บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า บทความนี้ผมเขียนเพื่อร่วมสนุกในบล็อก Gotoknow ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ จาก gotoknow มาพบบทความนี้ ขอให้เข้าใจว่าบทความนี้เป็นของ “นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์” หรือ “Projectlib” หรือ “km_library” ใน Gotoknow นั่นเอง

ใน Gotoknow ให้เขียนเรื่อง “บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” โดยตอบคำถามดังต่อไปนี้

– ห้องสมุดควรมีบริการอะไรบ้าง
– ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่
– บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร
– เทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
– บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่่่างไร
– บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป
– ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เอาเป็นว่าผมขอตอบคำถามทีละข้อแล้วกันนะครับ
ปล. ผมขอตอบทีละคำถาม (ต่างจากบล็อกของผมใน Gotoknow)

1. ห้องสมุดควรมีบริการอะไรบ้าง

ตอบ – ภาพเดิมๆ ของเราเกี่ยวกับห้องสมุด คือ สถานที่ที่ให้บริการเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ การสืบค้นหนังสือ ทรัพยากรสำคัญของห้องสมุดคือหนังสือ แต่โลกได้เปลี่ยนไปมากเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเราค่อนข้างเยอะ ห้องสมุดควรบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าเพื่อคลายข้อสงสัยให้กับผู้ใช้บริการ ควรบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้าให้ผู้ที่ต้องการข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยคำตอบและข้อมูลที่ให้กับผู้ใช้บริการบางทีอาจไม่ได้เก็บอยู่ในรู้แบบหนังสือก็ได้ เช่น บางองค์ความรู้อยู่ในตัวบุคคล ห้องสมุดก็เชิญเขามาพูดหรือเป็นวิทยากรก็ได้ ห้องสมุด คือ พื้นที่ที่ให้บริการข้อมูล ความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

2. ห้องสมุดควรมีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้หรือไม่

ตอบ – ควรมี เพราะห้องสมุดคือสถานที่ที่รวบรวมความรู้ ซึ่งไม่ได้มีแค่หนังสือเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะเป็นสถานที่ที่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ต่างๆ ห้องสมุดไม่สามารถเก็บหนังสือได้ทุกเล่มบนโลก แต่ห้องสมุดจะเป็นคนบอกให้คุณรู้ว่าที่ไหนมีความรู้อะไร ที่ไหนมีข้อมูลอะไร และที่ไหนที่จะแก้ข้อสงสัยที่คุณอยากรู้ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ กระบวนการหนึ่งที่ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เริ่มจากคนที่ทำงานในห้องสมุด ผู้ใช้บริการ …..

3. บรรณารักษ์ควรมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร

ตอบ –บรรณารักษ์ไม่ใช่แค่คนที่นั่งเฝ้าหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่บรรณารักษ์จะต้องรู้จักหนังสือในห้องสมุดทั้งหมดด้วย การที่ผู้ใช้บริการมาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ แล้วบรรณารักษ์สามารถเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ได้รอบห้องสมุดนับเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นมากๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนบทบาทของบรรณารักษ์ให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือก็ยิ่งดี เช่น เมื่อคนเข้ามาในห้องสมุดแล้วต้องการรู้วิธีการรักษาสุขภาพ บรรณารักษ์ก็จะแนะนำหนังสือพร้อมทั้งบอกได้ว่าเล่มไหนอ่านดี เล่มไหนอ่านง่าย ช่วยชี้นำทำให้เกิดการเรียนรู้และความสนใจในการอ่านหนังสือของผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

4. เทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลควรปรับเปลี่ยนหรือไม่

ตอบ – ควรเปลี่ยนอย่างยิ่ง การสืบค้นหนังสือในห้องสมุดอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ผมว่าไม่พอแล้วหล่ะครับ การค้นหาหนังสือแบบเดิมๆ คือ การค้นชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง สถานที่จัดเก็บ โลกที่ผมอยากเห็นคือการสืบค้นข้อมูลของหนังสือที่นำไปสู่บทวิจารณ์หนังสือ (ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากที่อ่านหนังสือ ผมว่ามันมีค่าไม่ต่างจากเนื้อเรื่องในหนังสือเลย) หรือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับระบบสืบค้นหนังสือ เช่น สามารถกำหนดคำสืบค้นให้กับหนังสือที่เราสืบค้นได้ (การที่บรรณารักษ์เป็นคนกำหนดคำสืบค้นต่างๆ ให้หนังสือ บางครั้งทำให้ผู้ค้นสืบค้นไม่เจอ เพราะคำศัพท์ที่บรรณารักษ์นำมาใช้มาจากตำราการให้หัวเรื่อง)

5. บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในห้องสมุดน่าจะเป็นอย่่่างไร

ตอบ – ห้องสมุดแบบเดิมๆ ต้องมีบรรยากาศเงียบสงบ ใครส่งเสียงดังก็เหมือนคนทำผิดร้ายแรง จริงๆ แล้วสำหรับผมการที่ห้องสมุดมีเสียงบ้างไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะการที่คนได้อ่านหนังสืออาจมีเรื่องที่สงสัยหรือเรื่องที่ต้องอภิปรายกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องสมุดก็จำเป็นที่ต้องใช้เสียง ไม่เคยมีใครบอกเลยนะครับว่า การเรียนรู้ต้องนั่งเงียบๆ แล้วจะเรียนรู้ได้ดี (สำหรับผมการเรียนรู้เกิดจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และห้องสมุดควรเป็นสถานที่เอื้อให้เกิดสิ่งนี้)

6. บรรณารักษ์ควรเป็นผู้ที่คอยช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อะไรบ้างให้แก่ผู้เรียนหรือประชาชนทั่วไป

ตอบ –อย่างแรกที่บรรณารักษ์ควรเป็น คือ การแนะนำเรื่องกระบวนการในการเปลี่ยนความรู้ อ่านหนังสือเสร็จให้ผู้ใช้บริการลองเขียนวิจารณ์หนังสือ หรือ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ใช้บริการอ่าน ผมว่าคนเราถ้าได้พูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันมันทำให้เรายิ่งรู้มากขึ้นด้วย

7. ห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยควรจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตอบ –ปัจจุบันนี้ห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยบางแห่งก็เปิดให้บริการแก่บุคคลภายนอกด้วย (ประชาชนทั่วไป) ซึ่งการให้บริการความรู้ผมว่าทั้งสองแบบเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันที่เนื้อหาสาระมากกว่า เช่นในห้องสมุดประชาชนก็เน้นหนังสือที่ผู้ใช้บริการอ่านง่าย ไม่ซับซ้อนอะไรมาก ส่วนห้องสมุดโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยก็จะมีเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นและเนื้อหาเชิงวิชาการที่มากขึ้น

เอาเป็นว่าผมขอตอบแบบนี้ตามความคิดเห็นของผมนะ
นี่แหละ บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ผมอยากเห็น

1 วัน 1 ภาพ เพื่อสื่อความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย วันนี้ผมขอนำเสนอแนวคิดนึงที่ผมนำมาใช้กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook ได้สักระยะนึงแล้ว นั่นคือ “การจัดทำภาพข้อความเพื่อสื่อถึงความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่” วันนี้ผมขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านสักหน่อย

1 ในความคิดและความตั้งใจของผมในปีนี้ คือ จะต้องโพสภาพข้อความที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ให้ได้วันละ 1 ภาพ

โดยรูปภาพที่ผมนำมาโพสนี้ ผมไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรที่มันซับซ้อนเลย
แถมเป็นโปรแกรมฟรีอีกต่างหาก นั่นคือ โปรแกรม “Line Camera” นั่นเอง
และต้องบอกอีกว่าบางครั้งก็ใช้โปรแกรมง่ายๆ อย่าง Microsoft Powerpoint นั่นเอง

สิ่งที่ผมจะบอก คือ ความง่ายของมัน
โปรแกรมที่ผมพูดถึงข้างต้นมันง่ายมากๆ
แต่เพื่อนๆ หลายคนคิดไม่ถึง

ผมขอยกตัวอย่างภาพที่ผมทำจาก Microsoft Powerpoint ภาพ Infographic หลายๆ ตัวที่ผมเคยโพสไปแล้วในบล็อกนี้

(ลองอ่านเรื่อง Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ หรือ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ)

เรื่องโปรแกรมบอกตรงๆ ครับมันไม่ยาก แต่เรื่องยาก คือ การนั่งคิดประโยคโดนๆ ที่จะสื่อสารออกมาในแต่ละวัน บางครั้งต้นใช้เวลาคิดเป็นชั่วโมงเลย บางทีก็คิดได้หลายๆ เรื่องพร้อมกัน

เมื่อได้ข้อความแล้วก็นำมาแยกประโยคและค่อยๆ พิมพ์ลงในโปรแกรมและจัดให้มันดูสวยงาม
เพียงแค่นี้ผมก็มีรูปภาพข้อความเก๋ๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วครับ

ลองมาดูกันตั้งแต่วันที่ 1 – 6 มกราคม 2556 ผมโพสรูปภาพอะไรไปแล้วบ้าง

วันที่ 1 มกราคม 2556

วันที่ 2 มกราคม 2556

วันที่ 3 มกราคม 2556

วันที่ 4 มกราคม 2556

วันที่ 5 มกราคม 2556

วันที่ 6 มกราคม 2556

เอาเป็นว่าพอจะมองเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับ
ไอเดียนี้ทำให้คนเข้ามาที่เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยมากขึ้นเยอะมากๆ เลย
ผมเลยอยากให้เพื่อนๆ ลองทำกันดู อย่าคิดอะไรยากครับ ณ จุดๆ นี้

นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)

เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง

ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้

ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง

ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน

วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย

เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์

พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด

[nggallery id=63]

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิลสู่การประยุกต์ในห้องสมุด

เมื่อวันก่อนที่ผมแนะนำหนังสือ “ประสบการณ์แอปเปิล (The Apple Experience)” ซึ่งหนังสือเล่มนี้อย่างที่ผมบอกอ่ะครับว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย วันนี้ผมจึงขอนำเสนอสักเรื่องที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเข้ากับงานห้องสมุดและบรรณารักษ์


โดยตัวอย่างที่ผมยกมานี้ เป็นเพียงบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “ทำตามการให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล” อยู่ในภาคที่สอง

มองในมุมที่ “แอปเปิล” เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจดังนั้นเรื่องการให้บริการลูกค้ามีความสำคัญมากๆ ซึ่งการที่ห้องสมุดอยู่ในฐานะของการให้บริการความรู้นั้น ผมก็มองว่าถ้าเราเน้นการให้บริการแบบเชิงรุกและเน้นผู้ใช้บริการ มันก็จะทำให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดประทับใจเช่นกัน (บทความนี้ผมว่าบรรณารักษ์ที่อยู่ในฝ่ายบริการและเคาน์เตอร์ควรอ่านมากๆ)

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล (APPLE) มีดังนี้
A – Approach – เข้าไปหาลูกค้าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบส่วนตัว
P – Probe – สอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างสุภาพ
P – Present – นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านในวันนี้
L – Listen – รับฟังและแก้ไขปัญหาตลอดจนความกังวลของลูกค้า
E – End – จบด้วยการร่ำลาอาลัยและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่

เพื่อนๆ เคยเจอประโยคเล่านี้หรือไม่
“โอกาสหน้าเชิญใหม่นะครับ / ค่ะ” “รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มหรือเปล่าครับ / ค่ะ”
ประโยคส่งท้ายและเชื้อเชิญลูกค้าให้กลับมา สิ่งนี้แหละที่ห้องสมุดน่าทำบ้าง

“แอปเปิล” นำเสนอมาบางข้อห้องสมุดก็ทำอยู่แล้ว เอาเป็นว่าลองมาดูกันดีกว่าครับว่าถ้าจะนำมาใช้ จะใช้อย่างไรดี

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล (APPLE) สู่การประยุกต์ใช้ในห้องสมุด

ข้อที่ 1 เข้าไปหาลูกค้าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบส่วนตัว
การสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการเมื่อแรกพบเป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยเบื้องต้นแล้วรอยยิ้มถือว่าสำคัญมากๆ เมื่อผู้ใช้เดินเข้ามาในห้องสมุดการทักทายผู้ใช้บริการ เช่น “สวัสดีครับ ห้องสมุดยินดีให้บริการ” “ห้องสมุดยินดีต้อนรับครับ” คำทักทายแบบเป็นกันเองจะทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ไม่เครียดและสามารถพูดคุยและตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ลองคิดนะครับ “ถ้าเราเป็นผู้ใช้บริการแล้วเดินเข้ามาที่ห้องสมุดเจอบรรณารักษ์ทำหน้ายักษ์ใส่เราจะกล้าถามอะไรมั้ย” เอาเป็นว่าการสร้างความประทับใจเบื้องต้นของผมที่จะแนะนำคือ “รอยยิ้ม” ครับ

ข้อที่ 2 สอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างสุภาพ
ผู้ใช้บริการบางท่านเมื่อเข้ามาที่ห้องสมุดเขาอาจจะต้องการความรู้หรือคำตอบอะไรสักอย่าง การทีบรรณารักษ์เป็นคนเปิดคำถามถามผู้ใช้บริการ ผมว่ามันก็สมควรนะครับ ผู้ใช้บริการบางท่านเป็นคนขี้อาย (ผมก็เป็นนะไม่กล้าเดินมาถามบรรณารักษ์) บรรณารักษ์ที่ต้อนรับจากข้อที่ 1 เมื่อยิ้มแล้วลองถามผู้ใช้บริการดูว่า “ต้องการมาค้นเรื่องอะไรครับ” “อยากทราบเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือปล่าว” ผู้ใช้ก็จะบอกความต้องการกับเราเอง อันนี้ผมว่าน่าสนใจดีครับ

ข้อที่ 3 นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านในวันนี้
ถ้าผู้ใช้บริการถามถึงสิ่งที่ไม่มีในห้องสมุด บรรณารักษ์สามารถหาข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ใช้บริการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น ผู้ใช้บริการต้องการงานวิจัยจากต่างประเทศแล้วห้องสมุดของเราไม่มี และพอจะรู้ว่าในฐานข้อมูล สกอ. ก็สามารถแนะนำหรือแนะให้ไปค้นที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็ได้ สรุปง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์ห้ามตอบว่าไม่รู้หรือไม่ทราบเด็ดขาด แม้แต่เรื่องที่ไม่รู้จริงๆ ก็ต้องค้นคำตอบจากอินเทอร์เน็ตหรือบอกกับผู้ใช้ว่าจะหาคำตอบมาให้ในโอกาสหน้า

ข้อที่ 4 รับฟังและแก้ไขปัญหาตลอดจนความกังวลของลูกค้า
ผู้ใช้บางท่านอาจจะไม่รู้จริงๆ ว่าต้องการหนังสืออะไร เช่น พ่อแม่มือใหม่อาจต้องการคำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูก บรรณารักษ์ควรจะรับฟังปัญหาและสามารถแนะนำหนังสือที่มีในห้องสมุด หรือแนะนำแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมให้กับพ่อแม่มือใหม่เหล่านั้นได้ ข้อนี้ต้องบอกตรงๆ ครับว่า บรรณารักษ์ยุคใหม่ไม่ใช่แค่คนค้นหนังสือตามที่ผู้ใช้ต้องการแล้ว แต่ต้องสามารถเลือกหนังสือที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้

ข้อที่ 5 จบด้วยการร่ำลาอาลัยและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่
เมื่อทักทายแล้วก็ต้องมีการบอกลาประโยคบอกลาผู้ใช้บริการและเชิญชวนให้เขากลับมาใช้บริการใหม่ อาจจะเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ผมว่ามันเป็นการใส่ใจรายละเอียดที่ผู้ใช้บริการก็ต้องการเช่นกัน

สรุปขั้นตอนจากเรื่องนี้ (การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิลสู่การประยุกต์ในห้องสมุด)
ทักทายต้อนรับ – ถามความต้องการ – แนะนำหนังสือให้ผู้ใช้ – แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ – อำลาและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่

เอาเป็นว่าบางข้อผมว่าเพื่อนๆ ก็ทำอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ลองเอามาปรับและเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับบริบทของห้องสมุดดูแล้วกันนะครับ

กิจกรรมแจกหนังสือ : เว็บไซต์ห้องสมุดควรมีอะไรเพิ่มเติม

เรื่องของเว็บไซต์ห้องสมุดเป็นเรื่องที่ผมถูกถามบ่อยมากๆ ว่า “เว็บห้องสมุดควรจะมีอะไรนอกเหนือจากความสามารถในการสืบค้นหนังสือของห้องสมุด” ซึ่งผมเองเวลาไปบรรยายที่ไหนก็ตาม ผมก็จะยกเรื่องนี้มาพูดเช่นกัน …

ล่าสุดผมเลยจัดกิจกรรมนึงขึ้นมา คือ “กิจกรรมที่ให้เพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ช่วยกันเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวกับเว็บไซต์ห้องสมุด” โดยคำถามมีอยู่ว่า “ท่านคิดว่าเว็บไซต์ห้องสมุดควรมีอะไรอีก นอกจากการสืบค้นหนังสือในห้องสมุด” และใครที่ตอบได้ถูกใจผมมากที่สุด ผมจะมอบหนังสือให้เป็นรางวัล

เอาหล่ะครับ เรามาดูคำตอบของเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์กันดีกว่า

คำตอบจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม Librarian in Thailand

สุวิมล แสงม่วง – มีการแนะนำหนังสือที่น่าอ่าน คะ
Itj Pally Punyoyai – มีแฟนเพจห้องสมุดดีมั๊ยค่ะ ประมาณ แฟนพันธ์แท้ห้องสมุดอ่ะค่ะ
Aobfie Thiyaphun –  มีชีวิตชีวา..แลดูน่าใช้ อยากรู้เรื่องใดถามได้ทุกครา..(มีบรรณารักษ์ออนไลน์..
คอยให้ความช่วยเหลือและตอบคำถามค่ะ)
MineMim BabyBee – ความรู้ทั่วไปค่ะ ^^
Maymon Unratana – มีข่าวสารกิจกรรมให้ผู้ใช้ได้ร่วมสนุก เช่น กิจกรรมตอบคำถามในการสืบค้นฐานข้อมูลต่างๆ มีแฟนเพจเฉพาะของห้องสมุด แนะนำหนังสือใหม่ บทความแนะนำการสืบค้น วิดีโอแนะนำการใช้ห้องสมุด เป็นต้นค่ะ
Prissana Sirikul – ประชาสัมพันธ์หนังสือ – กิจกรรมห้องสมุดค่ะ
Podjamand Boonchai – เว็บควรมีเกมส์ชิงรางวัลอย่างนี้เยอะๆค่ะ
เมย์ เมย์ – ข่าวสารที่ทันสมัย..และกิจกรรมต่างๆภายในห้องสมุดค่ะ.
Cybrarian Cyberworld – แนะนำหนังสือใหม่ แนะนำบริการและแหล่งเรียนรู้ภายในห้องสมุด ที่สำคัญที่สุด แนะนำบุคลากรของหน่วยงานห้องสมุดด้วย
กุ้ยช่าย ยิ้มแป้นเล่น – มีข่าวสารแวดวงห้องสมุดอื่นๆ
นม ยัง อึน – นำเสนอข่าวที่อยู่ในกระแสปัจจุบันที่เป็นประโยชน์ค่ะ ลักษณะคล้ายๆข่าวกฤตภาคอะไรประมาณนี้
Wasabi Srisawat – แนะนำหนังสือที่ถูกยืมมากที่สุด20อันดับของแต่ละเดือน และหนังสือดีที่ไม่ค่อยมีคนยืม จะได้กระตุ้นการอ่านมากขึ้น
Yaowaluk Sangsawang Nontanakorn – เว็บไซต์ของห้องสมุด ตามความคิดนะคะ ควรมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับห้องสมุดในเรื่องระเบียบ กฎ นโยบาย ในการเข้าใช้ห้องสมุด บุคลากรห้องสมุด และเบอร์โทรติดต่อ หรือ e-Mail ที่ติดต่อห้องสมุดได้สะดวก รายการหนังสือใหม่ รายการฐานข้อมูลที่มีให้บริการ เพื่อเรียกความสนใจ ขั้นตอนการสมัครสมาชิกและ ขั้นตอนการใช้งานฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ห้องสมุดมีให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้ทราบในเบื้องต้น
Path Ch – ห้องสมุดสามารถเก็บทุกสิ่งทุกอย่างได้ เว็บไซต์น่าจะมีการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่างๆที่สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในกรณีที่ห้องสมุดไม่มีข้อมูลนั้นๆ
Pimolorn Tanhan – มีรูปบรรณารักษ์สวยๆ น่ารักๆ มาเป็น Pretty แนะนำการใช้ห้องสมุด การสืบค้นข้อมูลต่างๆ ก็ดีนะคะ
Kru-u Tata – อยากได้งานวิจัยที่เกี่ยวกับห้องสมุดด้วยค่ะ
Lutfee Himmamad – ทำเกมส์ออนไลน์ที่มีทั้งสาระและความบันเทิง ที่ทำให้คนเล่นเรียนรู้การใช้ห้องสมุดได้ด้วยตนเอง ครับ
Tipbha Pleehajinda – เป็นช่องทางเข้าสู่แหล่งสารสนเทศที่มีประโยชน์
วราวรรณ วรรณ ส้ม – อยาก … มีประกาศหรือข้อมูลและบริการของห้องสมุดที่ใช้ภาษาเชิงโฆษณา ภาษาโฆษณาทั้งวจนภาษาและอวัจนะภาษาให้เกิด impact แก่ผู้อ่านให้มากกว่าการประกาศหรือป้ายธรรมดาๆ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุด เช่นโฆษณา งานหนังสือแห่งชาติ ขายหนังสือ ขายอุปกรณ์+ebook computer tablet ฯลฯ
วราวรรณ วรรณ ส้ม – อยาก … มีนักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด และจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
วราวรรณ วรรณ ส้ม – อยาก … มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันเอง รวมถึงแลกเปลี่ยนกับห้องสมุดด้วย เช่น หนังสือที่อ่านจบแล้วก็นำมาแลกกันอ่าน หนังสือที่คิดว่าเราไม่ใช้แล้วก็นำมาแบ่งปันคนอื่น มีคนอีกมากมายที่ต้องการหนังสือของเรา หนังสือที่ห้องสมุดมีเกินต้องการ … นำมาแบ่งปันแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงการแลกเปลี่ยน/พูดคุยแสดงความคิดเห็น มี Discussion Group ฯลฯ
บรรณารักษ์ เจน – น่าจะมีเว็บให้ผู้ใช้บริการโหวตห้องสมุดและบรรณารักษ์ จะได้กระตุ้นให้พวกเราออกตัวแรงกันขึ้นหน่อย
Wilaiwan Runra – เล่าเรื่องหนังสือ แนะนำหนังสือ เล่านิทาน หน้าเว็บ เลือกคลิปรักการอ่านแชร์ หรือไม่ก็คลิปความรู้ที่คนทั่วไปไม่รู้มาแชร์ เป็นบริการที่ควรให้แก่ผู้อ่านที่ไม่อยากค้นหา แค่เปิดเว็บก็เจอเรื่องที่ใช่ก็ โอนะค่ะ
Kanokwan Buangam – เว็บไซต์ห้องสมุดนอกจากให้สืบค้น แนะนำหนังสือ แนะนำแหล่งสืบค้นแล้ว อยากให้มีแนะนำ สุดยอดบรรณารักษ์บ้างค่ะ เช่น ถ้าจะปรึกษาค้นข้อมูลด้านนี้ก็ไปคุยพี่คนนั้น อะไรประมาณนี้

คำตอบจากเพื่อนๆ ในหน้าเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย

Chairach Plewma – Blog เรื่องดี ๆ ที่อยากเล่า และ สื่อ ict ให้ดาวน์โหลด
Nadcha Thanawas – แนะนำหนังสือประจำสัปดาห์ วิดีโอแนะนำห้องสมุด และก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับห้องสมุดคร้า
Aom P. Chan – ช่องทางที่สามารถให้ผู้ใช้บริการมีfeedback มาที่ห้องสมุด
Kornsawan Chonphak – มีข้อมูลดีดี เช่น กฤตภาคในรูปแบบ e-book
Saowapa Sarapimsakul – ถาม-ตอบ กับuser คะ
Loveless Taew – มีลิงค์เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องคะ
Aun Un – บล็อกลิงค์หัวข้อต่างๆเสมือนเป็นหนังสือแต่ละชนิด
Jira Ping – แนะนำหนังสือดีที่น่าอ่านหรือ หนังสือที่ได้รับรางวัลต่างๆ
Piw Piw Arsenal – 1.สามารถ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2.ให้คะแนนหรือเรตติ้งของหนังสือ 3.มีการแชร์ผลการสืบค้นไปยัง Social Network คะ
อาร์ต วชิร ขจรจิตร์จรุง – มีการเช็คสถานะของสมาชิก
Piw Piw Arsenal – เว็บห้องสมุดควรนำ เทคโนโลยี Web2.0 และ Social Network มาใช้ สาหรับเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณค่าของเนื้อหา เช่น สามารถวิจารณ์ (reviews) ให้คะแนนเพื่อจัดอันดับหนังสือ (ratings) การกำหนดกลุ่มข้อมูล (tagging) ที่น่าสนใจ ทำการบอกรับ (subscribe) RSS Feeds ซึ่งจะแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ เมื่อมีทรัพยากรใหม่เข้ามายังห้องสมุด ทำการแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจ (sharing) ไปยังกลุ่มSocial Network พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ใช้ด้วยการแสดงผลแบบ Facet นอกจากนี้ผู้ใช้บริการสามารถจัดเก็บผลการสืบค้นด้วยการ Print, E-mail, Save หรือเรียกประวัติการสืบค้นคืนโดย อัตโนมัติเมื่อผู้ใช้ได้เข้าสู่ ระบบอีกครั้ง รวมถึงการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้ใช้ Upload ภาพของ ตนเอง แก้ไขข้อมูลส่วนตัว หรือขอใช้บริการอื่น ๆ ผ่านทาง Mobile Chamo Smart Device Interface ค่ะ
ห้องสมุด บุญเลิศอนุสรณ์ – กิจกรรมตอบคำถามอาเซียนประจำสัปดาห์
Pearlita Kled – หาข้อมูลที่ต้องการได้ง่าย มี Link แนะนำฐานข้อมูล หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางในการแนะนำหนังสือ หรือเสนอแนะความคิดเห็นต่าง ๆ
Jlo Home – บริการสารสนเทศท้องถิ่น
Sophit Sukkanta – 1. สถิติแสดงจำนวนหนังสือล่าสุดที่ตนเองยืมว่าได้จำนวนกี่เล่มแล้วตลอดอายุการเป็นสมาชิก แสดงถึงความภาคภูมิใจที่มีต่อนิสัยรักการอ่าน 2. สถิติแสดงรายชื่อหนังสือที่ถูกยืมมากที่สุด 10 อันดับ เพื่อแสดงถึงความต้องการและค่านิยมที่มีต่อหนังสือแต่ละเล่ม
Atchara Natürlich – บริการจองหนังสือใหม่ มีเดียใหม่ๆ ล่วงหน้าค่ะ (ไม่ทราบว่าที่เมืองไทยมีหรือยังนะคะ)
Titirat Chackaphan – ควรมีหน้าเว็ปที่สามารถตอบคำถามของผู้ที่สนใจ หรือไม่เข้าใจ เกี่ยวกับห้องสมุดค่ะ เพราะบางคนยังไม่เข้าใจว่าห้องสมุดมันคืออะไร หรือบางครั้งบรรณารักษ์เองยังไม่เข้าใจถ่องแท้เลยค่ะ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ให้คนเก่งๆ มาช่วยตอบคำถามให้น่ะค่ะ
Khunjom Akk – ประโยค คำคม สาระสั้นๆ จากหนังสือ / นิตยสาร เล่มต่างๆค่ะ
Chaiyaboon Bonamy – แนะนำเกี่ยวกับห้องสมุด เช่นห้องสมุดในดวงใจ , ความประทับใจเกี่ยวกับห้องสมุด
Sukanya Leeprasert – กิจกรรมของห้องสมุด และการรับคำเสนอแนะคำติชม รวมทั้งการดำเนินงานแก้ไขเรื่องต่างๆ
หวาน เย็น – นิทรรศการออนไลน์ เพื่อช่วยตัดปัญหาด้านเวลา สถานที่จัดงานและงบประมาณ
Aom P. Chan – ข่าวสารความเคลื่อนไหวของห้องสมุดที่น่าสนใจ รวมถึงรายการหนังสือใหม่ วารสารใหม่ และอะไรใหม่ๆในห้องสมุด
Jirawan Tovirat – กิจกรรมส่งเสริมการอ่านค่ะ
Phuvanida Kongpaiboon – บรรณารักษ์หน้าตาสดใสเต็มใจให้บริการทุกเรื่องพร้อมจักกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่กระตุ้นให้เกิดนิสัยรักการอ่านคะ
Emorn Keawman – เกมส์ค้นหา หรือไม่ก็เกมส์จับผิดภาพ 555 แบบว่าชอบอะ
Jib Wanlaporn – การ์ตูน animation แนะนำการใช้ระบบสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศภายในห้องสมุด หรือ สร้างหนังสั้นเป็นเรื่องราว การแนะนำการสืบค้นหนังสือภายใน หส. การเข้าห้องสมุดแนวสร้างสรรค์ นำกราฟิกเข้ามาช่วยดึงดูดใจผู้ใช้ คะ
Agogo Dogclub – มันต้องแนะนำหนังสือซิเพราะบางทีเราชอบน่ะแต่นึกไม่ออกว่าเรื่องไหนมันสนุก
Niramon Leekatham – แสดง pop-up New Window ขึ้นมาปรากฎเป็นสิ่งแรก ตอบคำถามสั้น ๆ ก่อนว่า “เหตุใดจึงเข้า Web ห้องสมุดนี้” หรือ “คุณรู้จักห้องสมุดนี้จากใคร” เพราะคิดว่า เป็นการทราบช่องทางการตลาดสำหรับห้องสมุด สามารถตอบโจทย์อื่นในยุคเทคโนโลยีที่ท่วมท้นปัจจุบัน
Thip Toh – ทำเป็นแหล่งชอปปิ้ง หนังสือ สื่อต่างๆ สร้างบรรยากาศให้น่าเข้าใช้บริการ เจ้าหน้าที่มีจิตให้บริการ
Wiramol Chanpoo – เป็นแหล่งชอบปิ้งหนังสือและเน้นบรรยากาศแบบห้างมีทุกอย่างมีมุมต่างๆมีร้านจำหน่ายหนังสือที่ใหม่เน้นความหลากหลาย
Watcharee Jaithai – เป็นเหมือนบ้าน เหมือนคาเฟ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เปิด 24 ชั่วโมง
JoyLis Isaya Punsiripat – อยากให้เว็บไซต์ห้องสมุดมีความน่าสนใจเหมือนเว็บไซต์ทั่วไปๆเล่น kapook, sanook เป็นเว็บที่ทุกคนเข้ามาเป็นประจำเมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ค่ะ แต่ในฐานะที่เป็นเว็บห้องสมุดก็อยากจะให้มีการแนะนำหนังสือ บอร์ดสำหรับพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ รีวิวหนังสือ มีกิจกรรมตอบคำถาม มีสาระที่เป็นเกร็ดความรู้ต่างๆ นอกจากการเป็นแค่เว็บที่ทุกคนเข้ามาสำหรับสืบค้นหนังสือเพียงอย่างเดียว นอกจากมีข้อมูลพื้นฐานต่างๆที่เกี่ยวกับห้องสมุด เช่น ประวัติ ระเบียบห้องสมุดค่ะ เพราะเราเป็นห้องสมุด เว็บห้องสมุดก็ควรเป็นแหล่งความรู้ต่างๆที่ทุกคนสามารถหาความรู้ได้จากเว็บไซต์ด้วยค่ะ ^^

คำตอบที่ถูกใจผมมากที่สุด มีอยู่ 2 คน คือ …..
1. “อยาก … มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกันเอง รวมถึงแลกเปลี่ยนกับห้องสมุดด้วย เช่น หนังสือที่อ่านจบแล้วก็นำมาแลกกันอ่าน หนังสือที่คิดว่าเราไม่ใช้แล้วก็นำมาแบ่งปันคนอื่น มีคนอีกมากมายที่ต้องการหนังสือของเรา หนังสือที่ห้องสมุดมีเกินต้องการ … นำมาแบ่งปันแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงการแลกเปลี่ยน/พูดคุยแสดงความคิดเห็น มี Discussion Group ฯลฯ” ความคิดเห็นนี้โดย “วราวรรณ วรรณ ส้ม
2. “1.สามารถ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2.ให้คะแนนหรือเรตติ้งของหนังสือ 3.มีการแชร์ผลการสืบค้นไปยัง Social Network คะ” ความคิดเห็นนี้โดย “Piw Piw Arsenal

หนังสือที่จะแจกในเดือนนี้ "ประสบการณ์แอปเปิล"

ผู้ที่โชคดีได้รับหนังสือจากผม คือ คุณ “วราวรรณ วรรณ ส้ม” และ “Piw Piw Arsenal
เอาเป็นว่าส่งชื่อ-นามสกุลจริง สังกัดใด ที่อยู่ มาที่ dcy_4430323@hotmail.com ด้วยครับ

ปล. ว่าจะแจกแค่เล่มเดียว แต่คิดอีกทีแจกกลุ่มละ 1 เล่มดีกว่า กลายเป็น 2 รางวัลในแต่ละเดือน

สำหรับกิจกรรมแบบนี้ผมคิดว่าจะจัดอีกและจะจัดทุกเดือน
กติกาและการตัดสินจะมีกฎที่มากขึ้นเรื่อยๆ ยังไงก็ฝากติดตามกันต่อด้วยนะครับ

บล็อกในวันนี้ผมยกความดีความชอบให้ทุกท่านที่ร่วมสนุกทุกคน
หวังว่าทุกท่านจะเข้ามาร่วมสนุกกันใหม่ในเดือนหน้าด้วยนะครับ

เว็บไซต์ห้องสมุดจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าท่านคิดและจะปรับปรุงมันหรือไม่
อยู่ที่ตัวท่านแล้วหล่ะครับ…

การดำเนินธุรกิจห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องหลังเกิดปัญหาวิกฤต

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปีที่แล้ว มหาอุทกภัยปี 54 ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานต่างๆ มากมาย ห้องสมุดหลายแห่งต้องสูญเสียทรัพยากรสารสนเทศ บางแห่งอาจไม่ได้สูญเสียทรัพย์สินแต่ก็ไม่สามารถให้บริการผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นบทเรียนนี้จึงนำไปสู่การหาแนวทางป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยถ้าเรามีแผนที่ดี ห้องสมุดก็จะสามารถพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

ข้อมูลการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
ชื่องาน : การสร้างแผนดำเนินธุรกิจห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดปัญหาวิกฤต  (Business Continuity Plan /BCP)
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
วันที่จัด : วันที่  13 – 14  ธันวาคม 2555

การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้เป็นการจัดโดยความร่วมมือของหน่วยงาน 5 หน่วยงาน คือ
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต
– ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
– สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศรีปทุม


แนวคิดการบริหารจัดการเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในภาวะวิกฤต หรือ Business Continuity Management (BCM) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับหน่วยงาน ยามที่เกิดวิกฤติหรือปัญหาหากเรามีแผนในการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนได้ต่อไป ห้องสมุดเองก็ควรมีแผนนี้ไว้ใช้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

หัวข้อที่น่าสนใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
– เทคโนโลยีกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ
– เจาะลึกแผนบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่องขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ : กรณีศึกษาของ CPALL
– มุมมองแผน BCP 5 สถาบัน
– การประเมินความเสี่ยงและแผนการจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Risk Assessment & Business Continuity Planning)

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับหัวข้อที่น่าสนใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดครั้งนี้
น่าสนใจมากๆ เลยนะครับ แถมวิทยากรแต่ละท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น

การประชุมเชิงปฏิบัติการห้องสมุดไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนด้วยนะครับ แต่มีเงื่อนไขนิดนึง คือ
– สงวนสิทธิผู้เข้าร่วมประชุมฯ สถาบันละ 2 ท่าน
– รับสมัครจำนวนจำกัด 150 ท่าน
– ปิดรับสมัครการลงทะเบียนออนไลน์ ภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2555

ใครที่ได้ไปงานนี้อย่าลืมเอาเรื่องมาเล่าให้ผมฟังด้วยน้า
หรือถ้าเป็นไปได้เจ้าภาพที่จัดงานเก็บเอกสารงานสัมมนาในครั้งนี้มาฝากผมด้วยน้า

ติดตามเว็บไซต์ข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ที่ http://203.131.219.245/bcp/

บทบาทของห้องสมุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน

หัวข้อในวันนี้ที่ผมเอามาโพสลง เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผมได้รับเกียรติให้ไปบรรยายและเป็นผู้ดำเนินรายการด้วย งานนี้เป็นงานสัมมนาวิชาการ ความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน สำหรับผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศ ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาคาร 1 ชั้น 4 ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปฟังผมวันนั้น ผมจึงขอเอาเรื่องที่ผมบรรยายมานำเสนอให้อ่านสักหน่อย (http://www.libraryhub.in.th/2012/07/11/seminar-economic-finance-human-and-library-role/)

เอาเป็นว่าไปชมสไลด์ของผมกันก่อนดีกว่า
บทบาทของห้องสมุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาคน

[slideshare id=15010099&doc=libraryrolefordevelopsocial-121103113039-phpapp02]

สรุปจากสไลด์
ก่อนเริ่มต้นบรรยายอย่างเป็นทางการผมได้เกริ่นถึงความสำคัญของห้องสมุดที่เป็นมากกว่าแค่ห้องเก็บหนังสือ เพราะสถานที่แห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ของประเทศได้อย่างดีทีเดียว ประเทศที่พัฒนาแล้วมักเห็นความสำคัญของการพัฒนาห้องสมุด…

ห้องสมุด ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของชุมชน เอาง่ายๆ ว่าห้องสมุดเหมือนกับ สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิทยศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง ฯลฯ

ห้องสมุดถูกจัดอยู่ในหน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษานอกระบบ – เพราะการจะใช้ห้องสมุดเราไม่ได้มีแบบแผนตายตัวเหมือนหลักสูตรที่จัดในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั่นเอง

โครงสร้างพื้นฐานแบบไม่เป็นทางการเหล่านี้ จะช่วย :
– สนับสนุนแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน
– บ่มเพาะภูมิปัญญาในระดับบุคคลที่ทำให้ความรู้และรสนิยมของผู้คน
– ผลิตองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

ห้องสมุดช่วยพัฒนาเมืองได้อย่างไร
การเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูตัวเมือง ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ หอสมุดกลางซีแอตเติล (Seattle Public Library) ใครจะไปเมืองนี้ต้องไม่พลาดที่จะเข้าชมห้องสมุดแห่งนี้
ต้นแบบของสิ่งปลูกสร้างรุ่นใหม่ ตัวอย่างคือ อาคารหอสมุดกลาง ประเทศสิงคโปร์ อาคารห้องสมุดที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ปี 2005 หลังจากนั้นทำให้หลายๆ อาคารและหลายๆ หน่วยงานต้องเข้ามาศึกษาดูงานและขอคำปรึกษา
พัฒนาเมืองด้วยการเป็นศูนย์รวมและสถานที่ยึดเหนี่ยวของชุมชน ตัวอย่างอยู่ไม่ไกล คือ อุทยานการเรียนรู้จังหวัดยะลา (TK park Yala) อีกตัวอย่างของการพัฒนาเมืองด้วยการพัฒนาห้องสมุด เมื่อมีห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ดีๆ ในพื้นที่ ผู้คนในพื้นที่ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากช่วยพัฒนาเมืองแล้วยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจด้วย จากรายงานเรื่อง “ประโยชน์และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของห้องสมุดประชาชนในรัฐฟลอริดา” พบว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจไม่เพียงแต่เห็นพ้องกันว่า “ธุรกิจท้องถิ่นได้ประโยชน์อย่างมากจากการที่ห้องสมุดทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

ห้องสมุดประชาชนกรีนส์โบโร (Greensboro (NC) Public Library) ร่วมกับโครงการประกาศนียบัตรด้านการจัดการที่ไม่หวังผลกำไร มหาวิทยาลัยดุ๊คส์ (Duke University) จัดการอบรมและเวิร์คช็อปโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 35 คอร์ส หัวข้อต่างๆ เช่น การเขียนเอกสารขอทุน การหาทุน การเขียนแผนธุรกิจ และการตลาด

ห้องสมุดสามารถช่วยพัฒนาคนทำให้คนได้งานทำ ซึ่งห้องสมุดประชาชนยุคใหม่ จะมีการนำเสนอข้อมูลตำแหน่งงานว่าง การฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ การอ่านออกเขียนได้ ให้คำปรึกษาด้านการเขียนใบสมัครงาน ประวัติย่อ และจดหมายนำการสมัครงาน

บทบาทที่กล่าวมาถูกพิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือในการวัดผลตอบแทนของการมีห้องสมุด (เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปแล้ว อ่านต่อได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/2011/08/19/cost-benefit-analysis-for-us-public-libraries/)

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงผลสรุปที่ผมนำมาฝากให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ
ปล. ต้องขออภัยผู้ร่วมบรรยายอีกท่านด้วย ที่ไม่ได้สรุปข้อมูลของท่านในครั้งนี้ แล้วผมจะนำมาสรุปอีกครั้งให้เพื่อนๆ อ่านนะครับ

บทบาท PULINET ในการเตรียมการห้องสมุดมหาวิทยาลัยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

กระแสอาเซียนมาแรงฉุดไม่อยู่จริงๆ วงการห้องสมุดมหาวิทยาลัยจึงต้องขอนำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อใหญ่อีกสักครั้ง โดยการสัมมนา PULINET วิชาการ ครั้งที่ 3 ที่จะจัดในระหว่างวันที่ 23-25 มกราคม 2556 นี้ มีธีมใหญ่ คือ “บทบาทของ PULINET ในการเตรียมการห้องสมุดมหาวิทยาลัยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

รายละเอียดงานสัมมนาเบื้องต้น
ชื่องาน : สัมมนา PULINET วิชาการ ครั้งที่ 3
ธีมงาน : บทบาทของ PULINET ในการเตรียมการห้องสมุดมหาวิทยาลัยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
สถานที่จัดงาน :
ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
วันที่จัด : วันที่ 23-25 มกราคม 2556
จัดโดย : ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET)

ปี 2558 ประชาคมอาเซียนจะร่วมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งถ้านับเวลาจริงๆ ตอนนี้ก็เหลือเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้นเอง บางคนอาจจะมองว่าเหลือเวลาอีกเยอะ แต่จริงๆ แล้วผมว่าไม่มากหรอกครับ ดังนั้นเราต้องเริ่มเตรียมตัวกันแล้ว

ยิ่งห้องสมุดในมหาวิทยาลัยผมว่าโอกาสในการเตรียมตัวต้องมีสูงกว่าห้องสมุดในระดับอื่นๆ เลยด้วยซ้ำ เนื่องจากเราต้องเตรียมการผลิตบัณฑิตที่จะจบออกมาด้วยความพร้อมในเรื่องของอาเซียนด้วย ดังนั้นพี่น้องชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์ในสถาบันอุดมศึกษาจึงควรเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

หัวข้อที่น่าสนใจในงานสัมมนาครั้งนี้
– ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคกับการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
– ห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคกับการรวบรวม จัดเก็บ และให้บริการทรัพยากรสารสนเทศเฉพาะทางด้านอาเซียนศึกษา
– The Idea and Management of Collection of ASEAN Countries by Each University Library

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานทางวาจาและงานโปสเตอร์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของงานสัมมนาวิชาการ PULINET ในวันที่สองด้วย และแน่นอนครับมีการศึกษาดูงานในวันสุดท้ายเช่นเคย

การสัมมนาในครั้งนี้มีค่าลงทะเบียนด้วย โดย
สถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในข่ายของ PULINET จะเสียค่าลงทะเบียนคนละ 1,000 บาท
ส่วนองค์กรที่อยู่นอกข่ายของ  PULINET จะเสียค่าลงทะเบียนคนละ 1,500 บาท

ส่วนค่าเดินทางและที่พักก็เบิกจากต้นสังกัดกันเองนะครับ

เอาเป็นว่ากิจกรรมดีๆ แบบนี้ก็ขอแนะนำไว้แล้วกันนะครับ
สำหรับใครที่ได้ไปก็อย่าลืมเอามาเล่าสู่กันฟังในคราวหลังจากกลับมาก็ได้ครับ

ติดตามข้อมูลทั้งหมดได้จากเว็บไซต์ http://clm.wu.ac.th/pulinet3/index.php

บรรณารักษ์ขอบอก : การเดินทางของหนังสือ 1 เล่มในห้องสมุด

นานๆ ทีจะเอาเรื่องราวการทำงานส่วนตัวมาเขียนให้เพื่อนๆ อ่าน วันนี้เลยขอเอาเรื่องราวแบบเบาๆ ที่อ่านได้ทั้งคนที่ทำงานบรรณารักษ์ คนทำงานห้องสมุด คนที่สนใจด้านห้องสมุด และคนทั่วๆ ไปในฐานะคนใช้บริการห้องสมุด สรุปง่ายๆ ว่าอ่านได้ทุกคน

กว่าหนังสือ 1 เล่มจะเข้ามาที่ห้องสมุด ขึ้นไปอยู่บนชั้นหนังสือ และถูกนำออกจากห้องสมุด เพื่อนๆ รู้หรือเปล่าว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง

ผู้บริหารบางคน ผู้ใช้บริการบางคน คิดง่ายๆ ว่า การทำห้องสมุดเป็นเรื่องง่าย แค่ซื้อหนังสือแล้วเอาไปวางไว้บนชั้นก็เป็นห้องสมุดได้แล้ว วันนี้เรามาลองคิดกันใหม่นะครับ

ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่าผมขอแยกหนังสือออกเป็น
1. หนังสือที่ห้องสมุดจัดซื้อมาใหม่
2. หนังสือที่ห้องสมุดจัดพิมพ์ในโอกาสต่างๆ
3. หนังสือที่ห้องสมุดขออภินันทนาการจากหน่วยงานอื่นๆ
4. หนังสือที่ได้รับบริจาคจากคน/หน่วยงานอื่นๆ

หนังสือทั้ง 4 แบบมีเส้นทางการเดินทางต่างกัน เดี๋ยวเราไปดูกันเลยดีกว่าครับ
(ผมขอเล่าเป็นภาพแล้วกันนะครับ)

1. หนังสือที่ห้องสมุดจัดซื้อมาใหม่


1.1 กระบวนการจัดซื้อจัดหา
– กำหนดกรอบเนื้อหาของหนังสือที่ห้องสมุดต้องการ (อาจทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ)
– รวบรวมรายชื่อหนังสือที่ต้องการจัดซื้อ + ตรวจสอบรายชื่อหนังสือซ้ำกับห้องสมุด
– ดำเนินการสั่งซื้อ กระบวนการส่งของ กระบวนการตรวจรับ
1.2 กระบวนการลงรายการในฐานข้อมูลห้องสมุด
– คีย์ข้อมูลรายการบรรณานุกรมลงในฐานข้อมูลห้องสมุด
– กำหนดเลขหมู่ เลขผู้แต่ง ให้หัวเรื่อง
– เพิ่มรายการตัวเล่ม (Add item)
1.3 กระบวนการเตรียมตัวเล่มเพื่อให้บริการ
– ประทับตรา ติดสัน ติดบาร์โค้ต ติดแถบแม่เหล็ก ห่อปก
– สแกนปกหน้า ปกหลัง ข้อมูลตัวเล่ม สารบัญ
– นำขึ้นชั้นหนังสือเพื่อให้บริการ
1.4 กระบวนการซ่อมแซมหนังสือที่ชำรุด
1.5 กระบวนการคัดออก (กรณีที่หนังสือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือ เนื้อหาไม่ทันสมัย)

2. หนังสือที่ห้องสมุดจัดพิมพ์ในโอกาสต่างๆ


2.1 กระบวนการจัดทำเนื้อหาและจัดพิมพ์
– กำหนดกรอบเนื้อหาของหนังสือ ตั้งโครงร่างของเนื้อหา (อาจทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ)
– เขียนเนื้อหา เรียบเรียงข้อมูล ใส่ภาพประกอบ
– ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา
– ออกแบบและจัดหน้า วาง lay out ออกแบบกราฟิค
– พิสูจน์อักษร ตรวจเรื่องสี
– จัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ
2.2 กระบวนการลงรายการในฐานข้อมูลห้องสมุด
– คีย์ข้อมูลรายการบรรณานุกรมลงในฐานข้อมูลห้องสมุด
– กำหนดเลขหมู่ เลขผู้แต่ง ให้หัวเรื่อง
– เพิ่มรายการตัวเล่ม (Add item)
2.3 กระบวนการเตรียมตัวเล่มเพื่อให้บริการ
– ประทับตรา ติดสัน ติดบาร์โค้ต ติดแถบแม่เหล็ก ห่อปก
– นำเข้าภาพหน้าปกจากไฟล์อิเล็คทรอนิคส์
– นำขึ้นชั้นหนังสือเพื่อให้บริการ
2.4 กระบวนการซ่อมแซมหนังสือที่ชำรุด
– นำเล่มที่สมบูรณ์มาเปลี่ยน (หนังสือที่ห้องสมุดจัดพิมพ์สามารถเก็บในชั้นปิดได้กรณีมีจำนวนมาก)
– ซ่อมแซม (กรณีที่หนังสือมีจำนวนจำกัด)
2.5 กระบวนการคัดออก (กรณีที่หนังสือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือ เนื้อหาไม่ทันสมัย)

3. หนังสือที่ห้องสมุดขออภินันทนาการจากหน่วยงานอื่นๆ


3.1 กระบวนการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่ต้องการขอรับหนังสืออภินันทนาการ
– รวบรวมรายชื่อหนังสือที่ต้องการขอรับอภินันทนาการ
– ทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานเจ้าของหนังสือ
– เมื่อได้รับหนังสืออภินันทนาการแล้วต้องทำหนังสือขอบคุณตอบกลับ
3.2 กระบวนการลงรายการในฐานข้อมูลห้องสมุด
– คีย์ข้อมูลรายการบรรณานุกรมลงในฐานข้อมูลห้องสมุด
– กำหนดเลขหมู่ เลขผู้แต่ง ให้หัวเรื่อง
– เพิ่มรายการตัวเล่ม (Add item)
3.3 กระบวนการเตรียมตัวเล่มเพื่อให้บริการ
– ประทับตรา ติดสัน ติดบาร์โค้ต ติดแถบแม่เหล็ก ห่อปก
– สแกนปกหน้า ปกหลัง ข้อมูลตัวเล่ม สารบัญ
– นำขึ้นชั้นหนังสือเพื่อให้บริการ
3.4 กระบวนการซ่อมแซมหนังสือที่ชำรุด
3.5 กระบวนการคัดออก (กรณีที่หนังสือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือ เนื้อหาไม่ทันสมัย)

4. หนังสือที่ได้รับบริจาคจากคน/หน่วยงานอื่นๆ


4.1 กระบวนการลงทะเบียนหนังสือรับบริจาค
– กรอกข้อมูลผู้บริจาคหนังสือพร้อมรายชื่อหนังสือที่ได้รับบริจาค
4.2 กระบวนการคัดสรรหนังสือ
– คัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับห้องสมุดเพื่อดำเนินการต่อไป หนังสือที่ไม่เหมาะสมก็เก็บไว้เพื่อรอจำหน่ายออกภายหลัง
– คัดเลือกหนังสือที่ต้องซ่อมแซมเพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป
4.3 กระบวนการลงรายการในฐานข้อมูลห้องสมุด
– คีย์ข้อมูลรายการบรรณานุกรมลงในฐานข้อมูลห้องสมุด
– กำหนดเลขหมู่ เลขผู้แต่ง ให้หัวเรื่อง
– เพิ่มรายการตัวเล่ม (Add item)
4.4 กระบวนการเตรียมตัวเล่มเพื่อให้บริการ
– ประทับตรา ติดสัน ติดบาร์โค้ต ติดแถบแม่เหล็ก ห่อปก
– สแกนปกหน้า ปกหลัง ข้อมูลตัวเล่ม สารบัญ
– นำขึ้นชั้นหนังสือเพื่อให้บริการ
4.5 กระบวนการซ่อมแซมหนังสือที่ชำรุด
4.6 กระบวนการคัดออก (กรณีที่หนังสือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือ เนื้อหาไม่ทันสมัย)

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นภาพแบบกว้างๆ นะครับ ผมเชื่อว่าห้องสมุดบางแห่งก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ หรือบางห้องสมุดอาจจะมีวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้ เอาเป็นว่าก็เอามาแชร์กันอ่านบ้างนะครับ และพร้อมรับฟังความเห็นและวิธีการของทุกท่านเช่นกัน ร่วมกันแชร์แนวทางเพื่อการพัฒนาห้องสมุดที่ยั่งยืนนะครับ

นายห้องสมุดพาเที่ยวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ม.ศิลปากร

ไม่ค่อยได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดนานแล้ว วันนี้จัดให้สักทริปแล้วกันครับ สำหรับวันนี้เราจะเข้าไปชมห้องสมุดในมหาวิทยาลัยกันบ้าง ที่นั่นคือ “หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาศิลปากร” ตามมาดูกันเลยดีกว่าครับ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหอสมุดแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาศิลปากร
ที่อยู่ : เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทรศัพท์ : 034-255092 / โทรสาร : 034-255092
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclib/
บล็อกของห้องสมุด : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog
Facebook ห้องสมุด : http://www.facebook.com/suslib.sanamchandra

หมายเหตุ ภาพห้องสมุดผมถ่ายเอาไว้นานแล้ว ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนไปบ้างหรือปล่าว

วันที่ไปเยี่ยมชมห้องสมุดแห่งนี้ ผมได้เดินทางไปพร้อมกับคณะเยี่ยมชมจากชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (ชบอ.) ซึ่งวันเดินทางไปตรงกับวันเสาร์ แต่ด้วยการนัดหมายที่ดีจึงได้เจอรุ่นพี่ มอ. บรรณารักษ์ (พี่ปอง) มาให้คำอธิบายและนำชมห้องสมุด แบบว่าแอบดีใจที่ได้เจอรุ่นพี่คนนี้มากๆ ด้วย

กระบวนการแรกก่อนเดินชมห้องสมุด พี่ปองได้พูดถึงภาพรวมของห้องสมุด รวมถึงกิจกรรมที่หอสมุดแห่งนี้ได้จัด ผมเองก็ได้เปิดมุมมองในเรื่องกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ของที่นี่ด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์จากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
– กิจกรรมยืมไม่อั้น (ช่วงปิดเทอม)
– การเดินแบบแฟชั่นหนังสือ
– การตกแต่งรถสามล้อด้วยหนังสือ
– กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในงานองค์พระ (งานประจำปีของจังหวัดนครปฐม)

ภายในอาคารหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ จริงๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 อาคารนะครับ
โดยอาคารแรกที่พวกเราเยี่ยมชมจะเป็นอาคาร 4 ชั้น โดยแบ่งการให้บริการดังนี้

อาคารชั้น 1 ประกอบด้วย
– รับฝากของ
– งานบริการยืม คืน (เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง)
– งานธุรการ
– หนังสืออ้างอิง
– โถงนิทรรศการ (ช่วงที่ไปมีการแสดงงานศิลปะด้วย)
– ร้านกาแฟ

อาคารชั้น 2 ประกอบด้วย
– หนังสือสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
– วิทยานิพนธ์
– บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า
– บริการฐานข้อมูล
– ถ่ายเอกสาร
– ห้องน้ำ
– ทางเชื่อมไปอาคาร มล.ปิ่น มาลากุล

อาคารชั้น 3 ประกอบด้วย
– หนังสือสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา
– หนังสือเยาวชน
– ปริญญานิพนธ์
– ห้องน้ำ

อาคารชั้น 4
– หนังสือสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา
– หนังสือภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส
– นวนิยาย
– ศูนย์ข้อมูลวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา
– ฝ่ายวิเคราะห์และทรัพยากรห้องสมุด

ส่วนอีกอาคารนึงก็คือ อาคาร มล.ปิ่นมาลากุล นั่นเอง (อันนี้ไม่ได้เยี่ยมชมทั้งตึก) ได้ชมแค่ชั้น 1 เอง เพราะเวลามีจำกัด แต่ก็ต้องบอกว่าแค่ชั้น 1 ก็สุดยอดแล้ว

ส่วนอื่นๆ ที่เดินดูแล้วชอบก็คงไม่พ้นป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในห้องสมุด เพราะอ่านแล้วโดนใจมาก เช่น แก้กรรมด้วยการออกสื่อ …..

เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสจะไปอีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลมาให้เพื่อนๆ อ่านอีก หวังว่าจะได้พบกันอีกเร็วๆ นี้นะครับพี่ปอง อิอิ
สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ และชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาด้วยนะครับที่เปิดโอกาสให้ผมไปเปิดหูเปิดตาบ้าง อิอิ

ภาพบรรยากาศหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ในกล้องผม

[nggallery id=61]