Infographic หมดยุคของสารานุกรมฉบับพิมพ์อย่าง Britannica

ไม่ได้นำ Infographic ข้อมูลดีๆ มาให้เพื่อนๆ ชมนานแล้ว วันนี้ผมขอแก้ตัวด้วยการนำเสนอ Infographic ข้อมูลของสารานุกรมแห่งหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก (คนที่เรียนด้านบรรณารักษ์จะต้องรู้จัก) นั่นคือ Britannica

แต่เพื่อนๆ หลายคนคงได้ข่าวเมื่อต้นปี 2012 ที่ สารานุกรมอย่าง Britannica ต้องประกาศยุติการพิมพ์สารานุกรมฉบับสิ่งพิมพ์ แต่สารานุกรมนี้ยังคงให้บริการในรูปแบบออนไลน์อยู่

อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
Encyclopedia Britannica หยุดพิมพ์แล้ว – http://www.blognone.com/node/30677
สารานุกรมบริทานิกาหยุดตีพิมพ์ – http://news.voicetv.co.th/global/33700.html (วีดีโอข่าว)

เอาหล่ะครับ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า วันนี้ผมนำ Infographic ที่เกี่ยวกับ Britannica มาให้ดูครับ ชมกันก่อนเลย

เอาหล่ะครับมาดูข้อมูลสรุปจาก Infographic นี้กัน

ข้อมูลประวัติแบบคร่าวๆ ของ Britannica
– ฉบับแรกพิมพ์ในปี 1771 (อายุในปัจจุบัน = 244 ปี)
– ฉบับดิจิทัลถูกจัดทำครั้งแรกในปี 1981 โดย Lexisnexis
– ฉบับออนไลน์ครั้งแรกและฉบับซีดีเวอร์ชั่นสมบูรณ์เกิดขึ้นในปี 1994
– ฉบับมือถือ (รองรับเครื่อง Palm) เกิดในปี 2000
– ฉบับแอพใช้งานกับอุปกรณ์แบบเคลื่อนที่ของบริษัท apple (ipod,ipad,iphone) เกิดในปี 2011
– ปิดฉากสารานุกรม Britannica แบบสิ่งพิมพ์ในปี 2012

ทำไม Britannica ถึงไม่ทำสิ่งพิมพ์แล้วหล่ะ???
– ยอดขายตกลงอย่างรุนแรง ในปี 1990 ยอดขาย 120,000 ฉบับ ในปี 1996 เหลือยอดขาย 40,000 ฉบับ และในปี 2009 เหลือ 8,000 ฉบับ

ราคาของการใช้งานสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica ฉบับพิมพ์ ราคา 1,395 เหรียญสหรัฐ
– Britannica ฉบับ ipad ราคา 1.99 เหรียญสหรัฐ/เดือน
– Britannica ฉบับออนไลน์ สมัครสมาชิก 70 เหรียญสหรัฐ/ปี
– wikipedia ฟรี ฟรี ฟรี

จำนวนบทความสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica มีจำนวนบทความประมาณ 65,000 บทความ
– Wikipedia มีจำนวนบทความประมาณ 3,890,000 บทความ

จำนวนคนที่เขียนบทความในสารานุกรม Britannica เมื่อเทียบกับ wikipedia
– Britannica มีจำนวนประมาณ 4,000 คน (ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง)
– Wikipedia มีจำนวนประมาณ 751,426 คน (ใครๆ ก็เขียนได้)

เอาเป็นว่า ณ จุดนี้ ก็คงต้องบอกว่ายุคของสารานุกรม Britannica ฉบับพิมพ์อาจจะถึงจุดสิ้นสุดไปแล้ว แต่สิ่งที่กำลังจะเริ่มต้นก็คือการแข่งขันกับ Wikipedia ในโลกออนไลน์นั่นเอง

เอาเป็นว่าเส้นทางนี้จะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามชมกันต่อไป

ปล.จริงๆ แล้ว การแข่งขันกันระหว่าง Britannica กับ Wikipedia ทำให้ผมรู้สึกถึงการแข่งขันระหว่าง Library และ Google ด้วย…

ที่มาของภาพ Infographic นี้มาจาก http://mashable.com/2012/03/16/encyclopedia-britannica-wikipedia-infographic/

สรุปการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TKpark) ได้มีการจัดการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ให้ตัวแทนจากศูนย์ไอซีทีชุมชน และตัวแทนจากโรงเรียนในเครือ สพฐ. จำนวน 150 คน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการเรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมศิลปากร และอุทยานการเรียนรู้

หัวข้อในการอบรม
– แนะนำโครงการเรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย
– แนะนำสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK
– เรียนรู้การใช้ E-Book หนังสือหายาก ชุด ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
– เรียนรู้การใช้ E-Book หนังสือชุด วัตถุเล่าเรื่อง
– เรียนรู้การใช้ Audio book
– เรียนรู้การใช้เกมสร้างสรรค์
– ล้วงลึกทุกมิติการเรียนรู้
– มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์


ทีมวิทยากรที่บรรยายในวันนี้เป็นทีมงานจากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กันทั้งทีมเลย ซึ่งมาจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายห้องสมุดมีชีวิต ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายไอที และฝ่ายพัฒนาเครือข่าย

สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ที่กล่าวมาข้างต้นประกอบด้วย
– E-Book หนังสือหายาก ชุด ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
– E-Book หนังสือชุด วัตถุเล่าเรื่อง ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม
– Audio Book 101 เล่ม
– เกมสร้างสรรค์ 6 เกมส์

การอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมนอกจากจะได้ฟังการบรรยายแล้ว ยังมีคอมพิวเตอร์ (2 คนต่อ 1 เครื่อง) ที่บรรจุสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ไว้ให้ได้ลองเล่นไปพร้อมๆ กับการสอนการใช้งาน ซึ่งสื่อการเรียนรู้เกือบทุกสื่อเป็นที่เรียกความสนใจของผู้เข้าร่วมอบรมมากๆ โดยเฉพาะเกมสร้างสรรค์อย่างเกมกุ๊กๆ กู๋ คนสู้ผี ผู้เข้าร่วมอบรมได้เล่นกันอย่างสนุกสนานมากๆ หรือแม้แต่ E-Book ที่มีสื่อประสมที่น่าสนใจมากมาย

ซึ่งเมื่อผู้เข้าอบรมได้อบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK เรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK กลับไปใช้ที่ต้นสังกัด

การอบรมก็ผ่านไปด้วยดีครับ ยังไงผมก็ขอขอบคุณทุกส่วนที่ทำให้งานนี้สำเร็จนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน ผู้สนับสนุนให้เกิดงาน …..

ประมวลภาพการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK

[nggallery id=56]

สรุปการบรรยาย : มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 มิถุนายน 2555) ผมได้มีโอกาสมาบรรยายในงาน “การอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK” เรื่อง “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์” วันนี้จึงขอแชร์เรื่องดังกล่าวให้เพื่อนๆ อ่าน

ก่อนอื่นมาดูสไลด์ที่ผมใช้ประกอบการบรรยายนี้กันก่อน

สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์”

เรื่องของสื่อดิจิทัล กับ สื่อออนไลน์ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนมากๆ เพราะเมื่อข่าวสาร ข้อมูล และความรู้อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว จริงๆ มันก็คือสื่อดิจิทัลนั่นแหละ ซึ่งสื่อออนไลน์มันก็มีหลายประเภท เช่น
– เว็บไซต์
– ฐานข้อมูล
– เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
– ไฟล์เสียง
-ไฟล์วีดีโอ

และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ เราก็จะพบว่า สื่อดิจิทัลมากมายเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

ตัวอย่างสื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เช่น  E-Book ในอดีตเป็นเอกสารที่พิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ .txt .doc วันเวลาผ่านไปจากไฟล์เอกสารธรรมดาก็ถูกแปลงสภาพเป็นไฟล์ PDF จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นไฟล์ Flash และนอกจากจะอ่านได้เพียงอย่างเดียวก็เปลี่ยนเป็นการนำสื่อวีดีโอและเสียงมาประกอบกับหนังสือด้วย ซึ่งนับเวลาการเปลี่ยนแปลงได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

ในสไลด์ที่ผมจะแนะนำนี้เป็นเพียงตัวอย่างเว็บไซต์ในโลกของ 2.0 ที่เราสามารถนำมาใช้ในวงการศึกษาเท่านั้น (ตัวอย่างแค่เล็กน้อยเท่านั้น) ได้แก่

http://www.flipsnack.com = สร้าง E-book ง่ายๆ ด้วย Flipsnack เพียงแค่อัพโหลดไฟล์ PDF ที่ต้องการจะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปบนเว็บไซต์นี้ คุณก็จะได้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Flip Book ที่สวยงามแบบง่ายๆ ได้เลยทีเดียว

http://issuu.com = สร้างและค้นหา E-book แบบง่ายๆ ด้วย ISSUU นอกจากจะสร้าง E-book ได้แล้วเรายังสามารถหา E-book ที่น่าสนใจอ่านได้อีก ตัวอย่างที่ผมแนะนำคือ หนังสือแบบเรียนมานะมานีที่เราเคยเรียนกันในอดีตก็อยู่บนเว็บไซต์นี้เช่นกัน

http://paper.li/ = หนังสือพิมพ์ข่าวสารในแบบฉบับของเรา Paper.li หนังสือพิมพ์ที่รวบรวมข่าวสารที่เราสนใจ และแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่าน….

http://youtubemp3.tv/ = แปลงวีดีโอบน Youtube ให้กลายเป็น MP3 คลิบวีดีโอไหนที่มีสาระน่ารู้และน่าสนใจ แล้วเราอยากเก็บไว้มาฟังคนเดียว ก็สามารถแปลงออกมาให้เป็นไฟล์ MP3 ได้

http://www.oxytube.com/ = เก็บวีดีโอบน Youtube มาไว้ในเครื่องของเราดีกว่า

http://www.uppsite.com/ = เปลี่ยนบล็อกของคุณให้กลายเป็น APP บนมือถือ

http://www.makebeliefscomix.com/Comix/ = สร้างการ์ตูนง่ายๆ ด้วย Makebeliefscomix (อันนี้ผมย้ำเยอะหน่อยเพราะว่าน่าสนใจมากๆ เหมาะแก่การนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หรือแม้กระทั่งจัดเป็นคอร์สอบรมแก่หน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วย)

และก่อนจะจบการบรรยายผมก็ย้ำถึงความสำคัญของโลกออนไลน์อีกครั้งว่า โลกแห่งสื่อสังคมออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้เราก็จะเจอหนทางและแนวทางที่จะนำมาใช้งานได้อีก

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการบรรยายของผมครับ