สรุปการบรรยาย : มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 มิถุนายน 2555) ผมได้มีโอกาสมาบรรยายในงาน “การอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK” เรื่อง “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์” วันนี้จึงขอแชร์เรื่องดังกล่าวให้เพื่อนๆ อ่าน

ก่อนอื่นมาดูสไลด์ที่ผมใช้ประกอบการบรรยายนี้กันก่อน

สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์”

เรื่องของสื่อดิจิทัล กับ สื่อออนไลน์ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนมากๆ เพราะเมื่อข่าวสาร ข้อมูล และความรู้อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว จริงๆ มันก็คือสื่อดิจิทัลนั่นแหละ ซึ่งสื่อออนไลน์มันก็มีหลายประเภท เช่น
– เว็บไซต์
– ฐานข้อมูล
– เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
– ไฟล์เสียง
-ไฟล์วีดีโอ

และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ เราก็จะพบว่า สื่อดิจิทัลมากมายเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

ตัวอย่างสื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เช่น  E-Book ในอดีตเป็นเอกสารที่พิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ .txt .doc วันเวลาผ่านไปจากไฟล์เอกสารธรรมดาก็ถูกแปลงสภาพเป็นไฟล์ PDF จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นไฟล์ Flash และนอกจากจะอ่านได้เพียงอย่างเดียวก็เปลี่ยนเป็นการนำสื่อวีดีโอและเสียงมาประกอบกับหนังสือด้วย ซึ่งนับเวลาการเปลี่ยนแปลงได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

ในสไลด์ที่ผมจะแนะนำนี้เป็นเพียงตัวอย่างเว็บไซต์ในโลกของ 2.0 ที่เราสามารถนำมาใช้ในวงการศึกษาเท่านั้น (ตัวอย่างแค่เล็กน้อยเท่านั้น) ได้แก่

http://www.flipsnack.com = สร้าง E-book ง่ายๆ ด้วย Flipsnack เพียงแค่อัพโหลดไฟล์ PDF ที่ต้องการจะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปบนเว็บไซต์นี้ คุณก็จะได้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Flip Book ที่สวยงามแบบง่ายๆ ได้เลยทีเดียว

http://issuu.com = สร้างและค้นหา E-book แบบง่ายๆ ด้วย ISSUU นอกจากจะสร้าง E-book ได้แล้วเรายังสามารถหา E-book ที่น่าสนใจอ่านได้อีก ตัวอย่างที่ผมแนะนำคือ หนังสือแบบเรียนมานะมานีที่เราเคยเรียนกันในอดีตก็อยู่บนเว็บไซต์นี้เช่นกัน

http://paper.li/ = หนังสือพิมพ์ข่าวสารในแบบฉบับของเรา Paper.li หนังสือพิมพ์ที่รวบรวมข่าวสารที่เราสนใจ และแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่าน….

http://youtubemp3.tv/ = แปลงวีดีโอบน Youtube ให้กลายเป็น MP3 คลิบวีดีโอไหนที่มีสาระน่ารู้และน่าสนใจ แล้วเราอยากเก็บไว้มาฟังคนเดียว ก็สามารถแปลงออกมาให้เป็นไฟล์ MP3 ได้

http://www.oxytube.com/ = เก็บวีดีโอบน Youtube มาไว้ในเครื่องของเราดีกว่า

http://www.uppsite.com/ = เปลี่ยนบล็อกของคุณให้กลายเป็น APP บนมือถือ

http://www.makebeliefscomix.com/Comix/ = สร้างการ์ตูนง่ายๆ ด้วย Makebeliefscomix (อันนี้ผมย้ำเยอะหน่อยเพราะว่าน่าสนใจมากๆ เหมาะแก่การนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หรือแม้กระทั่งจัดเป็นคอร์สอบรมแก่หน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วย)

และก่อนจะจบการบรรยายผมก็ย้ำถึงความสำคัญของโลกออนไลน์อีกครั้งว่า โลกแห่งสื่อสังคมออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้เราก็จะเจอหนทางและแนวทางที่จะนำมาใช้งานได้อีก

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการบรรยายของผมครับ

Workshop : การผลิตสื่อวิชาการในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

วันนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกกิจกรรมมาฝาก นั่นคือ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “การผลิตสื่อทางวิชาการในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book)” ที่จัดโดยสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายละเอียดการอบรมเชิงปฏิบัติการเบื้องต้น
ชื่องานภาษาไทย : การผลิตสื่อวิชาการในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book)
สถานที่จัดงาน : ห้องฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2555
จัดโดย : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิจกรรมนี้น่าสนใจมากๆ โดยฌแพาะห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา หรือแม้แต่ห้องสมุดในโรงเรียนเองก็น่าสนใจนะครับ เพราะการอบรมครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ได้ เราสามารถนำมาสอนอาจารย์หรือครูที่สนใจอยากผลิต E-book ที่ห้องสมุดของเราได้อีก

หัวข้อที่น่าสนใจ
– มาตรฐานสื่อดิจิทัล
– การใช้งาน e-Book
– แนะนำการสร้าง e-Book ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปแบบ Open source
– การติดตั้งโปรแกรมในการสร้าง e-Book
– การใช้งานโปรแกรมสําหรับสร้าง e-Book


เมื่อจบจากการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้แล้ว ทุกท่านจะได้รับเกียรติบัตร ซึ่งเพื่อนๆ สามารถนำไปใช้เป็นใบเบิกทาง และแสดงถึงความสามารถในการใช้งานโปรแกรมการสร้าง E-book ได้


ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้

สมัครภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 คนละ 1,600 บาท
หลังจาก วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 คนละ 1,800 บาท

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม
เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูและสมัครที่ http://www.library.kku.ac.th/conference2012/

ขอฝากประโยคนี้ไว้ทิ้งท้ายข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมนี้แล้วกัน
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อสองถึงสามปีที่แล้วสิ่งที่ทำให้บรรณารักษ์หวั่นๆ คงหนีไม่พ้น “Google” บัดนี้ความหวั่นๆ ของบรรณารักษ์เปลี่ยนไปเมื่อโลกกำลังพูดถึง E-book การจะขจัดความหวาดหวั่นนี้ได้คงต้องเริ่มจากการที่ห้องสมุดสร้าง Content และสร้าง E-Book ขึ้นมาเองให้ได้ และลองนำมาประยุกต์กับงานให้บริการดู สิ่งที่คงจะเป็นเพียงการจุดประกายเรื่องทิศทางของห้องสมุดในอนาคต

โครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทย

อย่างที่เมื่อวานผมได้กล่าวถึงงานสัมมนา ?มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้?
ผมได้มีโอกาสฟังการบรรยายอีกช่วงนึงที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ “โครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทย”
ผมก็จะสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่านเช่นเคยครับ

dlibthai

วิทยากรในช่วงนี้ คือ “คุณชิตพงษ์? กิตตินราดรผู้จัดการโครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทย

คำถามแรกที่ทุกคนสงสัยคือ ทำไม สสส. ถึงทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทย
คำอธิบายจากท่านวิทยากรก็ทำให้เรากระจ่าง คือ สสส. เน้นการสร้างสุขภาวะซึ่งมีหลายด้านด้วยกัน
โดยห้องสมุด ถือว่าเป็นการสร้างสุขภาวะทางปัญญานั่งเองครับ

หลักการคร่าวๆ ของโครงการนี้เกิดจากความคิดที่ว่า
หน่วยงานที่มีข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลหลายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นตัวกลางที่จะช่วยประสานและแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้

วิทยากรได้กล่าวถึง “สื่อกำหนดอนาคตของสังคม” เนื่องจากสื่อสามารถสร้างกรอบแนวคิดให้สังคม
บางประเทศถึงขั้นต้องปิดกั้นสื่อ เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับกรอบแนวคิดต่างๆ

สำหรับประเทศไทยมีการสำรวจและพบว่าในวันหยุด เด็กๆ จะใช้เวลากลับการดูทีวีถึง 14 ชั่วโมง
ลองคิดดูสิครับว่า เด็กเหล่านี้จะได้รับอะไรไปเป็นแนวคิดของพวกเขาบ้าง

“สื่อดิจิทัลกำลังกลายเป็นสื่อหลัก” เนื่องจากสื่อดิจิทัลเข้าถึงได้ง่ายมาก
จากการสำรวจคนไทยพบว่า คนไทยอ่านข้อมูลบนเน็ตมากกว่าอ่านหนังสือ
(ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ = 39 นาที แต่ใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ต 107 นาที)

จากการสำรวจของ NECTEC ก็แสดงถึงการเรียนรู้บนอินเทอร์เน็ต
เมื่อปี 51 มีการสอบถามถึงวัตถุประสงค์ของการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ใช้เพื่อการเรียนรู้ 0.1%
แต่ด้วยคำถามเดียวกัน ในปี 52 พบว่า ใช้เพื่อการเรียนรู้ 8%

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่น่าสนใจ
– World Digital Library = http://www.wdl.org/en/

wdl

– The National Archives = http://www.nationalarchives.gov.uk/

na

– Issuu = http://issuu.com/

issuu

– MIT OpenCourseWare = http://ocw.mit.edu/OcwWeb/web/home/home/index.htm

mit

– Google Book = http://books.google.com

google

แต่อุปสรรคของการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็มีนะครับ เช่น
– ความน่าเชื่อถือ? (ไม่รู้จะอ้างอิงใคร)
– ความครบถ้วนของเนื้อหา (ข้อมูลบางครั้งก็มีไม่ครบถ้วน)
– การจัดระบบ (ไม่มีระบบที่จัดการข้อมูลที่ดี)

แต่อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้มีทางแก้ นั่นก็คือการจัดการห้องสมุดดิจิทัลไงครับ
ข้อมูลอ้างอิงได้ชัดเจน เนื้อหาก็ครบถ้วน รวมถึงให้คนเป็นผู้จัดระบบย่อมดีกว่าให้คอมพิวเตอร์คิด

โครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิตอลประเทศไทย สนับสนุนในเรื่องใดบ้าง
– การผลิต (แปลงสื่อเก่าเป็นสื่อใหม่ + ทำสื่อใหม่ให้ได้มาตรฐาน)
– การเผยแพร่ (ให้บริการบนเว็บ + ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน)
– การเข้าถึง (เข้าถึงได้จากจุดเดียว + ค้นหาง่ายขึ้น)

dlib-th

เพื่อตอบสนองคนทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น
– ผู้พิการ = เข้าถึงข้อมูล
– นักเรียนนักศึกษา = ศึกษาเรียนรู้
– คนทั่วไป = สนับสนุนข้อมูลในชีวิตประจำวัน
– นักวิจัย = วิจัยพัฒนา

แผนงานของโครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิตอลประเทศไทยยาว 3 ปี (2010-2012) โดยแบ่งเป็น 3 เฟส คือ
1. จัดทำต้นแบบ (http://www.dlib.in.th) = 20,000 ชิ้น
2. สร้างมาตรฐานและบริการสาธารณะ = 200,000 ชิ้น
3. จัดตั้งองค์กร

ประโยคสรุปสุดท้ายของท่านวิทยากร ผมชอบมากๆ เลยครับ
Keyword = โอกาส + กำหนดทิศทางสังคม + สื่อใหม่

เอาเป็นว่างานนี้ผมได้ความรู้มากมายเลยครับ และได้มีโอกาสรู้จักโครงการดีๆ เพียบเลย
ขอบคุณผู้จัดงานทุกคนครับ ทั้ง มธ. สวทช. สสส. ศวท.

มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้

วันนี้ผมก็มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนา “มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้
และได้ฟัง ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงศ์ บรรยายในเรื่อง “ความสำคัญของมาตรฐานสื่อดิจิทัล”
ผมจึงขอสรุปเนื้อหามาให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมได้อ่านและเติมความรู้นะครับ

standard-for-digital-media

ปล.ผมขออนุญาตเรียกท่านวิทยากรว่า อาจารย์ นะครับ

หัวข้อแรกที่อาจารยืได้พูดถึง คือ เรื่อง “นิยามและวิวัฒนาการสังคมสารสนเทศ”
ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สังคมความรู้” ให้พวกเราฟัง

“สังคมความรู้” คือ “สังคมที่ทุกคนช่วยกันสร้าง แบ่งปัน และใช้ความรู้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี”

ไม่ว่าสังคมของเราจะเป็นเกษตร อุตสาหกรรม หรือ บริการ ถ้าเราเอาความรู้ไปใช้
มันก็อาจจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการของเราได้ด้วย

เรื่องต่อมาที่อาจารย์ได้บรรยาย คือ เรื่องของวิวัฒนาการของสื่อ
โดยยกตัวอย่างภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคการเขียนหนังสือ และยุคการพิมพ์

สิ่งที่เราเห็นถึงความก้าวหน้าของสื่อ เช่น
กระดาษ -> หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ -> เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

Example : LG Display unveils newspaper-size flexible e-paper
เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่นคล้ายๆ กระดาษ และมีขนาดใหญ่เท่าหนังสือพิมพ์

จากนั้นอาจารย์ก็หยิบเอาตารางการสำรวจยอดการจำหน่ายหนังสือในสหรัฐอเมริกามาให้พวกเราดู
และชี้ให้เห็นว่ายอดการอ่านหนังสือพิมพ์ของคนในสหรัฐอเมริกาลดลง สาเหตุมาจากสื่อออนไลน์

จากนั้นอาจารย์ก็ยกข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตมาให้พวกเราดู (internetworldstats.com)
ประชากรบนโลกประมาณ 6,700 ล้านคน มีการใช้อินเทอร์เน็ต 1,700 ล้านคน

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นี่เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อดิจิทัล
แต่สิ่งที่ทำให้ต้องมีการมาพูดเรื่องมาตรฐานของสื่อดิจิทัลก็เนื่องมาจาก

ปัญหาของสื่อดิจิทัล เช่น font error, configuration, non format

ดังนั้นจากปัญหาต่างๆ จึงต้องมีการจัดการสื่อดิจิทัล เช่น
– การถ่ายทอดและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
– ต้องทำให้สามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง
– ต้องมีการกำหนดมาตรฐานและแนวทาง
– สร้างความไหลเวียนของข้อมูล

ซึ่งหากพูดถึงมาตรฐานของสื่อดิจิทัลแล้ว เรามีรูปแบบในการกำหนดมาตรฐานหลายอย่าง เช่น
– การจัดการโฟลเดอร์และแฟ้มเอกสาร
– การจัดการเอกสารงานพิมพ์
– การจัดการเอกสารบนเว็บไซต์
– การจัดการเอกสารในการนำเสนอ
– การจัดการไฟล์เสียง
– การจัดการไฟล์ภาพ
– การจัดการสื่อมัลติมีเดีย

หลังจากที่พูดในส่วนนี้เสร็จ อาจารย์ก็อธิบายถึงเรื่องที่เกี่ยวกับเอกสารอย่างคร่าวๆ เช่น
– รูปแบบและระบบรหัสตัวอักษรและสัญลักษณ์
– รูปแบบของเสียงและการบีบอัดข้อมูล
– รูปแบบของไฟล์ภาพและการอ่าน spec กล้อง digital
– รูปแบบของไฟล์วีดีโอ และ MPEG ชนิดต่างๆ

(ผมไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก)

สรุปปิดท้ายอาจารย์ได้เน้นให้พวกเราทำความเข้าใจในเรื่องของการกำหนดมาตรฐาน
และให้ช่วยกันรณงค์การใช้ข้อมูลมาตรฐาน รวมถึงช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาข้อกำหนดต่อไป

เอาเป็นว่าผมก็หวังว่าเพื่อนๆ คงจะเข้าใจถึงความสำคัญของงานมาตรฐานสื่อดิจิทัลกันเพิ่มมากขึ้นนะครับ

สัมมนาเรื่อง “มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้”

วันนี้ผมมีงานสัมมนาที่น่าสนใจสำหรับงานห้องสมุดมาประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ เข้าร่วม
งานนี้เป็นงานสัมมนาที่ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง

digital-media

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานสัมมนานี้
ชื่องานสัมมนา : มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 27 มกราคม 2553 เวลา 8.30-17.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

งานสัมมนาครั้งนี้จะทำให้เพื่อนๆ เข้าใจในเรื่องของการเผยแพร่เนื้อหาสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งจะเน้นในเรื่องของรูปแบบและมาตรฐานในการเข้าถึงสารสนเทศต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณภาพต่อการให้บริการ
ในอนาคตผมว่าสื่อประเภทดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทต่อวงการห้องสมุดอีกมากมาย
ดังนั้นเพื่อนๆ ควรจะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงด้วย

หัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้
– การบรรยายพิเศษ เรื่อง ความสำคัญของมาตรฐานสื่อดิจิทัล โดย ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงศ์
– การพัฒนาคลังความรู้ด้วย Open Source Software โดย นางสาวสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์
– ข้อกำหนดการพัฒนาสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดย นายบุญเลิศ อรุณพิบูลย์
– โครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทย และการหารือเพื่อจัดทำโครงการ โดย แผนงาน ICT สสส.

งานสัมมนาครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ ดังนั้นเพื่อนๆ รีบๆ ลงทะเบียนกันด้วยนะครับ
ลงทะเบียนได้ที่ http://library.tu.ac.th/registeronline3/register.asp
และเพื่อนๆ สามารถตรวจดูชื่อของคนลงทะเบียนได้ที่ http://library.tu.ac.th/registeronline3/master.asp

งานนี้เป็นงานที่น่าสนใจและน่าเข้าร่วมมากๆ ครับ
เพื่อที่จะทำให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจและสามารถนำไปใช้ประยุกต์ต่องานห้องสมุดของเพื่อนๆ ได้

เอาเป็นว่าสำหรับเพื่อนๆ ที่ไป ก็สามารถเข้ามาทักทายผมได้นะครับ เพราะว่าผมก็เข้าร่วมงานนี้เช่นกัน
แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานนี้ได้ เอาไว้กลับมาผมจะเขียนเล่าเรื่องในบล็อกนี้ให้นะครับ

หากเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://library.tu.ac.th/digitalconference/