้องสมุดโดยรวมจากด้านล่างนี้ก็ได้ สำหรับวันนี้ก็ไปแล้วนะครับ
ชมภาพห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินทั้งหมดได้ที่
[nggallery id=44]