กรณีศึกษา : ฉีกหนังสือพิมพ์ในห้องสมุด อ้างมาห้องสมุดครั้งแรก

กรณีศึกษา : ฉีกหนังสือพิมพ์ในห้องสมุด อ้างมาห้องสมุดครั้งแรก

วันนี้ขอนำกรณีศึกษาจากเหตุการณ์จริงของห้องสมุดแห่งหนึ่งมาให้อ่าน ซึ่งวันนั้นผมก็เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์บังเอิญในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ลองอ่านแล้วนึกภาพเหตุการณ์ไปพร้อมๆ กันนะครับ

man-791440_1280

——————–

ช่วงเย็นของวันทำงาน ณ ห้องสมุดแห่งหนึ่ง ผมกำลังยืนคุยกับพี่บรรณารักษ์คนหนึ่งเพื่อสอบถามเกี่ยวกับงานบริการของห้องสมุดอยู่นั้นเอง

มีผู้ใช้บริการท่านหนึ่งเดินตรงเข้ามาหาบรรณารักษ์แล้วกระซิบเบาๆ ว่า
“พี่ครับ มีผู้ใช้บริการท่านหนึ่งกำลังฉีกหนังสือพิมพ์ของห้องสมุดอยู่ รีบไปดูหน่อยครับ”

ผมและบรรณารักษ์ท่านนั้นตกใจมาก ต้องหยุดการสนทนาต่างๆ ลงและรีบไปดูตามที่ผู้ใช้บริการท่านนั้นบอก

ณ พื้นที่นั่งอ่านหนังสือ ผู้ใช้บริการวัยกลางคนกำลังนั่งฉีกหนังสือพิมพ์ น่าจะประมาณ 6 -7 ฉบับ เห็นจะได้
พอเห็นบรรณารักษ์เดินเข้ามาเขาก็หยุดฉีก พอกับสนทนากันดังนี้

ผู้ใช้บริการวัยกลางคน : มีอะไรหรือครับ
บรรณารักษ์ : หนังสือพิมพ์นี้เป็นของห้องสมุดนี่ครับ ทำไมถึงฉีกออกมาแบบนี้หล่ะครับ
ผู้ใช้บริการวัยกลางคน : อ้าว หนังสือพิมพ์ของห้องสมุดฉีกไม่ได้หรอ
บรรณารักษ์ : ไม่ได้ครับ ถ้าทำลายทรัพย์สินของห้องสมุดจะต้องโดนปรับนะครับ
ผู้ใช้บริการวัยกลางคน : งั้นผมขอโทษแล้วกัน ไม่ทราบกฎนี้เลย เพิ่งเคยเข้าห้องสมุดนี้ครั้งแรกครับ ยกโทษให้หน่อยแล้วกัน
บรรณารักษ์ : ไม่ได้ครับ เพราะฉบับที่คุณฉีกเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีผู้เข้ามาใช้เยอะเหมือนกัน และกฎก็ต้องเป็นกฎ ยังไงก็ขอเชิญตามมาที่เคาน์เตอร์ด้วยครับ

ผมซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ก็ได้แต่อึ้ง กับบทสนทนาของชายวัยกลางคนคนนั้น
“ไม่ทราบกฎนี้เลย เพิ่งเคยเข้าห้องสมุดที่นี่ครั้งแรก”
เอ๊ะ แล้วห้องสมุดที่อื่น เขาอนุญาตให้ฉีกกันหรือครับ….

บทสรุปของเรื่องนี้ คือ ชายวัยกลางคนเสียค่าปรับ ห้องสมุดต้องนำกระดาษที่ถูกฉีกมาซ่อมแซมเพื่อให้บริการต่อ ….

ปัญหาที่เกิดในห้องสมุด “คืนหนังสือแล้วยืมต่อไปเรื่อยๆ”

วันนี้ผมขอยกปัญหานึงที่เคยเจอตอนทำงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยมาให้อ่าน
เกี่ยวกับเรื่องการต่ออายุการยืมหนังสือ (Renew Book) นั่นเอง
ดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเพื่อนๆ เจอการต่ออายุหนังสือเล่มเดิมสัก 10 ครั้ง มันก็คงไม่ปกติแล้ว

renew-book

บรรณารักษ์ในสถาบันอุดมศึกษาน่าจะเคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้
เหตุการณ์ที่อาจารย์ในสถาบันมายืมหนังสือในห้องสมุด แล้วพอถึงเวลาคืนก็มาต่ออายุการยืม
ฟังดูธรรมดา… แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อการต่ออายุเกิดอย่างต่อเนื่องจนเสมือนกับจะยืมหนังสือกันตลอดชีวิต

นั่นคือเหมือนครบกำหนดก็มาคืน แล้วก็ยืมต่อ อาจารย์ทำแบบนี้สักสามครั้งนี้ก็เท่ากับหมดหนึ่งเทอมไปเลย
แต่แค่หนึ่งเทอมอาจจะให้อภัยได้ แต่ช่วงปิดเทอมก็ยืม เปิดเทอมใหม่ก็ยืม (หนังสือเล่มเดิม)

คงกะว่าหนังสือเล่นนั้นไม่มีใครจยืมมั้งครับ อาจารย์ก็เลยหวังดีแบบนี้

ถ้าแค่เล่มเดียวหรือสองเล่มก็ยังไม่เท่าไหร่
นี่อาจารย์แกเล่นยืมไปหกเล่ม แล้วดันไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเขายืมเลย

เพื่อนๆ ว่าปัญหาแบบนี้ บรรณารักษ์อย่างพวกเราควรทำอย่างไร

เอาเป็นว่าผมขอเสนอคำแนะนำนิดนึงแล้วกัน (ผ่านการพิสูจน์และปฏิบัติแล้ว) คือ

1. ประสานงานไปยังฝ่ายวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อหาลือกันถึงแนวทางการแก้ไข ซึ่งได้ความว่า
ฝ่ายวิชาการจะจัดเงินทุนจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อหนังสือที่อาจารย์จำเป็นต้องใช้สอนตลอดทั้งเทอม
โดยอาจารย์สามารถซื้อหนังสือที่ใช้ประกอบการสอนแล้วนำมาเบิกฝ่ายวิชาการ
โดยมีเงื่อนไขว่า หนังสือที่ซื้อจะต้องตรงกับหลักสูตรที่อาจารย์ท่านนั้นสอน
และแต่ละภาควิชาจะได้รับเงินทุนเท่าๆ กัน (ในภาควิชาต้องบริหารการซื้อหนังสือสื่อการสอนกันเอง)

ผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ค่อนข้างได้ผลตอบรับที่ดีขึ้น แต่ปัญหาเดิมก็ยังมีอยู่แต่น้อยลง
อาจจะเกิดจากการบริหารเงินในภาควิชา ทำให้อาจารย์บางคนไม่ได้รับการจัดสรรเงิน
ดังนั้นอาจารย์ก็จะใช้วิธียืมแบบต่ออายุเหมือนเดิม

2. ห้องสมุดกำหนดนโยบายการยืมหนังสือแบบต่อเนื่อง
โดยกำหนดว่าไม่ให้ต่ออายุเกิน 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้คนอื่นได้ยืมหนังสือเล่มนั้นบ้าง
และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สอนกับนักศึกษาด้วย ให้แจ้งห้องสมุดทำเป็นหนังสือจองทันที
แต่ต้องแจ้งตั้งแต่ช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ๆ นะครับ

ผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากการชี้แจงให้อาจารย์ทุกท่าน และผู้ใช้ทราบถึงนโยบายใหม่
ทำให้ผลตอบรับดีขึ้นมีการหมุนเวียนในการใช้สารสนเทศ หรือหนังสือดีขึ้น
หนังสือไม่ถูกเป็นเจ้าของเพียงคนๆ เดียว แต่เป็นของคนทุกคนครับ

ขอสรุปข้อคิดสักนิดนะครับ สำหรับพวกที่ชอบยืมหนังสือแบบเห็นแก่ตัว
กรุณาคิดกันสักนิดว่า หนังสือในห้องสมุดมิได้เป็นของคุณคนเดียว
ให้ชาวบ้านเขาได้ใช้หนังสือกันบ้าง อย่าเก็บไว้คนเดียวเลยนะครับ?

แล้วเพื่อนๆ หล่ะครับมีไอเดียที่จะเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาแบบนี้อย่างไร
ส่งความคิดเห็นมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

มาหอสมุดแห่งชาติควรจะพกบัตรมาเยอะๆ

เมื่อวานก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ผมมาใช้บริการที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนครับถ้าไม่มีอะไรผมก็คงไม่เขียนบล็อกหรอก
แน่นอนครับ เกริ่นมาซะขนาดนี้แล้ว….มันมีเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมอีกแล้วครับท่าน
จริงๆ ผมก็เคยพูดไปแล้วในเรื่อง “เรื่องอึ้งๆ ณ ?มุมโน้ตบุ๊ค? ในหอสมุดแห่งชาติ” เกี่ยวกับการแลกบัตรในหอสมุดแห่งชาติ

national-library-thailand

ประเด็นไหนบ้างที่ต้องแลกบัตรในหอสมุดแห่งชาติ
1. ยืมหนังสือออกจากห้องบริการเพื่อถ่ายเอกสาร
2. ขอใช้มุมบริการโน้ตบุ๊ค

เอาเป็นว่าวันนี้ผมมาใช้บริการในหอสมุดแห่งชาติ แบบว่าต้องใช้หนังสือจากหลายๆ ห้องบริการ
เช่น หนังสือในหมวดบรรณารักษ์ ห้อง 213 และนิตยสารจากชั้น 1 เอาเป็นว่าใช้ไปแล้ว 2 ใบ
นอกจากนี้ผมยังต้องใช้บริการโน้ตบุ๊คที่ผมนำมาเองอีก และแน่นอนว่าต้องใช้ไปอีก 1 ใบ

หมายเหตุสักนิด บัตรที่จะใช้ได้ต้องเป็นบัตรที่มีรูปถ่ายเท่านั้น

สรุปวันนี้ผมใช้บัตรเพื่อแลกกับบริการต่างๆ ในหอสมุดแห่งชาติจำนวน 3 ใบ ประกอบด้วย
– บัตรประชาชน
– ใบขับขี่
– บัตรสมาชิกห้องสมุดซอยพระนาง

เอาเป็นว่าเหนื่อยใจ จริงๆ ต้องใช้บัตรเยอะแบบนี้ ลองคิดดูนะครับว่าถ้าผมไม่รู้ธรรมเนียมของหอสมุดแห่งชาติ
ผมคงโวยวายกับบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ของแต่ละห้องไปเรียบร้อยแล้ว

เอาเป็นว่าก็ขอฝากไว้นะครับสำหรับคนที่จะมาใช้บริการในหอสมุดแห่งชาติ
ถ้าต้องการข้อมูลและบริการที่เยอะหน่อยก็ควรพกบัตรที่มีรูปมาหอสมุดแห่งชาติเยอะๆ นะครับ

ห้องสมุดที่ทำงานตามกระแสคอมพิวเตอร์

เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในห้องสมุดมีหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดับ เครือข่ายล่ม ไวรัสลงคอมพิวเตอร์
จนทำให้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติของเราต้องหยุดทำงานและไม่สามารถปฏิบัติงานได้

problem-computer-library

หากเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ทุกคนก็คงบอกว่า ?สบายมาก พักแป๊บนึงก็ได้ เดี๋ยวมันก็ใช้ได้แล้ว?
แต่เหตุการณ์แบบนั้นผมคงไม่พูดถึงหรอกเพราะมันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเรา
แต่สำหรับบางที่และบางกรณีที่เป็นเหตุให้ระบบไม่สามารถใช้งานได้เป็นวันหรือหลายวัน

ห้องสมุดของท่านมีแผนสำรองในการปฏิบัติงานหรือไม่ หรือว่าต้องปิดห้องสมุดด้วยเลย แล้วมันจะดีหรอ

ระบบงานบางอย่างที่ปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัวถ้าใช้คอมไม่ได้จะทำไง
เช่น หากระบบใช้ไม่ได้ การยืม คืนหนังสือของผู้ใช้บริการจะทำอย่างไร
หากต้อง catalog หนังสือให้เสร็จคุณจะทำงานอย่างไร
บรรณารักษ์อย่างพวกคุณมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะต้องเพิ่งพิงคอมพิวเตอร์อย่างเดียว

อันที่จริงผมก็รู้อยู่แล้วหล่ะว่าบรรณารักษ์เรามีวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดีด้วย
แต่บางที่ ที่ผมเจอบางทีพอระบบยืม คืนเสีย ห้องสมุดนั้นประกาศไม่ให้ผู้ใช้บริการยืมหนังสือไปด้วย
ซึ่งผมเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกยังไงก็ไม่รู้ ทำไมเราต้องอิงกับคอมพิวเตอร์หล่ะ

จำได้หรือเปล่าครับว่า…สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์เรายังทำงานกันได้เลย มิใช่หรือ

วิธีการแก้ง่ายๆ ที่อยากจะแนะนำสถาบันเหล่านั้นนะครับ
ง่ายมาแค่คุณจดรหัสผู้ยืม รหัสบาร์โค้ตของหนังสือ ประทับตราวันที่ยืม และประทับตราวันที่คืน
ลงกระดาษหรือไม่ก็อาจจะทำเป็นแบบหนังสือการยืม
ส่วนการคืนทำงานกว่าก็คือ ประทับตราวันที่คืน กับรหัสบาร์โค้ตของหนังสือก็เท่านั้นเอง
แต่ต้องดูเรื่องค่าปรับด้วยนะครับ แต่ถ้าดูไม่ได้ก็รอจนกว่าระบบจะใช้ได้แล้วส่งบิลแจ้งยอดให้กับผู้ใช้วันหลัง

ซึ่งพฤติกรรมของห้องสมุดที่ไม่ยอมทำงานเพราะว่าเปิดตามกระแสคอมพิวเตอร์
ผมพูดในเชิงประชดว่า คุณเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เก่งมาก
เพราะว่าพอคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้คุณก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้พักผ่อนเพราะว่าทำอะไรไม่ได้
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมว่าปิดห้องสมุดไปเถอะครับ

เพราะว่าคติของบรรณารักษ์ที่ดีคือต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
ไม่ใช่อิงความสะดวกสบายของบรรณารักษ์นะครับ

ฝากไว้ให้คิดกันนิดนึง ห้องสมุดส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าดีอยู่แล้ว
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง ค่อยๆ ปรับและหาวิธีการแก้ปัญหา และควรมีแผนงานสำรองเตรียมไว้ด้วยนะครับ

ปัญหามากมายที่รอการแก้ไข จากห้องสมุดแห่งหนึ่ง

หลังจากที่ผมได้คุยกับเพื่อนๆ ในวงการห้องสมุดหลายคน ก็รู้ว่าห้องสมุดหลายๆ แห่งมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมากมาย
ซึ่งบางปัญหาก็เกิดจากผู้บริหาร หรือบางปัญหาก็เกิดจากผู้ใช้บริการ และบางปัญหาก็เกิดจากตัวบรรณารักษ์เอง

ที่มาจาก badjonni
ที่มาจาก badjonni

วันนี้ผมมีกรณีตัวอย่างมานำเสนอ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดแห่งนี้ให้เพื่อนๆ ช่วยวิเคราะห์นะครับ

ปัญหาของห้องสมุดนี้ มีดังนี้ครับ

1. ชั้นหนังสือเต็มจนหนังสือไม่มีที่เก็บอีกแล้ว (พื้นที่มีเยอะแต่ชั้นหนังสือมีน้อย)
บรรณารักษ์ทำเรื่องขออนุมัติในการจัดหาครุภัณฑ์ไป 1 ปีกว่าๆ แล้วยังไม่ได้

2. สื่อประเภทซีดีมีมากมายในห้องสมุด แต่ไม่มีที่จัดเก็บ
แม้แต่เครื่องเล่นซีดี คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่มีในห้องสมุด

3. ในห้องสมุดไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น เวลาผู้ใช้ต้องการหาหนังสืออะไร
ก็จะเดินมาถามบรรณารักษ์อย่างเดียว หรือไม่ก็ใช้ความเคยชินเดินหาตามชั้นเอาเอง

4. บุคลากรในห้องสมุดไม่เคยถูกส่งไปเข้าร่วมงานสัมมนา อบรม ประชุมวิชาการต่างๆ เลย
จนบุคลากรบางส่วนต้องลางานเพื่อไปเข้าร่วมงานต่างๆ เอง

5. บุคลากรของห้องสมุด (บรรณารักษ์) มักจะถูกขอให้ไปช่วยงานอื่นๆ ในองค์กร
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงิน ประชาสัมพันธ์ รับสมัครนักศึกษา ฯลฯ

6. นักเรียนเอาโน้ตบุ๊คมาใช้ในห้องสมุดแต่ไม่สามารถต่อ internet ได้
เนื่องจาก wireless มีไว้ให้พนักงานในองค์กรเล่นได้อย่างเดียว

7. เวลาองค์กรจัดงานนิทรรศการ หรืองานกิจกรรมต่างๆ จะมายืมครุภัณฑ์จากห้องสมุดเป็นหลัก
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ทำให้ห้องสมุดไม่มีที่นั่งเพื่อให้บริการผู้ใช้

ฟังปัญหาของห้องสมุดนี้แล้วก็แอบเหนื่อยใจแทนนะครับ
แต่ผมก็ขอนำเสนอวิธีใการจัดการกับเรื่องเหล่านี้นะครับ

1. ทำงานเท่าที่หน้าที่ของตนรับผิดชอบ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
เราจะฝืนทำมากกว่าที่เป็นอยู่แล้วเดือดร้อนถึงเราไม่ได้ แต่ขอให้ดูว่าผู้ใช้ต้องไม่เดือดร้อนด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถึงไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้สืบค้น แต่เราก็สามารถที่จะค้นให้ผู้ใช้ได้มิใช่หรือครับ
เท่านี้นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบรรณารักษ์และผู้ใช้อีกด้วย


2. บางอย่างก็อย่าคาดหวังหากหวังมาก

เช่น คาดว่าจะได้ชั้นหนังสือเดือนหน้า เราก็จะรอคอยในสิ่งที่จะทำให้ผิดหวังได้
ให้คิดซะว่าถ้ามันมีก็ดีนะ แต่ถ้าขาดมันก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เท่านี้ก็สบายใจทั้งเรา ทั้งผู้บริหารแล้ว

3. บางอย่างเราก็คอยติดตามสอบถาม/ทวงถามบ้าง
เช่น หากชั้นหนังสือล้นออกมาเยอะมากแล้วเราก็ควรเริ่มกระตุ้นผู้บริหารได้แล้ว
ไม่ใช่ปล่อยให้มันล้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วไปคาดหวังว่าสักวันผู้บริหารจะเห็นอันนั้นมันคงเป็นไปไม่ได้กระมั้ง

4. ปล่อยวางบ้างเถอะ
บางครั้งการที่องค์กรขาดอุปกรณ์บางอย่างแล้วมาขอยืมไปจากห้องสมุดเช่น โต๊ะ เก้าอี้
หากช่วงนั้น ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องใช้ก็ปล่อยๆ ให้เขาไปเถอะแต่ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเอาไปหมดเลย
ควรจะเหลือไว้ให้ห้องสมุดสักครึ่งหนึ่งก็จะดี เพราะอย่าลืมว่าเราต้องบริการผู้ใช้ด้วย ไม่ใช่บริการองค์กรเพียงอย่างเดียว


คำแนะนำเหล่านี้ ถ้าเพื่อนๆ รับฟังมันก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจแล้วหล่ะครับ

แล้วเพื่อนๆ หล่ะคิดยังไงกับปัญหาเหล่านี้ มีแนวทางในการแก้ไขบ้างหรือปล่าวครับ

ห้องสมุดแห่งนี้อเนกประสงค์เกินไปหรือปล่าว

เพื่อนๆ หลายคนชอบบอกผมว่า อยากให้ห้องสมุดบริการทุกๆ อย่าง หรือ ประมาณว่าอเนกประสงค์เลยก็ดี
วันนี้ผมก็เลยขอเอาประเด็นห้องสมุดอเนกประสงค์ มาเล่าให้ฟังอีกที (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ นะครับ)

everything-in-library

สมมตินะครับ…สมมติ หากว่าห้องสมุดของเพื่อนๆ อเนกประสงค์แบบนี้ เพื่อนๆ ว่ามันดีหรือปล่าว

1. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นห้องเรียนได้ อาจารย์สามารถขอใช้วัสดุจากจากห้องสมุดได้
เช่น หนังสือพิมพ์เก่าๆ วารสารเก่าๆ และก็ตัดกันอย่างสนุกสนานในห้องสมุด

2. ห้องสมุดที่สามารถใช้เป็นคลังเก็บรวบรวมข้อสอบได้ โดยที่บรรณารักษ์เป็นผู้ตรวจสอบและเก็บให้
พออาจารย์หาข้อสอบเก่าๆ ไม่เจอก็มาโทษบรรณารักษ์และห้องสมุด

3. ห้องสมุดทำหน้าที่จัดกรรมการคุมสอบได้อีก อาจารย์ที่คุมสอบต้องมาลงชื่อที่ห้องสมุดในช่วงสอบ
ส่วนอาจารย์สำรองก็ต้องมานั่งรอในห้องสมุด สรุปว่าห้องสมุดทำหน้าที่ได้เหมือนหน่วยคุมสอบ

4. เวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร สามารถมายืมโต๊ะ เก้าอี้ที่ห้องสมุดได้
ส่วนผู้ที่ใช้ห้องสมุดคนอื่นก็นั่งพื้น หรือ ยืนอ่านแล้วกันนะครับ

5. เวลาปิดเทอมห้องสมุดต้องเตรียมสถานที่ไว้เพื่อใช้ในงานอื่นโดย
ต้องเก็บหนังสือออกจากชั้นและทำการจัดหนังสือใหม่ทุกครั้งเมื่อเปิดเทอม

6. เวลานักเรียนจะจบก็จะมาถ่ายรูปที่ห้องสมุดโดยใช้ห้องอ้างอิงเพื่อการถ่ายรูป
ส่วนนักเรียนที่รอถ่ายรูปก็จะเดินไปเดินมาและคิดว่าห้องสมุดเป็นตลาดซะก็สบายใจ

7. ใช้เป็นที่ลงทะเบียนของนักเรียนทุกๆ เทอม

8. ใช้เป็นสถานที่สัมภาษณ์งานของฝ่ายบุคคลด้วย โดยใช้ห้องโสตฯในการสัมภาษณ์

9. ห้องนอน ห้องพักผ่อน อยู่ที่ห้องสมุดทั้งนั้นเลย

10. และอื่นๆ อีก

ปล. บรรณารักษ์ที่ทำงานที่นี่ ไม่ได้อยากให้ห้องสมุดเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เอง
เนื่องจากนโยบายจากผู้บริหารได้มีคำสั่งออกมาเพื่อใช้ห้องสมุดในการดังกล่าวข้างต้น

เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดแบบนี้แก้ไขอย่างไร เพื่อนๆ อยากให้ห้องสมุดของเพื่อนๆ เป็นแบบนี้หรือปล่าว
สรุปแล้วที่เล่ามา เพื่อนๆ ว่าห้องสมุดอเนกประสงค์อย่างนี้ดีมั้ยครับ

คุณครูสามารถพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุดได้ แต่…

เรื่องเก่าเล่าใหม่วันนี้ ขอนำเสนอเรื่องปัญหาของห้องสมุดสถานศึกษานะครับ
หลายคนคงเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการที่คุณครูพานักเรียนมาเรียนในห้องสมุนะครับ
เอาเป็นว่าเรามาร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาดีกว่า

teacher-in-library

แต่ก่อนอื่นมาฟังเรื่องราวที่เกิดกับผมก่อนดีกว่า…

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในคาบวิชาสังคมศึกษา ของระดับชั้น…
คุณครูที่สอนในวิชานี้ได้นำนักเรียนในห้องที่สอนมาที่ห้องสมุด
และบอกกับบรรณารักษ์ว่า “จะนำนักเรียนมาหาข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อให้เด็กทำรายงาน”
โดยขอให้บรรณารักษ์ช่วยเตรียมหนังสือพิมพ์เก่าๆ ให้หน่อย เพื่อให้เด็กๆ หาข่าว และตัดข่าวได้
บรรณารักษ์ก็ได้จัดเตรียมให้ตามคำขอของคุณครูท่านนี้

หลังจากที่คุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนเสร็จ
นักเรียนก็แยกย้ายกันไปทำงานตามโต๊ะของตัวเอง

จากนั้นบรรยากาศความสนุกสนานก็เกิดขึ้น นักเรียนทำงานไปก็คุยไป ตะโกนคุยกันไปมา
จนผู้ใช้บางส่วนที่เป็นคุณครูก็เข้ามาบอกบรรณารักษ์ว่าให้ช่วยตักเตือนนักเรียนเหล่านี้หน่อย
บรรณารักษ์ก็เดินไปเตือนหลายครั้ง เตือนทีก็เงียบที พอบรรณารักษ์เดินกลับมาเสียงก็ดังอีก

ส่วนคุณครูที่มอบหมายงานให้นักเรียนนั้น ก็นั่งอ่านนวนิยายตามสบาย โดยที่ไม่เตือนลูกศิษย์กันเลย

พอหมดคาบคุณครูท่านนี้ก็เช็คชื่อนักเรียน โดยการเรียกชื่อทีละคน
ซึ่งการเรียกชื่อของคุณครูท่านนี้คงกะว่าไม่ว่านักเรียนจะอยู่ส่วนไหนของห้องสมุด ก็คงต้องได้ยิน
เนื่องจากพลังเสียงของคุณครูท่านนี้ดีมาก เรียกทีเดียวคนหันมามองทั้งห้องสมุดเลย

พอคุณครูท่านนี้พานักเรียนกลับไปแล้ว บรรณารักษ์ก็ต้องตกตะลึงอีกรอบ
คือ หนังสือพิมพ์ที่ตัดกันเกลื่อนกลาดไม่ยอมเก็บให้ด้วย ต้องให้บรรณารักษืมาตามเก็บทีหลังอีก

สำหรับความคิดของผมแล้ว การที่คุณครูพานักเรียนมาที่ห้องสมุดผมถือว่าดีนะครับ
เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใช้ห้องสมุดด้วย

แต่ถ้าคุณครูจะสอนหนังสือไปด้วย ผมว่าคุณครูกลับไปสอนที่ห้องเรียนน่าจะดีกว่านะครับ

ถ้าในห้องเรียนไม่มีหนังสือพิมพ์ ก็มาบอกกับบรรณารักษ์ได้ครับ เดี๋ยวบรรณารักษ์จัดไปส่งถึงที่เลย
อย่างน้อยห้องเรียนคงเสียงดังได้มากกว่าห้องสมุด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ
และคุณครูครับ การมอบหมายงานกรุณามอบหมายให้เสร็จในห้องเรียนไม่ใช่มามอบหมายที่ห้องสมุดครับ

ลด ละ เลิกการใช้เสียงเถอะครับไม่ต้องคิดถึงบรรณารักษ์ก็ได้
แต่อยากให้คิดถึงผู้ใช้ห้องสมุดคนอื่นๆ นะครับ

เรื่องของเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดกับห้องสมุดแห่งนี้

ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ผมเลยขอเอามาให้เพื่อนๆ ช่วยวิจารณ์กันหน่อยแล้วกัน
เนื่องจากองค์กรแห่งนี้เน้นเทคโนโลยีต่างๆ นานาในสถาบันการศึกษา แต่ไม่เคยสนใจห้องสมุด

technology-lib

แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกเน้นให้เกิดในองค์กร แต่ก็ถูกละเลยจากบุคลากรในองค์กรอยู่ดี เช่น

– การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยี VOIP แต่ก็ไม่เคยมีใครใช้
– แจก Ipod ให้บุคลากรแต่ใช้ไม่เป็น
– อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีไว้โหลดหนัง โหลดเพลง
– มีการจัดสอบวัดความรู้ด้านไอทีในองค์กร แต่สามารถส่งตัวแทนไปสอบได้
– ระบบการให้บริการด้วยเว้บไซต์ออนไลน์ แต่คนส่วนใหญ่ใช้ไม่เป็นสุดท้ายก็ต้องเดินมาที่แผนก
– เว็บไซต์องค์กรที่ไม่เคยอัพเดทเลย

นี่คือสิ่งที่องค์กรตอบสนองให้บุคลากรในหน่วยงาน แต่สิ่งที่ได้มาคือความไร้ค่ามากๆ
บ้างก็ใช้ไม่เป็น บ้างก็นำไปใช้ผิดจุดประสงค์ กลุ้มใจแทนองค์กรเลยครับ

ทีนี้หันมาดูที่ห้องสมุดบ้างดีกว่า
1. มีคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการสืบค้น (ที่โต๊ะบรรณารักษ์เท่านั้น)
2. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติเป็นระบบที่ใช้ได้เสถียรที่สุด และไม่ยืดหยุ่นให้ใคร (วันหยุดก็จะคิดค่าปรับแถมให้ด้วย)
3. เครื่องทำสำเนาของสื่อโสตฯ ทำได้ (แต่เอากลับบ้านไปทำนะบรรณารักษ์)
4. ชั้นหนังสือมีจำนวนมาก (แต่หนังสือมากกว่า)
5. มีสื่อโสตฯ มากมาย (เอากลับไปดูที่บ้านนะครับ)
6. มีเว็บห้องสมุด (แต่ต้องไปฝากคนอื่นเอาขึ้น server)

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ
แต่ขอเอาไว้เล่าให้ฟังต่อคราวหน้าดีกว่า เพราะแค่นี้ยิ่งอ่านก็ยิ่งสลดแล้ว

สุดท้ายก็ขอฝากให้เพื่อนๆ ช่วยกันคิดหน่อยนะครับว่าสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

?ผมยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา? ผมต้องเสียค่าปรับหนังสือด้วยหรอ?

นี่อาจจะเป็นเพียงปัญหาที่บรรณารักษ์เจออยู่บ่อยๆ แต่พูดอะไรไม่ได้เท่านั้น
วันนี้ผมขอนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้เพื่อนๆ แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

overdue-library

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผมเป็นบรรณารักษ์สถานศึกษาแห่งหนึ่ง
ในตอนนั้นบรรณารักษ์ของที่นี่จะถูกจำกัดตำแหน่ง คือ “เจ้าหน้าที่” ไม่ใช่ “บรรณารักษ์”
ดังนั้นอาจารย์หลายๆ คนในสถานศึกษาแห่งนี้มักจะใช้อำนาจในการต่อรองต่างๆ นานา

อาทิเช่นเรื่องการจ่ายค่าปรับที่ผมจะเล่านี้…

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นเรื่องนโยบายของห้องสมุดก่อนนะครับ
สำหรับการยืมหนังสือของอาจารย์ 1 คน ยืมได้ 10 เล่ม และได้ระยะเวลา 1 เดือน
หากคืนเกินกำหนด ก็จะต้องเสียค่าปรับ เล่มละ 5 บาท / วัน

เข้าเรื่องแล้วกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า…
มีอาจารย์แผนกหนึ่งเอาหนังสือมาคืนที่ห้องสมุด แล้วระบบแจ้งเตือนว่า “คืนหนังสือเกินกำหนด”
ซึ่งทำให้มีค่าปรับหนังสือ 15 บาท ดังนั้นบรรณารักษ์จึงจำเป็นที่จะต้องปรับอาจารย์คนนั้น

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงที่ว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ยอมจ่าย ด้วยการให้เหตุผลว่า
?ต้องปรับผมด้วยหรอครับ ในเมื่อผมก็ยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา
นี่ผมใช้เพื่อการเรียนการสอนนะ ไม่ได้เอาไปอ่านเล่นหรือเอาไปดอง?

ทางบรรณารักษ์ก็ให้เหตุผลว่ามันเป็นกฎระเบียบที่ห้องสมุดตั้งขึ้น
ถ้าจะขอยกเว้นเรื่องค่าปรับหนังสือก็ต้องเขียนหนังสือให้เหตุผลแบบเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่อาจารย์คนนี้ก็ยังไม่ยอมจ่าย หรือไม่ยอมเขียนหนังสือใดๆ
(ทั้งๆ ที่อาจารย์คนอื่นๆ เวลาทำผิดกฎเขาจะรู้ตัวเองและยอมทำตามกฎที่ห้องสมุดกำหนดไว้)

สุดท้ายอาจารย์ท่านนี้ก็ยืนยันว่าไม่จ่าย แถมยังขู่ว่าจะเอาไปฟ้องผู้บริหารขององค์กรอีก
ในข้อหา “บรรณารักษ์ปรับค่าหนังสือที่คืนกำหนดกับอาจารย์ที่นำไปใช้ในการเรียนการสอน”

สรุปค่าปรับแค่ 15 บาท อาจารย์คนนี้สามารถทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ขนาดนี้

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม

การยืมหนังสือไปใช้เพื่อการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่เหมาะสม
หากถึงวันที่กำหนดคืนแล้วยังใช้หนังสือเล่มนั้นไม่เสร็จ ก็น่าจะแจ้งห้องสมุดเพื่อต่ออายุการยืม
หรือไม่ก็ทำหนังสือมาเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่าจะมาบอกปากเปล่าว่าไม่จ่าย
เพราะทางห้องสมุดก็ต้องทำบัญชีส่งฝ่ายกการเงินเช่นกัน
หากระบบแจ้งค่าปรับกับเงินที่ส่งให้ไม่สอดคล้องกัน ห้องสมุดจะได้มีหลักฐาน

วิธีแก้ที่ผมจะขอเสนอ
สำหรับอาจารย์อย่างเดียวคือถ้าคืนหนังสือเกินกำหนด
เราจะไม่ปรับตรงบริเวณเคาน์เตอร์ยืม-คืน แต่เราจะปรับทุกสิ้นเดือน (ตัดเงินเดือนแทน)
และทุกๆ ครั้งที่เปิดเทอมใหม่หลังจากเราอบรมการใช้ห้องสมุดให้นักศึกษาแล้ว
ควรจะจับอาจารย์มาอบรมการใช้และกฎระเบียบของห้องสมุดด้วย
(ขนาดกฎเรื่องการปรับค่าหนังสืออาจารย์ยังไม่รู้เลย สมควรอบรมและชี้แจงอย่างยิ่ง)

เพื่อนๆ ว่ามีวิธีแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร หรือต้องการให้เรื่องนี้เป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะครับ

————————————————

อ่านเรื่องแนวทางการแก้ไขเรื่องค่าปรับหนังสือที่พี่โตเขียนตอบได้ ในเรื่อง “ว่าด้วยค่าปรับหนังสือ”
อ่านได้ที่ http://iteau.wordpress.com/2007/08/15/libraryfine/

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณพี่โต ที่เสนอแง่คิดดีๆ ให้พวกเราอ่านด้วยครับ

เมื่อบรรณารักษ์อย่างผมเจอกับผู้ใช้บริการหัวหมอ

วันนี้ขอเล่าเรื่องในอดีตนิดนึงนะครับ สมัยตอนที่ผมยังเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งหนึ่งอยู่
อ๋อ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ว่าเป็นห้องสมุดสถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (ลองอ่านประวัติผมดูจะรู้ว่าที่ไหน)
ผมก็พบเจอกับผู้ใช้บริการห้องสมุดหลากหลายรูปแบบ (อาจารย์ นักศึกษา พนักงาน เจ้าหน้าที่) วันนี้เป็นเพียงเคสหนึ่งเท่านั้น

userlibrary

ผู้ใช้หัวหมอ คือ ผู้ใช้บริการที่ฉลาดแกมโกง มีความรู้แต่มักใช้ในทางที่ผิด
เมื่อเข้ามาใช้บริการทีไรก็มักจะหาเรื่องปวดหัวมาให้เหล่าบรรณารักษ์ประจำ

ผู้ใช้หัวหมอที่ผมมักจะพบประจำ คือ นักศึกษา ครับ

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

เพื่อนๆ เคยได้ยินประโยคนี้หรือไม่
ผมเอาหนังสือมาคืนแล้วจริงๆ นะครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า…วันหนึ่งนักศึกษา ก. ก็เข้ามาที่ห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือ
แต่ผมไม่สามารถให้ยืมได้เนื่องจากระบบมีข้อความเตือนว่า “ยังมีหนังสือค้างส่ง”
ผมจึงทวงถามถึงหนังสือเล่มดังกล่าว แต่นักศึกษาบอกว่านำมาคืนแล้ว
ผมจึงได้ให้นักศึกษาไปหาหนังสือบนชั้นหนังสือแล้วนำมาแสดงเป็นหลักฐาน

ผ่านไป 10 นาที นักศึกษากลับมาพร้อมกับหนังสือดังกล่าว แล้วพูดว่า
?ก็บอกแล้วว่าคืนแล้วก็ไม่เชื่อ ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเลยนะครับคุณบรรณารักษ์?

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมโดนผู้ใช้ตำหนิว่าไม่รอบคอบ
แต่ก็เอาเถอะครับผมคงไม่รอบคอบเอง เลยถูกผู้ใช้ตำหนิซะบ้าง

แต่ผมก็ยังมีเรื่องที่สงสัยหลายเรื่อง เช่น
– ระบบห้องสมุดในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
– หนังสือที่มาคืนทุกเล่มผมต้องเพิ่มสัญญาณในแถบแม่เหล็ก แต่เล่มนี้กลับยังไม่ได้เพิ่ม

(ผมทดลองหยิบหนังสือเล่มนี้เดินผ่านประตูจับสัญญาณ)

แต่เอาเถอะครับ บรรณารักษ์มือใหม่อย่างผมอาจจะพลาดเองก็ได้

อีกหลายสัปดาห์ต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันกับคนๆ เดิมอีกแล้ว
นักศึกษาคนนี้มาขอยืมหนังสือ และระบบก็เตือนอีกแล้วว่ายังมีหนังสือค้างส่ง
ผมจึงต้องทวงถามไปตามปกตินั่นแหละครับ ซึ่งนักศึกษาก็บอกว่าคืนไปแล้ว “ระบบมั่วปล่าว
วิธีเดิมครับ ถ้าคืนแล้วก็ต้องอยู่ที่ชั้น ผมจึงบอกให้เด็กคนนี้ไปหาที่ชั้นอีกที

หลังจากที่เด็กคนนี้เดินไปสักพัก ผมก็เดินตามไปแบบเงียบๆ

สุดท้ายผมก็พบความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้
นั่นคือ “นักศึกษาคนนั้นเดินไปที่ชั้นหนังสือ สักพักก็หยิบหนังสือที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าออกมา

พอเขาหันหลังกลับมา ก็เห็นผมยืนอยู่ข้างหลังก็ตกใจเล็กน้อย
แล้วก็ยังหยิบหนังสือมาโชว์ผมอีกว่า “นี่ไงหาเจอแล้ว
ผมก็เลยบอกไปว่ามา “ยืนดูอยู่นานแล้ว…

เอาเป็นว่าผมคงไม่ลงโทษอะไรมากมายหรอกครับ แค่ทำเรื่องส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาก็เท่านั้น

เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ อ่านแล้วรู้สึกยังไง มีใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างมั้ยครับ
เอาเป็นว่าเล่าสู่กันฟังครับ แล้วหาทางแก้ไขกันดีกว่า…