สูตรสำเร็จของการพัฒนาห้องสมุด บรรณารักษ์ ในมุมมองนายห้องสมุด

หลังจากที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารน้อยๆ ชีวิตผมก็เริ่มเปลี่ยนไป
เริ่มมีเวลาดูข้อมูล อ่านหนังสือ เยี่ยมชมเว็บไซต์ วันนี้ได้อ่านเจอประโยคนึงแล้วรู้สึกว่ามันโดนใจ
วันนี้จึงขอนำประโยคนี้มาวิเคระห์และเชื่อมโยงกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ดู

library success

ประโยคที่ว่านี้คือ Knowledge + Connection = Success
การจะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ นอกจากมีความรู้แล้วยังต้อง “รู้จักคน” ด้วย

เริ่มจากการวิเคราะห์ว่า “ความสำเร็จในการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์” คืออะไร

ห้องสมุดควรเป็นเช่นนี้
– สถานที่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ
– สถานที่ที่คนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เวลาต้องการความรู้หรือต้องการคำตอบ
– สถานที่ที่คนเข้ามาใช้แล้วไม่มีคำว่า “น่าเบื่อ” “ไม่น่าใช้”
– สถานที่ที่เข้ามาแล้วทุกคนจะต้องพูดว่า “ขอบคุณนะที่มีสถานที่แบบนี้”
ฯลฯ

บรรณารักษ์ควรเป็นคนแบบนี้
– ผู้ที่ผู้ใช้เข้ามาทักทาย พูดคุย และถามในสิ่งที่ตนเองต้องการจากห้องสมุด
– ผู้ที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการค้นหาความรู้ หรือ ค้นหาคำตอบ
– ผู้ที่ทุกคนไม่นำไปพูดถึงในทางที่แย่ๆ
– ผู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงคนนั่งเฝ้าในสายตาของผู้ใช้บริการ
ฯลฯ

ความสำเร็จที่ว่ามีความหมายมากมาย เอาเป็นว่าโดยรวมคือสิ่งที่ดี
และเพื่อนๆ เองก็พยายามจะทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้

เอาหล่ะเมื่อสูตรความสำเร็จมาจาก “ความรู้” และ “การเชื่อมโยง”
Success = Knowledge + Connection

Knowledge ผมคงไม่เจาะจงหรอกนะครับว่าต้องมีความรู้อะไร
ขอเพียงแค่เพื่อนๆ “ฉลาดที่จะเรียนรู้” “รักในการเรียนรู้” “ประยุกต์ใช้ความรู้ที่มี”
เพียงเท่านี้เพื่อนๆ ก็จะมีความรู้ในการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้เอง

Connection ผมคงไม่เจาะจงอีกว่าจะต้องติดต่อกับใคร
ขอเพียงแค่เพื่อนๆ รู้ว่า “ใครที่จะต้องติดต่อ” “หน่วยงานไหนมีอะไรดี”
โลกนี้คนเก่งทำงานคนเดียวก็สู้คนที่ทำงานเป็นทีม หรือ ทำงานแบบเครือข่ายไม่ได้
นอกจากเรื่องติดต่อแล้ว ผมขอย้ำคำเดิมว่า “Sharing Knowledge is power
คนที่ชอบแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นคนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น

ดังนั้นจงเก่งที่จะเรียนรู้และเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับเรื่องที่ทำ
จะทำให้วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยพัฒนาไปได้อีกไกล

ห้องสมุดควรจัดเก็บสถิติอะไรบ้าง (มาวัดผลห้องสมุดกันเถอะ)

เพื่อนๆ หลายคนส่งเมล์มาถามผมว่า “เปิดห้องสมุดมาได้สักพักแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มเก็บข้อมูลห้องสมุดอย่างไร
วันนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเลขต่าง ๆที่อยู่ในห้องสมุด เพื่อให้เพื่อนๆ ใช้เป็นแนวทางในการเก็บข้อมูล

ตัวเลขต่างๆ ที่จัดเก็บในห้องสมุด หรือข้อมูลสถิติต่างๆ ที่เก็บในห้องสมุดเป็นตัวเลขที่แสดงให้เราเห็นว่าห้องสมุดมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์ในแง่ของการเขียนรายงานประจำเดือน ประจำปี เพื่อให้เราเป็นความต้องการของผู้ใช้บริการในห้องสมุด รวมถึงนำเสนอผู้บริหารให้ทราบถึงการดำเนินการต่างๆ ของห้องสมุด

ตัวเลขอะไรบ้างหล่ะที่น่าสนใจต่อการเก็บข้อมูล

– จำนวนสื่อสารสนเทศในห้องสมุด เช่น หนังสือ สื่อมัลติมีเดีย วารสาร ….
– จำนวนผู้เข้าใช้บริการในห้องสมุดในแต่ละวัน (แบบบุคคลและกลุ่มบุคคล)
– จำนวนผู้ที่มาสมัครสมาชิกกับห้องสมุด
– จำนวนการยืมคืนในแต่ละวัน
– จำนวนครั้งในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่าน
– จำนวนครั้งที่มีการแสดงนิทรรศการ หรือ จัดบอร์ด
– จำนวนครั้งในการให้บริการตอบคำถาม
– จำนวนครั้งในการใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ ที่ห้องสมุดจัดเตรียม เช่น คอมพิวเตอร์ สื่อการเรียนการสอน
– จำนวนสื่อสารสนเทศที่มีการแยกหมวดหมู่
– จำนวนสื่อสารสนเทศที่สูญหาย
– จำนวนสื่อสารสนเทศที่ได้รับการอภินันทนาการ
– จำนวนวารสารเย็บเล่ม
– จำนวนอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานห้องสมุด
– จำนวนในการสร้างความร่วมมือระหว่างห้องสมุดกับหน่วยงานภายนอก
– ปริมาณค่าใช้จ่ายและรายรับต่างๆ ของห้องสมุด

เอาเป็นว่านี่ก็คือตัวอย่างการจัดเก็บจำนวนตัวเลขต่างๆ แบบคร่าวๆ นะครับ
และตัวเลขเหล่านี้ผมว่าไม่ยากเกินไปถ้าเพื่อนๆ จะนำไปจัดเก็บบ้าง
จริงๆ แล้วขอเสนอว่าถ้ามีแบบฟอร์มในการบันทึกรายการต่างๆ ก็จะดีมากด้วยครับ

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการจัดเก็บข้อมูลสถิติ
– เข้าใจและรู้จักความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น หนังสือหมวดไหนที่คนชอบอ่าน
– จัดสรรงบประมาณเพื่อเสริมความต้องการให้ผู้ใช้บริการ
– ขอเสนองบประมาณในการพัฒนาห้องสมุด

ซึ่งเอาเป็นว่าเมื่อเข้าใจถึงตัวเลขต่างๆ เหล่านี้แล้ว ผมก็อยากให้ทุกคนทำความรู้จักและรู้จักการนำตัวเลขเหล่านี้มาใช้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ว่าเอาตัวเลขมาดูเพียงเพราะว่ามันเป็นแค่ตัวเลขเท่านั้นนะครับ

ปล. เดี๋ยววันละหลังจะมาเขียนเรื่องการประยุกต์ในการเก็บสถิติเพื่อสร้างความน่าสนใจในห้องสมุดนะครับ