ประเด็นพูดคุยในงาน บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด

อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อวันก่อนว่า ผมได้รับเชิญเป็นผู้ดำเนินรายการของงานเสวนาครั้งนี้ (งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด ณ ธรรมศาสตร์) ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ จากการเสวนา ผมจะขอสรุปลงมาให้เพื่อนๆ อ่านเพื่อเป็นไอเดียและเล่าสู่กันฟังในเรื่องปัญหาน้ำท่วมกับห้องสมุด

หัวข้ออย่างเป็นทางการ คือ “บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด” ซึ่งถูกเล่าโดย :-
– นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต

ผู้ดำเนินรายการ : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้ และเจ้าของบล็อก Libraryhub

แค่เห็นชื่อและตำแหน่งของผู้ถ่ายทอดเรื่องราวแล้ว ผมขอบอกเลยครับว่าการเสวนาครั้งนี้สนุกแน่ๆ
เพราะเราจะได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างห้องสมุดที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วกัน

การเสวนาครั้งนี้ผมได้ลองตั้งคำถามคร่าวๆ เพื่อถามห้องสมุดทั้งสาม ดังนี้
1. คำถามที่เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนน้ำมาถึง :
– ข่าวเรื่องน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 มีให้เห็นแทบจะทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงประกาศหรือแถลงการณ์จากรัฐบาลอยู่ตลอด สำนักหอสมุดได้รับรู้ข่าวเหล่านี้และติดตามข่าวบ้างหรือไม่ และใส่ใจกับข่าวเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร
– เมื่อได้รับข่าวสารและรับรู้ว่าน้ำจะมาถึง ห้องสมุดมีการเตรียมตัวอย่างไร
– ในช่วงการเตรียมตัวรับน้ำท่วม ใครมีบทบาทต่อเรื่องนี้มากที่สุด ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ประชาชน

2. คำถามที่เกี่ยวกับช่วงน้ำท่วม
– เมื่อน้ำมาถึงแล้ว หอสมุดได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เสียหายด้านไหนบ้าง แล้วแก้ไขอย่างไรในเบื้องต้น
– บุคลากรของสำนักหอสมุดทำงานกันอย่างไรในช่วงน้ำท่วม และได้รับความช่วยเหลือบ้างหรือไม่
– น้ำท่วมนานแค่ไหน ต้องหยุดให้บริการนานแค่ไหน (รวมตั้งแต่น้ำมาจนน้ำลดและเปิดให้บริการ)
– มีช่องทางอื่นในการให้บริการห้องสมุดหรือไม่


3. คำถามที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูห้องสมุดหลังน้ำท่วม

– สำรวจความเสียหายดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เสียหายมากน้อยเพียงใด
– อะไรที่ต้องรีบดำเนินการหลังน้ำลด เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการ
– น้ำท่วมแบบนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดตลอดทั้งปีหรือไม่
– งบประมาณที่ต้องใช้ในการฟื้นฟู
– ใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะกลับมาเป็นหอสมุดเหมือนเดิม
– การเรียกขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ


4. คำถามจุดประกายหรือไอเดียเล็กๆ ที่เกี่ยวกับน้ำท่วม

– ไอเดียการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของ ม รังสิต เรื่องการทาสีต้นไม้ที่ตายแล้วให้ดูสดใสต้อนรับเทศกาลปีใหม่
– สำนักหอสมุดของมหาวิทยาลัยช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนอื่นๆ รอบๆ มหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
– การจัดทำแผนเพื่อป้องกันภัยพิบัติด้านต่างๆ (ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม)

5. ทิ้งท้ายก่อนจบเสวนาด้วย “หากปีนี้น้ำมาอีก หอสมุดเอาอยู่หรือไม่”

6. คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังเสวนา

เอาเป็นว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรผมจะนำมาสรุปให้อ่านแน่นอนครับ
ใครที่อยากจะตั้งคำถามก็สามารถตั้งคำถามมาได้ที่ด้านล่างนี้นะครับ
ผมจะนำคำถามของท่านมาถามให้และสรุปมาให้อ่านแน่นอนครับ

งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด ณ ธรรมศาสตร์

ไม่ได้อัพเดทกิจกรรมห้องสมุดมานาน วันนี้ขอแนะนำกิจกรรมห้องสมุดที่ผมเข้าร่วมสักหน่อย
กิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่จะถึงนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2555) ชื่อกิจกรรม “งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด

รายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับกิจกรรมนี้
ชื่อกิจกรรม : งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด
วันที่จัดงาน : 7 กุมภาพันธ์ 2555
สถานที่จัดงาน : ห้องเรวัต พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชั้นใต้ดิน ๒ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
รับจำนวน 70 คน

กิจกรรมนี้ผมได้รับเชิญเพื่อมาเป็นผู้ดำเนินรายการ (ได้พลิกบทบาทจากวิทยากรเป็นผู้ดำเนินรายการครั้งแรก) ช่วงแรกๆ ก็ลังเลว่าจะตอบรับดีมั้ย
แต่พอได้ยินหัวข้อเท่านั้นแหละ ต้องตอบตกลงทันที เพราะผมเองก็สนใจเรื่องนี้อยู่เช่นกัน “บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 กับห้องสมุด
หลังจากจบการเสวนาครั้งนี้ผมคงได้เขียนเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที

หัวข้อที่เป็น Hilight ของกิจกรรมนี้ คือ
– เล่าสู่กันฟัง: ประสบการณ์ในหน้าที่ Subject Liaison โดย Mr. Larry Ashmun
– บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด โดย ผอ.ห้องสมุดจาก ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รังสิต


ณ วันที่ผมลงข้อมูลในบล็อก ตอนนี้ปิดรับผู้ลงทะเบียนแล้วนะครับ เนื่องจากเต็มแล้ว (70คน)
เอาเป็นว่าผมจะสรุปเรื่องราวในวันนั้นมาลงให้อ่านแล้วกันครับ

รายละเอียดของกิจกรรมครั้งนี้อ่านได้จากเว็บไซต์ http://library.tu.ac.th/announcement/km/ นะครับ

วีดีโอเสวนาก้าวทันสื่อออนไลน์ ในงานสัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต

ในที่สุดคลิปวีดีโอที่ผมบรรยายเรื่องเสวนาก้าวทันสื่อออนไลน์ ในงานสัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต ก็ออกมาให้ได้รับชม
วันนี้เลยขอนำมาให้เพื่อนๆ บรรณารักษ์ที่ไม่ได้มาร่วมงานได้ชมกัน

งานเสวนานี้มีวิทยากร คือ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ, คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ และผมเอง
ซึ่งดำเนินรายการโดย อาจารย์บุญญาณิศา อ.ตันติพิบูลย์

วันนั้นเสวนาร่วมกันประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ในคลิปวีดีโอนี้ขอสรุปแต่ตอนไฮไลท์มาให้ชม 18 นาที
ซึ่งผมได้ดูเบื้องต้นแล้วเป็นช่วงที่เด่นๆ และมีไอเดียที่น่าสนใจดีครับ

ไปชมคลิปวีดีโอนี้กัน

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Qe_4qWGUFsk[/youtube]

เป็นไงกันบ้างครับ ยังไงก็ติชมกันได้ ด้านล่างนี้เลยนะครับ

รายละเอียดเกี่ยวกับงานนี้ผมสรุปไว้ที่เก็บตกงานสัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต

ปล. ขอบคุณ สำนักหอสมุด ม.รังสิต ที่จัดทำคลิปนี้มาเผยแพร่

เก็บตกงานสัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (วันที่ 12 มกราคม 2554) ผมมีโอกาสไปร่วมงานสัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต
ซึ่งในงานนี้น่าสนใจมาก ผมจึงขอนำบทสรุปของงานเสวนาในงานสัปดาห์ห้องสมุดมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง

งานในวันแรกนี้ไฮไลท์ก็อยู่ที่งานบรรยายและงานเสวนาเรื่องเครือข่ายสังคมกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ซึ่งในช่วงเช้า วิทยากรก็คือ คุณชัชวาล สังคีตตระการ (ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโปรแกรม ABDUL)
ซึ่งมาพูดเรื่อง “สังคมฐานความรู้ กับ สังคมเครือข่าย”
แค่ชื่อเรื่องก็น่าฟังแล้วใช้มั้ยครับ ไปดูเนื้อหาที่ผมสรุปดีกว่า

เรื่อง “สังคมฐานความรู้ กับ สังคมเครือข่าย” โดย คุณชัชวาล สังคีตตระการ

– ประเดิมสไลด์แรกด้วยการแนะนำคำว่า Human Language Technology และ Human-Computer Technology ซึ่งหลักๆ ได้แนะนำเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารกันระหว่างคนและคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันนี้คนเราต้องทำความเข้าใจคอมพิวเตอร์ แต่ในอนาคตคอมพิวเตอร์จะต้องสื่อสารกับเราและทำความเข้าใจกับคนเช่นกัน

– เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ด้วย TEXT, SPEECH, INFORMATION, LINGUISTICS

– ปัจจุบันที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ได้ก็มาจาก Monitor ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันหลักๆ ก็ได้แก่ TV, Computer, Mobile

– ในช่วงวันเด็กที่ผ่านมาชาว Twitter เล่น tag #WhenIWasYoung กันมาก แต่ที่วิทยากรประทับใจ คือ รูปเด็กที่เข้าแข่งขันการใช้ Linux ซึ่งมันแฝงแง่คิดว่าเด็กสมัยนี้เกิดมาก็เจอหน้าจอคอมพิวเตอร์เลย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลกับผู้ปกครอง เพราะว่ากลัวเด็กจะนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น กลัวลูกติดเกมส์ ซึ่งวิทยากรได้แนะนำต่อไปว่าเด็กก็เหมือนกับผ้าสีขาวนั่นแหละ การใช้เทคโนโลยีก็เหมือนจุดสีดำ ผู้ปกครองบางคนกลัวเด็กใช้มากๆ ก็ทำให้เกิดการกีดกั้นเด็กก็พยายามไปลบสีดำจุดนั้น ซึ่งหากสังเกตคือเมื่อเรายิ่งลบจุดดำมันก็จะเลอะผ้าไปมากขึ้น (ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ) ทำให้ผ้าสกปรกและไม่น่าใช้ แต่คิดในมุมกลับกันว่าหากสีดำหยดนั้นหยดลงมาแล้วพ่อแม่ช่วยกันแต่งเติมให้เป็นรูปต่างๆ ผ้าผืนนั้นก็จะทำให้สวยงามและมีค่ามากขึ้นด้วย

– Computer VS Mobile ในปัจจุบันสองสิ่งนี้เริ่มขยับตัวใกล้เข้าหากันมากขึ้น มือถือมีการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ลงไปจนคล้ายกับคอมพิวเตอร์

– 2011 Smartphone > Feature Phone (โทรศัพท์แบบเดิม) ข้อมูลจาก morgan stanley
– 2012 Smartphone > Notebook+PC ข้อมูลจาก morgan stanley

– คนไทยมี 63 ล้านคน แต่เบอร์โทรศัพท์กลับมี 64 ล้านเลขหมาย มันสะท้อนอะไร?

– ข้อมูลการใช้ Internet ในเมืองไทย (จากการสำรวจของ NECTEC)คนไทย 24 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ต

– จุดประสงค์ในการใช้ (เรียงจากมากไปน้อย)
– 2552 -> Search Email News Elearning Webboard Chat
– 2553 -> Email Search News Elearning Webboard Chat

– ห้องสมุดจากอดีตสู่อนาคต หากเข้าห้องสมุดคุณจะพบอะไรบ้าง
ระยะที่ 1 พบคนอ่านหนังสือในห้องสมุด
ระยะที่ 2 พบคนเข้ามาใช้คอมพิวเตอร์ในห้องสมุด
ระยะที่ 3 พบคนนำโน้ตบุ๊คมาใช้ในห้องสมุด
ระยะที่ 4 พบคนนำ Netbook มาใช้ในห้องสมุด
ระยะที่ 5 พบคนนำ tablet มาใช้ในห้องสมุด

– เรียนรู้จากโลกออนไลน์มีหลายวิธี เช่น ITuneU, Youtube, Wikipedia

– แนะนำ Web 1.0 , 2.0 , 3.0

– 2015 -> 10% of your online friends will be nonhuman

– แนะนำโปรแกรม ABDUL

เอาเป็นว่าคร่าวๆ ก็ตามนี้นะครับ สำหรับเอกสารในการบรรยาย รอดาวน์โหลดได้ที่ http://library.rsu.ac.th (ตอนนี้ยังไม่ขึ้นนะ)

ช่วงเช้าก็จบประเด็นไว้เพียงเท่านี้นะครับ ส่วนช่วงบ่ายงานเสวนาเรื่อง “จะก้าวให้ทันกับสื่อทางออนไลน์ยุคใหม่ได้อย่างไร”
โดย คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ, คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ และผมเอง ดำเนินรายการโดย อาจารย์บุญญาณิศา อ.ตันติพิบูลย์

ในช่วงบ่ายหลักๆ วิทยากรก็ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องสื่อออนไลน์ ดังนี้

– การแบ่งประเภทสื่อออนไลน์
– ข้อดีและข้อเสียของการใช้สื่อออนไลน์
– ข้อควรระวังในการใช้สื่อออนไลน์
– ทำไมเราต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน
– กรณีการใช้สื่อออนไลน์ในงานต่างๆ
– ห้องสมุดกับสื่อออนไลน์

เอาเป็นว่าสรุปสั้นๆ แค่นี้ดีกว่า เพราะวันนั้นผมเองก็อยู่บนเวทีสมาธิเลยอยู่ที่การบรรยายมากกว่า
แต่ขอสรุปง่ายๆ ว่า การรู้จักเทคโนโลยีและใช้มันให้ถูกต้องจะทำให้เราได้เปรียบและมีโอกาสมากกว่าคนอื่น

การบรรยายและเสวนาก็จบด้วยดี แต่งานสัปดาห์ห้องสมุดไม่ได้มีแค่งานบรรยายอย่างเดียวนะ
ในห้องสมุดยังมีนิทรรศการและกิจกรรมการส่งเสริมการรักการอ่านอื่นๆ ด้วย
ซึ่งวิทยากรอย่างพวกเราไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วมาเยี่ยมชมดูสักนิดก็ดีเหมือนกัน

วิทยากรทั้งสามก็ขอแจมเรื่องการเขียนแนะนำหนังสือที่ตัวเองชอบและติดไว้ที่บอร์ดแนะนำหนังสือด้วย
ซึ่งในใบแนะนำก็มีให้ใส่ชื่อหนังสือ เวลาที่ชอบอ่านหนังสือ และบอกต่อหนังสือที่น่าอ่าน

จากนั้นพวกเราก็ถ่ายภาพร่วมกับเหล่าบรรณารักษ์ในหอสมุดซึ่งแน่นอนว่า น้องซี ถูกถ่ายรูปเยอะที่สุด
ส่วนผมเองก็โดนดึงไปดึงมาถ่ายรูปกันสนุกสนาน ก็สรุปง่ายๆ ว่าประทับใจกับพี่ๆ ที่นั่นจริงๆ ครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทีมงานที่จัดงานสัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต ทุกคนครับ
ขอชื่มชนจากใจว่าจัดงานได้ดี สนุก และได้รับความรู้กันมากๆ

ชมภาพงานสัปดาห์ห้องสมุดของ ม.รังสิตในวันแรก (วันที่มีงานเสวนา) ได้ที่
http://www.facebook.com/#!/album.php?aid=267520&id=695394799

ปล. ภาพบางส่วนที่นำมาลงที่นี่ก็นำมาจากแหล่งเดียวกันนะครับ
http://www.facebook.com/#!/album.php?aid=267520&id=695394799

สัปดาห์ห้องสมุด ม.รังสิต ตอน เครือข่ายทางสังคมกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สัปดาห์ห้องสมุดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจมากในสถานศึกษาหลายๆ ที่ ซึ่งวันนี้ผมขอแนะนำกิจกรรมสัปดาห์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งจัดธีมงานได้น่าสนใจ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้อ่านเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมห้องสมุดกัน

รายละเอียดทั่วไปของงานนี้
ชื่อกิจกรรม : สัปดาห์ห้องสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต
ธีมงานหรือหัวข้อของงาน : เครือข่ายทางสังคมกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
วันที่จัดงาน : วันที่ 12-14 มกราคม 2554
สถานที่จัดงาน : สำนักหอสมุด อาคารหอสมุด (อาคาร 7) มหาวิทยาลัยรังสิต
จัดโดย : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต

ธีมของงานนี้อย่างที่บอกแหละครับว่าอยู่ในเรื่องของ Social Network เป็นหลัก
ซึ่งจะสังเกตได้จากวัยรุ่นยุคใหม่ให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น
ในฐานะของสถานศึกษาก็ควรจะต้องปรับตัวให้ทันยุคทันกระแสและนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้
เพื่อให้วงการศึกษาหรือทุกๆ สื่อเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมและการตอบสนองต่อการบริการของผู้ใช้บริการได้ด้วย

กิจกรรมที่น่าสนใจในงานนี้
– การบรรยายเรื่อง “สังคมฐานความรู้กับสังคมเครือข่าย : ไปด้วยกัน ไปได้ไกล”
– จะก้าวให้ทันกับสื่อทางออนไลน์ยุคใหม่ได้อย่างไร
– การอบรมและสอนการใช้งานฐานข้อมูลต่างๆ
– กิจกรรมอื่นๆ เช่น การออกร้านหนังสือ ของที่ระลึก นิทรรศการ และนำชมห้องสมุด

อ๋อ ลืมบอกงานนี้ผมก็ได้รับเชิญเป็นวิทยากรด้วยเช่นกันในเรื่อง “จะก้าวให้ทันกับสื่อทางออนไลน์ยุคใหม่ได้อย่างไร”
ซึ่งก็ขอบอกเลยว่าเรื่องที่ผมจะนำมาพูดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้งานสื่อทางออนไลน์กับวงการห้องสมุด

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากเข้าร่วมฟังบรรยายก็กรอกแบบฟอร์มได้ที่ http://library.rsu.ac.th/pdf/library53.pdf

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจในงานสัปดาห์ห้องสมุดของ ม รังสิต ก็อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://library.rsu.ac.th/pdf/library53.pdf