สรุปการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TKpark) ได้มีการจัดการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ให้ตัวแทนจากศูนย์ไอซีทีชุมชน และตัวแทนจากโรงเรียนในเครือ สพฐ. จำนวน 150 คน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการเรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมศิลปากร และอุทยานการเรียนรู้

หัวข้อในการอบรม
– แนะนำโครงการเรียนรู้ สนุกเล่น หยั่งลึกสัมผัสไทย
– แนะนำสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK
– เรียนรู้การใช้ E-Book หนังสือหายาก ชุด ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
– เรียนรู้การใช้ E-Book หนังสือชุด วัตถุเล่าเรื่อง
– เรียนรู้การใช้ Audio book
– เรียนรู้การใช้เกมสร้างสรรค์
– ล้วงลึกทุกมิติการเรียนรู้
– มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์


ทีมวิทยากรที่บรรยายในวันนี้เป็นทีมงานจากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กันทั้งทีมเลย ซึ่งมาจากหลายๆ ฝ่าย เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายห้องสมุดมีชีวิต ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายไอที และฝ่ายพัฒนาเครือข่าย

สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ที่กล่าวมาข้างต้นประกอบด้วย
– E-Book หนังสือหายาก ชุด ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
– E-Book หนังสือชุด วัตถุเล่าเรื่อง ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม
– Audio Book 101 เล่ม
– เกมสร้างสรรค์ 6 เกมส์

การอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมนอกจากจะได้ฟังการบรรยายแล้ว ยังมีคอมพิวเตอร์ (2 คนต่อ 1 เครื่อง) ที่บรรจุสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK ไว้ให้ได้ลองเล่นไปพร้อมๆ กับการสอนการใช้งาน ซึ่งสื่อการเรียนรู้เกือบทุกสื่อเป็นที่เรียกความสนใจของผู้เข้าร่วมอบรมมากๆ โดยเฉพาะเกมสร้างสรรค์อย่างเกมกุ๊กๆ กู๋ คนสู้ผี ผู้เข้าร่วมอบรมได้เล่นกันอย่างสนุกสนานมากๆ หรือแม้แต่ E-Book ที่มีสื่อประสมที่น่าสนใจมากมาย

ซึ่งเมื่อผู้เข้าอบรมได้อบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK เรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK กลับไปใช้ที่ต้นสังกัด

การอบรมก็ผ่านไปด้วยดีครับ ยังไงผมก็ขอขอบคุณทุกส่วนที่ทำให้งานนี้สำเร็จนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน ผู้สนับสนุนให้เกิดงาน …..

ประมวลภาพการอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK

[nggallery id=56]

สรุปการบรรยาย : มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 มิถุนายน 2555) ผมได้มีโอกาสมาบรรยายในงาน “การอบรมการใช้งานสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ TK” เรื่อง “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์” วันนี้จึงขอแชร์เรื่องดังกล่าวให้เพื่อนๆ อ่าน

ก่อนอื่นมาดูสไลด์ที่ผมใช้ประกอบการบรรยายนี้กันก่อน

สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย “มาสร้างสื่อดิจิทัลง่ายๆ บนโลกออนไลน์”

เรื่องของสื่อดิจิทัล กับ สื่อออนไลน์ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนมากๆ เพราะเมื่อข่าวสาร ข้อมูล และความรู้อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว จริงๆ มันก็คือสื่อดิจิทัลนั่นแหละ ซึ่งสื่อออนไลน์มันก็มีหลายประเภท เช่น
– เว็บไซต์
– ฐานข้อมูล
– เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
– ไฟล์เสียง
-ไฟล์วีดีโอ

และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ เราก็จะพบว่า สื่อดิจิทัลมากมายเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

ตัวอย่างสื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เช่น  E-Book ในอดีตเป็นเอกสารที่พิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ .txt .doc วันเวลาผ่านไปจากไฟล์เอกสารธรรมดาก็ถูกแปลงสภาพเป็นไฟล์ PDF จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นไฟล์ Flash และนอกจากจะอ่านได้เพียงอย่างเดียวก็เปลี่ยนเป็นการนำสื่อวีดีโอและเสียงมาประกอบกับหนังสือด้วย ซึ่งนับเวลาการเปลี่ยนแปลงได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

ในสไลด์ที่ผมจะแนะนำนี้เป็นเพียงตัวอย่างเว็บไซต์ในโลกของ 2.0 ที่เราสามารถนำมาใช้ในวงการศึกษาเท่านั้น (ตัวอย่างแค่เล็กน้อยเท่านั้น) ได้แก่

http://www.flipsnack.com = สร้าง E-book ง่ายๆ ด้วย Flipsnack เพียงแค่อัพโหลดไฟล์ PDF ที่ต้องการจะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปบนเว็บไซต์นี้ คุณก็จะได้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Flip Book ที่สวยงามแบบง่ายๆ ได้เลยทีเดียว

http://issuu.com = สร้างและค้นหา E-book แบบง่ายๆ ด้วย ISSUU นอกจากจะสร้าง E-book ได้แล้วเรายังสามารถหา E-book ที่น่าสนใจอ่านได้อีก ตัวอย่างที่ผมแนะนำคือ หนังสือแบบเรียนมานะมานีที่เราเคยเรียนกันในอดีตก็อยู่บนเว็บไซต์นี้เช่นกัน

http://paper.li/ = หนังสือพิมพ์ข่าวสารในแบบฉบับของเรา Paper.li หนังสือพิมพ์ที่รวบรวมข่าวสารที่เราสนใจ และแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่าน….

http://youtubemp3.tv/ = แปลงวีดีโอบน Youtube ให้กลายเป็น MP3 คลิบวีดีโอไหนที่มีสาระน่ารู้และน่าสนใจ แล้วเราอยากเก็บไว้มาฟังคนเดียว ก็สามารถแปลงออกมาให้เป็นไฟล์ MP3 ได้

http://www.oxytube.com/ = เก็บวีดีโอบน Youtube มาไว้ในเครื่องของเราดีกว่า

http://www.uppsite.com/ = เปลี่ยนบล็อกของคุณให้กลายเป็น APP บนมือถือ

http://www.makebeliefscomix.com/Comix/ = สร้างการ์ตูนง่ายๆ ด้วย Makebeliefscomix (อันนี้ผมย้ำเยอะหน่อยเพราะว่าน่าสนใจมากๆ เหมาะแก่การนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หรือแม้กระทั่งจัดเป็นคอร์สอบรมแก่หน่วยงานอื่นๆ ได้ด้วย)

และก่อนจะจบการบรรยายผมก็ย้ำถึงความสำคัญของโลกออนไลน์อีกครั้งว่า โลกแห่งสื่อสังคมออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้เราก็จะเจอหนทางและแนวทางที่จะนำมาใช้งานได้อีก

นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการบรรยายของผมครับ

โครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4

โครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4 กลับมาพบกับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดกันอีกครั้งแล้วนะครับ ปีนี้นอกจากการอบรมที่เพื่อนๆ จะได้พัฒนาทักษะและแนวคิดแล้ว ยังมีรางวัลคือเงินทุนในการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต และยิ่งไปว่านั้นบรรณารักษ์ที่ติด 1 ใน 10 จะได้ไปดูงานการพัฒนาห้องสมุดที่ประเทศเกาหลีด้วย

ห้องสมุดไหนที่สนใจกรุณาอ่านกติกาด้านล่างนี้ครับ
1. ส่งใบสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4 ตามรายละเอียดโครงการที่แจ้งผ้นต้นสังกัดของห้องสมุดทั่วประเทศ ภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555
2. หากได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 ห้องสมุดที่ได้เข้าร่วมโครงการ บรรณารักษ์จะต้องเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้นระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดนครนายก
3. หลังเสร็จสิ้นการอบรม บรรณารักษ์จะต้องออกแบบโครงการตามเงื่อนไขของการอบรม เพื่อส่งให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการสร้างสรรค์ จำนวน 20 ห้องสมุด
4. ห้องสมุดที่ได้รับเลือกจำนวน 20 แห่ง จะต้องดำเนินกิจกรรมตามโครงการที่ส่งประกวดในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 555 เพื่อให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลงติดตามผลงาน
5. ห้องสมุดทั้ง 20 แห่ง จะต้องนำเสนอผลงานความสำเร็จของโครงการและการพัฒนาเปลี่ยนแปลงห้องสมุด เพื่อการตัดสินครั้งสุดท้าย และร่วมพิธีรับมอบรางวัลพร้อมทุนการพัฒนาห้องสมุดในวันที่ 28 กันยายน 2555


รางวัลที่ห้องสมุดทั้ง 20 แห่งจะได้คือ

– ทุนในการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้
– ป้ายประกาศเกียรติคุณ
– ชั้นหนังสือพร้อมหนังสือคัดสรรจาก TKpark

บรรณารักษ์ของห้องสมุดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ รวมทั้งรางวัลชมเชย จำนวน 10 ท่านจะได้ไปดูงานด้านการพัฒนาห้องสมุดที่ประเทศเกาหลีใต้ ในระหว่างวันที่ 14 – 18 ตุลาคม 2555

เอาหล่ะ อ่านกติกาแล้ว หากสนใจหรือมีคำถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อที่
ศูนย์ประสานงานโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4
โทร. 0-2575-2559 ต่อ 423 หรือ 425
08-1304-4017, 08-9899-4317

ภาพข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4

ข่าวย้อนหลัง โครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต ครั้งที่ 3

เดี๋ยวนี้ห้องสมุดก็นำ Tablet มาให้ผู้ใช้บริการได้ใช้กันแล้ว

หลายวันก่อนในกลุ่ม Librarian in Thailand ใน Facebook มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการนำ Tablet มาใช้ในห้องสมุด ว่ามีที่ไหนให้ใช้บริการบ้าง และให้ใช้บริการอย่างไร วันนี้ผมจึงขอนำตัวอย่างที่ห้องสมุด TK park มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ

จุดให้บริการ Tablet ของ TK Park จะอยู่ที่ห้อง MindRoom
และใช้ได้ในจุดที่กำหนดเท่านั้น นั่นคือ ห้อง Mindroom

เอาง่ายๆ คือไม่ได้มีไว้ให้ยืมออกครับ และที่ต้องกำหนดในมุม เท่านั้นเพราะเพื่อความปลอดภัยและการดูแลจากเจ้าหน้าที่

Tablet ที่ให้บริการ คือ Acer Iconia A100
ซึ่งใน TK Park มีให้บริการจำนวน 3 เครื่อง

ภายใน Tablet จะบริการเพื่อการเรียนรู้เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย Content หลักๆ คือ
– TK E-Book ชุด “วัตถุเล่าเรื่อง”
– TK Audio Book หรือสื่อการเรียนรู้หนังสือเสียง
– TK Valuable Book หรือสื่อการเรียนรู้ชุด “ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน”
– TK Game Book
– TK eBook
– Read Me Egazine

ลองมาดูคลิปวีดีโอ Review กันหน่อยดีกว่าครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=_YN-_ootboY[/youtube]

เอาเป็นว่า ณ เวลา เที่ยงของวันอาทิตย์ที่ผมมาสังเกตการณ์อยู่ตอนนี้ ยังไม่มีผู้เข้ามาใช้ Tablet เลย
ดังนั้นใครที่สนใจอยากจะมาทดลองใช้ Tablet เพื่อการเรียนรู้ในห้องสมุดก็ขอเชิญได้นะครับ ที่อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park นั่นเอง

ปล. ห้องสมุดไหนที่มีโครงการจะจัดหา Tablet เพื่อนำมาให้ผู้ใช้บริการได้ใช้ก็สามารถปรึกษาห้องสมุด TK Park ได้นะครับ

Thailand Conference on Reading 2011 (TCR2011)

ช่วงนี้มีเพื่อนๆ ส่งงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์มาให้ผมมากมาย ซึ่งวันนี้ผมขอแนะนำงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับการอ่านที่น่าสนใจให้เพื่อนๆ ได้อัพเดทกันหน่อย งานนี้จัดโดยห้องสมุดทีเคพาร์คด้วยนะ

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงาน
ชื่องาน : Thailand Conference on Reading
ลักษณะของงาน : การประชุมวิชาการ
วันและเวลาที่จัดงาน : 24-25 สิงหาคม 2554
สถานที่จัดงาน : โรงแรมAmari Watergate

งานนี้น่าสนใจมากเพราะว่าเราจะได้ฟังคำแนะนำและรายงานดีๆ ที่เกี่ยวกับการอ่าน
ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นนะมีอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมบรรยายด้วย
แถมด้วยเรื่องที่หลายๆ คนอยากฟัง คือ เรื่อง “Bangkok World Book Capital 2013

มาดูหัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้ดีกว่า
– คิดสร้างสรรค์ ด้วยการอ่าน
– How Malaysia Reads
– The development of Book Reading Activity for Promoting Better Life of Citizen in Vietnam
– นโยบายส่งเสริมการอ่านของประเทศไทย
– ช่องว่างและความเท่าเทียมในการเข้าถึงหนังสือและแหล่งเรียนรู้
– ข้อสังเกตบางประการต่อกระบวนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของไทย
– นิสัยการอ่านของคนไทยในมิติด้านวัฒนธรรม
– Korea’s experience to promote reading and literacy
– Reading Culture in the Youth Kids
– ปัจจัยส่งเสริมคนไทยให้มีวัฒนธรรมการอ่าน
– Bangkok World Book Capital 2013
– ร่วมสร้างรากฐาน อ่าน คิด เรียนรู้ เตรียมคนสู่พลเมืองอาเซียน

งานประชุมวิชาการดีๆ แบบนี้มีค่าใช้จ่ายนะครับ
แต่ถ้าสมัครก่อนวันที่ 15 กรกฎาคม จะได้ราคาพิเศษ คือ 2000 บาท
และถ้าสมัครก่อนสิ้นเดือนนี้ก็ได้ราคา 2500 บาท และสมัครในเดือนสิงหาคมราคา 3000 บาท

เอาเป็นว่าใครสนใจก็ลองเข้ามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tcr2011.com เลยนะครับ
สำหรับวันนี้ก็แนะนำแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ เลยเจอกันครั้งหน้า

บทสรุป เรื่อง ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เมื่อวานผมเกริ่นไปแล้วว่าผมไปบรรยายในงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่4) แล้วก็ทิ้งท้ายว่าผมจะสรุปการบรรยายของผมให้อ่าน วันนี้เลยขอทำหน้าที่ในส่วนนี้ต่อ เรื่องที่ผมบรรยายในงานนี้ คือ “ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เอกสารประกอบการบรรยายเพื่อนๆ สามารถชมได้จาก

หรือเปิดได้จาก http://www.slideshare.net/projectlib/ict-for-living-library-at-school

ดูสไลด์แล้วอาจจะงงๆ หน่อย งั้นอ่านคำอธิบายและบทสรุปของเรื่องนี้ต่อเลยครับ

บทสรุป ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เริ่มต้นจากการบรรยายถึงความหมายและบทบาทของบรรณารักษ์ยุคใหม่ หรือที่ผมชอบเรียกว่า cybrarian ซึ่งหลักๆ ต้องมีความรู้ด้านบรรณารักษ์และความรู้ที่เกี่ยวกับไอที

จากนั้นผมจึงเปรียบเทียบว่าทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้ไอที ซึ่งหลายๆ คนชอบมองว่าเป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ ผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่า บรรณารักษ์ ไม่ใช่ โปรแกรมเมอร์ เราไม่ต้องรู้ว่าเขียนโปรแกรมอย่างไรหรอก แต่เราต้องรู้จัก เข้าใจ และนำโปรแกรมไปใช้ให้ถูกต้อง

ทักษะด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ (สำหรับห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน) ผมขอแยกเรื่องหลักๆ ออกเป็น 7 กลุ่ม คือ
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0


เมื่อเห็นทักษะไอทีที่ผมนำเสนอไปแล้ว เพื่อนๆ อาจจะบอกว่าง่ายจะตาย ไม่ต้องทำงานซับซ้อนด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เรื่องง่ายๆ ของบรรณารักษ์ บางครั้งมันก็ส่งผลอันใหญ่หลวงอีกเช่นกัน

จากนั้นผมก็ให้ชมวีดีโอเรื่อง social revolution (คลิปนี้ถูกลบไปจาก youtube แล้ว โชคดีที่ผมยังเก็บต้นฉบับไว้)

จากนั้นผมก็ได้พูดถึง social media tool ว่ามีมากมายที่ห้องสมุดสามารถนำมาใช้ได้
เช่น Blog email msn facebook twitter youtube slideshare Flickr

ซึ่งผมขอเน้น 3 ตัวหลักๆ คือ blog, facebook, twitter โดยเอาตัวอย่างของจริงๆ มาให้ดู
Blog – Libraryhub.in.th
Facebook – Facebook.com/kindaiproject / Facebook.com/Thlibrary
twitter – twitter.com/kindaiproject

จากนั้นผมก็ฝากข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องการดูแล้วสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ห้องสมุด 6 ข้อ ดังนี้
1. อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
2. สามารถให้บริการผ่านสื่อออนไลน์
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องแย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการ
6. จัดกิจกรรมทุกครั้งควรนำมาลงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาชม

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

เอาเป็นว่าสไลด์นี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ครับ ไว้วันหลังผมจะถยอยนำสไลด์มาขึ้นเรื่อยๆ นะครับ
จริงๆ ไปบรรยายมาเยอะแต่เพิ่งจะได้เริ่มเขียนเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ให้เพื่อนๆ อ่าน

วันนี้ก็ขอลาไปก่อนครับ


รวมภาพงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

วันนี้ได้รับเกียรติจากห้องสมุด TKpark อีกครั้งที่เชิญมาบรรยายในงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่ 4) (จริงๆ แล้วรุ่นที่ 3 ผมก็มาบรรยายเช่นเดียวกันแต่ยังไม่ได้เอาสไลด์มาลงในชมเลย) จึงขอเล่าบรรยากาศในงานให้ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ได้อ่านและชมภาพกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับงานนี้แบบย่อๆ
ชื่องาน : การประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่4)
จัดโดย : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.
วันที่จัด : วันอังคารที่ 3 – วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม  2554
สถานที่จัดงาน : โรงแรมเอส ดี อเวนิว

ผมจำได้ว่าครั้งที่แล้ว (รุ่นที่แล้วก็จัดที่นี่เช่นเดียวกัน แต่จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์)
ในรุ่นนี้ผมว่าคนมาร่วมงานนี้คึกคักมากกว่าครั้งที่แล้วเยอะเลย แถมดูกระตือรือร้นในงานมากๆ
ครั้งก่อนผมบรรยายช่วงเย็นๆ มาครั้งนี้ได้อยู่รอบเช้าเลย (อาจจะทำให้เห็นคนเยอะก็ได้)

เรื่องหลักๆ ที่ผมบรรยายเดี๋ยวผมจะขออนุญาตเขียนเป็นอีกเรื่องในบล็อกแล้วกัน
วันนี้ขอเม้าส์เรื่องบรรยากาศในงานและการจัดงานโดยภาพรวมก่อน

รูปแบบของการจัดงานใน 4 วัน มีหลายรูปแบบมาก
เช่น
– ชมนิทรรศการของห้องสมุดมีชีวิตที่เคยอบรมในรุ่นก่อนๆ
– การบรรยายจากวิทยากรเพื่อเติมเต็มความรู้
– การทำ workshop ระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
– การศึกษาดูงานห้องสมุดโรงเรียนในกทม.และอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

นับว่าเป็นการเติมเต็มความรู้ของเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ครูบรรณารักษ์ ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้บริหารได้ดีทีเดียว

ห้องประชุมเดิมที่เคยจัดงานดูเล็กไปมากเลยแทบจะไม่มีที่นั่งเหลือเลยครับ
ขนาดผมไปแต่เช้ายังไม่มีเก้าอี้นั่งเลย จึงต้องยืนฟังบ้าง แอบออกมาเตรียมตัวข้างนอกบ้าง

รอบๆ ห้องประชุมวันนี้มีการแสดงผลงานของการจัดห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนของรุ่นที่เคยอบรมจากงานนี้ไป
(แสดงให้เห็นว่า หลังจากการอบรมแล้วมีการนำไปใช้งานจริงและได้ผลลัพธ์ออกมาจริง)

ผมเองก็ได้เดินชมอยู่หลายๆ บูธเช่นกัน แต่ละห้องสมุดทำได้ดีทีเดียวเลยครับ (พี่เลี้ยงดีมากๆ)

ด้านนอกของห้องประชุมก็มีร้านหนังสือนานมีมาออกบูธด้วย
มีหนังสือเด็กที่น่าสนใจเพียบเลย และมีการแนะนำกิจกรรมการรักการอ่านสำหรับเด็กแถมเป็นความรู้กลับไป

เอาเป็นว่างานนี้ผมยกนิ้วให้เลยว่าจัดงานได้ดีทีเดียว
สำหรับใครที่พลาดงานนี้ผมว่าทางหน่วยงานที่จัดคงมีแผนในการจัดต่อในรุ่นต่อๆ ไปอีกนะครับ
เอาเป็นว่าก็ต้องคอยติดตามข่าวสารกันไปเรื่อยๆ นะครับ
สำหรับวันนี้ก็ชมภาพบรรยากาศในงานก่อนแล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

[nggallery id=38]

บทสรุปการพัฒนาห้องสมุดไทยคิดด้วยชุมชนห้องสมุดไทยคิด

วันนี้ได้มาบรรยายที่อุทยานการเรียนรู้ (ห้องสมุดทีเคพาร์ค – TK park) อีกครั้งนับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
เลยขอนำเอกสารการบรรยายในครั้งนี้มาให้เพื่อนๆ ได้ดูและได้อ่านกัน

งานในวันนี้เป็นงานอบรมบรรณารักษ์และผู้ดูแลห้องสมุดไทยคิด ซึ่งจัดโดยอุทยานการเรียนรู้ (ห้องสมุดทีเคพาร์ค – TK park)
การบรรยายของผมในวันนี้หัวข้อ “การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Blog/Facebook/Twitter) ในการสร้างเครือข่าย”
ซึ่งผมจึงได้จัดทำสไลด์เพื่อการบรรยายในครั้งนี้ โดยผมตั้งชื่อว่า “การพัฒนาห้องสมุดไทยคิดด้วยชุมชนห้องสมุดไทยคิด”

เราไปชมสไลด์กันก่อนดีกว่า “การพัฒนาห้องสมุดไทยคิดด้วยชุมชนห้องสมุดไทยคิด”

บทสรุปของสไลด์ “การพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดไทยคิดด้วยชุมชนห้องสมุดไทยคิด”

ทำไมผมถึงต้องเล่นคำว่า “เครือข่าย” กับ “ชุมชน” ประเด็นหลักอยู่ที่หลายๆ คนชอบเข้าใจว่าเครือข่ายห้องสมุดก็คือความร่วมมือกันระหว่างห้องสมุดด้วยกันเอง ดังนั้นผมจึงขอใช้คำว่า “ชุมชน” เพราะคำว่า “ชุมชน” มีความหมายที่กว้างกว่า “เครือข่าย” ซึ่ง “ชุมชน” ผมจะรวมถึง “ห้องสมุด คนทำงานห้องสมุด ผู้ใช้บริการห้องสมุด และผู้ใช้บริการห้องสมุดบนโลกออนไลน์”

หลังจากชี้แจงเรื่องนี้เสร็จก็เข้าถูกหัวข้อหลักๆ ของการบรรยาย คือ เครือข่ายห้องสมุดไทย, ชุมชนห้องสมุดไทยคิด

เครือข่ายห้องสมุดไทยคิด – เครือข่ายของกลุ่มคนทำงานในห้องสมุดไทยคิด ซึ่งได้แก่ บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด อาสาสมัคร ที่ทำงานภายในห้องสมุดไทยคิด

ชุมชนห้องสมุดไทยคิด – นอกจากเครือข่ายกลุ่มคนที่ทำงานในห้องสมุดไทยคิดแล้ว ชุมชนห้องสมุดไทยคิดยังรวมไปถึงผู้ใช้บริการห้องสมุดไทยคิด ผู้ใช้บริการจากสื่อออนไลน์ คนในพื้นที่ ……….

ผมจุดประเด็นต่อด้วยเรื่องชุมชนห้องสมุดไทยคิดว่ามีความสำคัญเพียงใด ประเด็นอยู่ที่ผู้ใช้บริการ ว่าเรารู้จักผู้ใช้บริการของเราแค่ไหน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น “รู้หรือปล่าวว่า วัฒนธรรมในการอ่านของเด็กหญิงกับเด็กชายต่างกัน ?”

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใช้บริการของเรามีความหลากหลายมาก ดังนั้นห้องสมุดก็ต้องมีกิจกรรมที่หลากหลายด้วย เช่น
– บริการหนังสือสำหรับเด็ก
– บริการคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยการเรียนรู้
– กิจกรรมการเล่านิทาน
– กิจกรรมการวาดภาพระบายสี
– อุปกรณ์จำพวกเครื่องเล่น-ของเล่นสำหรับเด็ก

นอกจากห้องสมุดไทยคิดจะเป็นสถานที่ที่ใช้อ่านหนังสือสำหรับเด็กหรือจัดกิจกรรมแล้ว
เรายังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงความสามารถและจินตนาการ
เช่น “นำภาพวาด หรือ ภาพระบายสีของเด็กๆ มาตกแต่งฝนังรอบๆ ห้องสมุดไทยคิด”

นอกจากนี้ผู้ใช้บริการในห้องสมุดไทยคิดไม่ใช่แค่เด็กเพียงอย่างเดียว
แต่เราหมายรวมถึงครอบครัว ผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วย
เพราะครอบครัวสามารถสร้างนิสัยการรักการอ่านให้เด็กได้

กรณีตัวอย่าง “ครอบครัวของหนูน้อยยอดนักเล่านิทาน” ซึ่งใช้เวลาว่างกับห้องสมุดไทยคิด

นอกจากนี้การปล่อยให้เด็กๆ มาจัดกิจกรรมกันเองในห้องสมุดก็จะทำให้เราเห็นความสามารถและความต้องการของเด็กๆ เหล่านั้นได้ด้วย

การพัฒนาเครือข่ายและชุมชนห้องสมุด หัวใจของการพัฒนาอยู่ที่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยอาศัยความมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการต่างๆ

การที่เราจะเข้าใจผู้ใช้บริการได้เราจะต้องดูผู้ใช้บริการที่อยู่ในห้องสมุดและฟังคำแนะนำจากผู้ใช้ออนไลน์บ้าง

เครื่องมือออนไลน์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาชุมชนห้องสมุดไทยคิดได้มีหลายเครื่องมือ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่ฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย เช่น อีเมล์ MSN blog Facebook twitter youtube flickr และ slideshare

หลังจากนั้นผมก็ยกกรณีตัวอย่างการใช้เครื่องมือออนไลน์แบบหลักๆ 3 เครื่องมือ คือ Blog Facebook Twitter

ก็ที่จะจบด้วยเรื่องสุดท้ายคือคำแนะนำในการใช้เครื่องมือสื่อออนไลน์ ซึ่งผมได้ให้ไว้ 6 ข้อ ดังนี้
1. อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้บล็อกร้าง facebook ร้าง Twitter ร้าง
2. การให้บริการผ่านสื่อออนไลน์ทำได้รวดเร็ว
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องแย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการ
6. จัดกิจกรรมทุกครั้งควรนำมาลงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาชม

เอาเป็นว่าผมก็จบการบรรยายแต่เพียงเท่านี้นะครับ สำหรับคนที่อ่านบล็อกอย่างเดียวไม่ได้มาในงานนี้
หากสงสัยเรื่องไหนก็ถามเข้ามาได้นะครับ ทิ้งคำถามไว้ด้านล่างช่องคอมเม้นต์ได้เลย

ครบรอบ 6 ปี อุทยานการเรียนรู้ (ห้องสมุด TKpark)

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (วันที่ 21 ม.ค. 54) ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานพิธีฉลองครบรอบ 6 ปี ของอุทยานการเรียนรู้ หรือ “ห้องสมุด TKpark” งานฉลองจัด 3 วัน ในระหว่างวันที่ 21 – 23 ม.ค. 54 วันนี้ผมจึงขอนำข้อมูลจากบอร์ดนิทรรศการครบรอบ 6 ปี ของอุทยานการเรียนรู้มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

TK park เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 24 มกราคม2548

TK park = ห้องสมุดมีชีวิตที่ไม่ใช่แค่ที่รวบรวมหนังสืออย่างเดียว แต่ยังถือเป็นแหล่งเชื่อมโยงความรู้รอบด้าน ทั้งหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดนตรี และกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัดของผู้ใช้บริการ


พื้นที่การเรียนรู้ใน TK park ประกอบด้วย
– ห้องสมุดมีชีวิต
– ห้องสมุดไอที
– ห้องเงียบ
– ศูนย์อบรมไอที
– ห้องฉายภาพยนตร์
– มายด์รูม
– ห้องสมุดดนตรี
– ห้องเด็ก
– มุมกาแฟ
– ศูนย์การเรียนรู้เอนกประสงค์
– ลานสานฝัน
– ซาวด์รูม


กิจกรรมที่ผ่านมาของ TK park แบ่งออกเป็นกิจกรรม ดังนี้
– กิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้
– กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
– กิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิต (กล้าคิด กล้าทำ กล้างแสดงออก)
– กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
– แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ร่วมสร้างเครือข่าย


6 ปี TK park กับ 4 โครงการเด่นในการก้าวสู่ปีที่ 7
1. อุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัด ในปี 2554 จะเปิด 3 แห่ง คือ อุทยานการเรียนรู้ปราจีนบุรี, อุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร และอุทยานการเรียนรู้ตราด
2. โครงการแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน
3. โครงการ TK แจ้งเกิด
4. Thailand Conference on Reading 2011

ความประทับใจของผมกับห้องสมุด TK park ในช่วงวันฉลองครบรอบ 6 ปี คือ
“การสมัครสมาชิก หรือ ต่ออายุสมาชิก ฟรี” กิจกรรมนี้เรียกเอาสมาชิกหน้าเก่าและใหม่มาร่วมแจมเพียบเลย
ที่สำคัญผมเองก็ไม่พลาดเช่นเดียวกัน พาเพื่อนๆ พี่น้อง มาสมัครรวมถึงผมเองก็ถือโอกาสต่ออายุไปเลย

เอาเป็นว่าวันนี้ลงข้อมูลเท่านี้ดีกว่า หลักๆ ก็ยินดีด้วยครับกับความสำเร็จใน 6 ปีที่ผ่านมา

สุดท้ายนี้ผมก็ขออวยพรให้ห้องสมุด TKpark พัฒนาและเจริญแบบนี้ต่อไป
เพื่อกระตุ้นและเป็นแนวทางในการพัฒนาวงห้องสมุดในเมืองไทยต่อไปด้วย

และผมขอเป็นตัวแทนเพื่อนๆ ขอบคุณทีมงานห้องสมุด TKpark ที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งและบริการประทับใจ

ภาพถ่ายในงานพิธีฉลองครบรอบ 6 ปี อุทยานการเรียนรู้

[nggallery id=36]

ห้องสมุด TK park ต่ออายุบัตรสมาชิกให้ฟรี! 6 เดือน

ข่าวนี้ผมนำมาจากเมล์ที่ได้รับจากอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ที่เรารู้จักกันนั่นแหละครับ
เกี่ยวกับเรื่องการต่ออายุสมาชิกให้ฟรีๆ 6 เดือน

banner742x200

หลังจากที่ไม่สามารถเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 จนวันนี้เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้วนะครับ
สมาชิกหลายๆ คนคงคิดถึงห้องสมุดแห่งนี้มากๆ หลายๆ คนยังไม่ได้คืนหนังสือ และหลายๆ คนหมดอายุสมาชิก

วันนี้ทาง TK park จึงใจดีมีข่าวดีๆ มาประกาศให้รับทราบ
นั้นคือ ข่าวการต่ออายุสมาชิก 6 เดือนแบบฟรีๆ ให้สมาชิกที่มีกำหนดหมดอายุ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป

ผมว่าเป็นแนวทางที่ดีเหมือนกันนะครับ
เพราะหลายๆ คนที่เข้าใช้บริการประจำจะได้ไม่เสียสิทธิในการเข้าใช้ 3 เดือนที่ต้องเสียไปด้วย
เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ที่บัตรสมาชิกหมดหลังวันที่ 1 เมษายนคงสบายใจขึ้นนะครับ

นอกจากนี้ทาง TK park ยังมีข่าวมาประชาสัมพันธ์อีกนิด คือ
สำหรับคนที่คิดถึง TK park ทาง TK park ก็ได้จัดให้บริการ Mini TK park ให้
โดยจัด Mini TK park ที่ ชั้น G อาคาร The Offices at Centralworld

ยังไงก็ลองไปใช้บริการกันดูนะครับ

หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถโทรไปที่ 02-2645963-65
และอย่าลืมอัพเดทข่าวสาร TK park ได้ที่ www.tkpark.or.th นะครับ