โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.4 ออกมาแล้ว

ตามสัญญาจากวันก่อนที่ koha community ประกาศว่าจะออก koha 3.4 วันที่ 22 เมษายน 2011
บัดนี้โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.4 ก็ออกมาตามกำหนดเรียบร้อยแล้ว
เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดและอัพเกรดโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.4 ได้เลย

สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.4 ได้ที่ http://download.koha-community.org/koha-3.04.00.tar.gz
นอกจากนี้เพื่อนๆ สามารถอ่านคู่มือการติดตั้งได้ที่ http://wiki.koha-community.org/wiki/Installation_Documentation

รายละเอียดในเวอร์ชั่นใหม่นี้มีการปรับปรุงหลายๆ อย่าง ซึ่งผมขอนำตัวเด่นๆ มากล่าวนะครับ เช่น
– ความสามารถในการนำเข้าและส่งออก MARC framework
– สนับสนุนการทำงานแบบ non- marc
– หน้า log in สำหรับการยืมคืนด้วยตัวเอง
– plug in เพื่อการกรอกข้อมูลใน tag 006/008
– การ review และ comment หนังสือในหน้า opac

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นนะครับความสามารถเพิ่มเติมมากกว่า 100 อย่าง
เพื่อนๆ ดูได้จาก http://koha-community.org/koha-3-4-0-released

เอาเป็นว่าก็ไปลองทดสอบและใช้งานกันดูนะครับ

ข่าวการเปิดตัวโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.4 อ่านได้จาก http://koha-community.org/koha-3-4-0-released

อัพเดทโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.2.6 และข่าว Koha 3.4

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ชุมชนคนใช้ Koha ได้ประกาศการอัพเดท Koha อีกครั้ง
หลังจากที่ปีที่แล้ว koha ประกาศอัพเดท 3.2.0 ผ่านไป
ในเดือนกุมภาพันธ์ก็ประกาศอัพเดทเป็น 3.2.5 และในเดือนมีนาคมก็อัพเดทเป็น 3.2.6

ในเวอร์ชั่น 3.2.6 มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง เท่าที่ผมอ่านหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องการแก้ bug ใน koha 3.2.0 และ 3.2.5 (ที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2011)
ตอนนี้ Koha ถูกแปลไปแล้ว 14 ภาษา ซึ่งก็มีภาษาใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้าร่วม เร็วๆ นี้

เอาเป็นว่ารายละเอียดอื่นๆ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้จากหน้าหลักของเวอร์ชั่น 3.2.6 นะครับ
http://koha-community.org/koha-3-2-6/

โปรแกรม Koha 3.2.6 สามารถดาวน์โหลดได้ที่
http://download.koha-community.org/koha-3.02.06.tar.gz

และเร็วๆ นี้ (วันที่ 22 เมษายน 2011) มีข่าวว่า Koha จะประกาศเปิดตัว เวอร์ชั่น 3.4 ซึ่งผมว่าต้องรอดูกันครับ
ติดตามข่าว Koha 3.4 ได้ที่ http://koha-community.org/koha-3-4-0-release-schedule-april-coming-fast/

คู่มือสำหรับเลือกใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติในต่างประเทศ

ปัญหาใหญ่ของห้องสมุดหลายๆ แห่ง คือ ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของเจ้าไหนดี
นิตยสาร Computers in libraries จึงรวบรวม vendor และ product ไว้ให้ห้องสมุดต่างๆ ศึกษา

ก่อนอื่นก็แนะนำให้ดาวน์โหลดมาดูกันก่อนนะครับ
ดาวน์โหลดตัวเล่มได้ที่ http://www.infotoday.com/cilmag/CILMag_ILSGuide.pdf

เนื้อหาภายในเล่มก็อย่างที่เกริ่นไว้นั่นแหละครับ ประกอบไปด้วย
– ชื่อของ vendor (ตัวแทนจำหน่าย)
– โปรแกรมที่ vendor ต่างๆ นำเสนอ

ซึ่งโปรแกรมที่ vendor บางตัวผมก็อดสงสัยไม่ได้ เช่น KOHA
ทั้งๆ ที่เป็น Opensource นะครับ แต่ก็อยู่ใน LIST ของการนำเสนอ
แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับ ว่านำเสนอ KOHA แต่ในแง่การพัฒนาและการดูแลรักษา

นอกจากนี้รายละเอียดของแต่ละ vendor ที่ให้จะบอกรายละเอียด เช่น
– ปีที่ออก (ซอฟท์แวร์ออกมาปีไหน)
– จำนวนห้องสมุดที่นำไปใช้
– กลุ่มเป้าหมาย (ห้องสมุดประชาชน,โรงเรียน,มหาวิทยาลัย,เฉพาะ,ราชการ)
– ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล์สำหรับติดต่อ
– เว็บไซต์ของบริษัท

ชื่อ ILS แปลกมากมายที่ผมก็เพิ่งจะเคยได้ยิน เช่น AGent VERSO, CyberTools for Libraries, Amlib, KLAS, LibraryWorld ฯลฯ อีกมากมายเลย

จริงๆ แล้วผมก็อยากรวบรวมของเมืองไทยแล้วทำเป็นรูปเล่มแบบนี้บ้างนะ
อย่างน้อยผมก็จะได้รู้จักระบบห้องสมุดต่างๆ หรือระบบห้องสมุดใหม่ในเมืองไทย

เอางี้ดีกว่าผมอยากให้เพื่อนๆ มีส่วนร่วม เพื่อนๆ ลองส่งชื่อ ILS ที่คิดว่าแปลกๆ หรือ ใหม่ๆ ในเมืองไทยให้ผมหน่อย (Comment ไว้ด้านล่าง) แล้วว่างๆ ผมจะศึกษาและนำมา review ให้เพื่อนๆ อ่านกัน

โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha เวอร์ชั่น 3.2.0 ออกแล้ว

โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha ฉบับ opensource ประกาศการอัพเดทโปรแกรมเป็นเวอร์ชั่น 3.2.0 แล้วจ้า
เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดและอัพเกรดโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha 3.2.0 ได้เลย

ดาวน์โหลด Koha 3.2.0 ได้ที่? http://koha-community.org/koha-3-2-0/

รายละเอียดของโปรแกรมในส่วนที่อัพเดทเพื่อนๆ ลองอ่านในเว็บ koha ดูนะครับ หลักๆ จะอยู่ที่โมดูลการจัดหาเกี่ยวกับการเพิ่มความสามารถในการแบ่งงบประมาณในการจัดหา ส่วนที่เพิ่มหลักๆ อีกอันคือ การอัพเดทตารางในฐานข้อมูลใหม่นิดหน่อย

ข้อมูลการอัพเดทโปรแกรมอ่านได้ที่ http://files.ptfs.com/koha/Koha%20Release%20Notes%203.2.txt

นำเสนอประวัติโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha แบบ Visualization

วันนี้ผมขอนำตัวอย่าง “การใช้ Visualization เพื่อนำเสนองานด้านห้องสมุด” มาให้เพื่อนๆ ดูกันนะครับ
การนำเสนอแบบ Visualization กำลังเป็นที่นิยมในวงการไอที ดังนั้นห้องสมุดเราก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน

คำอธิบายเรื่อง Visualization แบบสั้นๆ ง่ายๆ คือ การแปลงข้อมูลจำนวนตัวอักษรให้กลายเป็นรูปภาพเพื่อให้การนำเสนอดูง่ายและน่าสนใจยื่งขึ้น (เอาไว้ผมจะเขียนบล็อกเรื่องนี้วันหลังครับ)

ตัวอย่างที่ผมจะนำมาให้ดูนี้เป็น Visualization แสดงความเป็นมาของการพัฒนาโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha
ซึ่งถือว่าเป็นโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติแบบรหัสเปิด หรือเรียกง่ายๆ ว่า Opensource

หากให้เพื่อนๆ ไปนั่งอ่านประวัติของ Koha เพื่อนๆ ก็คงอ่านได้ไม่จบหรอกครับ
เพราะว่าโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha เริ่มโครงการในปี 1999 (ปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว)
โดยเพื่อนๆ สามารถอ่านได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Koha_%28software%29 หรือ http://koha-community.org/

ในงาน kohacon (KOHA Conference) ที่ผ่านมา http://www.kohacon10.org.nz/
ได้มีการฉายคลิปวีดีโอ “Koha Library Software History Visualization” ทำเอาเป็นที่ฮือฮามาก
เพราะเป็นการใช้ Visualization ในการนำเสนอประวัติการพัฒนาของโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ Koha

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองไปดูกันเลยดีกว่าครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Tl1a2VN_pec[/youtube]

ในคลิปวีดีโอนี้เริ่มจากข้อมูลในการพัฒนาโปรแกรม KOHA ในเดือนธันวาคม 2000 – ตุลาคม 2010
ดูภาพแล้วก็อ่านคำอธิบายที่โผล่มาเป็นระยะๆ ดูแล้วก็เพลินดีครับ เพลงก็ไปเรื่อยๆ

ถามว่าถ้าให้อ่าน paper ประวัติที่มีแต่ตัวอักษร กับ Visualization นี้
ผมคงเลือกดู Visualization เพราะผมแค่อยากรู้ว่าช่วงไหนทำอะไร ไม่ได้อยากทำรายงานนะครับ

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ก็ค่อยๆ ดูไปนะครับ ผมว่าเพลินดี
วันนี้ก็ขอแนะนำเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ สุขสันต์วันหยุดครับ

เว็บไซต์ชุมชนผู้พัฒนา KOHA – http://koha-community.org/

การติดตั้งโปรแกรม Koha บน Windows V.1

มีหลายคนเขียนเมล์มาถามผมเรื่อง Koha มากมายเกี่ยวกับเรื่องการติดตั้ง
วันนี้ผมเลยขอนำเสนอการติดตั้ง Koha แบบ step by step ให้เพื่อนๆ อ่านแล้วกัน

Koha - Open Source for ILS

ปล.สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Koha กรุณาอ่านKoha – Open Source for ILS

การเตรียมพร้อมก่อนการติดตั้ง Koha บน Windows

อย่างแรกก่อนการติดตั้งนั่นก็คือ ดาวน์โหลดโปรแกรม Koha มาก่อน
ซึ่งตอนนี้ Koha ที่ใช้กับ Window ที่ผมแนะนำคือ Koha V2.2.9
เพื่อนๆ สามารถดาวน์โหลดได้ที่
http://www.koha.rwjr.com/downloads/Koha2.2.9-W32-R1.EXE

หลังจากดาวน์โหลดโปรแกรม Koha แล้ว ให้เพื่อนๆ สำรวจเครื่องของเพื่อนๆ ก่อนว่ามีโปรแกรมดังต่อไปนี้หรือไม่
– Apache (http://mirror.kapook.com/apache/httpd/binaries/win32/)
– MySQL (http://dev.mysql.com/downloads/)
– ActivePerl (http://www.activestate.com/activeperl/downloads/)

ถ้ายังไม่มีให้ดาวน์โหลดก่อน ตาม link ที่ให้ไปได้เลย

ขั้นตอนการ ติดตั้ง Koha บน Windows

ขั้นที่ 1 ติดตั้ง Apache ให้เลือก folder ( C:\Program Files\Apache Group\ )

ขั้นที่ 2 ติดตั้ง MySQL ให้เลือก folder (C:\mysql)

ขั้นที่ 3 ติดตั้ง Perl ให้เลือก folder (C:\usr\)

ขั้นที่ 4 ติดตั้ง Koha

หลังจากที่ติดตั้งโปรแกรมทั้งหมดครบแล้ว เราก็จะเริ่มใช้งาน Koha ครั้งแรก
โดยคุณจะสังเกตไอคอนใน System tray 2 ตัวคือ ไอคอนที่มีรูปคล้ายไฟจราจรกับไอคอน apache
ให้คุณกดไอคอน apache แล้วเลือก start apache server
และไอคอนรูปไฟจราจรให้เลือก Start MySQL database server

เมื่อดำเนินการกับ Apache และ SQL เสร็จ ให้เราเปิด Web brower
ในช่อง Address ให้ใส่คำว่า “opac” หรือ “Intranet” เพื่อเข้าสู่หน้าจอการทำงาน

ในส่วนขั้นตอนของการทำงานเอาไว้ผมจะเอามาเขียนอีกทีแล้วกันนะครับ
วันนี้ขอแค่เรื่องการติดตั้งอย่างเดียวก่อนนะครับ

ปล.บทความนี้ผมเพิ่งเขียนครั้งแรก คงต้องมีเวอร์ชั่นปรับปรุงอีก
แล้วเดี๋ยวผมจะมาแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบอีกทีนะครับ (โดยเฉพาะการเพิ่มรูปขั้นตอนการติดตั้ง)

คู่มือการใช้งานและการติดตั้ง Koha : http://www.koha.rwjr.com/downloads/Koha%20on%20Windows.pdf

Koha – Open Source for ILS

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติฉบับ Open Source ตัวนึงที่ผมจะแนะนำก็คือ KOHA
ซึ่งในเมืองไทยเองก็มีหลายๆ ที่เริ่มนำเข้ามาใช้กันมากขึ้นแล้ว
วันนี้ผมจึงขอแนะนำโปรแกรมตัวนี้ให้เพื่อนๆ รู้จักกัน

koha

เริ่มจากความเป็นมาของโปรแกรมตัวนี้

Koha ถูกพัฒนาโดยบริษัท Katipo Communications ในปี 1999
การพัฒนาครั้งนี้ทางบริษัทตั้งใจจะพัฒนาให้ Koha กับ Horowhenua Library ในประเทศนิวซีแลนด์
และทำการติดตั้งโปรแกรมครั้งแรกในปี 2000
ในปี 2001 ระบบ Koha สามารถรองรับการทำงานในหลายภาษา เช่น ฝรั่งเศส จีน อาหรับ ฯลฯ
และในปี 2002 Koha ได้มีการพัฒนาให้เข้าสู่วงการมาตรฐานมากขึ้น
ด้วยการสนับสนุนการทำงานของบรรณารักษ์ในรูปแบบมาตรฐาน เช่น MARC และ Z39.50
จนในปี 2005 บริษัท Liblime ได้เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนามากขึ้น
จนสามารถพัฒนาระบบ Koha ให้สามารถเชื่อมโยงการจัดทำดรรชนี และการพัฒนาการสืบค้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สรุปวิวัฒนาการของโปรแกรม
1999 – ออกแบบและสร้างโปรแกรม Koha
2000 – ติดตั้งครั้งแรกที่ Horowhenua Library ในประเทศนิวซีแลนด์
2001 – พัฒนาให้รองรับหลายภาษา
2002 – พัฒนาให้การทำงานสนับสนุนมาตรฐาน MARC และ Z39.50
2005 – ปรับปรุงระบบให้เข้ากับโปรแกรม Zebra (ระบบการจัดทำ Index)

ความสามารถของ Koha
1. ระบบบริหารจัดการ (Administration)
– ระบบควบคุมโปรแกรม (Global System Preferences)
– ระบบการกำหนดพารามิเตอร์เบื้องต้น (Basic Parameters)
– ระบบการกำหนดนโยบายงานบริการยืมคืนและสมาชิก (Patrons and Circulation)
– ระบบการกำหนดนโยบายงานวิเคราะห์ (Catalog Administration)
– ระบบการกำหนดพารามิเตอร์เพิ่มเติม (Additional Parameters)

2. เครื่องมือใน Koha (Tool)
– การจัดพิมพ์ป้ายติดสันหนังสือ ป้ายลาเบล
– การแสดงความคิดเห็น
– ปฏิทินกิจกรรม
– จัดเก็บ log file

3. ระบบผู้ใช้ (Patrons)
– เพิ่มบัญชีผู้ใช้
– แก้ไขข้อมูลผู้ใช้
– กำหนดระดับผู้ใช้

4. การยืมคืน (Circulation)
– ยืม
– คืน
– จอง
– ต่ออายุ
– ปรับ

5. การทำรายการ / วิเคราะห์รายการ (Cataloging)
– สร้างระเบียน
– แก้ไขระเบียน
– นำเข้าระเบียน

6. ระบบวารสารและสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (Serials)
– บอกรับสมาชิก
– ตรวจสอบการบอกรับ
– ทำดัชนี

7. ระบบงานจัดซื้อ จัดหา (Acquisitions)
– ติดต่อกับเวนเดอร์
– เสนอแนะรายการทรัพยากรสารสนเทศ
– สั่งซื้อทรัพยากรสารสนเทศ
– ควบคุมงบประมาณ

8. รายงาน (Reports)
– ออกแบบรายงานได้
– สถิติข้อมูลต่างๆ ในระบบ

9. ระบบสืบค้นออนไลน์ (OPAC)
– สืบค้นสารสนเทศออนไลน์
– ส่งข้อมูลออกได้หลายรูปแบบ เช่น RSS
– ใส่ข้อมูล TAG

10. ระบบสืบค้น (Searching)
– ค้นแบบง่าย (basic search)
– ค้นแบบขั้นสูง (advance search)
– ค้นแบบเงื่อนไข (Boolean Search)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างความสามารถแบบเล็กๆ น้อยๆ นะครับ
จริงๆ แล้ว KOHA ทำอะไรได้มากกว่านี้อีก
เพื่อนๆ อาจจะอ่านได้จาก http://koha.org/documentation/manual/3.0

เอาเป็นว่าลองเข้าไปทดลองเล่นระบบนี้ดูนะครับที่ http://koha.org/showcase/

สำหรับเมืองไทยเพื่อนๆ ลองเข้าไปเล่นดูที่
– ห้องสมุดศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
http://158.108.80.10:8000/cgi-bin/koha/opac-main.pl

เป็นไงกันบ้างครับกับโปรแกรมดีๆ ที่ผมแนะนำ
วันหลังผมจะเขามาแนะนำวิธีการติดตั้งแบบ step by step เลยนะครับ

เว็บไซต์ทางการของ Kohahttp://koha.org

http://koha.org/download

เกณฑ์การเลือกระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

มีคนขอคำปรึกษาเรื่องเกณฑ์ในการเลือกระบบห้องสมุดอัตโนมัติมากมาย
วันนี้ผมเลยขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ หลายๆ คนฟัง

ils-for-library

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านนี้มา ผมจึงขอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบคร่าวๆ นะครับ
การตั้งเกณฑ์ของการเลือกระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ต้องดูองค์ประกอบหลายๆ เรื่องนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ฟังค์ชั่นการใช้งาน และส่วนเสริมต่างๆ

ด้านฟังค์ชั่นการใช้งาน ผมเคยเขียนเกณฑ์แบบคร่าวๆ ดังนี้
(เวอร์ชั่นนี้อาจจะต้องปรับปรุบเยอะหน่อยนะครับ เพราะว่าเป็นสเปคที่เขียนไว้เมื่อสามปีที่แล้ว)

library-automation

1. ระบบงานจัดหา (Acquisition)
1.1 สามารถจัดการด้านงบประมาณและการจัดซื้อ ทวงถามศูนย์หนังสือได้
1.2 จัดการ ควบคุมรายการและติดต่อสื่อสารผู้จำหน่ายร้านค้า
1.3 สามารถตรวจสอบรายการสั่งซื้อโดยการแก้ไขได้ก่อนการสั่งซื้อ
1.4 จัดการเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงิน
1.5 สามารถสร้างระบบความปลอดภัยในโมดูลได้
1.6 กำหนดสิทธิ์และอนุญาตให้เฉพาะบุคคลได้


2. ระบบงานวิเคราะห์หมวดหมู่และลงรายการ (Cataloging)

2.1 บันทึกรายการบรรณานุกรมได้ในรูป MARC และ Non- MARC
2.2 สามารถเพิ่ม ลด แก้ไข Tag, Subfield ใน MARC ได้
2.3 เชื่อมต่อกับระบบ Thesauri ได้จากหน้าจอ Catalog
2.4 สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลในรูปแบบ MARC มาตรฐานได้
2.5 จัดเก็บรายละเอียดสารสนเทศฉบับสมบูรณ์ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ฯ
2.6 สามารถป้อนข้อมูลจากสื่อต่าง/สื่ออิเล็คทรอนิกส์มาอยู่ในรูปแบบ MARC
2.7 มีระบบ Authority Control ตรวจสอบรายการผู้แต่ง หัวเรื่องให้เป็นมาตรฐาน


3. ระบบงานบริการยืม-คืน (Circulation)

3.1 สามารถกำหนดระเบียบการยืม-คืนวัสดุห้องสมุดได้ตามประเภทสมาชิก
3.2 สามารถกำหนดเวลาการยืมวัสดุแต่ละประเภทได้
3.3 สามารถเก็บประวัติรายละเอียดการยืมของสมาชิกแต่ละคนได้
3.4 สามารถดูรายการยืมและรายการจองของตนเองผ่านอินเทอร์เน็ต
3.5 สามารถกำหนดปฎิทิน เพื่อจัดการเรื่องกำหนดวันส่งได้
3.6 สามารถจัดการเกี่ยวกับค่าปรับ
3.7 สามารถจัดการเกี่ยวกับการยืมวัสดุห้องสมุดในช่วงเวลาสั้นได้
3.8 สามารถจัดการเกี่ยวกับการยืม-คืนวารสารในลักษณะ In-House-Use
3.9 สามารถพิมพ์รายงานและสถิติได้ตามความต้องการ
คุณลักษณะของระบบงานบริการยืม-คืน (Circulation)

1) กลุ่มผู้ใช้เป็นทั้งแบบ National และ Local
2) สามารถทำการยืม-คืน โดยใช้ระบบบาร์โค้ดหรือเลข ID ของสมาชิกห้องสมุด
3) สามารถแสดงข้อมูลรายละเอียดของผู้ใช้บริการได้
4) สามารถทำการคำนวณเงินค่าปรับได้โดยอัตโนมัติ

4. ระบบงานวารสารและเอกสาร (Serial Control)
4.1 สามารถใช้ข้อมูล Vendor ร่วมกัน
4.2 สามารถสร้างรายการ Holding วารสารและให้แสดงผลที่ OPAC
4.3 สามารถตรวจสอบสถานะของวารสารแต่ละรายชื่ออยู่ในสถานะใด
4.4 สามารถจัดระบบควบคุมและคำนวณค่าใช้จ่าย ค่าบอกรับวารสาร ทำบัญชีวารสาร
4.5 สามารถออกจดหมายทวงวารสาร ไปยังผู้จัดจำหน่ายหรือตัวแทนได้

5. ระบบงานสืบค้นรายการทรัพยากร (Online Public Access Catalog)
5.1 สนับสนุนการทำงานแบบ Internet Web Clients
5.2 สามารถสืบค้นข้อมูลได้หลายรูปแบบ โดยค้นจากชื่อผู้แต่ง นิติบุคคล ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง เลขเรียกหนังสือและคำสำคัญ
5.3 สามารถสืบค้นแบบเทคนิคตรรกบูลีน
5.4 สามารถสืบค้นภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเรียง ลำดับอักษรตามพจนานุกรม
5.5 สนับสนุนการสืบค้นผ่านมาตรฐานโปรโตคอล Z39.50

ที่กล่าวมานี่ก็เป็นเพียงการทำงานเบื้องต้นของระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ควรจะเป็นเท่านั้นนะครับ
ส่วนที่เป็นองค์ประกอบเสริมก็มีอีก เช่น การรองรับข้อมูลในอนาคต ฐานข้อมูลที่ใช้ ระบบเครือข่าย ฯลฯ

นอกจากนี้ผมได้ลองมานั่งคิดๆ ดู และลองจัดกลุ่มดู
ระบบห้องสมุดอัตโนมัติควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรอีกบ้าง
– มาตรฐาน ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรจะรองรับเรื่องมาตรฐานอีกมากมาย
เช่น MARC21, ISO2709, Z39.50 ฯลฯ

– ออนไลน์ ระบบห้องสมุดอัตโนมัตที่ดีควรทำงานได้ในระบบออนไลน์ ทั้งในแง่ผู้ใช้บริการและบรรณารักษ์
เช่น สืบค้นออนไลน์ จองหนังสือผ่านระบบออนไลน์ ต่ออายุการยืมออนไลน์

– บริหารจัดการระบบที่ดี ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรมีระบบที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลภายในได้ที
ทั้งในเง่ของการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ได้ เช่น สถิติการใช้งาน รายงานการใช้งาน และเก็บข้อมูลการเข้าใช้งาน

– การแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรมีฟังค์ชั่นที่รองรับในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับห้องสมุดอื่นๆ

– อนาคต ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ดีควรคำนึงถึงการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีในอนาคตด้วย

เอาเป็นว่าวันนี้ผมก็ขอเกริ่นเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้ววันหลังผมจะลองนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดมาวิจารณ์ให้อ่านแล้วกัน

ปล. หากเพื่อนๆ มีข้อเสนอแนะเรื่องระบบห้องสมุดอัตโนมัติมากกว่านี้
สามารถเสนอความคิดเห็นได้ด้านล่างนี้เลยนะครับ