บทสรุปงานเสวนา เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเท​ศ

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปบรรยายในงานเสวนาประสบการณ์วิช​าชีพนักสารสนเทศ ในประเด็นเรื่อง “เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเท​ศ” ที่จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสต​ร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันนี้เลยขอนำสไลด์และรูปภาพมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ชื่องาน : เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเทศ
จัดโดย : นักศึกษาชั้นปี 3 เอกบรรณฯ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
วันและเวลาที่จัดงาน : วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องพิบูลสงคราม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสต​ร์

พักหลังมานี่ผมเริ่มรับบรรยายให้น้องๆ ฟังมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนความคิดของน้องๆ หลายคนว่า วิชาด้านบรรณารักษ์ก็สามารถทำให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากมายไม่แพ้วิชาในสาขาอื่นๆ การที่ได้มาบรรยายที่นี่ จริงๆ แล้วเริ่มมาจากการคุยกันเมื่อเดือนที่แล้วระหว่างผมกับน้องที่อ่านบล็อกของผมและการทาบทามของอาจารย์ในภาคฯ จนทำให้ผมต้องตอบรับมาที่นี่ (ทั้งๆ ที่ไม่เคยบรรยายให้จังหวัดอื่นเลย)

เอกสารที่ผมใช้ในการบรรยายครั้งนี้ คือ
– สไลด์เรื่อง I would like to be librarian
– เอกสาร Social Revolution

สำหรับสไลด์ เพื่อนๆ สามารถดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

หรือเข้าไปดูได้ที่ http://www.slideshare.net/projectlib/i-would-like-to-be-librarian

คำถามหลักๆ ที่พบในงานเสวนาครั้งนี้ คือ
– การเลือกเข้ามาเรียนในสาขาวิชาสารสนเทศ ซึ่งอาจจะมีเรื่องเข้าใจผิดกันในชื่อวิชาที่เรียน (นึกว่ามาเรียนคอมฯ แต่ที่ไหนได้บรรณารักษ์นั่นเอง)
– การเลือกสถานที่ฝึกงานที่เหมาะกับตัวเอง ย่อมดีกว่าเลือกตามคนอื่น
– การทำงานในสายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ห้องสมุด ซึ่งก็มีให้เลือกมากมาย เช่น เว็บไซต์, เปิดร้านขายหนังสือ……..
– เรียนต่อปริญญาโทด้านไหนดี : อันนี้ต้องแล้วแต่ว่าใจเราอยากไปทางไหน

เท่าที่พบในการเสวนาครั้งนี้ มีน้องๆ บางคนเริ่มเห็นอนาคตของตัวเองแล้ว เช่น บางคนไม่ชอบงานเทคนิคและอยากไปในสายไอที, บางคนอยากทำงานในห้องสมุดสายการแพทย์, บางคนอยากเปิดธุรกิจของตัวเองจำพวกร้านขายหนังสือ…….. ต่างๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าถ้ามีเป้าหมายแบบนี้แล้วจะทำให้น้องๆ เห็นภาพอนาคตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บทสรุปที่ผมบรรยายหลักๆ ก็เป็นเรื่องประสบการณ์การทำงานของผมที่ผ่านมา รวมไปถึงเล่าย้อนไปในช่วงที่ผมเรียนบรรณารักษศาสตร์ที่ ม.สงขลานครินทร์บ้างเล็กน้อย รวมถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาเรียนในสาขาวิชานี้

ความประทับใจในงานเสวนาครั้งนี้ : น้องๆ ที่เข้าร่วมฟังเสวนาได้มีการซับถามคำถามกันอย่างคึกคัก นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก (ปกติเวลาผมไปบรรยายที่อื่นไม่เคยเจอคำถามเยอะขนาดนี้) แต่ต้องขอบอกว่าเป็นการซักถามที่สนุกมากๆ ครับ

สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์ทิพภา และทีมงานนักศึกษาที่ร่วมกันจัดงานดีๆ แบบนี้ และเชิญผมมาเข้าร่วมกิจกรรม ณ ที่แห่งนี้ รวมไปถึงการดูแลวิทยากรได้ดีมากๆ ครับ ตั้งแต่ต้อนรับจนถึงส่งขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ขอบคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งครับ

เอาเป็นว่าคราวหน้าผมจะไปบรรยายที่ไหนอีกเดี๋ยวจะเอามาเล่าให้อ่านในบล็อกนะครับ อย่าลืมติดตาม Libraryhub กันไปได้เรื่อยๆ นะครับ

ปล. ภาพทั้งหมดที่ผมนำมาลงเป็นฝีมือการถ่ายภาพของน้องๆ ที่เข้าฟังในวันนั้นนะครับ ต้องขอขอบคุณมากที่ส่งมาให้ผมได้ดู

ภาพถ่ายในงานเสวนาประสบการณ์วิชาชีพนักสารสนเทศ

[nggallery id=40]

คุณครูสามารถพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุดได้ แต่…

เรื่องเก่าเล่าใหม่วันนี้ ขอนำเสนอเรื่องปัญหาของห้องสมุดสถานศึกษานะครับ
หลายคนคงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการที่คุณครูพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุนะครับ
เอาเป็นว่าเรามาร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาดีกว่า

teacher-in-library

แต่ก่อนอื่นมาฟังเรื่องราวที่เกิดกับผมก่อนดีกว่า…

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในคาบวิชาสังคมศึกษา ของระดับชั้น…
คุณครูที่สอนในวิชานี้ได้นำนักเรียนในห้องที่สอนมาที่ห้องสมุด
และบอกกับบรรณารักษ์ว่า “จะนำนักเรียนมาหาข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อให้เด็กทำรายงาน”
โดยขอให้บรรณารักษ์ช่วยเตรียมหนังสือพิมพ์เก่าๆ ให้หน่อย เพื่อให้เด็กๆ หาข่าว และตัดข่าวได้
บรรณารักษ์ก็ได้จัดเตรียมให้ตามคำขอของคุณครูท่านนี้

หลังจากที่คุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนเสร็จ
นักเรียนก็แยกย้ายกันไปทำงานตามโต๊ะของตัวเอง

จากนั้นบรรยากาศความสนุกสนานก็เกิดขึ้น นักเรียนทำงานไปก็คุยไป ตะโกนคุยกันไปมา
จนผู้ใช้บางส่วนที่เป็นคุณครูก็เข้ามาบอกบรรณารักษ์ว่าให้ช่วยตักเตือนนักเรียนเหล่านี้หน่อย
บรรณารักษ์ก็เดินไปเตือนหลายครั้ง เตือนทีก็เงียบที พอบรรณารักษ์เดินกลับมาเสียงก็ดังอีก

ส่วนคุณครูที่มอบหมายงานให้นักเรียนนั้น ก็นั่งอ่านนวนิยายตามสบาย โดยที่ไม่เตือนลูกศิษย์กันเลย

พอหมดคาบคุณครูท่านนี้ก็เช็คชื่อนักเรียน โดยการเรียกชื่อทีละคน
ซึ่งการเรียกชื่อของคุณครูท่านนี้คงกะว่าไม่ว่านักเรียนจะอยู่ส่วนไหนของห้องสมุด ก็คงต้องได้ยิน
เนื่องจากพลังเสียงของคุณครูท่านนี้ดีมาก เรียกทีเดียวคนหันมามองทั้งห้องสมุดเลย

พอคุณครูท่านนี้พานักเรียนกลับไปแล้ว บรรณารักษ์ก็ต้องตกตะลึงอีกรอบ
คือ หนังสือพิมพ์ที่ตัดกันเกลื่อนกลาดไม่ยอมเก็บให้ด้วย ต้องให้บรรณารักษืมาตามเก็บทีหลังอีก

สำหรับความคิดของผมแล้ว การที่คุณครูพานักเรียนมาที่ห้องสมุดผมถือว่าดีนะครับ
เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใช้ห้องสมุดด้วย

แต่ถ้าคุณครูจะสอนหนังสือไปด้วย ผมว่าคุณครูกลับไปสอนที่ห้องเรียนน่าจะดีกว่านะครับ

ถ้าในห้องเรียนไม่มีหนังสือพิมพ์ ก็มาบอกกับบรรณารักษ์ได้ครับ เดี๋ยวบรรณารักษ์จัดไปส่งถึงที่เลย
อย่างน้อยห้องเรียนคงเสียงดังได้มากกว่าห้องสมุด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ
และคุณครูครับ การมอบหมายงานกรุณามอบหมายให้เสร็จในห้องเรียนไม่ใช่มามอบหมายที่ห้องสมุดครับ

ลด ละ เลิกการใช้เสียงเถอะครับไม่ต้องคิดถึงบรรณารักษ์ก็ได้
แต่อยากให้คิดถึงผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ

ฝึกงาน 4 : ฝึกงานเพื่อเรียนรู้ชีวิต

วันนี้ผมขอแนะนำการฝึกงานในอีกรูปแบบหนึ่ง
นั่นคือ การฝึกงานเพื่อเรียนรู้การทำงานองค์กร

training-library4

จริงๆ แล้วการฝึกงานชนิดนี้ ผมคิดว่าก็สำคัญไม่แพ้การฝึกงานแบบอื่นๆ เลยนะครับ
เนื่องจากเป็นการฝึกงานเพื่อเรียนรู้การทำงานในองค์กร การสร้างมนุษยสัมพันธ์ การแสดงความคิดเห็น ฯลฯ
การฝึกงานในลักษณะนี้ไม่ต้องอาศัยเนื้อหาที่เรียนมากนัก หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ได้ใช้ความรู้ในตำรา

สรุปใจความสำคัญของการฝึกงานในลักษณะนี้คือ “ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในองค์กร”

พอกล่าวแบบนี้ เพื่อนๆ หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วฝึกแบบนี้เราจะได้อะไร

งั้นผมขอยกตัวอย่างสักกรณีให้เพื่อนๆ คิดแล้วกัน (บางคนอาจจะเจอกับตัวก็ได้)

“มีนักศึกษาจบใหม่มา เรียนเก่งมาก ฝึกงานในห้องสมุดก็ทำงานได้ดีมาก
แต่วันที่เขาจบออกมาแล้ว มีบริษัทแห่งหนึ่งรับเด็กคนนี้ไปทำงาน
ปรากฎว่า เด็กคนนี้ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้
เช่น ชอบทำงานคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ฯลฯ
ทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดความอึดอัด และงานที่ได้รับมอบหมายก็ทำได้ไม่เต็มที่”

เป็นไงบ้างหล่ะครับ พอเห็นภาพ หรือ เคยเจอบ้างมั้ย

ตอนนี้เท่าที่รู้มา หลายมหาวิทยาลัย ก็มีนโยบายให้เด็กไปฝึกงานเพื่อเรียนรู้งานเหมือนกัน
เป็นการฝึกงานตามความต้องการของนักศึกษา ไม่จำเป็นต้องฝึกในสายที่เรียน
แบบนี้แหละครับที่ผมจะขอแนะนำว่า “ฝึกงานเพื่อเรียนรู้ชีวิตการทำงาน”

การฝึกงานในลักษณะนี้ ปกติเขาฝึกเพื่ออะไร
– กระบวนการในการติดต่อสื่อสาร
– การทำงานร่วมกันเป็นทีม
– การเสนอความคิดเห็น
– การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
– รู้จักการทำงานในองค์กรทั่วไป
– ฝึกระเบียบวินัยในการทำงาน
– การจัดการตารางเวลาของตนเอง

และอื่นๆ แล้วแต่เพื่อนๆ จะคิดได้อีก

โดยสรุปแล้ว การฝึกงานแบบนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องฝึกงานในองค์กรที่เกี่ยวกับวิชาเรียน
เช่น เด็กเอกบรรณารักษ์ไปฝึกงานการโรงแรมก็ได้ หรือ เด็กวิศวะแต่ไปฝึกบริษัทที่เกี่ยวกับสถาปัตย์ ก็ได้
เพราะว่าเราไม่ได้เอาวิชาที่เรียนไปใช้ในการฝึก แต่เราเอาชีวิตไปฝึกเพื่อสร้างประสบการณ์มากกว่า

สถานที่ที่ผมแนะนำ คือ :-
1. บริษัทเอกชนใหญ่ๆ เช่น เครือซีพี, ปูนซีเมนต์ไทย,?
2. บริษัทที่มีผู้บริหารเป็นคนต่างชาติ
3. สำนักงานใหญ่ขององค์กร เช่น ธนาคารกสิกรสาขาใหญ่,?

การฝึกงานในสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะไม่ใช่สายงานของเรา
แต่เราก็สามารถเรียนรู้หลักการ และนำสิ่งที่ได้จากการฝึกงานไปประยุกต์ใช้
มีคำกล่าวว่า ?ถ้าเราทำตัวเป็นน้ำ เราก็จะเข้ากับภาชนะได้ทุกรูปแบบ?
หรือ ?จงทำตัวเป็นแก้วน้ำ คอยรองรับน้ำ และอย่าทำให้แก้วของเราเต็ม?
ผมเชื่อว่านอกจากความรู้ในวิชาชีพแล้ว ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตก็เป็นอีกตัวแปรของความสำเร็จ เช่นกัน

ฝึกงาน 3 : ไม่อยากฝึกงานในห้องสมุด

สองตอนที่แล้วผมเน้นการฝึกงานในห้องสมุด และการฝึกเป็นบรรณารักษ์
ตอนนี้ผมจะแนะนำสถานที่ หรือ หน่วยงานด้านสารสนเทศที่ไม่มีคำว่า ?ห้องสมุด? บ้าง
เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับเด็กเอกบรรณฯ ที่อยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ …..

training-library3

ก่อนอื่นผมคงต้องเกริ่นสักนิดก่อนนะครับว่า
คนที่เรียนเอกบรรณารักษ์ พอจบมาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานในห้องสมุดหรอกนะครับ
คนที่เรียนเอกบรรณารักษ์ ก็ไม่ได้เรียนวิชาทางห้องสมุดอย่างเดียว
คนที่เรียนเอกบรรณารักษ์ มีงานมากมายให้ทำมากกว่าการเป็นบรรณารักษ์

จากความเข้าใจที่ผิดๆ ของคนอื่นๆ ที่บอกว่า
เรียนบรรณารักษ์จบมาก็ต้องทำงานในห้องสมุด ประโยคนี้ไม่จริงเลยนะครับ

คนที่เรียนเอกบรรณารักษ์ เวลาเรียนวิชาบางส่วนก็เป็นเรื่องของห้องสมุดจริง
แต่อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของหลักการในการดูแลสารสนเทศ ค้นหาสารสนเทศ จัดเก็บสารสนเทศ ด้วย
ซึ่งแนวคิดด้านการจัดการสารสนเทศ การสืบค้น การจัดเก็บ
นอกจากห้องสมุดแล้ว ยังมีอีกหลายสถานที่ หลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้น ทำใหู้้รู้ว่าการฝึกงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องสมุดอย่างเดียว
นักศึกษาบรรณารักษ์สามารถที่จะเลือกฝึกในหน่วยงานที่มีการใช้สารสนเทศในองค์กรก็ได้เช่นกัน

ซึ่งในลักษณะการทำงานในปัจจุบันองค์กรต่างๆ ก็มีการใช้สารสนเทศที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
องค์กรเหล่านี้ก็ต้องการคนที่รู้จักการจัดการสารสนเทศมากขึ้น (อันเป็นที่มาของหลักสูตรการจัดการสารสนเทศ)
ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่องค์กรเหล่านี้ต้องการ ก็คือ คนที่เรียนด้านสารสนเทศ ซึ่งก็ไม่พ้นบรรณารักษ์นั่นแหละครับ

การฝึกงานในลักษณะนี้เพื่อนๆ อาจจะไม่ต้องใช้ความรู้ทางด้านบรรณารักษ์อย่างเต็มขั้น
แต่สิ่งที่ต้องใช้แน่ๆ คือ ความรู้และทักษะการประยุกต์ใช้ในสิ่งที่เรียนมามากกว่า
การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ด้วยเช่นกัน
และเหนือไปกว่านั้น คือ การฝึกตนเองในเรื่องของ Service mind
เนื่องจากงานทางด้านสารสนเทศมักเกี่ยวกับงานบริการอยู่เสมอๆ ดังนั้นการรู้จักการบริการด้วยใจจะเป็นสิ่งดี

สถานที่ที่ผมแนะนำ คือ :-
1. สำนักพิมพ์ต่างๆ เช่น se-ed, amarin, ?
2. เว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูล เช่น sanook, kapook, mthai, ?
3. สื่อมวลชนแขนงต่างๆ เช่น อสมท, สำนักข่าว, ?
4. บริษัทที่ผลิตฐานข้อมูล เช่น Infoquest

การฝึกงานในลักษณะนี้จะเป็นการเปิดมุมมองให้เพื่อนๆ เอกบรรณารักษ์มากกว่าฝึกในห้องสมุด
ดังนั้นถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่จำกัดว่า จะต้องฝึกห้องสมุดด้านนอก ผมก็ขอแนะนำให้หาหน่วยงานในลักษณะนี้แทน
ซึ่งจะทำให้เพื่อนๆ มองอนาคตในการทำงานได้ด้วย ยกเว้นแต่อยากเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดแบบจริงๆ

ฝึกงาน 2 : ฝึกงานห้องสมุดเฉพาะ

จากเมื่อวานที่ผมแนะนำให้ไปฝึกงานห้องสมุดทั่วไป
วันนี้ผมขอแนะนำการฝึกงานในห้องสมุดอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ห้องสมุดเฉพาะ

training-library2

กล่าวคือ นอกจากน้องๆ จะได้ฝึกในวิชาทางด้านบรรณารักษ์แล้ว
น้องๆ จะได้รู้จักการใช้ศาสตร์ความรู้เฉพาะทางในห้องสมุดนั้นๆ ด้วย

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม การฝึกงานในห้องสมุดแบบปกติ
จะทำให้ผมเข้าใจการทำงานในลักษณะของห้องสมุดทั่วไป
แต่ผมเริ่มรู้สึกว่าอยากได้อะไรที่มากกว่าการฝึกงานในห้องสมุดทั่วไปอีก

คำแนะนำของอาจารย์หลายๆ คนจึงบอกกับผมว่า
ลองไปดูพวกห้องสมุดเฉพาะทางดีมั้ย เผื่อว่าจะได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ อีกรูปแบบนึง

นั่นจึงเป็นที่มาของการแนะนำการฝึกงานในสถานที่แบบนี้

สถานที่สำหรับฝึกงานที่ผมจะแนะนำ
คือ :-
1. ห้องสมุดมูลนิธิญี่ปุ่น
2. ห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์บริการ
3. ห้องสมุดมารวย
4. ห้องสมุดเพื่อการออกแบบ (TCDC)
5. ห้องสมุดแฟชั่น


ความรู้ทางด้านห้องสมุด + ความรู้เฉพาะทาง
เช่น
ห้องสมุดมูลนิธิญี่ปุ่น = ความรู้ด้านห้องสมุด + ความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่น
ห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์บริการ = ความรู้ด้านห้องสมุด + ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
ห้องสมุดมารวย = ความรู้ด้านห้องสมุด + ความรู้ด้านการเงิน และการลงทุน

การฝึกงานในรูปแบบนี้ เหมาะสำคัญคนที่ชอบงานห้องสมุดในรูปแบบของการประยุกต์ใช้
เพราะการทำงานห้องสมุดเฉพาะเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในความรู้เฉพาะด้านด้วย
และก็ต้องให้บริการผู้ใช้ในรูปแบบของผู้เชียวชาญองค์ความรู้ด้านนั้นๆ ด้วย

เอาเป็นว่าการฝึกงานในรูปแบบนี้ผมก็แนะนำให้ไปฝึกงานเช่นกัน

ฝึกงาน 1 : ฝึกงานในห้องสมุด

เมื่อวานผมได้แนะนำการฝึกงานแบบกว้างๆ ของนักศึกษาเอกบรรณฯ ไปแล้วนะครับ
วันนี้ผมจะขอเสนอเรื่องการฝึกงานแบบตรงสายงาน (ฝึกงานในห้องสมุดเต็มรูปแบบ)

training-library1

จากที่ผมเคยบอกเกี่ยวกับการฝึกงานในประเภทนี้ ว่า:-
1. เด็กเอกบรรณฯ ทุกคน จะต้องเคยผ่านการฝึกงานที่ห้องสมุดสถาบันการศึกษาของตัวเอง
2. เป็นการฝึกงานในรูปแบบที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการจะเป็นบรรณารักษ์แบบจริงๆ
3. เป็นการฝึกงานในรูปแบบที่เหมาะสำหรับคนที่อาจเป็นบรรณารักษ์ในวงการราชการ หรือสถานศึกษา
4. เป็นการฝึกงานที่เน้นการฝึกงานทุกส่วนในห้องสมุด

นี่ก็เป็นเพียงคุณสมบัติแบบคร่าวๆ ของการฝึกงานประเภทนี้

สถานที่สำหรับฝึกงานที่ผมจะแนะนำ คือ :-
1. ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (เลือกได้มากมายในประเทศ)
2. ห้องสมุดของหน่วยงานราชการ
3. ห้องสมุดประชาชน
4. หอสมุดแห่งชาติ

สิ่งที่น้องๆ จะได้ฝึกจากสถานที่ดังกล่าวนี้
เช่น
– งานวิเคราะห์หมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศ
– งานทำตัวเล่มทรัพยากรสารสนเทศ เช่น ประทับตรา, ติดสัน, ห่อปก ฯลฯ
– งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
– งานจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
– งานบริการต่างๆ ในห้องสมุด เช่น ยืมคืน สมัครสมาชิก
– งานอื่นๆ ที่มีในห้องสมุด

โดยรวมการฝึกงานในลักษณะนี้ น้องๆ จะได้รับการฝึกงานในสายงานบรรณารักษ์ครบทุกรูปแบบเลย
ซึ่งผมว่าถ้าน้องๆ อยากทำงานในสายงานของห้องสมุด หรือบรรณารักษ์
การฝึกงานในลักษณะนี้จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจงานห้องสมุดมากขึ้น
ซึ่งถือว่าเป็นการปูพื้นฐานความรู้ด้านห้องสมุดสำหรับอนาคตเลยก็ว่าได้

ยังไงก็ลองเอาไปคิดดูนะครับ แต่ผมก็แอบเชียร์ให้น้องๆ เลือกสายนี้เหมือนกัน อิอิ

แนะนำนักศึกษาบรรณารักษ์เรื่องฝึกงาน

ช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมใหม่ก็จริง แต่ก็มีนักศึกษาหลายคนฝากคำถามให้ผมมากมาย
คำถามที่ว่า นั่นคือ “นักศึกษาเอกบรรณารักษ์ควรฝึกงานที่ไหนดี ช่วยแนะนำหน่อย”

training-library

ในฐานะที่ผมเป็นรุ่นพี่เอกบรรณารักษ์ (คงไม่เกิน 7 ปีหล่ะมั้ง)
วันนี้ผมก็เลยขอเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกที่ฝึกงานให้น้องๆ นะครับ

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำประเภทของการฝึกงานบรรณารักษ์ให้เพื่อนๆ หลายๆ คนรู้จักกันก่อนดีกว่า
ซึ่งตามความคิดของผม และจากประสบการณ์ ผมขอแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. ฝึกตรงสายงานห้องสมุดแบบเต็มรูปแบบ
2. ฝึกในลักษณะทางด้านวิชาเฉพาะทาง + ห้องสมุด
3. ฝึกงานในแบบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ แต่ไม่ใช่ห้องสมุด
4. ฝึกงานแบบเอาวิธีทำงาน ไม่มีความเป็นห้องสมุดเลย และไม่เกี่ยวกับที่เรียน

การฝึกงานในแต่ละแบบมีข้อแตกต่างกันในด้านรายละเอียด
รวมถึงใช้ในการตัดสินใจเรื่องการเลือกสถานที่ฝึกงานด้วย

ทีนี้เรา ลองมาดูกันทีละแบบเลยดีกว่าครับ

1. ฝึกตรงสายงานห้องสมุดแบบเต็มรูปแบบ

นั่นหมายถึง การฝึกงานในแบบที่ต้องใช้ความรู้ และความสามารถทางด้านบรรณารักษ์เต็มรูปแบบเลย
โดยทั่วไปคนที่เรียนเอกบรรณารักษศาสตร์จะต้องเจอการฝึกงานแบบนี้อยู่แล้ว
นั่นก็คือ ?ห้องสมุดของสถาบันตัวเอง? เป็นด่านแรก
และหากคิกจะเอาดีทางบรรณารักษ์และอยากได้พื้นฐานแบบแน่นๆ


ผมขอแนะนำว่า ให้เลือกห้องสมุดประเภทสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
เช่น ธรรมศาสตร์, เกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์, ศิลปากร ฯลฯ

2. ฝึกในลักษณะทางด้านวิชาเฉพาะทาง + ห้องสมุด
นั่นหมายถึง การฝึกงานในห้องสมุดเฉพาะทางนั่นแหละครับ
นอกจากความรู้ทางด้านบรรณารักษ์แล้ว สิ่งที่จะได้เพิ่มจากการฝึกงานคือ
ความรู้เฉพาะทางอีกด้วย สำหรับคนที่มีพื้นฐานแบบแข็งแกร่งแล้ว
อยากลองอะไรแบบแปลกๆ และรักการเรียนรู้ ผมว่าเลือกฝึกแบบนี้ก็ดีนะครับ

ผมขอแนะนำตัวอย่างห้องสมุดเฉพาะทางที่น่าสนใจ
เช่น ห้องสมุดญี่ปุ่น ห้องสมุดมารวย ห้องสมุดการออกแบบ ห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์บริการ ฯลฯ


3. ฝึกงานในแบบที่เกี่ยวกับสารสนเทศ แต่ไม่ใช่ห้องสมุด

นั่นหมายถึง เป็นการฝึกที่ไม่ได้อยู่ในห้องสมุดนะครับ อาจจะเป็นศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ข้อมูลต่างๆ
โดยทั่วไปจะเน้นในรูปแบบองค์กรเอกชน บริษัทเว็บไซต์ บริษัทสื่อ สำนักพิมพ์ต่างๆ
ซึ่งความรู้เกี่ยวกับห้องสมุดอาจจะไม่ได้ใช้ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ คืองานทางด้านสารสนเทศนั่นเอง
และอย่างน้อยก็ทำให้ลบภาพเอกบรรณฯ ได้ว่า ?บรรณารักษ์พอจบก็ต้องทำห้องสมุด? ได้อีก


ผมขอแนะนำตัวอย่างศูนย์ข้อมูล และสถานที่ฝึกงานที่น่าสนใจ
เช่น ศูนย์ข้อมูลทางการเกษตร มติชน เนชั่น เว็บไซต์ต่างๆ ฯลฯ

4. ฝึกงานแบบเอาวิธีทำงาน ไม่มีความเป็นห้องสมุดเลย และไม่เกี่ยวกับที่เรียน
นั่นหมายถึง การฝึกงานในแบบที่ไม่ต้องใช้ความรู้ที่เรียนเลย
เพียงแต่ต้องการฝึกแค่เข้าไปเรียนรู้วิธีการทำงาน รู้จักกฎระเบียบองค์กร
หรือทำความคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ
ถ้าจะให้ผมแนะนำ ผมจะขอเน้นให้หาที่ฝึกงานในลักษณะที่เป็นองค์กรของต่างประเทศ
เพราะเมื่อคุณที่ฝึกงานในองค์กรต่างชาติคุณจะรู้ว่า องค์กรมีระเบียบและแนวทางปฏิบัติแบบสุดๆ
น่าท้าทายดีครับ องค์กรในแบบของไทยผมก็ไม่ได้ห้ามแต่ควรเลือกดีๆ ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอเกริ่นเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้ววันหลังผมจะแนะนำการฝึกงานในแต่ละรูปแบบอย่างละเอียดต่อไป