LibCampUbon#2 : มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชน

ก่อนจบงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
วิทยากรได้เชิญผู้ที่กำลังจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (คุณดาหวัน ธงศรี)
มาแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นแบบเบื้องต้นและอธิบายถึงขอบเขตงานในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

การจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นมุมสารสนเทศที่มีความสำคัญ สำหรับให้ศึกษาค้นคว้า ความรู้ ภูมิประวัติศาสตร์เมืองอุบล และภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อสร้างเป็นต้นแบบและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี  มีดังนี้ ซึ่งจะแบ่งการจัดเก็บรวบรวมออกเป็น

– หนังสือเกี่ยวกับเมืองอุบล  อาทิเช่น ประวัติเมืองอุบลราชธานี  ประมวลภาพอุบลราชธานี 200 ปี  เป็นต้น
– หนังสือที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญในจังหวัดอุบล เป็นคนเขียนหนังสือด้านต่างๆ อาทิเช่น  ผญา อักษรธรรม อักษรไทน้อย อักษรขอม ที่แปลจากใบลาน เพื่อเล่าเรื่องราว สืบสาน วรรณกรรม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของเมืองอุบล และสื่อจากการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ
– ภาพเก่าเล่าเรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองอุบล จัดทำเป็นรูปเล่ม สำหรับเผยแพร่
– รวมถึงสื่อมัลติมีเดียต่างๆ อาทิเช่น บุคคลสำคัญ และบุคคลมีชื่อเสียง ด้านศิลปิน นักร้อง หมอร้อง หมอลำ อาทิเช่น สลา คุณวุฒิ  ต่าย อรทัย และหมอลำพื้นบ้าน ด้านอื่นๆ เป็นต้น

เพื่อให้บริการและเผยแพร่ให้กับประชาชน เด็กรุ่นใหม่ ที่สนใจและต้องการศึกษาค้นคว้า ทำวิจัย และจะทำให้ได้รู้ได้เข้าใจทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมืองอุบลมากขึ้น

เป็นไงกันบ้างครับ นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
ความคืบหน้าในการจัดทำผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้ทราบในโอกาสต่อไปนะครับ

อ๋อ และก่อนจบงาน libcampubon#2 ผมก็ถือโอกาสสอบถามถึงความต้องการของผู้ที่เข้าฟังว่า
ต้องการให้จัดหัวข้ออะไรในงาน libcampubon ครั้งต่อไป ซึ่งได้ผล คือ

หัวข้อที่ได้รับการเสนอเพื่อใช้จัดในงาน LibcampUbon ครั้งต่อไป เช่น
– ศูนย์ความรู้กินได้ระดับตำบล
– แนวคิดในการนำศูนย์ความรู้กินได้มาใช้กับห้องสมุดขนาดเล็ก (แบบงบประมาณน้อย)
– การทำ workshop การถ่ายภาพเพื่อนำมาจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (คล้ายกับภาพเก่าเล่าเรื่อง)
– การจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมสารสนเทศท้องถิ่น
– การจัดทำมุมความรู้กินได้ในห้องสมุด ตั้งแต่แนวคิดจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ เอาเป็นว่าทีมงานทุกคนจะนำข้อเสนอตรงนี้ไปทำการบ้านและสรุปออกมาให้เร็วที่สุดนะครับ เพราะเราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่ “เพราะเราคือทีมเดียวกัน เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี LibcampUbon

LibCampUbon#2 : กรณีศึกษาเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นจากห้องสมุด

การบรรยายในลำดับที่ 5 ของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี
เรื่อง “กรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย
โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (ผมเอง) นักพัฒนาระบบห้องสมุด ศูนย์ความรู้กินได้


การบรรยายในส่วนของผมจะสอดคล้องกับเรื่อง “การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร”  ในหัวข้อที่ 4 ของงาน Libcampubon#2 แต่ของผมจะเน้นไปในเรื่องของเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นเป็นหลัก

สไลด์ที่ผมใช้บรรยายในครั้งนี้ ดูได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ

เนื้อหาของสไลด์และสิ่งที่ผมบรรยายสรุปได้ดังนี้

การบรรยายเริ่มจากการสรุปข้อมูลจากการบรรยายตั้งแต่ช่วงเช้าจนมาถึงเรื่องการศึกษาวิชาสารสนเทศท้องถิ่น ซึ่งได้พูดถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้ใช้หรือห้องสมุดต้องการว่ามาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งหลักๆ คนไม่พ้น “ความรู้ที่มาจากตัวบุคคล สืบต่อกันมาเรื่อยๆ” และแหล่งค้นคว้าอื่นๆ เช่น
– ห้องสมุด
– ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม
– หอจดหมายเหตุ
– พิพิธภัณฑ์
– วัด

ซึ่งแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และเวลาในการให้บริการ เช่น ห้องสมุดปิดหนึ่งทุ่ม หากต้องการข้อมูลหลังสองทุ่มก็ไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ หรือ ผู้ใช้บริการจากต่างประเทศต้องเดินทางไกลมาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งยากมาก ดังนั้นทางออกของเรื่องการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอีกทางคือต้องเพิ่งพาเรื่อง “เทคโนโลยี” ซึ่งเน้น “เทคโนโลยีเว็บไซต์”

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำคือ สารสนเทศท้องถิ่นหลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ (เรื่องอดีต) เพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วยังต้องรวมถึงเรื่องปัจจุบัน และอนาคตด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเองต้องรู้ทุกอย่าง

ห้องสมุดหลายๆ แห่งจึงมีบทบาทเพียงเติมโดยเฉพาะการจัดการสารสนเทศท้องถิ่น
หลายๆ แห่งมีการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดและอีกหลายๆ แห่งนำข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงในเว็บไซต์
ซึ่งผมได้นำเสนอข้อมูลเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่จัดทำโดยห้องสมุด (แค่ตัวอย่าง)

ตัวอย่างเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่จัดทำโดยห้องสมุดที่น่าสนใจ
– ภาคเหนือ
http://www.lannacorner.net/ – ล้านนาคอร์เนอร์
http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/ – ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
http://nadoon.msu.ac.th/web/ – ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร
http://www.bl.msu.ac.th/ – โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.มหาสารคาม
http://lib12.kku.ac.th/esan/ – มุมอีสานสนเทศ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

– ภาคตะวันออก
http://rrulocal.rru.ac.th/ – ข้อมูลท้องถิ่นภาคตะวันออก สำนักวิทยบริการฯ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์

– ภาคกลาง
http://www.odi.stou.ac.th/nonthaburi-studies – นนทบุรีศึกษา สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

– ภาคใต้
http://localinfo.tsu.ac.th/jspui/ – ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ
http://wbns.oas.psu.ac.th/ – ฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ หอสมุดจอห์นเอฟ เคนเนดี้

ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีเองก็มีเว็บไซต์สารสนเทศท้องถิ่นที่น่าสนใจมากมาย เช่น
http://www.guideubon.com/ – ไกด์อุบล.com
http://202.29.20.74/rLocal/ – ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ม.ราชภัฎอุบลราชธานี
http://www.aac.ubru.ac.th/ – สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
http://www.lib.ubu.ac.th/localinformation/ – งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.esansawang.in.th/esanweb/es0_home/index_esan.html – ภาษาและวัฒนธรรมอีสาน โรงเรียนสว่างวีระวงศ์

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นผ่านเว็บไซต์นะครับ
เรื่องของวิธีและโปรแกรมจริงๆ แล้วยังมีเยอะนะครับที่สามารถนำมาใช้ได้
แต่เวลาในการนำเสนอมีจำกัด ผมจึงขอยกยอดไปไว้บรรยายในคราวต่อไปนะครับ

ก่อนจากกันวันนี้ผมขอบอกไว้ก่อนว่า การสรุปงาน libcampubon#2 ยังไม่จบครับ
ยังเหลือต่อพิเศษอีกตอนหนึ่ง คือเรื่องของ มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
และเรื่องทิศทางและหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับ libcampubon#3 ด้วยครับ
ยังไงก็รออ่านได้ในวันพรุ่งนี้นะครับ สำหรับวันนี้ต้องไปจริงๆ และ บ๊ายบาย

LibCampUbon#2 : วิชาสารสนเทศท้องถิ่นเรียนอะไร – สำคัญหรือไม่

session ที่สี่ของงาน LibcampUbon#2 (การศึกษาในวิชาสารสนเทศท้องถิ่น)
เรื่อง “การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร
โดยวิทยากร อาจารย์วิมานพร รูปใหญ่ อาจารย์สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฎอุบลฯ

การบรรยายเริ่มจากเรื่องของการศึกษาวิชาสารสนเทศท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
ซึ่งวิชานี้ ถือว่าเป็นวิชาเอกบังคับของนิสิตภาคบรรณฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้

ทำไมถึงต้องเป็นวิชาเอกบังคับ (เด็กเอกบรรณฯ ต้องเรียน)
– เกิดจากการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของภาควิชาและจุดเน้นของคณะที่ต้องการผลิตบัณฑิตที่เข้าใจและสามารถจัดการข้อมูลท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ทางภาควิชาได้คาดหวังในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูลที่อยู่ในท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ และรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในพื้นที่ด้วย

ประวัติความเป็นมาของวิชานี้ ภาคบรรณฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 (นานใช่มั้ยหล่ะครับ)  และแต่เดิมวิชานี้ถือว่าเป็นวิชาเลือกของเอกบรรณฯ เท่านั้น แต่พอมีการปรับหลักสูตรใหม่ในปี พ.ศ. 2551 จึงเห็นควรให้วิชานี้เปลี่ยนสถานะเป็นวิชาเอกบังคับ โดยเพิ่มเริ่มเรียนเป็นวิชาเอกบังคับครั้งแรกเมื่อเทอมที่แล้วนี้เอง (ปล. ประวัติของภาควิชานี้อ่านได้จาก http://www.libis.ubru.ac.th/history.php)

หลักสูตรการเรียนการสอนในวิชานี้เทอมนึงก็จะมี 16 สัปดาห์ โดยนักศึกษาจะได้เรียนในหัวข้อต่างๆ เช่น
– พื้นฐานความรู้ของเรื่องสารสนเทศท้องถิ่น (ค้นได้จากไหนบ้าง มีที่มาอย่างไร)
– แหล่งสารสนเทศท้องถิ่น (เน้นที่ข้อมูลจากตัวบุคคล)
– การจัดการสารสนเทศท้องถิ่น
– การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น
– โจทย์งานศึกษาข้อมูลในท้องถิ่นของตนเอง (2-3 สัปดาห์)
– นำเสนอผลงานสารสนเทศท้องถิ่นที่ได้ไปค้นคว้า
– การเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

เพื่อให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ อาจารย์จึงได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการทำฐานข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นด้วย การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ รวบรวม และค้นหาทำให้สารสนเทศท้องถิ่นมีการพัฒนาต่ออย่างยั่งยืน

อีกเรื่องที่นักศึกษาจะต้องเข้าใจและเรียนรู้ คือ การทำเครือข่ายสารสนเทศท้องถิ่น (ใครมีดีอะไรเราต้องรู้จัดนำมาใช้)

หลังจากที่บรรยายเรื่องการศึกษาไปส่วนหนึ่งแล้ว วิทยากรทั้งสองจึงขอเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการสารสนเทศท้องถิ่นในชุมชน ซึ่งสรุปข้อมูลได้ว่า
– มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอุบลฯ ค่อนข้างน้อย
– ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือในเรื่องการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นเนื่องจากกลัวคนอื่น copy ผลงาน
– ในแง่คิดของรัฐเราอยากให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ในแง่คิดของชาวบ้านกลัวคนลอกเลียนแบบ
– ภูมิปัญญาบางอย่างมันคงอยู่ในชีวิตประจำวันจนทำให้ชาวบ้านลืมเก็บสั่งสมองค์ความรู้
– กศน มีโครงงานที่เกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่นมากมาย น่าจะนำมาทำเป็นคลังความรู้ได้

ทำไมต้องเรียน
– สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
– แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายและคงอยู่กับคนในชุมชน

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเรื่องแบบคร่าวๆ ของเรื่องการศึกษาข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นเท่านั้นนะครับ
(กรณีตัวอย่างจาก สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ)

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจข้อมูลในภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ
ก็สามารถดูได้ที่ http://www.libis.ubru.ac.th/

LibCampUbon#2 : จัดรูปแบบสื่อสารสนเทศท้องถิ่นให้เป็นระบบ

ช่วงบ่ายหลังจากกินข้าวเสร็จก็มาพบกับหัวข้อที่สามประจำงาน LibcampUbon#2
เรื่อง “การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ
โดย อาจารย์ชำนาญ ภูมลี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

การบรรยายในครั้งนี้มีเอกสารประกอบด้วยนะครับ (สไลด์ประกอบ) ชมได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ
หรือเข้าไปดูได้ที่ http://www.slideshare.net/kindaiproject/libcampubon2-collection-development-for-local-information

เอาหล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเพื่อนๆ ก็ดูสไลด์และอ่านบทสรุปไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

อาจารย์ได้เตรียมสไลด์ซึ่งใช้หัวข้อว่า “กระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่น ให้เป็นระบบ
ซึ่งหลักๆ อาจารย์จะบรรยาย 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1. สารสนเทศมีอะไรบ้าง
2. กระบวนการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศ
3. ตัวอย่างสารสนเทศท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ

ก่อนเข้าเรื่องขอบอกกอ่นนะครับว่าอาจารย์เป็นนักจดหมายเหตุดังนั้นข้อมูลจะเป็นสารสนเทศท้องถิ่นเชิงประวัติศาสตร์มากหน่อยนะครับ

อาจารย์ได้อธิบายเรื่อง สารสนเทศท้องถิ่นคืออะไร และ อะไรคือสารสนเทศท้องถิ่นบ้าง
ซึ่งหลักๆ สารสนเทศท้องถิ่นเกิดจากวัสดุต่างๆ มากมาย เช่น อิฐ หิน ดิน ไม้…….
ส่วนสิ่งที่จะเป็นสารสนเทศท้องถิ่นได้ก็คือเอาวัสดุต่างๆ เหล่านั้น มาเขียน มาวาด มาทำสัญลักษณ์ เพื่อให้คงอยู่และสื่อความหมายได้

“สารสนเทศท้องถิ่น คืออะไร อิฐ หิน ดิน ทราย ไม้ ปูน เหล็ก ใบไม้ กระดาษ ฟิล์ม เทป ครั่ง พลาสติก #libcampubon2”
“อะไรคือสารสนเทศท้องถิ่น อิฐที่มีตัวหนังสือ ศิลาจารึก อิฐมีตัวหนังสือ ป้ายต่างๆ ใบลาน หนังสือ รูปภาพ แผนที่ #libcampubon2)”

เชื่อหรือไม่ : เสื้อรุ่นก็ยังถือว่าเป็นสารสนเทศท้องถิ่นเลย เนื่องจากบนเสื้อรุ่นจะมีข้อความบ่งบอกถึงสถานที่ ช่วงเวลา และสามารถสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้

ความหมายของสารสนเทศเบื้องต้น = ผลลัพธ์ของกระบวนการจัดการข้อมูล และความรู้ต่างๆ นั่นเอง
อาจารย์ได้เปรียบเทียบให้เราเห็นอีกว่า สารสนเทศก็เหมือนกับ สื่อ  สื่อมวลชน ข้อมูลข่าวสาร เช่นกัน

คำว่าจดหมายเหตุ จริงๆ แล้วมี 3 พยางค์ แต่สามารถแยกออกเป็นคำที่มีความหมายได้ 6 คำ คือ จด, หมาย, เหตุ, จดหมาย, หมายเหตุ, จดหมายเหตุ (โดยจดหมายเหตุจะเน้นไปที่ข้อมูลที่มีความสำคัญและเป็นของเก่า)

เมื่อเรารู้จักความหมายและลักษณะทั่วไปของสารสนเทศท้องถิ่นและจดหมายเหตุแล้ว
อาจารย์ได้นำเราเข้าสู่เรื่องของกระบวนการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศ

เรื่องแรกที่ต้องคิด คือ การรวบรวมข้อมูล หอจดหมายเหตุสามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
1. การออกระเบียบและกฎหมาย (สำหรับหน่วยงานรัฐถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเลย เช่น พรบ ระเบียบงานสารบรรณ)
2. การขอรับบริจาค
3. การซื้อ

เมื่อรวบรวมแล้วจึงมีการประเมินคณค่าเป็นอันดับสอง โดยหากเอกสารชิ้นไหนมีสาระสำคัญก็ถือว่าเป็นจดหมายเหตุได้ แต่ถ้าชิ้นไหนไม่มีคุณค่าก็จะทิ้งและทำลาย (เราไม่สามารถเก็บได้ทุกอย่าง ข้อจำกัดเรื่องสถานที่)

เมื่อได้จดหมายเหตุที่คัดเลือกและผ่านการประเมินแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การให้เลขหมวดหมู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของหน่วยงานว่าต้องการจัดระบบแบบไหน

จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการบำรุงให้จดหมายเหตุอยู่คงทนต่อไป ซึ่งมีหลายวิธีมาก เช่น การอัดล้างขยายภาพถ่าย การทำไมโครฟิล์ม การทำสำเนาเอกสาร การเสริมกระดาษ การอบน้ำยาฆ่าแมลง การจัดเก็บเข้าตู้

งานของหอจดหมายเหตุมองรวมๆ ก็คล้ายๆ ห้องสมุดนะ แต่ความพิเศษและความยากของหอจดหมายเหตุอยู่ที่เอกสารที่จัดเก็บมีสภาพเก่าแก่ ฝุ่นเยอะ
…… ดังนั้นคนทำงานด้านนี้ลำบากกว่านะ (80% ของคนทำงานหอจดหมายเหตุโสด – อันนี้อาจารย์พูดแซวนะ)

เมื่อเรารู้จัดภาพรวมของการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศแล้ว อาจารย์ได้พูดถึงงานบริการในหอจดหมายเหตุ ว่ามีดังนี้
– การให้บริการอ่านเอกสารจดหมายเหตุ
– การให้บริการทำสำเนา
– การค้นคว้าและบริการยืมจดหมายเหตุ
– การให้บริการถ่ายภาพ

บทสรุปของกระบวนการทำงานในหอจดหมายเหตุ (ชมภาพด้านล่าง)

จบในเรื่องของขั้นตอนแล้ว อาจารย์ก็นำเสนอตัวอย่างสารสนเทศท้องถิ่นให้พวกเราชม โดยเน้นภาพถ่ายเก่าๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับเข้าใจเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นกันเพิ่มบ้างหรือปล่าวครับ
นอกจากนี้ยังเห็นขั้นตอนของการจัดระบบด้วย โหแบบว่านานๆ จะได้ข้อมูลเช่นนี้นะครับ
ยังเหลือเรื่องอีกสองตอน เอาเป็นว่าก็ติดตามบทสรุปของงาน libcampubon#2 กันต่อไปนะครับ

LibCampUbon#2 : นำเสนอสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ

หัวข้อที่สองของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
โดย อาจารย์ ดร. กิติรัตน์ สีหบัณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

เมื่อเราได้สารสนเทศท้องถิ่นมาแล้ว เราก็ต้องรู้จักการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ
อาจารย์จึงได้นำเสนอกรณีศึกษาของ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

เริ่มต้นจากการแนะนำตัวเองเช่นกัน และเล่าที่มาก่อนที่จะมาได้รับตำแหน่ง ผอ. ที่นี่
ซึ่งต้องผ่านกระบวนการของการสรรหาของ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี (ต้องแสดงวิสัยทัศน์)

งานหลักที่ดูแลอยู่ในตอนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. งานบริหารด้านวิชาการ
2. งานบริการความรู้สู่ชุมชน

อาจารย์ชอบทำงานอยู่เป็นเบื้องหลัง ซึ่งงานระดับจังหวัดหลายๆ งานก็มักจะเข้ามาขอความร่วมมือจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
ตัวอย่างงานระดับจังหวัด เช่น งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เป็นต้น

ข้อคิดของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คือ “พยายามอย่าทำให้ตัวเองให้ popular เพราะคนอื่นจะจับตามองรวมถึงจับผิดด้วย
ถ้าอยากจัดงานในพื้นที่แล้วไม่มีอุปสรรคมาขวาง วิธีง่ายๆ คือ “ลายเซ้นต์ของผู้ว่าฯ

กรณีศึกษาเรื่อง งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)
ก่อนปี 2537 คนอุบลฯ ยังไม่ค่อยรู้จัก “เจ้าคำผง” เลย วิธีการที่ใช้เพื่อให้คนรู้จัก คือ จัดพิมพ์หนังสือแจกปีละ 3,000 เล่ม ต่อเนื่อง 5 ปี (ทำไมต้องจัดพิมพ์หนังสือ เพราะหนังสือสามารถจัดเก็บได้นานกว่าสื่อชนิดอื่นๆ) ภายในงานพิธีบวงสรวงจะไม่มีการขายของ (ไม่มีการออกร้านขายของ) เพราะไม่อยากทำลายบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ ในงานอนุญาตให้คนนำหมากพลูมาถวาย …..

ความสำเร็จของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม (ศูนย์ศิลป์) มาจากการพัฒนาของ ผอ. ตั้งแต่สมัยอดีต แม้ว่า ผอ. จะถูกเปลี่ยนไปหลายคนแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ นโยบายของการบริหารที่มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทำให้ไม่ขาดตอน

ข้อมูลทั่วไปของหออุบลนิทัศน์
เริ่มต้นสร้างในวันที่ 17 กันยายน 2540 และเสร็จในวันที่ 9 เมษายน 2542 ใช้งบประมาณในการสร้าง 94 ล้าน

เมื่อได้อาคารมาแล้ว โจทย์ที่ยากก็ตามมาคือ “จะเริ่มต้นจัดแสดงกันอย่างไร”
ทำไมถึงยาก : เพราะเริ่มต้นที่ไม่มีข้อมูล ไม่มีวัตถุโบราณแสดง และข้อมูลกว้างมาก

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฎหลายสาขาจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานเพื่อการค้นคว้าข้อมูล (แต่ละคณะถูกมอบหมายให้ค้นหาข้อมูลต่างกัน)

เคล็ดลับและแง่คิดก่อนที่จะเริ่มต้นค้นคว้า
– หากพูดถึงประวัติศาสตร์ ทุกคนจะรู้ว่ามันมีเรื่องที่มากมายในนั้น แต่สิ่งที่หออุบลนิทัศน์เน้น คือ เหตุการณ์ที่สำคัญในแต่ละยุคเท่านั้น ไม่ได้รวบรวมข้อมูลมาทั้งหมด
– แบ่งข้อมูลตามยุคสมัย เช่น ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ผาแต้ม), ยุคปฎิรูปการเมืองใน ร.5, ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯลฯ
– เนื้อหาที่นำมาแสดงต้องกระชับ เข้าใจง่าย และตัวอักษรต้องใหญ่ อ่านง่าย
– การนำเสนอข้อมูลต้องอาศัยภาพประกอบ วัสดุตัวอย่าง รวมไปถึงการสร้างโมเดลประกอบ
– การแบ่งพื้นที่ในหออุบลนิทัศน์แบ่งห้องนิทรรศการออกเป็น 4 ห้องหลัก
– สร้างความมีส่วนร่วมให้คนในชุมชน จัดกิจกรรมบริจาคภาพเก่าๆ ในอดีต
– มีการใช้ไวนิลเพื่อจัดนิทรรศการครั้งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี
– การจัดลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ และตามความสำคัญของเนื้อหา


ห้องแสดงนิทรรศการหลัก 4 ห้อง
มีดังนี้
1. ห้องภูมิเมือง – ภูมิศาสตร์ของเมืองอุบลราชธานี สภาพทางธรณีวิทยา ภาพถ่ายจากดาวเทียม
2. ห้องภูมิราชธานี – ประวัติของเมือง เน้นไฮไลท์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ สมัยก่อตั้งเมือง สถาปนาเมือง ก่อนการปฏิรูปการปกครอง ยุคปฏิรูปการปกครอง ร.5 กรมหลวงพิชิตปรีชากร กรมหลวงสรรพสิทธิ์ เหตุการณ์สำคัญ ขบถผู้มีบุญ
3. ห้องภูมิธรรม – พระธรรมต่างๆ พระอาจารย์หลายๆ คน
4. ห้องภูมิปัญญา – ภูมิปัญญาของชาวอุบล สมุนไพรพื้นบ้าน อาหารและครัวไฟ การแต่งกาย ภาษาและวรรณกรรม ดนตรีและนาฎศิลป์ มุมคนดีศรีอุบล

ข้อมูลเพื่อการติดต่อ
อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
2 ถนนแจ้งสนิท ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000
โทรศัพท์ 0 4535 2000-29 ต่อ 1122

ปล. ข้อมูลที่สรุปมาจากการบรรยายและแผ่นพับที่อาจารย์นำมาแจกครับ


ก่อนจบอาจารย์ได้แนะนำเว็บไซต์ของ “สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีhttp://www.aac.ubru.ac.th ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้

LibCampUbon#2 : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน

หัวข้อแรกของงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
คือเรื่อง “สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร”
โดยอาจารย์ปัญญา แพงเหล่า นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพท. อุบลราชธานี เขต 4


อาจารย์เริ่มต้นจากการแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง (อาจารย์เรียนจบช่างกลแต่ถนัดถ่ายภาพ)
และพูดถึงการเริ่มต้นสนใจเรื่องข้อมูลท้องถิ่น มาจาก “ความไม่รู้” ทำให้ “อยากรู้”

อาจารย์ย้ำก่อนที่จะเริ่มบรรยายว่า “อาจารย์ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพบรรณารักษ์แต่อาจารย์สนใจเรื่องการรวบรวมข้อมูลและนำมาเผยแพร่ให้กับทุกคนได้อ่าน” ซึ่งอาจารย์ให้แง่คิดว่า “สื่อทุกอย่างน่าจะถึงมือประชาชน

อาจารย์ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานโครงการใหญ่ๆ 2 โครงการ คือ
1. การทำหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี
2. โครงการฮักแพง … แปงอุบล (ความผูกพัน….การเปลี่ยนแปลงในจังหวัดอุบลราชธานี) ปี 2546-2549

สารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน => เสียง ภาพ เรื่องเล่า …… เน้นที่ตัวคน
ข้อมูลได้ถูกรวบรวมมาจากหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเน้นไปที่ข้อมูลที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ภาพเก่าที่เก็บรักษา…..


อาจารย์ปัญญาเล่าให้ฟังถึงอุปสรรคและปัญหาที่ใหญ่ที่สุดให้ฟัง คือ….
ข้อมูลสูญหาย (ข้อมูลที่อาจารย์รวบรวมเอาไว้ในคอมพิวเตอร์หายหมดเลย เนื่องจากคอมพิวเตอร์เสีย)
แง่คิดที่อาจารย์ฝากไว้ คือ “การเก็บข้อมูลดีที่สุดคือเขียน บันทึกเป็นภาพถ่าย อย่าหวังเรื่องดิจิตอลมาก

ข้อมูลที่จัดเก็บได้ยาวนานที่สุด คือ การบันทึกข้อมูลด้วยการเขียน
บันทึกในสมัยโบราณ เช่น การบันทึกข้อมูลลงในใบลาน….

ตัวอย่างภาพเก่าที่อาจารย์ปัญญานำมาให้พวกเราได้ดูกัน

ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส
ภาพถ่ายสะพานเสรี (2497) ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนนิยมไปถ่ายภาพเพื่อมาทำเป็น สคส

ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สารสนเทศท้องถิ่นทางประวัติศาสตร์
ในจังหวัดอุบลราชธานีมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ และพิพธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

เร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัว “เว็บไซต์ร้อยเรื่องเมืองอุบล” ต้องรอติดตามกันต่อไปนะครับ

โครงการฮูปเก่า เว้าอุบล เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกต่อยอดมาจากโครงการฮักแพง … แปงอุบล
เป็นโครงการที่รวบรวมรูปภาพเก่าที่เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี เพียงแค่รูปภาพเราก็จะเห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี และความรุ่งเรืองของอดีต

วิธีง่ายๆ ในการจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (ขั้นตอนการรวบรวม)
1. ขอแค่เราถ่ายภาพให้เป็นก็เพียงพอแล้ว ถ่ายภาพสิ่งของใกล้ตัว เช่น อาคารที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้าง ถ่ายวันนี้ก็จะเป็นอดีตของวันหน้า
2. บันทึกเสียงเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญหรือเอกสารที่เราเขียนถึง

ตัวอย่างเรื่องราวที่น่าเก็บ เช่น ภาพถ่ายของการปล่อยนกปล่อยปลาในวัด วันนี้ปล่อยนกคู่ละ 60 บาท อีก 10 ปีถ้าเรามาถ่าย ณ จุดเดิมนี้ เราอาจจะเห็นราคาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันภาพถ่ายราคาอาหารในร้านๆ หนึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วกับตอนนี้คงไม่ใช่ราคาเดียวกันแน่ๆ สารสนเทศท้องถิ่นในลักษณะนี้จะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่และเวลาด้วย

ข้อคิดสำหรับบรรณารักษ์ในเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นที่อาจารย์ฝากไว้ คือ
“บรรณารักษ์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่ต้องรู้เรื่องทุกเหตุการณ์ในอดีตก็ได้ แต่ขอให้รู้ถึงความเป็นมาของท้องถิ่นก็เพียงพอแล้ว”

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของหัวข้อแรกในงาน libcampubon#2 นะครับ
วิทยากรท่านอื่นๆ ก็บรรยายได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ติดตามอ่านกันต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ครับ

ปล. ในการบรรยายของอาจารย์ปัญญาอาจพูดประเด็นสลับไปมา ผมขออนุญาติเรียบเรียงและยกตัวอย่างเพิ่มเติมครับ

รวมภาพการจัดงานเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ Libcampubon#2

ผ่านไปแล้วสำหรับงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
ก่อนที่จะไปอ่านบทสรุปของวิทยากรแต่ละคน ผมก็ขอประมวลภาพทั้งหมดมาให้ชมก่อนนะครับ
โดยภาพที่รวมนี้ตั้งแต่เริ่มจัดสถานที่จนถึงการถ่ายภาพรวมของผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคน


สถานที่ในการจัดงานของเราก็คือ บริเวณโถงกลางชั้น 1 ของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
(แบบว่า open air มากๆ ซึ่งไม่ว่าจะนั่งส่วนไหนของห้องสมุดก็จะได้ยินการเสวนาแน่นอน)

ก่อนเริ่มงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทั้งหมด 45 คน ซึ่งเป็นอาจารย์ภาคบรรณฯ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัย นักศึกษาเอกบรรณารักษ์ และผู้ที่สนใจทั่วไป

เมื่อถึงเวลาเริ่มงาน…ก็ต้องมีการเกริ่นที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้เล็กๆน้อยๆ โดยผมเอง

เริ่มหัวข้อแรกด้วยเรื่อง สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร โดย อาจารย์ปัญญา


ต่อด้วยหัวข้อที่สองเรื่อง นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ โดย อาจารย์กิติรัตน์


หัวข้อที่สามเรื่อง การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ โดยอาจารย์ชำนาญ


หัวข้อที่สี่และหัวข้อที่ห้ารวมกัน เรื่องการเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร และกรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย โดยอาจารย์วิมานพร และผมเองครับ


ก่อนจบการสัมมนาในครั้งนี้ เรื่องแถม การแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นและแผนการพัฒนามุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยคุณดาหวัน


ไม่ลืมก่อนแยกย้ายก็ต้องถ่ายรูปรวมกันสักหน่อย

นี่ก็เป็นเพียงภาพบางส่วนเท่านั้นนะครับ ถ้าอยากชมแบบเต็มๆ ก็ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ
ประมวลภาพสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)

[nggallery id=39]

เป็นยังไงกันบ้างครับ ยังไงก็รออ่านบทสรุปต่อวันหลังได้เลยนะครับ

ปล. ขอบคุณสำหรับภาพงามๆ จากฝีมือทีมงานห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

LibCampUbon#2 : สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด

สัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจรกลับมาอีกครั้งแล้วนะครับ ครั้งนี้เราก็ยังคงจัดที่จังหวัดอุบลราชธานีเช่นเคย หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม LibCampUbon#2 โดยหัวข้องานหลักในครั้งนี้ คือ “สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด” หัวข้อเล็กๆ แต่เป็นโครงการใหญ่ของห้องสมุดหลายๆ แห่ง

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องานภาษาไทย : สัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่องานภาษาอังกฤษ : LibCampUbon#2
ธีมหลักของงาน : สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 26 พฤษภาคม 2554
สถานที่จัดงาน : ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้จัดงาน : ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี, ศูนย์ความรู้กินได้, เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่

ทำไมธีมงานในครั้งนี้เราต้องเน้นเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นด้วย คำตอบแบบง่ายๆ คือ “เพราะข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นถือว่าเป็นจุดเด่นของการศึกษาพื้นที่ ประวัติความเป็นมา และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้นๆ” แล้วห้องสมุดมีบทบาทและอะไรที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศท้องถิ่นหล่ะ อีกคำตอบ คือ “ศูนย์กลางแห่งข้อมูลท้องถิ่นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือห้องสมุดยังไงหล่ะครับ

“สารสนเทศท้องถิ่น เป็นข้อมูลที่มีคุณค่า และมีความสำคัญ สำหรับศึกษาค้นคว้า ความรู้ ภูมิประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น”

หนังสือโครงการสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร : LibcampUbon ครั้งที่ 2
“สารสนเทศท้องถิ่นกับห้องสมุด   (Local Information @ Library)

เพื่อนๆ อ่านได้จาก http://www.kindaiproject.net/kmshare-blog/libcampubon2-proposal.html

ผมจะขอสรุปแบบคร่าวๆ ให้อ่านแล้วกันว่าในงานนี้เพื่อนๆ จะได้พบกับหัวข้อที่น่าสนใจอะไรบ้าง
– สื่อสารสนเทศท้องถิ่นมาจากไหน และจะรวบรวมสื่อสารสนเทศท้องถิ่นได้อย่างไร
– การจัดรูปแบบกระบวนการจัดเก็บรวบรวม อนุรักษ์ รักษา สื่อสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรให้เป็นระบบ
– นำเสนอข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
–  การเรียนการสอนในวิชาสารสนเทศท้องถิ่นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร
– กรณีศึกษา : สื่อสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์ห้องสมุดเมืองไทย
– เสวนาร่วม : ความร่วมมือในการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

วิทยากรที่มาให้ความรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความสามารถและเก่งในเรื่องสารสนเทศท้องถิ่นมากๆ เลยครับ เช่น นักการศึกษา หัวหน้าหอจดหมายเหตุ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม อาจารย์ผู้สอนเรื่องสารสนเทศท้องถิ่น รวมถึงผมเองที่จะพูดในแง่ของสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์…

งานนี้ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า ฟรีเช่นเคย ใครสนใจก็ส่งเมล์มาหาผมได้นะครับ
สำหรับใครที่ต้องการจดหมายเชิญก็ส่งเมล์มาหาผมได้เช่นกัน เดี๋ยวจะให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือเชิญไปให้

งานนี้ไม่อยากให้พลาดอีกเช่นเคย ใครที่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมงานได้ก็ขอเชิญนะครับ ส่วนใครที่ไม่อยากเดินทางไกลในวันนั้นเราจะมีการ live tweet (ถ่ายทอดสดผ่านข้อความใน twitter นาทีต่อนาทีเลย ติดตามได้จาก twitter.com/kindaiproject)
หรือทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ รอติดตามผ่านบทสรุปด้วยการเขียนบล็อกของผมเองก็ได้ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ขอลงข่าว libcampubon แค่นี้ก่อนแล้วกัน สำหรับวันนี้ลาไปก่อนนะ อิอิ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ส่งเมล์มาถามได้ที่ dcy_4430323@hotmail.com

ปล. libcampbkk ไม่ต้องน้อยใจเร็วๆ นี้เราจะจัดที่กรุงเทพฯ แน่นอนครับ สถานที่ตอนนี้ มธ รังสิต เสนอตัวมาแล้ว เรื่องแค่ธีมงานและหัวข้อเล็กๆ น้อยๆ ครับ

สัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจรกลับมาอีกครั้งแล้วนะครับ ครั้งนี้เราก็ยังคงจัดที่จังหวัดอุบลราชธานีเช่นเคย

เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ อุบลราชธานี = LibcampUbon

หายไป 1 ปีกว่าๆ ในที่สุดงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ (งาน Libcamp) ก็กลับมา
ครั้งนี้พิเศษหน่อยตรงที่เป็นการจัดงาน Libcamp ในต่างจังหวัดครั้งแรกของเมืองไทย
ซึ่งผมใช้คำว่างานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (LibcampUbon)

ขอรำลึกความหลังของงาน Libcamp สักเล็กน้อย เผื่อหลายคนจะยังไม่รู้จักงานนี้

งาน LibCamp คือ งานสัมมนาแบบไม่เป็นทางการของวงการห้องสมุดครั้งแรกของเมืองไทย เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจงานด้านห้องสมุด บรรณารักษ์ศาสตร์ และการจัดการความรู้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน

ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับงาน Libcampbkk ผมสรุปไว้ให้อ่านที่
http://www.kindaiproject.net/kmshare-blog/libcampbkk-to-libcampubon.html

เข้าเรื่องเลยดีกว่า งานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (LibcampUbon)
จัดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ธีมของงานนี้ คือ “การใช้สื่อท้องถิ่นและสื่อออนไลน์ในงานห้องสมุด”

หัวข้อที่น่าสนใจในงาน LibcampUbon#1
– กรณีศึกษาความสำเร็จของห้องสมุดโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
– ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ห้องสมุดผ่านสื่อในท้องถิ่น
– กรณีศึกษา : Facebook กับงานห้องสมุด
– กรณีศึกษา : การทำบล็อกห้องสมุด
– คำแนะนำในการสร้างเว็บความรู้ของท้องถิ่น

ร่างโครงการงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (LibcampUbon)อ่านได้ที่
http://www.kindaiproject.net/kmshare-blog/libcampubon1-proposal.html

งานนี้ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า ฟรีเช่นเคย ใครสนใจก็ส่งเมล์มาหาผมได้นะครับ
สำหรับใครที่ต้องการจดหมายเชิญก็ส่งเมล์มาหาผมได้เช่นกัน เดี๋ยวจะให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือเชิญไปให้

งานนี้ใครมาไม่ได้ (เพราะว่าไกล) ผมแนะนำให้ติดตามได้ผ่าน twitter #libcampubon
เข้าไปที่ http://twitter.com/#!/search/libcampubon1
เพราะว่าเราจะมีเจ้าหน้าที่คอยอัพเดทข้อมูลและสรุปงานสัมมนาตลอดทั้งวัน

เอาเป็นว่าวันนี้ก็ขอแนะนำไว้เพียงเท่านี้ก่อน ต้องขอตัวไปเตรียมความพร้อมงานนี้เหมือนกัน
สำหรับคนกรุงเทพยังไม่ต้องน้อยใจ ปีนี้ผมสัญญาว่ามีงาน libcamp ในกรุงเทพเช่นเคยแน่ๆ
ติดตามรายละเอียดได้ที่นี่เร็วๆ นี้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ส่งเมล์มาถามได้ที่ dcy_4430323@hotmail.com

LibCamp#3 : Library and Social Enterprise

ผู้บรรยายคนต่อมา คือ คุณไกลก้อง ไวทยการ จากแผนงานไอซีที สสส.
มาบรรยายในเรื่องการปรับเปลี่ยนบทบาทของห้องสมุดให้เข้ากับแนวทาง Social Enterprise

librarysocialenter

ก่อนที่คุณไกลก้องจะเริ่มบรรยาย ผมก็ได้เกริ่นถึงเรื่อง
“การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรจากภายนอกกับองค์กรด้านห้องสมุด”
ว่าทำไมห้องสมุดอย่างเราจึงต้องสร้างความร่วมมือร่วมกัน หรือทำไมต้องร่วมกับองค์กรอื่นๆ
ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็ไม่พ้นเรื่องของความช่วยเหลือในด้านงบประมาณหรือการพัฒนาต่างๆ นั่นเอง

ซึ่งเมื่อเราสร้างเครือข่ายไปแล้ว เราจะได้อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
– การช่วยเหลือด้านงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด
– บุคลากรด้านเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบห้องสมุด
– หนังสืออภินันทนาการ ฐานข้อมูล และเนื้อหาที่ดีสำหรับห้องสมุด
– นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีค่ายพัฒนาห้องสมุด

เหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวเย่างความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายของห้องสมุดกับหน่วยงานต่างๆ

จากนั้นคุณไกลก้องก็อธิบายถึงคำว่า Social Enterprise ว่า
Social Enterprise หรือ องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม คือโมเดลทางธุรกิจที่ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
ลักษณะขององค์กรประเภทนี้คือการทำเพื่อแสวงหากำไร (เงิน)
แต่สิ่งสำคัญขององค์กรประเภทนี้คือเงินเหล่านี้จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์และตอบแทนสังคมต่อไป

“กำไรไม่ใช่เป้าหมายหลักขององค์กร แต่องค์กรก็ต้องอยู่ได้ด้วยผลตอบแทนเหล่านี้ด้วย”

ห้องสมุดก็สามารถที่จะทำให้กลายเป็น องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ได้นะครับ
หากเรามองในแง่ของห้องสมุดในเมืองต่างๆ (อำเภอเมือง ของจังหวัดต่างๆ)
เราจะเห็นบทบาทของห้องสมุดในฐานะ ที่อ่านหนังสือ ที่ทำรายงาน ที่ทำงาน ฯลฯ

ถ้าสมมุติว่าเราเติมฟังค์ชั่นลงไปในห้องสมุดเหล่านี้หล่ะ
เช่น เอาโครงการ Digital Library ไปให้ห้องสมุดเหล่านี้ดำเนินการ จะเกิดอะไรขึ้น
– ห้องสมุดก็จะกลายเป็นศูนย์สแกนเอกสาร
– ห้องสมุดเป็นผู้นำเข้าข้อมูลให้โครงการ Digital Library
– ห้องสมุดเป็นแหล่งที่ใช้ในการเรียนการสอนได้ (สามารถมาฝึกงานได้ในห้องสมุด)
– สร้างอาชีพให้คนในสังคม (จ้างคนมาดำเนินการ)
– ห้องสมุดจะกลายเป็นศูนย์ telecenter (ศูนย์กลางของชุมชนและเชื่อมไปหาหน่วยงานอื่นๆ)

จะเห็นว่าห้องสมุดก็จะมีผลตอบแทนที่เข้ามาที่ห้องสมุดก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นปัจจัยหรอกครับ
เพราะเงินหรือผลตอบแทนเหล่านั้นก็จะกลับมาพัฒนาห้องสมุดเพื่อสังคมต่อไปได้อีกนั่นเอง

หลักขององค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่น่าสนใจ เช่น
– ธุรกิจต้องแก้ไขปัญหาทางสังคม
– ธุรกิจต้องยั่งยืน
– ลงทุนเท่าไหร่ก็ได้คืนเท่านั้น
– ตระหนักในสิ่งแวดล้อม
– ต้องมีใจรักในการทำ

ประเด็นสุดท้ายที่คุณไกลก้องได้พูดถึงคือ แนวทางสำหรับห้องสมุดที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม มีขั้นตอนดังนี้
1. ห้องสมุดต้องเริ่มจากการเขียนโครงการ (หาโครงการที่น่าสนใจและทำเพื่อชุมชนมาลองเขียนดู)
2. ห้องสมุดต้องหาผู้ลงทุน เช่น ติดต่อกับองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนเรื่องงบประมาณ
3. ห้องสมุดต้องมีผู้ให้คำปรึกษาเนื่องจากโครงการที่ทำห้องสมุดอาจจะไม่ได้เข้าใจทุกส่วน
4. สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และเข้าร่วมกับเครือข่ายเพื่อดำเนินงาน
5. ต่อยอดแนวคิดและพัฒนาโครงการอยู่เรื่อยๆ

เป็นไงกันบ้างครับน่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยครับ
การเปลี่ยนตัวเองจากองค์กรที่คอยรับอย่างเดียว เป็นองค์กรที่รุกแบบนี้ผมว่าน่าสนุกมากๆ เลยใช่มั้ยครับ