บรรณารักษ์การแพทย์กับเครือข่ายสังคมออนไลน์

ถึงคิวที่ผมจะต้องสรุปการบรรยายในส่วนของผมเองในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ภายใต้หัวข้อย่อย คือ E-Medical Librarian and Social Network
วิทยากร คือ ผมเองครับ (นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์) นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้


สำหรับหัวข้อที่ผมบรรยายก็มีสไลด์ประกอบ ซึ่งเพื่อนๆ ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

(บรรยายเรื่องเครื่องมือออนไลน์ ก็เลยขอนำมาเสนอเป็นตัวอย่าง อิอิ)

จริงๆ เรื่องที่ผมบรรยายให้ที่นี่ เป็นหัวข้อที่ผมบรรยายให้ห้องสมุดอื่นๆ ฟังบ่อยมาก
แต่ที่ไม่เหมือนที่อื่น คือ ปกติผมจะใช้เวลาบรรยายเรื่องนี้ 6 ชั่วโมง แต่สำหรับที่นี่ผมย่อเหลือ 1 ชั่วโมง
(เนื้อหาที่ผมเคยบรรยาย 6 ชั่วโมง ลองอ่านเรื่องเก่าดูที่ “สรุปการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians“)

เริ่มจากการพูดถึงคำว่า Cybrarian ว่ามีที่มาจากคำว่า Cyber + Librarian
นั่นก็หมายถึงบรรณารักษ์ในยุคไซเบอร์ หรือ ผมจะขอแทนว่าเป็น บรรณารักษ์ยุคใหม่แล้วกัน
โดยแน่นอนสิ่งที่บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีนอกจากความรู้ในด้านวิชาชีพของห้องสมุดแล้ว
ยังต้องมีความรู้รอบด้าน และติดตามข่าวสารใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะไอที

“ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที” ประเด็นอยู่ที่ว่างานในห้องสมุดปัจจุบันเกือบทุกส่วนต้องพึ่งพาไอทีหรือคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ งานบริหาร งานจัดทำรายการ ฯลฯ

“ไอทีสำหรับบรรณารักษ์” คงไม่ต้องถึงขั้นว่า เขียนโปรแกรม หรือ พัฒนาโปรแกรม เหมือนพวกโปรแกรมเมอร์หรอกนะครับ
แต่ผมแค่ต้องการให้เรารู้จักโปรแกรม เข้าใจโปรแกรม และนำโปรแกรมไปใช้งานให้ถูกต้องก็เท่านั้นเอง

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

เครื่องมือออนไลน์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาห้องสมุด (แบบฟรีๆ) มีดังนี้
– Blog
– E-mail
– MSN
– Twitter
– Facebook
– Youtube
– Flickr
– Slideshare (ตัวอย่างการใช้ดูจากไฟล์สไลด์ที่ผมบรรยายไว้ด้านบนเลยครับ)

ก่อนที่ผมจะมาบรรยายให้ที่นี่ฟัง ผมได้ศึกษาเว็บไซต์ของห้องสมุดการแพทย์หลายที่ และพบจุดที่ต้องปรับปรุงหลักๆ คือ กระดานถามตอบ (forum) ซึ่งปัจจุบันได้กล่าวเป็นที่อยู่ของพวกสแปมโฆษณาไปหมดแล้ว ผู้ดูแลต้องรีบดำเนินการปรับปรุงโดยด่วน และอีกจุดหนึ่งที่หลายๆ แห่งเป็น คือ การไม่อัพเดทเว็บไซต์มาเป็นปีๆ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาเจอแต่ข้อมูลเก่าๆ

ทางออกของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมขอแนะนำให้ลองนำบล็อกมาใช้แทนเว็บไซต์ห้องสมุด เนื่องจากอัพเดทง่าย ไม่ต้องมีความรู้เรื่องโปรแกรมก็สามารถอัพเดทเว็บไซต์ของห้องสมุดได้แล้ว

ปัจจุบันบล็อกถูกนำมาใช้หลากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น :-
1. การสร้างบล็อกขององค์กร
2. การสร้างบล็อกเพื่อกระจายข่าวสาร
3. การสร้างบล็อกเพื่อสร้างเครือข่าย
4. การสร้างบล็อกเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

บล็อกฟรีที่ผมแนะนำให้ใช้ คือ www.wordpress.com เพราะว่ามีลูกเล่นเยอะแถมคนเจอใน google ได้ง่ายอีกด้วย

ตัวอย่างบล็อกที่ผมแนะนำคือ บล็อกเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย http://www.libraryhub.in.th

เรื่องของบล็อกห้องสมุดหลายๆ แห่งชอบถามว่าเขียนเรื่องอะไรได้บ้าง ผมเลยทำตัวอย่างหัวข้อมาให้ดู ยังไงก็ลองเอาไปประยุกต์กันดูนะครับ
– รายชื่อหนังสือยอดนิยมในห้องสมุด ประจำเดือน….
– กิจกรรมในห้องสมุด ประจำเดือน….
– ประมวลภาพกิจกรรมวันเด็ก ณ ห้องสมุด
– แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
– แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
– ขอคำแนะนำ เรื่องหนังสือนิทานในห้องสมุดหลายเล่มถูกเด็กฉีก
– รวมภาพผลงานของเด็กๆ ที่เข้ามาวาดภาพ ระบายสีในห้องสมุด


เครื่องมือออนไลน์อีกตัวที่ไม่พูดไม่ได้แล้ว คือ Facebook

ห้องสมุดหลายๆ แห่งมี facebook แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร โพสแบบไหน
ดังนั้นผมจึงนำตัวอย่างการใช้งาน facebook มาให้ดู เช่น
– แนะนำหนังสือที่น่าสนใจในห้องสมุด
– ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น
– ทักทายพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการออนไลน์
– โปรโมทบล็อกหรือเว็บไซต์ของห้องสมุด
– เชิญเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้องสมุด
– ให้บริการออนไลน์
– โพสรูปกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุด

นอกจากนี้ยังได้แนะนำเรื่องการดูสถิติการเข้า facebook ของผู้ใช้บริการ หรือ สมาชิกได้
โดยการตั้ง page ของห้องสมุดแล้วดูที่ “ดูอย่างละเอียด” จะพบข้อมูลการเข้าใช้ของสมาชิกดังรูป

รณีศึกษาการใช้ facebook ที่น่าสนใจดูได้ที่
http://www.facebook.com/thlibrary (กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย)
http://www.facebook.com/groups/133106983412927/ (กลุ่ม Librarian in Thailand)
http://www.facebook.com/groups/183430135056067/ (ชมรมบรรณารักษ์การแพทย์)

จบจากเรื่อง facebook ก็ต่อในเรื่องที่ใกล้ๆ กัน คือ Twitter
ห้องสมุดหลายๆ แห่งไม่รู้จัด twitter ซึ่งผมก็อธิบายแบบง่ายๆ ว่า
Twitter เป็นการโพสประกาศแบบสั้นๆ 140 ตัวอักษร ให้คนที่เป็นเพื่อนเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร
การใช้งาน twitter ที่ผมขอแนะนำ คือ การนำมาใช้ในการถ่ายทอดสดการสัมมนา หรือ การจัดกิจกรรมในห้องสมุด

ปิดท้ายด้วยการนำเสนอการใช้ไอทีแบบง่ายๆ สร้างงานแบบสร้างสรรค์
(นำเสนอตัวอย่าง infographic ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งใช้แค่โปรแกรม powerpoint เท่านั้น)
ลองอ่านเพิ่มเติมและชมภาพ infographic ได้ที่ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

ทิ้งท้ายไว้สักนิดให้คิดแล้วกันครับว่า “เปิดใจ และตามมันให้ทัน เรื่องไอทีไม่ยากเหมือนที่คิด”

บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย

หัวข้อที่สี่ที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
คือ บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย
วิทยากรโดย นายแพทย์วุฒิชัย จตุทอง หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนวิชาการ โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์

หัวข้อนี้ผมได้อยู่ฟังนิดเดียวเอง เนื่องจากถูกเรียกไปคุยเรื่องการจัดตั้งชมรมบรรณารักษ์การแพทย์
ผมจึงขออนุญาติสรุปจากสไลด์ของท่านวิทยากรแล้วกันนะครับ ซึ่งก็อ่านแล้วพอได้สาระอยู่บ้าง

บรรณารักษ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการสนับสนุนการวิจัย เกี่ยวเพราะว่าเป็นตัวการในการค้นหาข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการ (คล้ายที่อาจารย์ทวีทองบอกครับ) เมื่อนายแพทย์จะทำงานวิจัยสักชิ้นก็จะมาหาข้อมูลที่ห้องสมุด บรรณารักษ์ก็จะช่วยค้นหาข้อมูลต่างๆ ให้ ถือว่าเป็นการสนับสนุนงานวิจัยได้แล้ว

ในโลกปัจจุบันที่มีสภาวะการแข่งขันสูง ท่านวิทยากรจึงนำรูปภาพมาเปรียบเทียบว่าถ้าเราอยากอยู่รอดในทะเล เราต้องเป็นฉลาม หรือไม่ก็เหาฉลาม ถึงจะอยู่รอดได้ เพราะถ้าเป็นปลาชนิดอื่นก็คงเป็นเหยื่อของปลาฉลามอยู่ดี

นักวิจัยต้องการอะไรจากห้องสมุด (บรรณารักษ์)
– หัวข้องานวิจัย / โจทย์งานวิจัย
– Review Literature
– การอภิปรายย่อยเป็นกลุ่มๆ
– ฐานข้อมูลสืบค้นออนไลน์
– ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานวิจัย (สำหรับผู้เริ่มต้นทำงานวิจัย)

นักวิจัยคิดอย่างไรกับห้องสมุด
– ห้องสมุดมีความสำคัญ และจะให้ประโยชน์กับนักวิจัยอย่างไร
– ห้องสมุดของหน่วยงานตัวเองดีกว่าห้องสมุดของหน่วยงานอื่นหรือไม่ อย่างไร
– ห้องสมุดมีเครือข่ายหรือไม่
– ห้องสมุดมีฐานข้อมูลอะไรบ้าง

แหล่งข้อมูลสำหรับงานวิจัยในห้องสมุด แบ่งออกเป็น

1. ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต : แหล่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจ เช่น

http://www.google.com
http://www.webmedlit.com
http://www.medmatrix.org
http://www.tripdatabase.com

2. เอกสารที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์โดยทั่วไป

– Grey Literature Report
– Netprints
– SIGLE
– CPG

3. ฐานข้อมูลการแพทย์ออนไลน์ ที่ควรรู้จัก เช่น

– Medline
– EMBASE
– CINAHL
– PsychInfo
– ERIC

การศึกษารูปแบบการวิจัยแบบ Systematic Review สามารถดูข้อมูลได้จาก
http://www.cochrane.org
http://www.york.ac.uk/inst/crd/welcome.htm
http://hstat.nlm.nih.gov
http://www.acpjc.org
http://www.clinicalevidence.com
http://www.uptodate.com

รูปแบบของการสืบค้นในฐานข้อมูลก็มีอยู่หลายแบบ เช่น การสืบค้นด้วยคำสำคัญ, การสืบค้นตามเงื่อนไข, การสืบค้นแบบไล่เรียง ฯลฯ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึในการค้นหา คือ เรื่องการตัดคำ หรือการใช้ธีซอรัส (ความสัมพันธ์ของคำสืบค้น)…..

การวิจัยกับบทบาทที่เปลี่ยนไปของบรรณารักษ์ยุคดิจิทัล
ในอดีตเราอาจจะถูกมองว่าเป็นผู้อนุรักษ์หรือผู้เก็บหนังสือ แต่ด้วยบทบาทในสังคมสมัยใหม่ทำให้เราได้เปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นผู้จัดการสารสนเทศ และทิศทางในอนาคตเราจะกลายเป็นผู้เอื้ออำนวยความรู้ (ผู้ชี้นำความรู้)

บรรณารักษ์จะสนับสนุนการทำวิจัยได้อย่างไร
– จัดหางานวิจัย และให้คำปรึกษาในการใช้งานวิจัย
– วิเคราะห์และจัดหมวดหมู่งานวิจัย
– พัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัย
– พัฒนาเครื่องมือเพื่อเข้าถึงงานวิจัย
– เผยแพร่งานวิจัย

ตัวอย่างกรณีศึกษาบรรณารักษ์กับการสนับสนุนงานวิจัย : บรรณารักษ์พบนักวิจัย สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการหาแหล่งข้อมูลเพื่อการวิจัย
– ให้คำแนะนำบริการ และการเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์
– แนะนำฐานข้อมูลที่ใช้เป็นแหล่งตรวจสอบการอ้างอิงผลงานทางวิชาการ (Citation analysis)
– จัดโปรแกรมฝึกอบรมเรียนรู้การใช้สารนิเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการค้นคว้าข้อมูล
– ประสานความต้องการระหว่างนักวิจัยกับสำนักหอสมุด

เป็นยังไงกันบ้างครับบทบาทของบรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนการวิจัย
บทบาทนี้ผมว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเหล่าบรรณารักษ์ในสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างดีที่เดียว
ยังไงก็ลองทำความเข้าใจและเอาไปประยุกต์ใช้กันดูนะครับ

การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ (Spring News)

หัวข้อที่สามที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
คือ การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์
วิทยากรโดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

หัวข้อนี้ดูเผินๆ อาจจะมองว่าไม่เกี่ยวกับห้องสมุด แต่ผมขอบอกเลยว่า
การทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าว กับ งานห้องสมุดมีส่วนที่คล้ายกันมากๆ ไปลองอ่านสรุปได้เลยครับ

สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 5 มีนาคม 2553
คนที่ติดเคเบิลที่บ้านหรือติดจานดาวเทียมที่บ้านดูได้หมดยกเว้นของทรู นอกจากนี้ยังดูผ่าน iphone ipad ได้ด้วย

การบริหารจัดการข้อมูลในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ

1. การจัดการคน
2. การจัดการข้อมูล

แต่ในการบรรยายจะเน้นในเรื่องของการจัดการข้อมูลเป็นหลัก โดยเฉพาะการจัดการศูนย์ข้อมูลข่าวที่เน้นในเรื่องการจัดเก็บไฟล์ภาพข่าว โดยต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดหมวดหมู่ (ควรมีพื้นฐานด้านห้องสมุดหรือบรรณารักษ์) มาเป็นคนกำหนดหัวเรื่องให้กับภาพข่าวซึ่งมีความสำคัญมาก

เช่น ไฟล์ภาพข่าวที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะให้หัวเรื่องว่า “สถานการณ์ใต้” ซึ่งหัวเรื่องค่อนข้างกว้างมาก ถ้าจัดการไม่ดีจะทำให้การค้นหาข้อมูลไฟล์ข่าวมีปัญหาล่าช้าไปด้วย เพราะว่าต้องจำชื่อเรื่อง สถานที่ และวันและเวลาที่เกิดเหตุให้ได้ แต่ถ้าจัดการดีจะทำให้เราสามารถบริหารข้อมูลได้ดีไปด้วย

ข้อมูลข่าวและภาพในสถานีโทรทัศน์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่สามารถลบข้อมูลต่างๆ ได้เนื่องจากอาจจะต้องมีการนำมาฉายซ้ำในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการจัดเก็บ และการบริหารที่ดี จะทำให้เราเข้าถึงไฟล์ข้อมูลข่าวและภาพได้ง่าย

การจัดเก็บในรูปแบบเดิมๆ ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
มักจะอยู่ในรูปของเทปรายการ ซึ่งปัจจุบันเปลียนมาจัดเก็บในรูปแบบของดีวีดี และอนาคตทิศทางจะเป็นไปในแนวทางของฐานข้อมูลดิจิตอล

ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จะมีการจัดเก็บไฟล์รูปภาพเป็นดีวีดีโดยมีการสำรองข้อมูลออกเป็น 3 ชุด เพื่อป้องกันการเสียหายและสูญหาย

ศูนย์ข้อมูลข่าว = คลังสมองของนักข่าว

กระบวนการของการไหลข้อมูลในสถานีโทรทัศน์จะเริ่มต้นจาก
ช่างภาพถ่ายภาพ – จัดเก็บรูปภาพ – ตัดต่อรายการ – ออกอากาศ – จัดเก็บเข้าศูนย์ข้อมูล
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวข้างต้นต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

การตั้งชื่อไฟล์เพื่อการจัดเก็บก็จะมีการใช้หัวเรื่องเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อให้สามารถค้นหาได้ง่าย เช่น POL = การเมือง
รูปแบบการตั้งชื่อของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ มีดังนี้ อักษรย่อ + วันที่ + เวลา + ชื่อข่าว

การบริหารไฟล์ภาพในส่วนของช่างภาพเองก็จะดูในเรื่องของขนาดภาพที่เพียงพอต่อการใช้งานในการออกอากาศ เพื่อลดขั้นตอนในการตัดต่อรายการ และประหยัดเวลาของขั้นตอนอื่นๆ ด้วย

วิทยากรได้ทิ้งท้ายด้วยการประกาศรับสมัครบรรณารักษ์ที่สนใจไปร่วมงานกับศูนย์ข้อมูลข่าวด้วย
โดยบรรณารักษ์ที่สนใจจะทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าวของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– ความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพ
– มีหัวใจในการเป็นบรรณารักษ์
– สนใจข่าวสารบ้านเมือง

เอาเป็นว่าอ่านสรุปแบบนี้แล้วเพื่อนๆ เริ่มเห็นรึยังครับว่า ศูนย์ข้อมูลข่าวกับห้องสมุดไม่ได้ห่างกันเลย
ลักษณะงานคงไม่เหมือนกันเป๊ะๆ หรอก แต่ผมว่าก็ยังมีส่วนที่คล้ายๆ กันนะครับ

เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ คือ http://www.springnewstv.tv/

แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน

หัวข้อที่สองของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่ผมจะสรุป
คือ แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน
วิทยากรโดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอีกหัวข้อหนึ่ง (จุดประสงค์ที่ผมมาฟังตั้งแต่เช้าก็เพื่อหัวข้อนี้โดยเฉพาะนั่นแหละครับ)

ท่านวิทยากรขึ้นมาเกริ่นถึงประวัติการทำงานของตัวเอง (ซึ่งเยอะมากๆ เลย)
นอกจากนี้ยังมีผลงานทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมายด้วย เช่น โปรแกรมที่ในวงการแพทย์รู้จักดี UCHA

ท่านได้เล่าถึงความประทับใจและกล่าวขอบคุณบรรณารักษ์การแพทย์คนหนึ่ง
ซึ่งย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เครื่อง Electroconvulsive therapy หรือ เครื่อง ECT ซึ่งมีราคา 300,000 บาท (ในช่วงนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือที่แพงมากๆ) ท่านจึงอยากศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่อง ECT บ้าง โดยที่เริ่มจากการค้นหาข้อมูลของเครื่อง ECT ซึ่งท่านก็ได้ขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์คนนั้นให้รวบรวมข้อมูลให้หน่อย ซึ่งผลปรากฎว่าบรรณารักษ์คนนั้นใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็สามารถรวบรวมข้อมูลได้เกือบทั้งหมด (ตอนแรกอาจารย์ทวีทองคิดว่าคงประมาณสองสัปดาห์จึงจะได้อ่าน) เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ มาแล้วอาจารย์ก็ได้วิจัยและพัฒนาจนทำให้สามารถประดิษฐ์เครื่อง ECT ได้ในราคาแค่ 300 บาท

เป็นยังไงกันบ้างครับ เห็นยังว่า บรรณารักษ์ในวงการแพทย์สามารถสนับสนุนการทำงานของแพทย์ได้อย่างไร
จากสไลด์ของอาจารย์ ผมจึงขอนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ บรรณารักษ์ และสิ่งที่ได้มา ให้ดูตามภาพได้เลย

ต่อมาอาจารย์ก็ได้เห็นความสำคัญของงานห้องสมุดกับการบริการฐานข้อมูลการแพทย์

จนในปี 2541 ที่ท่านวิทยากรมาอยู่ที่กรมควบคุมโรค จึงได้มีการจัดซื้อฐานข้อมูล full text ของวารสารการแพทย์ เพื่อให้บริการ โดยรูปแบบการให้บริการก็ คือ แพทย์ พยาบาล บุคลากรในหน่วยงาน สามารถติดต่อขอใช้บริการฐานข้อมูล Full text มาที่ห้องสมุดกรมควบคุมโรค (ผ่าน จดหมาย แฟกซ์ อีเมล์) แล้วทางบรรณารักษ์ก็จะค้นข้อมูลและจัดส่งเนื้อหาไปให้

แต่ผลที่ได้ คือ 1 ปีมีคนค้นหาเพียงแค่ 53 เรื่องท่านั้น เนื่องจากปัญหาของการซื้อฐานข้อมูลต้องดูเรื่องจำนวนสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานข้อมูลด้วย ดังนั้นนอกหน่วยงานจึงไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ จึงทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าที่ควร

ในปี 2549 กรมการแพทย์ได้ลงทุนในการซื้อฐานข้อมูล E-Journal ในราคา 3 ล้านบาท โดยรูปแบบการให้บริการยังคงคล้ายๆ กับการให้บริการในปี 2541 แต่คราวนี้นำเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ intranet และ VPN เข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้แพทย์สามาารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้เมื่ออยู่ในกรมการแพทย์ ส่วนแพทย์ที่อยู่นอกองค์กรก็สามารถใช้ VPN เข้ามาใช้งานฐานข้อมูลได้ด้วย

ผลที่ได้ จำนวนการเข้าถึงฐานข้อมูลมีมากขึ้นแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนอีกเช่นเคย เนื่องจากการใช้ VPN มากๆ บริษัทผู้ขายก็แจ้งเตือนจำนวนการใช้งานมาเป็นระยะๆ และการต่อ VPN เองก็ค่อนข้างซับซ้อน

ในปี 2554 กรมการแพทย์จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องของฐานข้อมูลการแพทย์ โดยที่ขอความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ หรือ สถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ที่ใหญ่ๆ เพื่อนำฐานข้อมูลมารวมกันและให้บริการแก่หน่วยงานที่ขาดงบประมาณ รูปแบบการทำงานแบบง่ายๆ คือ หน่วยงานที่มีฐานข้อมูลนำฐานข้อมูลมาลงไว้ที่ส่วนกลางที่เดียวและสะสมข้อมูลไปเรื่อยๆ การให้บริการก็สามารถทำได้โดยการใช VPN หรือส่งคำข้อผ่านทาง webboard, email ก็ได้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ลดต้นทุนเรื่องการบอกรับฐานข้อมูลแบบ full text และจำนวนการใช้งานฐานข้อมูลก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย

สิ่งที่มุ่งหวังจากการพัฒนาฐานข้อมูล Full text ร่วมกันคือ นักวิชาการเก่ง หมอเก่ง พยาบาลเก่ง ซึ่งจะทำให้องค์กรเก่ง กรมเก่งไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่เก่งก็เพราะว่าบรรณารักษ์นั่นเอง

ปัจจุบัน Elibrary ของกรมการแพทย์ คือ http://www.dms.moph.go.th

แนวคิดระบบข้อมูลใหม่ของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– อยากรู้อะไรต้องได้รู้
– ทำได้ด้วยตนเอง
– เรียนรู้ง่าย จำนวนคลิ๊กที่เข้าถึงข้อมูลต้องน้อยที่สุด
– เมื่อส่งคำถามแล้วต้องได้คำตอบเดี๋ยวนั้นเลย
– ทำกราฟ และสถิติได้หลายรูปแบบ
– ฟรี ไม่ต้องตั้งงบประมาณ

แนวคิดเสริมของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– โปรแกรมเดียวสามารถใช้ได้ทุกงาน
– ฝึกอบรมรอบเดียวก็เพียงพอ
– ไม่ต้องสร้างหลายโปรแกรม
– ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ก็สามารถใช้งานได้
– พัฒนาต่อยอดได้เรื่อยๆ
– ประหยัดงบประมาณ
– มาตรฐานด้านเทคโนโลยี

ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำโปรแรกม UCHA ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับระบบห้องสมุดได้ด้วย
ใช้งานได้ง่ายแถมครอบคลุมการทำงานในโรงพยาบาลได้อีก ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว

สามารถหาอ่านข้อมูลโปรแกรม UCHA ได้เพิ่มเติมที่ http://110.164.65.40/wiki/doku.php

กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์

หัวข้อแรกที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์
คือ กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์ (KPI สำหรับบรรณารักษ์แพทย์)
วิทยากรโดย นางสาวนุชนาท บุญต่อเติม ข้าราชการบำนาญ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายในหัวข้อนี้ วิทยากรได้ถามคำถามชี้นำว่า “การประเมินผลการปฏิบัติงานมีความสำคัญอย่างไร และ เราเองที่ได้มาฟังการบรรยายในวันนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไหน”

สิ่งที่เราต้องรู้จักก่อนจะเข้าเรื่องการประเมินผลงาน คือ ตัวประเมิน หรือ งานที่เราจะใช้ประเมิน
ซึ่งทำความเข้าใจง่ายๆ คือ งานที่เราได้ทำให้องค์กรมีอะไรบ้าง และงานไหนที่เป็นงานหลัก งานรอง หรืองานจร บ้าง
เราต้องรู้จักเรียงลำดับความสำคัญของงานให้ได้ ว่างานไหนสำคัญมากหรือน้อย ซึ่งแต่ละช่วงเวลาในการประเมินจะไม่เหมือนกัน

เช่น ปีก่อนเราถูกมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยนักวิจัย (งานประเมินในปีนั้นก็อาจจะนำเรื่องนี้มาประเมินได้) ปีนี้เราถูกมอบหมายให้ดูเรื่องการสร้างเครือข่ายกลุ่มงาน (งานประเมินในปีนี้ก็จะนำเรื่องนี้มาประเมินได้เช่นกัน) ดังนั้นจะสังเกตว่า ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ตัวประเมินไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวเดียวกันเสมอ

ตัวประเมิน หรือ งานที่เราจะใช้ประเมินในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 7 ตัว (รวมกับสิ่งที่องค์กรกำหนดมาให้แล้ว)

การประเมินผลงานในระดับบุคคล คือ การวัดผลการปฏิบัติงานของบุคลากรคนหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามลักษณะงานของบุคลากรนั้น

วัตถุประสงค์ของการประเมิน สามารถมองได้ 2 มุม คือ
– มุมมองขององค์กร – ผู้บังคับบัญชา
– มุมมองของบุคลากร

องค์ประกอบของการประเมิน มีดังนี้
1. ผู้ประเมิน
2. ผู้ถูกประเมิน
3. เกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมิน
5. การให้คำปรึกษา
6. การใช้ประโยชน์

KPI = Key Performance Indicator = ตัวชี้วัดผลงาน
ก่อนอื่นเราต้องมานั่งดู PI เป็นหลัก ซึ่งหมายถึง กิจกรรม หรือ งานประจำวัน ซึ่งหลักๆ แล้วนั่นคือ job descriptions นั่นเอง

ขั้นตอนการหา KPI
1. จัดกลุ่มงาน = เอา job descriptions มาดูแล้ว จัดกลุ่มงานที่มีความใกล้เคียงกันอยู่ในชุดเดียวกัน
2. ผลที่คาดหวัง = ให้วิเคราะห์ผลที่คาดหวังจากแต่ละกลุ่มงาน ส่วนนี้อาจจะใช้เครื่องมือเพิ่ม คือ Balance Scorecard***
3. ตัวชี้วัดผลงาน (ดูที่ PI เป็นหลัก) = ให้นำผลที่คาดหวังมาวัดผลโดยกำหนดคะแนนตาม ร้อยละของงาน, สัดส่วนของงาน, ระยะเวลา, มูลค่า, จำนวน
4. ตัวชี้วัดผลงานหลัก = ให้เลือกตัวชี้วัดผลงานหลักของตำแหน่งงานออกมา 3-7 ตัว เพื่อพิจารณาอีกที โดยดูจากความสำคัญของผลงานที่มีต่อองค์กรมากที่สุด

***Balanced Scorecard ของ ก.พ.ร.นำมาใช้ในการบริหารภาครัฐของไทย ได้มีการกำหนดกรอบ 4 มิติ ดังนี้ (1) คุณค่าด้านประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ (2) คุณค่าด้านคุณภาพการบริการ (3) คุณค่าด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และ (4) คุณค่าด้านการพัฒนาองค์การ

หลักการของ S-M-A-R-T
S = Specific = ชัดเจน ไม่คลุมเครือ
M = Measurable = วัดผลได้
A = Achievable without compromising another result = สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ
R = Realistic = สามารถทำได้จริงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
T = Time framed = มีการกำหนดเวลาที่แล้วเสร็จแน่นอน

ตัวอย่าง KPI ของห้องสมุดแพทย์
– ร้อยละของการค้นหาเอกสารทางการแพทย์ได้ทันเวลาที่กำหนด
– ร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อการบริการของห้องสมุด
– ร้อยละของการส่งหนังสือสำรองตามกำหนดยืม
– ร้อยละของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการซ่อมแซมหนังสือชำรุด
– ร้อยละของการสรรหาหนังสือที่ได้รับอนุมัติให้ทันตามเวลาที่กำหนด
– ร้อยละความสำเร็จของการพัฒนา website
– ร้อยละของจำนวนหนังสือหายในห้องสมุด
ฯลฯ

สรุปเนื้อหาจากการฟังและจากสไลด์คงได้เท่านี้นะครับ เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการบรรยายค่อนข้างสั้นจึงได้ข้อมูลเพียงเท่านี้ แต่จากการดูสไลด์บรรยายยังเหลือข้อมูลอีกมากเลยครับ เอาไว้ถ้าทางเจ้าภาพนำสไลด์ขึ้นเมื่อไหร่ผมจะนำมาลงให้ชมอีกทีแล้วกันครับ

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”

วันก่อน (วันที่ 2-3 สิงหาคม 54) ได้รับเกียรติให้ขึ้นบรรยายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์ เป็นคนจัดงาน หลายคนเลยสงสัยว่าผมไปเกี่ยวกับห้องสมุดการแพทย์ได้อย่างไร ผมเลยขอนำเรื่องราวที่ได้ไปร่วมมาเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมได้อ่านกัน

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอบรมชมเชิงปฏิบัติการ
ชื่องานภาษาไทย : การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์ รุ่นที่ 3
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Value Added for Medical Librarian
วันที่จัดงาน : 1-3 สิงหาคม 2554 (4-6 สิงหาคม 2554 ศึกษาดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์)
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมกาญจนาภิเษก ชั้น 25 โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์
ผู้จัดงาน : โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์

เอาหล่ะครับ ขอตอบคำถามแรกก่อนดีกว่าว่า “ผมไปเกี่ยวอะไรกับบรรณารักษ์การแพทย์ และทำไมถึงถูกเชิญมาบรรยายในงานนี้ด้วย” หลักๆ แล้วถูกเชิญเพราะว่าพี่บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดของโรงพยาบาลเลิศสินส่งเมล์มาเชิญ ซึ่งตอนแรกๆ ก็งงเหมือนกันว่าผมจะไปบรรยายได้หรอ เพราะผมเองไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์มากก่อนเลย แต่หัวข้อที่บรรยายก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับ “บรรณารักษ์การแพทย์กับการประยุกต์ใช้งานด้านไอที” เลยรู้สึกว่าเข้ากับตัวเองมากขึ้น ยิ่งได้รู้โครงการที่จะตั้งชมรมบรรณารักษ์การแพทย์ด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกว่าห้องสมุดในกลุ่มการแพทย์น่าสนใจมากเลยทีเดียว เลยตอบรับเข้าร่วมงานในครั้งนี้

งานที่เป็นการบรรยายจะมีแค่วันที่ 1 – 3 สิงหาคมเท่านั้น ซึ่งผมเองได้เข้าร่วมแค่วันที่ 2 – 3 สิงหาคม (วันที่ 1 สิงหาคมป่วยครับ)
ผมก็คงจะสรุปเนื้อหาได้แค่ของวันที่ 2 และ 3 เท่านั้นนะครับ ยังไงก็ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยล่วงหน้าเลยแล้วกัน

หัวข้อที่บรรยายอยากบอกว่าเยอะมากๆ เลยครับ เอางี้ดีกว่า ผมขอแยกเป็นตอนๆ ให้อ่านแล้วกันนะครับ โดยหัวข้อที่ผมสรุปมาก็มีดังนี้

กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์ โดย นางสาวนุชนาท บุญต่อเติม
แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน โดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล
การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ โดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม
บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย โดย นายแพทย์วุฒิชัย จตุทอง
E-Medical Librarian and Social Network โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์
IT Management in Medical Library โดย นายแพทย์ธีรชัย ยงชัยตระกูล
Use the Medical Library ? : Resident  โดย นายแพทย์ภัทรกานต์ สุวรรณทศ
Hand ? Medical Librarian  โดย นายแพทย์สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์
การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์

เอาเป็นว่าภายในอาทิตย์นี้ ผมจะสรุปหัวข้อต่างๆ ลงในบล็อก Libraryhub นะครับ
อยากให้เพื่อนๆ ค่อยๆ ติดตาม เพราะจะได้อ่านและคิดตามไปด้วยกัน
ผมว่าห้องสมุดในกลุ่มการแพทย์มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจมากๆ เยอะเลย

ปล. วันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อน เรื่องไหนที่เขียนแล้ว ผมจะนำ link มาไว้ที่บล็อกนี้แล้วกันนะครับ
สำหรับภาพในวันงานทั้งหมดเพื่อนๆ ติดตามได้จากด้านล่างนี้เลยแล้วกันนะครับ

ภาพบรรยากาศในงานการเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์ รุ่นที่ 3

[nggallery id=45]

ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์

งานสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดที่ผมไม่อยากให้พลาดอีกงาน คือ งานสัมมนาวิชาการที่จัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ต้นเดือนหน้า หัวข้องานหลักก็น่าสนใจมากๆ คือ “ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ประเภทของงาน : สัมมนาวิชาการ
ชื่องานหลัก : ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 2-3 มิถุนายน 2554 8.30-16.30 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมปองทิพย์ 1 อาคาร 12 ชั้น 9 นิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ม.กรุงเทพ รังสิต
ผู้จัดงาน : คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.)

เห็นแค่ชื่องานผมก็รู้สึกได้ว่าเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการแนวใหม่ในวงการห้องสมุดจริงๆ ครับ (นานๆ ทีจะรู้สึกตื่นเต้นกับงานแบบนี้) เรื่องของเศรษฐกิจกับห้องสมุดมันอยู่ใกล้กันมากต่างฝ่ายต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันครับ ยิ่งในบ้านเรากำลังสนใจกับคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งแน่นอนครับก่อนที่ธุรกิจจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จะต้องอาศัยซึ่งความรู้เป็นพื้นฐานเสียก่อน และการได้มาซึ่งความรู้ก็มีหลายช่องทางเช่นกัน และหนึ่งในนั้นคือ “ห้องสมุด”

ไม่ได้อยากเชียร์อะไรมากมายหรอกนะครับ แต่เห็นว่างานดีๆ ก็เลยอยากแนะนำ
เอาเป็นว่าลองมาดูหัวข้อที่น่าสนใจในงานกันก่อนดีกว่า
– ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– สมรรถนะของบรรณารักษ์ในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– ห้องสมุดกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– Information Economy and Social Network
– แบรนด์ห้องสมุดในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– PR 2.0 for Library
– กิจกรรมสร้างสรรค์กับงานห้องสมุด

การสัมมนาครั้งนี้แม้ว่าหัวข้อจะมีความน่าสนใจมากมาย แต่……
ต้องขอบอกว่ามีค่าใช่จ่ายในการเข้าร่วมงานนะครับ ประมาณคนละ 2000 บาท

(เอาเป็นว่าไปอ่านในหนังสือโครงการและแบบตอบรับดูกันเองน้า….)

สำหรับรายละเอียดโครงการ, หนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการ และแบบตอบรับการเข้าร่วมสัมมนา เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูและดาวน์โหลดได้ที่ http://www.thaipul.org/?p=252

เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีผลต่อวงการห้องสมุดเพียงใด แล้วห้องสมุดจะพัฒนาไปในแนวทางไหน มางานนี้เพื่อนๆ จะได้คำตอบ…

งานนี้เพื่อนๆ คนไหนไปได้ช่วยกลับมาสรุปให้ผมฟังด่วยนะครับ
เพราะงานนี้ผมพลาดแล้วแน่ๆ (วันที่ 2-4 มิ.ย. ผมไปงาน world book expo ที่สิงคโปร์)
เอาเป็นว่าผมจะรออ่านสรุปจากเพื่อนๆ ที่ไปงานแล้วกันนะครับ

แนะนำงานสัมมนา How to be a Global Library Participant

วันนี้มีงานสัมมนาและอบรมดีๆ มาฝากชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์กันอีกแล้วครับ
เป็นงานที่จะทำให้ห้องสมุดต่าง ๆ ได้เข้าใจวิธีการทำงานของบริการแต่ละประเภทของ OCLC

รายละเอียดทั่วไปของการสัมมนาครั้งนี้
ชื่องานสัมมนา : How to be a Global Library Participant ? Practical Approaches
วันที่และเวลาที่จัดงาน : วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 เวลา 8.30 – 16.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องกิจกรรม หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
จัดโดย : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทแอ้ดวานซ์ มีเดีย ซัพพลายส์ จำกัด

หัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้
– Hands-on Library Resource Comparison with library worldwide ? WorldCat Collection Analysis
– Collection development by Circulation Analysis in action ? WorldCat Collection Analysis
– Showcase to increase student use of library materials ? WorldCat Local
– Step by step ?digitize and broadcast? local library resources to global?? ? Content DM

สรุปง่ายๆ ครับ งานนี้จะเป็นการบรรยายแบบเจาะลึก step by step ในบริการ WorldCat Collection Analysis และบริการอื่น ๆของ OCLC เช่น Content DM และ WorldCat Local นะครับ

งานนี้ก็น่าสนใจดีครับสำหรับคนที่ชอบเรื่องเทคโนโลยี การบรรยายครั้งนี้ไม่อยากให้เพื่อนๆ กลัวเรื่องภาษาอังกฤษหรอกนะครับ เห็นหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษก็จริงแต่การบรรยายเป็นภาษาไทยครับ วิทยากรก็คนไทยนะครับ เอาเป็นว่าไปหาความรู้แล้วเอามาลองใช้งานกันดู เพื่อเป็นการพัฒนางานบริการของห้องสมุดด้วยก็ดีครับ

งานนี้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ แต่รับจำนวนจำกัด เฉพาะผู้บริหาร/บรรณารักษ์/ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด/ศูนย์สารสนเทศ/อาจารย์/นักศึกษาสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องเท่านั้นนะครับ

ครที่อยากเข้าร่วมงานก็ติดต่อไปที่ pongskorn@amsbook.com นะครับ

เอาเป็นว่าใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมก็เข้าไปดูได้ที่
http://library.tu.ac.th/agenda1153/info.html นะครับ

สรุปงาน New technology and Best Practice in Library Services

วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายเรื่อง “New technology and Best Practice in Library Services
โดยคุณ John Hickok จาก California State University เห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจดีจึงขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ อ่าน

รายละเอียดงานบรรยายเบื้องต้น
ชื่อการบรรยาย : New technology and Best Practice in Library Services
ผู้บรรยาย : John Hickok
วันและเวลาที่บรรยาย : วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.00-12.00 น.
สถานที่ในการบรรยาย : ห้อง 304 ชั้น 3 อาคารมหาจักรีสิรินธร
ผู้จัดงาน : ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสถานฑูตสหรัฐฯ

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่านะครับ การบรรยายครั้งนี้มีล่ามช่วยแปลในระหว่างการบรรยายด้วย
(แต่ผมว่าฟังภาษาอังกฤษแล้วดูสไลด์ตามน่าจะเข้าใจหว่านะครับ แต่ก็เอาเถอะครับมีล่ามก็ดี)

การบรรยายเริ่มจากการแนะนำตัวของผู้บรรยาย ซึ่งคือคุณ John Hickok
(ผมขออนุญาติเรียกผู้บรรยายว่าคุณ John เพื่อความชัดเจนในการสื่อสารนะครับ)

โดยคุณ John เป็นบรรณารักษ์ธรรมดาๆ คนนึงที่ California State University (ย้ำว่าบรรณารักษ์ธรรมดา) นอกจากนี้คุณ John ก็ยังเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้กับคนต่างชาติด้วย โดยเฉพาะคนเอเชีย วิทยานิพนธ์ที่คุณ John คือเรื่องการเปรียบเทียบความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับการบริการห้องสมุด ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจาก 200 กว่าห้องสมุด จาก 14 ประเทศ ในแถบเอเชีย ตำแหน่งอันทรงเกียรติของคุณ John ตอนนี้คือ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ ALA

หลังการแนะนำตัวเองเสร็จเรื่องแรกที่คุณ John บรรยายคือ Best Practice

ตัวอย่าง Best Practice จาก California State University แบ่งออกเป็น

1 งานด้านเทคนิคของบรรณารักษ์ ซึ่งมี 6 ตัวอย่าง ดังนี้
1.1 Prompt Cat. (การซื้อรายการบรรณานุกรมจาก OCLC)
คุณ John ได้แสดงให้เราเห็นว่าตำแหน่งงานด้าน catalog ในห้องสมุดของอเมริกาถูกลดบทบาทลงมาก แต่หันไปเพิ่มความสำคัญให้กับบรรณารักษ์ด้าน e-resource เป็นหลัก เนื่องจาก catalog สามารถดึงมาจาก OCLC ทำให้ข้อมูลเป็นกลางและไม่ทำให้เกิดความหลากหลายในการ catalog ด้วย

คำอธิบาย Prompt Cat. อ่านได้ที่ http://www.oclc.org/promptcat/

1.2 Consortium buying power of databases (จับมือร่วมกับหน่วยงานห้องสมุดอื่นๆ ในการซื้อฐานข้อมูลจากต่างประเทศ)
คุณ John ได้บอกพวกเราว่าการที่ทำความร่วมมือในการบอกรับฐานข้อมูลจะทำให้เราประหยัดงบประมาณและก่อให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าด้วย (จริงๆ แล้วในบ้านเรา uninet ก็มีนะ สกอ. บอกรับทำให้มหาลัยประหยัดด้วย)

1.3 Explosion of full-text linking in database (การเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่บอกรับให้สามารถค้นหาฐานข้อมูลแบบ fulltext ได้)
การเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ ที่บอกรับจะมำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น EBSCO ไม่มี full text ในเรื่องนี้แต่ในฐานข้อมูลอื่นอาจจะมีก็ได้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อมฐานข้อมูลกันก็จะทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลก็อาศัยโปรแกรมเสริมบางชนิด เช่น “Find it” เพียงแค่เรานำมาติดตั้งกับหน้าเว็บไซต์ก็สามารถทำงานได้แล้ว

1.4 Partnering with WorldCat for last ILL. (เข้าร่วมกับ world cat ในการแชร์ข้อมูล เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในท้องถิ่น)
การทำความร่วมมือกับ WorldCat ในเรื่องฐานข้อมูลหนังสือ การเข้าร่วม ILL (inter library loan) จะเป็นทางเลือกในการช่วยให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดยืมหนังสือที่ห้องสมุดของเราไม่มีแต่ที่อื่นมีก็ได้ และยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้สามารถค้นหาหนังสือที่อยู่ใกล้มือได้ (อยู่ใกล้ห้องสมุดไหนก็ไปที่นั่น)

http://www.worldcat.org/

1.5 Reference Statistics Software (เก็บข้อมูลจากบริการตอบคำถามมาแล้วประมวลผมหาความต้องการที่แท้จริงของห้องสมุด)
โปรแกรมเก็บสถิติการอ้างอิงและการตอบคำถามผู้ใช้บริการจะทำให้เราสามารถประเมินความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงการนำข้อมูลสถิติมาใช้ในงานบริหารจัดการห้องสมุดได้ เช่น ในช่วงเวลาที่คนใช้ห้องสมุดมากๆ ก็ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่เป็น 2 เท่า

1.6 Library Instruction Request form (แบบฟอร์มขอบรรณารักษ์ไปช่วยในการสอน)
แบบฟอร์มในการขอให้บรรณารักษ์ไปช่วยในการอบรมผู้ใช้บริการเฉพาะด้าน มีไว้ให้อาจารย์ในคณะส่งข้อความให้ห้องสมุดเพื่อขอใช้บริการบรรณารักษ์ไปอบรมผู้ใช้

2 งานบริการผู้ใช้ห้องสมุด ซึ่งมี 7 ตัวอย่างดังนี้

2.1 IM Chat reference (บริการตอบคำถามออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง)
เอา Chat online มาไว้ที่หน้าเว็บไซต์ได้เลย และต้องคอยดูแลและตอบคำถามผู้ใช้บริการด้วยนะ ในช่วงเวลาทำการบรรณารักษ์ห้องสมุดก็จะช่วยกันตอบ แต่ในเวลาหลังเลิกงานห้องสมุดที่นั่นก็จ้างคนมาดูแลและตอบคำถาม (จ้าง OCLC) ครับ ไม่แพงมากถ้าทำความร่วมมือกับที่อื่นๆ ด้วย จากการสำรวจผู้ใช้บริการจะเข้าใช้บริการมากสุดตอนห้าทุ่ม

2.2 Software to control all lab screens (โปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมหน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด)
ในช่วงเวลาที่มีการอบรมเพื่อไม่ให้เกิดความวอกแวก ห้องสมุดควรจะมีโปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมหน้าจอด้วย ผู้ใช้จะได้จดจ่ออยู่กับหน้าจอที่เราควบคุม โปรแกรมที่คุณ John แนะนำคือ lanschool (www.lanschool.com) เสียตังค์ครับแต่ไม่แพงมาก

www.lanschool.com

2.3 Specialized guides (แนะนำข้อมูลเพื่อช่วยในการสืบค้นเฉพาะเรื่อง)
การจัดทำข้อมูลเพื่อแนะนำการสืบค้นจำเป็นมากครับ เพราะบางครั้งบรรณารักษ์ต้องนั่งตอบคำถามผู้ใช้ซึ่งเป็นคำถามซ้ำไปซ้ำมา ยกตัวอย่าง นาย ก มาขอข้อมูลเรื่องโลกร้อน บรรณารักษ์ก็ชี้ว่าไปหาที่นี่ๆๆๆ แล้วก็จบ นาย ข เดินมาก็ขอข้อมูลโลกร้อน บรรณารักษ์ก็ต้องชี้ว่าไปหาที่นี่ๆๆๆ จบไปอีกหนึ่งคน นาย ค เดินมาก็ขอข้อมูลโลกร้อนอีก บรรณารักษ์ก็ต้องตอบแบบเดิม ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าเราจัดทำคู่มือการหาข้อมูลโลกร้อนแล้วเอาขึ้นเว็บ ผู้ใช้ก็จะได้นำคู่มือตรงนี้ไปใช้

2.4 Specialized tutorials (เทคนิคในการสอนใช้ข้อมูลเฉพาะเรื่อง)
รูปแบบการสอนไม่ควรใช้ text ล้วนๆ เหมือนสมัยก่อน เพราะว่ามันน่าเบื่อและทำให้ผู้ใช้บริการไม่สนใจในคำแนะนำนั่นๆ แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่มาใช้เทคโนโลยีอย่างพวก flash javascript หรือวีดีโอใน youtube มันก็อาจจะทำให้กระตุ้นในการอยากรู้ของผู้ใช้บริการก็ได้

2.5 RefWorks plug in and workshop (โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างบรรณานุกรมที่ถูกต้อง)
โปรแกรม RefWorks มีลักษณะคล้ายๆ โปรแกรม Endnotes ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถสร้างบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามรูปแบบของ APA

2.6 Outreach to international student (แนะนำและสอนการใช้ห้องสมุดให้กับผู้ใช้บริการ)
การแนะนำและสอนการใช้ห้องสมุดให้กับผู้ใช้บริการในเมืองไทยคุณ John บอกไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเห็นว่าทำกันอยู่แล้ว โดยเน้นเด็กมัธยมที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้คุณ John ย้ำว่าต้องจัดสอนให้ผู้ใช้ทุกกลุ่ม เช่น ผู้ใช้บริการที่เป็นคนต่างชาติในห้องสมุดของเราก็ต้องสอน เพราะการใช้ห้องสมุดในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

2.7 International partnership (สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ)
การทำความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติทั้งรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการจะช่วยให้เกิดการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการดูงานเพื่อพัฒนาห้องสมุดได้

จบตัวอย่างของ Best Practice แล้วคุณ John ได้เน้นในเรื่องของ trend ห้องสมุด คือ การบริการเชิงรุก

คุณ John ได้กล่าวถึงข้อดีของการให้บริการเชิงรุกและการให้การศึกษากับกลุ่มผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนภาพลักษณ์บรรณารักษ์รุ่นเก่า (โบราณ เคร่งเครียด และชอบทำปากจุ๊ๆ ให้เงียบ) ไปเป็นภาพลักษณ์บรรณารักษ์แนวใหม่ (ทันสมัย เป็นมิตร และเชี่ยวชาญเรื่องการสืบค้น)

เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแนวการให้บริการเป็นเชิงรุกในสหรัฐอเมริกา มี 3 อย่างคือ
1 บรรณารักษ์มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีมากขึ้น เช่น ทำบล็อก เล่นเฟสบุ๊ค ใช้ยูทูป
2 บรรณารักษ์มีบทบาทต่อการเรียนการสอนรายวิชาวรรณกรรมและการค้นหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น
3 บรรณารักษ์ในสหรัฐอเมริกาจบวุฒิโทในสาขาบรรณารักษ์ แต่จบตรีสาขาอื่นๆ ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งต่างจากไทยที่คนไทยเรียนตรีบรรณฯ ต่อโทก็ยังบรรณ ดังนั้นทำให้ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอื่นๆ เลย


การให้บริการเชิงรุกต้องดูอะไรบ้าง

1 สถานที่ในการให้บริการตอบคำถาม ไม่ควรอยู่ไกลหรือลึกลับเพราะผู้ใช้จะไม่กล้าใช้บริการ และที่สำคัญหนังสืออ้างอิงควรอยู่ใกล้ๆกับจุดบริการตอบคำถามด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือจุดบริการตอบคำถามควรมีจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้บรรณารักษ์สามารถสืบค้นข้อมูลได้ทันที

2 การแนะนำบริการตอบคำถามให้ผู้ใช้บริการรู้จัก คุณ John ยกตัวอย่างของห้องสมุด California State University ว่า บรรณารักษ์จะเดินถือโน้ตบุ๊คเข้าหาผู้ใช้บริการที่นั่งสืบค้นข้อมูลอยู่ตามโต๊ะ เมื่อบรรณารักษ์สังเกตเห็นว่าผู้ใช้กำลังต้องการค้นข้อมูล บรรณารักษ์ก็จะเดินเข้าไปถามและช่วยทันที คุณ John บอกในช่วงแรกผู้ใช้อาจจะตกใจ แต่เมื่อทำแบบนี้แล้วคนที่อยู่ใกล้ๆ จะได้ยินว่าบรรณารักษ์ให้การช่วยเหลือเรื่องการสืบค้นได้ ก็อาจจะต่อคิวเพื่อขอรับบริการต่อไป นอกจากนี้การทำป้ายเพื่อแนะนำบริการตอบคำถามก็สมควรที่จะทำในห้องสมุด

ภาพตัวอย่างป้ายบริการตอบคำถามในห้องสมุด

จากการพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาในเรื่องสาเหตุที่ไม่ขอรับบริการตอบคำถามจากบรรณารักษ์เนื่องจาก
– ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ (ไม่อยากให้คนอื่นคิดว่าโง่)
– เคยเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการใช้บริการห้องสมุด
– คิดว่าเปิด google ก็ได้คำตอบ

3 เพิ่มแหล่งบริการค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ ในห้องสมุด (แต่ต้องไม่กระทบเรื่องงบประมาณ) เน้นเว็บไซต์ด้านสารสนเทศมากๆ คุณ John แนะนำให้ลองใช้
www.ipl2.org
www.libraryspot.com
www.refdesk.com

4 เพิ่มการศึกษาให้ผู้ใช้บริการมากๆ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการรู้มากๆ ก็จะมาที่ห้องสมุดเองนั่นแหละ วิธีการง่ายๆ ให้ทำดังนี้
– จัดปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุด
– ขอความร่วมมือจากสาขาวิชาเพื่อให้เด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องการค้นข้อมูลในห้องสมุด
– จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop)

เอาเป็นว่าการบรรยายในหัวข้อ “New technology and Best Practice in Library Services” ก็จบที่สไลด์นี้
แต่คุณ John มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาให้พวกเราได้ดูอีก คือ ตัวอย่างห้องสมุดที่น่าสนใจ (International Best Pratices of Library Spaces)

ตัวอย่างห้องสมุดที่น่าสนใจ (International Best Pratices of Library Spaces) มี 9 หัวข้อที่ศึกษา ดังนี้

1. The Information Common
3. Social Network
4. Distance learning
5. Virtual Mgmt system
6. Technical Service
7. Marketing / Promotion
8. Reference Info Lit.
9. Library Space Planning

หลังจากจบการบรรยายก็ถึงช่วงเวลาที่ใช้ในการตอบคำถาม มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย เช่น
1. การมีร้านกาแฟในห้องสมุด – คนจะมากินกาแฟอย่างเดียวหรือไม่ กินเสร็จก็ออกจากห้องสมุด
คุณ John ก็ตอบว่าการศึกษาเรื่องนี้จริงๆ พบว่ายิ่งการมีร้านกาแฟ จะยิ่งทำให้คนเข้าห้องสมุดและอยู่กับห้องสมุดนานขึ้น นอกจากนี้การทำงานร่วมกันระหว่างร้านกาแฟกับห้องสมุดก็จะดีมากๆ เช่น วีดีโอที่เปิดในร้านกาแฟก็อาจจะเป็นวีดีโอที่เกี่ยวกับการแนะนำห้องสมุด กิจกรรมห้องสมุด หรือสาระความรู้จากห้องสมุดก็ได้

2. การเปิดพื้นที่ Comment zone (พื้นที่ที่ให้คนสามารถพูดคุยปรึกษางานกัน) มันเสียงดังนะ มันจะไม่กวนผู้ใช้คนอื่นหรอ
คุณ John ก็ตอบว่าการที่เป็น Comment zone มันก็ต้องเสียงดังอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ควรจัดมุม private zone หรือ quiet zone ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่ต้องการสมาธิใช้เช่นกัน ซึ่งบางทีเราอาจจะแบ่งพื้นที่ให้ห้องสมุดมีโซนที่เสียงดังสัก 50% ก็ดีนะ เพราะห้องสมุดปกติคือสถานที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ที่นั่งอ่านเงียบๆ เหมือนสมัยก่อน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมเขียนบล็อกยาวไปหน่อยนะครับหวังว่าคงไม่น่าเบื่อเกินไป
สำหรับคนที่ไม่ได้มาวันนี้หากสงสัยในส่วนไหนก็ฝากคำถามไว้แล้วกันครับ เดี๋ยวจะแวะมาตอบให้
สำหรับเอกสารการบรรยายไม่แน่ใจว่าผู้จัดงานลงไว้ที่ไหนเดี๋ยวจะลองเช็คดูให้นะครับ

สัมมนาวิชาการ “จากสารสนเทศสู่นวัตกรรม”

วันนี้มีข่าวงานสัมมนาวิชาการที่น่าสนใจมาฝากเพื่อนๆ วงการบรรณารักษ์และห้องสมุดนะครับ
การสัมมนานี้เป็นการนำเสนอผลงานของอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกด้านสารสนเทศศาสตร์ของ มสธ. ครับ

รายละเอียดงานสัมมนาเบื้องต้น
ชื่องานสัมมนา(ภาษาไทย) : จากสารสนเทศสู่นวัตกรรม
ชื่องานสัมมนา(ภาษาอังกฤษ) : From Information to Innovation
วันที่จัดงาน : 12 พฤศจิกายน 2553
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุม 5209 อาคารสัมมนา 1 มสธ.

ในงานนี้เป็นงานที่อาจารย์และนักศึกษา ป.เอกของภาคสารสนเทศศาสตร์ มสธ
นำผลงานและนวัตกรรมของตัวเองมานำเสนอ ซึ่งความน่าสนใจมีมากมาย

ตัวอย่างหัวข้อที่บรรยายในงานนี้ เช่น
– จากสารสนเทศสู่นวัตกรรม : กรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์
– การพัฒนาต้นแบบคลังข้อมูลเพื่อการวางแผนลดอัตราการออกกลางคัน : กรณีศึกษานักศึกษาระดับปริญญาตรี มสธ.
– การประเมินโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต สอร.
– การติดตามผลมหาบัณฑิตสารสนเทศศาสตร์ มสธ.
– เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับงานพัฒนาประเทศ : การเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
– การวิเคราะห์เนื้อหาในงานวิจัยทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ระดับนานาชาติ
– นวัตกรรมห้องสมุด : โปรแกรมโอเพนซอร์ส Senayan
– การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ของห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
– การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ : กรณีศึกษาโรงพยาบาลภาครัฐในจังหวัดนนทบุรี
– การพัฒนาบทเรียนทางเว็บเรื่อง การค้นฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
– การใช้สารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าและการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เอาเป็นว่าแต่ละหัวข้อก็น่าสนใจมากๆ ครับ แนะนำว่าถ้าใครว่างๆ ไม่ควรพลาดงานนี้เลยครับ
นอกจากจะได้รับความรู้แล้วยังอาจจะได้ไอเดียไปทำงานในห้องสมุดก็ได้นะ

งานนี้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากสนใจจะเข้าร่วมก็สามารถแจ้งความจำนงมาได้ที่ รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน (nwipawin@gmail.com)ได้นะครับ