นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

นายห้องสมุดไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนานเลยนะครับ วันนี้ผมจึงขอนำเสนอห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ไปค่อนข้างบ่อยเช่นกัน นั่นคือ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” นั่นเอง เอาเป็นว่าในห้องสมุดแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้างไปอ่านกันดู

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (สังกัด กทม นะครับ) (ข้อมูลจากห้องสมุดประชาชนกรุงเทพฯ)

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ด้านหลังพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 และเปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดโดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 198 ตารางเมตร

การให้บริการภายในของห้องสมุดก็จะคล้ายๆ กับห้องสมุดประชาชนที่อื่นๆ นั่นแหละครับ เช่น

หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา

– บริการที่นั่งอ่านหนังสือ
– บริการยืมคืน
– บริการสื่อมัลติมีเดีย
– บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
– บริการหนังสืออ้างอิง
– บริการหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา (อันนี้เยี่ยมมากๆ)
– บริการมุมเด็ก
– บริการสอนใช้คอมพิวเตอร์
– บริการกาแฟ-เครื่องดื่ม
ฯลฯ อีกมากมาย ต้องลองไปใช้กันดูนะครับ

การสมัครสมาชิกเพียงแค่เพื่อนๆ นำบัตรประชาชนมา และเสียค่าสมาชิกเพียง 50 บาทต่อปี ก็จะได้รับบัตรสมาชิกอันแสนสวย
สมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการยืมหนังสือ 1 สัปดาห์ 4 เล่ม ครับ ถ้ายืมเกินก็เสียค่าปรับวันละ 1 บาทต่อ 1 เล่มครับ

เอาหล่ะครับ Hilight จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้
คือ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชน กับ บริษัท Microsoft นั่นเอง
แล้ว Microsoft มาช่วยอะไรห้องสมุดแห่งนี้บ้างหล่ะ …
– คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในมุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และห้องคอมพิวเตอร์
– CAI และสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta เพื่อการเรียนรู้มากมาย
– WIFI hotspot เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
– จัดบุคลากรมาสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ

มาที่นี่แล้วทำให้ผมรู้สึกว่า “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” ของกรุงเทพฯ มันช่างเป็นสถานที่ๆ เหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง แล้วไม่รู้จะทำอะไรก็มาลองใช้ห้องสมุดแห่งนี้ได้นะครับ

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี เปิดให้บริการ วันอังคาร – เสาร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 20.00 น. วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ปิดบริการในวันจันทร์ ติดต่อสอบถาม โทร. 02-252-8030

ชมภาพห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีทั้งหมดได้เลยครับ

[nggallery id=52]

วิจารณ์และพาชมห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคม

อย่างที่เมื่อวานได้เกริ่นเอาไว้ว่ามาบรรยายที่โรงเรียนค้อวังวิทยาคมทั้งที เลยขอเยี่ยมชมห้องสมุดในโรงเรียนนี้ดูบ้าง และขอเก็บภาพต่างๆ มาด้วย เพื่อลงในบล็อก Libraryhub วันนี้เลยขอทำตามสัญญาเอาเรื่องนี้มาลงให้อ่านและชมภาพกัน

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดที่จะพาไปชม
สถานที่ : ห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคม
ที่อยู่ : 85 หมู่.7 ตำบลค้อวัง อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร 35160
เว็บไซต์ : http://www.kww.ac.th/web54/index.php

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำอำเภอนะครับ ทำการสอนในระดับมัธยมศึกษา (ตั้งแต่ ม. 1- ม. 6) จำนวนนักเรียนรวมแล้วประมาณเกือบ 1000 คน

ห้องสมุดโรงเรียนแห่งนี้เพิ่งจะได้รับการพัฒนาและปรับปรุงด้านสถานที่หลายส่วนด้วยกัน เช่น มีการติดแอร์ในห้องสมุด และออกแบบมุมบริการต่างๆ ในห้องสมุดมากมาย

หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ครอบคลุมเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนหรืออ่านประกอบการเรียน มีการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบดิวอี้

การยืมคืนก็คงคล้ายๆ กับห้องสมุดโรงเรียนอื่นๆ แหละครับ คือ แบ่งการยืมคืนเป็นสองส่วนคือระดับนักเรียนและครูอาจารย์

จากการเดินสำรวจรอบๆ พบว่า
1. ชั้นที่เก็บจุลสาร จดหมายข่าวยังดูเละเทะไม่เรียบร้อย
คำแนะนำ = เลือกจัดเก็บข่าวสารที่มีประโยชน์ หรือ ตัดบทความที่น่าสนใจเก็บไว้ เพื่อทำกฤตภาคออนไลน์ต่อไป

2. การจัดนิทรรศการในห้องสมุดมีพื้นที่ค่อนข้างน้อย
คำแนะนำ = สามารถจัดวางนิทรรศการบนโต๊ะอ่านหนังสือได้เลย หรือทำป้ายคำคมที่เกี่ยวกับการอ่านมาแปะไว้บริเวณรอบๆ ห้องสมุด

3. มุมโต๊ะที่อ่านหนังสือค่อนข้างคมมาก (กลัวเด็กชนแล้วหัวจะแตก)
คำแนะนำ = หานวมมาหุ้มบริเวณมุมโต๊ะลดอันตรายที่จะเกิดขึ้น

***ผมคอมเม้นต์ให้ทางทีมงานห้องสมุดได้รับทราบแล้ว และคาดว่าจะมีการปรับปรุงเร็วๆ นี้

เอาเป็นว่าที่เหลือผมว่าก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะผู้ใช้บริการมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเหมือนกัน (สำหรับโรงเรียนต้องระวังมากๆ ด้วยเพราะ Tablet กำลังจะมา) ผมก็จะขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ บรรณารักษ์ทุกๆ คนด้วยเหมือนกัน

ปล. ที่ห้องสมุดไหนอยากให้ผมไปเยี่ยมชมและวิจารณ์ก็ติดต่อมาได้ครับยินดีมากๆ ถ้าไม่ไกลมากไม่คิดค่าบริการอยู่แล้ว อิอิ

ชมภาพห้องสมุดโรงเรียนค้อวังวิทยาคมทั้งหมดได้ที่นี่เลย

[nggallery id=48]

การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)

หลังจากฟังการบรรยายของวิทยากรหลายๆ คนในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ช่วงบ่ายของวันที่ 3 สิงหาคมก็มีการจัดไปศึกษาดูงานกันที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ผมจึงขอตามไปดูงานด้วย และได้เก็บภาพต่างๆ มามากมายเพื่อให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาได้ชมห้องสมุดกัน

การไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ของกลุ่มบรรณารักษ์การแพทย์ค่อยข้างจะสนุกกว่าทุกที่ที่ผมเคยพบ นั่นคือทางเจ้าภาพของงานได้เหมารถ ปอ สีส้ม สาย 77 จำนวน 1 คัน เป็นรถที่จะพาเราไปศึกษาดูงาน เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร วิทยากร ผู้ฟัง ต่างก็ได้ใช้บริการรถเมล์คันดังกล่าวทั้งนั้น บางคนนั่ง บางคนยืน สนุกสนานครับ เดี๋ยวลองดูในอัลบั้มรูปแล้วกันนะครับ

พอไปถึงที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ก็เกิดอุปสรรคขึ้นนิดหน่อย คือ จำนวนผู้ที่เข้าชมเกือบๆ 70 กว่าคนครับ เลยต้องแบ่งการเข้าชมออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ผลัดกันชมด้านนอกกลุ่มนึงด้านในกลุ่มนึง

เคยได้ยินคนพูดว่า ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) เป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ

เรื่องของประวัติความเป็นมาของห้องสมุด (ของลอกมาจากวิกิพีเดีย : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%8C)

สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) จดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งสมาชิกเป็นสุภาพสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีนำมาจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพโดยมีข้อบังคับของสมาคมที่ให้การบริหารงานนั้นต้องประกอบไปด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีจำนวนไม่เกิน 12 คน

นายกสมาคมคนแรกซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็คือ นาง Sarah Blachley Bradley ซึ่งเป็นภรรยาของคุณหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley)

ในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อ จากสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ เป็น สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ

ส่วนชื่อปัจจุบันของห้องสมุด คือ สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ นั้นมาจากชื่อของนาง Jennie Neilson Hays ซึ่งชื่อเดิมของ นาง Jennie Neilson Hays คือ Jennie Neilson เป็นชาวเดนมาร์ก ครอบครัวได้อพยพไปอยู่อเมริกาต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชั่นนารีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 และได้พบกับคุณคุณหมอ Thomas Heyward Hays ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2429 และทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2430

ต่อมานาง Jennie Neilson Hays ได้เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุดโดยเตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 ตลอดเวลาเธออุทิศตัวและเวลาเพื่อทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในปี เธอทำงานให้กับห้องสมุดเป็นเวลาถึง 25 ปี และเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือน เมษายน พ.ศ. 2463

ตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุดในปี พ.ศ. 2414 เป็นต้นมาห้องสมุดไม่มีสถานที่ทำการถาวรย้ายไปตามที่ที่จะได้รับอนุเคราะห์จากสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนาง Jennie Neilson Hays ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2463 ด้วยความรักที่เธอมีต่อห้องสมุด คุณหมอ Thomas Heyward Hays จึงได้สร้างอาคารถาวรและซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อยกให้เป็นของห้องสมุดและเป็นที่ระลึกถึงภรรยาของท่าน ดังนั้นสมาคมห้องสมุดกรุงเทพ (The Bangkok Library Association) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดเนลสันเฮย์” พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จเริ่มเปิดทำการในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2465 โดยสถานที่ตั้งนั้นอยู่ที่ เลขที่ 193,195 ถนนสุรวงศ์ และปัจจุบันห้องสมุดก็ยังเปิดให้บริการอยู่

อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ นายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) และสถาปนิกผู้ช่วยชื่อนายจีโอวานี แฟร์เรโร (Mr.Giovanni Gerreo)ลักษณะอาคารเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิค โดยผังอาคารเป็นรูปตัว H ทางเข้าเป็นห้องทรงกลมหลังคาทางเข้าเป็นโดม ซึ่งปัจจุบันทางเข้าเดิมได้ปิดและปรับปรุงให้ใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะโดยใช้ห้องนี้ชื่อว่า Rotunda Gallery ส่วนทางเข้าไปย้ายไปอยู่ด้านข้างแทน

อาคารห้องสมุดเนลสันเฮย์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

นี่ก็เป็นเรื่องราวแบบคร่าวของความเป็นมาเกี่ยวกับห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ที่ผมประทับใจ คือ เรื่อง การสร้างห้องสมุดเพื่อเป้นที่ระลึกแก่ภรรยาที่เสียชีวิต เรื่องราวคล้ายๆ ทัชมาฮาล เลยนะครับ

ข้อมูลทั่วไปที่นายบรรณารักษ์ไปสังเกต
– หนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดครับ
– การจัดหนังสือใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– มีตู้บัตรรายการใช้อยู่ด้วย
– อยู่ในระหว่างการปรับปรุงห้องนิทรรศการ และห้องสมุดบางส่วน
– ตู้หนังสือทุกตู้มีกระจกปิดเพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้า และรักาาความชื้นในห้องสมุดด้วยระบบการระบายอากาศที่ดี
– กิจกรรมสำหรับเด็กจะจัดทุกเสาร์ โดยมีอาสาสมัครมาช่วยจัด
– ค่าเข้าใช้บริการ ครั้งละ 50 บาท (เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาห้องสมุด)

อัตราค่าสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้
– ประเภทครอบครัว 3300 บาทต่อปี
– ประเภทบุคคลทั่วไป (อายุ 22 ปีขึ้นไป) 2500 บาทต่อปี
– ประเภทผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 1500 บาทต่อปี
– ประเภทเด็ก (อายุ 12 ปีขึ้นไป) 1700 บาทต่อปี

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ได้ที่ http://www.neilsonhayslibrary.com

หรือถ้าอยากไปชมสถานที่จริงก็สามารถเดินทางไปได้อยู่แถวๆ ถนนสุรวงศ์ หรือสอบถามทางได้ที่เบอร์ 0-2233-1731 นะครับ

ชมภาพการไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ทั้งหมด

[nggallery id=46]

นายบรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน

ไปเที่ยวหัวหินกันมั้ยๆๆๆๆ ไหนๆ ก็มีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งที ก็ขอแวะห้องสมุดแถวๆ นั้นกันสักหน่อย
ห้องสมุดแห่งหนึ่งที่น่าสนใจของหัวหินและอยู่ใกล้จุดที่คนชอบไปถ่ายรูป คือ ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน


ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน แค่ชื่อเพื่อนๆ ก็คงเดาได้ว่าหน้าตาของห้องสมุดมันต้องเป็นห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟแน่ๆ
อ่ะ ถูกต้องครับ “ห้องสมุดที่อยู่บนรถไฟ” และที่สำคัญมันอยู่ที่ “หัวหิน” และตั้งอยู่ใกล้ๆ “สถานีรถไฟหัวหิน”

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดการรถไฟแห่งที่ 3 ของประเทศนะครับ เปิดให้บริการในวันที่ 26 กันยายน 2552
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด

ความคิดริเริ่มในการเปิดห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำตู้รถไฟเก่ามาปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดรถไฟ เพื่อที่จะขยายการบริการด้านการศึกษาค้นคว้าและเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว นั่นเอง

ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน ได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานในการพัฒนาและปรับปรุง ได้แก่
– การรถไฟแห่งประเทศไทย นำรถไฟเก่ามาปรับปรุงใหม่
– กศน ดูแลในส่วนการจัดการสื่อและการให้บริการห้องสมุด
– จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริจาคเงินเพื่อตกแต่งภายใน รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในห้องสมุด
– เทศบาลเมืองหัวหิน ดูแลเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านนอกห้องสมุด และสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง


ภายในภาพรวมยังคงมีกลิ่นความเป็นรถไฟอยู่ด้วย โดยเฉพาะที่นั่งอ่านหนังสือยังคงใช้เก้าอี้ที่ใช้ในตู้รถไฟปรับอากาศ (คิดถึงภาพเก้าอี้นวมในรถไฟได้เลย) แถมด้วยเฟอร์นิเจอร์บางอย่างก็ยังคงใช้อุปกรณ์ที่มาจากตู้รถไฟเดิมด้วย


การจัดการเรื่องสื่อ (หนังสือ วารสาร นิตยสาร….)

– มีการรับสมัครสมาชิกเหมือนห้องสมุดประชาชน
– ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ใช้คือ PLS 5 (ของกศน.)
– การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– การจัดวางหนังสือยึดหลักหมวดหมู่ไม่ได้เรียงตามเลขหมู่ เช่น หมวดอาหาร หมวดธรรมะ หมวดภาษา


ใครที่สนใจอยากจะไปเยี่ยมชมต้องมาในวันจันทร์-เสาร์เท่านั้นนะครับ และในช่วงเวลา 9.00-17.00
ด้วย
เพราะนอกนั้นในวันอาทิตย์ หรือวันหยุดอื่นๆ ห้องสมุดปิดนะครับ

เอาหล่ะพาเที่ยวพอแล้วดีกว่า ใครมีโอกาสก็ลองไปชมกันดูเองนะครับ
หรือจะดูรูปภาพห้องสมุดโดยรวมจากด้านล่างนี้ก็ได้ สำหรับวันนี้ก็ไปแล้วนะครับ

ชมภาพห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินทั้งหมดได้ที่

[nggallery id=44]

ร้านหนังสือมีสไตล์ ณ หัวหิน Rhythm & Books

ไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวนานแล้ว วันนี้เลยขอพาเที่ยวแบบชิวๆ ให้เพื่อนๆ ได้ติดตามแล้วกัน
วันนี้ผมขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวมี่หัวหินนะครับ (ไม่ใกล้ไม่ไกลกรุงเทพฯ ด้วย)
(จริงๆ แล้วที่ไปหัวหิน จุดประสงค์หลักคือถ่ายภาพสำหรับงานแต่งงานของผม (prewedding))

สายๆ ของวันอาทิตย์ก่อนกลับ กรุงเทพฯ ผมก็ออกมาหาของกินรองท้องสักหน่อย
ซึ่งก็เลยขับรถมาหาของกินบริเวณถนนแนบเคหาสน์ และก็จอดรถลงมากินก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่แสนอร่อย
ในระหว่างที่กำลังกินอยู่ตาก็ชำเลืองไปเห็นร้านอยู่ร้านหนึ่งชื่อ “Rhythm & Books”
ก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นไอความเป็นร้านหนังสือ (ตามสไตล์ของคนที่ชอบหนังสือ)
ดังนั้นเมื่อกินข้าวเสร็จ ผมก็ไม่รอช้าที่จะต้องแวะเข้าไปชมสักหน่อย

แต่ก่อนจะเข้าไปในร้านก็ขอหาข้อมูลนิดนึงจากอินเทอร์เน็ต
ในที่สุดก็พบว่า “ร้านหนังสือร้านนี้เป็นของนักเขียนชื่อดังคนนึงนั่นเอง”

คุณภาณุ มณีวัฒนกุล (พี่บาฟ)

เจ้าของร้านหนังสือร้านนี้ คือ พี่บาฟ หรือ “คุณภาณุ มณีวัฒนกุล”
นักเขียนนักเดินทาง “คนทำสารคดี” ที่เดินทางไปเกือบทั่วโลก

พอเข้าไปก็เจอกับพี่เขาเลย พี่เขาต้อนรับดีมากๆ เข้ามาพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผม
ได้พูดคุยกันสักพักผมก็เลยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของวงการหนังสือ
และแง่คิดที่หนังสือมีให้ต่อผู้อ่าน
เช่น การอ่านการ์ตูนก็สามารถแทรกแง่คิดให้ผู้อ่านได้ด้วย

ภายในร้าน Rhythm & Books มีขายอะไรบ้าง
– หนังสือมือสอง
– สมุดทำมือ
– ของฝากจากหัวหิน
– ภาพวาด
– เพลง
– ฯลฯ

นอกจากนี้ยังผู้ถึงความเป็นมาของร้านหนังสือร้านนี้และแรงจูงใจที่พี่บาฟมีต่อร้านนี้ด้วย
ซึ่งสิ่งๆ นั่น คือ “ความรักในหนังสือ” นั่นเอง กลับมาย้อนคิดผมเองก็คงคล้ายๆ กัน คือ “รักในห้องสมุด”

“ทำอะไรก็ได้ที่ใจรัก มันจะทำให้เรามีความสุข และไม่รู้จักเหนื่อยหน่ายกับมัน”

แม้ในวันนี้ร้านของพี่บาฟอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากแต่ ผมเชื่อครับว่าสักวันร้านของพี่บาฟจะต้องมีคนมาเยี่ยมชมมากขึ้น
พี่บาฟที่บอกผมอีกว่า จริงๆ แล้ว กำลังใจอีกอย่างที่พี่บาฟประทับใจ คือ การได้พูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมชมร้านนั่นแหละ

ผมว่าถ้าบรรณารักษ์หลายๆ คนคิดแบบพี่บาฟ ผมว่าคงจะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ
เอาเป็นว่าวันนี้ก็ขอแนะนำร้านนี้ไว้เท่านี้แล้วกัน ใครที่ผ่านมาเที่ยวที่หัวหินก็อย่าลืมมาแวะที่นี่ด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ก็แอบประทับใจและสัญญาว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมมาหัวหิน ผมจะแวะมาที่ร้านหนังสือร้านนี้อีก
แล้วพบกันอีกนะครับ “Rhythm & Books” และยินดีที่ได้รู้จักอีกครั้งครับ พี่บาฟ

ที่อยู่ของ Rhythm & Books เลขที่4/56 ถนนแนบเคหาสน์ ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ 77110 หมายเลขโทรศัพท์ 0814729390
จุดสังเกตง่ายๆ คือ ร้านจะอยู่ในซอยที่เยื้องๆ กับร้านเค้ก บ้านใกล้วัง เข้าซอยมาจะเจอทาวน์เฮาส์หลังที่สาม

ชมภาพบรรยากาศภายในร้าน Rhythm & Books

[nggallery id=41]

พาเที่ยวห้องสมุด SCG ? XP Library

พาเที่ยวห้องสมุดในวันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวของการไปเยี่ยมชมห้องสมุดของ SCG (XP Library)
จริงๆ แล้วผมไปเยี่ยมชมที่นี่มาเมื่อประมาณปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะว่าง เลยเอามาเล่าวันนี้
เอาเป็นว่าไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ ห้องสมุดแห่งนี้มีความพิเศษในหลายๆ อย่างยังไงบ้าง

ภายใน SCG XP ส่วนที่เป็นห้องสมุด (XP Library) จะอยู่ชั้น 2 และส่วนพื้นที่นิตยสาร (XP Magazine) จะอยู่ที่ชั้น 1


ห้องสมุด XP Library นี้เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบและตกแต่งภายในที่ดีมาก
บรรยากาศโดยทั่วๆ ไปภายในห้องสมุดเหมาะแก่การนั่งอ่านหนังสือมากๆ

การจัดหมวดหมู่หนังสือของที่นี่ไม่ได้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้หรือแอลซีหรอกนะครับ
แต่ที่นี่คิดการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบฉบับของตัวเอง (เพราะเป็นห้องสมุดเฉพาะ)

ซึ่งแยกหนังสือหลักๆ ออกเป็น
– สถาปัตยกรรม
– ออกแบบและตกแต่ง
– วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
– การจัดสวน
– การออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์

สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นห้องสำหรับคุยงานเป็นกลุ่ม (สำหรับปรึกษางาน)
และยังมีบริการถ่ายเอกสารและสแกนหนังสือด้วยนะครับ

ในส่วนที่เป็น XP Magazine มีระบบสืบค้นที่ค่อนข้างทันสมัยซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท HP ในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบหน้าจอสัมผัสและโปรแกรมที่พัฒนามาเพื่อการนำเสนอข้อมูลนิตยสาร (ต้องลองไปเล่นดูนะ สุดยอดจริงๆ)

ระบบสืบค้นหนังสือบนเว็บไซต์ก็ทันสมัยมากๆ
http://www.scgexperience.co.th/th/service/library.aspx

อ๋อ แต่ต้องบอกก่อนนะว่า ห้องสมุดแห่งนี้เข้าได้เฉพาะสมาชิก (SCG XP) เท่านั้นนะครับ
แต่สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถทดลองเข้าฟรีได้ 1 ครั้ง (คล้าย TCDC)

การเป็นสมาชิกของที่นี่ไม่ใช่แค่สมาชิกห้องสมุดนะครับ แต่ต้องเป็นสมาชิกของ SCG XP เลยซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย
โดยสมาชิกของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ
1. Student Member (200 บาทต่อ 1 ปี)
2. Customer Member (600 บาทต่อ 2 ปี)
3. Professional Member (1000 บาทต่อ 2 ปี)

สิทธิประโยชน์ที่เด่นๆ สำหรับสมาชิก
– ใช้บริการ มุม XP Magazine ได้ฟรี (นิตยสารดีๆ จากทั่วโลก เรื่องการออกแบบและตกแต่งกว่า 250 ชื่อเรื่อง)
– ใช้บริการ XP library ได้ (หนังสือด้านการออกแบบภายใน ตกแต่งสวน วิศวกรรมโยธา การสร้างบ้าน)
– Internet Wifi สามารถใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายได้วันละ 2 ชั่วโมง
– นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มภายใน XP Cafe ได้อีก
– ยิ่งไปกว่านั้นใช้เป็นบัตรลดในการซื้อหนังสือที่ Asia book ได้ด้วย

เอาเป็นว่าสำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็เข้าไปดูได้ที่
http://www.scgexperience.co.th นะครับ
เว็บไซต์ของส่วนงานห้องสมุด XP Libraryhttp://www.scgexperience.co.th/th/service/library.aspx

เป็นยังไงกันบ้างครับกับห้องสมุดแห่งนี้ ผมเองไม่ได้ไปมาปีกว่าๆ แล้ว แต่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายๆ ส่วนที่เปลี่ยนไป
และผมเชื่อว่าต้องเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นแน่ๆ ดังนั้นเพื่อนๆ คนไหนว่างก็แนะนำให้ไปชมนะครับ

ก่อนจากกันในวันนี้ก็ขอทิ้งท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายใน SCG XP และ XP library นะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อนไว้จะพาไปเที่ยวห้องสมุดที่อื่นๆ บ้างนะครับ อิอิ

ชมภาพบรรยากาศภายใน SCG XP และ XP library

[nggallery id=37]

แวะมาชมห้องสมุดศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

วันนี้มีโอกาสมาเดินเล่น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เลยขอแวะมาชมห้องสมุดของที่นี่สักหน่อย
ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ ชั้นใต้ดินของ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”


เอาเป็นว่าผมขอนำเสนอข้อมูลตามสไตล์บรรณารักษ์ที่ชอบเที่ยวห้องสมุดแล้วกัน ดังนี้

Collection หลักๆ ของหนังสือที่นี่มีดังนี้
– หนังสือทั่วไป
– นวนิยาย
– เรื่องสั้น
– พระราชนิพนธ์ (ไม่ให้ยืม)
– หนังสืออ้างอิง
(ไม่ให้ยืม)
– หนังสือด้านศิลปะ (Collection หลักในห้องสมุดแห่งนี้)
– หนังสือเด็ก (มีมุมพิเศษที่แยกออกจากโซนปกติ)

การจัดกิจกรรมของห้องสมุดแห่งนี้ก็จะเน้นในเรื่องของกิจกรรมด้านศิลปะเป็นหลัก (เข้ากับสถานที่)
เช่น การทำที่คั่นหนังสือ การทำโปสการ์ด ….. โดยกิจกรรมเหล่านี้เด็กๆ จะชอบมากๆ

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมด้านไอทีบ้าง เช่น ไอทีเพื่อคนรุ่นใหม่ ฯลฯ

การเข้าใช้บริการห้องสมุดของที่นี่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอด
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ห้องสมุดที่นี่ก็ขอความกรุณาให้ลงชื่อเข้าใช้ด้วย

ที่นั่งในห้องสมุดแห่งนี้มีเยอะมากและเลือกนั่งได้หลายแบบ เช่น โต๊ะอ่านเป็นกลุ่ม ที่นั่งแบบโซฟา ฯลฯ
จำนวนที่นั่งผมนับคร่าวๆ จำนวนเกือบๆ 100 ที่นั่ง
นับว่าเยอะดีครับ

บรรยากาศภายในก็เงียบสงบดี เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้สมาธิเพื่อการอ่านหนังสือ
นอกจากหนังสือที่ให้บริการแล้วที่นี่ยังมีคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการด้วยนะครับ

การสมัครสมาชิกก็เหมือนกับห้องสมุดในกรุงเทพแห่งอื่นๆ แหละครับ (สังกัดเดียวกัน)
คือสมัครสมาชิกปีนึง 10 บาท และค่ามัดจำหนังสือ 40 บาท รวมๆ แล้ว 50 บาทครับ
ผมว่าคุ้มค่ามากๆ ยืมหนังสือได้ 2 เล่ม 1 สัปดาห์ หากคืนเกินกำหนดก็จะปรับเล่มละ 1 บาทต่อ 1 วัน

ที่นี่มี WIFI ให้ใช้ด้วยนะครับ แต่ต้องมาแจ้งที่เคาน์เตอร์บริการทุกครั้ง
เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนรหัสสำหรับการเข้าใช้ทุกวัน
โดยเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนทุกวันเนื่องจากต้องการเก็บสถิติการใช้งาน Wifi ในห้องสมุดครับ

ห้องสมุดแห่งนี้มี facebook ด้วยนะ ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.facebook.com/artlibrary

เอาเป็นว่าหากใครว่างๆ และแวะมาเที่ยวแถวๆ นี้ ผมก็ขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้ไว้เป็นที่อ่านหนังสือดีๆ อีกที่หนึ่ง

สำหรับการเดินทางมาที่นี่ เพื่อนๆ สามารถดูคำแนะนำด้านล่างนี้ได้เลย
“หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน 10330 เปิดให้บริการในวันอังคาร-วันอาทิตย์ ในเวลา 10.00-21.00 น. มีรถประจำทางสาย 11, 15, 16, 21, 25, 29, 34, 36, 47, 50, 54, 79, 93, 141, 204, 501 ผ่าน และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสถานีสยาม แล้วเดินมาตามทางเชื่อมเข้าสู่อาคารหอศิลปวัฒนธรรมฯ ได้เลย

ชมภาพบรรยากาศภายในห้องสมุดได้เลยครับ (ภาพบางส่วนผมนำมาจาก facebook ของห้องสมุดนะครับ)

[nggallery id=34]

นายบรรณารักษ์พาเที่ยวห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

หลังจากที่ป่วยมาหนึ่งวัน พอฟื้นปุ๊บก็เกิดอารมณ์อยากเที่ยวทันที ดังนั้นอย่ารอช้าหาที่เที่ยวกันเลยดีกว่า
แต่เที่ยวตามสไตล์นายห้องสมุดทั้งทีมันก็ต้องเกี่ยวกับห้องสมุดสักหน่อย วันนี้ผมจึงพาเที่ยวห้องสมุดเช่นเดิม

ห้องสมุดที่ผมพาไปวันนี้อยู่ที่ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่น่าสนใจมากจริงๆ ครับ
ห้องสมุดแห่งนี้ชื่อว่า “ห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์” (NitasRattanakosin Library)
เอาเป็นว่าผมขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้ตามสไตล์บรรณารักษ์พาเที่ยวนะครับ (ข้อมูลอาจจะออกไปทางห้องสมุดหน่อย)

โปรแกรมห้องสมุดที่ใช้ (โปรแกรมที่ใช้ในการสืบค้นและการจัดเก็บข้อมูลสื่อสารสนเทศ) คือ Alice for window
ระบบการจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ และใช้แถบสี (Spine Label) ในการแบ่ง collection ของสื่อสารสนเทศ

Collection ของสื่อสารสนเทศที่มีในห้องสมุดแห่งนี้

– พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ
– สัพเพเหระ
– ศิลปะรัตนโกสินทร์
– สังคมรัตนโกสินทร์
– หนังสือแนะนำ
– วรรณคดี นวนิยาย
– กิน เที่ยว
– นิตยสารที่นี่บอกรับไว้ประมาณ 16 ชื่อเรื่องครับ (อันนี้เดินไปนับเลย)
– หนังสือพิมพ์
– พระราชพิธี
– ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
– พระราชประวัติ พระบรมวงศานุวงศ์
– พระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์
– เกร็ดความรู้
– ประวัติและผลงานบุคคลสำคัญ
– สื่อมัลติมีเดีย

ห้องสมุดแห่งนี้ไม่มีบริการให้ยืมหนังสือออกนอกห้องสมุดนะครับ
ดังนั้นจึงมีบริการเสริมจำพวกถ่ายเอกสารหรือสแกน ซึ่งมีอัตราค่าบริการต่างๆ ดังนี้
– ถ่ายเอกสาร แผ่นละ 2 บาท
– สแกนแต่ไม่พิมพ์ 10 บาท
– สแกนและพิมพ์ขาวดำ 15 บาท
– สแกนและพิมพ์สี 20 บาท
– พิมพ์งานจากไฟล์อินเทอร์เน็ต 5 บาท

ภายในห้องสมุดบรรยากาศดีมากๆ มีที่นั่งแบบสบายๆ ให้เลือกหลายสไตล์
เช่น แบบเบาะนุ่มๆ นั่งอ่านชิวๆ หรือแบบนั่งกับไม่กระดาน แบบเท่ห์ๆ หรือแบบโต๊ะกลุ่ม แบบคนทำงาน ฯลฯ

นอกจากเรื่องที่นั่งแล้ว ชั้นหนังสือก็สวยงามมากมายครับ ดีไซน์ได้ดูดีมากๆ

หนังสือในห้องสมุดอาจจะดูน้อยไปสักนิดแต่ผมเชื่อว่าเป็นหนังสือที่เลือกแล้วว่าดีจริงๆ
หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์หลายเล่มหาอ่านได้ยากที่นี่ก็มีบริการ แบบว่าทึ้งจริงๆ

สมาชิกของห้องสมุดก็ปีละ 100 บาทเท่านั้น (สำหรับประชาชนทั่วไป) ส่วนเด็กๆ ก็นำบัตรนักเรียนมาเข้าฟรีนะ
หรือถ้าใครมาชมนิทรรศการแล้วมีบัตรเข้าชมนิทรรศการก็สามารถเข้าห้องสมุดฟรีครับ
ถ้าใครแค่อยากแวะเข้ามาชมห้องสมุดอย่างเดียวก็เสียค่าเข้าชม 20 บาท (1 day pass) ครับ
แต่ 20 บาทก็ไม่ได้ไปไหนหรอกนะครับ ได้เข้าชมห้องสมุดแถมด้วยชั่วโมงอินเทอร์เน็ตอีก 1 ชั่วโมงครับ

แค่วันนี้ผมแวะมา ผมก็สมัครสมาชิกแล้วครับ 1 ปี สิทธิประโยชน์ก็คือ เข้าห้องสมุดได้ตลอดแล้วก็อินเทอร์เน็ตอีก 1.5 ชั่วโมงครับ
ยิ่งไปกว่านั้น บัตรใบนี้เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ครับ คือแตะที่ประตูเข้าห้องสมุดแล้วประตูก็เปิดออกเองอัตโนมัติด้วยครับ
แบบว่ามันไฮเทคมากๆ เลยครับ ผมชอบมากๆ เลย

ที่นี่มีบริการให้เช่าห้องประชุมด้วยนะครับ ซึ่งห้องประชุมก็เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย
แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่ามีค่าใช้บริการ (จะบอกว่าแอบแพงนิดนึง แต่ผมว่าถ้าจัดกิจกรรมก็คงคุ้มอ่ะ)
ค่าบริการของห้องประชุมไม่เกิน 4 ชั่วโมง คิด 2000 บาท ถ้า 4-8 ชั่วโมง คิด 4000 บาท
และถ้าเกินกว่า 8 ชั่วโมงคิดอัตราชั่วโมงละ 500 บาท
(จริงๆ ค่าใช้งานห้องประชุมเฉลี่ยชั่วโมงบละ 500 บาทอยู่แล้ว)

เอาเป็นว่าวันนี้ผมก็ขอแนะนำห้องสมุดแห่งนี้แบบคร่าวๆ ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ
อยากให้เพื่อนๆ ลองมาใช้บริการกันดู แล้ววันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังใหม่หลังจากไปที่นี่บ่อยๆ แล้ว
ห้องสมุดดีๆ แบบนี้ ผมก็อยากแนะนำให้เพื่อนๆ มากันมากๆ เลยครับ นายห้องสมุดคอนเฟิมว่าดีจริงๆ


เว็บไซต์นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ : http://www.nitasrattanakosin.com/index.php

แอบโฆษณากิจกรรมที่น่าสนใจของห้องสมุดแห่งนี้นิดนึงนะครับ ห้องสมุดจะมีกิจกรรมศิลปะประดิษฐ์? (ทุกวันศุกร์ 16.00-18.00)
วันที่ 5 และ 12 พ.ย. –> พวงกุญแจ “ดนตรีเริงรมย์”
วันที่ 19 พ.ย. –> กระทงแก้วเก้า
วันที่ 26 พ.ย. –> ที่คั่นหนังสือ “ดนตรีในดวงใจ”

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง หรืออยู่ใกล้ๆ แล้วอยากร่วมก็ขอเชิญนะครับ

ปล. ห้องสมุดแห่งนี้ภายในไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพนะครับ ผมเลยเก็บรูปมาได้ไม่มาก เอาไว้จะแอบถ่ายมาเรื่อยๆ แล้วกัน 555

นายบรรณารักษ์พาทัวร์ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง

ไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนาน วันนี้ผมจึงขอจัดทริปเล็กๆ ในการไปเที่ยวห้องสมุดบ้างแล้วกันนะครับ
ห้องสมุดที่ผมจะพาไปวันนี้คือ ห้องสมุดที่อยู่ในกรุงเทพฯ ครับ นั่นคือ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง


นั่นเองห้องสมุดแห่งนี้อยู่ใกล้ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครับ เพื่อนๆ จะมารถเมล์ หรือลงรถไฟฟ้าแล้วเดินมาก็ได้นะครับ
พูดง่ายๆ ว่ามาที่นี่สะดวกมากๆ ครับ

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาห้องสมุดของกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่งนะครับ
โครงสร้างอาคารแบ่งออกเป็นสองอาคารใหญ่ๆ แต่เชื่อมถึงกันนะครับ

ภายในอาคารแต่ละหลังมีบริการดังนี้
อาคาร 1 ชั้น 1? – เคาน์เตอร์บริการยืมคืน ฝากของ หนังสือพิมพ์ วารสาร มุมสืบค้น
อาคาร 1 ชั้น 2? – บริการที่นั่งอ่านหนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง หนังสือวิชาการ
อาคาร 1 ชั้น 3 – บริการที่นั่งอ่านหนังสือ นวนิยบาย เรื่องสั้น เรื่องแปล
อาคาร 2 ชั้น 1 – ห้องสมุดสำหรับเด็ก
อาคาร 2 ชั้น 2 – ห้องทำการบ้าน
อาคาร 2 ชั้น 3 – ห้องมินิเธียร์เตอร์ (ดูหนัง)

บริเวณลานกว้างด้านหน้าห้องสมุดมีไว้จัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยนะ
เพื่อนๆ คนไหนอยากจัดกิจกรรมกลางแจ้งก็ลองมาขอพื้นที่ดูนะครับ (ทำเรื่องไปที่ กทม เลย)
รับรองว่าที่นี่จัดกิจกรรมได้สะดวกมากๆ แถมอยู่ใจกลางเมืองด้วย


ห้องสมุดแห่งนี้ปิดวันจันทร์วันเดียวนะครับ วันอื่นๆ สามารถมาใช้บริการได้ตามปกติ
ห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ใช้บริการบ่อยๆ แหละครับ เพราะว่าห้องสมุดปิดบริการ 2 ทุ่ม
ผมมักจะมายืมหนังสือช่วงทุ่มกว่าๆ ประจำเพราะเป็นทางกลับบ้านผมด้วย

ที่นี่สมัครสมาชิกถูกมากครับ ปีนึง 10 บาท และค่ามัดจำหนังสือ 40 บาทเอง
รวมๆ แล้ว 50 บาทผมว่าคุ้มค่ามากๆ ยืมหนังสือได้ 2 เล่ม 1 สัปดาห์ หากคืนเกินก็เล่มละ 1 บาทครับ

หนังสือที่เพิ่งยืมล่าสุดพฤหัสที่แล้ว

เอาเป็นว่าผมขอแนะนำให้มาใช้บริการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้แห่งนี้นะครับ
สำหรับอาทิตย์หน้าผมจะพาไปห้องสมุดของ กทม อีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีครับ
อย่าลืมติดตามด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ผมคงจบทริปนี้ก่อนนะครับ

ชมภาพบรรยากาศภาพในห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนางได้เลยครับ

[nggallery id=30]

ภาพความทรงจำดีๆ ณ ห้องสมุด TK park

หลังจากที่เมื่อวานผมได้อัพเดท ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของห้องสมุด TK park ให้เพื่อนรู้กันแล้ว
วันนี้ผมขอนำภาพถ่ายความประทับใจและความทรงจำดีๆ ในห้องสมุด TK park มาลงให้เพื่อนๆ ดูนะครับ

memorial-in-tkpark

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุด
ชื่อห้องสมุด : อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park
ชื่อภาษาอังกฤษ : Thailand Knowledge Park
ที่อยู่ : ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ชั้น 8 Dazzle Zone
เว็บไซต์ : http://www.tkpark.or.th

ประวัติความเป็นมาของอุทยานการเรียนรู้ผมคงไม่เล่านะครับ เนื่องจากเพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่
http://www.tkpark.or.th/tk/index.php?option=com_content&view=article&id=81&Itemid=165&lang=th

แต่ผมขอเราเรื่องราวที่ผมเข้าใช้บริการแทนแล้วกันนะครับ

ก่อนหน้าที่จะมี TK park ผมก็เพิ่งพาห้องสมุดอื่นๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หรือ ไม่ก็ห้องสมุดประชาชน นั่นแหละครับ
ซึ่งพอมี TK park เข้ามาทำให้ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับการมีห้องสมุดใหม่ๆ ในบ้านเรามากๆ เลยครับ

บรรยากาศที่ดี หนังสือที่ดี เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผมเริ่มติดใจในห้องสมุดแห่งนี้มากขึ้น
ผมสมัครสมาชิกเพื่อยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านบ้าง เอาโน้ตบุ๊คมาเล่นที่นี่บ้าง

ผมเคยพาเพื่อนจากต่างประเทศมาเที่ยวห้องสมุดที่นี่ด้วย
ซึ่งเขาก็ประทับใจมากๆ เลยถึงขั้นว่ายอมสมัครสมาชิกเลยด้วยซ้ำ

แม้ในช่วงหลังที่ผมทำงานหนักมากขึ้น ไม่ค่อยได้ใช้เวลาในห้องสมุดแห่งนี้นาน
แต่ผมก็จะมายืมหนังสือจากที่นี่แล้วก็นำกลับไปอ่านที่บ้านตลอด

Text book ด้านห้องสมุดและบรรณารักษ์ดีๆ ก็มีให้เลือกอ่านสมควรเลย
ตัวอย่างเช่น 2 เล่มด้านล่างนี้นะครับ มีทั้งเรื่อง การวางแผนกลยุทธ์ และการควบคุมคุณภาพในงานห้องสมุด

book

เอาเป็นว่าเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นที่นี่มากมาย สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้ห้องสมุดแห่งนี้ด้วยนะครับ

ไปชมภาพบรรยากาศดีๆ ในห้องสมุดแห่งนี้กันนะครับ

[nggallery id=24]

ปล. ภาพที่นำมาให้ชมเป็นภาพที่ถ่ายเมื่อปีที่แล้วนะครับ