บรรณารักษศาสตร์ เท่ากับ สารสนเทศศาสตร์ หรือไม่

ขอออกตัวก่อนนะครับที่เขียนไม่ได้ว่าจะชวนทะเลาะหรือสร้างความแตกแยก แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมากๆ และจากประสบการณ์ตรงในช่วงผมเป็นนักศึกษา (รุ่นผมชื่อบรรณารักษศาตร์และสารสนเทศศาสตร์ แต่หลังจากรุ่นผมไปแล้วใช้คำว่า การจัดการสารสนเทศ) วันนี้ผมว่าเด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็อาจสับสนบ้างว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ปล. ที่เขียนบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ถูกผิดหรือไม่แล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน

หลายๆ สถานศึกษาเริ่มมีการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรวิชา หรือ บางแห่งเปลี่ยนชื่อภาควิชาไปเลยก็มี

คำถามที่ผมคาใจมากๆ คือ “ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อสาขาวิชานี้” “ชื่อสาขานี้มันล่าสมัยจริงหรือ”
เหตุผลที่ผมได้ยินและได้คุยกับอาจารย์บางท่าน คือ
– “ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วเด็กจะไม่เข้ามาเรียนในสาขานี้”
– “ถ้าเด็กเข้ามาไม่ได้ตามจำนวน ภาควิชาก็ไม่สามารถเปิดสอนได้”
– “สาขาวิชามีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น”
– “เด็กที่จบไปจะได้ชื่อหลักสูตรที่สวยหรู สามารถทำงานอะไรก็ได้”

เอาเป็นว่าเหตุผลต่างๆ มากมายที่ผมก็ขอรับฟัง
แต่…เคยคิดกันหรือไม่ว่า….ประเด็นนี้จะทำให้เด็กสับสน

“หนูไม่รู้นี่ว่าสารสนเทศศาตร์ คือ สอนให้หนูเป็นบรรณารักษ์ หนูนึกว่าเข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์”
“การจัดการสารสนเทศน่าจะสอนการจัดการข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิงแต่เรื่องห้องสมุด”
“เข้ามาเพราะชื่อหลักสูตรเท่ห์จัง แต่ทำไมเรียนเรื่องเกี่ยวกับห้องสมุด”

สถานศึกษาบางแห่งเปลี่ยนชื่อหลักสูตรก็จริงแต่เนื้อหาในรายวิชาเกือบครึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดอยู่ดี บางแห่งไม่ได้เปลี่ยนรายวิชาด้านในเลยด้วยซ้ำ จากประเด็นแบบนี้ จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่สับสนกับหลักสูตร หรือ วิชาที่เรียน

จากกรณีเรื่องของชื่อหลักสูตร หรือ ชื่อของภาควิชา ผมขอพูดถึงสภาพของเด็ก 3 กลุ่มให้ฟังคร่าวๆ คือ
1. “รู้ว่าบรรณารักษ์เป็นส่วนหนึ่งของสารสนเทศอยู่แล้ว และตั้งใจมาเรียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ” พูดง่ายๆ ว่าใจรักอ่ะครับ เด็กพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะใจเขามาด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว
2. “รู้และเข้าใจว่าสารสนเทศคือการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่พอมาเจอเนื้อหาของแต่ละวิชา ก็ได้แต่ทำใจและยอมรับสภาพ” พูดง่ายๆ ว่า อดทนให้เรียนจบแล้วเดี๋ยวไปหางานอย่างอื่นทำ กลุ่มนี้ก็พบมากมาย เด็กส่วนหนึ่งที่จบไม่ได้กลับมาทำงานตามสายที่เรียน
3. “รู้และเข้าใจว่าสารสนเทศคือการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อเข้ามาเรียนและรู้ว่าไม่ใช่ก็ลาออกไปเรียนอย่างอื่น หรือ ฝืนเรียนแต่ก็รับไม่ได้” พูดง่ายๆ ว่า เมื่อไม่ใช่ทางที่คิดไว้ก็ไปทางอื่นดีกว่า

เรื่องของชื่อว่า “บรรณารักษศาสตร์” หรือ “สารสนเทศศาสตร์” แท้จริงแล้วมันเท่ากันหรือไม่
แค่ชื่อก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผมบอกได้ตรงๆ ครับว่า อาชีพ “บรรณารักษ์” กับ “นักสารสนเทศ” มันก็ต่างกัน

อาชีพ “บรรณารักษ์” กับ “นักสารสนเทศ” ต่างอย่างไร

“บรรณารักษ์” คือการจัดการสื่อ ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ องค์ความรู้ในห้องสมุด กระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินงานในห้องสมุด “บรรณารักษ์” ต้องรู้และสามารถจัดการได้

“นักสารสนเทศ” คือ การจัดการสารสนเทศด้านใดด้านหนึ่งไม่จำเป็นต้องจัดการห้องสมุดทั้งหมด แต่ต้องจัดการข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ได้ ยิ่งถ้าจัดการหรือมีความรู้ด้านวิชาชีพอื่นๆ ด้วยก็ยิ่งดี และถือว่าเป็นนักสารสนเทศของอาชีพนั้นๆ ได้ด้วย เช่น นักสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

อย่างที่เกริ่นข้างต้นว่า ห้องสมุด คือส่วนหนึ่งของการจัดการสารสนเทศแบบภาพรวม บรรณารักษ์ก็คือนักสารสนเทศในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อหลักสูตร สถานศึกษาก็ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนด้วย…

หรือแม้แต่ครูแนะแนวเด็ก ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ก็ควรรู้และเข้าใจในแง่นี้ด้วย มิเช่นนั้นเด็กๆ ของท่านก็จะเข้าใจผิดว่า “สารสนเทศ” ก็คือ “คอมพิวเตอร์” ต่อไป

วันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน อิอิ

บทสรุปงานเสวนา เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเท​ศ

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปบรรยายในงานเสวนาประสบการณ์วิช​าชีพนักสารสนเทศ ในประเด็นเรื่อง “เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเท​ศ” ที่จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสต​ร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันนี้เลยขอนำสไลด์และรูปภาพมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ชื่องาน : เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเทศ
จัดโดย : นักศึกษาชั้นปี 3 เอกบรรณฯ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
วันและเวลาที่จัดงาน : วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องพิบูลสงคราม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสต​ร์

พักหลังมานี่ผมเริ่มรับบรรยายให้น้องๆ ฟังมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนความคิดของน้องๆ หลายคนว่า วิชาด้านบรรณารักษ์ก็สามารถทำให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากมายไม่แพ้วิชาในสาขาอื่นๆ การที่ได้มาบรรยายที่นี่ จริงๆ แล้วเริ่มมาจากการคุยกันเมื่อเดือนที่แล้วระหว่างผมกับน้องที่อ่านบล็อกของผมและการทาบทามของอาจารย์ในภาคฯ จนทำให้ผมต้องตอบรับมาที่นี่ (ทั้งๆ ที่ไม่เคยบรรยายให้จังหวัดอื่นเลย)

เอกสารที่ผมใช้ในการบรรยายครั้งนี้ คือ
– สไลด์เรื่อง I would like to be librarian
– เอกสาร Social Revolution

สำหรับสไลด์ เพื่อนๆ สามารถดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

หรือเข้าไปดูได้ที่ http://www.slideshare.net/projectlib/i-would-like-to-be-librarian

คำถามหลักๆ ที่พบในงานเสวนาครั้งนี้ คือ
– การเลือกเข้ามาเรียนในสาขาวิชาสารสนเทศ ซึ่งอาจจะมีเรื่องเข้าใจผิดกันในชื่อวิชาที่เรียน (นึกว่ามาเรียนคอมฯ แต่ที่ไหนได้บรรณารักษ์นั่นเอง)
– การเลือกสถานที่ฝึกงานที่เหมาะกับตัวเอง ย่อมดีกว่าเลือกตามคนอื่น
– การทำงานในสายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ห้องสมุด ซึ่งก็มีให้เลือกมากมาย เช่น เว็บไซต์, เปิดร้านขายหนังสือ……..
– เรียนต่อปริญญาโทด้านไหนดี : อันนี้ต้องแล้วแต่ว่าใจเราอยากไปทางไหน

เท่าที่พบในการเสวนาครั้งนี้ มีน้องๆ บางคนเริ่มเห็นอนาคตของตัวเองแล้ว เช่น บางคนไม่ชอบงานเทคนิคและอยากไปในสายไอที, บางคนอยากทำงานในห้องสมุดสายการแพทย์, บางคนอยากเปิดธุรกิจของตัวเองจำพวกร้านขายหนังสือ…….. ต่างๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าถ้ามีเป้าหมายแบบนี้แล้วจะทำให้น้องๆ เห็นภาพอนาคตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บทสรุปที่ผมบรรยายหลักๆ ก็เป็นเรื่องประสบการณ์การทำงานของผมที่ผ่านมา รวมไปถึงเล่าย้อนไปในช่วงที่ผมเรียนบรรณารักษศาสตร์ที่ ม.สงขลานครินทร์บ้างเล็กน้อย รวมถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาเรียนในสาขาวิชานี้

ความประทับใจในงานเสวนาครั้งนี้ : น้องๆ ที่เข้าร่วมฟังเสวนาได้มีการซับถามคำถามกันอย่างคึกคัก นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก (ปกติเวลาผมไปบรรยายที่อื่นไม่เคยเจอคำถามเยอะขนาดนี้) แต่ต้องขอบอกว่าเป็นการซักถามที่สนุกมากๆ ครับ

สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์ทิพภา และทีมงานนักศึกษาที่ร่วมกันจัดงานดีๆ แบบนี้ และเชิญผมมาเข้าร่วมกิจกรรม ณ ที่แห่งนี้ รวมไปถึงการดูแลวิทยากรได้ดีมากๆ ครับ ตั้งแต่ต้อนรับจนถึงส่งขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ขอบคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งครับ

เอาเป็นว่าคราวหน้าผมจะไปบรรยายที่ไหนอีกเดี๋ยวจะเอามาเล่าให้อ่านในบล็อกนะครับ อย่าลืมติดตาม Libraryhub กันไปได้เรื่อยๆ นะครับ

ปล. ภาพทั้งหมดที่ผมนำมาลงเป็นฝีมือการถ่ายภาพของน้องๆ ที่เข้าฟังในวันนั้นนะครับ ต้องขอขอบคุณมากที่ส่งมาให้ผมได้ดู

ภาพถ่ายในงานเสวนาประสบการณ์วิชาชีพนักสารสนเทศ

[nggallery id=40]