การค้นหาหนังสือในเว็บไซต์ห้องสมุดด้วย OPAC

ปัจจุบันการค้นหาหนังสือในห้องสมุดดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากนะครับ
จากบัตรรายการมาเป็น OPAC หรือ WEBPAC ซึ่งทำให้เราค้นหาหนังสือได้จากทุกที่ทุกเวลา
แต่การค้นหาทุกๆ อย่างก็มีข้อจำกัดของมัน วันนี้ผมขอเขียนถึง OPAC แล้วกันนะครับ

libraryopac

OPAC (Online Public Access Catalog) เป็นระบบค้นหารายการหนังสือในห้องสมุด
โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แทนที่ระบบแบบเก่าที่เป็นบัตรกระดาษผู้ใช้บริการห้องสมุดหรือบรรณารักษ์
ซึ่งผู้ใช้สามารถสืบค้นผ่านคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด หรือว่าใช้คอมพิวเตอร์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้

หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้งาน OPAC กันแล้วนะครับ
ในเว็บของห้องสมุดเกือบทุกที่จะมีบริการสืบค้นหนังสือออนไลน์ (OPAC / WEBPAC)
และหลายๆ คนคงคิดว่าระบบ OPAC นี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลา

แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกคุณเคยคิดมั้ยว่า…
เวลาเราค้นหนังสือเจอใน OPAC แล้วเราทำไงต่อ

ระบบ OPAC นี้สามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาก็จริงแต่พอค้นหนังสือเจอแล้วแต่ก็อ่านไม่ได้
สิ่งที่เราได้คือเรารู้ว่ามันเก็บอยู่ที่ไหนเพียงเท่านั้นและบอกว่าหนังสือนั้นอยู่ในห้องสมุดหรือปล่าว

หากเราต้องการหนังสือเราก็ต้องเดินทางมาที่ห้องสมุดอยู่ดี
ระบบ OPAC อาจจะใช้งานได้ในทุกที่ทุกเวลาก็จริง
แต่ถ้าเราค้นหาหนังสือตอนห้องสมุดปิดบริการหล่ะ เราจะทำยังไง

ผมขอยกตัวอย่างปัญหาสักนิดมาให้อ่านนะครับ

ตัวอย่างที่ 1 นาย ก. สืบค้นหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ
นาย ก. จึงเปิดเข้าไปในเว็บห้องสมุดในเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์แล้วพิมพ์คำค้นว่า ระบบสารสนเทศ นาย ก.
ได้รายชื่อหนังสือที่เกี่ยวกับสารสนเทศโดยมีหนังสืออยู่ที่ห้องสมุดกลาง จำนวน 3 เล่ม
แทนที่นาย ก.จะอ่านได้เลยแต่นาย ก.กลับต้องรอวันจันทร์วันที่ห้องสมุดเปิดทำการ
จึงจะสามารถไปที่ห้องสมุดแล้ว ยืมได้ – – – นี่แหละระบบที่ตอบสนองทุกที่ทุกเวลาแต่สถานที่ไม่ใช่

ตัวอย่างที่ 2 ในวันจันทร์ นาย ก.คนเดิมที่ได้รายชื่อหนังสือแล้วเข้าไปที่ห้องสมุดไปหาหนังสือที่ตนเองค้น ไว้
ผลปรากฎว่าหนังสือที่ค้นเนื้อหาด้านในไม่ตรงกับสิ่งที่ นาย ก.ต้องใช้
สรุปก็ต้องหาใหม่ – – – นี่แหละเห็นรายการแต่ไม่เห็น content

แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

สมมุติถ้านาย ก. หาข้อมูลใน Search Engine แต่แรก
คงได้อ่านตั้งแต่คืนวันอาทิตย์แล้ว ไม่ต้องเสียเวลามาที่ห้องสมุดด้วย

เอาเป็นว่าอย่างที่ผมบอก ไม่มี solution ไหนที่ดีที่สุดสำหรับห้องสมุด
เพียงแต่เราต้องหาทางแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการของเราให้ดีขึ้นต่างหาก

ทางแก้ของเรื่องนี้อยู่ผมจะนำมาเขียนเล่าให้ฟังวันหลังนะครับ
เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงคุณภาพและการให้บริการเชิงรุกของห้องสมุดบ้าง
ว่าเพื่อนๆ จะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้

ปล.ที่เขียนเรื่องนี้มาไม่ใช่ว่าต้องการจะล้มระบบ OPAC หรอกนะครับ? และไม่ได้มีเจตนาในการเปรียบเทียบแต่อย่างใด

เทคโนโลยีของห้องสมุดตั้งแต่ปี 1968 – 2007

เรื่องเก่าเล่าใหม่อีกครั้งสำหรับเรื่องเทคโนโลยีในห้องสมุด โดยเฉพาะระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
จากบทความเรื่อง? 2007 Library Technology Guides Automation Trend Survey
ซึ่งเป็นผลสำรวจที่มาจากเว็บไซต์ Library Technology Guides

libtech-copy

ลองเข้าไปดูกันนะว่าพัฒนาการของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องสมุดว่ามีอะไรบ้าง
ผมว่ามันน่าสนใจดีนะครับ เพราะบอกช่วงเวลาให้ด้วย

ซึ่งพอได้เห็นภาพว่าห้องสมุดเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่ ปี 1968
ซึ่งเทคโนโลยีตัวแรกที่มีการนำมาใช้ในห้องสมุด นั่นคือ ?NOTIS Systems?
ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Northwestern University

แล้ว NOTIS Systems คืออะไร ผมก็ลองเข้าไปค้นหาคำตอบดู
ในยุคแรกของ NOTIS Systems เป็นเพียงซอฟต์แวร์ที่จัดเก็บข้อมูลรายการบรรณานุกรม
แต่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ

นอกจากเทคโนโลนีแรกของห้องสมุดแล้ว แผนภาพนี้ยังแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีห้องสมุดในยุค 2007 ด้วย
ซึ่งมีระบบห้องสมุดอัตโนมัติชั้นนำอยู่ด้วย เช่น SirsiDynix, Ex Libris, VTLS ฯลฯ

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ สนใจก็ต้องไปลองเปิดดูครับ

รูปเต็มดูได้ที่ http://www.librarytechnology.org/automationhistory.pl?SID=20091214577484130

สไลด์ที่น่าสนใจเรื่อง Open Systems ในห้องสมุด

นานมากแล้วที่ผมไม่ได้อัพเดทในส่วนของเรื่อง OSS4Lib
วันนี้ขอแก้ตัวด้วยการอัพเดทเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง open open ในห้องสมุดหน่อยแล้วกัน

opensystem

วันนี้ผมเจอสไลด์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Open Systems ในห้องสมุด
ซึ่งเจ้าของสไลด์ชุดนี้ คือ Stephen Abram ซึ่งเป็นเจ้าของบล็อก Stephen?s Lighthouse.

บล็อกเกอร์ท่านนี้เป็น Vice President of Innovation ของ SirsiDynix
(SirsiDynix ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งระบบ)

ในสไลด์ชุดนี้ได้แนะนำเรื่อง Open Systems ในห้องสมุดได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะเรื่องของ Cloud Computing ตั้งแต่ความหมายไปจนถึงแหล่งที่รวบรวม API ต่างๆ
แง่คิดในเรื่องของประสบการณ์และมุมมองแบบเดิมๆ จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน
เพื่อให้ระบบต่างๆ ในห้องสมุดผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างเต็มที่

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองไปอ่านดูนะครับ สไลด์ชุดนี้มีทั้งหมด 104 หน้า
ซึ่งสาระความรู้มีเพียบแน่นอน ถ้าเพื่อนๆ สนใจสไลด์ชุดนี้ก็สามารถ download ได้ที่
http://www.sirsidynix.com/Resources/Pdfs/Company/Abram/20091023_OnlineUK.pdf

Koha – Open Source for ILS

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติฉบับ Open Source ตัวนึงที่ผมจะแนะนำก็คือ KOHA
ซึ่งในเมืองไทยเองก็มีหลายๆ ที่เริ่มนำเข้ามาใช้กันมากขึ้นแล้ว
วันนี้ผมจึงขอแนะนำโปรแกรมตัวนี้ให้เพื่อนๆ รู้จักกัน

koha

เริ่มจากความเป็นมาของโปรแกรมตัวนี้

Koha ถูกพัฒนาโดยบริษัท Katipo Communications ในปี 1999
การพัฒนาครั้งนี้ทางบริษัทตั้งใจจะพัฒนาให้ Koha กับ Horowhenua Library ในประเทศนิวซีแลนด์
และทำการติดตั้งโปรแกรมครั้งแรกในปี 2000
ในปี 2001 ระบบ Koha สามารถรองรับการทำงานในหลายภาษา เช่น ฝรั่งเศส จีน อาหรับ ฯลฯ
และในปี 2002 Koha ได้มีการพัฒนาให้เข้าสู่วงการมาตรฐานมากขึ้น
ด้วยการสนับสนุนการทำงานของบรรณารักษ์ในรูปแบบมาตรฐาน เช่น MARC และ Z39.50
จนในปี 2005 บริษัท Liblime ได้เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนามากขึ้น
จนสามารถพัฒนาระบบ Koha ให้สามารถเชื่อมโยงการจัดทำดรรชนี และการพัฒนาการสืบค้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สรุปวิวัฒนาการของโปรแกรม
1999 – ออกแบบและสร้างโปรแกรม Koha
2000 – ติดตั้งครั้งแรกที่ Horowhenua Library ในประเทศนิวซีแลนด์
2001 – พัฒนาให้รองรับหลายภาษา
2002 – พัฒนาให้การทำงานสนับสนุนมาตรฐาน MARC และ Z39.50
2005 – ปรับปรุงระบบให้เข้ากับโปรแกรม Zebra (ระบบการจัดทำ Index)

ความสามารถของ Koha
1. ระบบบริหารจัดการ (Administration)
– ระบบควบคุมโปรแกรม (Global System Preferences)
– ระบบการกำหนดพารามิเตอร์เบื้องต้น (Basic Parameters)
– ระบบการกำหนดนโยบายงานบริการยืมคืนและสมาชิก (Patrons and Circulation)
– ระบบการกำหนดนโยบายงานวิเคราะห์ (Catalog Administration)
– ระบบการกำหนดพารามิเตอร์เพิ่มเติม (Additional Parameters)

2. เครื่องมือใน Koha (Tool)
– การจัดพิมพ์ป้ายติดสันหนังสือ ป้ายลาเบล
– การแสดงความคิดเห็น
– ปฏิทินกิจกรรม
– จัดเก็บ log file

3. ระบบผู้ใช้ (Patrons)
– เพิ่มบัญชีผู้ใช้
– แก้ไขข้อมูลผู้ใช้
– กำหนดระดับผู้ใช้

4. การยืมคืน (Circulation)
– ยืม
– คืน
– จอง
– ต่ออายุ
– ปรับ

5. การทำรายการ / วิเคราะห์รายการ (Cataloging)
– สร้างระเบียน
– แก้ไขระเบียน
– นำเข้าระเบียน

6. ระบบวารสารและสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (Serials)
– บอกรับสมาชิก
– ตรวจสอบการบอกรับ
– ทำดัชนี

7. ระบบงานจัดซื้อ จัดหา (Acquisitions)
– ติดต่อกับเวนเดอร์
– เสนอแนะรายการทรัพยากรสารสนเทศ
– สั่งซื้อทรัพยากรสารสนเทศ
– ควบคุมงบประมาณ

8. รายงาน (Reports)
– ออกแบบรายงานได้
– สถิติข้อมูลต่างๆ ในระบบ

9. ระบบสืบค้นออนไลน์ (OPAC)
– สืบค้นสารสนเทศออนไลน์
– ส่งข้อมูลออกได้หลายรูปแบบ เช่น RSS
– ใส่ข้อมูล TAG

10. ระบบสืบค้น (Searching)
– ค้นแบบง่าย (basic search)
– ค้นแบบขั้นสูง (advance search)
– ค้นแบบเงื่อนไข (Boolean Search)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างความสามารถแบบเล็กๆ น้อยๆ นะครับ
จริงๆ แล้ว KOHA ทำอะไรได้มากกว่านี้อีก
เพื่อนๆ อาจจะอ่านได้จาก http://koha.org/documentation/manual/3.0

เอาเป็นว่าลองเข้าไปทดลองเล่นระบบนี้ดูนะครับที่ http://koha.org/showcase/

สำหรับเมืองไทยเพื่อนๆ ลองเข้าไปเล่นดูที่
– ห้องสมุดศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
http://158.108.80.10:8000/cgi-bin/koha/opac-main.pl

เป็นไงกันบ้างครับกับโปรแกรมดีๆ ที่ผมแนะนำ
วันหลังผมจะเขามาแนะนำวิธีการติดตั้งแบบ step by step เลยนะครับ

เว็บไซต์ทางการของ Kohahttp://koha.org

http://koha.org/download

เกณฑ์การเลือกระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

มีคนขอคำปรึกษาเรื่องเกณฑ์ในการเลือกระบบห้องสมุดอัตโนมัติมากมาย
วันนี้ผมเลยขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ หลายๆ คนฟัง

ils-for-library

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านนี้มา ผมจึงขอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบคร่าวๆ นะครับ
การตั้งเกณฑ์ของการเลือกระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ต้องดูองค์ประกอบหลายๆ เรื่องนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ฟังค์ชั่นการใช้งาน และส่วนเสริมต่างๆ

ด้านฟังค์ชั่นการใช้งาน ผมเคยเขียนเกณฑ์แบบคร่าวๆ ดังนี้
(เวอร์ชั่นนี้อาจจะต้องปรับปรุบเยอะหน่อยนะครับ เพราะว่าเป็นสเปคที่เขียนไว้เมื่อสามปีที่แล้ว)

library-automation

1. ระบบงานจัดหา (Acquisition)
1.1 สามารถจัดการด้านงบประมาณและการจัดซื้อ ทวงถามศูนย์หนังสือได้
1.2 จัดการ ควบคุมรายการและติดต่อสื่อสารผู้จำหน่ายร้านค้า
1.3 สามารถตรวจสอบรายการสั่งซื้อโดยการแก้ไขได้ก่อนการสั่งซื้อ
1.4 จัดการเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงิน
1.5 สามารถสร้างระบบความปลอดภัยในโมดูลได้
1.6 กำหนดสิทธิ์และอนุญาตให้เฉพาะบุคคลได้


2. ระบบงานวิเคราะห์หมวดหมู่และลงรายการ (Cataloging)

2.1 บันทึกรายการบรรณานุกรมได้ในรูป MARC และ Non- MARC
2.2 สามารถเพิ่ม ลด แก้ไข Tag, Subfield ใน MARC ได้
2.3 เชื่อมต่อกับระบบ Thesauri ได้จากหน้าจอ Catalog
2.4 สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลในรูปแบบ MARC มาตรฐานได้
2.5 จัดเก็บรายละเอียดสารสนเทศฉบับสมบูรณ์ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ฯ
2.6 สามารถป้อนข้อมูลจากสื่อต่าง/สื่ออิเล็คทรอนิกส์มาอยู่ในรูปแบบ MARC
2.7 มีระบบ Authority Control ตรวจสอบรายการผู้แต่ง หัวเรื่องให้เป็นมาตรฐาน


3. ระบบงานบริการยืม-คืน (Circulation)

3.1 สามารถกำหนดระเบียบการยืม-คืนวัสดุห้องสมุดได้ตามประเภทสมาชิก
3.2 สามารถกำหนดเวลาการยืมวัสดุแต่ละประเภทได้
3.3 สามารถเก็บประวัติรายละเอียดการยืมของสมาชิกแต่ละคนได้
3.4 สามารถดูรายการยืมและรายการจองของตนเองผ่านอินเทอร์เน็ต
3.5 สามารถกำหนดปฎิทิน เพื่อจัดการเรื่องกำหนดวันส่งได้
3.6 สามารถจัดการเกี่ยวกับค่าปรับ
3.7 สามารถจัดการเกี่ยวกับการยืมวัสดุห้องสมุดในช่วงเวลาสั้นได้
3.8 สามารถจัดการเกี่ยวกับการยืม-คืนวารสารในลักษณะ In-House-Use
3.9 สามารถพิมพ์รายงานและสถิติได้ตามความต้องการ
คุณลักษณะของระบบงานบริการยืม-คืน (Circulation)

1) กลุ่มผู้ใช้เป็นทั้งแบบ National และ Local
2) สามารถทำการยืม-คืน โดยใช้ระบบบาร์โค้ดหรือเลข ID ของสมาชิกห้องสมุด
3) สามารถแสดงข้อมูลรายละเอียดของผู้ใช้บริการได้
4) สามารถทำการคำนวณเงินค่าปรับได้โดยอัตโนมัติ

4. ระบบงานวารสารและเอกสาร (Serial Control)
4.1 สามารถใช้ข้อมูล Vendor ร่วมกัน
4.2 สามารถสร้างรายการ Holding วารสารและให้แสดงผลที่ OPAC
4.3 สามารถตรวจสอบสถานะของวารสารแต่ละรายชื่ออยู่ในสถานะใด
4.4 สามารถจัดระบบควบคุมและคำนวณค่าใช้จ่าย ค่าบอกรับวารสาร ทำบัญชีวารสาร
4.5 สามารถออกจดหมายทวงวารสาร ไปยังผู้จัดจำหน่ายหรือตัวแทนได้

5. ระบบงานสืบค้นรายการทรัพยากร (Online Public Access Catalog)
5.1 สนับสนุนการทำงานแบบ Internet Web Clients
5.2 สามารถสืบค้นข้อมูลได้หลายรูปแบบ โดยค้นจากชื่อผู้แต่ง นิติบุคคล ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง เลขเรียกหนังสือและคำสำคัญ
5.3 สามารถสืบค้นแบบเทคนิคตรรกบูลีน
5.4 สามารถสืบค้นภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเรียง ลำดับอักษรตามพจนานุกรม
5.5 สนับสนุนการสืบค้นผ่านมาตรฐานโปรโตคอล Z39.50

ที่กล่าวมานี่ก็เป็นเพียงการทำงานเบื้องต้นของระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ควรจะเป็นเท่านั้นนะครับ
ส่วนที่เป็นองค์ประกอบเสริมก็มีอีก เช่น การรองรับข้อมูลในอนาคต ฐานข้อมูลที่ใช้ ระบบเครือข่าย ฯลฯ

นอกจากนี้ผมได้ลองมานั่งคิดๆ ดู และลองจัดกลุ่มดู
ระบบห้องสมุดอัตโนมัติควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรอีกบ้าง
– มาตรฐาน ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรจะรองรับเรื่องมาตรฐานอีกมากมาย
เช่น MARC21, ISO2709, Z39.50 ฯลฯ

– ออนไลน์ ระบบห้องสมุดอัตโนมัตที่ดีควรทำงานได้ในระบบออนไลน์ ทั้งในแง่ผู้ใช้บริการและบรรณารักษ์
เช่น สืบค้นออนไลน์ จองหนังสือผ่านระบบออนไลน์ ต่ออายุการยืมออนไลน์

– บริหารจัดการระบบที่ดี ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรมีระบบที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลภายในได้ที
ทั้งในเง่ของการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ได้ เช่น สถิติการใช้งาน รายงานการใช้งาน และเก็บข้อมูลการเข้าใช้งาน

– การแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรมีฟังค์ชั่นที่รองรับในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับห้องสมุดอื่นๆ

– อนาคต ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรคำนึงถึงการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีในอนาคตด้วย

เอาเป็นว่าวันนี้ผมก็ขอเกริ่นเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้ววันหลังผมจะลองนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดมาวิจารณ์ให้อ่านแล้วกัน

ปล. หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะเรื่องระบบห้องสมุดอัตโนมัติมากกว่านี้
สามารถเสนอความคิดเห็นได้ด้านล่างนี้เลยนะครับ

สรุปงานสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ Walai AutoLIB

วันนี้ผมจะมาสรุปประเด็นที่น่าสนใจในงานสัมมนาที่ผมเข้าร่วมวันนี้ นั่นคือ
“งานสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai AutoLIB”
ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมเอเซีย

walaiautolib

โดยงานสัมมนาเรื่องนี้ผมคงเข้าร่วมได้แค่วันเดียวนะครับ
แถมยังเข้าร่วมได้ไม่เต็มวันอีก แต่เอาเถอะครับ ผมจะสรุปประเด็นเท่าที่ผมได้ฟังก็แล้วกัน

ประเด็นที่ผมได้ฟัง
– ความเป็นมาของโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย
– แนวคิดในการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib
– สาธิตระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib

แค่สามประเด็นนี้ผมก็รู้สึกว่าได้รู้อะไรมากมายแล้วครับ
เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองอ่านเป็นหัวๆ แล้วกัน

—————————————————

ความเป็นมาของโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย
Introduction to Library automation in academic library
บรรยายโดย ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ซึ่งเป็น ผอ.สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา

– บทบาทของ UNINET ที่มีต่อวงการห้องสมุด คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในงานห้องสมุด

– ห้องสมุดอัตโนมัติ เริ่มมีบทบาทมากในปี 2530-2531

– สกอ. เกิดความคิดที่จะพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติของไทย
เนื่องจากการจัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติมีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ค่าดูแลรักษาก็แพงเช่นกัน

– สกอ. จึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบห้องสมุดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย
โดยสกอ. ให้ 3 มหาวิทยาลัยดำเนินการในการพัฒนา และออกทุนสนับสนุนการพัฒนา มหาวิทยาลัยทั้ง 3 ได้แก่
(1) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยใช้ต้นแบบจาก VTLS
(2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยใช้ต้นแบบจาก Dynix และ Innopac
(3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยใช้ต้นแบบจาก Innopac

Walai AutoLIB พัฒนามาแล้ว 2-3 ปี ปัจจุบันมีคนใช้ไปแล้ว 43 แห่ง
นับว่าเป็นระบบที่ใช้เวลาไม่นาน แต่คุณภาพไม่แพ้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของคนอื่น

– ประโยคที่ได้ใจวันนี้ “งานห้องสมุดเป็นงานที่ไม่ได้หยุดนิ่ง ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

—————————————————

แนวคิดในการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib
Walai Autolib development concept
บรรยายโดย รศ.ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์

– เดิมห้องสมุดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS
แต่ระบบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาแพง
รวมถึงยังตอบสนองความต้องการด้านการใช้งานไม่ครบถ้วน

– เริ่มการพัฒนา Walai autolib ในปี 2548

– ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai autolib ระยะเริ่มต้น
(1) ความซับซ้อนของระบบงานห้องสมุด
(2) ปัญหาด้านผู้ใช้ และการจัดการความเปลี่ยนแปลง
(3) ความน่าเชื่อถือของระบบที่พัฒนาโดยคนไทย
(4) Site reference

– มีคนกล่าวว่า “ถ้าใครพัฒนาระบบห้องสมุดได้ ก็จะสามารถพัฒนาระบบอื่นๆ ได้ง่าย”
ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าระบบห้องสมุดเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากๆ

– เรื่องของการจัดการความเปลี่ยนแปลง เมื่อคนเราใช้อะไรจนชินแล้วจะให้เปลี่ยนคงต้องใช้เวลา

– คนไทยมีความสามารถในการพัฒนาระบบต่างๆ นะ น่าเชื่อถือด้วย แต่ขาดโอกาสในการพัฒนามากกว่า

-ผู้ให้การสนับสนุนในการพัฒนาระบบห้องสมุด ได้แก่
(1) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
(2) UNINET
(3) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(4) คณะทำงานโครงการ Walai Autolib

– เป้าหมายของระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai autolib ยึดหลักดังนี้
(1) สร้างระบบบริหารจัดการห้องสมุดที่มีประสิทธิภาพ
(2) สร้างมาตรฐานของงานห้องสมุด Marc21, Z39.5, ISO2709
(3) ประหยัดงบประมาณในด้านต่างๆ

– ระยะของการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai autolib แบ่งออกเป็น 6 ระยะ
(ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ากับแนวคิดห้องสมุด 2.0)

Library2.0 คือ แนวความคิดในการจัดการห้องสมุดยุคใหม่
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการได้สร้างกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

– แผนงานในอนาคตของ Walai autolib เพื่อให้เป็น Library2.0
(1) Content Management System
(2) Dynamic Search System
(3) User Space
(4) Library Web Portal
(5) Helpdesk Online

– ก่อนจบ session นี้ ผมชอบประโยคนึงของการบรรยายครั้งนี้ นั่นคือ
“Libraries Changing the world” ห้องสมุดสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

—————————————————

สาธิตระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib
Demo Walai Autolib
บรรยายโดย อาจารย์ยุทธนา เจริญรื่น

เริ่มจากการสาธิตการใช้งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib เบื้องต้น ทั้ง 6 โมดูล ดังนี้
1) ระบบบริหารจัดการ (Policy management module)
2) ระบบการทำรายการ (Cataloging module)
3) ระบบการบริการยืม-คืน (Circulation module)
4) ระบบการสืบค้นและบริการสมาชิก (OPAC and utility module)
5) ระบบควบคุมสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (Serials control module)
6) ระบบการจัดซื้อจัดหา (Acquisition module)

—————————————————

ประเด็นที่ผมสรุปมาอาจจะขาดไปในบางช่วงบางตอน
แต่เอาเป็นว่าถ้ามีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้
ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในบล็อกนี้อีกก็แล้วกัน

สำหรับคนที่พลาดงานนี้
ผมเชื่อว่าการแนะนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib อาจจะมีจัดอีก
ยังไงถ้ามีความคืบหน้าเรื่องการจัดงานแบบนี้อีก ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ รู้ทันที

โครงการสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai AutoLIB

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกหนึ่งกิจกรรมช่วงนี้สำหรับวงการห้องสมุด
ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “การสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ”

walai-autolib

Read more