อ่านอะไรดี : เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่

วันศุกร์ วันสบายๆ แบบนี้ผมขอแนะนำหนังสือสักเล่มดีกว่า (จริงๆ ต้องบอกว่าโปรโมทหนังสือของหน่วยงานตัวเองมากกว่านะ) หนังสือเล่มนี้แค่เห็นชื่อเรื่องก็ต้องบอกว่าสะดุดตาพอสมควรแล้ว นั่นคือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่”

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่องภาษาไทย : เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่
จัดพิมพ์โดย : โครงการศูนย์ความรู้กินได้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
ปีพิมพ์ : 2554
จำนวนหน้า : 192 หน้า
ISBN : 9786162024672

ชื่อหน่วยงานและโครงการหวังว่าเพื่อนๆ คงคุ้นเคยกันนะครับ เพราะเวลาผมไปบรรยายที่ไหนก็ตามผมก็จะกล่าวถึงหน่วยงานนี้ “ศูนย์ความรู้กินได้” ซึ่งเป็นการพัฒนาต้นแบบห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีนั่นเอง

จากการทำงานพัฒนาระบบห้องสมุดของผม 2 ปีกว่าๆ ทีมงานของเราพยายามถอดความรู้จากประสบการณ์และบทเรียนที่เราได้รู้จากการทำงานต่างๆ และได้รวบรวมเพื่อที่จะจัดพิมพ์ออกมาให้เพื่อนๆ ได้อ่าน และนำไปลองใช้ดู

เนื้อหาในเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 บทหลักๆ คือ
– บานประตูใหม่ เพื่อเข้าถึงความรู้ (เกริ่นความสำคัญของการมีห้องสมุด)
– ศูนย์ความรู้กินได้ ยุทธศาสตร์ และเป้าหมาย (ภาพรวมของโครงการและรางวัลห้องสมุดระดับประเทศ)
– การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (พูดเรื่องการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ และโครงสร้างพื้นฐานของอาคารห้องสมุด)
– ปรุง “ความรู้” ให้ “กินได้” (พูดเรื่ององค์ความรู้และการเลือกองค์ความรู้ไปใส่ในห้องสมุด)
– สร้างเครือข่ายผู้ใช้ห้องสมุด เครือข่ายผู้สนับสนุน (การใช้สื่อสังคมออนไลน์และบทบาทของเครือข่ายห้องสมุด)
– การบริหารและพัฒนาบุคลากรในห้องสมุด (พูดเรื่องการพัฒนาบรรณารักษ์ในรูปแบบต่างๆ)

นอกจากนี้ยังมีส่วนภาคผนวกที่จะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับ “การสร้างห้องสมุด” และ “ห้องสมุด 2.0” ด้วย

เอาเป็นว่าเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผมต้องขอบอกเลยครับว่า เน้นข้อมูลที่เพื่อนๆ สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งนั้น ตัวอย่างกิจกรรมดีๆ การเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดแบบถูกใจผู้ใช้บริการ หัวข้อการประเมินผลกิจกรรมต่างๆ และนวัตกรรมการบริการห้องสมุดแบบใหม่ๆ

หนังสือเล่มนี้ต้องขอบอกตามตรงว่ามีจำนวนจำกัดมากๆ
ดังนั้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 นี้จะมีให้แค่บางหน่วยงานเท่านั้น
แต่รับรองว่ายังคงมีการพิมพ์เพิ่มอีกแน่นอน ซึ่งเมื่อไหร่นั้นจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ส่วนใครที่อยากได้จริงๆ วันนี้ผมมีมาแจก 5 เล่ม แต่ต้องร่วมกิจกรรมอะไรสักอย่างนะครับ
นั่นก็คือ เขียนบทความจำนวน 1 หน้ากระดาษ A4 ในเรื่องใดก็ได้ต่อไปนี้ (เลือกแค่ 1 เรื่องนะครับ)
“ห้องสมุดในยุคใหม่ในสายตาของท่านจะมีลักษณะอย่างไร”
“แนวทางในการเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดให้ตรงใจผู้ใช้บริการ”
“บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องพัฒนาทักษะและมีความสามารถด้านใด”

เขียนเสร็จแล้วให้ส่งมาที่ dcy_4430323@hotmail.com หรือ maykin@okmd.or.th ส่งได้ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นะครับ ทางทีมงานจะคัดเลือกบทความที่น่าสนใจและนำมาลงในเว็บไซต์ www.kindaiproject.net และลงบทความของท่านในวันที่ 1-5 มิถุนายน 2555 บทความใดได้ลงจะได้รับหนังสือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” คนละ 1 เล่มครับ

กรุณาใส่ชื่อจริงนามสกุลจริง หน่วยงานของท่าน ที่อยู่และเบอร์ติดต่อเพื่อประสานงานการจัดส่งหนังสือมาด้วยนะครับ

กิจกรรมแจกหนังสือจะมีเป็นระยะนะครับ

สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีบรรยายเยอะมากๆ เอาเป็นว่าจะเอามาสรุปให้อ่านทีละตอนแล้วกันนะครับ
วันนี้ขอคิวของการไปบรรยายที่จังหวัดร้อยเอ็ดก่อนแล้วกัน ในหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน

การบรรยายเรื่องนี้ผมใช้เวลาครึ่งวันบ่ายครับ เพราะช่วงเช้าหัวหน้าผมบรรยายไปแล้ว
(เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด“)

เริ่มจากไปดูสไลด์ที่ผมใช้บรรยายก่อนดีกว่า
Social media in library at roiet

เอาหล่ะครับมาอ่านบทสรุปของผมต่อแล้วกัน

การบรรยายเริ่มจากการเกริ่นเส้นทางจากบรรณารักษ์ในแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่
และเกริ่นถึงหัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้ คือ
– ทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ทุกคนควรรู้….
– ทำความรู้จักสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
– กรณีศึกษาการใช้บล็อกสำหรับห้องสมุด
– กรณีศึกษาการใช้ Facebook สำหรับงานห้องสมุด
– แนวโน้มการก้าวสู่การเป็นห้องสมุดยุคใหม่ในโลก

บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีความรู้ด้านวิชาชีพ (บรรณารักษศาสตร์) และมีความรู้ด้านไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์

การทำงานในห้องสมุดให้ราบรื่น จำเป็นที่จะต้องเห็นภาพรวม
และเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเห็นภาพคือ Library Work Flow ตัวอย่างดังภาพ

ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที – ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรามากมาย เช่น งานบริหารห้องสมุด, งานจัดซื้อจัดหา, งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ, งานบริการต่างๆ, ระบบห้องสมุด

ไอทีสำหรับบรรณารักษ์ ผมย้ำแค่ 3 ประเด็น คือ ต้องรู้จัก เข้าใจ และเอาไปใช้ให้ถูก

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ประเด็นไอทีในข้อ 1-7 ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ใช้กันอยู่แล้วเพียงแต่ต้องฝึกฝนกันมากๆ แต่ในข้อที่ 8 อยากให้เรียนรู้กันมากๆ นั่นคือ เรื่องเว็บ 2.0 นั่นเอง

เว็บ 2.0 มีลักษณะดังนี้ (สรุปประเด็นตามสไลด์)
– ยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์
– รูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์”
– แนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ
– การปรับเว็บไซต์จากการให้ข้อมูลเพียงทางเดียว เป็นการให้บริการและข้อมูลที่ “ผู้ใช้” เข้าถึงได้ง่ายและร่วมสร้าง แก้ไข


จาก “เว็บ 2.0” สู่ “ห้องสมุด 2.0” ซึ่งสิ่งที่เหมือนกัน คือ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการ รับฟังผู้ใช้บริการ …..

ในอดีตช่องทางที่จะทำให้คนทั่วไปรู้จักห้องสมุดบนโลกออนไลน์ มีเพียงวิธีเดียว คือ “เว็บไซต์ห้องสมุด” แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์มากมายให้เลือกใช้ ที่สำคัญ คือ “ฟรี”

สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งปันความรู้ – เครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันความรู้

ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์แบบต่างๆ เช่น Blog Facebook twitter

ทิศทางสำหรับห้องสมุดในอนาคต (Trend : Library in the Future)
1. Mobile applications.
2. E-book readers.
3. Niche social networking.
4. Google Applications.
5. Google Books.
6. Library socialized.
7. Open source software.
8. Podcasting and ItunesU.
9. Social networking classes for patrons.
10. Library Marketing.


นี่ก็เป็นการสรุปการบรรยายให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ เอาเป็นว่าขอจบแต่เพียงเท่านี้หล่ะกันครับ

ผมขอฝากเอกสารชิ้นนึงให้อ่าน เป็นบทความที่ผมเขียนลงวารสารโดมทัศน์ของธรรมศาสตร์
อยากให้อ่านเพราะว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
อ่านได้ที่ “คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผมและหัวหน้าของผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อบรรยายให้บรรณารักษ์ที่ทำงานอยู่ในห้องสมุดจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในช่วงเช้าเป็นหัวข้อ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ซึ่งบรรยายโดยหัวหน้าของผม และตอนบ่ายเป็นหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน” โดยผมเอง

ซึ่งในขณะที่หัวหน้าของผมกำลังบรรยายในเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ผมเองก็ได้ทำการถ่ายทอดสดการบรรยายในหัวข้อนี้ด้วย เผื่อที่ว่าเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้มาฟังก็สามารถอ่านการรายงานสดของผมได้

การรายงานสดของผมครั้งนี้ ผมใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Twitter
ซึ่งง่ายต่อการรายงานสดๆ มาก เพราะพิมพ์ข้อความละครั้งไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้น
การดำเนินการรายงานสดของผมใช้ชื่อว่า “Live Tweet” และใช้คำหลักว่า “#Libraryatroiet

ลองอ่านดูแล้วกันนะครับว่า ผมรายงานเป็นอย่างไรบ้าง
[ผมจะเรียงจากข้อความแรกไปจนถึงข้อความสุดท้ายนะครับ]

Live Tweet : “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” #Libraryatroiet

– หัวข้อในช่วงเช้านี้ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์ยุคใหม่ & เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” #LibraryatRoiet

– วิทยากรช่วงเช้านี้ หัวหน้าผมเอง คุณนพดล วีรกิตติ #LibraryatRoiet

– เมื่อกี้วิทยากรพูดถึงแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา #LibraryatRoiet

– การจัดชั้นวารสารที่น่าสนใจอยากให้ห้องสมุดดูร้านหนังสือเป็นตัวอย่าง #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดหลายแห่งจัดนิตยสารโดยการเรียงตามตัวอักษร ดังนั้นผู้ใช้ที่ต้องการหานิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันลำบากในการเดินมากๆ #LibraryatRoiet

– ถ้าจัดชั้นนิตยสารตามหมวดหมู่ หรือ เรียงนิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ผู้ใช้สบาย บรรณารักษ์ก็ทำงานง่าย #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังแนะนำเทคนิคเรื่องการนำ mindmap มาใช้ในการหาความคิดสร้างสรรค์ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์มีเสื้อกันเปื้อยด้วย เท่ห์ป่ะหล่ะ #LibraryatRoiet

– Library2.0 แบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี คือ สมุดเซ้นเยี่ยมชมห้องสมุด และ สมุดแสดงความคิดเห็นในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– สมุดเซ็นเยี่ยม หรือ สมุดแสดงความคิดเห็น ที่ดี คือ สมุดวาดเขียน (สมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด) จะดีมากๆ #LibraryatRoiet

– จะทำให้ห้องสมุดมีชีวิต บรรณารักษ์ต้องมีชีวิตชีวาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากทำงาน #LibraryatRoiet

– อาชีพการจัดการความรู้เป็นอาชีพที่ต้องการมากในต่างประเทศ #LibraryatRoiet

– สังคมต้องช่วยให้คนมีความรู้ที่ดี เพื่อให้คนมีโอกาสในช่วง AEC ห้องสมุดคือหน่วยงานที่ต้องสร้างองค์ความรู้นั้น #LibraryatRoiet

– ในประเทศอเมริกา obama แต่งตั้งให้บรรณารักษ์ดูแลนโยบายการจัดการความรู้ของประเทศ ถ้าเมืองไทยหล่ะ ใครจะได้รับตำแหน่งนี้ #LibraryatRoiet

– ที่อุบลราชธานี ราชภัฎอุบลเองยังต้องมาดูงานที่ห้องสมุดประชาชน #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังยกตัวอย่างห้องสมุดเทศบาลระยอง ที่เทศบาลกู้เงินจาก world bank เพื่อพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– Seattle ประชากรมีมากกว่า 168 เชื้อชาติ ห้องสมุดประชาชนจึงจัดคอร์สอบรมภาษาอังกฤษให้ฟรี #LibraryatRoiet

– ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้มากขึ้น ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น ก็จะมีรายได้มากขึ้น ผลสุดท้ายท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้มากขึ้น นี่แหละกลไล #LibraryatRoiet

– เหตุผลง่ายๆ ที่ท้องถิ่นต้องลงทุนพัฒนาห้องสมุดในท้องที่ของตัวเอง #LibraryatRoiet

– หนังสือดีๆ ควรมีในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ทำไมห้องสมุดถึงจะมีการ์ตูนไม่ได้หล่ะ การ์ตูนเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น #LibraryatRoiet

– รักการอ่านต้องเริ่มจากความสนใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ #LibraryatRoiet

– คนที่ทำงานด้านไอทีอยากได้องค์ความรู้ด้านไอทีมาก แต่หนังสือก็ราคาแพง ห้องสมุดทำไมถึงไม่จัดหาให้คนกลุ่มนี้บ้างหล่ะ #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด ต้องมีกรอบการเลือกที่ชัดเจน ไม่งั้นก็ได้หนังสือมาแบบไม่มีแก่นสาร #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดได้ เราต้องรู้จักพื้นที่ของเราก่อนว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไร และเรามีอะไร #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดวัสดุก็เป็นอีกตัวอย่างนึงที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มาจากแค่การอ่านเท่านั้น #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น กรณี “ผ้าย้อมมะเกลือป้องกันแสงยูวี” เป็นเรื่องที่ห้องสมุดก็นำมาเล่าได้ #LibraryatRoiet

– ในท้องถิ่นจะมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจอีกเพียบ หน้าที่นึงของห้องสมุด คือ การดึงองค์ความรู้เหล่านี้มาเล่าให้คนอื่นฟัง #LibraryatRoiet

– นึกอะไรไม่ออกให้เดินมาที่ห้องสมุด ห้องสมุดอยู่กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ #LibraryatRoiet

– พักเบรค 15 นาทีครับ เดี๋ยวกลับมารายงานต่อครับ #LibraryatRoiet

– อธิบายในช่วงเบรคนิดนึง #LibraryatRoiet คือ การรายงาน live tweet การอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 26 คน

– กลับมาจากเบรคแล้ว เริ่มด้วยของเด่นประจำจังหวัด #LibraryatRoiet

– ร้อยเอ็ดเด่นเรื่องข้าว (ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดอยู่ที่นี่) #LibraryatRoiet

– ช่วงนี้เน้นเรื่องการเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นมานำเสนอในห้องสมุด ตัวอย่างกรณีศึกษาคือ “ตลาดนัดฮักสุขภาพ” ที่ห้องสมุดอุบลราชธานี #LibraryatRoiet

– คนรุ่นใหม่เรียนจบมาทำฟาร์ม ทำสวนกันเยอะเหมือนกันนะ “คนที่ต้องการใช้ความรู้เพื่อทำการเกษตร” ห้องสมุดจะทำอย่างไร #LibraryatRoiet

– การสังเกตความสนใจของผู้ใช้บริการแบบง่ายๆ คือ หยิบหนังสือมาดูด้านหลังตรงที่ประทับตรากำหนดส่ง ว่ามีเยอะแค่ไหน #LibraryatRoiet

– “คุณภาพชีวิต” เป็นประเด็นที่มีคนให้ความสนใจมาก #LibraryatRoiet

– การ survey แบบง่ายๆ และไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเลย คือ การพูดคุยกับผู้ใช้บริการมากๆ #LibraryatRoiet

– การหาความรู้ของคนในต่างจังหวัดมักจะมาจากการพูดคุย ถามกันเอง ไม่ใช่การมาอ่านหนังสือในห้องสมุด ดังนั้นห้องสมุดควรจะจัดเวทีให้ #LibraryatRoiet

– คนขายของไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ของจีนก็เยอะ แต่ถ้าเราหาโอกาสทางธุรกิจเจอก็ไม่ยากนะ ห้องสมุดต้องช่วยหาประเด็นเหล่านั้น #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดไปศึกษาข้อมูลงานวิจัยผู้สูงอายุพบว่า “Lifestyle ของผู้สูงอายุในยุคนี้ต่างจากยุคก่อนหน้านี้” #LibraryatRoiet

– ผู้สูงอายุถามว่า “เวลาไปซื้อของตามศูนย์การค้าทำไมต้องให้พวกเขาเดินหลายๆ ชั้น ทีของเด็กยังมีเป็นมุมช้อปปิ้งของเด็กเลย” #LibraryatRoiet

– การจัดนิทรรศการของห้องสมุดแบบเดิมๆ คือ การจัดบอร์ด ไม่ว่าจะงานไหนก็เป็นการติดบอร์ด ไม่คิดว่าผู้ใช้บริการเบื่อบ้างหรอ #LibraryatRoiet

– คนพูดเรื่อง AEC กันเยอะ แต่ก่อนที่ห้องสมุดจะไปถึงขั้นนั้นได้ ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญกับสารสนเทศท้องถิ่นก่อน #LibraryatRoiet

– คนอุบลราชธานีบางคนยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องมีคำว่า “ราชธานี” สารสนเทศท้องถิ่นสำคัญมากนะ #LibraryatRoiet

– Creative Economy = ความรู้ท้องถิ่นต่อยอดกับสินค้าและบริการ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก #LibraryatRoiet

– อาจารย์ปัญญาเล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานีได้สนุกมาก เราก็เชิญเขามาเล่าในห้องสมุดให้ผู้ใช้บริการฟังสิ #LibraryatRoiet

– จังหวัดมอบภาระในการเล่าเรื่องจังหวัดให้ห้องสมุดเป็นคนทำ #LibraryatRoiet

– การตั้งชื่อของกิจกรรมก็มีส่วนในการเรียกคนเข้าห้องสมุดเช่นกัน #LibraryatRoiet

– ขนาดภาพยนตร์ต่างๆ ยังมีการตั้งชื่อให้น่าสนใจเลย ดังนั้นห้องสมุดก็ควรตั้งชื่อกิจกรรมต่างๆ ให้โดนใจบ้าง #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างชื่อกิจกรรมแบบโดนๆ “จัดร้านให้ได้ล้าน, นิทรรศการเฮ็ดจังสิเด้อจังสิมีโอกาส” ภาษาถิ่นก็เป็นอีกไอเดียนึง #LibraryatRoiet

– มีโอกาสและช่องทางมากมายในการพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์ในอเมริกาใช้วิธีการสมัครเข้าร่วมกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเมือง เช่น กลุ่มไพธอน เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มาใช้พื้นที่ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสถานที่ที่มีคนมาขอใช้ถ่ายทำรายการมากมาย นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการโปรโมทห้องสมุด #LibraryatRoiet

– เรื่องที่คิดไม่ถึง “มีครูมาขอเช่าพื้นที่ในห้องสมุดสอนหนังสือเด็กฟรี” สอนฟรีแถมให้เงินห้องสมุด มีแบบนี้ด้วย ห้องสมุดอุบลฯ #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเปิด stop motion เพื่อการแนะนำหนังสือในห้องสมุด ทำง่าย ใช้ได้จริง #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเล่าต่อถึงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานอื่นๆ กับห้องสมุด ห้องสมุดไม่ต้องทำงานคนเดียวแล้วนะ #LibraryatRoiet

– หลายๆ คนบอกว่าห้องสมุดจะพัฒนาได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งก็จริงส่วนนึง แต่ส่วนนึงผู้ปฏิบัติต้องพิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็น #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเกริ่นถึงเรื่องสื่อสังคมออนไลน์กับงานห้องสมุดซึ่ง ช่วงบ่ายผมจะเป็นคนบรรยายเอง #LibraryatRoiet

– ช่วงบ่ายอาจจะไม่มีการรายงานสดๆ แบบนี้ แต่ผมสัญญาว่าจะเอาเรื่องที่ผมบรรยายมาโพสในบล็อกให้อ่านนะครับ #LibraryatRoiet

– แนะนำหลักสูตรการอบรม 10 ด้าน เพื่อการพัฒนาบรรณารักษ์ “ห้องสมุดมีชีวิตเมื่อคนทำงานมีชีวิตชีวา” #LibraryatRoiet

– การอบรม คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้คนทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข #LibraryatRoiet

– ถ้าเรากลัวความผิดพลาด เราก็จะไม่มีแรงในการคิดสร้างสรรค์ #LibraryatRoiet

– การเรียนเรื่อง “การค้นหา” มันมีวิธีมากมาย #LibraryatRoiet

– วิธีการเขียนบล็อกที่ง่ายที่สุด คือ อย่าไปคิดว่าจะเขียนเพื่อเอารางวัลซีไรต์ #LibraryatRoiet

– Unconference ในวงการห้องสมุดก็น่าสนใจนะ #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างงาน unconference “พรุ่งนี้บ่ายโมงไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกไปถ่ายรูปกัน” #photowalk #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดสมัยใหม่ ต้องเปลี่ยนปัญหาของผู้ใช้บริการ มาเป็น ปัญหาของเรา เช่น ผู้ใช้ไม่ได้เอาบัตรมา เราก็ต้องให้ยืมได้ #LibraryatRoiet

– ผู้บริหารเตือนพนักงาน “คุณจะทะเลาะกับลูกค้าเพราะเงิน 50 บาทอย่างนั้นหรือ” เพราะหลังจากนั้นลูกค้าจะไม่กลับมาหาเราอีก #LibraryatRoiet #Like

– ความสุขของพวกเราคือ การเห็นผู้ใช้บริการมีความสุขกับการใช้ห้องสมุดที่พวกเราทำ #LibraryatRoiet

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นการสรุปประเด็นและเก็บตกไอเดียจากการบรรยายเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” โดยคุณนพดล วีรกิตติ นะครับ ส่วนบทสรุปในช่วงบ่าย เนื่องจากผมเป็นคนบรรยายเอง จึงไม่มีการทำ Live Tweet นะครับ แต่เดี๋ยวผมจะสรุปลงบล็อกให้อ่านในตอนหน้าแล้วกัน

Workshop “เทคโนโลยี Cloud Computing กับงานสารสนเทศ”

กิจกรรมที่แนะนำวันนี้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่ติดตามทั้งวงการห้องสมุดและวงการไอที กิจกรรมนี้เป็นงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า workshop นั่นเอง ซึ่งหัวข้อหลักของงาน คือ “เทคโนโลยี Cloud Computing กับงานสารสนเทศ

รายละเอียดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเบื้องต้น
ชื่องานภาษาไทย : เทคโนโลยี Cloud Computing กับงานสารสนเทศ
สถานที่จัดงาน : อาคาร 10 ห้อง 10303 มหาวิทยาลัยหอการค้า
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 3 – 4 พฤษภาคม 2555
จัดโดย : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ STKS

การจัดงานครั้งนี้ผมชื่นชอบมากๆ เพราะเป็นการนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ให้วงการบรรณารักษ์ของเราได้ตามเทคโนโลยีให้ทันกระแส ถ้ามีโอกาสก็อยากให้เพื่อนๆ เข้าร่วมมากๆ เช่นกัน

หัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้
– Cloud Computing : สาระและสำคัญ
– องค์กรกับการก้าวสู่ยุค Cloud Computing
– การประยุกต์ใช้ Cloud Computing ในองค์กร
– โอกาสและความเป็นไปได้ในการใช้ Cloud Computing ในวิชาชีพสารสนเทศในประเทศไทย
– ปัญหาและอุปสรรคในการใช้ Cloud Computing
– การใช้ Cloud Computing ในการเรียนการสอน
– Workshop แนะนำวิธีการใช้ Cloud Computing

วิทยากรแต่ละท่านมาจากองค์กรที่สุดยอดทั้งนั้นเลย เช่น STKS, Microsoft, CRM Charity

เห็นหัวข้อแล้วผมเองก็อยากเข้าร่วมเหมือนกันนะครับ แต่เสียดายที่ติดธุระ
หัวข้อที่เน้นเรื่อง Technology Cloud ซึ่งเข้ากับโลกยุคปัจจุบันมากๆ

สัมมนาเชิงปฏิบัติการมีค่าลงทะเบียนด้วยนะครับ
ใครลงทะเบียนก่อนวันที่ 20 เมษายน 2555 ค่าลงทะเบียน 1,000 บาท
ใครลงทะเบียนหลังวันที่ 20 เมษายน 2555 ค่าลงทะเบียน 2,000 บาท

หากเพื่อนๆ สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปดูต่อที่ http://humanities.utcc.ac.th/iscon2012/
หรือต้องการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน http://humanities.utcc.ac.th/iscon2012/index.php/registration.html

ในวันดังกล่าวผมติดงานบรรยายดังนั้นใครไปงานนี้เอาความรู้มาฝากผมด้วยนะ
ขอบคุณมากๆ ครับ

เดี๋ยวนี้ห้องสมุดก็นำ Tablet มาให้ผู้ใช้บริการได้ใช้กันแล้ว

หลายวันก่อนในกลุ่ม Librarian in Thailand ใน Facebook มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการนำ Tablet มาใช้ในห้องสมุด ว่ามีที่ไหนให้ใช้บริการบ้าง และให้ใช้บริการอย่างไร วันนี้ผมจึงขอนำตัวอย่างที่ห้องสมุด TK park มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ

จุดให้บริการ Tablet ของ TK Park จะอยู่ที่ห้อง MindRoom
และใช้ได้ในจุดที่กำหนดเท่านั้น นั่นคือ ห้อง Mindroom

เอาง่ายๆ คือไม่ได้มีไว้ให้ยืมออกครับ และที่ต้องกำหนดในมุม เท่านั้นเพราะเพื่อความปลอดภัยและการดูแลจากเจ้าหน้าที่

Tablet ที่ให้บริการ คือ Acer Iconia A100
ซึ่งใน TK Park มีให้บริการจำนวน 3 เครื่อง

ภายใน Tablet จะบริการเพื่อการเรียนรู้เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย Content หลักๆ คือ
– TK E-Book ชุด “วัตถุเล่าเรื่อง”
– TK Audio Book หรือสื่อการเรียนรู้หนังสือเสียง
– TK Valuable Book หรือสื่อการเรียนรู้ชุด “ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน”
– TK Game Book
– TK eBook
– Read Me Egazine

ลองมาดูคลิปวีดีโอ Review กันหน่อยดีกว่าครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=_YN-_ootboY[/youtube]

เอาเป็นว่า ณ เวลา เที่ยงของวันอาทิตย์ที่ผมมาสังเกตการณ์อยู่ตอนนี้ ยังไม่มีผู้เข้ามาใช้ Tablet เลย
ดังนั้นใครที่สนใจอยากจะมาทดลองใช้ Tablet เพื่อการเรียนรู้ในห้องสมุดก็ขอเชิญได้นะครับ ที่อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park นั่นเอง

ปล. ห้องสมุดไหนที่มีโครงการจะจัดหา Tablet เพื่อนำมาให้ผู้ใช้บริการได้ใช้ก็สามารถปรึกษาห้องสมุด TK Park ได้นะครับ

ก้าวใหม่ของห้องสมุด (Libraries on the Move) วันที่ 28-30 มีนาคม 2555

ใกล้สิ้นปีแบบนี้เพื่อนๆ หลายคนคงกำลังรอฟังข่าวเรื่อง “การประชุมประจำปีของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย” กันอยู่ วันนี้ผมจึงขอนำมาประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ทุกคนทราบแล้วกันครับ เอาเป็นว่าคร่าวๆ ก่อน คือ ปกติจะจัดในเดือนธันวาคมแต่ปีนี้ขอเลื่อนไปจัดในเดือนมีนาคมนะครับ

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการประชุมวิชาการครั้งนี้
ชื่อการประชุมภาษาไทย : ก้าวใหม่ของห้องสมุด
ชื่อการประชุมภาษาอังกฤษ : Libraries on the Move
วันและเวลา : 28-30 มีนาคม 2555
สถานที่จัดการอบรม : โรงแรมอะเดรียติกพาเลซ
ผู้จัดการประชุม : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

หัวข้อในการประชุมครั้งนี้นับว่าน่าสนใจมาก (เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าสมาคมห้องสมุดน่าจะมาถูกทางแล้ว)
หัวข้อก้าวใหม่ของห้องสมุดเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั่นเอง
ถ้าห้องสมุดของเพื่อนๆ เตรียมพร้อมมากกว่าคนอื่นก็ย่อมได้เปรียบนะครับ

ตัวอย่างหัวข้อที่น่าสนใจของการประชุมครั้งนี้
– บทบาทของบรรณารักษ์และห้องสมุดในการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)
– กรุงเทพมหานคร “เมืองหนังสือโลก ปี 2556” (World Book Capital 2013)
– แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการอ่านเชิงรุก
– การเตรียมบรรณารักษ์และห้องสมุดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
– การใช้งานลิขสิทธิ์สำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุด
– การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสงวนรักษาทรัพยากรสารนิเทศของห้องสมุด
– ห้องสมุดกับการให้บริการนวนิยายไทยอิเล็กทรอนิกส์ (e-novel)

เป็นไงกันบ้างครับกับหัวข้อที่จะพบในงานประชุมนี้ ตื่นตัวและเตรียมพร้อมกันมากๆ เลยว่ามั้ย
เอาเป็นว่าถ้ามีเวลาผมก็อาจจะเข้าร่วมกับการประชุมครั้งนี้เช่นกัน

การเข้าร่วมประชุมวิชาการครั้งนี้ไม่ฟรีนะครับ มีค่าใช้จ่ายพอสมควรเอาเป็นว่าใครสนใจก็เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมตาม link ที่อยู่ด้านล่างนี้นะครับ
ดาวน์โหลดเอกสารและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/wp-content/uploads/2011/11/Conference54.pdf (รอการอัพเดทจากสมาคมห้องสมุดฯ อีกทีนะครับ)

ตัวแทนคนในยุคดิจิทัล อยากบอกสิ่งที่ต้องการจากห้องสมุด

ภาวะน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ทำให้หลายๆ คนเครียดและหลายๆ คนก็ประสบปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่ห้องสมุดที่ทำงานหรือท่วมที่พักอาศัย หรือไม่ได้ท่วมแต่หาของกินลำบาก

เอาเป็นว่าผมก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้นะครับ

วันนี้ผมเองก็ได้รับอีเมล์จากเพื่อนชาวต่างชาติคนนึง เขาถามถึงปัญหาน้ำท่วมในไทย
ซึ่งรวมถึงถามเกี่ยวกับห้องสมุดที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมด้วย

เพื่อนผมเลยส่งคลิปวีดีโอนี้มาให้ดูแบบขำขำคลายเครียด
ซึ่งเป็นคลิปวีดีโอที่พูดถึง “ในยุคดิจิทัลแบบนี้คนต้องการอะไรจากห้องสมุด”

ไปดูคลิปวีดีโอกันได้เลยครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=7_zzPBbXjWs[/youtube]

คลิปวีดีโอนี้เป็นคลิปที่ถูกเปิดในงาน VALA 2010 ภายในคลิปวีดีโอนี้เพื่อนๆ จะพบกับสาวน้อย Abbey (เด็กอายุ 3 ขวบ) ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัล เธอจะมาพูดให้ฟังว่าเธอต้องการอะไรจากห้องสมุดของเธอ

สรุปสิ่งที่คนในยุคดิจิทัลอยากได้จากห้องสมุด
– ห้องสมุดออนไลน์
– สื่อมัลติมีเดียมากๆ
– บริการที่รวดเร็วและง่าย
– อยากแชร์สิ่งที่ต้องการให้คนอื่นได้รู้ด้วย (อยากบอกต่อ)
– บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ (iphone)
– อ่านหนังสือผ่าน Ebook reader
– Mash up content
– Sematic search
– ข้อมูลแบบ real time
– เทคโนโลยี AR (Augmented Reality)
– ระบบ tagging
– ระบบโต้ตอบด้วย Touch screen

เอาหล่ะครับ ได้ดูแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
สำหรับผมต้องขอบอกก่อนว่าแอบอึ้งมากๆ ที่เด็ก 3 ขวบสามารถพูดได้ขนาดนี้
จริงๆ แล้วผมก็คิดว่าคงมีคนเขียนบทให้เด็กอ่านแน่ๆ เพราะไม่งั้นน้องเขาคงพูดแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ
แต่ก็เอาเถอะครับ อย่างน้อยที่น้องเขาพูดก็เป็นสิ่งที่คนในยุคดิจิทัลต้องการจริงๆ

เอาเป็นว่าก็ขอฝากให้ดูแล้วกันครับ

สรุปบรรยาย : นวัตกรรมและเทคโนโลยีในห้องสมุดโรงเรียน

กลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว พอจะมีเวลาอัพบล็อกเหมือนเดิม จึงขอประเดิมด้วยสรุปเรื่องที่บรรยายให้โรงเรียนค้อวังวิทยาคมแล้วกันนะครับ โดยต้องขอเกริ่นสักนิดนะครับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องเดินทางไปบรรยายในต่างจังหวัดด้วยตัวเอง (ห้องสมุดหรือหน่วยงานในต่างจังหวัดไหนอยากให้ผมไปบรรยายก็ติดต่อมาทางเมล์แล้วกันนะครับ อิอิ)

รายละเอียดเบื้องต้นของการบรรยาย
ชื่อหัวข้อการบรรยายภาษาไทย : นวัตกรรมและเทคโนโลยีในห้องสมุดโรงเรียน
ชื่อหัวข้อการบรรยายภาษาอังกฤษ : Innovation and Technology for School libraries
วิทยากร : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ นักพัฒนาระบบห้องสมุด โครงการศูนย์ความรู้กินได้
วันและเวลา : วันที่ 19 กันยายน 2554 เวลา 9.00 – 16.30 น.
สถานที่ในการบรรยาย : ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนค้อวังวิทยาคม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร
หน่วยงานที่จัดงาน : โรงเรียนค้อวังวิทยาคม

การบรรยายในครั้งนี้จะเน้นในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบง่ายๆ เพื่อให้ห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่เราสามารถนำมาใช้ในห้องสมุดมีมากมาย แค่คิดให้ได้และจับกระแสให้ดีเท่านี้ห้องสมุดของเราก็จะมีชีวิตขึ้นทันที

สไลด์ประกอบการบรรยาย “นวัตกรรมและเทคโนโลยีในห้องสมุดโรงเรียน”

สรุปการบรรยาย “นวัตกรรมและเทคโนโลยีในห้องสมุดโรงเรียน”

การบรรยายแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ

1. ช่วงเช้า เรื่อง นวัตกรรม-ห้องสมุดโรงเรียน

– ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” โดยสรุปผมให้นิยามคำนี้ว่า “อะไรก็ตามที่เป็นของใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน คำว่าใหม่ในที่นี้วัดจากการเป็นสิ่งใหม่ในองค์กรหรือใหม่ในความคิดของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น”

– ห้องสมุดเปลี่ยนไปเยอะแค่ไหน…นับจากอดีตที่คนเข้ามาห้องสมุดเพื่ออ่านอย่างเดียว ก็เริ่มเข้ามาดูหนังฟังเพลงในห้องสมุด และคอมพิวเตอร์แบบต่างๆ ก็เข้ามาในห้องสมุด….จนบัดนี้เราเห็นอะไรในห้องสมุดบ้างหล่ะ

– กรณีศึกษา การทำงานบรรณารักษ์ครั้งแรกของผม ที่ ห้องสมุดวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม จากห้องโล่งๆ ไม่มีอะไรเลยจนกลายมาเป็นห้องสมุด ต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก การจัดทำกฤตภาคออนไลน์ด้วยตนเอง การสร้างเว็บไซต์ห้องสมุดไม่ง่ายและไม่ยาก ทำงานห้องสมุดต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย (โจทย์ทำอย่างไรให้เด็กช่างกลเข้าห้องสมุดเยอะๆ)

– กรณีศึกษา การทำงานเป็นนักพัฒนาระบบห้องสมุด ที่ โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี มองภาพรวมของการทำงานให้ได้ การสร้างแนวทางในการทำงานบรรณารักษ์ในรูปแบบใหม่ๆ สิ่งง่ายๆ ที่สามารถนำมาใช้และก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ มีเยอะแยะเลย เช่น กล่องความรู้กินได้ ชั้นหนังสือในแบบโครงการศูนย์ความรู้กินได้ กิจกรรมการวิจารณ์หนังสือในห้องสมุด แนวทางในการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด การใช้ Pathfinder ฯลฯ

– อะไรคือนวัตกรรมในวงการห้องสมุดได้บ้าง เช่น การนับจำนวนผู้เข้าใช้ห้องสมุดจากคนเป็นเครื่องมือ , การสืบค้นหาหนังสือในห้องสมุดจากบัตรรายการเป็น OPAC , บริการใหม่ๆ จากเดิมที่ห้องสมุดต้องรอให้ผู้ใช้บริการเข้ามาเป็นห้องสมุดต้องออกไปบริการผู้ใช้บริการข้างนอกเอง , กิจกรรมแก้กรรมจาก ม.ศิลปากร ฯลฯ

2. ช่วงบ่าย เรื่อง เทคโนโลยี-ห้องสมุดโรงเรียน

– บรรณารักษ์ยุคใหม่ (Cybrarian) ต้องมีความรู้และทักษะอะไรบ้าง (เรื่องนี้บรรยายบ่อยมากลองหาอ่านย้อนหลังได้ เช่น http://www.libraryhub.in.th/2011/08/12/e-medical-librarian-and-social-network/)

– ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน…สร้างเองได้ มองเรื่องทั่วๆ ไปแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาชีพ ยิ่งเราได้เห็น อ่าน ฟังมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งมีไอเดียมากขึ้นเท่านั้น การ Copy คนอื่นจะดีมากถ้า copy แล้วต่อยอด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

– บรรณารักษ์ กับ โปรแกรมเมอร์ ต่างกันตรงที่ บรรณารักษ์เราอยู่ในฐานะผู้ใช้ไอทีรวมถึงแนะนำการใช้ไอทีให้ผู้ใช้บริการ ส่วนโปรแกรมเมอร์รับคำสั่งให้สร้างและออกแบบโปรแกรมหรือไอทีเพื่อใช้งาน

– ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

– เครื่องมือออนไลน์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาห้องสมุด (แบบฟรีๆ) เช่น Blog, E-mail, MSN, Twitter, Facebook, Youtube, Flickr, Slideshare

แถมให้อีกสไลด์นึงแล้วกันนะครับ เป็นตัวอย่างการนำ Web 2.0 มาประยุกต์ใช้กับงานห้องสมุด

– กรณีศึกษาเรื่องการใช้บล็อก บล็อกทำอะไรได้บ้าง และ องค์กรต่างๆ ใช้บล็อกเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างการใช้งานบล็อก Projectlib และ Libraryhub ตัวอย่างหัวข้อที่ใช้เขียนบล็อก นวัตกรรมที่หลายคนไม่เคยคิดเกี่ยวกับบล็อก คือ การสร้างแม่แบบไว้เผื่อเวลาไม่รู้จะเขียนอะไรก็นำแม่แบบมาประยุกต์ได้

– Facebook กับการใช้งานในห้องสมุด ตัวอย่างการใช้งาน facebook เช่น แนะนำหนังสือที่น่าสนใจในห้องสมุด, ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น, ทักทายพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการออนไลน์, โปรโมทบล็อกหรือเว็บไซต์ของห้องสมุด, เชิญเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้องสมุด, ให้บริการออนไลน์, โพสรูปกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุด

– กรณีศึกษาการใช้ facebook ที่น่าสนใจ ดูได้ที่
1. http://www.facebook.com/thlibrary (กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย)
2. http://www.facebook.com/groups/133106983412927/ (กลุ่ม Librarian in Thailand)

– การดูแลสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ห้องสมุด

1. คอยอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของห้องสมุดใหม่ให้ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ
2. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการออนไลน์
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องราวพฤติกรรมที่แย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พยายามพูดคุยหรือถามความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการ
6. นำภาพกิจกรรมมาลงใน facebook ทุกครั้ง

– ทิศทางสำหรับห้องสมุดในอนาคต (อ่านต่อได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/2010/12/24/social-media-and-library-trends-for-2011/)

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับบทสรุปของงานบรรยายของผมในครั้งนี้ เอาเป็นว่าพรุ่งนี้ผมจะนำรูปภาพของห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคมมาลงให้ดูด้วยแล้วกันนะครับ วันนี้ก็ขอลาไปพักก่อนนะครับ
ภาพการอบรมทั้งหมดในวันนั้น
[nggallery id=47]

Workshop : การบริหารความเสี่ยงสำหรับห้องสมุดยุคใหม่

การประชุมประจำปีของชมรมห้องสมุดเฉพาะใกล้เข้ามาแล้ว
และเป็นประจำของทุกปีที่ผมจะต้องนำมาประชาสัมพันธ์สักหน่อย

slgconference1

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
ชื่องานภาษาไทย : การบริหารความเสี่ยงสำหรับห้องสมุดยุคใหม่
จัดวันที่ : 30 – 31 สิงหาคม 2553
สถานที่จัดงาน : กรมวิทยาศาสตร์บริการ
จัดโดย : ชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

หัวข้อเกี่ยวกับเรื่อง “การบริหารจัดการความเสี่ยง” เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในปัจจุบัน
เนื่องจากวิถีชีวิตในปัจจุบันของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
บางอย่างที่เราวางแผนไว้อาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแผน
ถ้ามันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็คงไม่เป็นอะไรมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ระดับองค์กรหล่ะ
มันอาจจะทำให้องค์กรของคุณล้มลงอย่างไม่เป็นท่าเลยก็อาจเป็นได้

ดังนั้นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ผมจึงอยากให้เพื่อนๆ ได้เข้าร่วมกันมากๆ
นอกจากจะได้รับความรู้ดีๆ แล้ว ยังถือว่าเป็นการระดมสมองเพื่อการแก้ปัญหาในวงการห้องสมุดเลยก็ว่าได้

ตัวอย่างหัวข้อที่น่าสนใจในการบรรยายและเสวนา
– ห้องสมุดยุคใหม่ต้องใส่ใจความเสี่ยง
– การบริหารความเสี่ยงของห้องสมุด : กรณีศึกษา
– การบริหารจัดการความเสี่ยง…สำคัญอย่างไร
– คุยเฟื่องเรื่องความเสี่ยง? : กลยุทธ์พิชิตความเสี่ยงในห้องสมุด
– แผนยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงสำหรับห้องสมุด
– การจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารความเสี่ยง

เห็นหัวข้อแล้วผมก็เริ่มสนใจแล้วหล่ะครับ
ยิ่งวิทยากรและผู้บรรยายหลายๆ คนมาจากนอกวงการห้องสมุดด้วย
เช่น ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ผู้จัดการสายงานด้านการบริหารความเสี่ยง บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด

เอาเป็นว่าใครสนใจก็ต้องเสียเงินกันหน่อยนะ เพราะงานนี้มีค่าใช้จ่าย
หากลงทะเบียนก่อนวันที่? 6? สิงหาคม 2553 สมาชิก = 1,500 บาท บุคคลทั่วไป = 1,800 บาท
ค่าลงทะเบียนหลังวันที่ 6? สิงหาคม 2553 สมาชิก = 1,800 บาท บุคคลทั่วไป = 2,100 บาท

เอาเป็นว่าใครสนใจรายละเอียดก็เข้าไปดูได้ที่
รายละเอียดโครงการ

แล้วพบกันในงานครับผม

ห้องสมุดประชาชนยุคใหม่ในอเมริกา

บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่บล็อกเก่าของผม (http://projectlib.wordpress.com) แต่ขอเรียบเรียงใหม่
เป็นบทความที่เขียนลงในเว็บไซต์ Voice of America ภาคภาษาไทย

publiclibrary

บทความนี้ได้เขียนถึงเรื่องห้องสมุดสาธารณะ (ผมว่าน่าจะใช้คำว่าห้องสมุดประชาชนมากกว่านะ) ยุคใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
เนื้อหาในบทความนี้เป็นการกลายถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในห้องสมุด

ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้จัดเก็บข้อมูลบรรณานุกรม (โปรแกรมห้องสมุด) แทนบัตรรายการ
หรือจะเป็นเรื่องการเข้าถึงสารสนเทศได้จากที่ต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

บทความนี้อ่านแล้วเข้าใจง่าย และเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ผมเลยขอคัดลอกมาให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ
หากต้องการอ่านจากต้นฉบับให้เข้าไปดูที่ ห้องสมุดสาธารณะยุคใหม่ (เนื้อหาข่าว)

———————————————————————————————————————–

เนื้อหาของบทความ (ฉบับคัดลอก) – ห้องสมุดสาธารณะยุคใหม่

เมื่อก่อนนั้นห้องสมุดชุมชนในอเมริกาคือสถาน ที่ที่สมาชิกในชุมชนพากันมาพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนหนังสือกัน แต่ปัจจุบันภาพเหล่านั้นเปลี่ยนไปแล้ว ห้องสมุดทุกวันนี้กลายเป็นศูนย์ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ มีการนำบันทึกรายชื่อหนังสือทางอินเตอร์เนตเข้ามาแทนที่บัตรรายการแบบเก่า หนังสือและข้อมูลจำนวนมากถูกนำไปเก็บเป็นแผ่นซีดีและดีวีดี และผู้ใช้ห้องสมุดสามารถค้นหาข้อมูลที่ตนต้องการเหล่านั้นได้ทางอินเตอร์เนต

ปัจจุบันหน้าที่หลักของบรรณารักษ์คือการแนะนำวิธีให้ผู้ใช้บริการสามารถ ค้นหาข่าวสารที่ต้องการจากแหล่งข้อมูลมหาศาลนั้นได้ บรรณารักษ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่มีอยู่ และตัดสินใจว่า ฐานข้อมูลชนิดไหนที่ผู้มาใช้บริการต้องการ เมื่อผู้ใช้บริการพบข้อมูลดังกล่าวแล้วก็เพียงแค่ส่งอีเมลข้อมูลนั้นไปยัง คอมพิวเตอร์ที่บ้านโดยไม่ต้องหอบหนังสือกลับไปเหมือนสมัยก่อน

นอกจากนี้ผู้มาใช้บริการยังสามารถใช้บริการห้องสมุดจากคอมพิวเตอร์ที่บ้านที่ไหนๆ ก็ได้ในโลกผ่านทางอินเตอร์เนต

เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ช่วยให้ห้องสมุดสามารถเสนอบริการใหม่ให้แก่ผู้มาใช้บริการได้คือการถามคำถาม หรือขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ผ่านหน้าเวบไซต์ได้ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายเชื่อมต่ออินเตอร์เนตไร้สายที่กำลังขยายตัวอย่างรวด เร็วในสหรัฐทำให้ห้องสมุดสาธารณะส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถให้บริการผ่านทาง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุคเพื่อช่วยหาข้อมูลในการทำการบ้าน ทำรายงาน ตลอดจนการค้นคว้าวิจัยส่วนตัว

สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาจอคอมพิวเตอร์สามารถปรับขนาดตัวหนังสือให้ ใหญ่ขึ้นได้ตามที่ต้องการ และสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนห้องสมุดยังมีบริการหนังสือเสียงไว้ให้เด็กๆ ฟังเป็นการเตรียมตัวสู่โลกแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้ห้องสมุดชุมชนสามารถให้บริการทั้งด้าน ความรู้และความบันเทิงแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ห้องสมุดในอเมริกานั้น ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการอินเตอร์เนตที่รวดเร็วได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้ จ่ายใดๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย คุณตา คุณยายที่มาใช้บริการห้องสมุดหลายคนก็ยังยินดีที่จะมานั่งเปิดหนังสือเล่ม เก่าๆ ทีละหน้าเหมือนที่เคยทำมาจนชิน

———————————————————————————————————————–

เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับบทความที่ผมนำมาให้อ่าน
อ๋อ ลืมบอกไปถ้าเพื่อนๆ ขี้เกียจอ่าน ผมขอแนะนำให้ฟังเป็นเสียงครับ ลองเข้าไปดูที่ ห้องสมุดสาธารณะยุคใหม่ (ไฟล์เสียง)

สำหรับวันนี้ก็ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ