prewedding เก๋ๆ ในห้องสมุดซีแอทเทิล – Seattle Public Library

หลายๆ คนคงรู้ว่าช่วงนี้ผมกำลังจะมีข่าวดี (ผมจะแต่งงานในเดือนธันวาคม 2554 นี้)
ดังนั้นช่วงนี้ผมคงต้องเตรียมตัวอะไรมากมาย วันนี้ผมเลยค้นข้อมูลเรื่องการถ่ย prewedding เล่นๆ
(จริงๆ ผมถ่าย pre wedding ไปแล้ว แต่ก็อยากถ่ายเพิ่มอีกนิดหน่อย โดยเฉพาะการถ่ายรูปแต่งงานในห้องสมุด)

หลังจากที่ค้นหาข้อมูล เรื่องการถ่ายภาพ pre wedding ในห้องสมุดดู (keyword : prewedding library)
ผมก็พบกับภาพของคู่แต่งงานคู่หนึ่งที่ถ่ายรูป prewedding ในห้องสมุด และห้องสมุดแห่งนั้นคือ ห้องสมุดซีแอทเทิล

ห้องสมุดซีแอทเทิล (Seattle Public Library) เป็นห้องสมุดที่ได้รับการออกแบบโดย Rem Koolhaas
การออกแบบภายในมีหลายส่วนที่เน้นสีสันสร้างความสวยงาม และมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การเรียนรู้

หลังจากที่ได้ชมภาพคู่แต่งงานที่ใช้ห้องสมุดซีแอทเทิล เป็นสถานที่ในการถ่าย prewedding แล้ว
มันทำให้ผมรู้สึกว่า การที่ผมจะถ่ายรูป prewedding ในห้องสมุดคงจะดีไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
(มันเข้ากับ concept ของนายห้องสมุดอย่างผมมากๆ)

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องคิดให้รอบคอบอีกนิด คือ ถ่ายอย่างไรเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ใช้บริการคนอื่นๆ
เพราะห้องสมุดที่ผมคิดจะไปถ่าย คือ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งไม่มีวันหยุด ซะด้วยสิ
เอาเป็นว่าคงต้องรีบถ่ายอย่างรวดเร็ว และเตรียมหามุมถ่ายให้เรียบร้อย และดำเนินการให้เร็วที่สุดหล่ะมั้ง

สุดท้ายนี้ถ้าได้ถ่ายจริงๆ จะเอามาอวดให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ อิอิ

ที่มาของข้อมูลและภาพทั้งหมดโดย http://www.studio-br.com/blog/2011/02/16/alyssa-dan-pre-wedding-engagement-photography-seattle-public-library/

credit : http://www.studio-br.com

“การลงทุน” “ผลตอบแทน” ของการมีห้องสมุดประชาชนในอเมริกา

บทความที่ผมกำลังจะนำมาให้เพื่อนๆ อ่าน เป็นบทความที่ผมเคยเขียนไว้ในบล็อกของที่ทำงานผม
เกี่ยวกับเรื่อง “การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนของการมีห้องสมุดประชาชน
เรื่องนี้ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการคิดเรื่องการประเมินห้องสมุดประชาชนอ่ะครับ

“ลงทุน 1 เหรียญได้คืนกว่า 4 เหรียญ” คือ บทสรุปอันมีชื่อเสียงของเกลน ฮอลท์ (Glen Holt) ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนเซนหลุยส์ ที่คำนวณออกมาให้เห็นว่า ทุกๆ หนึ่งเหรียญที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีประจำปี ห้องสมุดได้บริหารและก่อให้เกิดประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้บริการเป็นมูลค่ามากกว่า 4 เหรียญ

จากคำกล่าวด้านบนทำให้เห็นว่า ในประเทศที่เจริญแล้วมักเห็นความสำคัญของการมีห้องสมุด ซึ่งนำมาอธิบายในเรื่องการลงทุนสำหรับการพัฒนาห้องสมุด โดยจะเห็นว่า เงินทุกเหรียญที่ผู้ใช้บริการจ่ายภาษีและเป็นงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด ห้องสมุดจะตอบแทนกลับคืนเป็น 4 เท่า

ผลตอบแทนที่ว่านี้อาจจะไม่ได้ตอบแทนเป็นเงินกลับสู่กระเป๋าผู้ใช้บริการหรอกนะครับ
แต่เป็นการตอบแทนในเรื่องของการพัฒนาสื่อต่างๆ และพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมากกว่า เช่น

– ไม่ต้องซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะมาอ่านและยืมได้ที่ห้องสมุด
– ไม่ต้องซื้อนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เอง เพราะมาอ่านได้ที่ห้องสมุด
– ไม่ต้องซื้อสื่อมัลติมีเดียเอง เพราะมาดู มาชม มาฟังได้ที่ห้องสมุด
– มานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ มาค้นข้อมูลได้ที่ห้องสมุด

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการวัดผล ประเมินความคุ้มค่า และผลตอบแทนของห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขที่เห็นชัดเจน ดูได้จากตารางด้านล่างนี้

จะสังเกตได้ว่าบางแห่งให้ผลตอบแทนมากถึง 6 เหรียญเลยทีเดียว เช่น ห้องสมุดประชาชนในรัฐฟลอริด้า บทความเรื่องผลตอบแทนของการมีห้องสมุดมีหลายบทความที่น่าอ่าน เช่น

http://ila.org/advocacy/pdf/Ohio.pdf

http://www.clpgh.org/about/economicimpact/

http://www.lrs.org/public/roi/

เอาเป็นว่าก็ลองเข้าไปอ่านกันดูได้นะครับ

หลายคนคงสงสัยว่าตัวเลขในการคำนวณความคุ้มค่าเขาวัดจากไหน ผมจึงขอยกตัวอย่างสักเรื่องนะครับ “ในปี 2553 ห้องสมุดแห่งหนึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวน 3.5 ล้านคน และมีจำนวนการยืมสื่อในห้องสมุดจำนวน 6.4 ล้านรายการ หากตรวจสอบข้อมูลดูแล้วจะพบว่าหากผู้ใช้บริการเหล่านี้จ่ายเงินเพื่อซื้อสื่อเหล่านี้ พวกเขาจะต้องจ่ายเงินมากถึง 378 เหรียญต่อคนเลย”

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมในการคำนวณผลตอบแทนของห้องสมุดด้วย ซึ่งห้องสมุดต่างๆ ก็เพียงแค่กรอกข้อมูลลงในตามฟอร์มต่างๆ แล้วให้โปรแกรมคำนวณออกมาก็จะรู้แล้วครับว่า ห้องสมุดตอบแทนผู้ใช้บริการคืนกลับมาเท่าไหร่ เราไปดูหน้าตาของโปรแกรมตัวนี้กัน

เมื่อกรอกข้อมูลการใช้บริการในส่วนต่างๆ ตามที่โปรแกรมกำหนดแล้ว โปรแกรมจะคำนวณค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในการลงทุน และวัดความคุ้มค่าของการใช้บริการห้องสมุดออกมาเป็นตัวเลขต่างๆ ดังภาพ

เป็นยังไงกันบ้างครับโปรแกรมแบบนี้น่าสนใจใช่มั้ยหล่ะครับ ผมเองก็อยากให้เกิดในเมืองไทยเช่นกัน
ยังไงก็ฝากไปถึงผู้ใหญ่หลายๆ คนที่อำนาจในการตัดสินใจด้วยแล้วกันครับ

ต้นฉบับที่ผมเขียนสามารถดูได้จาก http://kindaiproject.net/kmshare-blog/cost-benefit-analysis-for-libraries.html#

การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)

หลังจากฟังการบรรยายของวิทยากรหลายๆ คนในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ช่วงบ่ายของวันที่ 3 สิงหาคมก็มีการจัดไปศึกษาดูงานกันที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ผมจึงขอตามไปดูงานด้วย และได้เก็บภาพต่างๆ มามากมายเพื่อให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาได้ชมห้องสมุดกัน

การไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ของกลุ่มบรรณารักษ์การแพทย์ค่อยข้างจะสนุกกว่าทุกที่ที่ผมเคยพบ นั่นคือทางเจ้าภาพของงานได้เหมารถ ปอ สีส้ม สาย 77 จำนวน 1 คัน เป็นรถที่จะพาเราไปศึกษาดูงาน เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร วิทยากร ผู้ฟัง ต่างก็ได้ใช้บริการรถเมล์คันดังกล่าวทั้งนั้น บางคนนั่ง บางคนยืน สนุกสนานครับ เดี๋ยวลองดูในอัลบั้มรูปแล้วกันนะครับ

พอไปถึงที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ก็เกิดอุปสรรคขึ้นนิดหน่อย คือ จำนวนผู้ที่เข้าชมเกือบๆ 70 กว่าคนครับ เลยต้องแบ่งการเข้าชมออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ผลัดกันชมด้านนอกกลุ่มนึงด้านในกลุ่มนึง

เคยได้ยินคนพูดว่า ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) เป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ

เรื่องของประวัติความเป็นมาของห้องสมุด (ของลอกมาจากวิกิพีเดีย : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%8C)

สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) จดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งสมาชิกเป็นสุภาพสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีนำมาจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพโดยมีข้อบังคับของสมาคมที่ให้การบริหารงานนั้นต้องประกอบไปด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีจำนวนไม่เกิน 12 คน

นายกสมาคมคนแรกซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็คือ นาง Sarah Blachley Bradley ซึ่งเป็นภรรยาของคุณหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley)

ในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อ จากสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ เป็น สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ

ส่วนชื่อปัจจุบันของห้องสมุด คือ สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ นั้นมาจากชื่อของนาง Jennie Neilson Hays ซึ่งชื่อเดิมของ นาง Jennie Neilson Hays คือ Jennie Neilson เป็นชาวเดนมาร์ก ครอบครัวได้อพยพไปอยู่อเมริกาต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชั่นนารีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 และได้พบกับคุณคุณหมอ Thomas Heyward Hays ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2429 และทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2430

ต่อมานาง Jennie Neilson Hays ได้เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุดโดยเตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 ตลอดเวลาเธออุทิศตัวและเวลาเพื่อทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในปี เธอทำงานให้กับห้องสมุดเป็นเวลาถึง 25 ปี และเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือน เมษายน พ.ศ. 2463

ตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุดในปี พ.ศ. 2414 เป็นต้นมาห้องสมุดไม่มีสถานที่ทำการถาวรย้ายไปตามที่ที่จะได้รับอนุเคราะห์จากสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนาง Jennie Neilson Hays ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2463 ด้วยความรักที่เธอมีต่อห้องสมุด คุณหมอ Thomas Heyward Hays จึงได้สร้างอาคารถาวรและซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อยกให้เป็นของห้องสมุดและเป็นที่ระลึกถึงภรรยาของท่าน ดังนั้นสมาคมห้องสมุดกรุงเทพ (The Bangkok Library Association) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดเนลสันเฮย์” พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จเริ่มเปิดทำการในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2465 โดยสถานที่ตั้งนั้นอยู่ที่ เลขที่ 193,195 ถนนสุรวงศ์ และปัจจุบันห้องสมุดก็ยังเปิดให้บริการอยู่

อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ นายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) และสถาปนิกผู้ช่วยชื่อนายจีโอวานี แฟร์เรโร (Mr.Giovanni Gerreo)ลักษณะอาคารเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิค โดยผังอาคารเป็นรูปตัว H ทางเข้าเป็นห้องทรงกลมหลังคาทางเข้าเป็นโดม ซึ่งปัจจุบันทางเข้าเดิมได้ปิดและปรับปรุงให้ใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะโดยใช้ห้องนี้ชื่อว่า Rotunda Gallery ส่วนทางเข้าไปย้ายไปอยู่ด้านข้างแทน

อาคารห้องสมุดเนลสันเฮย์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

นี่ก็เป็นเรื่องราวแบบคร่าวของความเป็นมาเกี่ยวกับห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ที่ผมประทับใจ คือ เรื่อง การสร้างห้องสมุดเพื่อเป้นที่ระลึกแก่ภรรยาที่เสียชีวิต เรื่องราวคล้ายๆ ทัชมาฮาล เลยนะครับ

ข้อมูลทั่วไปที่นายบรรณารักษ์ไปสังเกต
– หนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดครับ
– การจัดหนังสือใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– มีตู้บัตรรายการใช้อยู่ด้วย
– อยู่ในระหว่างการปรับปรุงห้องนิทรรศการ และห้องสมุดบางส่วน
– ตู้หนังสือทุกตู้มีกระจกปิดเพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้า และรักาาความชื้นในห้องสมุดด้วยระบบการระบายอากาศที่ดี
– กิจกรรมสำหรับเด็กจะจัดทุกเสาร์ โดยมีอาสาสมัครมาช่วยจัด
– ค่าเข้าใช้บริการ ครั้งละ 50 บาท (เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาห้องสมุด)

อัตราค่าสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้
– ประเภทครอบครัว 3300 บาทต่อปี
– ประเภทบุคคลทั่วไป (อายุ 22 ปีขึ้นไป) 2500 บาทต่อปี
– ประเภทผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 1500 บาทต่อปี
– ประเภทเด็ก (อายุ 12 ปีขึ้นไป) 1700 บาทต่อปี

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ได้ที่ http://www.neilsonhayslibrary.com

หรือถ้าอยากไปชมสถานที่จริงก็สามารถเดินทางไปได้อยู่แถวๆ ถนนสุรวงศ์ หรือสอบถามทางได้ที่เบอร์ 0-2233-1731 นะครับ

ชมภาพการไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ทั้งหมด

[nggallery id=46]

การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ (Spring News)

หัวข้อที่สามที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
คือ การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์
วิทยากรโดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

หัวข้อนี้ดูเผินๆ อาจจะมองว่าไม่เกี่ยวกับห้องสมุด แต่ผมขอบอกเลยว่า
การทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าว กับ งานห้องสมุดมีส่วนที่คล้ายกันมากๆ ไปลองอ่านสรุปได้เลยครับ

สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 5 มีนาคม 2553
คนที่ติดเคเบิลที่บ้านหรือติดจานดาวเทียมที่บ้านดูได้หมดยกเว้นของทรู นอกจากนี้ยังดูผ่าน iphone ipad ได้ด้วย

การบริหารจัดการข้อมูลในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ

1. การจัดการคน
2. การจัดการข้อมูล

แต่ในการบรรยายจะเน้นในเรื่องของการจัดการข้อมูลเป็นหลัก โดยเฉพาะการจัดการศูนย์ข้อมูลข่าวที่เน้นในเรื่องการจัดเก็บไฟล์ภาพข่าว โดยต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดหมวดหมู่ (ควรมีพื้นฐานด้านห้องสมุดหรือบรรณารักษ์) มาเป็นคนกำหนดหัวเรื่องให้กับภาพข่าวซึ่งมีความสำคัญมาก

เช่น ไฟล์ภาพข่าวที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะให้หัวเรื่องว่า “สถานการณ์ใต้” ซึ่งหัวเรื่องค่อนข้างกว้างมาก ถ้าจัดการไม่ดีจะทำให้การค้นหาข้อมูลไฟล์ข่าวมีปัญหาล่าช้าไปด้วย เพราะว่าต้องจำชื่อเรื่อง สถานที่ และวันและเวลาที่เกิดเหตุให้ได้ แต่ถ้าจัดการดีจะทำให้เราสามารถบริหารข้อมูลได้ดีไปด้วย

ข้อมูลข่าวและภาพในสถานีโทรทัศน์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่สามารถลบข้อมูลต่างๆ ได้เนื่องจากอาจจะต้องมีการนำมาฉายซ้ำในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการจัดเก็บ และการบริหารที่ดี จะทำให้เราเข้าถึงไฟล์ข้อมูลข่าวและภาพได้ง่าย

การจัดเก็บในรูปแบบเดิมๆ ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
มักจะอยู่ในรูปของเทปรายการ ซึ่งปัจจุบันเปลียนมาจัดเก็บในรูปแบบของดีวีดี และอนาคตทิศทางจะเป็นไปในแนวทางของฐานข้อมูลดิจิตอล

ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จะมีการจัดเก็บไฟล์รูปภาพเป็นดีวีดีโดยมีการสำรองข้อมูลออกเป็น 3 ชุด เพื่อป้องกันการเสียหายและสูญหาย

ศูนย์ข้อมูลข่าว = คลังสมองของนักข่าว

กระบวนการของการไหลข้อมูลในสถานีโทรทัศน์จะเริ่มต้นจาก
ช่างภาพถ่ายภาพ – จัดเก็บรูปภาพ – ตัดต่อรายการ – ออกอากาศ – จัดเก็บเข้าศูนย์ข้อมูล
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวข้างต้นต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

การตั้งชื่อไฟล์เพื่อการจัดเก็บก็จะมีการใช้หัวเรื่องเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อให้สามารถค้นหาได้ง่าย เช่น POL = การเมือง
รูปแบบการตั้งชื่อของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ มีดังนี้ อักษรย่อ + วันที่ + เวลา + ชื่อข่าว

การบริหารไฟล์ภาพในส่วนของช่างภาพเองก็จะดูในเรื่องของขนาดภาพที่เพียงพอต่อการใช้งานในการออกอากาศ เพื่อลดขั้นตอนในการตัดต่อรายการ และประหยัดเวลาของขั้นตอนอื่นๆ ด้วย

วิทยากรได้ทิ้งท้ายด้วยการประกาศรับสมัครบรรณารักษ์ที่สนใจไปร่วมงานกับศูนย์ข้อมูลข่าวด้วย
โดยบรรณารักษ์ที่สนใจจะทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าวของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– ความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพ
– มีหัวใจในการเป็นบรรณารักษ์
– สนใจข่าวสารบ้านเมือง

เอาเป็นว่าอ่านสรุปแบบนี้แล้วเพื่อนๆ เริ่มเห็นรึยังครับว่า ศูนย์ข้อมูลข่าวกับห้องสมุดไม่ได้ห่างกันเลย
ลักษณะงานคงไม่เหมือนกันเป๊ะๆ หรอก แต่ผมว่าก็ยังมีส่วนที่คล้ายๆ กันนะครับ

เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ คือ http://www.springnewstv.tv/

นายบรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน

ไปเที่ยวหัวหินกันมั้ยๆๆๆๆ ไหนๆ ก็มีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งที ก็ขอแวะห้องสมุดแถวๆ นั้นกันสักหน่อย
ห้องสมุดแห่งหนึ่งที่น่าสนใจของหัวหินและอยู่ใกล้จุดที่คนชอบไปถ่ายรูป คือ ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน


ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน แค่ชื่อเพื่อนๆ ก็คงเดาได้ว่าหน้าตาของห้องสมุดมันต้องเป็นห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟแน่ๆ
อ่ะ ถูกต้องครับ “ห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟ” และที่สำคัญมันอยู่ที่ “หัวหิน” และตั้งอยู่ใกล้ๆ “สถานีรถไฟหัวหิน”

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดการรถไฟแห่งที่ 3 ของประเทศนะครับ เปิดให้บริการในวันที่ 26 กันยายน 2552
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด

ความคิดริเริ่มในการเปิดห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำตู้รถไฟเก่ามาปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดรถไฟ เพื่อที่จะขยายการบริการด้านการศึกษาค้นคว้าและเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว นั่นเอง

ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน ได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานในการพัฒนาและปรับปรุง ได้แก่
– การรถไฟแห่งประเทศไทย นำรถไฟเก่ามาปรับปรุงใหม่
– กศน ดูแลในส่วนการจัดการสื่อและการให้บริการห้องสมุด
– จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริจาคเงินเพื่อตกแต่งภายใน รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในห้องสมุด
– เทศบาลเมืองหัวหิน ดูแลเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านนอกห้องสมุด และสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง


ภายในภาพรวมยังคงมีกลิ่นความเป็นรถไฟอยู่ด้วย โดยเฉพาะที่นั่งอ่านหนังสือยังคงใช้เก้าอี้ที่ใช้ในตู้รถไฟปรับอากาศ (คิดถึงภาพเก้าอี้นวมในรถไฟได้เลย) แถมด้วยเฟอร์นิเจอร์บางอย่างก็ยังคงใช้อุปกรณ์ที่มาจากตู้รถไฟเดิมด้วย


การจัดการเรื่องสื่อ (หนังสือ วารสาร นิตยสาร….)

– มีการรับสมัครสมาชิกเหมือนห้องสมุดประชาชน
– ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ใช้คือ PLS 5 (ของกศน.)
– การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– การจัดวางหนังสือยึดหลักหมวดหมู่ไม่ได้เรียงตามเลขหมู่ เช่น หมวดอาหาร หมวดธรรมะ หมวดภาษา


ใครที่สนใจอยากจะไปเยี่ยมชมต้องมาในวันจันทร์-เสาร์เท่านั้นนะครับ และในช่วงเวลา 9.00-17.00
ด้วย
เพราะนอกนั้นในวันอาทิตย์ หรือวันหยุดอื่นๆ ห้องสมุดปิดนะครับ

เอาหล่ะพาเที่ยวพอแล้วดีกว่า ใครมีโอกาสก็ลองไปชมกันดูเองนะครับ
หรือจะดูรูปภาพห้องสมุดโดยรวมจากด้านล่างนี้ก็ได้ สำหรับวันนี้ก็ไปแล้วนะครับ

ชมภาพห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินทั้งหมดได้ที่

[nggallery id=44]

[InfoGraphic] 5สิ่งที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุดในอเมริกา

วันนี้นั่งค้นรูป InfoGraphic ไปเรื่อยๆ ก็พบกับภาพ InfoGraphic ที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดอีกแล้ว
ผมจึงขอนำภาพๆ นี้มานำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ดูกันสักนิดแล้วกัน (ข้อมูลค่อนข้างน่าสนใจ)

อย่างที่เคยบอกเอาไว้แหละครับว่า ภาพ InfoGraphic ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว บางคนใช้นำเสนอข้อมูลจำพวกสถิติ บางคนนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อความหรือสรุปเรื่องราว ….. วันนี้ InfoGraphic ที่ผมจะให้ดู เป็นเรื่องของการนำเสนอข้อมูลแบบสรุปนะครับ ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า “5 Fun Facts You may not know about libraries” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุด

ชมภาพ InfoGraphic : 5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุด

ทสรุปจากภาพด้านบน (5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุด)
1. ห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้บริการตอบคำถาม จำนวนถึง 56.1 ล้านคำถามในแต่ละปี โดยที่คำถามประมาณ 10 ล้านคำถามจะเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอล (ข้อมูลจาก ALA)

2. ชาวอเมริกันไปห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษามากกว่าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ถึง 3 เท่า (ข้อมูลจาก ALA)

3. ในประเทศอเมริกามีห้องสมุดประชาชนมากกว่าร้านแมคโดนัลด์ – ปัจจุบันห้องสมุดประชาชนมีสาขามากถึง 16,604 แห่ง (ข้อมูลจาก ALA)

4. Benjamin Franklin เป็นผู้ที่ก่อตั้งห้องสมุดประชาชนในฟิลลาเดเฟีย ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ให้บริการยืมคืนครั้งแรกของอเมริกา (ข้อมูลจาก USHistory) อ่านประวัติเพิ่มเติมของ Benjamin Franklin ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Benjamin_Franklin

5. 1 ใน 3 ของห้องสมุดประชาชนในอเมริกาจะมี account Facebook (ข้อมูลจาก library Research)

เป็นยังไงกันบ้างครับ ข้อมูลในภาพน่าสนใจมากใช่หรือเปล่า
ผมเองก็เพิ่งจะรู้ว่าที่อเมริกามีห้องสมุดมากกว่าร้านแมคโดนัลด์ซะอีก

เอาเป็นว่าถ้ามีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจอีก ผมจะนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันต่อนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอตัวไปเก็บข้อมูลอย่างอื่นก่อนแล้วกันนะครับ

ที่มาของภาพ Infographic : http://knovelblogs.com/2011/06/13/knovel-presents-5-fun-facts-you-may-not-know-about-libraries/

ร้านหนังสือมีสไตล์ ณ หัวหิน Rhythm & Books

ไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวนานแล้ว วันนี้เลยขอพาเที่ยวแบบชิวๆ ให้เพื่อนๆ ได้ติดตามแล้วกัน
วันนี้ผมขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวมี่หัวหินนะครับ (ไม่ใกล้ไม่ไกลกรุงเทพฯ ด้วย)
(จริงๆ แล้วที่ไปหัวหิน จุดประสงค์หลักคือถ่ายภาพสำหรับงานแต่งงานของผม (prewedding))

สายๆ ของวันอาทิตย์ก่อนกลับ กรุงเทพฯ ผมก็ออกมาหาของกินรองท้องสักหน่อย
ซึ่งก็เลยขับรถมาหาของกินบริเวณถนนแนบเคหาสน์ และก็จอดรถลงมากินก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่แสนอร่อย
ในระหว่างที่กำลังกินอยู่ตาก็ชำเลืองไปเห็นร้านอยู่ร้านหนึ่งชื่อ “Rhythm & Books”
ก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นไอความเป็นร้านหนังสือ (ตามสไตล์ของคนที่ชอบหนังสือ)
ดังนั้นเมื่อกินข้าวเสร็จ ผมก็ไม่รอช้าที่จะต้องแวะเข้าไปชมสักหน่อย

แต่ก่อนจะเข้าไปในร้านก็ขอหาข้อมูลนิดนึงจากอินเทอร์เน็ต
ในที่สุดก็พบว่า “ร้านหนังสือร้านนี้เป็นของนักเขียนชื่อดังคนนึงนั่นเอง”

คุณภาณุ มณีวัฒนกุล (พี่บาฟ)

เจ้าของร้านหนังสือร้านนี้ คือ พี่บาฟ หรือ “คุณภาณุ มณีวัฒนกุล”
นักเขียนนักเดินทาง “คนทำสารคดี” ที่เดินทางไปเกือบทั่วโลก

พอเข้าไปก็เจอกับพี่เขาเลย พี่เขาต้อนรับดีมากๆ เข้ามาพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผม
ได้พูดคุยกันสักพักผมก็เลยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของวงการหนังสือ
และแง่คิดที่หนังสือมีให้ต่อผู้อ่าน
เช่น การอ่านการ์ตูนก็สามารถแทรกแง่คิดให้ผู้อ่านได้ด้วย

ภายในร้าน Rhythm & Books มีขายอะไรบ้าง
– หนังสือมือสอง
– สมุดทำมือ
– ของฝากจากหัวหิน
– ภาพวาด
– เพลง
– ฯลฯ

นอกจากนี้ยังผู้ถึงความเป็นมาของร้านหนังสือร้านนี้และแรงจูงใจที่พี่บาฟมีต่อร้านนี้ด้วย
ซึ่งสิ่งๆ นั่น คือ “ความรักในหนังสือ” นั่นเอง กลับมาย้อนคิดผมเองก็คงคล้ายๆ กัน คือ “รักในห้องสมุด”

“ทำอะไรก็ได้ที่ใจรัก มันจะทำให้เรามีความสุข และไม่รู้จักเหนื่อยหน่ายกับมัน”

แม้ในวันนี้ร้านของพี่บาฟอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากแต่ ผมเชื่อครับว่าสักวันร้านของพี่บาฟจะต้องมีคนมาเยี่ยมชมมากขึ้น
พี่บาฟที่บอกผมอีกว่า จริงๆ แล้ว กำลังใจอีกอย่างที่พี่บาฟประทับใจ คือ การได้พูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมชมร้านนั่นแหละ

ผมว่าถ้าบรรณารักษ์หลายๆ คนคิดแบบพี่บาฟ ผมว่าคงจะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ
เอาเป็นว่าวันนี้ก็ขอแนะนำร้านนี้ไว้เท่านี้แล้วกัน ใครที่ผ่านมาเที่ยวที่หัวหินก็อย่าลืมมาแวะที่นี่ด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ก็แอบประทับใจและสัญญาว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมมาหัวหิน ผมจะแวะมาที่ร้านหนังสือร้านนี้อีก
แล้วพบกันอีกนะครับ “Rhythm & Books” และยินดีที่ได้รู้จักอีกครั้งครับ พี่บาฟ

ที่อยู่ของ Rhythm & Books เลขที่4/56 ถนนแนบเคหาสน์ ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ 77110 หมายเลขโทรศัพท์ 0814729390
จุดสังเกตง่ายๆ คือ ร้านจะอยู่ในซอยที่เยื้องๆ กับร้านเค้ก บ้านใกล้วัง เข้าซอยมาจะเจอทาวน์เฮาส์หลังที่สาม

ชมภาพบรรยากาศภายในร้าน Rhythm & Books

[nggallery id=41]

[InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ

เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 1 ปีของการปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์ความรู้กินได้ ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (วันครบรอบ 24 กรกฎาคม) ผมจึงถือโอกาสสรุปผลการดำเนินงานและข้อมูลที่น่าสนใจตลอด 1 ปีที่ผ่านมาให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน

แต่ถ้าจะสรุปข้อมูลสถิติของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีแบบธรรมดาๆ (แบบตาราง หรือ แผนภูมิ) ผมว่ามันก็ไม่น่าสนใจเท่าไหร่ ดังนั้นผมจึงขอนำแนวความคิดของการจัดทำ Infographic ของต่างประเทศมาช่วยเพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอข้อมูลแบบใหม่ๆ

Infographic ที่เพื่อนๆ จะได้เห็นนี้ ผมเชื่อว่าเป็น Infographic แรกของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ใช้เวลาในการทำ 5 ชั่วโมง (ไม่ใช่แค่เรื่องออกแบบ และทำ graphic เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ด้วย)

เอาเป็นว่าผมคงไม่อธิบายอะไรมากนอกจากให้เพื่อนๆ ได้ดู Infographic นี้เลย

[หากต้องการดูรูปใหญ่ให้คลิ๊กที่รูปภาพได้เลยครับ]

เป็นยังไงกันบ้างครับกับการนำเสนอข้อมูลห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีของผม
เพื่อนๆ คิดเห็นยังไงก็สามารถเสนอแนะได้นะครับ ผมจะได้นำแนวทางไปปรับปรุงต่อไป

ปล. หากต้องการนำไปเป็นตัวอย่างหรือนำไปลงในเว็บไซต์หรือบล็อกอื่นๆ กรุณาอ้างอิงผลงานกันสักนิดนะครับ

ห้องสมุดสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) รับหัวหน้าบรรณารักษ์

วันนี้ผมมีข่าวตำแหน่งงานบรรณารักษ์มาฝากเพื่อนๆ อีกแล้วนะครับ ตำแหน่งนี้ผมก็สนใจเช่นกัน
ตำแหน่งงานที่ว่านี้ คือ Head of Library and Information Services Center
โดยผู้ที่ประกาศรับสมัคร คือ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม SIIT ของธรรมศาสตร์

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงาน
ชื่อตำแหน่งงาน : Head of Library and Information Services Center
สถาบันที่รับสมัคร :  สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)
จำนวนที่รับสมัคร : 1 ตำแหน่ง

รายละเอียดของงานที่ต้องทำก็คงจะประมาณเรื่องการจัดการต่างๆ ในห้องสมุด ตามสไตล์หัวหน้างานหล่ะครับ ทั้งงานจัดการต่างๆ และคิดโครงการต่างๆ ให้ห้องสมุด

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัคร
– จบปริญญาโทในสาขาบรรณารักษ์หรือห้องสมุด
– มีประสบการณ์ในงานห้องสมุดหรือศูนย์ข้อมูล
– มีความรู้ในเรื่องการค้นคืนสารสนเทศและระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
– มีทักษะในเรื่องของการจัดการและความเป็นผู้นำ
– มีมนุษยสัมพันธ์ดีและทักษะในการสื่อสารดี
– ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ดี
– ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารดีมาก (ทั้งเขียนและพูด)

เรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการผมว่าที่นี่น่าจะโอเคมากๆ เลย (เคยได้ยินว่าเป็นเช่นนั้น)
เอาเป็นว่าก็ต้องลองดูอ่ะครับ ลองสมัครไปดูกันนะครับว่าเป็นแบบนั้นจริงมั้ย

หากสนใจในตำแหน่งนี้ก็ง่ายๆ ครับ ส่งจดหมายแนะนำตัวและประวัติย่อและรูปถ่ายของเพื่อนๆ ในปัจจุบัน
ไปที่
ฝ่ายบุคคล สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ตู้ ปณ. 22 ปทฝ. ธรรมศาสตร์-รังสิต จ. ปทุมธานี 12121
โทร. +66 (0) 2564-3221-8, 2986-9103-9 แฟกซ์ +66 (0) 2986 9112-3
หรือส่งเมล์มาที่ personnel@siit.tu.ac.th

เอาเป็นว่าก็ขอให้เพื่อนๆ โชคดีนะครับ

แปลงชั้นหนังสือในบ้านให้เป็นห้องสมุดส่วนตัวด้วยโปรแกรม GCstar

เพื่อนๆ เคยเกิดอาการแบบนี้หรือไม่
“อยากรู้ว่าหนังสือที่อยู่ในชั้นหนังสือที่บ้านมีเรื่องอะไรบ้าง”
“หนังสือเยอะอยากให้เพื่อนยืม แต่พอเพื่อนยืมไปแล้ว ลืมไม่รู้ว่าใครยืมไป”
“หนังสือที่บ้านเยอะจนจำได้ไม่หมด แล้วดันซื้อหนังสือเข้ามาซ้ำอีก”

จริงๆ ยังมีอีกหลายสถานการณ์ครับ….เอาเป็นว่า วันนี้ผมมีวิธีแก้แบบง่ายๆ มาฝากครับ

วิธีแก้ที่ผมจะเสนอนี้ คือ การนำโปรแกรมจัดการข้อมูลหนังสือ มาใช้ครับ
ซึ่งโปรแกรมที่ว่านี้บนเว็บไซต์ก็มีหลายตัวให้เลือกนะครับ
แต่ที่ผมอยากนำเสนอก็คือ โปรแกรม GCstar ครับ (ผมเองก็ใช้อยู่)

โปรแกรม GCstar เป็นโปรแกรม Open source ตัวหนึ่งที่ใช้ในการจัดการหนังสือที่เรามีอยู่โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มประเภทหนังสือได้ตามต้องการ เช่น แบ่งตามหัวเรื่อง, แบ่งตามหมวดหมู่, แบ่งตามความชอบ ….. ซึ่งในโปรแกรมนี้เราสามารถเพิ่มข้อมูลของหนังสือได้ เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อปีพิมพ์ สำรนักพิมพ์ ISBN ….. ไปจนถึงการเขียนบันทึกแบบย่อๆ ของหนังสือเล่มนั้นๆ ได้ด้วย Review หนังสือได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีระบบบันทึกการยืมคืนแบบง่ายๆ ไว้ใช้อีก


ความง่ายของโปรแกรมนี้อีกอย่าง คือ ถ้าหนังสือของเพื่อนๆ เป็นหนังสือที่มีใน Amazon(หนังสือภาษาต่างประเทศ)
เพื่อนๆ สามารถดึงข้อมูลจาก amazon มาแสดงผลได้ในโปรแกรมด้วย โดยใช้หมายเลข ISBN หรือไม่ก็ชื่อเรื่องครับ

เว็บไซต์ที่สามารถดึงข้อมูลหนังสือให้มาเข้าโปรแกรม GCstar ได้ เช่น
– Amazon
– Adlibris
– ISBNdb
– InternetBookShop
– Mediabooks

และยังมีอีกหลายๆ ที่นะครับ

เราลองไปดูหน้าตาของโปรแกรมนี้แบบคร่าวๆ กันก่อนครับ


ภาพของโปรแกรมส่วนแสดงข้อมูลหนังสือ

เพื่อนๆ สามารถดาวน์โหลดโปรแกรม GCstar ได้จาก http://wiki.gcstar.org/en/Install

เอาเป็นว่าก็ลองโหลดไปใช้กันได้เลยนะครับ แล้วถ้าติดขัดอะไรก็สอบถามผมมาได้อีกที
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อนนะ อิอิ แล้วจะหาโปรแกรมดีๆ มาแนะนำอีกนะครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จาก http://www.gcstar.org/