เพจแนะนำ โครงการห้องสมุดสุดปลายจมูก Library at Your Nose Tip

นานๆ ทีจะว่างเขียนบล็อก วันนี้ผมขอเขียนแนะนำหน้าแฟนเพจใน Facebook บ้างดีกว่า ซึ่งผมเองก็เป็นแฟนเพจของหลายๆ เพจบน Facebook เช่นกัน และรู้สึกว่าบางทีน่าจะนำมา review ให้เพื่อนๆ ได้รู้จักบ้าง

เริ่มวันแรกด้วย เพจนี้เลย : โครงการห้องสมุดสุดปลายจมูก (Library at Your Nose Tip)
http://www.facebook.com/LibraryAtYourNoseTip

library_atyour_nose_tip

ก่อนอื่นไปดูเขาแนะนำตัวกันก่อนเลยครับ (ขออนุญาต copy มาให้อ่าน)

โครงการห้องสมุดสุดปลายจมูก – Library at Your Nose Tip

โครงการที่มีชื่อมาจากละครเวทีที่ ป๋าเต็ด แห่ง FAT Radio เคยเล่นเมื่อหลายปีก่อน ชื่อ สุภาพบุรุษสุดปลายจมูก ซึ่งผมชอบเพลงประกอบของมันมาก (อัดเทปไว้ ตอนนี้เทปตลับนั้นยังอยู่) และ ชื่อนี้ผมต้องการจะสื่อว่า วิธีสร้างห้องสมุดง่ายๆ อยู่ใกล้แค่ปลายจมูก

โครงการนี้เป็นโครงการรับบริจาคหนังสือ (และเงิน) เพื่อไปส่งต่อให้ห้องสมุดที่ขาดแคลน เป็นการสนองความสนุกส่วนตัว และ ผู้ที่ต้องการร่วมสนุกไปด้วยกัน โครงการนี้แอบมีเป้าหมายจะไปให้ครบ 76 จังหวัด โดยจะทำทุก 3 เดือน การเลือกโรงเรียนหรือสถานที่ที่จะไปเป็นไปตามความพอใจเท่านั้น เพราะเชื่อว่าหนังสือถ้าอยู่ในมือผู้รู้ค่าก็มีประโยชน์เองแหละ การทำบุญร่วมกันอาจจะทำให้มาเจอกันอีกในชาติหน้า ควรใช้วิจารณญาณในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนก่อนตัดสินใจร่วมทำบุญ

แค่หน้าแนะนำตัวผมว่าก็เก๋ใช่ย่อยเลยครับ แถมมีเป้าหมายด้วยนะ

ในเพจนี้มีอะไรบ้าง (ขอสำรวจดูสักหน่อย)
– ข่าวสารกิจกรรมของเพจที่ออกไปช่วยห้องสมุดต่างๆ
– การแนะนำและวิจารณ์หนังสือ (Book Review)
– ช่องทางในการรับบริจาคหนังสือ
ฯลฯ

อัพเดทความเคลื่อนไหวของโครงการห้องสมุดสุดปลายจมูก
เท่าที่ตามอ่านในหน้าเพจ ตอนนี้เห็นว่าดำเนินกันไป 41 จังหวัดแล้วนะครับ

library_atyour_nose_tip1

นับว่าเป็นเพจที่มีกิจกรรมมากกว่าแค่ออนไลน์จริงๆ….

ตัวอย่างของการเป็นช่องทางในการรับบริจาคหนังสือและสื่อเพื่อห้องสมุด

library_atyour_nose_tip2

เอาเป็นเจอเพจดีๆ แบบนี้แล้ว ผมเองในฐานะของเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยจึงขอแนะนำให้เพื่อนๆ ไปตามเป็นแฟนเพจด้วยนะครับ

http://www.facebook.com/LibraryAtYourNoseTip

คราวหน้าผมจะแนะนำเพจไหนอีก เพื่อนๆ ต้องรอติดตามแล้วกันนะครับ

1 วัน 1 ภาพ เพื่อสื่อความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย วันนี้ผมขอนำเสนอแนวคิดนึงที่ผมนำมาใช้กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook ได้สักระยะนึงแล้ว นั่นคือ “การจัดทำภาพข้อความเพื่อสื่อถึงความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่” วันนี้ผมขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านสักหน่อย

1 ในความคิดและความตั้งใจของผมในปีนี้ คือ จะต้องโพสภาพข้อความที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ให้ได้วันละ 1 ภาพ

โดยรูปภาพที่ผมนำมาโพสนี้ ผมไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรที่มันซับซ้อนเลย
แถมเป็นโปรแกรมฟรีอีกต่างหาก นั่นคือ โปรแกรม “Line Camera” นั่นเอง
และต้องบอกอีกว่าบางครั้งก็ใช้โปรแกรมง่ายๆ อย่าง Microsoft Powerpoint นั่นเอง

สิ่งที่ผมจะบอก คือ ความง่ายของมัน
โปรแกรมที่ผมพูดถึงข้างต้นมันง่ายมากๆ
แต่เพื่อนๆ หลายคนคิดไม่ถึง

ผมขอยกตัวอย่างภาพที่ผมทำจาก Microsoft Powerpoint ภาพ Infographic หลายๆ ตัวที่ผมเคยโพสไปแล้วในบล็อกนี้

(ลองอ่านเรื่อง Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ หรือ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ)

เรื่องโปรแกรมบอกตรงๆ ครับมันไม่ยาก แต่เรื่องยาก คือ การนั่งคิดประโยคโดนๆ ที่จะสื่อสารออกมาในแต่ละวัน บางครั้งต้นใช้เวลาคิดเป็นชั่วโมงเลย บางทีก็คิดได้หลายๆ เรื่องพร้อมกัน

เมื่อได้ข้อความแล้วก็นำมาแยกประโยคและค่อยๆ พิมพ์ลงในโปรแกรมและจัดให้มันดูสวยงาม
เพียงแค่นี้ผมก็มีรูปภาพข้อความเก๋ๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วครับ

ลองมาดูกันตั้งแต่วันที่ 1 – 6 มกราคม 2556 ผมโพสรูปภาพอะไรไปแล้วบ้าง

วันที่ 1 มกราคม 2556

วันที่ 2 มกราคม 2556

วันที่ 3 มกราคม 2556

วันที่ 4 มกราคม 2556

วันที่ 5 มกราคม 2556

วันที่ 6 มกราคม 2556

เอาเป็นว่าพอจะมองเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับ
ไอเดียนี้ทำให้คนเข้ามาที่เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยมากขึ้นเยอะมากๆ เลย
ผมเลยอยากให้เพื่อนๆ ลองทำกันดู อย่าคิดอะไรยากครับ ณ จุดๆ นี้

เมื่อนายห้องสมุดจัดกิจกรรมอ่านข้ามปีให้ชาวบรรณารักษ์

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเห็นเพื่อนๆ ถามถึงกันมากว่าในวันสิ้นปีจะ count down ที่ไหน และจะทำอะไรข้ามปี คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คือ “ไปนับถอยหลังกับเพื่อนๆ” บ้าง “อยู่นับถอยหลังกับครอบครัวที่บ้าน“บ้าง และกิจกรรมอีกกิจกรรมที่คนให้ความสนใจกันเยอะคือ “การสวดมนต์ข้ามปี” ผมจึงจัดทำรูปภาพขึ้นมาสำหรับเพื่อนๆ ชาวเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยว่า

“สำหรับชาวห้องสมุด ใครที่ยังไม่มีโปรแกรมสำหรับวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมขอแนะนำ อ่านหนังสือข้ามปี กระแสใหม่สำหรับหนอนหนังสือ”

ซึ่งหลังจากที่ทำรูปภาพนั้นเสร็จ ผมก็คิดทันทีว่า “ลองจัดกิจกรรมแปลกๆ ดูกันมั้ย”

ผมจึงลงประกาศใต้รูปว่า

“ไม่ต้องทำตามแบบใคร เราก็มีกิจกรรม countdown ได้ตามสไตล์เรา (ห้องสมุดและบรรณารักษ์) นายห้องสมุดขอชวนเพื่อนๆ อ่านหนังสือข้ามปีเพื่อสร้างกระแสการรักการอ่าน ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถ่ายภาพของคุณกับหนังสือที่คุณจะใช้อ่านข้ามปี แล้วโพสมาที่เพจเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย 10 คนแรกที่โพสมาจะได้รับของที่ระลึกเก๋ๆ จากนายห้องสมุดจ้า ปล. ส่งได้หลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นะครับ ประกาศผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 ครับ”

นอกจากนั้นผมยังทำรูปขึ้นมาอีกรูปเพื่อย้ำถึงกิจกรรมนี้

ซึ่งในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ผมก็นั่งลุ้นดูว่าจะมีเพื่อนๆ สนใจกิจกรรมนี้กันหรือไม่ จะมีคนมาร่วมลุ้นรางวัลกับผมหรือเปล่า (ตั้งใจว่าจะแจกของที่ระลึก 10 รางวัลนะ) แต่ผลออกมาว่า

มีผู้ร่วมสนุกกับกิจกรรม “อ่านข้ามปี” กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย จำนวน 7 คน

เราไปดูผลงานของทั้ง 7 คนเลยดีกว่าว่า เขาอ่านอะไรกันบ้าง

คนที่ 1 : “Nuan Kesaree”
อ่าน : “เมฆาสัญจร (Cloud Atlas)”

คนที่ 2 : “Siriluk Okaoka”
อ่าน : “หัวใจรักมังกรอหังการ”

คนที่ 3 : “Ilham Seng”
อ่าน : “คู่มือเพิ่มความสุขทุกๆวัน”

คนที่ 4 : “Pretty Lib”
อ่าน : “แฟรี่วอร์ : ดอกไม้แห่งกาลเวลา”

คนที่ 5 : “Chaninthron Uanlam”
อ่าน : “เล่าเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน”

คนที่ 6 : “Piraporn Kiewkhen”
อ่าน : “บทสวดพลจักรรัตนสูตรเพื่อกำจัดภัยพิบัติดั่งสมัยพุทธกาล”

คนที่ 7 : “Natthicha Smile Klongklaew”
อ่าน : “คนตายยาก”

เอาเป็นว่าผมก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนุกกับกิจกรรม “อ่านข้ามปี” ของผมนะครับ
ขอสรุปรายชื่อผู้โชคดีทั้ง 7 คน ดังนี้
1. Nuan Kesaree
2. Siriluk Okaoka
3. Ilham Seng
4. Pretty Lib
5. Chaninthron Uanlam
6. Piraporn Kiewkhen
7. Natthicha Smile Klongklaew

ผู้ที่มีรายชื่อดังกล่าวเดี๋ยวผมจะติดต่อไปหลังไมค์นะครับ
เพื่อขอที่อยู่และจะจัดส่งของที่ระลึกไปให้

เอาเป็นว่าปีหน้าค่อยมาเจอกันใหม่กับการ “อ่านข้ามปี” ของเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยนะครับ หวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่านี้ กติกาจะเป็นยังไงปีหน้าต้องติดตามกัน อิอิ

LibCampUbon#2 : มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชน

ก่อนจบงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
วิทยากรได้เชิญผู้ที่กำลังจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (คุณดาหวัน ธงศรี)
มาแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นแบบเบื้องต้นและอธิบายถึงขอบเขตงานในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

การจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นมุมสารสนเทศที่มีความสำคัญ สำหรับให้ศึกษาค้นคว้า ความรู้ ภูมิประวัติศาสตร์เมืองอุบล และภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อสร้างเป็นต้นแบบและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี  มีดังนี้ ซึ่งจะแบ่งการจัดเก็บรวบรวมออกเป็น

– หนังสือเกี่ยวกับเมืองอุบล  อาทิเช่น ประวัติเมืองอุบลราชธานี  ประมวลภาพอุบลราชธานี 200 ปี  เป็นต้น
– หนังสือที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญในจังหวัดอุบล เป็นคนเขียนหนังสือด้านต่างๆ อาทิเช่น  ผญา อักษรธรรม อักษรไทน้อย อักษรขอม ที่แปลจากใบลาน เพื่อเล่าเรื่องราว สืบสาน วรรณกรรม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของเมืองอุบล และสื่อจากการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ
– ภาพเก่าเล่าเรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองอุบล จัดทำเป็นรูปเล่ม สำหรับเผยแพร่
– รวมถึงสื่อมัลติมีเดียต่างๆ อาทิเช่น บุคคลสำคัญ และบุคคลมีชื่อเสียง ด้านศิลปิน นักร้อง หมอร้อง หมอลำ อาทิเช่น สลา คุณวุฒิ  ต่าย อรทัย และหมอลำพื้นบ้าน ด้านอื่นๆ เป็นต้น

เพื่อให้บริการและเผยแพร่ให้กับประชาชน เด็กรุ่นใหม่ ที่สนใจและต้องการศึกษาค้นคว้า ทำวิจัย และจะทำให้ได้รู้ได้เข้าใจทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมืองอุบลมากขึ้น

เป็นไงกันบ้างครับ นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
ความคืบหน้าในการจัดทำผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้ทราบในโอกาสต่อไปนะครับ

อ๋อ และก่อนจบงาน libcampubon#2 ผมก็ถือโอกาสสอบถามถึงความต้องการของผู้ที่เข้าฟังว่า
ต้องการให้จัดหัวข้ออะไรในงาน libcampubon ครั้งต่อไป ซึ่งได้ผล คือ

หัวข้อที่ได้รับการเสนอเพื่อใช้จัดในงาน LibcampUbon ครั้งต่อไป เช่น
– ศูนย์ความรู้กินได้ระดับตำบล
– แนวคิดในการนำศูนย์ความรู้กินได้มาใช้กับห้องสมุดขนาดเล็ก (แบบงบประมาณน้อย)
– การทำ workshop การถ่ายภาพเพื่อนำมาจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (คล้ายกับภาพเก่าเล่าเรื่อง)
– การจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมสารสนเทศท้องถิ่น
– การจัดทำมุมความรู้กินได้ในห้องสมุด ตั้งแต่แนวคิดจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ เอาเป็นว่าทีมงานทุกคนจะนำข้อเสนอตรงนี้ไปทำการบ้านและสรุปออกมาให้เร็วที่สุดนะครับ เพราะเราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่ “เพราะเราคือทีมเดียวกัน เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี LibcampUbon

LibCampUbon#2 : กรณีศึกษาเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นจากห้องสมุด

การบรรยายในลำดับที่ 5 ของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี
เรื่อง “กรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย
โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (ผมเอง) นักพัฒนาระบบห้องสมุด ศูนย์ความรู้กินได้


การบรรยายในส่วนของผมจะสอดคล้องกับเรื่อง “การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร”  ในหัวข้อที่ 4 ของงาน Libcampubon#2 แต่ของผมจะเน้นไปในเรื่องของเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นเป็นหลัก

สไลด์ที่ผมใช้บรรยายในครั้งนี้ ดูได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ

เนื้อหาของสไลด์และสิ่งที่ผมบรรยายสรุปได้ดังนี้

การบรรยายเริ่มจากการสรุปข้อมูลจากการบรรยายตั้งแต่ช่วงเช้าจนมาถึงเรื่องการศึกษาวิชาสารสนเทศท้องถิ่น ซึ่งได้พูดถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้ใช้หรือห้องสมุดต้องการว่ามาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งหลักๆ คนไม่พ้น “ความรู้ที่มาจากตัวบุคคล สืบต่อกันมาเรื่อยๆ” และแหล่งค้นคว้าอื่นๆ เช่น
– ห้องสมุด
– ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม
– หอจดหมายเหตุ
– พิพิธภัณฑ์
– วัด

ซึ่งแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และเวลาในการให้บริการ เช่น ห้องสมุดปิดหนึ่งทุ่ม หากต้องการข้อมูลหลังสองทุ่มก็ไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ หรือ ผู้ใช้บริการจากต่างประเทศต้องเดินทางไกลมาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งยากมาก ดังนั้นทางออกของเรื่องการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอีกทางคือต้องเพิ่งพาเรื่อง “เทคโนโลยี” ซึ่งเน้น “เทคโนโลยีเว็บไซต์”

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำคือ สารสนเทศท้องถิ่นหลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ (เรื่องอดีต) เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วยังต้องรวมถึงเรื่องปัจจุบัน และอนาคตด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเองต้องรู้ทุกอย่าง

ห้องสมุดหลายๆ แห่งจึงมีบทบาทเพียงเติมโดยเฉพาะการจัดการสารสนเทศท้องถิ่น
หลายๆ แห่งมีการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดและอีกหลายๆ แห่งนำข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงในเว็บไซต์
ซึ่งผมได้นำเสนอข้อมูลเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่จัดทำโดยห้องสมุด (แค่ตัวอย่าง)

ตัวอย่างเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่จัดทำโดยห้องสมุดที่น่าสนใจ
– ภาคเหนือ
http://www.lannacorner.net/ – ล้านนาคอร์เนอร์
http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/ – ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
http://nadoon.msu.ac.th/web/ – ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร
http://www.bl.msu.ac.th/ – โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.มหาสารคาม
http://lib12.kku.ac.th/esan/ – มุมอีสานสนเทศ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

– ภาคตะวันออก
http://rrulocal.rru.ac.th/ – ข้อมูลท้องถิ่นภาคตะวันออก สำนักวิทยบริการฯ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์

– ภาคกลาง
http://www.odi.stou.ac.th/nonthaburi-studies – นนทบุรีศึกษา สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

– ภาคใต้
http://localinfo.tsu.ac.th/jspui/ – ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ
http://wbns.oas.psu.ac.th/ – ฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ หอสมุดจอห์นเอฟ เคนเนดี้

ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีเองก็มีเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่น่าสนใจมากมาย เช่น
http://www.guideubon.com/ – ไกด์อุบล.com
http://202.29.20.74/rLocal/ – ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ม.ราชภัฎอุบลราชธานี
http://www.aac.ubru.ac.th/ – สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
http://www.lib.ubu.ac.th/localinformation/ – งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.esansawang.in.th/esanweb/es0_home/index_esan.html – ภาษาและวัฒนธรรมอีสาน โรงเรียนสว่างวีระวงศ์

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นผ่านเว็บไซต์นะครับ
เรื่องของวิธีและโปรแกรมจริงๆ แล้วยังมีเยอะนะครับที่สามารถนำมาใช้ได้
แต่เวลาในการนำเสนอมีจำกัด ผมจึงขอยกยอดไปไว้บรรยายในคราวต่อไปนะครับ

ก่อนจากกันวันนี้ผมขอบอกไว้ก่อนว่า การสรุปงาน libcampubon#2 ยังไม่จบครับ
ยังเหลือต่อพิเศษอีกตอนหนึ่ง คือเรื่องของ มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
และเรื่องทิศทางและหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับ libcampubon#3 ด้วยครับ
ยังไงก็รออ่านได้ในวันพรุ่งนี้นะครับ สำหรับวันนี้ต้องไปจริงๆ และ บ๊ายบาย

LibCampUbon#2 : วิชาสารสนเทศท้องถิ่นเรียนอะไร – สำคัญหรือไม่

session ที่สี่ของงาน LibcampUbon#2 (การศึกษาในวิชาสารสนเทศท้องถิ่น)
เรื่อง “การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร
โดยวิทยากร อาจารย์วิมานพร รูปใหญ่ อาจารย์สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฎอุบลฯ

การบรรยายเริ่มจากเรื่องของการศึกษาวิชาสารสนเทศท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
ซึ่งวิชานี้ ถือว่าเป็นวิชาเอกบังคับของนิสิตภาคบรรณฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้

ทำไมถึงต้องเป็นวิชาเอกบังคับ (เด็กเอกบรรณฯ ต้องเรียน)
– เกิดจากการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของภาควิชาและจุดเน้นของคณะที่ต้องการผลิตบัณฑิตที่เข้าใจและสามารถจัดการข้อมูลท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ทางภาควิชาได้คาดหวังในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูลที่อยู่ในท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ และรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในพื้นที่ด้วย

ประวัติความเป็นมาของวิชานี้ ภาคบรรณฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 (นานใช่มั้ยหล่ะครับ)  และแต่เดิมวิชานี้ถือว่าเป็นวิชาเลือกของเอกบรรณฯ เท่านั้น แต่พอมีการปรับหลักสูตรใหม่ในปี พ.ศ. 2551 จึงเห็นควรให้วิชานี้เปลี่ยนสถานะเป็นวิชาเอกบังคับ โดยเพิ่มเริ่มเรียนเป็นวิชาเอกบังคับครั้งแรกเมื่อเทอมที่แล้วนี้เอง (ปล. ประวัติของภาควิชานี้อ่านได้จาก http://www.libis.ubru.ac.th/history.php)

หลักสูตรการเรียนการสอนในวิชานี้เทอมนึงก็จะมี 16 สัปดาห์ โดยนักศึกษาจะได้เรียนในหัวข้อต่างๆ เช่น
– พื้นฐานความรู้ของเรื่องสารสนเทศท้องถิ่น (ค้นได้จากไหนบ้าง มีที่มาอย่างไร)
– แหล่งสารสนเทศท้องถิ่น (เน้นที่ข้อมูลจากตัวบุคคล)
– การจัดการสารสนเทศท้องถิ่น
– การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น
– โจทย์งานศึกษาข้อมูลในท้องถิ่นของตนเอง (2-3 สัปดาห์)
– นำเสนอผลงานสารสนเทศท้องถิ่นที่ได้ไปค้นคว้า
– การเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

เพื่อให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ อาจารย์จึงได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการทำฐานข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นด้วย การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ รวบรวม และค้นหาทำให้สารสนเทศท้องถิ่นมีการพัฒนาต่ออย่างยั่งยืน

อีกเรื่องที่นักศึกษาจะต้องเข้าใจและเรียนรู้ คือ การทำเครือข่ายสารสนเทศท้องถิ่น (ใครมีดีอะไรเราต้องรู้จัดนำมาใช้)

หลังจากที่บรรยายเรื่องการศึกษาไปส่วนหนึ่งแล้ว วิทยากรทั้งสองจึงขอเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการสารสนเทศท้องถิ่นในชุมชน ซึ่งสรุปข้อมูลได้ว่า
– มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอุบลฯ ค่อนข้างน้อย
– ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือในเรื่องการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นเนื่องจากกลัวคนอื่น copy ผลงาน
– ในแง่คิดของรัฐเราอยากให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ในแง่คิดของชาวบ้านกลัวคนลอกเลียนแบบ
– ภูมิปัญญาบางอย่างมันคงอยู่ในชีวิตประจำวันจนทำให้ชาวบ้านลืมเก็บสั่งสมองค์ความรู้
– กศน มีโครงงานที่เกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่นมากมาย น่าจะนำมาทำเป็นคลังความรู้ได้

ทำไมต้องเรียน
– สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
– แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายและคงอยู่กับคนในชุมชน

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเรื่องแบบคร่าวๆ ของเรื่องการศึกษาข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นเท่านั้นนะครับ
(กรณีตัวอย่างจาก สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ)

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจข้อมูลในภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ
ก็สามารถดูได้ที่ http://www.libis.ubru.ac.th/

LibCampUbon#2 : จัดรูปแบบสื่อสารสนเทศท้องถิ่นให้เป็นระบบ

ช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวเสร็จก็มาพบกับหัวข้อที่สามประจำงาน LibcampUbon#2
เรื่อง “การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ
โดย อาจารย์ชำนาญ ภูมลี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

การบรรยายในครั้งนี้มีเอกสารประกอบด้วยนะครับ (สไลด์ประกอบ) ชมได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ
หรือเข้าไปดูได้ที่ http://www.slideshare.net/kindaiproject/libcampubon2-collection-development-for-local-information

เอาหล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเพื่อนๆ ก็ดูสไลด์และอ่านบทสรุปไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

อาจารย์ได้เตรียมสไลด์ซึ่งใช้หัวข้อว่า “กระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่น ให้เป็นระบบ
ซึ่งหลักๆ อาจารย์จะบรรยาย 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1. สารสนเทศมีอะไรบ้าง
2. กระบวนการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศ
3. ตัวอย่างสารสนเทศท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ

ก่อนเข้าเรื่องขอบอกกอ่นนะครับว่าอาจารย์เป็นนักจดหมายเหตุดังนั้นข้อมูลจะเป็นสารสนเทศท้องถิ่นเชิงประวัติศาสตร์มากหน่อยนะครับ

อาจารย์ได้อธิบายเรื่อง สารสนเทศท้องถิ่นคืออะไร และ อะไรคือสารสนเทศท้องถิ่นบ้าง
ซึ่งหลักๆ สารสนเทศท้องถิ่นเกิดจากวัสดุต่างๆ มากมาย เช่น อิฐ หิน ดิน ไม้…….
ส่วนสิ่งที่จะเป็นสารสนเทศท้องถิ่นได้ก็คือเอาวัสดุต่างๆ เหล่านั้น มาเขียน มาวาด มาทำสัญลักษณ์ เพื่อให้คงอยู่และสื่อความหมายได้

“สารสนเทศท้องถิ่น คืออะไร อิฐ หิน ดิน ทราย ไม้ ปูน เหล็ก ใบไม้ กระดาษ ฟิล์ม เทป ครั่ง พลาสติก #libcampubon2”
“อะไรคือสารสนเทศท้องถิ่น อิฐที่มีตัวหนังสือ ศิลาจารึก อิฐมีตัวหนังสือ ป้ายต่างๆ ใบลาน หนังสือ รูปภาพ แผนที่ #libcampubon2)”

เชื่อหรือไม่ : เสื้อรุ่นก็ยังถือว่าเป็นสารสนเทศท้องถิ่นเลย เนื่องจากบนเสื้อรุ่นจะมีข้อความบ่งบอกถึงสถานที่ ช่วงเวลา และสามารถสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้

ความหมายของสารสนเทศเบื้องต้น = ผลลัพธ์ของกระบวนการจัดการข้อมูล และความรู้ต่างๆ นั่นเอง
อาจารย์ได้เปรียบเทียบให้เราเห็นอีกว่า สารสนเทศก็เหมือนกับ สื่อ  สื่อมวลชน ข้อมูลข่าวสาร เช่นกัน

คำว่าจดหมายเหตุ จริงๆ แล้วมี 3 พยางค์ แต่สามารถแยกออกเป็นคำที่มีความหมายได้ 6 คำ คือ จด, หมาย, เหตุ, จดหมาย, หมายเหตุ, จดหมายเหตุ (โดยจดหมายเหตุจะเน้นไปที่ข้อมูลที่มีความสำคัญและเป็นของเก่า)

เมื่อเรารู้จักความหมายและลักษณะทั่วไปของสารสนเทศท้องถิ่นและจดหมายเหตุแล้ว
อาจารย์ได้นำเราเข้าสู่เรื่องของกระบวนการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศ

เรื่องแรกที่ต้องคิด คือ การรวบรวมข้อมูล หอจดหมายเหตุสามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
1. การออกระเบียบและกฎหมาย (สำหรับหน่วยงานรัฐถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเลย เช่น พรบ ระเบียบงานสารบรรณ)
2. การขอรับบริจาค
3. การซื้อ

เมื่อรวบรวมแล้วจึงมีการประเมินคณค่าเป็นอันดับสอง โดยหากเอกสารชิ้นไหนมีสาระสำคัญก็ถือว่าเป็นจดหมายเหตุได้ แต่ถ้าชิ้นไหนไม่มีคุณค่าก็จะทิ้งและทำลาย (เราไม่สามารถเก็บได้ทุกอย่าง ข้อจำกัดเรื่องสถานที่)

เมื่อได้จดหมายเหตุที่คัดเลือกและผ่านการประเมินแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การให้เลขหมวดหมู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของหน่วยงานว่าต้องการจัดระบบแบบไหน

จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการบำรุงให้จดหมายเหตุอยู่คงทนต่อไป ซึ่งมีหลายวิธีมาก เช่น การอัดล้างขยายภาพถ่าย การทำไมโครฟิล์ม การทำสำเนาเอกสาร การเสริมกระดาษ การอบน้ำยาฆ่าแมลง การจัดเก็บเข้าตู้

งานของหอจดหมายเหตุมองรวมๆ ก็คล้ายๆ ห้องสมุดนะ แต่ความพิเศษและความยากของหอจดหมายเหตุอยู่ที่เอกสารที่จัดเก็บมีสภาพเก่าแก่ ฝุ่นเยอะ
…… ดังนั้นคนทำงานด้านนี้ลำบากกว่านะ (80% ของคนทำงานหอจดหมายเหตุโสด – อันนี้อาจารย์พูดแซวนะ)

เมื่อเรารู้จัดภาพรวมของการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศแล้ว อาจารย์ได้พูดถึงงานบริการในหอจดหมายเหตุ ว่ามีดังนี้
– การให้บริการอ่านเอกสารจดหมายเหตุ
– การให้บริการทำสำเนา
– การค้นคว้าและบริการยืมจดหมายเหตุ
– การให้บริการถ่ายภาพ

บทสรุปของกระบวนการทำงานในหอจดหมายเหตุ (ชมภาพด้านล่าง)

จบในเรื่องของขั้นตอนแล้ว อาจารย์ก็นำเสนอตัวอย่างสารสนเทศท้องถิ่นให้พวกเราชม โดยเน้นภาพถ่ายเก่าๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับเข้าใจเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นกันเพิ่มบ้างหรือปล่าวครับ
นอกจากนี้ยังเห็นขั้นตอนของการจัดระบบด้วย โหแบบว่านานๆ จะได้ข้อมูลเช่นนี้นะครับ
ยังเหลือเรื่องอีกสองตอน เอาเป็นว่าก็ติดตามบทสรุปของงาน libcampubon#2 กันต่อไปนะครับ

LibCampUbon#2 : นำเสนอสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ

หัวข้อที่สองของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
โดย อาจารย์ ดร. กิติรัตน์ สีหบัณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

เมื่อเราได้สารสนเทศท้องถิ่นมาแล้ว เราก็ต้องรู้จักการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ
อาจารย์จึงได้นำเสนอกรณีศึกษาของ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

เริ่มต้นจากการแนะนำตัวเองเช่นกัน และเล่าที่มาก่อนที่จะมาได้รับตำแหน่ง ผอ. ที่นี่
ซึ่งต้องผ่านกระบวนการของการสรรหาของ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี (ต้องแสดงวิสัยทัศน์)

งานหลักที่ดูแลอยู่ในตอนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. งานบริหารด้านวิชาการ
2. งานบริการความรู้สู่ชุมชน

อาจารย์ชอบทำงานอยู่เป็นเบื้องหลัง ซึ่งงานระดับจังหวัดหลายๆ งานก็มักจะเข้ามาขอความร่วมมือจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
ตัวอย่างงานระดับจังหวัด เช่น งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เป็นต้น

ข้อคิดของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ “พยายามอย่าทำให้ตัวเองให้ popular เพราะคนอื่นจะจับตามองรวมถึงจับผิดด้วย
ถ้าอยากจัดงานในพื้นที่แล้วไม่มีอุปสรรคมาขวาง วิธีง่ายๆ คือ “ลายเซ้นต์ของผู้ว่าฯ

กรณีศึกษาเรื่อง งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)
ก่อนปี 2537 คนอุบลฯ ยังไม่ค่อยรู้จัก “เจ้าคำผง” เลย วิธีการที่ใช้เพื่อให้คนรู้จัก คือ จัดพิมพ์หนังสือแจกปีละ 3,000 เล่ม ต่อเนื่อง 5 ปี (ทำไมต้องจัดพิมพ์หนังสือ เพราะหนังสือสามารถจัดเก็บได้นานกว่าสื่อชนิดอื่นๆ) ภายในงานพิธีบวงสรวงจะไม่มีการขายของ (ไม่มีการออกร้านขายของ) เพราะไม่อยากทำลายบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ ในงานอนุญาตให้คนนำหมากพลูมาถวาย …..

ความสำเร็จของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม (ศูนย์ศิลป์) มาจากการพัฒนาของ ผอ. ตั้งแต่สมัยอดีต แม้ว่า ผอ. จะถูกเปลี่ยนไปหลายคนแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ นโยบายของการบริหารที่มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทำให้ไม่ขาดตอน

ข้อมูลทั่วไปของหออุบลนิทัศน์
เริ่มต้นสร้างในวันที่ 17 กันยายน 2540 และเสร็จในวันที่ 9 เมษายน 2542 ใช้งบประมาณในการสร้าง 94 ล้าน

เมื่อได้อาคารมาแล้ว โจทย์ที่ยากก็ตามมาคือ “จะเริ่มต้นจัดแสดงกันอย่างไร”
ทำไมถึงยาก : เพราะเริ่มต้นที่ไม่มีข้อมูล ไม่มีวัตถุโบราณแสดง และข้อมูลกว้างมาก

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎหลายสาขาจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานเพื่อการค้นคว้าข้อมูล (แต่ละคณะถูกมอบหมายให้ค้นหาข้อมูลต่างกัน)

เคล็ดลับและแง่คิดก่อนที่จะเริ่มต้นค้นคว้า
– หากพูดถึงประวัติศาสตร์ ทุกคนจะรู้ว่ามันมีเรื่องที่มากมายในนั้น แต่สิ่งที่หออุบลนิทัศน์เน้น คือ เหตุการณ์ที่สำคัญในแต่ละยุคเท่านั้น ไม่ได้รวบรวมข้อมูลมาทั้งหมด
– แบ่งข้อมูลตามยุคสมัย เช่น ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ผาแต้ม), ยุคปฎิรูปการเมืองใน ร.5, ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯลฯ
– เนื้อหาที่นำมาแสดงต้องกระชับ เข้าใจง่าย และตัวอักษรต้องใหญ่ อ่านง่าย
– การนำเสนอข้อมูลต้องอาศัยภาพประกอบ วัสดุตัวอย่าง รวมไปถึงการสร้างโมเดลประกอบ
– การแบ่งพื้นที่ในหออุบลนิทัศน์แบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 4 ห้องหลัก
– สร้างความมีส่วนร่วมให้คนในชุมชน จัดกิจกรรมบริจาคภาพเก่าๆ ในอดีต
– มีการใช้ไวนิลเพื่อจัดนิทรรศการครั้งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี
– การจัดลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ และตามความสำคัญของเนื้อหา


ห้องแสดงนิทรรศการหลัก 4 ห้อง
มีดังนี้
1. ห้องภูมิเมือง – ภูมิศาสตร์ของเมืองอุบลราชธานี สภาพทางธรณีวิทยา ภาพถ่ายจากดาวเทียม
2. ห้องภูมิราชธานี – ประวัติของเมือง เน้นไฮไลท์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ สมัยก่อตั้งเมือง สถาปนาเมือง ก่อนการปฏิรูปการปกครอง ยุคปฏิรูปการปกครอง ร.5 กรมหลวงพิชิตปรีชากร กรมหลวงสรรพสิทธิ์ เหตุการณ์สำคัญ ขบถผู้มีบุญ
3. ห้องภูมิธรรม – พระธรรมต่างๆ พระอาจารย์หลายๆ คน
4. ห้องภูมิปัญญา – ภูมิปัญญาของชาวอุบล สมุนไพรพื้นบ้าน อาหารและครัวไฟ การแต่งกาย ภาษาและวรรณกรรม ดนตรีและนาฎศิลป์ มุมคนดีศรีอุบล

ข้อมูลเพื่อการติดต่อ
อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
2 ถนนแจ้งสนิท ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
โทรศัพท์ 0 4535 2000-29 ต่อ 1122

ปล. ข้อมูลที่สรุปมาจากการบรรยายและแผ่นพับที่อาจารย์นำมาแจกครับ


ก่อนจบอาจารย์ได้แนะนำเว็บไซต์ของ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีhttp://www.aac.ubru.ac.th ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้

LibCampUbon#2 : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน

หัวข้อแรกของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร”
โดยอาจารย์ปัญญา แพงเหล่า นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพท. อุบลราชธานี เขต 4


อาจารย์เริ่มต้นจากการแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง (อาจารย์เรียนจบช่างกลแต่ถนัดถ่ายภาพ)
และพูดถึงการเริ่มต้นสนใจเรื่องข้อมูลท้องถิ่น มาจาก “ความไม่รู้” ทำให้ “อยากรู้”

อาจารย์ย้ำก่อนที่จะเริ่มบรรยายว่า “อาจารย์ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบรรณารักษ์แต่อาจารย์สนใจเรื่องการรวบรวมข้อมูลและนำมาเผยแพร่ให้กับทุกคนได้อ่าน” ซึ่งอาจารย์ให้แง่คิดว่า “สื่อทุกอย่างน่าจะถึงมือประชาชน

อาจารย์ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานโครงการใหญ่ๆ 2 โครงการ คือ
1. การทำหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี
2. โครงการฮักแพง … แปงอุบล (ความผูกพัน….การเปลี่ยนแปลงในจังหวัดอุบลราชธานี) ปี 2546-2549

สารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน => เสียง ภาพ เรื่องเล่า …… เน้นที่ตัวคน
ข้อมูลได้ถูกรวบรวมมาจากหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเน้นไปที่ข้อมูลที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ภาพเก่าที่เก็บรักษา…..


อาจารย์ปัญญาเล่าให้ฟังถึงอุปสรรคและปัญหาที่ใหญ่ที่สุดให้ฟัง คือ….
ข้อมูลสูญหาย (ข้อมูลที่อาจารย์รวบรวมเอาไว้ในคอมพิวเตอร์หายหมดเลย เนื่องจากคอมพิวเตอร์เสีย)
แง่คิดที่อาจารย์ฝากไว้ คือ “การเก็บข้อมูลดีที่สุดคือเขียน บันทึกเป็นภาพถ่าย อย่าหวังเรื่องดิจิตอลมาก

ข้อมูลที่จัดเก็บได้ยาวนานที่สุด คือ การบันทึกข้อมูลด้วยการเขียน
บันทึกในสมัยโบราณ เช่น การบันทึกข้อมูลลงในใบลาน….

ตัวอย่างภาพเก่าที่อาจารย์ปัญญานำมาให้พวกเราได้ดูกัน

ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส
ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส

ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สารสนเทศท้องถิ่นทางประวัติศาสตร์
ในจังหวัดอุบลราชธานีมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ และพิพธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

เร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว “เว็บไซต์ร้อยเรื่องเมืองอุบล” ต้องรอติดตามกันต่อไปนะครับ

โครงการฮูปเก่า เว้าอุบล เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกต่อยอดมาจากโครงการฮักแพง … แปงอุบล
เป็นโครงการที่รวบรวมรูปภาพเก่าที่เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี เพียงแค่รูปภาพเราก็จะเห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี และความรุ่งเรืองของอดีต

วิธีง่ายๆ ในการจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (ขั้นตอนการรวบรวม)
1. ขอแค่เราถ่ายภาพให้เป็นก็เพียงพอแล้ว ถ่ายภาพสิ่งของใกล้ตัว เช่น อาคารที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้าง ถ่ายวันนี้ก็จะเป็นอดีตของวันหน้า
2. บันทึกเสียงเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญหรือเอกสารที่เราเขียนถึง

ตัวอย่างเรื่องราวที่น่าเก็บ เช่น ภาพถ่ายของการปล่อยนกปล่อยปลาในวัด วันนี้ปล่อยนกคู่ละ 60 บาท อีก 10 ปีถ้าเรามาถ่าย ณ จุดเดิมนี้ เราอาจจะเห็นราคาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันภาพถ่ายราคาอาหารในร้านๆ หนึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วกับตอนนี้คงไม่ใช่ราคาเดียวกันแน่ๆ สารสนเทศท้องถิ่นในลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่และเวลาด้วย

ข้อคิดสำหรับบรรณารักษ์ในเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นที่อาจารย์ฝากไว้ คือ
“บรรณารักษ์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ต้องรู้เรื่องทุกเหตุการณ์ในอดีตก็ได้ แต่ขอให้รู้ถึงความเป็นมาของท้องถิ่นก็เพียงพอแล้ว”

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของหัวข้อแรกในงาน libcampubon#2 นะครับ
วิทยากรท่านอื่นๆ ก็บรรยายได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ติดตามอ่านกันต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ครับ

ปล. ในการบรรยายของอาจารย์ปัญญาอาจพูดประเด็นสลับไปมา ผมขออนุญาติเรียบเรียงและยกตัวอย่างเพิ่มเติมครับ

รวมภาพการจัดงานเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ Libcampubon#2

ผ่านไปแล้วสำหรับงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
ก่อนที่จะไปอ่านบทสรุปของวิทยากรแต่ละคน ผมก็ขอประมวลภาพทั้งหมดมาให้ชมก่อนนะครับ
โดยภาพที่รวมนี้ตั้งแต่เริ่มจัดสถานที่จนถึงการถ่ายภาพรวมของผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคน


สถานที่ในการจัดงานของเราก็คือ บริเวณโถงกลางชั้น 1 ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
(แบบว่า open air มากๆ ซึ่งไม่ว่าจะนั่งส่วนไหนของห้องสมุดก็จะได้ยินการเสวนาแน่นอน)

ก่อนเริ่มงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทั้งหมด 45 คน ซึ่งเป็นอาจารย์ภาคบรรณฯ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัย นักศึกษาเอกบรรณารักษ์ และผู้ที่สนใจทั่วไป

เมื่อถึงเวลาเริ่มงาน…ก็ต้องมีการเกริ่นที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้เล็กๆน้อยๆ โดยผมเอง

เริ่มหัวข้อแรกด้วยเรื่อง สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร โดย อาจารย์ปัญญา


ต่อด้วยหัวข้อที่สองเรื่อง นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ โดย อาจารย์กิติรัตน์


หัวข้อที่สามเรื่อง การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ โดยอาจารย์ชำนาญ


หัวข้อที่สี่และหัวข้อที่ห้ารวมกัน เรื่องการเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร และกรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย โดยอาจารย์วิมานพร และผมเองครับ


ก่อนจบการสัมมนาในครั้งนี้ เรื่องแถม การแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นและแผนการพัฒนามุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยคุณดาหวัน


ไม่ลืมก่อนแยกย้ายก็ต้องถ่ายรูปรวมกันสักหน่อย

นี่ก็เป็นเพียงภาพบางส่วนเท่านั้นนะครับ ถ้าอยากชมแบบเต็มๆ ก็ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ
ประมวลภาพสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)

[nggallery id=39]

เป็นยังไงกันบ้างครับ ยังไงก็รออ่านบทสรุปต่อวันหลังได้เลยนะครับ

ปล. ขอบคุณสำหรับภาพงามๆ จากฝีมือทีมงานห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี