อัพเดทข้อมูลงาน Libcamp#2

วันนี้ผมขอเข้ามาเขียนอัพเดทข้อมูลงาน Libcamp#2 หน่อยดีกว่า
เพื่อเป็นข้อมูลให้เพื่อนๆ หลายคนเตรียมตัวได้ถูกหน่อย

Read more

หลักการทำสาระสังเขปภาษาอังกฤษ (Abstract)

วันนี้สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝากข่าวมาประชาสัมพันธ์
ผมอ่านแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ มากๆ เลยต้องเอามาเล่าสู่กันฟังหน่อย

abstract Read more

เตรียมตัวมางาน Libcamp#2 กันดีกว่า

ประกาศๆ กำหนดการในงาน Libcamp#2 ออกเรียบร้อยแล้วครับ
แผนงานพร้อม สถานที่พร้อม กำหนดการพร้อม ประชาสัมพันธ์พร้อม ทุกอย่างพร้อมแล้ว

libcamp2-sponsor Read more

Consortium of iSchools Asia Pacific (CiSAP)

วันนี้ทางเอไอทีฝากข่าวมาให้ผมประชาสัมพันธ์
ซึ่งผมได้อ่านรายละเอียดแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมากจึงต้องขอบอกต่อ

ait Read more

การจัดการการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดในทศวรรษหน้า

วันนี้ขอเพิ่งงานสัมมนาอีกงานนึงที่น่าสนใจไม่แพ้งานอื่นเหมือนกัน คือ
งานประชุมวิชาการประจำปี ของหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นเอง

tu-annual-conference

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานประชุมวิชาการ
ชื่องานภาษาไทย : การจัดการการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดในทศวรรษหน้า
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Change Management of Libraries in the Next Decade
จัดวันที่ : 3 – 4 กันยายน 2552
สถานที่จัดงาน : ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ
จัดโดย : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปีนี้ก็เป็นปีที่สามแล้วนะครับที่ผมติดตามงานประชุมวิชาการ ของ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จำได้ว่าปีแรกจัดในเรื่อง “ห้องสมุดเชิงรุก : การปรับตัวสู่การเป็นห้องสมุดในโลกไร้พรมแดน” (2550)
และปีที่สองจัดในเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพห้องสมุดยุคใหม่” (2551)
ปีนี้มาในธีมงาน “การจัดการการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดในทศวรรษหน้า”

อันนี้ขอแซวเล่นๆ นะครับว่า
“โปรดสังเกตว่าธีมงานทั้งสามปีจะเน้นให้ห้องสมุดต่างๆ ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมากๆ
ตั้งแต่ต้องเชิงเปลี่ยนเป็นห้องสมุดเชิงรุกก่อน แล้วถึงจะมาเป็นห้องสมุดยุคใหม่
นอกจากนี้ยังต้องบอกให้ทุกๆ คนยอมรับเรื่องการจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ด้วย”

เราลองไปดูหัวข้อการบรรยายกันเลยดีกว่าว่ามีหัวข้อไหนที่น่าสนใจบ้าง
– สุ จิ ปุ ลิ – ฟัง คิด ถาม เขียน : หัวใจของผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด
– การเปลี่ยนแปลงบทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ :กรณีศึกษาห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง
– เทคโนโลยี 2.0 : Web 2.0, Library 2.0, Enterprise 2.0 จำเป็นสำหรับห้องสมุดจริงหรือ
– ห้องสมุดในฝันของนักวิจัย
– พลังแห่งบุคลิกภาพสำหรับผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด
– กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสู่ความสำเร็จในห้องสมุด
– กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยน

เอาเป็นว่าหัวข้อทุกหัวข้อย่อมน่าสนใจทั้งหมดอยู่แล้วหล่ะครับ
ช่วงวันแรกของการบรรยายเริ่มจากเรื่องเบาๆ แล้วค่อยหนักขึ้นเรื่อยๆ
วันที่สองก็เน้นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ กิจกรรม และการนำเสนอเป็นหลัก

ผมว่าทุกอย่างในงานบรรยายทั้งสองวันคงจะตอบโจทย์ว่า
“เราจะจัดการความเปลี่ยนแปลงได้ยังไง” กันนะครับ

มาพูดเรื่องเสียงเงินกันบ้างดีกว่า งานนี้ผู้เข้าร่วมต้องเสียค่าเข้าร่วมประชุมดังนี้
ชำระก่อน 31 กรกฎาคม ต้องจ่าย 2,500 บาท ถ้าหลังจากนั้น 3,000 บาท
แต่เดี๋ยวก่อนงานนี้มีข่าวดีสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท จ่ายแค่ 2,000 บาทเท่านั้น


นับว่าเป็นโอกาสอันดีจริงๆ ที่มีการจัดงานในครั้งนี้
ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าจะมีคนมาเล่าให้ฟังเหมือนงานก่อนๆ อีกนะครับ
สุดท้ายนี้ก็หวังว่าผมจะว่างในวันดังกล่าวด้วยแล้วกันนะครับ แล้วเจอกันครับ

งานสัมมนาบรรณารักษ์เชิงรุก

งานสัมมนาครั้งใหญ่ของชมรมห้องสมุดเฉพาะ ประจำปี 2552 กำลังจะมา
ปีนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจเพียบเลยนะครับ วันนี้เลยต้องขอบอกต่อสักหน่อย

seminar-special-lib

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานสัมมนา
ชื่องานสัมมนา : บรรณารักษ์เชิงรุก : การสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการความรู้
จัดวันที่ : วันที่ 24 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สถานที่ในการจัดงาน : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
จัดโดย : ชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

หัวข้อของการจัดงานแค่ชื่อ ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจแล้วหล่ะครับ
“บรรณารักษ์เชิงรุก” นอกจากบรรณารักษ์จะให้บริการแบบเชิงรุกแล้ว
ในแง่ของการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ หรือรวมกลุ่มเพื่อทำงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันหรอกนะครับ
หรือที่สำนวนไทยบอกไว้ว่า “หลายหัว ย่อมดีกว่า หัวเดียว” “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย”

ในโลกยุคใหม่การสร้างเครือข่ายยิ่งทำได้ง่ายกว่าเดิมเยอะครับ
เครื่องมือบนอินเทอร์เน็ตก็มีมากมายให้เลือกใช้ ดังนั้นบรรณารักษ์ต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ากๆ นะครับ

การสัมมนาในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 วัน คือ
วันแรกจะเป็นการสัมมนา และเสวนาเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในห้องสมุดเป็นหลัก
วันที่สองจะเป็นการฝึกปฏิบัติซึ่งมีหัวข้อมากมาย
เพื่อนๆ สามารถเลือกได้ว่าจะมาเข้าร่วมช่วงไหนก็ได้

หัวข้อที่น่าสนใจในวันแรก
– การจัดการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ
– ห้องสมุดกับการจัดการความรู้ด้วย? ICT
– เรื่องน่ารู้ในการจัดการความรู้ของห้องสมุด & ศูนย์การเรียนรู้
– การจัดการความรู้: เครื่องมือสู่ยุทธศาสตร์ความสำเร็จ

หัวข้อการฝึกปฏิบัติในวันที่สอง
– โลกวิชาชีพ กับบรรณารักษ์เชิงรุก
– วิธีสร้าง Blog ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
– การสร้างเอกสาร Digital ด้วย Media วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เป็นยังไงกันบ้างครับหัวข้อน่าสนใจขนาดนี้ ถ้าพลาดไปเสียดายแย่เลย

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานนะครับ ผมขอสรุปได้ดังนี้
– ถ้าเป็นสมาชิกสมาคมห้องสมุด อบรม 2 วัน = 1,200 บาท
เข้าฟังบรรยาย 1 วัน = 450 บาท หรือ Workshop 1? วัน? = 800 บาท

– ถ้าบุคคลทั่วไป อบรม 2 วัน = 1,500 บาท
เข้าฟังบรรยาย 1 วัน = 600 บาท หรือ? Workshop 1 วัน = 900 บาท

เอาเป็นว่ามีตัวเลือกให้ด้วยแบบนี้ยิ่งน่าสนใจใหญ่เลย
แต่ถ้าเป็นผมลงสองวันเลยจะดีกว่าครับ เพราะการสัมมนาครั้งนี้ราคาไม่แพงเกินไป

เอาเป็นว่างานสัมมนาครั้งนี้ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ต้องสนใจเยอะและมากันเยอะแน่ๆ
อย่างน้อยก็มาร่วมสร้างเครือข่ายกันเยอะๆ นะครับ แล้วเจอกันครับ

สรุปผลโหวตการจัดงาน Libcamp#2

จากวันก่อนที่ผมเปิดให้โหวตเรื่องวันและเวลาในการจัดงาน Libcamp#2
และผมก็ได้กำหนดการสิ้นสุดการโหวตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

libcamp2-date-time

ผลของการโหวตก็มีดังนี้
– วันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) ช่วงบ่าย 13.00 – 17.00 จำนวน 57%
– วันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) ช่วงเช้า 8.00 – 12.00 จำนวน 29%
– วันทำงานปกติ (จันทร์-ศุกร์) ช่วงบ่าย 13.00 – 17.00 จำนวน 14%

การโหวตในครั้งนี้จำนวนคนที่โหวตน้อยมาก
ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ ให้ความสนใจในการโหวตเรื่องนี้กันจริงแค่ไหนนะครับ

แต่สุดท้ายผมคงต้องยึดถือการโหวตครั้งนี้แน่นอน ถึงแม้ว่าจำนวนคนที่โหวตจะเป็นเช่นไร
สรุปแล้ววันและเวลาที่เหมาะสมต่อการจัดงาน Libcamp#2 มากที่สุด คือ
ในช่วง “วันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) ช่วงบ่าย 13.00 – 17.00”

จากการที่คุยกับทางทีมงานผู้ร่วมจัดงาน
วันที่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็คงจะได้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 นะครับ
เรื่องสถานที่ขอผมประสานงานดูอีกทีนะครับ แล้วจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

หัวข้อและธีมของงานอย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วนะครับ
ว่าคราวนี้เราจะจัดธีมเกี่ยวกับเรื่องของบรรณารักษ์บล็อกเกอร์
เอาไว้ได้ข้อสรุปมากกว่านี้แล้วผมจะนำมาประกาศในบล็อกนี้อีกทีนะครับ

งานสัมมนา eContent Management

วันนี้ผมมีงานสัมมนาดีๆ และฟรีๆ มาฝากเพื่อนๆ อีกแล้วครับ
เป็นงานสัมมนาด้านการจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (eContent)

oclc

ข้อมูลทั่วไปของการสัมมนาครั้งนี้
ชื่องานสัมมนา : eContent Management
งานนี้จัดโดย : Advanced Media Supplies Company (AMS)
วันและเวลาที่จัด : 12 มิถุนายน 2552 เวลา 13.00 น. ? 16.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมชั้น 7 สถาบันวิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลายคนคงจะงงว่าผู้จัดงานนี้คือใคร? ทำไมถึงเกี่ยวกับการสัมมนาในครั้งนี้

ผมก็ขอเกริ่นๆ เรื่องราวของงานสัมมนาครั้งนี้สักนิดนะครับ
บริษัท AMS เป็นบริษัทที่ได้ประสานงานกับ OCLC และได้เป็นผู้แทนในการจัดการประชุมครั้งนี้ครับ
และทาง OCLC ก็ได้ส่ง Mr.Andrew Wang และ Miss Tsai Shu-En
เพื่อมาบรรยายแนวทางในการบริการ และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรห้องสมุดสมัยใหม่

หัวข้อที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้


– One-stop Integrated OCLC Licensed eContent Management ประกอบด้วย First Search databases, ECO eJournals, NetLibrary eBooks, eAudiobooks, CAMIO ซึ่งจะอยู่บน Platform WorldCat.org เพียง platform เดียว

– Content DM – Digital Collection Management Software

– World Cat Local? -? the world’s richest database for discovery of materials held in libraries.

– Web Dewey ?? Online Decimal Classification (DDC) บน Internet

เห็นแค่หัวข้อแบบคร่าวๆ แล้วผมเองก็ชักจะสนใจจะไปงานนี้แล้วหล่ะครับ
หัวข้อที่ผมสนใจในครั้งนี้คือ การทำงานบน WorldCat.org
รวมถึงการจัดการข้อมูลต่างๆ บน WorldCat.org

ส่วนอีกหัวข้อที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั้นคือ Web Dewey
เป็นเรื่องของการจัดหมวดหมู่แบบตัวเลขทศนิยมบนสื่อออนไลน์

การสัมมนาครั้งนี้จริงๆ แล้วเขาจัด 3 วันนะครับ สะดวกวันไหน หรือสะดวกที่ไหนก็ลองติดต่อดูนะครับ

– วันพุธที่ 10 มิถุนายน? 2552 เวลา 9:00 น. ? 12:00 น.
ณ ห้องประชุม หอสมุดแห่งชาติ? (สำหรับบุคลากรห้องสมุดในองค์กร/สถาบัน/หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน)

– วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2552 เวลา 13.00 น. -16.00 น.
ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 อาคารใหม่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(สำหรับบุคลากรห้องสมุดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ)

– วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2552 เวลา 13.00 น. ? 16.00 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 7 สถาบันวิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำหรับบุคลากรห้องสมุดมหาวิทยาลัย)

เพื่อนๆ ที่สนใจงานสัมมนานี้ สามารถดาวน์โหลด จดหมายเชิญได้ที่นี่
— จดหมายเชิญ (ภาษาไทย) —
— จดหมายเชิญ (ภาษาอังกฤษ) —

นี่แหละครับ ห้องสมุดสมัยใหม่ตามแบบที่ผมอยากให้มีในเมืองไทย
ก็ได้แต่หวังว่าสักวันจะมีองค์กรในไทยได้มีการจัดการข้อมูลในลักษณะนี้บ้างนะครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับกิจกรรมที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้
จะมีเพื่อนคนไหนไปบ้างน้า ผมจะได้ฝากเก็บเอกสารการสัมมนาครั้งนี้ให้ด้วย
เอาเป็นว่าใครจะไปก็ฝากบอกผมด้วยนะ จะขอบคุณมากมายเลย

สรุปงานสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ Walai AutoLIB

วันนี้ผมจะมาสรุปประเด็นที่น่าสนใจในงานสัมมนาที่ผมเข้าร่วมวันนี้ นั่นคือ
“งานสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai AutoLIB”
ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมเอเซีย

walaiautolib

โดยงานสัมมนาเรื่องนี้ผมคงเข้าร่วมได้แค่วันเดียวนะครับ
แถมยังเข้าร่วมได้ไม่เต็มวันอีก แต่เอาเถอะครับ ผมจะสรุปประเด็นเท่าที่ผมได้ฟังก็แล้วกัน

ประเด็นที่ผมได้ฟัง
– ความเป็นมาของโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย
– แนวคิดในการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib
– สาธิตระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib

แค่สามประเด็นนี้ผมก็รู้สึกว่าได้รู้อะไรมากมายแล้วครับ
เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองอ่านเป็นหัวๆ แล้วกัน

—————————————————

ความเป็นมาของโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ สำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย
Introduction to Library automation in academic library
บรรยายโดย ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ซึ่งเป็น ผอ.สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา

– บทบาทของ UNINET ที่มีต่อวงการห้องสมุด คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในงานห้องสมุด

– ห้องสมุดอัตโนมัติ เริ่มมีบทบาทมากในปี 2530-2531

– สกอ. เกิดความคิดที่จะพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติของไทย
เนื่องจากการจัดหาระบบห้องสมุดอัตโนมัติมีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ค่าดูแลรักษาก็แพงเช่นกัน

– สกอ. จึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบห้องสมุดสำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย
โดยสกอ. ให้ 3 มหาวิทยาลัยดำเนินการในการพัฒนา และออกทุนสนับสนุนการพัฒนา มหาวิทยาลัยทั้ง 3 ได้แก่
(1) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยใช้ต้นแบบจาก VTLS
(2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยใช้ต้นแบบจาก Dynix และ Innopac
(3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยใช้ต้นแบบจาก Innopac

Walai AutoLIB พัฒนามาแล้ว 2-3 ปี ปัจจุบันมีคนใช้ไปแล้ว 43 แห่ง
นับว่าเป็นระบบที่ใช้เวลาไม่นาน แต่คุณภาพไม่แพ้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของคนอื่น

– ประโยคที่ได้ใจวันนี้ “งานห้องสมุดเป็นงานที่ไม่ได้หยุดนิ่ง ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

—————————————————

แนวคิดในการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib
Walai Autolib development concept
บรรยายโดย รศ.ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์

– เดิมห้องสมุดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS
แต่ระบบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาแพง
รวมถึงยังตอบสนองความต้องการด้านการใช้งานไม่ครบถ้วน

– เริ่มการพัฒนา Walai autolib ในปี 2548

– ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai autolib ระยะเริ่มต้น
(1) ความซับซ้อนของระบบงานห้องสมุด
(2) ปัญหาด้านผู้ใช้ และการจัดการความเปลี่ยนแปลง
(3) ความน่าเชื่อถือของระบบที่พัฒนาโดยคนไทย
(4) Site reference

– มีคนกล่าวว่า “ถ้าใครพัฒนาระบบห้องสมุดได้ ก็จะสามารถพัฒนาระบบอื่นๆ ได้ง่าย”
ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าระบบห้องสมุดเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากๆ

– เรื่องของการจัดการความเปลี่ยนแปลง เมื่อคนเราใช้อะไรจนชินแล้วจะให้เปลี่ยนคงต้องใช้เวลา

– คนไทยมีความสามารถในการพัฒนาระบบต่างๆ นะ น่าเชื่อถือด้วย แต่ขาดโอกาสในการพัฒนามากกว่า

-ผู้ให้การสนับสนุนในการพัฒนาระบบห้องสมุด ได้แก่
(1) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
(2) UNINET
(3) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(4) คณะทำงานโครงการ Walai Autolib

– เป้าหมายของระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai autolib ยึดหลักดังนี้
(1) สร้างระบบบริหารจัดการห้องสมุดที่มีประสิทธิภาพ
(2) สร้างมาตรฐานของงานห้องสมุด Marc21, Z39.5, ISO2709
(3) ประหยัดงบประมาณในด้านต่างๆ

– ระยะของการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai autolib แบ่งออกเป็น 6 ระยะ
(ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ากับแนวคิดห้องสมุด 2.0)

Library2.0 คือ แนวความคิดในการจัดการห้องสมุดยุคใหม่
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการได้สร้างกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

– แผนงานในอนาคตของ Walai autolib เพื่อให้เป็น Library2.0
(1) Content Management System
(2) Dynamic Search System
(3) User Space
(4) Library Web Portal
(5) Helpdesk Online

– ก่อนจบ session นี้ ผมชอบประโยคนึงของการบรรยายครั้งนี้ นั่นคือ
“Libraries Changing the world” ห้องสมุดสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

—————————————————

สาธิตระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib
Demo Walai Autolib
บรรยายโดย อาจารย์ยุทธนา เจริญรื่น

เริ่มจากการสาธิตการใช้งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib เบื้องต้น ทั้ง 6 โมดูล ดังนี้
1) ระบบบริหารจัดการ (Policy management module)
2) ระบบการทำรายการ (Cataloging module)
3) ระบบการบริการยืม-คืน (Circulation module)
4) ระบบการสืบค้นและบริการสมาชิก (OPAC and utility module)
5) ระบบควบคุมสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (Serials control module)
6) ระบบการจัดซื้อจัดหา (Acquisition module)

—————————————————

ประเด็นที่ผมสรุปมาอาจจะขาดไปในบางช่วงบางตอน
แต่เอาเป็นว่าถ้ามีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้
ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในบล็อกนี้อีกก็แล้วกัน

สำหรับคนที่พลาดงานนี้
ผมเชื่อว่าการแนะนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai Autolib อาจจะมีจัดอีก
ยังไงถ้ามีความคืบหน้าเรื่องการจัดงานแบบนี้อีก ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ รู้ทันที

โครงการสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ Walai AutoLIB

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกหนึ่งกิจกรรมช่วงนี้สำหรับวงการห้องสมุด
ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “การสัมมนาความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ”

walai-autolib

Read more