สรุปทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ฉบับคุณครูบรรณารักษ์

เมื่อวานนี้ (13 ก.ค. 56) ผมได้รับเกียรติจากสำนักพิมพ์สกายบุ๊คส์ให้มาบรรยายในหัวข้อบรรณารักษ์ยุคใหม่ หัวใจนักพัฒนา เรื่อง “ทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ผมเขียนเรื่องนี้ระหว่างที่รอขึ้นเครื่องกลับ กทม มีเวลาว่างพอสมควร จึงขอสรุปข้อมูลจากการบรรยายมาให้อ่านครับ

21st century skill for librarian

ทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ นักจัดการความรู้อาวุโส สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

สไลด์ที่ใช้บรรยายFuture skill for 21st century skill librarian version

[slideshare id=24173944&doc=futureskillfor21stcenturyskilllibrarianversion-130712072653-phpapp02]

หัวข้อที่ผมบรรยายในวันนี้ครอบคลุมในเรื่องดังต่อไปนี้
–  แนวคิดและทฤษฎีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
–  หลัก 3Rs 4Cs ที่ควรรู้
–  รู้จักโลก – กระแสสังคม
– ไอซีทีเพื่อการศึกษา
– ความคิดสร้างสรรค์
– สื่อสังคมออนไลน์
– เครือข่ายสังคมออนไลน์

เนื้อหาโดยสรุป “สรุปทักษะแห่งอนาคต การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21”

1. แนวคิดและทฤษฎีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ที่มาของทักษะแห่งอนาคต มาจากภาคีความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ใน ศตวรรษที่ 21 (เครือข่าย P21) (Partnership for 21st Century Skills) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาคีที่รวมกันระหว่าง บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ โดยกำหนดกรอบแนวความคิดออกมาดังนี้

– แกนวิชาหลัก และธีมหลักของศตวรรษที่ 21 ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องมีการบูรณาการวิชาให้ครอบคลุม
– ทักษะ 3 อย่างที่เด็กควรจะมี ได้แก่ ทักษะชีวิตและการทำงาน, ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม, ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี
– ระบบสนับสนุนการศึกษาของศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้แนวความคิดหลักอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ TEACH LESS, LEARN MORE คือ สอนน้อยๆ แต่ให้เด็กเรียนรู้มากๆ

นอกจากนี้ยังอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง PBL – Problem based Learning (กระบวนการเรียนรู้จากปมปัญหาสู่ปัญญา)

การเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะใฝ่หา ความรู้เพื่อแก้ปัญหา โดยเน้นผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาความรู้ และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียน โดยผู้สอนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ซึ่งการเรียนรู้จากปัญหาอาจเป็นสถานการณ์จริง (ที่มาจาก ส่วนส่งเสริมวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

2. หลัก 3Rs 4Cs ที่ควรรู้

3Rs มาจาก

Reading การอ่าน
Writing การเขียน
Arithmetic คณิตศาสตร์

และ 4Cs มาจาก

Critical Thinking การคิดวิเคราะห์
Communication การสื่อสาร
Collaboration ความร่วมมือ
Creativity ความคิดสร้างสรรค์

3. รู้จักโลก – กระแสสังคม — โลกไม่ได้กลมเหมือนที่เราคิดแล้ว มันแบนลงจริงๆ ตามอ่านหนังสือเรื่อง The world is flat ต่อนะ

10 เหตุการณ์ที่ทำให้โลกแบน (ข้อมูลจาก http://www.gotoknow.org/posts/308285 (อ.แอมมี่))

1. วันที่ 9 พ.ย. 1989 กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มโลกไร้พรมแดน และหลังจากนั้นอีก 5 เดือน โปรแกรม Windows 3.0 เริ่มวางตลาด
2. บริษัท Netscape เข้าเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งทำให้เกิดสิ่งสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1)browser 2)www 3)dot com
3. การที่มีมาตรฐานและการเชื่อมโยงให้เกิดการสื่อสารกันได้ระหว่างผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรม
4. การเปิดให้ใช้โปรแกรม Linux ฟรีแก่คนทั่วไป ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการสร้างสรรค์
5. รูปแบบใหม่ของการร่วมกันในกระบวนการทำงาน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท สามารถแยกออกไปทำนอกบริษัทในที่อื่นได้
6. การย้ายฐานการผลิต หรือแยกกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทไปต่างประเทศ
7. การบริหารห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก บริษัท Wal-Mart ซื้อของจากประเทศจีนเป็นมูลค่าอันดับที่ 8
8. การที่บริษัทเข้าไปทำงานต่าง ๆ ในบริษัทอื่น เช่น UPS ซึ่งขณะนี้รับทำงาน logistics ให้กับหลายบริษัท
9. เราสามารถหาข้อมูลให้ตัวเองได้อย่างง่ายดายจาก Internet และ search engine เช่น Google
10. เราจะสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย

นอกจากนี้ผมยังอธิบายถึง 10 เรื่องที่ต้องรีบทำความรู้จักเพื่อให้ทันต่อโลก คือ

1. The Long tail
2. The World is Flat
3. Critical Mass
4. Web 2.0
5. The Wealth of Networks
6. Free Economy
7. Crowdsourcing
8. Socialnomic
9. Wikinomic
10. Wisdom of Crowd

4.ไอซีทีเพื่อการศึกษา

การเรียนรู้มันเปลี่ยนไปเยอะแค่ไหน…ลองมองผ่านห้องสมุดจากอดีตถึงปัจจุบัน ความต้องการของผู้ใช้เปลี่ยนไป
หนังสือ –> สื่อมัลติมีเดีย –> คอมพิวเตอร์ –> Notebook/Netbook –> Tablet

คุณครูบรรณารักษ์ ต้อง [รู้จัก – เข้าใจ – นำไปใช้] ไอทีบ้างไม่ต้องเก่งถึงขั้นโปรแกรมเมอร์ เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับไอที มีดังนี้

– ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
– ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
– ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
– ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
– ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
– ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
– ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

นอกจากนี้ผมได้แนะนำวิธีการเลือก app สำหรับ tablet และ smart phone ด้วย

5. ความคิดสร้างสรรค์ – เป็นของทุกคนไม่ใช่เพียงแค่นักออกแบบเท่านั้น

– ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ทุกเวลา บางครั้งแค่เพียงเราคิดจะแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง นั้นก็คือการสร้างความคิดสร้างสรรค์แล้ว
– แผนที่ความคิด (Mind Map) = เครื่องมือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

6. สื่อสังคมออนไลน์

– ทำความเข้าใจกับคำว่าเว็บ 2.0 ก่อน แล้วจะรู้ว่าเว็บในยุคนี้จะเน้นเรื่องการแชร์และการแบ่งปันข้อมูลเป็นหลัก
– เครื่องมือที่แนะนำให้ใช้มี 10 อย่าง ดังนี้

1) Blog
2) Wikipedia
3) Twitter
4) Facebook
5) Google+
6) LinkedIn
7) Youtube
8) Slideshare
9) Flickr
10) Pinterest

7. เครือข่ายสังคมออนไลน์

– ผมแนะนำแฟนเพจ “เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย” และข้อดีของการรวมกันเป็นกลุ่ม

เอาหล่ะครับนี้ก็เป็นเพียงบทสรุปที่ผมบรรยายให้เพื่อนๆ ฟัง งานวันนี้ขอบอกว่าแอบตกใจเล็กน้อยว่า คนมาเยอะมากเกือบ 300 คนเลย และเป็นครั้งแรกที่สำนักพิมพ์เชิญผมบรรยาย เอาไว้มีโอกาสคงได้บรรยายให้ที่อื่นฟังในเรื่องดังกล่าวต่อนะครับ สำหรับวันนี้ก็ขอบคุณครับ

1 วัน 1 ภาพ เพื่อสื่อความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย วันนี้ผมขอนำเสนอแนวคิดนึงที่ผมนำมาใช้กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook ได้สักระยะนึงแล้ว นั่นคือ “การจัดทำภาพข้อความเพื่อสื่อถึงความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่” วันนี้ผมขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านสักหน่อย

1 ในความคิดและความตั้งใจของผมในปีนี้ คือ จะต้องโพสภาพข้อความที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ให้ได้วันละ 1 ภาพ

โดยรูปภาพที่ผมนำมาโพสนี้ ผมไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรที่มันซับซ้อนเลย
แถมเป็นโปรแกรมฟรีอีกต่างหาก นั่นคือ โปรแกรม “Line Camera” นั่นเอง
และต้องบอกอีกว่าบางครั้งก็ใช้โปรแกรมง่ายๆ อย่าง Microsoft Powerpoint นั่นเอง

สิ่งที่ผมจะบอก คือ ความง่ายของมัน
โปรแกรมที่ผมพูดถึงข้างต้นมันง่ายมากๆ
แต่เพื่อนๆ หลายคนคิดไม่ถึง

ผมขอยกตัวอย่างภาพที่ผมทำจาก Microsoft Powerpoint ภาพ Infographic หลายๆ ตัวที่ผมเคยโพสไปแล้วในบล็อกนี้

(ลองอ่านเรื่อง Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ หรือ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ)

เรื่องโปรแกรมบอกตรงๆ ครับมันไม่ยาก แต่เรื่องยาก คือ การนั่งคิดประโยคโดนๆ ที่จะสื่อสารออกมาในแต่ละวัน บางครั้งต้นใช้เวลาคิดเป็นชั่วโมงเลย บางทีก็คิดได้หลายๆ เรื่องพร้อมกัน

เมื่อได้ข้อความแล้วก็นำมาแยกประโยคและค่อยๆ พิมพ์ลงในโปรแกรมและจัดให้มันดูสวยงาม
เพียงแค่นี้ผมก็มีรูปภาพข้อความเก๋ๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วครับ

ลองมาดูกันตั้งแต่วันที่ 1 – 6 มกราคม 2556 ผมโพสรูปภาพอะไรไปแล้วบ้าง

วันที่ 1 มกราคม 2556

วันที่ 2 มกราคม 2556

วันที่ 3 มกราคม 2556

วันที่ 4 มกราคม 2556

วันที่ 5 มกราคม 2556

วันที่ 6 มกราคม 2556

เอาเป็นว่าพอจะมองเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับ
ไอเดียนี้ทำให้คนเข้ามาที่เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยมากขึ้นเยอะมากๆ เลย
ผมเลยอยากให้เพื่อนๆ ลองทำกันดู อย่าคิดอะไรยากครับ ณ จุดๆ นี้

สั้นๆ ง่ายๆ บรรณารักษ์ยุคใหม่ในสายตาผม

คำถาม : บรรณารักษ์ยุคใหม่คืออะไร บรรณารักษ์ยุคใหม่หมายถึงบรรณารักษ์อายุน้อยๆ หรือไม่ บรรณารักษ์ที่อายุมากแล้วมีโอกาสเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่หรือไม่

คำถามข้างต้นนี้ผมได้รับฟังมากจน ผมรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว
เอาเป็นว่าวันนี้เลยขอนำเสนอภาพการ์ตูนสักนิดนึง แล้วคำอธิบายสักหน่อยแล้วกัน

ชมภาพกันก่อนเลยครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับภาพดังกล่าว
จริงๆ แล้วข้อความผมว่าก็อธิบายด้วยตัวของมันแล้วนะครับ

บรรณารักษ์ยุคใหม่ =?
แน่นอนครับว่าบรรณารักษ์ยุคใหม่ไม่ได้หมายความถึงความหนุ่มสาวและไม่ได้ยึดติดที่อายุ
แต่บรรณารักษ์ยุคใหม่ในสายตาของผม คือ
– บรรณารักษ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานได้ตามยุคตามสมัย
– บรรณารักษ์ที่สามารถแสดงให้ผู้ใช้บริการเห็นได้ว่าห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มากกว่าห้องเก็บหนังสือ
– บรรณารักษ์ที่ไม่ต้องเก่งไอทีเหมือนโปรแกรมเมอร์แต่สามารถประยุกต์ใช้ไอทีกับงานห้องสมุดได้
– บรรณารักษ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์คิดกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ
– บรรณารักษ์ที่สามารถทำให้ห้องสมุดธรรมดาๆ เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตชีวาได้

ฯลฯ

เอาเป็นว่าสั้นๆ ง่ายๆ คือ บรรณารักษ์ที่เป็นมากกว่าคนเฝ้าหนังสือในห้องสมุดแล้วกัน ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนมีความเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่อยู่ในตัวอยู่แล้ว ดังนั้นดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้กันมากๆ นะครับ

สุดท้ายนี้ ชวนคิดต่อ เพื่อนๆ หล่ะคิดว่าบรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องเป็นอย่างไร
ส่งมาให้ผมอ่านบ้างแล้วกัน สู้ๆ ครับคุณบรรณารักษ์ยุคใหม่

ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)

วันก่อนมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง “ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK park Yala) เลยอยากเอามาสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่าน

ไปชมสไลด์ที่ใช้บรรยายกันก่อน

[slideshare id=13954579&doc=libraryworkisfunbysocialmedia-120813010522-phpapp01]

เนื้อหาการบรรยายโดยสรุปมีดังนี้

จุดเริ่มต้นของสื่อสังคมออนไลน์และเครือข่ายสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องเว็บ 2.0 ซึ่งความหมายและจุดเด่นของเว็บ 2.0 คือ เป็นยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์ และมีรูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์” นอกจากนี้ยังเน้นแนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ

จากความหมายและจุดเด่นข้างต้นของ “เว็บ 2.0” จะพบว่า”ผู้ใช้บริการมีความสำคัญอย่างมากต่อเว็บไซต์” และสิ่งที่ตามมา คือ “สังคมแห่งการแบ่งปันข้อมูล” โลกของการแบ่งปัน โลกของเว็บ 2.0 ทำให้เกิดเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันมากมาย เช่น

– ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
– ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
– ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
– ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
– ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์ที่ควรนำมาใช้ : แนะนำวิธีใช้งานและการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้สำหรับงานห้องสมุด ดังนี้ Blog, Facebook, Pinterest, Social cam และ Twitter ซึ่งเมื่อห้องสมุดหรือบรรณารักษ์นำมาใช้แล้วก็ควรจัดทำแผนและกำหนดทิศทางในการใช้งาน รวมถึงประเมินและวัดผลสัมฤทธิ์ของการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผล เช่น
Facebook Insight
Google Analytic

เอาเป็นว่าเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้เมื่อใช้ให้ถูกจุด มีเป้าหมาย กลยุทย์ และการวัดผลที่ชัดเจน จะทำให้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการใช้งานขึ้นมากกว่าเดิม

นี่ก็เป็นบทสรุปของสไลด์เรื่อง “ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ครับ

ภาพบรรยากาศในช่วงที่บรรยาย

[nggallery id=60]

อ่านอะไรดี : เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่

วันศุกร์ วันสบายๆ แบบนี้ผมขอแนะนำหนังสือสักเล่มดีกว่า (จริงๆ ต้องบอกว่าโปรโมทหนังสือของหน่วยงานตัวเองมากกว่านะ) หนังสือเล่มนี้แค่เห็นชื่อเรื่องก็ต้องบอกว่าสะดุดตาพอสมควรแล้ว นั่นคือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่”

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่องภาษาไทย : เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่
จัดพิมพ์โดย : โครงการศูนย์ความรู้กินได้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
ปีพิมพ์ : 2554
จำนวนหน้า : 192 หน้า
ISBN : 9786162024672

ชื่อหน่วยงานและโครงการหวังว่าเพื่อนๆ คงคุ้นเคยกันนะครับ เพราะเวลาผมไปบรรยายที่ไหนก็ตามผมก็จะกล่าวถึงหน่วยงานนี้ “ศูนย์ความรู้กินได้” ซึ่งเป็นการพัฒนาต้นแบบห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีนั่นเอง

จากการทำงานพัฒนาระบบห้องสมุดของผม 2 ปีกว่าๆ ทีมงานของเราพยายามถอดความรู้จากประสบการณ์และบทเรียนที่เราได้รู้จากการทำงานต่างๆ และได้รวบรวมเพื่อที่จะจัดพิมพ์ออกมาให้เพื่อนๆ ได้อ่าน และนำไปลองใช้ดู

เนื้อหาในเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 บทหลักๆ คือ
– บานประตูใหม่ เพื่อเข้าถึงความรู้ (เกริ่นความสำคัญของการมีห้องสมุด)
– ศูนย์ความรู้กินได้ ยุทธศาสตร์ และเป้าหมาย (ภาพรวมของโครงการและรางวัลห้องสมุดระดับประเทศ)
– การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (พูดเรื่องการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ และโครงสร้างพื้นฐานของอาคารห้องสมุด)
– ปรุง “ความรู้” ให้ “กินได้” (พูดเรื่ององค์ความรู้และการเลือกองค์ความรู้ไปใส่ในห้องสมุด)
– สร้างเครือข่ายผู้ใช้ห้องสมุด เครือข่ายผู้สนับสนุน (การใช้สื่อสังคมออนไลน์และบทบาทของเครือข่ายห้องสมุด)
– การบริหารและพัฒนาบุคลากรในห้องสมุด (พูดเรื่องการพัฒนาบรรณารักษ์ในรูปแบบต่างๆ)

นอกจากนี้ยังมีส่วนภาคผนวกที่จะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับ “การสร้างห้องสมุด” และ “ห้องสมุด 2.0” ด้วย

เอาเป็นว่าเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผมต้องขอบอกเลยครับว่า เน้นข้อมูลที่เพื่อนๆ สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งนั้น ตัวอย่างกิจกรรมดีๆ การเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดแบบถูกใจผู้ใช้บริการ หัวข้อการประเมินผลกิจกรรมต่างๆ และนวัตกรรมการบริการห้องสมุดแบบใหม่ๆ

หนังสือเล่มนี้ต้องขอบอกตามตรงว่ามีจำนวนจำกัดมากๆ
ดังนั้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 นี้จะมีให้แค่บางหน่วยงานเท่านั้น
แต่รับรองว่ายังคงมีการพิมพ์เพิ่มอีกแน่นอน ซึ่งเมื่อไหร่นั้นจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ส่วนใครที่อยากได้จริงๆ วันนี้ผมมีมาแจก 5 เล่ม แต่ต้องร่วมกิจกรรมอะไรสักอย่างนะครับ
นั่นก็คือ เขียนบทความจำนวน 1 หน้ากระดาษ A4 ในเรื่องใดก็ได้ต่อไปนี้ (เลือกแค่ 1 เรื่องนะครับ)
“ห้องสมุดในยุคใหม่ในสายตาของท่านจะมีลักษณะอย่างไร”
“แนวทางในการเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดให้ตรงใจผู้ใช้บริการ”
“บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องพัฒนาทักษะและมีความสามารถด้านใด”

เขียนเสร็จแล้วให้ส่งมาที่ dcy_4430323@hotmail.com หรือ maykin@okmd.or.th ส่งได้ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นะครับ ทางทีมงานจะคัดเลือกบทความที่น่าสนใจและนำมาลงในเว็บไซต์ www.kindaiproject.net และลงบทความของท่านในวันที่ 1-5 มิถุนายน 2555 บทความใดได้ลงจะได้รับหนังสือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” คนละ 1 เล่มครับ

กรุณาใส่ชื่อจริงนามสกุลจริง หน่วยงานของท่าน ที่อยู่และเบอร์ติดต่อเพื่อประสานงานการจัดส่งหนังสือมาด้วยนะครับ

กิจกรรมแจกหนังสือจะมีเป็นระยะนะครับ

สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีบรรยายเยอะมากๆ เอาเป็นว่าจะเอามาสรุปให้อ่านทีละตอนแล้วกันนะครับ
วันนี้ขอคิวของการไปบรรยายที่จังหวัดร้อยเอ็ดก่อนแล้วกัน ในหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน

การบรรยายเรื่องนี้ผมใช้เวลาครึ่งวันบ่ายครับ เพราะช่วงเช้าหัวหน้าผมบรรยายไปแล้ว
(เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด“)

เริ่มจากไปดูสไลด์ที่ผมใช้บรรยายก่อนดีกว่า
Social media in library at roiet

เอาหล่ะครับมาอ่านบทสรุปของผมต่อแล้วกัน

การบรรยายเริ่มจากการเกริ่นเส้นทางจากบรรณารักษ์ในแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่
และเกริ่นถึงหัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้ คือ
– ทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ทุกคนควรรู้….
– ทำความรู้จักสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
– กรณีศึกษาการใช้บล็อกสำหรับห้องสมุด
– กรณีศึกษาการใช้ Facebook สำหรับงานห้องสมุด
– แนวโน้มการก้าวสู่การเป็นห้องสมุดยุคใหม่ในโลก

บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีความรู้ด้านวิชาชีพ (บรรณารักษศาสตร์) และมีความรู้ด้านไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์

การทำงานในห้องสมุดให้ราบรื่น จำเป็นที่จะต้องเห็นภาพรวม
และเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเห็นภาพคือ Library Work Flow ตัวอย่างดังภาพ

ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที – ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรามากมาย เช่น งานบริหารห้องสมุด, งานจัดซื้อจัดหา, งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ, งานบริการต่างๆ, ระบบห้องสมุด

ไอทีสำหรับบรรณารักษ์ ผมย้ำแค่ 3 ประเด็น คือ ต้องรู้จัก เข้าใจ และเอาไปใช้ให้ถูก

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ประเด็นไอทีในข้อ 1-7 ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ใช้กันอยู่แล้วเพียงแต่ต้องฝึกฝนกันมากๆ แต่ในข้อที่ 8 อยากให้เรียนรู้กันมากๆ นั่นคือ เรื่องเว็บ 2.0 นั่นเอง

เว็บ 2.0 มีลักษณะดังนี้ (สรุปประเด็นตามสไลด์)
– ยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์
– รูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์”
– แนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ
– การปรับเว็บไซต์จากการให้ข้อมูลเพียงทางเดียว เป็นการให้บริการและข้อมูลที่ “ผู้ใช้” เข้าถึงได้ง่ายและร่วมสร้าง แก้ไข


จาก “เว็บ 2.0” สู่ “ห้องสมุด 2.0” ซึ่งสิ่งที่เหมือนกัน คือ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการ รับฟังผู้ใช้บริการ …..

ในอดีตช่องทางที่จะทำให้คนทั่วไปรู้จักห้องสมุดบนโลกออนไลน์ มีเพียงวิธีเดียว คือ “เว็บไซต์ห้องสมุด” แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์มากมายให้เลือกใช้ ที่สำคัญ คือ “ฟรี”

สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งปันความรู้ – เครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันความรู้

ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์แบบต่างๆ เช่น Blog Facebook twitter

ทิศทางสำหรับห้องสมุดในอนาคต (Trend : Library in the Future)
1. Mobile applications.
2. E-book readers.
3. Niche social networking.
4. Google Applications.
5. Google Books.
6. Library socialized.
7. Open source software.
8. Podcasting and ItunesU.
9. Social networking classes for patrons.
10. Library Marketing.


นี่ก็เป็นการสรุปการบรรยายให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ เอาเป็นว่าขอจบแต่เพียงเท่านี้หล่ะกันครับ

ผมขอฝากเอกสารชิ้นนึงให้อ่าน เป็นบทความที่ผมเขียนลงวารสารโดมทัศน์ของธรรมศาสตร์
อยากให้อ่านเพราะว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
อ่านได้ที่ “คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21

เรื่องที่จะเขียนให้อ่านในวันนี้ ตั้งใจว่าจะเขียนหลายทีแล้ว แต่ด้วยภาระงานที่มากมายจึงติดไว้นานมากๆ วันนี้พอดีอยู่ว่างๆ (จริงๆ ก็ไม่ได้ว่างมากหรอก) เลยขอเขียนเรื่องราวนี้ให้จบแล้วกัน

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21” เป็นเรื่องที่ผมอ่านมาจากบล็อกในต่างประเทศ ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว แต่พออ่านแล้วเห็นทักษะต่างๆ แล้วก็จะรู้ว่ายังคงใช้ได้เลยทีเดียว

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. ประเด็นความสามารถหรือทักษะในระดับต้น (สายปฏิบัติ) แบ่งออกเป็น 5 ข้อย่อย คือ
– ความสามารถที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง
– นำสื่อออนไลน์เข้ามาใช้เพื่อความสะดวกสบาย
– ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีแบบเบื้องต้น
– ความสามารถในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี
– ความสามารถในการรวบรวมไอเดียด้านเทคโนโลยีกับเครือข่ายห้องสมุด

สำหรับบรรณารักษ์ที่ปฏิบัติงานในระดับต้นส่วนใหญ่จะเน้นความสามารถในด้านการปฏิบัติเป็นหลัก ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจะมุ่งเน้นไปสู่เรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังนั้นทักษะในเรื่องของการยอมรับความเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญมาก อีกประเด็นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการทำงานตัวบรรณารักษ์เองก็จำเป็นต้องยึดหลักตามที่ผมเคยนำเสนอเรื่อง “รู้จัก – เข้าใจ – นำไปใช้” นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการดึงไอเดียหรือการหาไอเดียเพื่อการพัฒนางานบริการต่างๆ ซึ่งที่มาของไอเดียก็มาจากหลากหลายทาง ในที่นี่ขอเน้นเกี่ยวกับการทำงานกันเป็นเครือข่าย ความช่วยเหลือระหว่างวงการวิชาชีพก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

2. ประเด็นความสามารถหรือทักษะในระดับสูง (สายการบริหาร) แบ่งออกเป็น 6 ข้อย่อย คือ
– ทักษะเรื่องการบริหารจัดการโครงการ
– ความสามารถในการตอบคำถามและการประเมินงานบริการห้องสมุด
– ความสามารถในการวิเคราะห์หาความต้องการของผู้ใช้บริการ
– วิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องสมุดแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นห้องสมุดที่ใช้สื่อออนไลน์
– ความสามารถในการหาจุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและเปรียบเทียบเทคโนโลยีด้านต่างๆ
– ความสามารถในการขายไอเดียห้องสมุด (นำเสนอห้องสมุด)

จะสังเกตได้ว่าทักษะและความสามารถของบรรณารักษ์ที่อยู่ในระดับสูง หรือสายงานบริหารจะต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเช่นกัน แต่คงไม่ต้องลงมาปฏิบัติเหมือนขั้นต้นแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่การประเมินการใช้งานด้านเทคโนโลยีในห้องสมุด การเปรียบเทียบระบบแบบต่างๆ รวมถึงงานวิเคราะห์หาความต้องการของผู้ใช้ พูดง่ายๆ ว่าจะมีทั้งงานบริหารและงานวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความสามารถในเรื่องการนำเสนอหรือขายไอเดียห้องสมุดให้สาธารณชนได้รู้จักและเห็นคุณค่าของห้องสมุดด้วย

เป็นไงบ้างครับ นี่ก็เป็นประเด็นทักษะและความสามารถที่น่าสนใจสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่

บทสรุปที่ผมชอบของบทความนี้มีอีกอย่าง คือ

“Technologies will come and go. Change is inevitable. But if librarians can adapt to and embrace change, can easily learn technologies, can keep up with changes in the profession, can plan for new services and evaluate old services, can develop services that meet the needs of all stakeholders, can evaluate technologies, and can sell their ideas and market services they will be better able to meet the challenges of changing user populations and changing technologies.”

ต้นฉบับของเรื่องนี้ “Skills for the 21st Century Librarian” โดย Meredith Farkas

ปล. ถ้าอยากรู้รายละเอียดมากกว่าการอ่านบล็อกของผมก็ตามไปอ่านบทความนี้เต็มๆ ได้ที่ต้นฉบับด้านบนที่ผมเกริ่นนะครับ

เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผมและหัวหน้าของผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อบรรยายให้บรรณารักษ์ที่ทำงานอยู่ในห้องสมุดจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในช่วงเช้าเป็นหัวข้อ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ซึ่งบรรยายโดยหัวหน้าของผม และตอนบ่ายเป็นหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน” โดยผมเอง

ซึ่งในขณะที่หัวหน้าของผมกำลังบรรยายในเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ผมเองก็ได้ทำการถ่ายทอดสดการบรรยายในหัวข้อนี้ด้วย เผื่อที่ว่าเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้มาฟังก็สามารถอ่านการรายงานสดของผมได้

การรายงานสดของผมครั้งนี้ ผมใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Twitter
ซึ่งง่ายต่อการรายงานสดๆ มาก เพราะพิมพ์ข้อความละครั้งไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้น
การดำเนินการรายงานสดของผมใช้ชื่อว่า “Live Tweet” และใช้คำหลักว่า “#Libraryatroiet

ลองอ่านดูแล้วกันนะครับว่า ผมรายงานเป็นอย่างไรบ้าง
[ผมจะเรียงจากข้อความแรกไปจนถึงข้อความสุดท้ายนะครับ]

Live Tweet : “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” #Libraryatroiet

– หัวข้อในช่วงเช้านี้ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์ยุคใหม่ & เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” #LibraryatRoiet

– วิทยากรช่วงเช้านี้ หัวหน้าผมเอง คุณนพดล วีรกิตติ #LibraryatRoiet

– เมื่อกี้วิทยากรพูดถึงแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา #LibraryatRoiet

– การจัดชั้นวารสารที่น่าสนใจอยากให้ห้องสมุดดูร้านหนังสือเป็นตัวอย่าง #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดหลายแห่งจัดนิตยสารโดยการเรียงตามตัวอักษร ดังนั้นผู้ใช้ที่ต้องการหานิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันลำบากในการเดินมากๆ #LibraryatRoiet

– ถ้าจัดชั้นนิตยสารตามหมวดหมู่ หรือ เรียงนิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ผู้ใช้สบาย บรรณารักษ์ก็ทำงานง่าย #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังแนะนำเทคนิคเรื่องการนำ mindmap มาใช้ในการหาความคิดสร้างสรรค์ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์มีเสื้อกันเปื้อยด้วย เท่ห์ป่ะหล่ะ #LibraryatRoiet

– Library2.0 แบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี คือ สมุดเซ้นเยี่ยมชมห้องสมุด และ สมุดแสดงความคิดเห็นในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– สมุดเซ็นเยี่ยม หรือ สมุดแสดงความคิดเห็น ที่ดี คือ สมุดวาดเขียน (สมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด) จะดีมากๆ #LibraryatRoiet

– จะทำให้ห้องสมุดมีชีวิต บรรณารักษ์ต้องมีชีวิตชีวาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากทำงาน #LibraryatRoiet

– อาชีพการจัดการความรู้เป็นอาชีพที่ต้องการมากในต่างประเทศ #LibraryatRoiet

– สังคมต้องช่วยให้คนมีความรู้ที่ดี เพื่อให้คนมีโอกาสในช่วง AEC ห้องสมุดคือหน่วยงานที่ต้องสร้างองค์ความรู้นั้น #LibraryatRoiet

– ในประเทศอเมริกา obama แต่งตั้งให้บรรณารักษ์ดูแลนโยบายการจัดการความรู้ของประเทศ ถ้าเมืองไทยหล่ะ ใครจะได้รับตำแหน่งนี้ #LibraryatRoiet

– ที่อุบลราชธานี ราชภัฎอุบลเองยังต้องมาดูงานที่ห้องสมุดประชาชน #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังยกตัวอย่างห้องสมุดเทศบาลระยอง ที่เทศบาลกู้เงินจาก world bank เพื่อพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– Seattle ประชากรมีมากกว่า 168 เชื้อชาติ ห้องสมุดประชาชนจึงจัดคอร์สอบรมภาษาอังกฤษให้ฟรี #LibraryatRoiet

– ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้มากขึ้น ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น ก็จะมีรายได้มากขึ้น ผลสุดท้ายท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้มากขึ้น นี่แหละกลไล #LibraryatRoiet

– เหตุผลง่ายๆ ที่ท้องถิ่นต้องลงทุนพัฒนาห้องสมุดในท้องที่ของตัวเอง #LibraryatRoiet

– หนังสือดีๆ ควรมีในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ทำไมห้องสมุดถึงจะมีการ์ตูนไม่ได้หล่ะ การ์ตูนเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น #LibraryatRoiet

– รักการอ่านต้องเริ่มจากความสนใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ #LibraryatRoiet

– คนที่ทำงานด้านไอทีอยากได้องค์ความรู้ด้านไอทีมาก แต่หนังสือก็ราคาแพง ห้องสมุดทำไมถึงไม่จัดหาให้คนกลุ่มนี้บ้างหล่ะ #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด ต้องมีกรอบการเลือกที่ชัดเจน ไม่งั้นก็ได้หนังสือมาแบบไม่มีแก่นสาร #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดได้ เราต้องรู้จักพื้นที่ของเราก่อนว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไร และเรามีอะไร #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดวัสดุก็เป็นอีกตัวอย่างนึงที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มาจากแค่การอ่านเท่านั้น #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น กรณี “ผ้าย้อมมะเกลือป้องกันแสงยูวี” เป็นเรื่องที่ห้องสมุดก็นำมาเล่าได้ #LibraryatRoiet

– ในท้องถิ่นจะมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจอีกเพียบ หน้าที่นึงของห้องสมุด คือ การดึงองค์ความรู้เหล่านี้มาเล่าให้คนอื่นฟัง #LibraryatRoiet

– นึกอะไรไม่ออกให้เดินมาที่ห้องสมุด ห้องสมุดอยู่กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ #LibraryatRoiet

– พักเบรค 15 นาทีครับ เดี๋ยวกลับมารายงานต่อครับ #LibraryatRoiet

– อธิบายในช่วงเบรคนิดนึง #LibraryatRoiet คือ การรายงาน live tweet การอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 26 คน

– กลับมาจากเบรคแล้ว เริ่มด้วยของเด่นประจำจังหวัด #LibraryatRoiet

– ร้อยเอ็ดเด่นเรื่องข้าว (ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดอยู่ที่นี่) #LibraryatRoiet

– ช่วงนี้เน้นเรื่องการเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นมานำเสนอในห้องสมุด ตัวอย่างกรณีศึกษาคือ “ตลาดนัดฮักสุขภาพ” ที่ห้องสมุดอุบลราชธานี #LibraryatRoiet

– คนรุ่นใหม่เรียนจบมาทำฟาร์ม ทำสวนกันเยอะเหมือนกันนะ “คนที่ต้องการใช้ความรู้เพื่อทำการเกษตร” ห้องสมุดจะทำอย่างไร #LibraryatRoiet

– การสังเกตความสนใจของผู้ใช้บริการแบบง่ายๆ คือ หยิบหนังสือมาดูด้านหลังตรงที่ประทับตรากำหนดส่ง ว่ามีเยอะแค่ไหน #LibraryatRoiet

– “คุณภาพชีวิต” เป็นประเด็นที่มีคนให้ความสนใจมาก #LibraryatRoiet

– การ survey แบบง่ายๆ และไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเลย คือ การพูดคุยกับผู้ใช้บริการมากๆ #LibraryatRoiet

– การหาความรู้ของคนในต่างจังหวัดมักจะมาจากการพูดคุย ถามกันเอง ไม่ใช่การมาอ่านหนังสือในห้องสมุด ดังนั้นห้องสมุดควรจะจัดเวทีให้ #LibraryatRoiet

– คนขายของไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ของจีนก็เยอะ แต่ถ้าเราหาโอกาสทางธุรกิจเจอก็ไม่ยากนะ ห้องสมุดต้องช่วยหาประเด็นเหล่านั้น #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดไปศึกษาข้อมูลงานวิจัยผู้สูงอายุพบว่า “Lifestyle ของผู้สูงอายุในยุคนี้ต่างจากยุคก่อนหน้านี้” #LibraryatRoiet

– ผู้สูงอายุถามว่า “เวลาไปซื้อของตามศูนย์การค้าทำไมต้องให้พวกเขาเดินหลายๆ ชั้น ทีของเด็กยังมีเป็นมุมช้อปปิ้งของเด็กเลย” #LibraryatRoiet

– การจัดนิทรรศการของห้องสมุดแบบเดิมๆ คือ การจัดบอร์ด ไม่ว่าจะงานไหนก็เป็นการติดบอร์ด ไม่คิดว่าผู้ใช้บริการเบื่อบ้างหรอ #LibraryatRoiet

– คนพูดเรื่อง AEC กันเยอะ แต่ก่อนที่ห้องสมุดจะไปถึงขั้นนั้นได้ ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญกับสารสนเทศท้องถิ่นก่อน #LibraryatRoiet

– คนอุบลราชธานีบางคนยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องมีคำว่า “ราชธานี” สารสนเทศท้องถิ่นสำคัญมากนะ #LibraryatRoiet

– Creative Economy = ความรู้ท้องถิ่นต่อยอดกับสินค้าและบริการ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก #LibraryatRoiet

– อาจารย์ปัญญาเล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานีได้สนุกมาก เราก็เชิญเขามาเล่าในห้องสมุดให้ผู้ใช้บริการฟังสิ #LibraryatRoiet

– จังหวัดมอบภาระในการเล่าเรื่องจังหวัดให้ห้องสมุดเป็นคนทำ #LibraryatRoiet

– การตั้งชื่อของกิจกรรมก็มีส่วนในการเรียกคนเข้าห้องสมุดเช่นกัน #LibraryatRoiet

– ขนาดภาพยนตร์ต่างๆ ยังมีการตั้งชื่อให้น่าสนใจเลย ดังนั้นห้องสมุดก็ควรตั้งชื่อกิจกรรมต่างๆ ให้โดนใจบ้าง #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างชื่อกิจกรรมแบบโดนๆ “จัดร้านให้ได้ล้าน, นิทรรศการเฮ็ดจังสิเด้อจังสิมีโอกาส” ภาษาถิ่นก็เป็นอีกไอเดียนึง #LibraryatRoiet

– มีโอกาสและช่องทางมากมายในการพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์ในอเมริกาใช้วิธีการสมัครเข้าร่วมกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเมือง เช่น กลุ่มไพธอน เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มาใช้พื้นที่ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสถานที่ที่มีคนมาขอใช้ถ่ายทำรายการมากมาย นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการโปรโมทห้องสมุด #LibraryatRoiet

– เรื่องที่คิดไม่ถึง “มีครูมาขอเช่าพื้นที่ในห้องสมุดสอนหนังสือเด็กฟรี” สอนฟรีแถมให้เงินห้องสมุด มีแบบนี้ด้วย ห้องสมุดอุบลฯ #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเปิด stop motion เพื่อการแนะนำหนังสือในห้องสมุด ทำง่าย ใช้ได้จริง #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเล่าต่อถึงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานอื่นๆ กับห้องสมุด ห้องสมุดไม่ต้องทำงานคนเดียวแล้วนะ #LibraryatRoiet

– หลายๆ คนบอกว่าห้องสมุดจะพัฒนาได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งก็จริงส่วนนึง แต่ส่วนนึงผู้ปฏิบัติต้องพิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็น #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเกริ่นถึงเรื่องสื่อสังคมออนไลน์กับงานห้องสมุดซึ่ง ช่วงบ่ายผมจะเป็นคนบรรยายเอง #LibraryatRoiet

– ช่วงบ่ายอาจจะไม่มีการรายงานสดๆ แบบนี้ แต่ผมสัญญาว่าจะเอาเรื่องที่ผมบรรยายมาโพสในบล็อกให้อ่านนะครับ #LibraryatRoiet

– แนะนำหลักสูตรการอบรม 10 ด้าน เพื่อการพัฒนาบรรณารักษ์ “ห้องสมุดมีชีวิตเมื่อคนทำงานมีชีวิตชีวา” #LibraryatRoiet

– การอบรม คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้คนทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข #LibraryatRoiet

– ถ้าเรากลัวความผิดพลาด เราก็จะไม่มีแรงในการคิดสร้างสรรค์ #LibraryatRoiet

– การเรียนเรื่อง “การค้นหา” มันมีวิธีมากมาย #LibraryatRoiet

– วิธีการเขียนบล็อกที่ง่ายที่สุด คือ อย่าไปคิดว่าจะเขียนเพื่อเอารางวัลซีไรต์ #LibraryatRoiet

– Unconference ในวงการห้องสมุดก็น่าสนใจนะ #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างงาน unconference “พรุ่งนี้บ่ายโมงไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกไปถ่ายรูปกัน” #photowalk #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดสมัยใหม่ ต้องเปลี่ยนปัญหาของผู้ใช้บริการ มาเป็น ปัญหาของเรา เช่น ผู้ใช้ไม่ได้เอาบัตรมา เราก็ต้องให้ยืมได้ #LibraryatRoiet

– ผู้บริหารเตือนพนักงาน “คุณจะทะเลาะกับลูกค้าเพราะเงิน 50 บาทอย่างนั้นหรือ” เพราะหลังจากนั้นลูกค้าจะไม่กลับมาหาเราอีก #LibraryatRoiet #Like

– ความสุขของพวกเราคือ การเห็นผู้ใช้บริการมีความสุขกับการใช้ห้องสมุดที่พวกเราทำ #LibraryatRoiet

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นการสรุปประเด็นและเก็บตกไอเดียจากการบรรยายเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” โดยคุณนพดล วีรกิตติ นะครับ ส่วนบทสรุปในช่วงบ่าย เนื่องจากผมเป็นคนบรรยายเอง จึงไม่มีการทำ Live Tweet นะครับ แต่เดี๋ยวผมจะสรุปลงบล็อกให้อ่านในตอนหน้าแล้วกัน

บรรณารักษ์ยุคใหม่ (Cybrarian) ต้องมีบุคลิกภาพแบบนี้…

บทความที่เกี่ยวกับ Cybrarian ผมเคยเขียนไปแล้วหลายครั้ง (ลองค้นคำว่า Cybrarian ดู)
วันนี้ผมขอเติมมติในเรื่องของบุคลิกภาพของบรรณารักษ์ยุคใหม่ที่ควรเป็นบ้างดีกว่า
เอาเป็นว่าลองอ่านแล้วลองคิดดุแล้วกันว่า “เราเป็นแบบนั้นแล้วหรือยัง

บุคลิกภาพของบรรณารักษ์ยุคใหม่ (Cybrarian) ควรมีดังนี้

1. รักในงานบริการ – อันนี้แน่นอนครับสำหรับงานด้านบรรณารักษ์หรือสารสนเทศ ซึ่งเป็นงานที่เราจะต้องเจอผู้คนมากมายที่เขามาขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลกันอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนเรียนพวกเราทุกคนจะต้องถูกปลูกฝังเรื่องจิตบริการ (service mind) อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่ยากมาก

2. รักการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ประเด็นนี้จะกล่าวถึงข่าวสารในชีวิตประจำวัน และสาระความรู้ทั่วๆ ไป บรรณารักษ์ยุคใหม่จะรู้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ควรจะมีความรู้รอบตัวสามารถเข้าใจพื้นฐานของทุกวิชาได้ เช่น หากเราทำงานเป็นบรรณารักษ์ในศูนย์การแพทย์ เราก็ควรจะต้องรู้และเข้าใจเนื้อหาแบบพื้นฐานของวิชานี้บ้างก็ดีครับ

3. ชอบการเปลี่ยนแปลงและมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
ในสังคมปัจจุบัน ผมคงไม่ต้องบอกเพื่อนๆ หรอกนะครับว่า ทุกวันโลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดไหน ยิ่งเรื่องของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างไปเร็ว จนบางครั้งผู้ใช้บริการไปเร็วกว่าเราอีก บรรณารักษ์ยุคใหม่ควรจะเป็นคนที่อัพเดทข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ เช่น เรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีการอัพเดทเวอร์ชั่นตลอดเพื่อปรับปรุงงานด้านต่างๆ ในศูนย์สารสนเทศ

4. มีความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับผู้อื่นได้ ความสามารถในด้านนี้จะกล่าวได้ว่าบรรณารักษ์ยุคใหม่ก็เปรียบเสมือนกับครู อาจารย์กันเลยทีเดียว เพราะหากเรามีองค์ความรู้ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการเราเราก็คอยถ่ายทอดสิ่งที่รู้ออกมาได้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการต่อไป

5. มีบุคลิกว่องไว กระตือรือร้นในการทำงานการบริการด้วยความว่องไว และรวดเร็วย่อมเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

6. ยอมรับฟังความคิดเห็น และมีจิตใจกว้างขวาง
สำคัญนะครับประเด็นนี้เนื่องจากหากเรายึดติดความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้งโดยไม่ยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นเลยจะทำให้เราไม่รู้จักโลกกว้างๆ ใบนี้เลย

จริงๆ แล้วยังบรรณารักษ์ยุคใหม่ยังต้องมีบุคลิกภาพและความสามารถอีกมากนะครับ
ที่สำคัญอย่างที่ผมเกริ่นไว้ว่าต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา และการเปิดใจรับฟังคนอื่น
เพียงเท่านี้เราก็จะมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาให้เป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่ได้ตลอดเวลา

LibCampUbon#2 : มุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชน

ก่อนจบงานสัมมนาเครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่สัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี (Libcampubon#2)
วิทยากรได้เชิญผู้ที่กำลังจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (คุณดาหวัน ธงศรี)
มาแนะนำมุมสารสนเทศท้องถิ่นแบบเบื้องต้นและอธิบายถึงขอบเขตงานในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น

การจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นมุมสารสนเทศที่มีความสำคัญ สำหรับให้ศึกษาค้นคว้า ความรู้ ภูมิประวัติศาสตร์เมืองอุบล และภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อสร้างเป็นต้นแบบและทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี  มีดังนี้ ซึ่งจะแบ่งการจัดเก็บรวบรวมออกเป็น

– หนังสือเกี่ยวกับเมืองอุบล  อาทิเช่น ประวัติเมืองอุบลราชธานี  ประมวลภาพอุบลราชธานี 200 ปี  เป็นต้น
– หนังสือที่นักปราชญ์และบุคคลสำคัญในจังหวัดอุบล เป็นคนเขียนหนังสือด้านต่างๆ อาทิเช่น  ผญา อักษรธรรม อักษรไทน้อย อักษรขอม ที่แปลจากใบลาน เพื่อเล่าเรื่องราว สืบสาน วรรณกรรม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของเมืองอุบล และสื่อจากการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ
– ภาพเก่าเล่าเรื่องสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองอุบล จัดทำเป็นรูปเล่ม สำหรับเผยแพร่
– รวมถึงสื่อมัลติมีเดียต่างๆ อาทิเช่น บุคคลสำคัญ และบุคคลมีชื่อเสียง ด้านศิลปิน นักร้อง หมอร้อง หมอลำ อาทิเช่น สลา คุณวุฒิ  ต่าย อรทัย และหมอลำพื้นบ้าน ด้านอื่นๆ เป็นต้น

เพื่อให้บริการและเผยแพร่ให้กับประชาชน เด็กรุ่นใหม่ ที่สนใจและต้องการศึกษาค้นคว้า ทำวิจัย และจะทำให้ได้รู้ได้เข้าใจทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมืองอุบลมากขึ้น

เป็นไงกันบ้างครับ นี่ก็เป็นเพียงบทสรุปของการจัดทำมุมสารสนเทศท้องถิ่นในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
ความคืบหน้าในการจัดทำผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้ทราบในโอกาสต่อไปนะครับ

อ๋อ และก่อนจบงาน libcampubon#2 ผมก็ถือโอกาสสอบถามถึงความต้องการของผู้ที่เข้าฟังว่า
ต้องการให้จัดหัวข้ออะไรในงาน libcampubon ครั้งต่อไป ซึ่งได้ผล คือ

หัวข้อที่ได้รับการเสนอเพื่อใช้จัดในงาน LibcampUbon ครั้งต่อไป เช่น
– ศูนย์ความรู้กินได้ระดับตำบล
– แนวคิดในการนำศูนย์ความรู้กินได้มาใช้กับห้องสมุดขนาดเล็ก (แบบงบประมาณน้อย)
– การทำ workshop การถ่ายภาพเพื่อนำมาจัดทำสารสนเทศท้องถิ่น (คล้ายกับภาพเก่าเล่าเรื่อง)
– การจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมสารสนเทศท้องถิ่น
– การจัดทำมุมความรู้กินได้ในห้องสมุด ตั้งแต่แนวคิดจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ เอาเป็นว่าทีมงานทุกคนจะนำข้อเสนอตรงนี้ไปทำการบ้านและสรุปออกมาให้เร็วที่สุดนะครับ เพราะเราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่ “เพราะเราคือทีมเดียวกัน เครือข่ายบรรณารักษ์ยุคใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี LibcampUbon