การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิลสู่การประยุกต์ในห้องสมุด

เมื่อวันก่อนที่ผมแนะนำหนังสือ “ประสบการณ์แอปเปิล (The Apple Experience)” ซึ่งหนังสือเล่มนี้อย่างที่ผมบอกอ่ะครับว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย วันนี้ผมจึงขอนำเสนอสักเรื่องที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเข้ากับงานห้องสมุดและบรรณารักษ์


โดยตัวอย่างที่ผมยกมานี้ เป็นเพียงบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “ทำตามการให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล” อยู่ในภาคที่สอง

มองในมุมที่ “แอปเปิล” เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจดังนั้นเรื่องการให้บริการลูกค้ามีความสำคัญมากๆ ซึ่งการที่ห้องสมุดอยู่ในฐานะของการให้บริการความรู้นั้น ผมก็มองว่าถ้าเราเน้นการให้บริการแบบเชิงรุกและเน้นผู้ใช้บริการ มันก็จะทำให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดประทับใจเช่นกัน (บทความนี้ผมว่าบรรณารักษ์ที่อยู่ในฝ่ายบริการและเคาน์เตอร์ควรอ่านมากๆ)

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล (APPLE) มีดังนี้
A – Approach – เข้าไปหาลูกค้าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบส่วนตัว
P – Probe – สอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างสุภาพ
P – Present – นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านในวันนี้
L – Listen – รับฟังและแก้ไขปัญหาตลอดจนความกังวลของลูกค้า
E – End – จบด้วยการร่ำลาอาลัยและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่

เพื่อนๆ เคยเจอประโยคเล่านี้หรือไม่
“โอกาสหน้าเชิญใหม่นะครับ / ค่ะ” “รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มหรือเปล่าครับ / ค่ะ”
ประโยคส่งท้ายและเชื้อเชิญลูกค้าให้กลับมา สิ่งนี้แหละที่ห้องสมุดน่าทำบ้าง

“แอปเปิล” นำเสนอมาบางข้อห้องสมุดก็ทำอยู่แล้ว เอาเป็นว่าลองมาดูกันดีกว่าครับว่าถ้าจะนำมาใช้ จะใช้อย่างไรดี

การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิล (APPLE) สู่การประยุกต์ใช้ในห้องสมุด

ข้อที่ 1 เข้าไปหาลูกค้าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบส่วนตัว
การสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการเมื่อแรกพบเป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยเบื้องต้นแล้วรอยยิ้มถือว่าสำคัญมากๆ เมื่อผู้ใช้เดินเข้ามาในห้องสมุดการทักทายผู้ใช้บริการ เช่น “สวัสดีครับ ห้องสมุดยินดีให้บริการ” “ห้องสมุดยินดีต้อนรับครับ” คำทักทายแบบเป็นกันเองจะทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ไม่เครียดและสามารถพูดคุยและตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ลองคิดนะครับ “ถ้าเราเป็นผู้ใช้บริการแล้วเดินเข้ามาที่ห้องสมุดเจอบรรณารักษ์ทำหน้ายักษ์ใส่เราจะกล้าถามอะไรมั้ย” เอาเป็นว่าการสร้างความประทับใจเบื้องต้นของผมที่จะแนะนำคือ “รอยยิ้ม” ครับ

ข้อที่ 2 สอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างสุภาพ
ผู้ใช้บริการบางท่านเมื่อเข้ามาที่ห้องสมุดเขาอาจจะต้องการความรู้หรือคำตอบอะไรสักอย่าง การทีบรรณารักษ์เป็นคนเปิดคำถามถามผู้ใช้บริการ ผมว่ามันก็สมควรนะครับ ผู้ใช้บริการบางท่านเป็นคนขี้อาย (ผมก็เป็นนะไม่กล้าเดินมาถามบรรณารักษ์) บรรณารักษ์ที่ต้อนรับจากข้อที่ 1 เมื่อยิ้มแล้วลองถามผู้ใช้บริการดูว่า “ต้องการมาค้นเรื่องอะไรครับ” “อยากทราบเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือปล่าว” ผู้ใช้ก็จะบอกความต้องการกับเราเอง อันนี้ผมว่าน่าสนใจดีครับ

ข้อที่ 3 นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ลูกค้านำกลับไปใช้ที่บ้านในวันนี้
ถ้าผู้ใช้บริการถามถึงสิ่งที่ไม่มีในห้องสมุด บรรณารักษ์สามารถหาข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ใช้บริการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น ผู้ใช้บริการต้องการงานวิจัยจากต่างประเทศแล้วห้องสมุดของเราไม่มี และพอจะรู้ว่าในฐานข้อมูล สกอ. ก็สามารถแนะนำหรือแนะให้ไปค้นที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็ได้ สรุปง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์ห้ามตอบว่าไม่รู้หรือไม่ทราบเด็ดขาด แม้แต่เรื่องที่ไม่รู้จริงๆ ก็ต้องค้นคำตอบจากอินเทอร์เน็ตหรือบอกกับผู้ใช้ว่าจะหาคำตอบมาให้ในโอกาสหน้า

ข้อที่ 4 รับฟังและแก้ไขปัญหาตลอดจนความกังวลของลูกค้า
ผู้ใช้บางท่านอาจจะไม่รู้จริงๆ ว่าต้องการหนังสืออะไร เช่น พ่อแม่มือใหม่อาจต้องการคำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูก บรรณารักษ์ควรจะรับฟังปัญหาและสามารถแนะนำหนังสือที่มีในห้องสมุด หรือแนะนำแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมให้กับพ่อแม่มือใหม่เหล่านั้นได้ ข้อนี้ต้องบอกตรงๆ ครับว่า บรรณารักษ์ยุคใหม่ไม่ใช่แค่คนค้นหนังสือตามที่ผู้ใช้ต้องการแล้ว แต่ต้องสามารถเลือกหนังสือที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้

ข้อที่ 5 จบด้วยการร่ำลาอาลัยและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่
เมื่อทักทายแล้วก็ต้องมีการบอกลาประโยคบอกลาผู้ใช้บริการและเชิญชวนให้เขากลับมาใช้บริการใหม่ อาจจะเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ผมว่ามันเป็นการใส่ใจรายละเอียดที่ผู้ใช้บริการก็ต้องการเช่นกัน

สรุปขั้นตอนจากเรื่องนี้ (การให้บริการแบบ 5 ขั้นตอนของแอปเปิลสู่การประยุกต์ในห้องสมุด)
ทักทายต้อนรับ – ถามความต้องการ – แนะนำหนังสือให้ผู้ใช้ – แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ – อำลาและเชื้อเชิญให้กลับมาใหม่

เอาเป็นว่าบางข้อผมว่าเพื่อนๆ ก็ทำอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ลองเอามาปรับและเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับบริบทของห้องสมุดดูแล้วกันนะครับ

ตัวอย่างกิจกรรมห้องสมุดโรงเรียน : ครูดีเด่นกับการใช้ห้องสมุด

ขวัญและกำลังใจของผู้ใช้บริการห้องสมุดโรงเรียนเล็กๆ น้อย คงจะเป็นรางวัลผู้เข้าใช้บริการดีเด่น ซึ่ง หลายๆ โรงเรียนมักจะแจกรางวัลนี้ให้กับนักเรียนเป็นหลัก “นักเรียนที่ยืมหนังสือมากที่สุด” “นักเรียนที่เข้าห้องสมุดบ่อยที่สุด” วันนี้ผมขอนำเสนอผู้ใช้บริการอีกกลุ่มที่เราควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน”

ตัวอย่างกิจกรรมวันนี้ผมบังเอิญเห็นใน Facebook ดังภาพ

กิจกรรมนี้มาจาก “ห้องสมุดโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย”
ชื่อกิจกรรม “15 อันดับครูที่เข้าใช้ห้องสมุดโรงเรียนเป็นประจำ”

ดูไปแล้วเพื่อนๆ อาจจะรู้สึกว่ามันธรรมดา ห้องสมุดไหนๆ เขาก็แจกรางวัลประมาณนี้กัน
แต่ข้อสังเกตที่ผมขอตั้งไว้ให้คิด คือ การประกาศเกียรติคุณโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ครับ

ลองอ่านชื่อประกาศและรายละเอียดของประกาศดูนะครับ
ผมรู้สึกว่าแม้จะเป็นเพียงประกาศผ่านโลกออนไลน์แต่ในความรู้สึกของผู้ที่มีรายชื่อในนั้น
บอกตรงๆ ครับ ถ้ามีชื่อผมอยู่บนนั้น “ผมโคตรภูมิใจเลย” “มันวิเศษมากๆ เลย”

ยังไม่หมดครับสังเกตด้านขวามือนะครับ มีการ tag ไปให้ครูที่ได้รับรางวัลด้วย
ซึ่งนั้นหมายความว่าประกาศฉบับนี้ก็จะอยู่บนหน้า Facebook ของผู้ถูกประกาศอีก

นอกจากนั้นก็มีประกาศนียบัตรและพิธีรับมอบรางวัลจากผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย (ในที่นี้คือภารดา)

นอกจากรางวัลหรือประกาศนียบัตรที่มอบให้กับนักเรียนแล้ว
ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการศึกษาด้วย “เยี่ยมจริงๆ ครับ”

เมื่อครูได้รับรางวัลนี้แล้ว ผมเชื่อว่าคุณครูเหล่านี้เองที่จะมีส่วนช่วยเหลือห้องสมุดในด้านต่างๆ หรือแม้กระทั่งอาจจะปลูกฝังนิสัยการรักการอ่านและการใช้ห้องสมุดให้เด็กๆ ที่คุณครูได้สอนต่อไป


เอาเป็นว่าตัวอย่างกิจกรรมดีๆ แบบนี้ผมจะหาและนำมาเล่าให้เพื่อนๆ อ่านต่อไปครับ !!!

ผู้ใช้บริการต้องการอะไรจาก App. ของห้องสมุด (Library Mobile App.)

วันนี้ผลขอนำเสนอข้อมูลจาก Library Journal เกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้ใช้บริการที่เกี่ยวกับโปรแกรมของห้องสมุดบนอุปกรณ์สื่อสารไร้สายไม่ว่าจะเป็น Smartphone หรือ Tablet

บทความนี้จริงๆ แล้ว เป็นบทความที่พูดถึงเรื่องสถานะและทิศทางของอปุกรณ์สื่อสารไร้สายต่างๆ กับห้องสมุด
ซึ่งจริงๆ เป็นบทความที่ยาวมาก แต่ผมขอคัดออกมาเป็นบางตอนเท่านั้น (อ่านเรื่องเต็มจากที่มาด้านล่างบทความนี้ครับ)

ผลสำรวจสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการจาก โปรแกรมห้องสมุดบนอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย (Library Mobile App.)

ผลสำรวจจากภาพเราสรุปได้ง่ายๆ เลยว่า สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการจาก Mobile App. คือ

– ฟังค์ชั่นการค้นหาหนังสือออนไลน์ (Library Catalog)
– ฟังค์ชั่นการขยายเวลาการยืม หรือ การต่ออายุเวลาการยืมหนังสือ
– ฟังค์ชั่นการจองหนังสือหรือสื่อที่ต้องการ
– ฟังค์ชั่นแนะนำหนังสือใหม่หรือสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ
– ข้อมูลที่เกี่ยวกับห้องสมุดหรือค้นหาห้องสมุดที่อยู่ใกล้ๆ
– ฟังค์ชั่นการวิจารณ์หนังสือ (Review book)
– ฟังค์ชั่นการจัดการข้อมูลส่วนตัว (ประวัติการยืมคืน)
– ฟังค์ชั่นการยืมหนังสือด้วยตัวเอง (ยิงบาร์โค้ตเองได้)
– ฟังค์ชั่นการค้นหาคนอื่นๆ ที่ชอบอ่านหนังสือแนวๆ เดียวกัน
– ฟังค์ชั่นการค้นหาบทความและการเข้าถึงฐานข้อมูลที่ห้องสมุดบอกรับ
– ฟังค์ชั่นการดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)
– ฟังค์ชั่นการดาวน์โหลดหนังสือเสียง (Audio-Book)

เป็นยังไงกันบ้างครับตรงกับสิ่งที่เพื่อนๆ ต้องการด้วยหรือปล่าว

จากบทความนี้เราคงเห็นแล้วว่าความคาดหวังของผู้ใช้เริ่มมีมากขึ้น ดังนั้นการทำงานของบรรณารักษ์ในยุคปัจจุบันอาจจะต้องมีการปรับตัวอย่างเร็ว พอๆ กับความต้องการของผู้ใช้ที่มีความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

เอาเป็นว่าก็เอาใจช่วยนะครับ พี่น้องชาวบรรณารักษ์

ที่มาของบทความนี้ http://www.thedigitalshift.com/2012/02/mobile/the-state-of-mobile-in-libraries-2012/

ห้องสมุดจะเพิ่มการบริการให้กับผู้ใช้กลุ่ม “ซอมบี้” ในปี 2017

เพื่อนๆ รู้จัก “ซอมบี้ (Zombie)” กันมั้ยครับ ที่ผมเขียนบล็อกเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่ว่าผมอยากจะแนะนำเพลงโปรดของผมหรอกนะครับ แต่ “ซอมบี้” ที่ผมหมายถึง นั่นหมายความถึง “ศพเดินได้” นั่นเอง

ในช่วงแรกๆ เราคงจะจินตนาการถึงความน่ากลัวของ “ซอมบี้” ได้มากมาย หลังจากที่ได้ดูถาพยนตร์ เรื่อง “ผีชีวะ (Resident Evil)” หรือเกมส์ Resident Evil ที่ให้เรายิงปืนฆ่า “ซอมบี้” กัน

ในช่วงสองถึงสามปีนี้เราพบว่า “ซอมบี้” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดแล้ว เพราะ “ซอมบี้” เองออกมาปรากฎตัวในเกมส์ ชื่อ Plants vs. Zombies ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติความน่ากลัวของ “ซอมบี้อย่างแท้จริง” เพราะจากเกมส์เราจะเห็นว่าดอกไม้หรือต้นไม้สามารถเอาชนะ “ซอมบี้” ได้ โหน่ากลัวกว่าอีก

เอาหล่ะครับมาเข้าเรื่องกันดีกว่า เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าในวันนี้จริงๆ แล้วก็ คือ
เรื่อง “ห้องสมุดจะเพิ่มการบริการให้กับผู้ใช้กลุ่มใหม่ “ซอมบี้” ในปี 2017″
ซึ่งเป็นวีดีโอที่จัดทำขึ้นโดย Rapid City Public Library

ซึ่งในวีดีโอได้กล่าวถึงการให้บริการของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดกับผู้ใช้บริการที่เป็น “ซอมบี้”
(ซอมบี้ หมายถึง ศพเดินได้ และพูดได้แค่คำเดียว คือ Brain–)

เราไปดูวีดีโอนี้กันดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=5Md4ELD4tAA[/youtube]

จริงๆ แล้ว “ซอมบี้” มีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ brainnnnn “ซอมบี้จะกินแต่สมอง” ซึ่งในการประชุม conference ของวงการห้องสมุดครั้งหนึ่งก็มีการพูดแบบติดตลกว่า ผู้ใช้บริการที่เข้ามาห้องสมุดก็เพื่อมาหาความรู้ เหมือนการกินสมองของ “ซอมบี้” นั่นแหละ และนี่เองเป็นที่มาของเรื่องในวันนี้

สมมุติฐานของการทำคลิปวีดีโอนี้
1. อาจจะต้องการโปรโมต pathfinder หรือ SubjectGuide หัวข้อเรื่องของ “ซอมบี้” ก็ได้ เพราะมีทิ้งท้ายเรื่องนี้ให้ด้วยที่ http://zombiespathfinder.weebly.com/

2. อาจจะเป็นการสังเกตเห็นพฤติกรรมของคนบางลักษณะที่วันๆ เล่นคอมหรือนอนดึกดื่น เวลามาเข้าใช้บริการก็จะมีหน้าตาหมองๆ คล่ำๆ และบางทีอาจจะพูดไม่รู้เรื่องเหมือน “ซอมบี้” ซึ่งในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการ เราก็ต้องให้บริการถึงที่สุดเช่นกัน


เอาเป็นว่าที่เขียนมานี้ก็ไม่ได้จะล้อเลียนหรอกนะครับว่าจะมีผีมาใช้ห้องสมุดจริงๆ
ที่เอามาลงให้อ่านเพราะอยากให้เห็นเทคนิคการนำเสนอของห้องสมุดในต่างประเทศ
ว่ามีไอเดียที่เฉียบขาด และนำเสนอได้น่าสนใจพอสมควร

เว็บไซต์ของ Rapid City Public Library คือ http://www.rcgov.org/Library/
และ Youtube Channel ของ Rapid City Public Library คือ http://www.youtube.com/user/rapidcitylibrary

แนวคิดการออกแบบห้องสมุด – 10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด

วันนี้ขอนำบทความเก่าจากบล็อกเดิม projectlib มาเล่าใหม่สักนิดนะครับ
เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้บริการห้องสมุดเยอะมาก

เรื่องๆ นี้ต้นฉบับมาจากเรื่อง “10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด (แนวความคิดในการออกแบบห้องสมุด)
ซึ่งผมแปลมาจากบทความ “Ten Things About What People Want

ซึ่งบทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อปี 2008 นะครับ โดย PLA (สมาคมห้องสมุดประชาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้ ALA

ดังนั้นแน่นอนครับว่าเป็นบทความที่เหมาะกับห้องสมุดประชาชนมากๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดประชาชนเป็นหลัก
โดยดึงรายละเอียดมาจากความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชน
บทความนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดแล้ว ผมขอแนะนำให้นักออกแบบอาคารได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ด้วย

10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด มีดังนี้

1. Comfortable places (soft furniture, fireplaces, lights)
สถานที่ต้องสะดวกสบาย เช่น มีการจัดเฟอร์นิเจอร์สวยงาม มีแสงไฟสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก

2. Meeting rooms and study rooms
มีห้องประชุมกลุ่ม และห้องที่สามารถใช้ศึกษาร่วมกันได้

3. Supported services (self-check out, drive-up windows, outside pick-up lockers)
มีการสนับสนุนในงานบริการต่างๆ เพื่อความสะดวกของตัวผู้ใช้ เช่น บริการยืมคืนด้วยตัวเอง, ที่ฝากของหรือตู้ล็อกเกอร์เก็บของ

4. Food service (Vending is more practical than coffee shops)
มีบริการในส่วนอาหาร โดยอาจจะแยกมุมให้บริการต่างหาก

5. Multi-functional children’s areas (with special sized doors, murals)
มีมุมเพื่อกาศึกษาสำหรับเด็ก เช่น หนังสือเด็ก ของเล่นเด็ก

6. Teen friendly areas
มุมสำหรับวัยรุ่น (ไม่ต้องคิดลึกนะครับ มุมนี้เป็นมุมสำหรับทำกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ร่วมกัน เช่น มีการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น ฉายหนังในวันหยุดสุกสัปดาห์)

7. Retail-oriented merchandising (bookstore-like open face shelving)
นอกจากยืมคืนหนังสือ หรือบริการอ่านแล้ว ห้องสมุดควรมีส่วนที่เป็นการค้าด้วย เช่น ขายหนังสือที่น่าสนใจ หรืออุปกรณ์อื่นๆ

8. Technology (unobtrusive stations, wireless patios, RFD checkout)
เทคโนโลยีในห้องสมุดก็ต้องมีความทันสมัยตามยุค หรือตามสังคมให้ทัน เช่นมีบริการ wifi, ใช้ชิป rfid

9. Good way finding (more than just good signs – good paths)
มีวิธีเพื่อช่วยให้ผู้ใช้หาหนังสือได้เร็วขึ้น เช่น ทำป้ายบอกหมวดหมู่ติดตามชั้นหนังสือให้ชัดเจน บอกรายละเอียดครบถ้วน

10. Sustainable environment (energy efficiency, green materials, pollution free)
ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น มุมไหนที่มีผู้ใช้น้อยก็อาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง บางที่ผมเคยเห็นว่าเครื่องใช้บางอย่างใช้แผงโซล่าห์เซลล์ด้วย

เป็นยังไงกันบ้างครับ ห้องสมุดที่เพื่อนๆ ทำงานอยู่มีลักษณะตามนี้หรือปล่าว
ถ้ามีนั่นก็หมายความว่า ท่านมีสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าไม่มีก็ลองดูสิครับว่าจะทำอะไรได้บ้าง (10 สิ่งนี้ห้องสมุดอาจจะไม่ต้องมีทั้งหมดก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรเป็นหลักครับ)

ที่มา http://plablog.org

ตัวแทนคนในยุคดิจิทัล อยากบอกสิ่งที่ต้องการจากห้องสมุด

ภาวะน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ทำให้หลายๆ คนเครียดและหลายๆ คนก็ประสบปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่ห้องสมุดที่ทำงานหรือท่วมที่พักอาศัย หรือไม่ได้ท่วมแต่หาของกินลำบาก

เอาเป็นว่าผมก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้นะครับ

วันนี้ผมเองก็ได้รับอีเมล์จากเพื่อนชาวต่างชาติคนนึง เขาถามถึงปัญหาน้ำท่วมในไทย
ซึ่งรวมถึงถามเกี่ยวกับห้องสมุดที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมด้วย

เพื่อนผมเลยส่งคลิปวีดีโอนี้มาให้ดูแบบขำขำคลายเครียด
ซึ่งเป็นคลิปวีดีโอที่พูดถึง “ในยุคดิจิทัลแบบนี้คนต้องการอะไรจากห้องสมุด”

ไปดูคลิปวีดีโอกันได้เลยครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=7_zzPBbXjWs[/youtube]

คลิปวีดีโอนี้เป็นคลิปที่ถูกเปิดในงาน VALA 2010 ภายในคลิปวีดีโอนี้เพื่อนๆ จะพบกับสาวน้อย Abbey (เด็กอายุ 3 ขวบ) ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัล เธอจะมาพูดให้ฟังว่าเธอต้องการอะไรจากห้องสมุดของเธอ

สรุปสิ่งที่คนในยุคดิจิทัลอยากได้จากห้องสมุด
– ห้องสมุดออนไลน์
– สื่อมัลติมีเดียมากๆ
– บริการที่รวดเร็วและง่าย
– อยากแชร์สิ่งที่ต้องการให้คนอื่นได้รู้ด้วย (อยากบอกต่อ)
– บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ (iphone)
– อ่านหนังสือผ่าน Ebook reader
– Mash up content
– Sematic search
– ข้อมูลแบบ real time
– เทคโนโลยี AR (Augmented Reality)
– ระบบ tagging
– ระบบโต้ตอบด้วย Touch screen

เอาหล่ะครับ ได้ดูแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
สำหรับผมต้องขอบอกก่อนว่าแอบอึ้งมากๆ ที่เด็ก 3 ขวบสามารถพูดได้ขนาดนี้
จริงๆ แล้วผมก็คิดว่าคงมีคนเขียนบทให้เด็กอ่านแน่ๆ เพราะไม่งั้นน้องเขาคงพูดแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ
แต่ก็เอาเถอะครับ อย่างน้อยที่น้องเขาพูดก็เป็นสิ่งที่คนในยุคดิจิทัลต้องการจริงๆ

เอาเป็นว่าก็ขอฝากให้ดูแล้วกันครับ

ผู้ใช้บริการขอบอก : ห้องสมุดการแพทย์ที่ถูกใจผู้ใช้บริการ

สรุปหัวข้อที่เจ็ดของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
หัวข้อ คือ ห้องสมุดการแพทย์ที่ถูกใจผู้ใช้บริการ (Use the Medical Library ? : Resident)
วิทยาการโดย นายแพทย์ภัทรกานต์ สุวรรณทศ นักศึกษาแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลเลิศสิน

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ผมรู้สึกว่าฟังสบายที่สุดแล้วสำหรับการฟังสัมมนาวันนี้
เพราะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในการใช้ห้องสมุดการแพทย์ในมุมมองของผู้ใช้บริการ
อย่างที่บอกอ่ะครับว่าฟังง่าย แต่หัวข้อนับว่าเป็นประโยชน์เลยทีเดียว

วิทยากรได้นำภาพบรรยากาศในห้องสมุดการแพทย์มาให้พวกเราดู โดยเน้นที่รูปหนังสือเล่มใหญ่ๆ (หนังสือด้านการแพทย์ส่วนใหญ่เล่มใหญ่ หนา และหนัก) ทำให้ผู้ใช้บริการหลายคนไม่นิยมที่จะยืมหนังสือเหล่านี้ออกจากห้องสมุด ปัจจุบันนักศึกษาแพทย์หลายคนนิยมใช้ Ipad บ้าง Ebook reader บ้าง เพื่อที่จะใช้อ่าน E-book วิทยากรได้โชว์ว่าในเครื่องคอมตัวเองก็เก็บหนังสือ e-book มากมาย ราวๆ 400 กว่าเล่ม นี่ก็เป็นส่วนนึงที่อยากแสดงให้เห็นว่า “ใครจะไปแบกหนังสือในห้องสมุดบ้าง”

แล้วตกลง “มีห้องสมุดการแพทย์ไว้ทำไม” วิทยากรได้แบ่งการใช้งานห้องสมุดการแพทย์ออกมาเป็น 2 ส่วน คือ
– ใช้ในแง่แหล่งข้อมูล เช่น หนังสือ วารสาร ฐานข้อมูล e-book ฯลฯ
– ใช้ในแง่ส่วนตัว เช่น พักผ่อน นัดพบ หาความรู้เพิ่มเติม

ห้องสมุดการแพทย์ในฝันตามสไตล์นักศึกษาแพทย์

1 การเป็นแหล่งข้อมูล (อันนี้เน้นการให้บริการทางเว็บไซต์ หรือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้) โดยห้องสมุดจะต้องมีฟีเจอร์เพิ่มเติม คือ

1.1 ระบบการค้นหาที่ใช้ง่าย และค้นหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 ระบบการสะสมองค์ความรู้ จัดเก็บข้อมูลได้เป็นระบบ
1.3 ระบบการสร้าง สามารถสร้างองค์ความรู้ หรือ มีพื้นที่ในการเขียนเรื่องต่างๆ ในเว็บห้องสมุด
1.4 ระบบการเผยแพร่ ถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้เพื่อให้ผู้อื่นได้อ่านและแสดงความคิดเห็นได้

2 สื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ เช่น

2.1 ไฟล์วีดีโอทางด้านการแพทย์ เช่น การผ่าตัด การรักษาเฉพาะที่ ฯลฯ
2.2 ไฟล์ภาพทางด้านการแพทย์ เช่น ภาพการวินิจฉัยโรคต่างๆ ฯลฯ
2.3 ไฟล์ฟิล์มภาพ X-ray เช่นภาพกระดูดหัก กระดูแตก กระดูกคต ฯลฯ

3 บรรยากาศภายในห้องสมุด

3.1 สถานที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้
3.2 สถานที่เงียบสงบ

4 ส่วนสนับสนุน

4.1 หนังสือพิมพ์
4.2 วารสาร
4.3 อินเทอร์เน็ตไร้สาย

5 อื่นๆ

5.1 ห้องน้ำ
5.2 ห้องอาหาร

นี่ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้ใช้บริการ หากเราสามารถทำตามความต้องการของผู้ใช้บริการได้ ห้องสมุดก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ตลอดไป นั่นแหละครับ

คลิปวีดีโอพบรักกันในห้องสมุด (Love in the library)

วันนี้เจอคลิปวีดีโอนึงที่เกี่ยวกับห้องสมุดแถมยังเป็นคลิปวีดีโอที่น่ารักมากๆ เลย
เป็นเรื่องราวของผู้ใช้บริการห้องสมุดที่มาพบรักกันในห้องสมุด วิ้วๆ โรแมนติกน่าดู

เรื่องย่อๆ ของคลิปวีดีโอนี้ คือ ประมาณว่าผู้ใช้บริการห้องสมุดสองคนที่ต่างคนต่างเดินเข้ามาในห้องสมุดตามลำพัง และใช้เวลาในการอ่านหนังสือในห้องสมุด ด้วยความบังเอิญที่ทั้งคู่เดินชนกันและพบกัน ทำให้เกิดตกหลุมรักซึ่งกันและกัน เรื่องราวจะจบด้วยความสุขขนาดไหนไปดูกันเองนะ

ชมวีดีโอพบรักกันในห้องสมุด (Love in the library)

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=cjrKYICOzbE[/youtube]

เป็นไงบ้างครับ น่ารักหรือปล่าว นอกจากวีดีโอที่ผมจะชอบแล้ว
เพลงประกอบวีดีโอตัวนี้ผมก็ชอบด้วยเช่นกัน ชื่อเพลง close to you โดย Karen Mok

เอาเป็นว่าวีดีโอนี้ก็เอามาให้ชมกันแบบเพลินๆ แล้วกันนะครับ
นอกจากนี้ขอเป็นกำลังใจให้คนที่ยังไม่มีความรักด้วย (ลองไปห้องสมุดบ่อยๆ สิครับ อาจจะเจอความรักแถวๆ นั้นก็ได้)

ปล. แถมเพลงนี้ให้ดีกว่า ฟังได้ที่ด้านล่างนี้นะครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Z49HJH07U5k[/youtube]

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าใช้ห้องสมุดมากที่สุด คือ…

ก่อนถึงวันจันทร์วันที่แสนน่าเบื่อ ผมขอเขียนเรื่องเบาๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมากมายให้เพื่อนๆ อ่านแล้วกัน
เรื่องวันนี้ผมขอตั้งเป็นแบบสอบถามแล้วกัน เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าใช้ห้องสมุดมากที่สุด คือ…
ว่าเพื่อนคิดว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าใช้ห้องสมุดมากที่สุดคืออะไร

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าใช้ห้องสมุดมีมากมาย ซึ่งหากห้องสมุดเข้าใจผู้ใช้บริการ
เพื่อนๆ ก็สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้และปรับปรุงห้องสมุดและดึงดูผู้ใช้บริการได้
ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาห้องสมุดของเพื่อนๆ นั่นเอง

ผมอยากขอความร่วมมือจากเพื่อนๆ (ทุกสาขาวิชาชีพ) ช่วยกันตอบแบบสอบถามนี้ด้วยนะครับ

แบบสอบถาม : ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าใช้ห้องสมุดมากที่สุด คือ…

[poll id=”19″]

ผมขอตอบประเดิมเป็นคนแรกแล้วกัน …. ผมขอเลือกบรรณารักษ์กับความเอาใจใส่ในงานบริการ
เพราะหากบรรณารักษ์ปรับปรุงตัวเองได้ ตัวบรรณารักษืเองก็จะพัฒนางานต่างๆ ในห้องสมุดไม่ว่าจะเป็น
การสร้างบรรยากาศในการอ่าน การจัดกิจกรรมต่างๆ และบริการด้วยใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการพอใจครับ

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คิดยังไงก็ลองเลือกคำตอบกันดูนะครับ ใครมีความเห็นเพิ่มเติมก็สามารถเสนอได้ครับ

ปัญหาที่เกิดในห้องสมุด “คืนหนังสือแล้วยืมต่อไปเรื่อยๆ”

วันนี้ผมขอยกปัญหานึงที่เคยเจอตอนทำงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยมาให้อ่าน
เกี่ยวกับเรื่องการต่ออายุการยืมหนังสือ (Renew Book) นั่นเอง
ดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเพื่อนๆ เจอการต่ออายุหนังสือเล่มเดิมสัก 10 ครั้ง มันก็คงไม่ปกติแล้ว

renew-book

บรรณารักษ์ในสถาบันอุดมศึกษาน่าจะเคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้
เหตุการณ์ที่อาจารย์ในสถาบันมายืมหนังสือในห้องสมุด แล้วพอถึงเวลาคืนก็มาต่ออายุการยืม
ฟังดูธรรมดา… แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อการต่ออายุเกิดอย่างต่อเนื่องจนเสมือนกับจะยืมหนังสือกันตลอดชีวิต

นั่นคือเหมือนครบกำหนดก็มาคืน แล้วก็ยืมต่อ อาจารย์ทำแบบนี้สักสามครั้งนี้ก็เท่ากับหมดหนึ่งเทอมไปเลย
แต่แค่หนึ่งเทอมอาจจะให้อภัยได้ แต่ช่วงปิดเทอมก็ยืม เปิดเทอมใหม่ก็ยืม (หนังสือเล่มเดิม)

คงกะว่าหนังสือเล่นนั้นไม่มีใครจยืมมั้งครับ อาจารย์ก็เลยหวังดีแบบนี้

ถ้าแค่เล่มเดียวหรือสองเล่มก็ยังไม่เท่าไหร่
นี่อาจารย์แกเล่นยืมไปหกเล่ม แล้วดันไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเขายืมเลย

เพื่อนๆ ว่าปัญหาแบบนี้ บรรณารักษ์อย่างพวกเราควรทำอย่างไร

เอาเป็นว่าผมขอเสนอคำแนะนำนิดนึงแล้วกัน (ผ่านการพิสูจน์และปฏิบัติแล้ว) คือ

1. ประสานงานไปยังฝ่ายวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อหาลือกันถึงแนวทางการแก้ไข ซึ่งได้ความว่า
ฝ่ายวิชาการจะจัดเงินทุนจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อหนังสือที่อาจารย์จำเป็นต้องใช้สอนตลอดทั้งเทอม
โดยอาจารย์สามารถซื้อหนังสือที่ใช้ประกอบการสอนแล้วนำมาเบิกฝ่ายวิชาการ
โดยมีเงื่อนไขว่า หนังสือที่ซื้อจะต้องตรงกับหลักสูตรที่อาจารย์ท่านนั้นสอน
และแต่ละภาควิชาจะได้รับเงินทุนเท่าๆ กัน (ในภาควิชาต้องบริหารการซื้อหนังสือสื่อการสอนกันเอง)

ผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ค่อนข้างได้ผลตอบรับที่ดีขึ้น แต่ปัญหาเดิมก็ยังมีอยู่แต่น้อยลง
อาจจะเกิดจากการบริหารเงินในภาควิชา ทำให้อาจารย์บางคนไม่ได้รับการจัดสรรเงิน
ดังนั้นอาจารย์ก็จะใช้วิธียืมแบบต่ออายุเหมือนเดิม

2. ห้องสมุดกำหนดนโยบายการยืมหนังสือแบบต่อเนื่อง
โดยกำหนดว่าไม่ให้ต่ออายุเกิน 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้คนอื่นได้ยืมหนังสือเล่มนั้นบ้าง
และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สอนกับนักศึกษาด้วย ให้แจ้งห้องสมุดทำเป็นหนังสือจองทันที
แต่ต้องแจ้งตั้งแต่ช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ๆ นะครับ

ผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากการชี้แจงให้อาจารย์ทุกท่าน และผู้ใช้ทราบถึงนโยบายใหม่
ทำให้ผลตอบรับดีขึ้นมีการหมุนเวียนในการใช้สารสนเทศ หรือหนังสือดีขึ้น
หนังสือไม่ถูกเป็นเจ้าของเพียงคนๆ เดียว แต่เป็นของคนทุกคนครับ

ขอสรุปข้อคิดสักนิดนะครับ สำหรับพวกที่ชอบยืมหนังสือแบบเห็นแก่ตัว
กรุณาคิดกันสักนิดว่า หนังสือในห้องสมุดมิได้เป็นของคุณคนเดียว
ให้ชาวบ้านเขาได้ใช้หนังสือกันบ้าง อย่าเก็บไว้คนเดียวเลยนะครับ?

แล้วเพื่อนๆ หล่ะครับมีไอเดียที่จะเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาแบบนี้อย่างไร
ส่งความคิดเห็นมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ