วันนี้ผมขอนำเสนอข้อคิดดีๆ ที่ผมได้จากการอ่านหนังสือของ google ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานบริการของห้องสมุด
ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าในหนังสือเล่มนี้จะมีปรัชญาที่ล้ำลึกได้ขนาดนี้ เอาเป็นว่าไปอ่านกันก่อนดีกว่า
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ
ชื่อหนังสือ : เจาะตำนาน รวยฟ้าผ่า google
ผู้แต่ง : สุขนิตย์ เทพอนันต์, พงษ์ระพี เตชพาพงษ์
ISBN : 978-974-7048-14-8
จำนวน : 164 หน้า
ราคา : 165 บาท
สำนักพิมพ์ : บริษัท มายด์ คอนเน็กชันส์ จำกัด
เนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 9 บท มีดังนี้
บทที่ 1 – ฟ้าส่งยาฮูมาเกิดไฉนส่งกูเกิลมาเกิดด้วยเล่า
บทที่ 2 – เล็กพริกขี้หนู
บทที่ 3 – จะหารายได้หรือจะกินแกลบ
บทที่ 4 – ไม่คลิกไม่ต้อจ่าย
บทที่ 5 – เงามืดโตตามตัว
บทที่ 6 – ถึงเวลาเป็นบริษัทมหาชน
บทที่ 7 – บุกตลาดต่างประเทศ
บทที่ 8 – เกมผูกมิตรแข่งศัตรู
บทที่ 9 – ทำนายอนาคตกูเกิล
หนังสือเล่มนี้เมื่อผมอ่านไปครึ่งเล่มก็เจอกับปรัชญาหนึ่งที่น่าสนใจ
ปรัชญานี้ผู้ก่อตั้งกูเกิล (Larry Page และ Surgrey Brin)ใช้สอนและบอกพนักงานอยู่เสมอ
ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีอยู่หลายข้อนะครับ แต่ผมขอยกตัวอย่างสัก 6 ข้อมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วนำไปลองปฏิบัติกันดูนะครับ
ตัวอย่างปรัชญา
1. คิดถึงผู้ใช้บริการก่อนแล้วอย่างอื่นจะตามมาเอง
(Focus on the user and all else will follow)
2. จะทำอะไรก็ทำให้เก่งไปซักเรื่องหนึ่งจะดีกว่า
(It?s best to do one thing really, really well)
3. เร็วดีกว่าช้า
(Fast is better than slow)
4. ประชาธิปไตยต้องดีที่สุด
(Democracy on the web works)
5. จริงจังได้โดยไม่ต้องใส่สูท
(You can be serious without a suit)
6. ยอดเยี่ยมแล้วยังไม่พอ
(Great just isn?t good enough)
ตัวอย่างการนำไปใช้ในห้องสมุด
1. เวลาบรรณารักษ์ให้บริการ เราต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้มากกว่าความต้องการของเรา
2. งานของบรรณารักษ์ที่ผมเน้นจริงๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเก่งตามปรัชญาหรอกครับ
ขอแค่รู้จักและทำงานเป็นก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าจะเก่งสักเรื่องผมขอเก่งเรื่องการบริการผู้ใช้แล้วกัน
3. ส่วนการบริการที่รวดเร็วย่อมดีกว่าการบริการที่ช้าเพราะอย่าลืมว่าสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง
เราต้องคำนึงถึงผู้ใช้ที่ต้องการความรวดเร็วในการบริการ ไม่ใช่รอแล้วรออีก
4. การเคารพการตัดสินใจของผู้ใช้ในการประเมินห้องสมุดเพื่อปรับปรุงบริการต่างๆ
เราดูเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็อย่าลืมพิจารณาเสียงส่วนน้อยด้วย เพราะบางครั้งเสียงส่วนน้อยอาจจะทำให้เราเกิดบริการแบบใหม่ก็ได้
5. การทำงานผมอยากเน้นว่านอกจากการทำงานด้วยความจริงจังกับหน้าที่ของตนแล้ว
สิ่งที่ผมอยากเสริมคือเรื่องของความจริงใจ โดยเริ่มจากเพื่อนร่วมงาน และผู้ใช้บริการ
หากเรามีทั้งความจริงจังและความจริงใจแล้ว เราจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นๆ
6. การที่เราได้รับคำชมมากๆ ไม่ได้หมายความว่าเราจะบริการเพียงเท่านี้
แต่เราต้องพัฒนาการบริการให้ผู้ใช้ดีขึ้นไป เพราะว่าคำชมจะอยู่ได้ไม่นานถ้าเราไม่พัฒนางานต่อไป
เช่นปีนี้ห้องสมุดทันสมัยขึ้น พอปีหน้าผู้ใช้บริการมากขึ้นก็เริ่มมีเสียงว่าไม่พอใช้
ดังนั้นเราต้องมีการปรับปรุงและพัฒนางานบริการด้านต่างๆ ให้ดีไปเรื่อยๆ ไม่มีคำว่าพอ
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับปรัชญาและข้อคิดดีๆ จาก google
จริงๆ มีอีกหลายข้อนะครับที่น่าสนใจ เอาไว้ว่างๆ จะมาเล่าให้ฟังใหม่
ยังไงถ้าเพื่อนๆ คิดอะไรได้ดีกว่าแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลยนะครับ
เราจะได้ร่วมกันพัฒนาวิชาชีพไปด้วย
ปล. จริงๆ แล้วปรัชญาของ google ก็สามารถประยุกต์ได้ทุกสาขาวิชาชีพนะครับ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน