ฝึกงาน 1 : ฝึกงานในห้องสมุด

เมื่อวานผมได้แนะนำการฝึกงานแบบกว้างๆ ของนักศึกษาเอกบรรณฯ ไปแล้วนะครับ
วันนี้ผมจะขอเสนอเรื่องการฝึกงานแบบตรงสายงาน (ฝึกงานในห้องสมุดเต็มรูปแบบ)

training-library1

จากที่ผมเคยบอกเกี่ยวกับการฝึกงานในประเภทนี้ ว่า:-
1. เด็กเอกบรรณฯ ทุกคน จะต้องเคยผ่านการฝึกงานที่ห้องสมุดสถาบันการศึกษาของตัวเอง
2. เป็นการฝึกงานในรูปแบบที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการจะเป็นบรรณารักษ์แบบจริงๆ
3. เป็นการฝึกงานในรูปแบบที่เหมาะสำหรับคนที่อาจเป็นบรรณารักษ์ในวงการราชการ หรือสถานศึกษา
4. เป็นการฝึกงานที่เน้นการฝึกงานทุกส่วนในห้องสมุด

นี่ก็เป็นเพียงคุณสมบัติแบบคร่าวๆ ของการฝึกงานประเภทนี้

สถานที่สำหรับฝึกงานที่ผมจะแนะนำ คือ :-
1. ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (เลือกได้มากมายในประเทศ)
2. ห้องสมุดของหน่วยงานราชการ
3. ห้องสมุดประชาชน
4. หอสมุดแห่งชาติ

สิ่งที่น้องๆ จะได้ฝึกจากสถานที่ดังกล่าวนี้
เช่น
– งานวิเคราะห์หมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศ
– งานทำตัวเล่มทรัพยากรสารสนเทศ เช่น ประทับตรา, ติดสัน, ห่อปก ฯลฯ
– งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
– งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
– งานบริการต่างๆ ในห้องสมุด เช่น ยืมคืน สมัครสมาชิก
– งานอื่นๆ ที่มีในห้องสมุด

โดยรวมการฝึกงานในลักษณะนี้ น้องๆ จะได้รับการฝึกงานในสายงานบรรณารักษ์ครบทุกรูปแบบเลย
ซึ่งผมว่าถ้าน้องๆ อยากทำงานในสายงานของห้องสมุด หรือบรรณารักษ์
การฝึกงานในลักษณะนี้จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจงานห้องสมุดมากขึ้น
ซึ่งถือว่าเป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านห้องสมุดสำหรับอนาคตเลยก็ว่าได้

ยังไงก็ลองเอาไปคิดดูนะครับ แต่ผมก็แอบเชียร์ให้น้องๆ เลือกสายนี้เหมือนกัน อิอิ

แนะนำนักศึกษาบรรณารักษ์เรื่องฝึกงาน

ช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมใหม่ก็จริง แต่ก็มีนักศึกษาหลายคนฝากคำถามให้ผมมากมาย
คำถามที่ว่า นั่นคือ “นักศึกษาเอกบรรณารักษ์ควรฝึกงานที่ไหนดี ช่วยแนะนำหน่อย”

training-library

ในฐานะที่ผมเป็นรุ่นพี่เอกบรรณารักษ์ (คงไม่เกิน 7 ปีหล่ะมั้ง)
วันนี้ผมก็เลยขอเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกที่ฝึกงานให้น้องๆ นะครับ

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำประเภทของการฝึกงานบรรณารักษ์ให้เพื่อนๆ หลายๆ คนรู้จักกันก่อนดีกว่า
ซึ่งตามความคิดของผม และจากประสบการณ์ ผมขอแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. ฝึกตรงสายงานห้องสมุดแบบเต็มรูปแบบ
2. ฝึกในลักษณะทางด้านวิชาเฉพาะทาง + ห้องสมุด
3. ฝึกงานในแบบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ แต่ไม่ใช่ห้องสมุด
4. ฝึกงานแบบเอาวิธีทำงาน ไม่มีความเป็นห้องสมุดเลย และไม่เกี่ยวกับที่เรียน

การฝึกงานในแต่ละแบบมีข้อแตกต่างกันในด้านรายละเอียด
รวมถึงใช้ในการตัดสินใจเรื่องการเลือกสถานที่ฝึกงานด้วย

ทีนี้เรา ลองมาดูกันทีละแบบเลยดีกว่าครับ

1. ฝึกตรงสายงานห้องสมุดแบบเต็มรูปแบบ

นั่นหมายถึง การฝึกงานในแบบที่ต้องใช้ความรู้ และความสามารถทางด้านบรรณารักษ์เต็มรูปแบบเลย
โดยทั่วไปคนที่เรียนเอกบรรณารักษศาสตร์จะต้องเจอการฝึกงานแบบนี้อยู่แล้ว
นั่นก็คือ ?ห้องสมุดของสถาบันตัวเอง? เป็นด่านแรก
และหากคิกจะเอาดีทางบรรณารักษ์และอยากได้พื้นฐานแบบแน่นๆ


ผมขอแนะนำว่า ให้เลือกห้องสมุดประเภทสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
เช่น ธรรมศาสตร์, เกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์, ศิลปากร ฯลฯ

2. ฝึกในลักษณะทางด้านวิชาเฉพาะทาง + ห้องสมุด
นั่นหมายถึง การฝึกงานในห้องสมุดเฉพาะทางนั่นแหละครับ
นอกจากความรู้ทางด้านบรรณารักษ์แล้ว สิ่งที่จะได้เพิ่มจากการฝึกงานคือ
ความรู้เฉพาะทางอีกด้วย สำหรับคนที่มีพื้นฐานแบบแข็งแกร่งแล้ว
อยากลองอะไรแบบแปลกๆ และรักการเรียนรู้ ผมว่าเลือกฝึกแบบนี้ก็ดีนะครับ

ผมขอแนะนำตัวอย่างห้องสมุดเฉพาะทางที่น่าสนใจ
เช่น ห้องสมุดญี่ปุ่น ห้องสมุดมารวย ห้องสมุดการออกแบบ ห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์บริการ ฯลฯ


3. ฝึกงานในแบบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ แต่ไม่ใช่ห้องสมุด

นั่นหมายถึง เป็นการฝึกที่ไม่ได้อยู่ในห้องสมุดนะครับ อาจจะเป็นศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ข้อมูลต่างๆ
โดยทั่วไปจะเน้นในรูปแบบองค์กรเอกชน บริษัทเว็บไซต์ บริษัทสื่อ สำนักพิมพ์ต่างๆ
ซึ่งความรู้เกี่ยวกับห้องสมุดอาจจะไม่ได้ใช้ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ คืองานทางด้านสารสนเทศนั่นเอง
และอย่างน้อยก็ทำให้ลบภาพเอกบรรณฯ ได้ว่า ?บรรณารักษ์พอจบก็ต้องทำห้องสมุด? ได้อีก


ผมขอแนะนำตัวอย่างศูนย์ข้อมูล และสถานที่ฝึกงานที่น่าสนใจ
เช่น ศูนย์ข้อมูลทางการเกษตร มติชน เนชั่น เว็บไซต์ต่างๆ ฯลฯ

4. ฝึกงานแบบเอาวิธีทำงาน ไม่มีความเป็นห้องสมุดเลย และไม่เกี่ยวกับที่เรียน
นั่นหมายถึง การฝึกงานในแบบที่ไม่ต้องใช้ความรู้ที่เรียนเลย
เพียงแต่ต้องการฝึกแค่เข้าไปเรียนรู้วิธีการทำงาน รู้จักกฎระเบียบองค์กร
หรือทำความคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ
ถ้าจะให้ผมแนะนำ ผมจะขอเน้นให้หาที่ฝึกงานในลักษณะที่เป็นองค์กรของต่างประเทศ
เพราะเมื่อคุณที่ฝึกงานในองค์กรต่างชาติคุณจะรู้ว่า องค์กรมีระเบียบและแนวทางปฏิบัติแบบสุดๆ
น่าท้าทายดีครับ องค์กรในแบบของไทยผมก็ไม่ได้ห้ามแต่ควรเลือกดีๆ ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอเกริ่นเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้ววันหลังผมจะแนะนำการฝึกงานในแต่ละรูปแบบอย่างละเอียดต่อไป