รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

มีหน่วยงานหนึ่งต้องการให้ผมไปบรรยาย โดยไม่ได้กำหนดหัวข้อมาให้เลย รู้แค่ว่าต้องการอบรมให้กับผู้ใช้บริการและบรรณารักษ์ในห้องสมุด โดยเน้น “สื่อสังคมออนไลน์ + ประชาคมอาเซียน + ความคิดสร้างสรรค์” เอาหล่ะผมเลยขอร่างคอร์สอบรมแบบสั้นๆ ให้สักเรื่อง ซึ่งผมขอตั้งชื่อว่า “รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ลองมาอ่านกันว่าคอร์สนี้จะสนุกแค่ไหน

ปล. คอร์สที่ผมเขียนในวันนี้วิทยากรท่านอื่นๆ ที่ผ่านมาหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ อนุญาตให้ลอกได้ครับ

ข้อมูลทั่วไปของหลักสูตรนี้
ชื่อหลักสูตร : รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
เวลาในการอบรม : 6 ชั่วโมง
วิทยากร : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์


หัวข้อที่ใช้ในการอบรม

– แนะนำข้อมูลประชาคมอาเซียนเบื้องต้น
– คำสำคัญ (Keyword) ที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
– เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
– ความน่าเชื่อถือของข้อมูล “ประชาคมอาเซียน” ใน วิกิพีเดีย
– “ประชาคมอาเซียน” ในเครือข่ายสังคมออนไลน์
– การใช้ Youtube เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าประชาคมอาเซียน
– ปักหมุด “ASEAN” ใน Pinterest
– การนำเสนอ ข้อมูลที่เกี่ยวกับอาเซียน ใน Slideshare
– พกพาข้อมูล ASEAN ไปไหนมาไหนด้วย APP

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นหัวข้อที่ผมเขียนไว้คร่าวๆ
เอาไว้หลังบรรยายจะเอาสไลด์มาให้ชมนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอเขียนเท่านี้แล้วกัน อิอิ

ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)

วันก่อนมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง “ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK park Yala) เลยอยากเอามาสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่าน

ไปชมสไลด์ที่ใช้บรรยายกันก่อน

[slideshare id=13954579&doc=libraryworkisfunbysocialmedia-120813010522-phpapp01]

เนื้อหาการบรรยายโดยสรุปมีดังนี้

จุดเริ่มต้นของสื่อสังคมออนไลน์และเครือข่ายสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องเว็บ 2.0 ซึ่งความหมายและจุดเด่นของเว็บ 2.0 คือ เป็นยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์ และมีรูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์” นอกจากนี้ยังเน้นแนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ

จากความหมายและจุดเด่นข้างต้นของ “เว็บ 2.0” จะพบว่า”ผู้ใช้บริการมีความสำคัญอย่างมากต่อเว็บไซต์” และสิ่งที่ตามมา คือ “สังคมแห่งการแบ่งปันข้อมูล” โลกของการแบ่งปัน โลกของเว็บ 2.0 ทำให้เกิดเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันมากมาย เช่น

– ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
– ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
– ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
– ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
– ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์ที่ควรนำมาใช้ : แนะนำวิธีใช้งานและการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้สำหรับงานห้องสมุด ดังนี้ Blog, Facebook, Pinterest, Social cam และ Twitter ซึ่งเมื่อห้องสมุดหรือบรรณารักษ์นำมาใช้แล้วก็ควรจัดทำแผนและกำหนดทิศทางในการใช้งาน รวมถึงประเมินและวัดผลสัมฤทธิ์ของการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผล เช่น
Facebook Insight
Google Analytic

เอาเป็นว่าเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้เมื่อใช้ให้ถูกจุด มีเป้าหมาย กลยุทย์ และการวัดผลที่ชัดเจน จะทำให้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการใช้งานขึ้นมากกว่าเดิม

นี่ก็เป็นบทสรุปของสไลด์เรื่อง “ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ครับ

ภาพบรรยากาศในช่วงที่บรรยาย

[nggallery id=60]

สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีบรรยายเยอะมากๆ เอาเป็นว่าจะเอามาสรุปให้อ่านทีละตอนแล้วกันนะครับ
วันนี้ขอคิวของการไปบรรยายที่จังหวัดร้อยเอ็ดก่อนแล้วกัน ในหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน

การบรรยายเรื่องนี้ผมใช้เวลาครึ่งวันบ่ายครับ เพราะช่วงเช้าหัวหน้าผมบรรยายไปแล้ว
(เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด“)

เริ่มจากไปดูสไลด์ที่ผมใช้บรรยายก่อนดีกว่า
Social media in library at roiet

เอาหล่ะครับมาอ่านบทสรุปของผมต่อแล้วกัน

การบรรยายเริ่มจากการเกริ่นเส้นทางจากบรรณารักษ์ในแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่
และเกริ่นถึงหัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้ คือ
– ทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ทุกคนควรรู้….
– ทำความรู้จักสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
– กรณีศึกษาการใช้บล็อกสำหรับห้องสมุด
– กรณีศึกษาการใช้ Facebook สำหรับงานห้องสมุด
– แนวโน้มการก้าวสู่การเป็นห้องสมุดยุคใหม่ในโลก

บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีความรู้ด้านวิชาชีพ (บรรณารักษศาสตร์) และมีความรู้ด้านไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์

การทำงานในห้องสมุดให้ราบรื่น จำเป็นที่จะต้องเห็นภาพรวม
และเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเห็นภาพคือ Library Work Flow ตัวอย่างดังภาพ

ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที – ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรามากมาย เช่น งานบริหารห้องสมุด, งานจัดซื้อจัดหา, งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ, งานบริการต่างๆ, ระบบห้องสมุด

ไอทีสำหรับบรรณารักษ์ ผมย้ำแค่ 3 ประเด็น คือ ต้องรู้จัก เข้าใจ และเอาไปใช้ให้ถูก

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ประเด็นไอทีในข้อ 1-7 ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ใช้กันอยู่แล้วเพียงแต่ต้องฝึกฝนกันมากๆ แต่ในข้อที่ 8 อยากให้เรียนรู้กันมากๆ นั่นคือ เรื่องเว็บ 2.0 นั่นเอง

เว็บ 2.0 มีลักษณะดังนี้ (สรุปประเด็นตามสไลด์)
– ยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์
– รูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์”
– แนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ
– การปรับเว็บไซต์จากการให้ข้อมูลเพียงทางเดียว เป็นการให้บริการและข้อมูลที่ “ผู้ใช้” เข้าถึงได้ง่ายและร่วมสร้าง แก้ไข


จาก “เว็บ 2.0” สู่ “ห้องสมุด 2.0” ซึ่งสิ่งที่เหมือนกัน คือ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการ รับฟังผู้ใช้บริการ …..

ในอดีตช่องทางที่จะทำให้คนทั่วไปรู้จักห้องสมุดบนโลกออนไลน์ มีเพียงวิธีเดียว คือ “เว็บไซต์ห้องสมุด” แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์มากมายให้เลือกใช้ ที่สำคัญ คือ “ฟรี”

สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งปันความรู้ – เครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันความรู้

ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์แบบต่างๆ เช่น Blog Facebook twitter

ทิศทางสำหรับห้องสมุดในอนาคต (Trend : Library in the Future)
1. Mobile applications.
2. E-book readers.
3. Niche social networking.
4. Google Applications.
5. Google Books.
6. Library socialized.
7. Open source software.
8. Podcasting and ItunesU.
9. Social networking classes for patrons.
10. Library Marketing.


นี่ก็เป็นการสรุปการบรรยายให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ เอาเป็นว่าขอจบแต่เพียงเท่านี้หล่ะกันครับ

ผมขอฝากเอกสารชิ้นนึงให้อ่าน เป็นบทความที่ผมเขียนลงวารสารโดมทัศน์ของธรรมศาสตร์
อยากให้อ่านเพราะว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
อ่านได้ที่ “คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

สรุปการบรรยาย สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด

เมื่อวันอาทิตย์ที่มา (วันที่ 25 มีนาคม 2555) ผมได้รับเกียรติให้ไปเป็นวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการบริการห้องสมุด” ซึ่งจัดโดยห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสุมดแห่งประเทศไทยฯ ตามธรรมเนียมครับที่ผมจะต้องมาสรุปงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่
http://www.libraryhub.in.th/2012/02/28/workshop-facebook-for-library-service/

การบรรยาย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
– ช่วงเช้า เน้นทฤษฎี ความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และแนะนำการใช้งาน Facebook เบื้องต้น
– ช่วงบ่าย เน้นการปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การสมัครใช้งาน Facebook การปรับแต่งหน้าตา และเครื่องมือที่ไม่ควรพลาด

ปล. สื่อสังคมออนไลน์มีมากมาย แต่หลักๆ วันนั้นผมลงรายละเอียดที่ Facebook Fanpage เป็นหลัก

Slide ที่ผมใช้บรรยายมีจำนวน 3 Slide ประกอบด้วย
1. เปิดมุมมองห้องสมุดในต่างประเทศ
2. พฤติกรรมของผู้ใช้ห้องสมุด “ระดับนักศึกษา” 2005-2010 (ไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากยังไม่สมบูรณ์)
3. Facebook Fanpage สำหรับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์

ผมขอสรุปไปทีละ Slide เลยแล้วกันนะครับ เพื่อที่ว่าเพื่อนๆ จะได้เปิด  Slide และดูตามไป

1. เปิดมุมมองห้องสมุดในต่างประเทศ

Slide ชุดนี้ผมอยากให้ผู้ที่เข้าฟังการบรรยายได้รู้จักคำศัพท์และเครื่องมือต่างๆ กันสักหน่อย ซึ่งได้แก่ Blog, Wiki, IM, Tag, Widget, Library Search, RSS, Flickr, Ning, Facebook, Slideshare, Youtube, Scribd, Spokeo, Zoomii, Zotero, Yahoo Pipe, Bibme

2. พฤติกรรมของผู้ใช้ห้องสมุด “ระดับนักศึกษา” 2005-2010 (ไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากยังไม่สมบูรณ์)

3. Facebook Fanpage สำหรับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์

Slide ชุดนี้เป็นเนื้อหาหลักของการบรรยายในวันนั้นเลย (จริงๆ เป็นสไลด์ชุดเดียวกับที่ผมบรรยายที่โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ซึ่งเพื่อนๆ สามารถอ่านได้จาก http://www.libraryhub.in.th/2012/02/16/facebook-fanpage-for-thai-junior-encyclopedia-project/) แต่ผมขอเอามาสรุปอีกครั้งก็แล้วกัน

เรื่องของความหมายของ Facebook คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วเนื่องจากผู้ที่เข้าอบรมทุกคนใช้ Facebook กันอยู่แล้ว

รูปแบบการใช้ Facebook ในปัจจุบัน เราสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือ
1. Profile
2. Group
3. Page

แต่ละแบบใช้งานและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

ในวงการห้องสมุดเมืองไทยก็มีความเข้าใจในเรื่องการใช้ Facebook กันผิดประเภทหลายแห่ง
ส่วนใหญ่มักจะสมัครใช้ Facebook ในแบบ Profile จำนวนมากเนื่องจากสมัครง่าย
แต่หลายๆ คนลืมคิดถึงข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว จำนวนสมาชิก การวัดผลการใช้งาน…

ดังนั้นข้อสรุปแล้ว ผมจึงนำเสนอให้ ห้องสมุดใช้แบบ Page จะดีกว่า เพราะ
ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (แม้ว่าผู้ใช้จะไม่ได้เล่น Facebook) จำนวนสมาชิกที่ไม่จำกัด และการวัดผลที่ชัดเจน

ตัวอย่าง Facebook Fanpage ในวงการห้องสมุดที่น่าสนใจ
– Tkpark อุทยานการเรียนรู้ (http://www.facebook.com/tkparkclub)
– Thailand Creative & Design Center (TCDC) (http://www.facebook.com/tcdc.thailand)
– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ความรู้กินได้ (http://www.facebook.com/Ubonpubliclibrary)
– เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย (http://www.facebook.com/THLibrary)
– Thammasat University Libraries (http://www.facebook.com/pages/Thammasat-University-Libraries/100107346702609)

ข้อแนะนำสำหรับการใช้ Facebook Fanpage
1. คอยอัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของห้องสมุดใหม่ให้ผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ อยากปล่อยให้ข่าวไม่อัพเดทเกิน 1 เดือน
2. หากผู้ใช้บริการขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดหรือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ขอต่ออายุการยืมหนังสือ ห้องสมุดไม่ควรปฏิเสธ
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการด้วย อย่าเงียบหายหรือละเลย พยายามตอบและให้บริการด้วยความเร็ว
4. ไม่นำเรื่องราวพฤติกรรมที่แย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลงในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ของห้องสมุด
5. พยายามพูดคุยหรือถามความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในห้องสมุดเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์บ้าง
6. การจัดกิจกรรมในห้องสมุดทุกครั้งควรนำมาลงในเว็บไซต์ห้องสมุดและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดตามข่าวสารของห้องสมุด

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงบทสรุปแบบคร่าวๆ ในวันนั้นนะครับ
ก่อนปิดบล็อกวันนี้ ผมขอขอบคุณ บริษัท Mercuri Data ด้วยนะครับที่สนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้

ภาพการอบรมในวันนั้นผมลงให้แล้วใน Facebook เพื่อนๆ สามารถเข้าไปชมภาพบรรยากาศได้เลยที่
http://www.facebook.com/media/set/?set=a.352474518127142.74790.196587720382490&type=1

แล้วอย่าลืมมากด Like เป็น Fanpage ของเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ด้วยนะครับ http://www.facebook.com/THLibrary

ภาพบรรยากาศการอบรมในวันนั้นทั้งหมด

[nggallery id=54]

10 แนวโน้มด้าน Social Media สำหรับวงการห้องสมุด ในปี 2012

วันนี้เข้าไปอ่านบล็อก  socialnetworkinglibrarian แล้วเจอบล็อกเรื่องนึงที่น่าสนใจมาก เป็นเรื่องคำทำนายเกี่ยวกับ Social Media ที่จะเกิดในวงการห้องสมุดปี 2012

เรื่องของ Social Media ไม่ใช่เรื่องแฟชั่นอีกต่อไปแล้วนะครับ
เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะวงการไหนๆ ก็ให้ความสำคัญกับมัน และใช้กันอย่างแพร่หลาย
ไม่พ้นวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์เช่นกัน เราจะต้องทำความรู้จักกับมันและใช้มันให้เป็น

ต้นฉบับเรื่องนี้ คือ Top 10 Social Media and Libraries Predictions for 2012

ผมขอแปลแบบสรุปๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วกันนะครับ

10 แนวโน้มด้าน Social Media สำหรับวงการห้องสมุด ในปี 2012
1. จำนวนของเว็บไซต์ห้องสมุดที่ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เช่น โทรศัพท์มือถือ tablet ฯลฯ
2. ห้องสมุดจำนวนมากจะใช้ Youtube เพื่อใช้วีดีโอทำการตลาดให้ห้องสมุดและเพื่อการศึกษา
3. ห้องสมุดจะสื่อ Social media มากกว่าการเป็นแค่สื่อประชาสัมพันธ์
4. Google+ จะได้รับความนิยมมากขึ้นและห้องสมุดหลายๆ แห่งจะเข้าไปสร้าง page บน Google+ ด้วย นอกเหนือจากการสร้าง page บน facebook
5. ห้องสมุดจำนวนมากจะค้นหาวิธีเพื่อสร้าง app บนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ (Mobile app)
6. ผู้ให้บริการด้านฐานข้อมูลจะสร้าง app บนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ (Mobile app) และห้องสมุดก็นำ app เหล่านี้ไปให้ผู้ใช้บริการใช้ต่อไป
7. เว็บไซต์วิจารณ์หนังสือ (Review book) เช่น Goodreads และ librarything จะถูกใช้จากวงการห้องสมุดมากขึ้น
8. ห้องสมุดจะนำโปรแกรมจำพวก Opensource มาใช้มากขึ้น
9. ห้องสมุดจำนวนมากจะใช้เกมส์ออนไลน์เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดและการศึกษา
10. ห้องสมุดจำนวนมากจะใช้ Google app มากกว่าแค่การใช้บริการอีเมล์

เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับแนวโน้มในปีนี้

จากข้อมูลข้างต้นเพื่อนๆ จะสังเกตว่าเรื่องของ Facebook เริ่มไม่ค่อยมีการพูดถึงแล้ว เนื่องจากมันเข้ามาอยู่กับวงการห้องสมุดในต่างประเทศนานพอสมควรแล้ว ปีนี้เรื่อง google+ กำลังมาจึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษหน่อย และเรื่อง ebook เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่นิยม แต่มันได้รับความนิยมจนคงที่แล้ว ตอนนี้เรื่อง Review book กำลังน่าสนใจเช่นกัน

เอาเป็นว่าปี 2012 จะเป็นอย่างไร เพื่อนๆ ต้องจับตาดูกันต่อไปนะ

เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ อยากอ่านเรื่องเต็มๆ เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่
http://socialnetworkinglibrarian.com/2011/12/29/top-10-social-media-and-libraries-predictions-for-2012/

ห้องสมุดจำเป็นต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือไม่

นานแล้วที่ไม่ได้ตั้งแบบสอบถาม วันนี้พอดีได้คุยกับเพื่อนบรรณารักษ์คนนึงเลยได้ไอเดียแบบสอบถาม
ซึ่งแบบสอบถามนี้มาจากการสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนเรื่อง “ห้องสมุดต้องมีสื่อสังคมออนไลน์ด้วยหรือ?”

เอาเป็นว่าก่อนอ่านเรื่องนี้ ผมต้องขอถามเพื่อนๆ ก่อน ว่า “ห้องสมุดต้องมีสื่อสังคมออนไลน์ด้วยหรือ?” (สำรวจแบบจริงจังนะอย่าตอบเล่นๆ)

[poll id=”20″]

เอาหล่ะเมื่อตอบเสร็จแล้วมาอ่านเรื่องการสนทนาของผมกับเพื่อนกันต่อ เรื่องมันมีอยู่ว่า…

เพื่อนผมจุดประเด็นเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์
ซึ่งเพื่อนผมคนนี้มองว่าห้องสมุดหลายแห่งมีการใช้งานของสื่อสังคมออนไลน์แบบแปลกๆ
เช่น มีการ invite เกมส์ออนไลน์, มีการแชร์ของ (เล่นเกมส์), ไม่ค่อยมีการอัพเดทข้อมูลสถานะ…. (ดูรูป)

ซึ่งเพื่อนผมก็เลยถามว่าแล้วตกลงห้องสมุดมีเครื่องมือแบบนี้ไว้เพื่ออะไร

อืม….บางประเด็นผมก็ไม่สามารถแก้ให้เพื่อนๆ ได้ เพราะหลักฐานมันก็ปรากฎจริงๆ
แต่ผมก็บอกได้ว่าก็ยังมีห้องสมุดอีกไม่น้อยนะที่นำมาใช้ประโยชน์จริงๆ
เช่น ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (www.facebook.com/kindaiproject)

จากประเด็นนี้ผมกับเพื่อนจึงมานั่งระดมหัวกันว่า ตกลงแล้ว “ห้องสมุดจำเป็นต้องมีสื่อสังคมออนไลน์หรือปล่าว”
คำถามตอบสำหรับสังคมปัจจุบัน คือ “ควรมี – ต้องมี” ห้ามตอบว่า “ไม่ต้องมีก็ได้”

ทำไมหล่ะ…..ลองนั่งคิดดูนะครับว่าถ้าเรามีกิจกรรมดีๆ ที่จัดในห้องสมุดเราจะประชาสัมพันธ์อย่างไร
– ทำป้ายแล้วมาติดบอร์ดในห้องสมุด (ผู้ใช้บริการอ่านบ้างหรือปล่าว)
– ส่งอีเมล์ไปหาผู้ใช้บริการและแจ้งข่าวสาร (ผู้ใช้บริการเปิดบ้างหรือปล่าว / ไม่แน่อาจมองห้องสมุดเป็นสแปม)
– เอาขึ้นเว็บห้องสมุดเลย (แน่ใจว่าผู้ใช้บริการจะเปิดเว็บไซต์ห้องสมุด)

ปัญหาต่างๆ มากมายยังมีอีกเยอะครับ

อ่ะงั้นเราทำตัวให้เป็นผู้ใช้บริการบ้าง หลักๆ แต่ละวันผู้ใช้บริการทำอะไรบ้าง
…กิจกรรมหลักๆ คือเข้าอินเทอร์เน็ต
แต่อย่าเพิ่งดีใจครับ เขาไม่ได้เข้าเว็บห้องสมุดหรอก
เว็บไซต์ที่ผู้ใช้บริการปัจจุบันเข้าหลักๆ คือ www.facebook.com นั่นแหละครับ

อ่ะกลับมาที่คำถามดังนั้นถ้าเราทำให้ผู้ใช้บริการเป็นเพื่อนกับเราใน facebook แล้ว
นั่นก็หมายความว่าเรามีโอกาสที่จะประชาสัมพันธ์สิ่งดีๆ หนังสือดีๆ กิจกรรมดีๆ ให้ผู้ใช้บริการได้
แล้ว

แล้วมองในอีกมุมนะ ว่าถ้าหาก facebook ของห้องสมุดเต็มไปด้วยเกมส์ผู้ใช้จะคิดว่าอย่างไร…

สื่อสังคมออนไลน์มีหลายตัวนะที่อยากแนะนำ facebook, twitter, youtube, slideshare, flickr….. เอาเป็นว่าใช้ได้ทั้งหมดเลย แถมฟรีด้วย

เรื่องสนทนายังคงเดินหน้าต่อไปเรารู้แล้วว่าผู้ใช้บริการมีชีวิตที่อยู่ในออนไลน์มากมาย
และเราเองในฐานะห้องสมุดเราก็ต้องนำเสนอความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้ใช้บริการ

แล้วตกลงการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในทางอื่นเกิดจากอะไรหล่ะ
– เกิดจากกระแส หรืออาจจะเกิดจากแฟชั่น (คนอื่นเล่นห้องสมุดก็เลยต้องเล่น)
– เกิดจากคำสั่ง (ผู้บริหารสั่งมาก็ทำๆ ให้เขาหน่อย)

เอาเป็นว่าถ้านำมาใช้แบบเรื่อยเปื่อยไม่มีทิศทาง เราก็ไม่สามารถที่จะใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพด้วย
การบังคับให้ทำอาจจะได้ผลในช่วงแรก แต่พอนานไปก็เริ่มเปื่อยและก็ปล่อยให้สื่อสังคมออนไลน์เฉาลงไปเรื่อยๆ

เพื่อนๆ ที่ต้องการรู้เรื่องสื่อสังคมออนไลน์มากกว่านี้ก็ลองค้นหาอ่านในบล็อกผมได้นะ
เพราะผมเขียนเรื่องเหล่านี้ไปเยอะพอสังคมแล้ว ทั้ง facebook – twitter

สุดท้ายนี้เพื่อนๆ รู้หรือยังครับว่า “ห้องสมุดจำเป็นต้องมีสื่อสังคมออนไลน์หรือปล่าว”
และตอบได้หรือยังว่า มีแล้วนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และเพื่อนๆ สนุกกับการใช้แค่ไหน

แนวโน้มของ Social Media กับงานห้องสมุดในปี 2011

วันนี้เข้าไปอ่านบล็อกของกลุ่ม Social Network Librarian มาพบบทความที่น่าสนใจ
โดยบทความเรื่องนี้จะชี้ว่า Social Media กับงานห้องสมุดในปีหน้าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ต้นฉบับเรื่องนี้ชื่อเรื่องว่า “Social Media and Library Trends for 2011” จากบล็อก socialnetworkinglibrarian

เมื่อปีก่อนผมได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง Trend ด้านเทคโนโลยีของห้องสมุดในปี 2010 มาแล้ว
ลองอ่านดูที่ “ห้องสมุดกับทิศทางในการใช้ Social Networking ปีหน้า” ซึ่งประกอบด้วย
1. Mobile applications.
2. E-book readers.
3. Niche social networking.
4. Google Applications.
5. Google Books.
6. Library socialized.
7. Open source software.
8. Podcasting and ItunesU.
9. Social networking classes for patrons.
10. Library Marketing.

ในปี 2011 บล็อก socialnetworkinglibrarian ก็ได้บอกว่า Trend ในปี 2011 มีดังนี้
1. Mobile applications
2. QR Codes
3. Google Applications
4. Twitter
5. Virtual reference
6. Collaboration between librarians
7. Teaching social media classes
8. Using social media for library promotion

จะสังเกตได้ว่า บางอย่างยังคงเดิม เช่น Mobile applications, Google Applications, Collaboration, Teaching social media classes และ library promotion ซึ่งแนวโน้มของสิ่งเหล่านี้มันก็บ่งบอกว่าเทคโนโลยียังคงปรับตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน ปีที่แล้วเราอาจจะพูดเรื่องการสร้างรูปแบบของเว็บไซต์ห้องสมุดในแบบที่ใช้ในมือถือ ปีนี้ผมมองในส่วนของเรื่องโปรแกรมห้องสมุดที่หลายๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้สะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เอาเป็นว่าก็เป็นสิ่งที่น่าติดตาม

ส่วนตัวใหม่ๆ ที่เข้ามาในปีนี้ เช่น QR Codes, Twitter, Virtual reference จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ใหม่ในวงการไอทีหรอกครับ แต่ปีที่ผ่านมาจากการประชุมหลายๆ งานที่จัดได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ปีก่อนเราพูดกันในภาพรวมของ social network โดยเฉพาะ Facebook มาปีนี้ Twitter มาแรงเหมือนกัน ห้องสมุดก็ต้องตามสิ่งเหล่านี้ให้ทันด้วย

ผมขอแสดงความคิดเห็นอีกเรื่องนึงคือ E-book readers ซึ่งจริงๆ ผมก็ยังมองว่ามันเป็น trend อยู่
เนื่องจากราคาที่ถูกลงจนสามารถหาซื้อมาใช้ได้แล้ว แต่ข้อจำกัดอยู่ที่หนังสือภาษาไทยอาจจะยังมีไม่มาก
ผมก็ฝากบรรดาสำนักพิมพ์ในไทยด้วยนะครับว่า ถ้าสำนักพิมพ์ต่างๆ ออกหนังสือมาทั้งสองแบบ (ตัวเล่ม + E-book)

เป็นไงกันบ้างครับกับ Trend ด้าน Social Media ในวงการห้องสมุด
เพื่อนๆ คงเห็นภาพกว้างแล้วแหละ ลองแสดงความคิดเห็นมากันหน่อยครับว่าเพื่อนๆ เห็นต่างจากนี้อีกมั้ย
แล้วมี trend ไหนอีกบ้างที่ห้องสมุดของพวกเราต้องมองตาม…

หนทางในการแชร์เรื่องหรือไอเดียของคุณ (How to Share Idea)

?ถ้าเราเขียนเรื่องสักเรื่องนึงบนเว็บ แล้วอยากให้คนอื่นเข้ามาอ่าน เราจะทำอย่างไร?
?นักวิชาการเขียนเรื่องๆ นึงดีมาก แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ แล้วงี้คนจะอ่านจากไหน?
?อยากกระจายเรื่องที่เราเขียนให้คนอื่นๆ อ่านทำไงดี?

และอีกหลายๆ คำถามประมาณนี้ วันนี้ผมเลยขอสรุปเป็นประเด็นต่างๆ แล้วกัน
(ผมอาจจะไม่ใช่ผู้ชำนาญนะครับ แต่จะถ่ายทอดตามความคิดให้อ่านแล้วกัน)

ทางเลือกในการแชร์เรื่องที่คุณเขียนไปให้คนอื่นอ่าน มีดังนี้

– Blog / Website


วิธีนี้ คือ เมื่อคุณมีไอเดีย หรือเรื่องที่อยากเขียน คุณก็เขียนลงในบล็อกหรือเว็บไซต์ของคุณก่อน
การสมัครบล็อกเดี๋ยวนี้มีบล็อกฟรีมากมาย ก็เลือกสักบล็อกแล้วกัน

????????????????????????

– E-mail

วิธีนี้ คือ พอเขียนเสร็จก็ส่งเมล์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านก่อน พอเพื่อนๆ อ่านแล้วชอบก็จะเริ่มกระบวนการส่งต่อเอง
อิอิ วิธีนี้ขอบอกก่อนว่าต้องเป็น Content ที่ดีนะครับ ไม่ใช่โฆษณาขายตรง หรือขายประกัน
เพราะไม่งั้นเพื่อนคุณเลิกคบแน่ๆ อิอิ

????????????????????????

– Forum / Comment Blog

วิธีนี้ คือ พอเราไปอ่านเว็บบอร์ด หรือบล็อกที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรา
บางครั้งเราก็ฝากเรื่องเพิ่มเติมของเราให้กับ Forum หรือ Comment บล็อกของเขาด้วย
แต่ต้องเกี่ยวจริงๆ นะครับ ไม่งั้นก็คงโดนลบออกไปจาก forum หรือ โดนตั้งเป็น Spam บล็อก

????????????????????????

– IM(Instant Messenger)

วิธีนี้ จะคล้ายๆ กับการส่งเมล์ แต่จะส่งได้ข้อความสั้นๆ หน่อย เพราะอ่านยาวค่อนข้างลำบาก
ดังนั้นอาจจะส่ง link ของบล็อก หรือเว็บที่น่าสนใจให้เพื่อนๆ ของเราได้

????????????????????????

– Twitter

วิธีนี้มักจะใช้ในกลุ่มไอที เพราะว่าคนไอทีเล่นเยอะๆ แนววามคิดก็คล้ายๆ กับ IM
เพียงแต่ การใช้ Twitter ถือเป็นการ broadcast text ให้เพื่อนๆ ในกลุ่มของเราได้ง่ายกว่า IM
อ๋อ แต่ขอจำกัดของ Twitter คือส่งได้ครั้งละ 140 ตัวอักษร ดังนั้นคงต้องส่งแค่ link เหมือน IM

????????????????????????

– Social Network(hi5, Facebook)

วิธีนี้ ก็ดีเหมือนกันเพราะคนที่เล่นใน Social Network เดียวกันคือ คนที่ชอบในเรื่องๆ เดียวกัน
ดังนั้นเป็นการง่ายที่เราจะแชร์เรื่องที่เราสนใจให้คนที่สนใจเหมือนกันอ่าน
(แต่ในเมืองไทย ผมไม่แน่ใจจุดประสงค์การใช้งาน เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าหาคนสวยๆ หล่อๆ กัน)

????????????????????????

– Social News (Social bookmark)

วิธีนี้ คือการส่งเรื่องไปให้เว็บที่รวมข่าวสารต่างๆ โดยวิธีนี้ผมก็ใช้อยู่และถือว่าค่อนข้างเยี่ยม
เพราะว่าเป็นการแชร์เรื่องของเราสู่สาธารณะชน ทำให้คนอื่นๆ ได้รู้จักเว็บหรือบล็อกของเรา
โดยที่เราอาจจะไม่รู้จักเขาเลยก็ได้ เว็บพวกนี้ เช่น Digg, Zickr, Duocore?.

????????????????????????

เป็นไงบ้างครับ การแชร์เรื่องของตัวเองให้คนอื่นได้รู้ มีวิธีมากมายเลย
ยากไปหรือปล่าว เรื่องพวกนี้ไม่ยากเกินไปใช่มั้ยครับ
แต่ที่สำคัญเราต้องเขียนเรื่องหรือ แนะนำเรื่องที่ดีนะครับ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

เทคนิคในการนำ Foursquare ไปใช้กับงานห้องสมุด

วันก่อนพูดเรื่อง Twitter ไปแล้ววันนี้ผมขอลงเรื่อง Social Media กับงานห้องสมุดตัวอื่นๆ บ้างนะครับ
เริ่มจากเทคนิคในการนำ Foursquare ไปใช้กับงานห้องสมุดที่บรรณารักษ์ไม่ควรพลาด

หลายๆ คนคงกำลังงงว่า Foursquare คืออะไร คำจำกัดความและวิธีการเล่น เพื่อนๆ สามารถอ่านได้จากเว็บอื่นๆ ครับ เช่น
ทำความรู้จัก สอนเล่น FourSquare อนาคตเทรนด์ Location Based Services
?Foursquare?: กระแสใหม่ของสังคมออนไลน์ที่ไม่ควรพลาด
ตะโกนบอกโลกให้รู้ว่าคุณอยู่ไหนกับ foursquare.com – Social Network สายพันธุ์ใหม่

เอาเป็นว่าขอสรุปง่ายๆ ว่าเป็น social network ที่บอกให้เรารู้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหน
ด้วยแนวคิดเรียบง่ายว่า “อยู่ที่ไหน ก็ Check in ที่นั้น” “ตอนนี้ผมอยู่ที่….” “กำลัง…ที่นี่”

ในวงการธุรกิจได้นำ Foursquare มาปรับใช้ เช่น แนะนำโปรโมชั่นของสินค้าหรือบริการ
รวมไปถึงการสร้างข้อมูลสถานที่ของตัวเองให้ผู้ใช้บริการออนไลน์รู้จัก

“อ้าว แล้ววงการห้องสมุดจะนำมาใช้ทำอะไรได้บ้างหล่ะ”
นั่นแหละเป็นที่มาของเรื่องนี้ ผมจะแนะนำวิธีการนำมาใช้กับงานห้องสมุดบ้างหล่ะ

1. เพิ่มห้องสมุดของคุณให้เป็นสถานที่แห่งหนึ่งใน FourSquare

ง่ายๆ ครับ แค่เพิ่มชื่อห้องสมุด ที่อยู่ โดยเพื่อนๆ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก google map

2. ใส่ชื่อกลุ่มสถานที่เป็นกลุ่ม education….แล้วเลือกกลุ่มย่อย Library
จากนั้นก็ใส่ Tag ของห้องสมุด เช่น ห้องสมุด, หนังสือ, สื่อมัลติมีเดีย, อินเทอร์เน็ตไร้สาย, บริการยืมคืน…..

3. ใส่คำแนะนำหรือสิ่งที่ต้องทำลงใน Tips / To do list
ใส่คำแนะนำห้องสมุดหรือโปรโมชั่นของห้องสมุดที่น่าสนใจลงไปเลยครับ เช่น
– “ช่วงวันที่… ห้องสมุดมีบริการให้ยืมได้ไม่จำกัดจำนวน”
– “บุคลากรภายนอกสามารถเข้าใช้ห้องสมุดได้โดยแสดงบัตรประชาชน”
– “อินเทอรืเน็ตไร้สายบริการฟรี เพียงแค่ติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ เคาน์เตอร์บริการ”


4. จัดกิจกรรมย่อยๆ ผ่านการ Check in ใน FourSquare

ห้องสมุดก็น่าจะจัดกิจกรรมเล็กๆ ที่เกี่ยวกับการ Check in ใน FourSquare ได้ เช่น
“ผู้ที่ Check in ผ่าน FourSquare คนที่ 99 ของเดือนจะได้รับรางวัล”
“ผู้ที่ Check in ผ่าน FourSquare จะได้รับสิทธิ์ในการยืมหนังสือเพิ่มขึ้น”

5. ทักทายและประกาศเรื่องราวอัพเดทได้ผ่าน Shout out
ห้องสมุดสามารถประกาศข่าวสารอัพเดท หรือ ทักทายผู้ใช้บริการผ่านทางออนไลน์ได้
และยิ่งไปกว่านั้น FourSquare สามารถเชื่อมไปยัง Twitter และ Facebook ได้ด้วย
ดังนั้นโพสข้อความลง Shout out ของ FourSquare ข้อความจะไป Twitter และ Facebook ด้วย

เอาเป็นว่าก็ลองนำเทคนิคนี้ไปใช้กันดูนะครับ แต่ก่อนอื่นไปสมัครสมาชิกกันก่อนที่ http://foursquare.com/
แล้วอย่าลืมไปแอดผมเป็นเพื่อนด้วยนะครับ อิอิ http://foursquare.com/user/ylibraryhub
สำหรับวันนี้ผมคงแนะนำไว้เท่านี้ก่อน แล้วผมจะนำ social media กับงานห้องสมุดมาลงให้อ่านกันใหม่

Cybrarian บรรณารักษ์กับการให้บริการในยุค Social Network

เดือนที่แล้วได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรในงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบรรดาบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ในหัวข้อเรื่อง “Cybrarian บรรณารักษ์กับการให้บริการในยุค Social Network
วันนี้ผมขอนำเรื่องราวต่างๆ ในวันนั้นมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังนะครับ

cybrarian_in_social_network

ก่อนที่จะได้มาบรรยายที่นี่
จริงๆ แล้วผมก็มาทำงานที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีบ่อยๆ นะครับ แต่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเลย
แต่ก็พอจะรู้จักกับเครือข่ายบรรณารักษ์ที่เป็นสมาชิกบล็อกของผมอยู่ นั่นคือ คุณณรงค์วิทย์ สะโสดา ซึ่งทำงานที่ห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์อยู่
ได้คุย MSN และ ตามข่าวสารใน Twitter อยู่บ่อยๆ ก็ได้คุยและได้นัดแนะกันว่าจะเข้ามาคุยที่ ม อุบลบ้าง
พี่เขาก็เลยจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับบรรณารักษ์เล็กๆ ให้สักกลุ่มหนึ่ง

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกิจกรรมนี้
ชื่อกิจกรรม : “เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Cybrarian บรรณารักษ์กับการให้บริการในยุค Social Network”
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 30 สิงหาคม 2553 เวลา 13.00 – 16.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

DSCF1336 DSCF1371

บทสรุปเรื่องราวที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
– แนะนำโครงการศูนย์ความรู้กินได้ (ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีในรูปโฉม
พร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งนักพัฒนาระบบห้องสมุด
โดยงานนักพัฒนาระบบห้องสมุด ไม่ได้หมายถึงงานไอทีของห้องสมุดอย่างเดียว แต่เป็นงานดูแลภาพรวมของห้องสมุดทั้งหมด

– แนะนำการใช้ระบบห้องสมุด Walai AutoLib และตอบปัญหาเรื่องการใช้งานบางส่วน
และช่วยกันระดมปัญหาและอุปสรรคในการทำงานกับระบบห้องสมุด Walai AutoLib
เนื่องจากห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีใช้ระบบห้องสมุด Walai AutoLib ตัวเดียวกัน

– แนะนำระบบห้องสมุดฉบับ Opensource ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งตอนนี้ใกล้เสร็จแล้ว
ในงานนี้ผมเอามา Demo ให้เห็นก่อนใคร ซึ่งในอนาคตห้องสมุดต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ฟรีๆ
ซึ่งความสามารถของโปรแกรมตัวนี้มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานและรองรับห้องสมุดหลายขนาด

DSCF1362 DSCF1380

– ช่วงพักได้สนทนาเฉพาะกลุ่มกับผู้เข้าร่วมบางส่วนเกี่ยวกับเรื่องการใช้บล็อกกับเว็บบอร์ดว่าแตกต่างกันอย่างไร
ผมจึงอธิบายและเปรียบเทียบการใช้งานว่า หากต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบเต็มรูปแบบ เช่น เขียนเรื่องยาวๆ มีรูป วีดีโอ เสียง ผมแนะนำบล็อก
แต่หากต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเฉพาะเรื่อง เช่น ทำแบบสอบถามความคิดเห็น โดยใช้คำถามสั้นๆ ก็ใช้เว็บบอร์ดน่าจะดีกว่า
แต่โดยรวมผมสนับสนุนการใช้บล็อกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่า เนื่องจากสามารถทำระบบสืบค้นและจัดหมวดหมู่ได้ดีกว่า

DSCF1367 DSCF1357

– กลับมาบรรยายต่อเรื่องที่มาของการเกิด ชุมชนบรรณารักษ์ออนไลน์ Projectlib และ Libraryhub
ทำไมผมต้องเขียนบล็อกบรรณารักษ์และห้องสมุด (ผมนำสไลด์เดิมที่ผมเคยบรรยายมาอธิบายอีกครั้ง)
(เพื่อนๆ สามารถแานได้ที่ “ทำไมผมถึงเขียนบล็อกเกี่ยวกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์“)

– เครื่องมือออนไลน์ที่ผมใช้ในการสร้างเครือข่ายและติดต่อสื่อสารกับสมาชิกบล็อก เช่น Email Hi5 Twitter MSN Facebook
แต่ละเครื่องมือมีความสามารถเฉพาะตัวในการสื่อสารขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการใช้งานเพื่ออะไร
และเครื่องมือต่างๆ ที่แนะนำเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ฟรีบนเว็บทั้งนั้น ห้องสมุดควรจะเรียนรู้และหัดใช้ให้คล่องๆ

DSCF1352 DSCF1356

– ช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีเพื่อนๆ ตั้งคำถามมากมาย เช่น
— อยากได้ระบบห้องสมุดที่ใช้งานกับห้องสมุดโรงเรียน — ผมแนะนำ PLS และให้ที่อยู่สำหรับการขอแผ่นโปรแกรม PLS
— สอบถามเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานห้องสมุด และจำนวนนิตยสารที่ควรมีในห้องสมุดโรงเรียน — อันนี้ผมติดเอาไว้ก่อน แต่โดยรวมผมแนะนำให้อ่านมาตรฐานห้องสมุด
— สอบถามเกี่ยวกับจำนวนหนังสือที่หายไปเนื่องจากห้องสมุดไม่ได้ทำการ Check stock มา 4 ปีแล้ว — ผมเน้นว่ายังไงก็ต้องทำการ check stock ทุกปี

เอาเป็นว่าครั้งนี้ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ผมก็ได้ความรู้ใหม่ๆ มาด้วยเช่นกัน
และสนุกมาที่ได้มาบรรยายที่นี่ บรรยากาศนั่งพื้นแล้วบรรยายเป็นกันเองมากๆ
สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณ คุณณรงค์วิทย์ สะโสดา ด้วยครับ ที่ให้โอกาสผมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกๆ คน

เสวนาฉบับย่อโดย ห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ่านได้ที่
http://sac.la.ubu.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=159&Itemid=62

ภาพบรรยากาศทั้งหมดในงานนี้

[nggallery id=27]