ปัญหาที่เกิดในห้องสมุด “คืนหนังสือแล้วยืมต่อไปเรื่อยๆ”

วันนี้ผมขอยกปัญหานึงที่เคยเจอตอนทำงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยมาให้อ่าน
เกี่ยวกับเรื่องการต่ออายุการยืมหนังสือ (Renew Book) นั่นเอง
ดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเพื่อนๆ เจอการต่ออายุหนังสือเล่มเดิมสัก 10 ครั้ง มันก็คงไม่ปกติแล้ว

renew-book

บรรณารักษ์ในสถาบันอุดมศึกษาน่าจะเคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้
เหตุการณ์ที่อาจารย์ในสถาบันมายืมหนังสือในห้องสมุด แล้วพอถึงเวลาคืนก็มาต่ออายุการยืม
ฟังดูธรรมดา… แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อการต่ออายุเกิดอย่างต่อเนื่องจนเสมือนกับจะยืมหนังสือกันตลอดชีวิต

นั่นคือเหมือนครบกำหนดก็มาคืน แล้วก็ยืมต่อ อาจารย์ทำแบบนี้สักสามครั้งนี้ก็เท่ากับหมดหนึ่งเทอมไปเลย
แต่แค่หนึ่งเทอมอาจจะให้อภัยได้ แต่ช่วงปิดเทอมก็ยืม เปิดเทอมใหม่ก็ยืม (หนังสือเล่มเดิม)

คงกะว่าหนังสือเล่นนั้นไม่มีใครจยืมมั้งครับ อาจารย์ก็เลยหวังดีแบบนี้

ถ้าแค่เล่มเดียวหรือสองเล่มก็ยังไม่เท่าไหร่
นี่อาจารย์แกเล่นยืมไปหกเล่ม แล้วดันไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเขายืมเลย

เพื่อนๆ ว่าปัญหาแบบนี้ บรรณารักษ์อย่างพวกเราควรทำอย่างไร

เอาเป็นว่าผมขอเสนอคำแนะนำนิดนึงแล้วกัน (ผ่านการพิสูจน์และปฏิบัติแล้ว) คือ

1. ประสานงานไปยังฝ่ายวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อหาลือกันถึงแนวทางการแก้ไข ซึ่งได้ความว่า
ฝ่ายวิชาการจะจัดเงินทุนจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อหนังสือที่อาจารย์จำเป็นต้องใช้สอนตลอดทั้งเทอม
โดยอาจารย์สามารถซื้อหนังสือที่ใช้ประกอบการสอนแล้วนำมาเบิกฝ่ายวิชาการ
โดยมีเงื่อนไขว่า หนังสือที่ซื้อจะต้องตรงกับหลักสูตรที่อาจารย์ท่านนั้นสอน
และแต่ละภาควิชาจะได้รับเงินทุนเท่าๆ กัน (ในภาควิชาต้องบริหารการซื้อหนังสือสื่อการสอนกันเอง)

ผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ค่อนข้างได้ผลตอบรับที่ดีขึ้น แต่ปัญหาเดิมก็ยังมีอยู่แต่น้อยลง
อาจจะเกิดจากการบริหารเงินในภาควิชา ทำให้อาจารย์บางคนไม่ได้รับการจัดสรรเงิน
ดังนั้นอาจารย์ก็จะใช้วิธียืมแบบต่ออายุเหมือนเดิม

2. ห้องสมุดกำหนดนโยบายการยืมหนังสือแบบต่อเนื่อง
โดยกำหนดว่าไม่ให้ต่ออายุเกิน 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้คนอื่นได้ยืมหนังสือเล่มนั้นบ้าง
และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สอนกับนักศึกษาด้วย ให้แจ้งห้องสมุดทำเป็นหนังสือจองทันที
แต่ต้องแจ้งตั้งแต่ช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ๆ นะครับ

ผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากการชี้แจงให้อาจารย์ทุกท่าน และผู้ใช้ทราบถึงนโยบายใหม่
ทำให้ผลตอบรับดีขึ้นมีการหมุนเวียนในการใช้สารสนเทศ หรือหนังสือดีขึ้น
หนังสือไม่ถูกเป็นเจ้าของเพียงคนๆ เดียว แต่เป็นของคนทุกคนครับ

ขอสรุปข้อคิดสักนิดนะครับ สำหรับพวกที่ชอบยืมหนังสือแบบเห็นแก่ตัว
กรุณาคิดกันสักนิดว่า หนังสือในห้องสมุดมิได้เป็นของคุณคนเดียว
ให้ชาวบ้านเขาได้ใช้หนังสือกันบ้าง อย่าเก็บไว้คนเดียวเลยนะครับ?

แล้วเพื่อนๆ หล่ะครับมีไอเดียที่จะเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาแบบนี้อย่างไร
ส่งความคิดเห็นมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

ห้องสมุดที่ทำงานตามกระแสคอมพิวเตอร์

เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในห้องสมุดมีหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดับ เครือข่ายล่ม ไวรัสลงคอมพิวเตอร์
จนทำให้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของเราต้องหยุดทำงานและไม่สามารถปฏิบัติงานได้

problem-computer-library

หากเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ทุกคนก็คงบอกว่า ?สบายมาก พักแป๊บนึงก็ได้ เดี๋ยวมันก็ใช้ได้แล้ว?
แต่เหตุการณ์แบบนั้นผมคงไม่พูดถึงหรอกเพราะมันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเรา
แต่สำหรับบางที่และบางกรณีที่เป็นเหตุให้ระบบไม่สามารถใช้งานได้เป็นวันหรือหลายวัน

ห้องสมุดของท่านมีแผนสำรองในการปฏิบัติงานหรือไม่ หรือว่าต้องปิดห้องสมุดด้วยเลย แล้วมันจะดีหรอ

ระบบงานบางอย่างที่ปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัวถ้าใช้คอมไม่ได้จะทำไง
เช่น หากระบบใช้ไม่ได้ การยืม คืนหนังสือของผู้ใช้บริการจะทำอย่างไร
หากต้อง catalog หนังสือให้เสร็จคุณจะทำงานอย่างไร
บรรณารักษ์อย่างพวกคุณมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะต้องเพิ่งพิงคอมพิวเตอร์อย่างเดียว

อันที่จริงผมก็รู้อยู่แล้วหล่ะว่าบรรณารักษ์เรามีวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดีด้วย
แต่บางที่ ที่ผมเจอบางทีพอระบบยืม คืนเสีย ห้องสมุดนั้นประกาศไม่ให้ผู้ใช้บริการยืมหนังสือไปด้วย
ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกยังไงก็ไม่รู้ ทำไมเราต้องอิงกับคอมพิวเตอร์หล่ะ

จำได้หรือเปล่าครับว่า…สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์เรายังทำงานกันได้เลย มิใช่หรือ

วิธีการแก้ง่ายๆ ที่อยากจะแนะนำสถาบันเหล่านั้นนะครับ
ง่ายมาแค่คุณจดรหัสผู้ยืม รหัสบาร์โค้ตของหนังสือ ประทับตราวันที่ยืม และประทับตราวันที่คืน
ลงกระดาษหรือไม่ก็อาจจะทำเป็นแบบหนังสือการยืม
ส่วนการคืนทำงานกว่าก็คือ ประทับตราวันที่คืน กับรหัสบาร์โค้ตของหนังสือก็เท่านั้นเอง
แต่ต้องดูเรื่องค่าปรับด้วยนะครับ แต่ถ้าดูไม่ได้ก็รอจนกว่าระบบจะใช้ได้แล้วส่งบิลแจ้งยอดให้กับผู้ใช้วันหลัง

ซึ่งพฤติกรรมของห้องสมุดที่ไม่ยอมทำงานเพราะว่าเปิดตามกระแสคอมพิวเตอร์
ผมพูดในเชิงประชดว่า คุณเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เก่งมาก
เพราะว่าพอคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้คุณก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้พักผ่อนเพราะว่าทำอะไรไม่ได้
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมว่าปิดห้องสมุดไปเถอะครับ

เพราะว่าคติของบรรณารักษ์ที่ดีคือต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
ไม่ใช่อิงความสะดวกสบายของบรรณารักษ์นะครับ

ฝากไว้ให้คิดกันนิดนึง ห้องสมุดส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าดีอยู่แล้ว
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง ค่อยๆ ปรับและหาวิธีการแก้ปัญหา และควรมีแผนงานสำรองเตรียมไว้ด้วยนะครับ

ปัญหามากมายที่รอการแก้ไข จากห้องสมุดแห่งหนึ่ง

หลังจากที่ผมได้คุยกับเพื่อนๆ ในวงการห้องสมุดหลายคน ก็รู้ว่าห้องสมุดหลายๆ แห่งมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมากมาย
ซึ่งบางปัญหาก็เกิดจากผู้บริหาร หรือบางปัญหาก็เกิดจากผู้ใช้บริการ และบางปัญหาก็เกิดจากตัวบรรณารักษ์เอง

ที่มาจาก badjonni
ที่มาจาก badjonni

วันนี้ผมมีกรณีตัวอย่างมานำเสนอ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดแห่งนี้ให้เพื่อนๆ ช่วยวิเคราะห์นะครับ

ปัญหาของห้องสมุดนี้ มีดังนี้ครับ

1. ชั้นหนังสือเต็มจนหนังสือไม่มีที่เก็บอีกแล้ว (พื้นที่มีเยอะแต่ชั้นหนังสือมีน้อย)
บรรณารักษ์ทำเรื่องขออนุมัติในการจัดหาครุภัณฑ์ไป 1 ปีกว่าๆ แล้วยังไม่ได้

2. สื่อประเภทซีดีมีมากมายในห้องสมุด แต่ไม่มีที่จัดเก็บ
แม้แต่เครื่องเล่นซีดี คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่มีในห้องสมุด

3. ในห้องสมุดไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น เวลาผู้ใช้ต้องการหาหนังสืออะไร
ก็จะเดินมาถามบรรณารักษ์อย่างเดียว หรือไม่ก็ใช้ความเคยชินเดินหาตามชั้นเอาเอง

4. บุคลากรในห้องสมุดไม่เคยถูกส่งไปเข้าร่วมงานสัมมนา อบรม ประชุมวิชาการต่างๆ เลย
จนบุคลากรบางส่วนต้องลางานเพื่อไปเข้าร่วมงานต่างๆ เอง

5. บุคลากรของห้องสมุด (บรรณารักษ์) มักจะถูกขอให้ไปช่วยงานอื่นๆ ในองค์กร
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงิน ประชาสัมพันธ์ รับสมัครนักศึกษา ฯลฯ

6. นักเรียนเอาโน้ตบุ๊คมาใช้ในห้องสมุดแต่ไม่สามารถต่อ internet ได้
เนื่องจาก wireless มีไว้ให้พนักงานในองค์กรเล่นได้อย่างเดียว

7. เวลาองค์กรจัดงานนิทรรศการ หรืองานกิจกรรมต่างๆ จะมายืมครุภัณฑ์จากห้องสมุดเป็นหลัก
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ทำให้ห้องสมุดไม่มีที่นั่งเพื่อให้บริการผู้ใช้

ฟังปัญหาของห้องสมุดนี้แล้วก็แอบเหนื่อยใจแทนนะครับ
แต่ผมก็ขอนำเสนอวิธีใการจัดการกับเรื่องเหล่านี้นะครับ

1. ทำงานเท่าที่หน้าที่ของตนรับผิดชอบ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
เราจะฝืนทำมากกว่าที่เป็นอยู่แล้วเดือดร้อนถึงเราไม่ได้ แต่ขอให้ดูว่าผู้ใช้ต้องไม่เดือดร้อนด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถึงไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้สืบค้น แต่เราก็สามารถที่จะค้นให้ผู้ใช้ได้มิใช่หรือครับ
เท่านี้นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบรรณารักษ์และผู้ใช้อีกด้วย


2. บางอย่างก็อย่าคาดหวังหากหวังมาก

เช่น คาดว่าจะได้ชั้นหนังสือเดือนหน้า เราก็จะรอคอยในสิ่งที่จะทำให้ผิดหวังได้
ให้คิดซะว่าถ้ามันมีก็ดีนะ แต่ถ้าขาดมันก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เท่านี้ก็สบายใจทั้งเรา ทั้งผู้บริหารแล้ว

3. บางอย่างเราก็คอยติดตามสอบถาม/ทวงถามบ้าง
เช่น หากชั้นหนังสือล้นออกมาเยอะมากแล้วเราก็ควรเริ่มกระตุ้นผู้บริหารได้แล้ว
ไม่ใช่ปล่อยให้มันล้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วไปคาดหวังว่าสักวันผู้บริหารจะเห็นอันนั้นมันคงเป็นไปไม่ได้กระมั้ง

4. ปล่อยวางบ้างเถอะ
บางครั้งการที่องค์กรขาดอุปกรณ์บางอย่างแล้วมาขอยืมไปจากห้องสมุดเช่น โต๊ะ เก้าอี้
หากช่วงนั้น ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องใช้ก็ปล่อยๆ ให้เขาไปเถอะแต่ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเอาไปหมดเลย
ควรจะเหลือไว้ให้ห้องสมุดสักครึ่งหนึ่งก็จะดี เพราะอย่าลืมว่าเราต้องบริการผู้ใช้ด้วย ไม่ใช่บริการองค์กรเพียงอย่างเดียว


คำแนะนำเหล่านี้ ถ้าเพื่อนๆ รับฟังมันก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจแล้วหล่ะครับ

แล้วเพื่อนๆ หล่ะคิดยังไงกับปัญหาเหล่านี้ มีแนวทางในการแก้ไขบ้างหรือปล่าวครับ

ห้องสมุดแห่งนี้อเนกประสงค์เกินไปหรือปล่าว

เพื่อนๆ หลายคนชอบบอกผมว่า อยากให้ห้องสมุดบริการทุกๆ อย่าง หรือ ประมาณว่าอเนกประสงค์เลยก็ดี
วันนี้ผมก็เลยขอเอาประเด็นห้องสมุดอเนกประสงค์ มาเล่าให้ฟังอีกที (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ นะครับ)

everything-in-library

สมมตินะครับ…สมมติ หากว่าห้องสมุดของเพื่อนๆ อเนกประสงค์แบบนี้ เพื่อนๆ ว่ามันดีหรือปล่าว

1. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นห้องเรียนได้ อาจารย์สามารถขอใช้วัสดุจากจากห้องสมุดได้
เช่น หนังสือพิมพ์เก่าๆ วารสารเก่าๆ และก็ตัดกันอย่างสนุกสนานในห้องสมุด

2. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นคลังเก็บรวบรวมข้อสอบได้ โดยที่บรรณารักษ์เป็นผู้ตรวจสอบและเก็บให้
พออาจารย์หาข้อสอบเก่าๆ ไม่เจอก็มาโทษบรรณารักษ์และห้องสมุด

3. ห้องสมุดทำหน้าที่จัดกรรมการคุมสอบได้อีก อาจารย์ที่คุมสอบต้องมาลงชื่อที่ห้องสมุดในช่วงสอบ
ส่วนอาจารย์สำรองก็ต้องมานั่งรอในห้องสมุด สรุปว่าห้องสมุดทำหน้าที่ได้เหมือนหน่วยคุมสอบ

4. เวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร สามารถมายืมโต๊ะ เก้าอี้ที่ห้องสมุดได้
ส่วนผู้ที่ใช้ห้องสมุดคนอื่นก็นั่งพื้น หรือ ยืนอ่านแล้วกันนะครับ

5. เวลาปิดเทอมห้องสมุดต้องเตรียมสถานที่ไว้เพื่อใช้ในงานอื่นโดย
ต้องเก็บหนังสือออกจากชั้นและทำการจัดหนังสือใหม่ทุกครั้งเมื่อเปิดเทอม

6. เวลานักเรียนจะจบก็จะมาถ่ายรูปที่ห้องสมุดโดยใช้ห้องอ้างอิงเพื่อการถ่ายรูป
ส่วนนักเรียนที่รอถ่ายรูปก็จะเดินไปเดินมาและคิดว่าห้องสมุดเป็นตลาดซะก็สบายใจ

7. ใช้เป็นที่ลงทะเบียนของนักเรียนทุกๆ เทอม

8. ใช้เป็นสถานที่สัมภาษณ์งานของฝ่ายบุคคลด้วย โดยใช้ห้องโสตฯในการสัมภาษณ์

9. ห้องนอน ห้องพักผ่อน อยู่ที่ห้องสมุดทั้งนั้นเลย

10. และอื่นๆ อีก

ปล. บรรณารักษ์ที่ทำงานที่นี่ ไม่ได้อยากให้ห้องสมุดเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เอง
เนื่องจากนโยบายจากผู้บริหารได้มีคำสั่งออกมาเพื่อใช้ห้องสมุดในการดังกล่าวข้างต้น

เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดแบบนี้แก้ไขอย่างไร เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดของเพื่อนๆ เป็นแบบนี้หรือปล่าว
สรุปแล้วที่เล่ามา เพื่อนๆ ว่าห้องสมุดอเนกประสงค์อย่างนี้ดีมั้ยครับ

คุณครูสามารถพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุดได้ แต่…

เรื่องเก่าเล่าใหม่วันนี้ ขอนำเสนอเรื่องปัญหาของห้องสมุดสถานศึกษานะครับ
หลายคนคงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการที่คุณครูพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุนะครับ
เอาเป็นว่าเรามาร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาดีกว่า

teacher-in-library

แต่ก่อนอื่นมาฟังเรื่องราวที่เกิดกับผมก่อนดีกว่า…

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในคาบวิชาสังคมศึกษา ของระดับชั้น…
คุณครูที่สอนในวิชานี้ได้นำนักเรียนในห้องที่สอนมาที่ห้องสมุด
และบอกกับบรรณารักษ์ว่า “จะนำนักเรียนมาหาข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อให้เด็กทำรายงาน”
โดยขอให้บรรณารักษ์ช่วยเตรียมหนังสือพิมพ์เก่าๆ ให้หน่อย เพื่อให้เด็กๆ หาข่าว และตัดข่าวได้
บรรณารักษ์ก็ได้จัดเตรียมให้ตามคำขอของคุณครูท่านนี้

หลังจากที่คุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนเสร็จ
นักเรียนก็แยกย้ายกันไปทำงานตามโต๊ะของตัวเอง

จากนั้นบรรยากาศความสนุกสนานก็เกิดขึ้น นักเรียนทำงานไปก็คุยไป ตะโกนคุยกันไปมา
จนผู้ใช้บางส่วนที่เป็นคุณครูก็เข้ามาบอกบรรณารักษ์ว่าให้ช่วยตักเตือนนักเรียนเหล่านี้หน่อย
บรรณารักษ์ก็เดินไปเตือนหลายครั้ง เตือนทีก็เงียบที พอบรรณารักษ์เดินกลับมาเสียงก็ดังอีก

ส่วนคุณครูที่มอบหมายงานให้นักเรียนนั้น ก็นั่งอ่านนวนิยายตามสบาย โดยที่ไม่เตือนลูกศิษย์กันเลย

พอหมดคาบคุณครูท่านนี้ก็เช็คชื่อนักเรียน โดยการเรียกชื่อทีละคน
ซึ่งการเรียกชื่อของคุณครูท่านนี้คงกะว่าไม่ว่านักเรียนจะอยู่ส่วนไหนของห้องสมุด ก็คงต้องได้ยิน
เนื่องจากพลังเสียงของคุณครูท่านนี้ดีมาก เรียกทีเดียวคนหันมามองทั้งห้องสมุดเลย

พอคุณครูท่านนี้พานักเรียนกลับไปแล้ว บรรณารักษ์ก็ต้องตกตะลึงอีกรอบ
คือ หนังสือพิมพ์ที่ตัดกันเกลื่อนกลาดไม่ยอมเก็บให้ด้วย ต้องให้บรรณารักษืมาตามเก็บทีหลังอีก

สำหรับความคิดของผมแล้ว การที่คุณครูพานักเรียนมาที่ห้องสมุดผมถือว่าดีนะครับ
เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใช้ห้องสมุดด้วย

แต่ถ้าคุณครูจะสอนหนังสือไปด้วย ผมว่าคุณครูกลับไปสอนที่ห้องเรียนน่าจะดีกว่านะครับ

ถ้าในห้องเรียนไม่มีหนังสือพิมพ์ ก็มาบอกกับบรรณารักษ์ได้ครับ เดี๋ยวบรรณารักษ์จัดไปส่งถึงที่เลย
อย่างน้อยห้องเรียนคงเสียงดังได้มากกว่าห้องสมุด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ
และคุณครูครับ การมอบหมายงานกรุณามอบหมายให้เสร็จในห้องเรียนไม่ใช่มามอบหมายที่ห้องสมุดครับ

ลด ละ เลิกการใช้เสียงเถอะครับไม่ต้องคิดถึงบรรณารักษ์ก็ได้
แต่อยากให้คิดถึงผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ

เรื่องของเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดกับห้องสมุดแห่งนี้

ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ผมเลยขอเอามาให้เพื่อนๆ ช่วยวิจารณ์กันหน่อยแล้วกัน
เนื่องจากองค์กรแห่งนี้เน้นเทคโนโลยีต่างๆ นานาในสถาบันการศึกษา แต่ไม่เคยสนใจห้องสมุด

technology-lib

แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกเน้นให้เกิดในองค์กร แต่ก็ถูกละเลยจากบุคลากรในองค์กรอยู่ดี เช่น

– การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี VOIP แต่ก็ไม่เคยมีใครใช้
– แจก Ipod ให้บุคลากรแต่ใช้ไม่เป็น
– อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีไว้โหลดหนัง โหลดเพลง
– มีการจัดสอบวัดความรู้ด้านไอทีในองค์กร แต่สามารถส่งตัวแทนไปสอบได้
– ระบบการให้บริการด้วยเว้บไซต์ออนไลน์ แต่คนส่วนใหญ่ใช้ไม่เป็นสุดท้ายก็ต้องเดินมาที่แผนก
– เว็บไซต์องค์กรที่ไม่เคยอัพเดทเลย

นี่คือสิ่งที่องค์กรตอบสนองให้บุคลากรในหน่วยงาน แต่สิ่งที่ได้มาคือความไร้ค่ามากๆ
บ้างก็ใช้ไม่เป็น บ้างก็นำไปใช้ผิดจุดประสงค์ กลุ้มใจแทนองค์กรเลยครับ

ทีนี้หันมาดูที่ห้องสมุดบ้างดีกว่า
1. มีคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการสืบค้น (ที่โต๊ะบรรณารักษ์เท่านั้น)
2. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติเป็นระบบที่ใช้ได้เสถียรที่สุด และไม่ยืดหยุ่นให้ใคร (วันหยุดก็จะคิดค่าปรับแถมให้ด้วย)
3. เครื่องทำสำเนาของสื่อโสตฯ ทำได้ (แต่เอากลับบ้านไปทำนะบรรณารักษ์)
4. ชั้นหนังสือมีจำนวนมาก (แต่หนังสือมากกว่า)
5. มีสื่อโสตฯ มากมาย (เอากลับไปดูที่บ้านนะครับ)
6. มีเว็บห้องสมุด (แต่ต้องไปฝากคนอื่นเอาขึ้น server)

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ
แต่ขอเอาไว้เล่าให้ฟังต่อคราวหน้าดีกว่า เพราะแค่นี้ยิ่งอ่านก็ยิ่งสลดแล้ว

สุดท้ายก็ขอฝากให้เพื่อนๆ ช่วยกันคิดหน่อยนะครับว่าสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

?ผมยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา? ผมต้องเสียค่าปรับหนังสือด้วยหรอ?

นี่อาจจะเป็นเพียงปัญหาที่บรรณารักษ์เจออยู่บ่อยๆ แต่พูดอะไรไม่ได้เท่านั้น
วันนี้ผมขอนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้เพื่อนๆ แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

overdue-library

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผมเป็นบรรณารักษ์สถานศึกษาแห่งหนึ่ง
ในตอนนั้นบรรณารักษ์ของที่นี่จะถูกจำกัดตำแหน่ง คือ “เจ้าหน้าที่” ไม่ใช่ “บรรณารักษ์”
ดังนั้นอาจารย์หลายๆ คนในสถานศึกษาแห่งนี้มักจะใช้อำนาจในการต่อรองต่างๆ นานา

อาทิเช่นเรื่องการจ่ายค่าปรับที่ผมจะเล่านี้…

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นเรื่องนโยบายของห้องสมุดก่อนนะครับ
สำหรับการยืมหนังสือของอาจารย์ 1 คน ยืมได้ 10 เล่ม และได้ระยะเวลา 1 เดือน
หากคืนเกินกำหนด ก็จะต้องเสียค่าปรับ เล่มละ 5 บาท / วัน

เข้าเรื่องแล้วกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า…
มีอาจารย์แผนกหนึ่งเอาหนังสือมาคืนที่ห้องสมุด แล้วระบบแจ้งเตือนว่า “คืนหนังสือเกินกำหนด”
ซึ่งทำให้มีค่าปรับหนังสือ 15 บาท ดังนั้นบรรณารักษ์จึงจำเป็นที่จะต้องปรับอาจารย์คนนั้น

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงที่ว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ยอมจ่าย ด้วยการให้เหตุผลว่า
?ต้องปรับผมด้วยหรอครับ ในเมื่อผมก็ยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา
นี่ผมใช้เพื่อการเรียนการสอนนะ ไม่ได้เอาไปอ่านเล่นหรือเอาไปดอง?

ทางบรรณารักษ์ก็ให้เหตุผลว่ามันเป็นกฎระเบียบที่ห้องสมุดตั้งขึ้น
ถ้าจะขอยกเว้นเรื่องค่าปรับหนังสือก็ต้องเขียนหนังสือให้เหตุผลแบบเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่อาจารย์คนนี้ก็ยังไม่ยอมจ่าย หรือไม่ยอมเขียนหนังสือใดๆ
(ทั้งๆ ที่อาจารย์คนอื่นๆ เวลาทำผิดกฎเขาจะรู้ตัวเองและยอมทำตามกฎที่ห้องสมุดกำหนดไว้)

สุดท้ายอาจารย์ท่านนี้ก็ยืนยันว่าไม่จ่าย แถมยังขู่ว่าจะเอาไปฟ้องผู้บริหารขององค์กรอีก
ในข้อหา “บรรณารักษ์ปรับค่าหนังสือที่คืนกำหนดกับอาจารย์ที่นำไปใช้ในการเรียนการสอน”

สรุปค่าปรับแค่ 15 บาท อาจารย์คนนี้สามารถทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ขนาดนี้

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม

การยืมหนังสือไปใช้เพื่อการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่เหมาะสม
หากถึงวันที่กำหนดคืนแล้วยังใช้หนังสือเล่มนั้นไม่เสร็จ ก็น่าจะแจ้งห้องสมุดเพื่อต่ออายุการยืม
หรือไม่ก็ทำหนังสือมาเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่าจะมาบอกปากเปล่าว่าไม่จ่าย
เพราะทางห้องสมุดก็ต้องทำบัญชีส่งฝ่ายกการเงินเช่นกัน
หากระบบแจ้งค่าปรับกับเงินที่ส่งให้ไม่สอดคล้องกัน ห้องสมุดจะได้มีหลักฐาน

วิธีแก้ที่ผมจะขอเสนอ
สำหรับอาจารย์อย่างเดียวคือถ้าคืนหนังสือเกินกำหนด
เราจะไม่ปรับตรงบริเวณเคาน์เตอร์ยืม-คืน แต่เราจะปรับทุกสิ้นเดือน (ตัดเงินเดือนแทน)
และทุกๆ ครั้งที่เปิดเทอมใหม่หลังจากเราอบรมการใช้ห้องสมุดให้นักศึกษาแล้ว
ควรจะจับอาจารย์มาอบรมการใช้และกฎระเบียบของห้องสมุดด้วย
(ขนาดกฎเรื่องการปรับค่าหนังสืออาจารย์ยังไม่รู้เลย สมควรอบรมและชี้แจงอย่างยิ่ง)

เพื่อนๆ ว่ามีวิธีแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร หรือต้องการให้เรื่องนี้เป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะครับ

————————————————

อ่านเรื่องแนวทางการแก้ไขเรื่องค่าปรับหนังสือที่พี่โตเขียนตอบได้ ในเรื่อง “ว่าด้วยค่าปรับหนังสือ”
อ่านได้ที่ http://iteau.wordpress.com/2007/08/15/libraryfine/

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณพี่โต ที่เสนอแง่คิดดีๆ ให้พวกเราอ่านด้วยครับ

บรรณารักษ์และผู้บริหารห้องสมุดต้องพูดคุยกันบ้าง…

การพัฒนาห้องสมุดจะเป็นไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย
เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญ นั่นก็คือ ผู้บริหารห้องสมุดหรือผู้บริหารองค์กร นั่นเอง

admin-library

คุณเห็นด้วยกับประโยคที่ผมกำลังจะกล่าวหรือไม่

“ตราบใดที่บรรณารักษ์เสนอโครงการมากมายแต่ถ้าผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญ
ก็มักจะทำให้ห้องสมุดถูกปล่อยปล่ะละเลยอยู่เสมอๆ ไม่ได้รับการพัฒนา”

เพื่อนๆ รู้มั้ยครับว่าความสำคัญของห้องสมุดในแง่ความคิดระหว่างบรรณารักษ์ กับ ผู้บริหาร ซึ่งมีอิทธิพลต่อการพัฒนาห้องสมุด
ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าหากสอดคล้องกัน คือ ผู้บริหารกับบรรณารักษ์เข้าใจในกระบวนงานของห้องสมุดเหมือนกัน และทิศทางเดียวกัน
ผมคิดว่าห้องสมุดนั้นคงจะทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะว่าผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงานต่างเข้าใจในกระบวนงาน และกระบวนการทำงานนั่นเอง
แต่ถ้าสมมุติว่า หากเกิดความไม่เข้าใจในเรื่องของการทำงานหรือการให้ความสำคัญหล่ะ มันก็อาจจะส่งผลในทางตรงข้ามได้เช่นกัน

ตัวอย่างเรื่องระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ผู้บริหารก็มักจะถามว่าจำเป็นด้วยหรอ บรรณารักษ์ก็จะตอบว่าจำเป็น ผู้บริหารก็บอกว่าพัฒนาเองไม่ได้หรอ ทำไมต้องซื้อราคาแพงๆ บรรณารักษ์ก็บอกว่าพัฒนาเองได้ แต่คงไม่มีความเสถียรพอหรือใช้ไปอาจจะไม่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากบรรณารักษ์ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ ผู้บริหารก็บอกต่อว่างั้นก็ให้โปรแกรมเมอร์เป็นคนออกแบบสิ โปรแกรมเมอร์ก็ออกแบบมาให้ บรรณารักษ์ใช้ไม่ได้เนื่องจากโปรแกรมเมอร์ก็ไม่เข้าใจกระบวนงานของ บรรณารักษ์ ที่แน่ๆ โปรแกรมเมอร์คงไม่รู้จัก MARC Format พอออกแบบเสร็จก็เลยเกิดปัญหาตามมาต่างๆ แทนที่จะได้ใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติก็เลย ต้องรอต่อไปครับ?..นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้คงแก้ได้ไม่ยาก หากผู้บริหารและบรรณารักษ์ปรับความคิดให้เข้าใจซึ่งกันและกัน
เนื่องจากห้อง สมุดก็เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกๆ คน ไม่มีใครที่สำคัญกว่าผู้ใช้บริการของพวกเราถูกมั้ยครับ

ทีนี้เลยอยากทราบว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการของเราเคยเจอปัญหานี้บ้างมั้ย
มีอะไรแนะนำกันบ้างนะครับ เพื่อวงการบรรณารักษ์และการพัฒนาห้องสมุดอย่างยั้งยืน?

ปล. ผมขอส่งท้ายด้วยบทความเรื่อง การจัดตั้งห้องสมุดอุดมศึกษา โดย Chelie M. harn Cooper
ลองอ่านดูนะครับเป็นบทความของเว็บวิชาการ 2 หน้า
ที่พูดถึงเรื่อง การการดำเนินงานห้องสมุดในระดับสากล และ วิสัยทัศน์ ของผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับห้องสมุด

เมื่อบรรณารักษ์บางกลุ่มพูดว่า “ห้องสมุดของเราไม่มีทางเจ๊งหรอก”

มีหลายเรื่องที่ผมวิตกและกังวลเกี่ยวกับทัศนคติของบรรณารักษ์บางกลุ่มในประเทศไทย
ซึ่งผมกำลังหาทางออกและวิธีแก้ปัญหาอยู่ เลยอยากเล่าให้เพื่อนๆ ฟังเพื่อว่าจะมีใครเสนอแนวทางดีๆ ให้ผมบ้าง

question

เรื่องที่ผมจะยกมาให้อ่านในวันนี้อาจจะดูแรงไปสักหน่อยแต่มันเกิดขึ้นจริงนะครับ
เป็นเรื่องที่มีเพื่อนบรรณารักษ์คนนึงโทรมาปรึกษาผมเกี่ยวกับการทำงานบรรณารักษ์ของเขา
เอาเป็นว่าผมขอแทนชื่อเขาว่า “นายบัน” ก็แล้วกันนะครับ

ห้องสมุดที่ “นายบัน” ทำงานอยู่มีบรรณารักษ์กลุ่มหนึ่งที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม (ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลอย่างเดียวนะ)
วันๆ บรรณารักษ์กลุ่มนี้จะรอคอยเวลาเลิกงานในแต่ละวัน พอใกล้จะถึงเวลาเลิกงานก็จะรีบเก็บของโดยไม่สนใจผู้ใช้บริการ

“นายบัน” ก็รู้สึกว่าห้องสมุดไม่มีอะไรใหม่ๆ เลย ดังนั้นเขาก็เสนอโครงการใหม่ๆ ขึ้นไปให้หัวหน้า
ซึ่งหัวหน้าก็ค่อนข้างชอบโครงการใหม่ๆ นี้ และคิดว่าจะนำมาใช้กับห้องสมุด

แต่โครงการใหม่ๆ ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาครับ เพราะว่ากลุ่มบรรณารักษ์กลุ่มนี้ไม่พอใจ
เนื่องจากเป็นการสร้างภาระงานใหม่ๆ ในห้องสมุด และต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (อินเทอร์เน็ต)
ดังนั้น “นายบัน” ก็เลยโดยเรียกไปต่อว่า “หาว่าชอบหาเรื่องใส่ตัว” “งานสบายๆ ไม่ชอบหรือไง”
“นายบัน” พยายามจะบอกว่า “บรรณารักษ์อย่างพวกเราต้องเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ให้เข้ากับยุคปัจจุบันนะ”

แต่บรรณารักษ์กลุ่มนี้กลับนิ่งเงียบ แล้วย้อนคำถามมาว่า
“แล้วเราต้องเปลี่ยนด้วยหรอ ในเมื่อห้องสมุดของเรายังไงนักศึกษาก็ต้องใช้บริการอยู่แล้ว ห้องสมุดของเราไม่มีทางเจ๊งหรอก”

พอผมฟังจบก็รู้สึกอารมณ์ขึ้นมากๆ เลยครับ และวิตกกังวลถึงอนาคตบรรณารักษ์เมืองไทยจัง
“ปลาเน่าเพียงตัวเดียวก็ทำให้ทั้งคอกเหม็นได้แล้ว” ประโยคนี้คงจะจริง

สุดท้ายผมก็ได้แค่ปลอบเพื่อนผมไปว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันต้องค่อยๆ ปรับกันไป
ถ้าเราไปคล้อยตามประโยคแบบนี้แล้วไม่ทำงาน วงการบรรณารักษ์เราก็จะจบลงแบบเน่าๆ ต่อไป
ดังนั้นถ้าคิดว่าอะไรที่ดีต่อห้องสมุดทำไปเถอะอย่าสนใจเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเลย

ผมก็หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นเพียงส่วนน้อยของวงการบรรณารักษ์นะครับ
เพื่อนๆ อ่านจบแล้ว คิดยังไงกันบ้าง มีไอเดียจะเสนอผมบ้างหรือปล่าวครับ….

หนังสือดีๆ ยังมีอีกมากในห้องสมุดแต่ผู้ใช้หาไม่เจอ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพื่อนผม ฝากเอามาลงในเว็บนะครับ
(ขอขอบคุณเพื่อนพิชญ์ที่แสนน่ารักที่อุตส่าห์เขียนเรื่องดีๆ)

just-for-fun

ซอร์ไอเซค นิวตัน ลีโอนาโด ดาร์วินชี และอัจฉริยะอื่นๆ ทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกัน
นั่นคือ ความสามารถหลายๆ ด้าน และความคิดอันเป็นเอกลักษณ์
การได้อ่านชีวประวัติ (อย่างละเอียด) ของคนเหล่านี้
จะทำให้คุณได้เห็นมุมมองใหม่ๆ แบบที่คุณคิดไม่ถึงว่า มีคนคิดแบบนี้อยู่ด้วย

ชื่อ Linus Torvalds (ไลนุส ไม่ใช่ ลีนุก ทอร์วอลด์)
อาจจะไม่คุ้นกับคนส่วนใหญ่ แม้แต่คนที่เรียกตัวเองว่าคนไอที
บางคนเรียกเขาว่า hacker อันดับหนึ่งของโลกผู้เป็นศาสดาของ programmer
ส่วน Microsoft เรียกเขาว่า ปีศาจ

คุณอาจจะรู้จักผลงานเขาที่ชื่อว่า ลินุกซ์ หรือไม่ ? ไม่เป็นไร
เอาเป็นว่ามันเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ windows
และทำให้มีคนที่คิดทำอะไรดีๆ ออกมาฟรีๆ ให้คนอื่นใช้กัน
ถ้าคุณรัก firefox รู้ไว้ว่า ถ้าไม่มีเขา มันเป็นแค่ โปรแกรมที่ไม่มีคนใช้แล้วเท่านั้น

ผมไปเจอหนังสือที่แปลโดย eS_U ชื่อหนังสือ ?just for fun LINUS TORVALDS”
ที่ห้องสมุดวิทยาลัย ที่มีสาขาคอมพิวเตอร์ ซื้อมาตั้งแต่ปี 46 กลับกลายเป็นว่าผมเป็นคนแรกที่ยืมในปี 50
และท่าทางจะป็นคนแรกที่หยิบมันออกมาจากชั้นหนังสือ
หนังสือที่ดีอย่างนี้ สาบสูญไปกับระบบ LC ที่ผมไม่เคยทำความเข้าใจกับมันได้ซะที่

ถ้าคุณไม่สนใจ IT ก็ไม่เป็นไร ถ้าคุณสนุกกับหนังสืออ่านเล่น
ที่บอกว่าเป็นหนังสือชีวประวัติอย่างของโน้ตอุดม / บอย / น้าเนค
หรือหนังสือเฉพาะกิจอย่าง Lidia here am I

ผมว่าหนังสือเล่มนี้ (just for fun LINUS TORVALDS) ดีกว่านั้น
มันหนาถึง 374หน้านะครับ แต่ก็อ่านเพลินๆ คืนเดียวจบ เหมือนกินต้มยำอร่อยๆ
ถ้าชอบแนวปรัญญาความคิดใหม่ๆ หนังสือเล่มนี้มีให้คุณได้ขบคิด

ผมคัดลอกเอาเนื้อเรื่องบางส่วนมาให้ลองอ่านเล่นดูนะครับ

“ตอนเด็กผมหน้าเกลียดมาก บอกกันตรงๆ อย่างนี้เลย
และผมหวังว่าวันหนึ่งเมื่อฮอลลีวู้ดสร้างหนังเกี่ยวกับลินุกซ์ขึ้นมา
พวกเขาคงจะหาพระเอกที่หน้าหาเหมือน ทอม ครูซ มาเล่น
แม้ในความเป็นจริงมันจะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกันเลยก็ตาม
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ถึงขนาดคนค่อมแห่งนอตเตอร์ดามหรอก
ลองนึกภาพตามดีกว่า นึกถึงเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่มีฟันหน้าใหญ่มาก
(ทุกคนที่ดูรูปผมตอนเด็กจะเห็นว่าหน้าผมดูคล้ายตัวบีเวอร์ไม่น้อย)
นึกถึงการแต่งตัวที่เชยระเบิด และนึกถึงจมูกที่ใหญ่ผิดปกติ
อันเป็นเอกลักษณ์ของตระกูลทอร์วอลด์ นั่นละครับ ตัวผมในวัยเด็ก”

หรือ

“แล้วทำไมสังคมถึงวิวัฒนาการได้ละ? อะไรคือแรงผลักดันที่สำคัญ?
เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงจริงหรือ?
จริงหรือที่การผลิตเครื่องจักรไอน้ำทำให้ยุโรปเป็นสังคมอุตสาหกรรม
แล้วหลังจากนั้นสังคมมนุษย์ก็วิวัตนาการโดยอาศัยโนเกียและโทรศัพท์มือถืออื่นๆ
จนกลายเป็นสังคมแห่งการสือสารไป?
ดูเหมือนนักปรัชญาทั้งหลายจะพอใจกับคำอธิบายนี้ จึงพากันไปสนใจแต่ประเด็นที่เทคโนโลยีมีผลต่อสังคม
แต่ผมในฐานะนักเทคโนโลยีกลับรู้ดีว่าเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลต่ออะไรเลย
สังคมต่างหากที่มีผลต่อเทคโนโลยี ไม่ใช่ทางกลับกัน
เทคโนโลยีเป็นเพียงตีกรอบว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
และเราจะทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นโดยเปลืองเงินน้อยที่สุดได้ยังไง
เทคโนโลยีก็เหมือนบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีนั่นแหละ
คือมันไม่มีความคิดเป็นของตนเอง มันมีหน้าที่แค่ทำงานไปตามที่คุณใช้มัน
ส่วนแรงจูงใจของการทำงานนั้นเป็นความจำเป็นและความต้องการของมนุษย์โดยแท้
ทุกวันนี้เราติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นไม่ใช่เพราะเรามีอุปกรณ์
แต่เพราะมนุษย์เราชอบการพูดคุยกันอยู่แล้ว เราจึงต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งถ้าอุปกรณ์ไม่พร้อม
เราก็จะสร้างมันขึ้นมา เพราะอย่างนี้โนเกียถึงได้เกิด”

เป็นอย่างไรกันบ้างครับนี่เป็นเพียงเนื้อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อ่านแล้วก็ชวนให้ติดตามเหลือเกิน
สรุปประเด็นที่อยากจะบอกเกี่ยวกับเรื่องการจัดหมวดหมู่ของหนังสือ
จนทำให้หนังสือดีๆ เหล่านี้ถูกละเลยไม่มีคนสนใจ กว่าจะได้อ่านก็ช้าไปนานแล้ว

ดังนั้นนี่คงเป็น Case study อย่างหนึ่งที่น่าศึกษามาก
เพราะว่า คุณลองคิดสิครับว่าในห้องสมุดยังมีหนังสือดีๆ แบบนี้ให้อ่านอยู่
แต่ผู้ใช้หาไม่เจอ แล้วอย่างนี้มันน่าคิดมั้ยครับ

สุดท้ายขอขอบใจเพื่อนพิชญ์อีกทีนะครับ แล้วส่งเรื่องเล่ามาให้อ่านบ้างนะครับ

ปล. ปรัชญาเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าหนังสือดีๆ ยังมีอยู่ในห้องสมุดอีกเยอะครับ