บุคคลดีเด่นในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ ประจำปี 2552

วันนี้ผมขอเอาเรื่องที่น่ายินดีและชมเชยมาให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ
เป็นเรืองเกี่ยวกับ “บุคคลดีเด่นในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ ประจำปี 2552”

librarian-awards

จริงๆ ข่าวนี้ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ประกาศมาได้สักระยะนึงแล้วนะ
วันนี้ผมขอเอามาลงให้เพื่อนๆ อ่านอีกสักทีนะครับ

ปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัล 5 ท่านครับ ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. นางกันป์หา เก้าเอี้ยน – บรรณารักษ์ วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช
เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งบรรณารักษ์ตั้งแต่ปี 2526 ท่านได้จัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของสถานการศึกษา อีกทั้งยังจัดกิจกรรมมหกรรมรักการอ่าน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งนับว่าเป็นแบบอย่างของบุคคลแห่งการเรียนรู้

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นงนารถ ชัยรัตน์ – ผู้อำนวยการ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
เนื่องจากทั้งมีผลงานทั้งในด้านการสอน และการบริหารห้องสมุด รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พัฒนาห้องสมุดโรงเรียนมงคลวิทยา จังหวัดระยอง (โรงเรียนพระปริยัติธรรมของสามเณร) รวมถึงจัดพิมพ์ชุดนิทานภาษาของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2,400 ชุด

3. นางนาถระพินทร์ เบ็ญจวงศ์ – ครูชำนาญการ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม
เนื่องจากท่านเป็นบุคคลที่เสียสละ อุทิศตนเพื่อพัฒนาห้องสมุดวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมให้ก้าวหน้าเป็นลำดับ อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 30 ปี และเผยแพร่บทความต่างๆ เกี่ยวกับวงการบรรณารักษ์อย่างต่อเนื่อง

4. นางจินัฐดา ชูช่วย – ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานห้องสมุดโรงเรียนสตูลวิทยา
เนื่องจากท่านได้ผลักดันห้องสมุดจนทำให้ได้รับรางวัลห้องสมุดดีเด่น 2 ปีซ้อน จากกรมสามัญศึกษา โล่เกียรติยศรางวัลห้องสมุดดีเด่น 3 ปีซ้อนจากเขตการศึกษา นอกจากนี้ท่านยังได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในจังหวัดสตูล และเป็นแกนนำการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนในเขตพื้นที่ห่างไกลและโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

5. นางวราพร รสมนตรี – หัวหน้างานห้องสมุด โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ
เนื่องจากท่านได้สนับสนุนและส่งเสริมโครงการด้านการอ่านมากมาย เช่น โครงการพัฒนาการอ่านสู่ครูมืออาชีพ โครงการสุดยอดฑูตส่งเสริมการอ่าน โครงการส่งเสริมการอ่านวรรณกรรมเยาวชนแว่นแก้ว และได้รับโล่เกียรติคุณครูดีเด่นทางด้านการศึกษา ในปี 2551

เอาเป็นว่าผมก็ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ท่านด้วยนะครับ
และอยากให้มีบรรณารักษ์และคุณครูเช่นนี้มากๆ จัง
วงการห้องสมุดเราจะได้พัฒนาอย่างก้าวหน้าต่อไป

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้จาก
http://tla.or.th/pdf/person1.pdf

สรุปรายชื่อ ผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุดฯ ประจำปี 2551

วันนี้ผมขอเอาเรื่องเก่าจากสมาคมห้องสมุดมาโพสให้อ่านกันนะครับ นั่นก็คือ
เรื่อง การประกาศรายชื่อผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุด และการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ 2551

librarian

ถ้าหากเพื่อนๆ เข้าไปที่เว็บไซต์ของสมาคมห้องสมุดฯ จะเห็นว่า
ข่าวนี้ทางสมาคมได้นำเสนอเป็นไฟล์ .jpg ให้อ่านกัน

เพื่อนๆ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพดูได้ที่
http://tla.or.th/document/good1.jpg
http://tla.or.th/document/good2.jpg
http://tla.or.th/document/good3.jpg
http://tla.or.th/document/good4.jpg

แต่สำหรับใครที่ไม่ชอบอ่านไฟล์ .jpg เหมือนอย่างผม
ก็ลองอ่านข้อมูลด้านล่างนี้ได้ เนื่องจากผมนำมาเขียนใหม่เป็น text แบบสรุปให้นะครับ

รายชื่อของผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุดฯ ประจำปี 2551 มีดังนี้

– นายทวีศักดิ์ เดชเดโช (ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว)
ผลงานเด่น : ให้การสนับสนุนห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี และห้องสมุดประชาชนซอยพระนาง
สนับสนุนการจัดสร้างห้องสมุดประชาชนแห่งใหม่จำนวน 8 แห่ง นอกจากนี้ยังผลักดันโครงการบ้านหนังสือ

– เทศบาลนครพิษณุโลก
จัดสรรงบประมาณในการสร้างหอสมุดเทศบาลนครพิษณุโลกแห่งใหม่
ให้มีบรรยากาศที่ทันสมัย และทำให้ห้องสมุดมีภาพลักษณ์ใหม่

– เทศบาลเมืองพัทลุง
บริจาคเงินให้ กศน. เพื่อใช้ในการสร้างอาคารห้องสมุดประชาชนหลังใหม่
เพื่อให้บริการการเรียนรู้ รวมถึงเป็นศูนย์ข้อมูลชุมชน และจังหวัดพัทลุง

– บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด
จัดทำโครงการแหล่งการเรียนรู้ และให้การสนับสนุนในการสร้างห้องสมุดโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
ในเขตจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี จำนวน 10 โรงเรียน

– ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร (อธิการบดีมหาวิทยามหิดล)
สนับสนุนในเรื่องการปรับปรุงอาคารหอสมุดศิริราช การจัดสร้างคลังหนังสือศิริราช
รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารคลังหนังสือ
และผลักดันจนหอสมุดศิริราช ได้รับรางวัลหน่วยงานดีเด่นในเรื่อง Quality Fair 2551

– รศ. ดร. พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ (คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ให้การสนับสนุนการพัฒนาห้องสมุด และสถานภาพของครูบรรณารักษ์
โดยให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับสถานภาพครูบรรณารักษ์โรงเรียน

– นางสาวเพ็ญจรัส สิงห์ทอง (ผู้อำนวยการโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์)
เป็นผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของห้องสมุด และแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
ดำเนินการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เพื่อสร้างห้องสมุดโรงเรียนที่สมบูรณ์ และทันสมัย

– รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
จัดสรรงบประมาณให้กับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อใช้ในการพัฒนาห้องสมุดในส่วนต่างๆ เช่น การเปิดบริการห้องสมุดตลอดคืนในช่วงสอบ
หรือ โครงการบริการยืมคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับใช้งานภายในห้องสมุด

– ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)
สนับสนุนเงินในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ห้องสมุดโรงเรียนมงคลวิทยา
และพัฒนาองค์ความรู้สำหรับห้องสมุดชุมชนต้นแบบบนพื้นฐานคุณธรรม

– สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ
สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียนในชนบท
และบริการจัดสร้างอาคารห้องสมุดสำหรับโรงเรียนในชุมชนต่างๆ

– ศาตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ให้การสนับสนุนในการพัฒนาห้องสมุด สัญญา ธรรมศักดิ์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อให้เป็นห้องสมุดกฎหมายที่ทันสมัย และสมบูรณ์แบบ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับรายชื่อและข้อมูลของผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุดฯ ประจำปี 2551
ซึ่งสรุปว่ามีทั้งหมดจำนวน 5 หน่วยงาน และ 6 ท่าน

ผมก็ขอเป็นตัวแทนของคนที่อยากเห็นห้องสมุดเมืองไทยพัฒนา
ก็ขอขอบคุณแทนบรรณารักษ์ และห้องสมุดต่างๆ ด้วยนะครับ
ที่ท่านและหน่วยงานให้การสนับสนุนสิ่งดีๆ เพื่อสังคมไทย