เมื่อผม (Projectlib & Libraryhub) ถูกสัมภาษณ์ลงเว็บไซต์อื่นๆ…

วันนี้ผมขอรวบรวม link บทสัมภาษณ์ของผมจากหลายๆ เว็บไซต์มาไว้ที่นี่เพื่อให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ
ซึ่งบทสัมภาษณ์ที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ไป ไม่ได้มีแต่เรื่องส่วนตัวเท่านั้นนะครับ
แต่ยังมีเรื่องประสบการณ์ในการฝึกงาน แรงบันดาลใจ และอีกหลายๆ เรื่องที่อยากให้อ่านจริงๆ

libraryhub-interview

เราไปอ่านบทสัมภาษณ์กันเลยดีกว่านะครับ

————————————————————————————————————

เริ่มจากการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของผมผ่านเว็บไซต์ Tag in thai

taginthai

การสัมภาษณ์ในครั้งนั้น ผมได้กล่าวถึงเรื่องส่วนตัว เช่น เรียนจบที่ไหนมา ปัจจุบันทำงานที่ไหน เป็นต้น
นอกจากนั้นยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวงการห้องสมุดในเมืองไทย
และวัตถุประสงค์ในการเขียนบล็อก พร้อมแนะนำบล็อกในหน้าต่างๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

เพื่อนๆ สามารถอ่านต่อที่ http://tag.in.th/interview?show=projectlib

————————————————————————————————————

ต่อมาการสัมภาษณ์ครั้งที่สอง ได้ลงทั้งในหนังสือเรียนรอบโลก และ เว็บไซต์เรียนรอบโลก

learn-around-the-world

ซึ่งประเด็นหลักของการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นคือ ?ฝึกงานบรรณารักษ์ ต้องใฝ่รู้คู่ให้บริการ?
โดยผมได้กล่าวถึงเรื่องการฝึกงานของเด็กเอกบรรณรักษ์โดยเน้นงานบริการเป็นหลัก
และการฝึกงานในลักษณะต่างๆ ของเด็กเอกบรรณารักษ์

เพื่อนๆ สามารถอ่านต่อที่ http://eaw.elearneasy.com/Print_News.php?news_id=269

————————————————————————————————————

ครั้งที่สามต่อเนื่องจากครั้งที่สอง แต่เปลี่ยนไปลงในคอลัมน์นานาสาระ เว็บไซต์ eJobEasy

ejobeasy

ซึ่งประเด็นหลักของการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นจะเหมือนในครั้งที่สองนั่นแหละครับ
เพราะว่าใช้คำถามในการสัมภาษณ์เหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนสื่อในการนำเสนอ
ให้อยู่ในเว็บไซต์หางาน และแนะนำการทำงานเป็นหลัก
ซึ่งข้อมูลที่ผมให้ คือ ข้อมูลจากการฝึกงานที่ ห้องสมุดมูลนิธิญี่ปุ่น

เพื่อนๆ สามารถอ่านต่อที่ http://www.ejobeasy.com/kmdetail.php?n=80820180723

————————————————————————————————————

ครั้งที่สี่ เป็นการให้สัมภาษณ์กับ LibrarianMagazine เล่มที่ 7

librarianmagazine

การสัมภาษณ์ครั้งนั้นเป็นกล่าวกล่าวถึงเรื่องส่วนตัว และเรื่องของบล็อกเป็นหลัก
เช่น อนาคตของบล็อกนี้ และโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นใน projectlib.in.th
นอกนั้นก็จะมีการแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่บรรณารักษ์หลายคนมองข้าม เช่น
ภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์ และการทำบล็อกของห้องสมุด ฯลฯ

เพื่อนๆ สามารถอ่านต่อที่ http://www.librarianmagazine.com/VOL1NO7/projectlib.html

————————————————————————————————————

เอาเป็นว่าก็อ่านกันได้ตามสะดวกเลยนะครับ…

เยาวชนเผยร้านเหล้าเข้าง่ายกว่าห้องสมุด

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมได้หยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาอ่านขณะกินข้าว
แต่เมื่ออ่านถึงหน้าข่าวการศึกษาก็ต้องสำลักทันทีเมื่อเจอข่าวนี้ “เยาวชนเผยร้านเหล้า เข้าง่าย กว่าห้องสมุด”

ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/edu/62873
(ผมขอ copy มาลงให้เพื่อนๆ อ่านที่นี่ เช่นกัน เพราะข่าวในเว็บไซต์อาจจะถูกลบง่ายๆ)

เนื้อข่าว “เยาวชนเผยร้านเหล้า เข้าง่าย กว่าห้องสมุด”
ในคอลัมน์ข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553

“สวมชุด นร.-นศ.เป็นพริตตี้เรียกแขกเสียเอง พม.รุกรณรงค์ภัยวัยรุ่นรับเทศกาลวาเลนไทน์ นักวิชาการติงระบบการศึกษาสอนเด็กติดแสงสี ต้องเร่งแก้ไข…

ที่ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “รักใสๆ ให้ปลอดภัยของวัยโจ๋” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ตอนหนึ่งว่า คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นพบว่าผู้กระทำผิดแทบทุกรายมาจากสาเหตุของการดื่มสุรา โดยเฉพาะวัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงของสุรา หอพักแถวมหาวิทยาลัยที่ตนตรวจพบ ทำผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อย ปล่อยให้ร้านสะดวกซื้อ ที่ตั้งอยู่ภายในจำหน่ายสุรา หรือ แม้แต่ร้ายขายยาก็เปิดจำหน่ายสุราด้วยเพราะขายดีกว่ายา

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า เร็วๆ นี้ จะเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจ สรรพาสามิต อธิการบดีทุกแห่ง มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติการตรวจจับหอพักที่ทำผิดกฎหมายอย่าง เคร่งครัด จากนั้นตนจะเดินสายตรวจไม่เฉพาะใน กรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่รวมถึงต่างจังหวัดด้วย นอกจากนี้ช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่ใกล้จะถึงได้มอบหมายให้ศูนย์เฝ้าระวัง และเตือนภัยทางสังคม พม. หารูปแบบรณรงค์ให้วัยรุ่นเข้าใจและรับทราบถึงภัยของวัยรุ่น การเที่ยวเตร่ ยาเสพติด และความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล เยาวสตรีดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552 กล่าวว่า การที่วัยรุ่นเข้าถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ ยาเสพติด มาจากการไม่เห็นคุณค่าในชีวิตตนเอง มักภูมิใจในสิ่งที่ตนสร้างมากกว่าสิ่งที่สร้างตนโดยเฉพาะพ่อแม่ และความไม่พอเพียงกับการใช้ชีวิต จะเห็นว่าปัญหายาเสพติดเวลานี้ไม่ใช่เด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่เด็กเป็นผู้กระจายความเสี่ยงให้กับผู้อื่นเสียเอง ร้านเหล้าปั่น บาร์เบียร์เข้าง่ายมากกว่าห้องสมุด ยิ่งเป็นชุดนักเรียนนักศึกษากลายเป็นพริตตี้ที่รัญจวนเชิญชวนให้หมู่ภมรเข้า มาดอมดม

เยาวสตรีดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552 กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้โยงใยให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งเปิดประตูไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก กับใครก็ได้ นำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และตัดสินปัญหาด้วยการทำแท้งหรือกลายเป็นครอบครับเด็กแนวคือไม่มีแนวทางใน การดำเนินชีวิต จึงอยากเสนอให้ยึดหลัก 4 ใจคือ 1.จริงใจ ไม่อ่อนแอต่อกระแสต่างๆ 2.ข่มใจ 3.แข็งใจ อดทนต่อกิเลส และ4.คุมใจ ให้เป็นนายไม่ใช่เป็นทาสของอารมณ์ นอกจากนี้อยากเสนอ ผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้องควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้เห็นถึงโทษ พิษภัยของปัญหา สร้างความตระหนักในบทบาทหน้าที่ ป้องกันความเสี่ยงและความเสื่อมอย่างชัดเจน

นางสาวอรพิมพ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังต้องสร้างต้นแบบแรงบันดาลใจเชิงประจักษ์ให้กับวัยรุ่น เพราะตนเคยประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วยตนเอง จากเพื่อนที่เรียนมัธยมในโรงเรียนสตรีด้วยกัน เมื่อแยกย้ายไปเรียนต่ออุดมศึกษาเพียงแค่อยู่ชั้นปี 1 เพื่อนคนดังกล่าวโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือให้หาที่ทำแท้งให้ ขณะนั้นได้ปฏิเสธไปเพราะตกใจและไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร จากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ผ่านไปได้ทราบข่าวว่าเพื่อนคนดังกล่าวเสียชีวิต เพราะตกเลือดมากจากการสั่งซื้อยาขับทางอินเตอร์เน็ต และใช้ไม้แขวนเสื้อเกี่ยวเด็กออกมา จะเห็นว่าปัญหาวัยรุ่นรวดเร็วและรุนแรงมากหากไม่เร่งรีบแก้ไข

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สถิติการข่มขืน ปล้ำ ล่อลวง ล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด คือ แฟนและคนรู้จักมากที่สุด โดยอิทธิพลจากละครหลังข่าว รวมทั้งดารานักแสดงที่นำเรื่องเซ็กส์มาเป็นจุดขายในที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นเรื่องลามกอนาจารผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาอย่าไปโทษแต่วัยรุ่น แต่ต้องโทษที่ผู้ใหญ่สร้างสิ่งเร้ายั่วยุเด็ก ระบบการศึกษาสอนให้เด็กเป็นปลาหมึก เมื่อถูกแสงสีล่อให้ติดกับดักก็ถูกช้อนนำไปกิน ไม่ได้สอนให้คิด วิเคราะห์และสร้างภูมิคุมกันปัญหา ทั้งนี้ปัญหาการใช้เสรีภาพตามอำเภอใจ ทำร้ายสังคม ต้องแก้โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”

อ่านแล้วรู้สึกยังไงครับ สำหรับผมขอวิจารณ์นิดนึงพอนะครับ “เรื่องร้านเหล้าเข้าง่ายกว่าห้องสมุด”

ผมไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้นะครับ ทำไมนะหรอครับ

ทำไม “ร้านเหล้า” ถึงเข้ายากกว่าห้องสมุด
1. เข้าได้เฉพาะเวลากลางคืน การเดินทางไปอาจจะไม่ค่อยสะดวก (สำหรับคนที่ไม่มีรถนะครับ)
2. เข้าไปมีแต่เสียงอึกทึกครึกโครม พูดกันเสียงดังๆ กลับมาเจ็บคออีก
3. ถ้าให้ขออนุญาติไปร้านเหล้ากับห้องสมุด คงไม่ต้องบอกหรอกนะครับว่า ผู้ใหญ่จะอนุญาติอย่างไหน (เว้นแต่หนีไป)
4. อายุต่ำกว่า 20 ปีก้ห้ามเข้าด้วย
เอาเป็นว่าด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง มันก็เห็นๆ อยู่ว่าร้านเหล้าเข้ายากกว่าห้องสมุด

เรื่องการเข้ายากหรือง่าย ผมมองว่ามันเป็นเพียงการเข้าถึงสถานที่นะครับ

สิ่งที่น่าคิดของเรื่องนี้คือ เยาวชนไม่อยากเข้าห้องสมุดเองมากกว่า ถึงได้บอกว่าเข้ายาก

แล้วทำไม “เยาวชนไม่อยากเข้าห้องสมุด” อันนี้เพื่อนๆ พอจะนึกกันออกหรือยังครับ
สาเหตุอาจจะเพราะ “ห้องสมุดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชนเหล่านั้นได้ยังไงหล่ะครับ”

ตัวอย่าง “ห้องสมุดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชน”
– มีแต่สื่อสารสนเทศที่ไม่น่าสนใจต่อการเรียนรู้ (หนังสือเก่า หนังสือชำรุดมากมายในห้องสมุด)
– มีแต่บรรณารักษ์ที่ทำหน้าดุใส่ ใครจะกล้าเข้าหล่ะครับ
– ไม่มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เลย (ห้องสมุดเป็นเพียงห้องอ่านหนังสือเท่านั้น)
– อุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ไม่เพียงพอ หรือไม่มี (คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต)
เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างของ “ห้องสมุดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเยาวชน”

ที่นี้เรามาดูแนวทางการแก้ไขบ้างดีกว่า
– ห้องสมุดต้องมีบริการแนะนำหนังสือใหม่หรือหนังสือที่น่าสนใจ ที่สำคัญต้องประชาสัมพันธ์ให้ดี
– บรรณารักษ์ต้องมีท่าทีที่เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้ใช้บริการ
– จัดกิจกรรมในห้องสมุดเพื่อส่งเสริมและรณรงค์การรักการอ่านบ้าง
– จัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงบรรณารักษ์ต้องสามารถใช้งานเป็นด้วย
เพียงเท่านี้ห้องสมุดก็จะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นนะครับ

ถ้าห้องสมุดน่าสนใจและมีกิจกรรมมากๆ ผมเชื่อว่าเยาวชนก็คงหันมาใช้ห้องสมุดมากขึ้นนะครับ
แล้วผมก็หวังว่าจะไม่ได้ยิน เห็น หรืออ่านข่าวทำนองนี้อีกนะครับ

เมื่ออินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากกว่าหนังสือพิมพ์

วันนี้ผมขอนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องการใช้อินเทอรืเน็ตกับการอ่านหนังสือพิมพ์หน่อยนะครับ
บทความนี้จริงๆ มาจากเรื่อง “อินเทอร์เน็ตกำลังแย่งผู้อ่านไปจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” จาก blognone นะครับ
ต้นฉบับเนื้อหาภาษาอังกฤษ อ่านได้ที่ “Internet use could kill off local newspapers, study finds” จาก physorg
แต่ผมขอนำมาเพิ่มในส่วนที่ผมวิเคราะห์และวิจารณ์ลงไปด้วยครับ

internet-use

————————————————————————————————–

การศึกษาในเรื่อง สื่อออนไลน์ ที่ส่งผลต่อการบริโภคข่าวสารของผู้ใช้โดยทั่วไป
โดยผลการศึกษานี้สรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

1. ในปีที่ผ่านมา (2007) ยอดการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษมียอดที่ลดลง
ทำให้สูญเสียผู้ อ่านไปนับล้านคน แต่ยอดการดูข่าวในอินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

2. รูปแบบของข่าวที่นำเสนอในอินเทอร์เน็ตมาจาก เว็บ Search Engine ต่างๆ
ข่าวสารในบล็อกต่างๆ / เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ที่ดังๆ รวมถึงเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ด้วย

3. Google, Yahoo, AOL และ MSN มีคนเข้าใช้ในแต่ละเดือนประมาณ 100 ล้านคน
แต่เว็บของสถานีโทรทัศน์กลับมีเพียง 7.4 ล้านคนเท่านั้นเอง
และเว็บของหนังสือพิมพ์ดังๆ ที่ติดตลาด เช่น New York Times มีผู้ใช้ประมาณ 8.5 ล้านต่อเดือน

4. หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือหนังสือพิมพ์เล็กๆ พยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าวแล้ว
แต่ก็เป็นการยากที่จะดึงลูกค้าจากกลุ่มต่างๆ ในข้อที่ 3 มาได้
ดังนั้นผลกระทบโดยตรงนี้จึงตกอยู่กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต่างๆ ที่ต้องรีบหาทางแก้ไข ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าว

5. ในบทความนี้แนะนำว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นควรจะปรับกลยุทธ์โดยการให้นำเสนอ
ข่าวในแนวที่กว้างขึ้นและคงความเป็นสากลของหนังสือพิมพ์จึงจะพิชิตอุปสรรค ต่างๆ ได้

————————————————————————————————–

ผลการศึกษาที่ผมยกมานี้หากเรามามองในแง่ของความเป็นบรรณารักษ์
บางคนคงเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมผู้ใช้จึงมีจำนวนลดลงบ้าง

ถึงแม้ว่าในบทความนี้กล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยหลายคนอาจจะบอกว่า
ไม่มีทางหรอกยังไงคนไทยก็ติดความเป็นกระดาษมากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว

แต่ในความคิดของผมที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยม
ประเด็นหลักผมคิดว่ามาจากสื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งทำให้เกิดความยากในการที่จะนำมาใช้
บางคนไม่ชอบภาษาอังกฤษพอเห็นอะไรนิดหน่อยที่เป็นภาษาอังกฤษ จึงเกิดอาการต่อต้าน

แต่ผมก็คิดในหลักง่ายๆ ว่า แล้วถ้าสื่อเหล่านี้เป็นภาษาไทยหล่ะ
จะทำให้ผู้ใช้หันไปใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์หรือไม่
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ห้องสมุดคงต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยทันที

ผมเอาสรุปสถิติของการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นที่นิยมของคนไทยมาให้ดูกันคร่าวๆ ดีกว่า
แล้วให้พวกเราลองเปรียบเทียบในแง่ของห้องสมุดว่าห้องสมุดมีคนเข้าใช้จำนวน แค่ไหน

www.sanook.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 223,597
www.kapook.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 142,020
teenee.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 74,811
www.mthai.com – – – – จำนวนคนเข้าต่อวัน = 73,752

ข้อมูลจาก truehits.net

เอาเป็นว่าห้องสมุดที่ไหนบ้างในเมืองไทยที่มีการเข้าใช้จำนวนมากเหมือนเว็บไซต์
ใครรู้ช่วยบอกผมทีนะครับ

อัพเดทข่าวสารห้องสมุดจากเว็บหนังสือพิมพ์

ข่าวสารของห้องสมุดจริงๆ แล้วก็มีให้อ่านมากมายเลยนะครับ
วันนี้ผมจึงขอนำเสนอและสรุปข่าววงการห้องสมุดที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านบ้างนะครับ

newspaper-library

วันนี้มีโอกาสได้เปิดดูเว็บไซต์ข่าวหนังสือพิมพ์มากมาย
เลยขอถือโอกาสค้นข่าวและบทความที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดขึ้นมาอ่านดูบ้าง
บางข่าวและบทความเพื่อนๆ คงอ่านแล้ว แต่บางข่าวและบทความก็อาจจะเป็นเรื่องที่ใหม่ก็ได้
ยังไงก็ลองอ่านๆ ดูกันนะครับ เก็บเป็นไอเดียรวมๆ กัน คงจะมีอะไรให้คิดเล่นๆ ดู

ผมขอนำเสนอข่าวและบทความห้องสมุดสัก 5 ข่าวนะครับ

1. “ทน.ขอนแก่น”สร้างสังคมแห่งการอ่าน ส่งความรู้เดลิเวอรี่กับโครงการบุ๊กไบค์
สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่าน
– เทศบาลนครขอนแก่น จัดทำโครงการนำหนังสือสู่มือน้อง (Book Bike) โดยให้สมาคมไทสร้างสรรค์เป็นผู้ดำเนินการ
– เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากการโครงการ “รถนิทาน” ที่จัดทำในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน
– วิธีการ คือ เตรียมรถจักรยานยนต์บุ๊กไบค์ มาให้ 2 คันเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำหนังสือไปแจกในชุมชน
– เป็นโครงการที่ส่งเสริมการรักการอ่านให้กับเยาวชน

อ่านข่าวแบบต้นฉบับ

2. ศธ.ปั้นห้องสมุด3ดีชูหนังสือ-บรรยากาศ-บรรณารักษ์เจ๋ง
สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่าน
– โครงการห้องสมุด 3ดี ได้แก่ ห้องสมุดที่มีหนังสือดี บรรยากาศดีส่งเสริมการอ่าน และต้องมีบรรณารักษ์ดี
– ให้ความสำคัญกับห้องสมุดในสถานศึกษา
– หนังสือดี = เน้นในการจัดหาหนังสือที่ดีให้กับเยาวชนมากๆ
– บรรยากาศดี = ปรับปรุงให้มีบรรยากาศเหมาะกับการอ่านหนังสือ
– บรรณารักษ์ดี = บรรณารักษ์ที่ให้คำแนะนำดีๆ กับผู้ใช้บริการ

อ่านข่าวแบบต้นฉบับ

3. “อยากเห็นห้องสมุดมีชีวิต”ความห่วงใยในสมเด็จพระเทพฯ
สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่าน
– การมีนิตยสารสารคดีต่างๆ จะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความรู้มากมาย
– การมีห้องสมุด บรรณารักษ์จะต้องพยายามผลักดันให้ผู้ใช้มาใช้บริการมากๆ
– อย่าทำให้ห้องสมุดเป็นเพียงแค่ที่เก็บหนังสือเพียงอย่างเดียว

อ่านข่าวแบบต้นฉบับ

4. ห้องสมุดคือปัญญาดั่งยาแสนวิเศษ
สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่าน
– นอกจากห้องสมุดประชาชนจะต้องมีหนังสือบริการแล้ว ข้อมูลท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่น้อยเลยนะครับ
– ห้องสมุดประชาชน เปรียบเสมือนเป็นศูนย์การเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกทางเลือกหนึ่ง
– ความรู้ท้องถิ่นจะต้องถูกสั่งสม และเรียนรู้โดยคนในท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน
– ห้องสมุดควรสนับสนุนกิจกรรม และสร้างนิสัยการรักการอ่านให้กับประชาชน

อ่านข่าวแบบต้นฉบับ

5. “อุทยานการเรียนรู้” เมืองอ่างทอง แหล่งศึกษาเรียนรู้ชุมชนตลอดชีพ
สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่าน
– เทศบาลเมืองอ่างทอง จัดสร้าง “อุทยานการเรียนรู้” เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในชุมชน
– “ความรู้” ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมยุคปัจจุบัน
– มนุษย์ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้มาก ยิ่งทำมากก็ยิ่งมีประสบการณ์มาก เมื่ออ่านและทำตลอดเวลาก็จะมีความรู้และประสบการณ์ตลอดชีวิต
– อุทยานเรียนรู้ = ตลาดวิชา + ตลาดอาชีพ + ตลาดปัญญา

อ่านข่าวแบบต้นฉบับ

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างข่าวและบทความห้องสมุดที่ผมได้ยกมาให้อ่านนะครับ
หากเพื่อนๆ มีเวลาเปิดอ่านเรื่องแบบต้นฉบับ
ผมว่ามันก็จะยิ่งเพิ่มความเข้าใจในเรื่องการจัดทำ และการให้บริการในห้องสมุดมากขึ้นด้วย

เอาเป็นว่าผมขอตัวไปอ่านข่าวและบทความเหล่านี้ก่อนนะครับ
แล้วว่างๆ ผมจะกลับมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังอีกที

ปล. ข่าวต่างๆ ที่ผมค้นมา มีที่มาจากเว็บไซต์ของ หนังสือพิมพ์ คอม ชัด ลึก นะครับ
เพื่อนๆ สามารถอ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวกับห้องสมุด ในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ต่อได้ที่
http://www.komchadluek.net/search.php?search=%CB%E9%CD%A7%CA%C1%D8%B4