บรรณารักษ์จำเป็นต้องรู้จักหนังสือในห้องสมุดตนเองหรือไม่

“คนขายจำเป็นต้องรู้จักสินค้าของตนเอง”
“คนขายต้องเข้าใจสินค้าของตนเอง”
“คนขายต้องรู้ว่าสินค้าของตนเองเป็นอย่างไร”

ประโยคข้างต้นเป็นประโยคที่ผมคิดขึ้นมาหลังจากที่ผมไปซื้อของมาชิ้นนึง

เหตุการณ์มันเริ่มจากการที่ผมเดินเข้าไปในร้านขายของที่หนึ่งที่ขายของเฉพาะทาง
ผมตัดสินใจที่จะซื้อของชิ้นหนึ่ง จึงอยากให้คนขายแนะนำสิ่งของที่ผมต้องการซื้อ
ปรากฎว่าเขาแนะนำอะไรไม่ได้เลย จนต้องส่งคำถามเหล่านี้ไปให้คนขายอีกคนจึงอธิบายได้

ผมรู้สึกหงุดหงิดมากที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้

จนผมต้องอุทานว่า “ไม่รู้จักสินค้าของตนเองแล้วจะมาขายทำไม”
ประโยคที่ผมอุทานขึ้นมานี้ เป็นที่มาของเรื่องที่ผมจะถามในวันนี้นั่นเอง

ลองนึกดูเล่นๆ นะครับว่า ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในห้องสมุด ผู้ใช้บริการจะรู้สึกเช่นใด

แน่นอนครับว่าเราไม่ใช่องค์กรเชิงธุรกิจ แต่องค์กรของเราเป็นองค์กรที่เน้นบริการ
ยิ่งคำขวัญของเรา “บริการด้วยใจ (Service mind)” เรายิ่งต้องให้ความสำคัญมากๆ

พื่อนๆ ว่า ตกลงเราควรจะต้องรู้จักหนังสือหรือสื่อความรู้ในห้องสมุดของเราหรือไม่
บรรณารักษ์อย่างพวกเราจำเป็นต้องอ่านหนังสือบ้างหรือไม่

[poll id=”25″]

เอาเป็นว่าช่วยๆ กันตอบดูนะครับ
แล้วเดี๋ยวผมจะเอามาเขียนเล่าให้ฟังแบบเต็มๆ อีกสักตอนนึง

อ่านอะไรดี : กำเนิดหนังสือของเด็กไทยสู่รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน

แนะนำหนังสือดีๆ มาพบกับเพื่อนอีกครั้งแล้วนะครับ ช่วงนี้ไปยืมหนังสือที่เกี่ยวกับห้องสมุดและการอ่านมาเยอะมากเลย วันนี้ขอยกมาแนะนำสักเล่มแล้วกัน ซึ่งหนังสือที่ผมแนะนำวันนี้ คือ “กำเนิดหนังสือของเด็กไทยสู่รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : กำเนิดหนังสือของเด็กไทยสู่รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน
สำนักพิมพ์ : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
จำนวนหน้า : 87 หน้า
ปีพิมพ์ : 2554

หนังสือเล่มนี้ถูกจัดพิมพ์โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มุ่งเน้นอยากให้เด็กและเยาวชนไทยได้เห็นความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ของหนังสือ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. กำเนิดหนังสือเด็กของไทย : จากสมุดไทยถึงยุคกำเนิดการพิมพ์
2. สร้างหนังสือ สร้างเด็กไทย ในยุคก้าวสู่การศึกษาแผนใหม่
3. รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน : เพาะนักอ่าน หว่านเมล็ดพันธุ์ “นักเขียน” สู่บรรณพิภพ


จากการเปิดอ่านอย่างผ่านๆ ได้พบเห็นหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย
เช่น

1. กำเนิดหนังสือเด็กของไทย : จากสมุดไทยถึงยุคกำเนิดการพิมพ์

– หนังสือเล่มแรก ดวงแก้วแห่งปัญญาเด็กไทย (หนังสือที่ปรากฎหลักฐานว่าแต่งขึ้นสำหรับเด็กเล่มแรก ได้แก่ “จินดามณี”)
– หนังสือสอนทักษะชีวิตเล่มแรก คือ “สวัสดิรักษา” แต่งโดย สุนทรภู่
– แบบเรียนภาษาไทย เรียนความรู้ด้วยความงาม (แบบเรียนหลวง ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร)
– การบันทึกข้อมูล (การจารึกบนศิลา เขียนบนใบลาน เขียนลงกระดาษข่อย พิมพ์อักษรไทย)

2. สร้างหนังสือ สร้างเด็กไทย ในยุคก้าวสู่การศึกษาแผนใหม่

– สร้างแบบเรียน คือ สร้าง “แบบ” เด็กไทย
– สร้างเสริมแบบเรียนไทยโดยบาทหลวงฝรั่ง
– หนังสือนิทาน-อ่านสนุก…ปลูกฝังความดีด้วยความงาม
– หนังสือดีที่ต้องห้มในสมัยรัชกาลที่ 6-7 (ทรัพยศาสตร์เล่ม 1-2 โดยพระยาสุริยานุวัตร)
– เพลงกล่อมเด็ก : จากมุขปาฐะสู่หนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยเล่มแรก

3. รุ่งอรุณของหนังสือโรงเรียน : เพาะนักอ่าน หว่านเมล็ดพันธุ์ “นักเขียน” สู่บรรณพิภพ

– นิตยสารหรือจดหมายข่าวสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จัดทำโดยโรงเรียนต่างๆ เช่น

— จดหมายเหตุแสงอรุณ : แสงแรกแห่งอรุณของนิตยสารเพื่อเด็ก (จัดทำโดยโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง)
— กุลสัตรี : ปฐมฤกษ์เพื่อโรงเรียนสตรีและนักเรียนสตรี (นิตยสารของมหามกุฏราชวิทยาลัย)
— ราชินีบำรุง : สื่อสร้างเสริมคุณภาพผู้หญิงยุคใหม่ (ของโรงเรียนราชินี)
— อัสสัมชัญอุโฆษสมัย : จากครูฝรั่งถึงนักเรียนไทย ก้องไกลในกระแสกาล (ของโรงเรียนอัสสัมชัญ)
— แถลงการศึกษาเทพศิรินทร์ : แปลงเพาะต้นกล้า “นักประพันธ์” (ของโรงเรียนเทพศิรินทร์)

– นักเขียนที่มีบทบาทและสำคัญในอดีต

— “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ : บุคคลสำคัญของโลกทางศิลปวัฒนธรรม
— ม.จ.อากาศดำเกิง : เปิดโลกและชีวิตด้วย ละครแห่งชีวิต
— สด กูรมะโรหิต : ผู้สร้างอาณาจักรจรรโลงวรรณกรรม

นี่ก็เป็นตัวอย่างเรื่องเด็ดๆ ที่เราจะได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้
เอาเป็นว่าผมได้เข้าใจและเห็นที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์หนังสือเด็กที่อธิบายได้ดีทีเดียว

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ สามารถหาหนังสือเล่มนี้ได้ที่ TKpark เลยนะครับ ยืมมาอ่านได้ฟรีเลยครับ
หรือไม่ผมก็ขอแนะนำให้อ่านออนไลน์ไปเลยที่ http://issuu.com/happy2reading/docs/happyreading7

อย่าลืมไปหาอ่านกันเยอะๆ นะครับ ลองดูแล้วคุณจะชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนผม

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน http://www.happyreading.in.th/

อ่านอะไรดี : “Digital Library Futures” อนาคตห้องสมุดดิจิทัล

สวัสดีเรื่องแรกของบล็อก Libraryhub ปี 2555 ก่อนอื่นคงต้องสวัสดีปีใหม่เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์สักหน่อย และขออวยพรให้ทุกๆ ท่านพบแต่ความสุขและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกคน

เอาหล่ะมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า วันนี้ผมจะมาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกว่าได้สาระค่อนข้างดีเล่มหนึ่ง เป็เรื่องที่เกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล หรือทิศทางของห้องสมุดในยุคไซเบอร์เลยก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยเกี่ยวกับ “อนาคตของห้องสมุดดิจิทัล” ซึ่งเน้นในเรื่องของสิ่งที่ผู้ใช้คาดหวังและการปรับกลยุทธ์ของห้องสมุดดิจิทัล

ปล. หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มนะครับ

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Digital Library Futures : User perspectives and Institutional strategies
บรรณาธิการโดย : Ingeborg Verheul, Anna Maria Tammaro and Steve Witt
สำนักพิมพ์ : IFLA Publication
ISBN : 9783110232189
จำนวนหน้า : 150 หน้า


ข้อมูลทั่วไปจากเว็บไซต์ของ IFLA

http://www.ifla.org/publications/ifla-publications-series-146

เอาหล่ะครับ อย่างที่เกริ่นไว้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมงานวิจัยและงานวิชาการที่น่าสนใจเกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล
ดังนั้นเนื้อหาที่อยู่ในแต่ละเรื่องของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เนื้อหาที่เรียงร้อยกัน (เลือกอ่านแต่เรื่องที่สนใจได้ ไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม)

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)
3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)

ในแต่ละส่วนก็จะประกอบไปด้วยบทความต่างๆ ดังนี้
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
– The Virtual Scholar : the Hard and Evidential Truth
– Who are the Users of Digital Libraries, What do they Expect and want?
– A Content Analysis on the Use of Methods in Online User Research


2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)

– A Pianist’s Use of the Digitised Version of the Edvard Grieg Collection
– When is a Library NOT a Library?

3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)
– To Make a Better Digital Library – Some Collaborative Efforts in China
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge : the World Digital Library Perspective
– Digital Library Futures : Pressures on the Publisher-Librarian Relation in the Era of Digital Change

นอกจากส่วนเนื้อหาแล้วยังมีส่วนที่สรุปข้อมูลทั้งหมดและประวัติของผู้เขียน (วิทยากร) ด้วย
ซึ่งทำให้เราได้เห็น background ของผู้เขียน (วิทยากร) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการห้องสมุดดิจิทัลมาก่อน

เอาเป็นว่าผมเองก็อ่านไปได้บางส่วน (คงไม่ได้อ่านทั้งเล่มแหละ) แต่เลือกเรื่องที่อยากจะอ่านไว้แล้ว
ไว้ถ้ามีเวลาว่างจะเอาบางเรื่องมาเขียนเป็นบล็อกเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านอีกทีแล้วกันครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน เดี๋ยวจะเอาหนังสือในกลุ่ม “ห้องสมุดดิจิทัล” ที่ผมอ่านมาแนะนำอีก ไว้เจอกันคราวหน้าครับ…

ปล. หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้ซื้อมานะครับ แต่ยืมมาจาก TKpark ใครสนใจก็ลองมาหยิบยืมจากที่นี่แล้วกัน

หนังสือ ต้นคริสต์มาส กับเทศกาลส่งความสุข

ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของทุกปี บล็อกของผมก็มักจะนำเสนอรูปแบบการตกแต่งห้องสมุดด้วยหนังสือ (นำหนังสือมาทำเป็นต้นคริสต์มาส) ปีนี้ก็เช่นกันจะขอนำเสนออีกครั้ง

บล็อกของผมในปีก่อนๆ
ปี 2010 ไอเดียการจัดต้นคริสต์มาสในห้องสมุดทั่วโลก
http://www.libraryhub.in.th/2010/12/28/christmas-tree-in-top-world-library/

ปี 2009 เทศกาลคริสต์มาสกับชาวห้องสมุด
http://www.libraryhub.in.th/2009/12/01/christmas-in-library-begin/

และในปีนี้ห้องสมุดในเมืองไทยเราก็เริ่มทำต้นคริสต์มาสจากหนังสือแล้วเช่นกัน
ลองชมตัวอย่างดูได้ตามด้านล่างนี้เลยครับ (สำนักวิทยบริการฯ มรภ.เชียงใหม่)


ปล. ภาพนี้นำมาจากในกลุ่ม Librarian in Thailand นะครับ

เพื่อเป็นไอเดียสำหรับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดคนอื่นๆ ปีนี้ผมก็ขอนำเสนอรูปภาพต้นคริสต์มาสที่มาจากการเรียงหนังสืออีกเช่นเดิม แต่คราวนี้ขอมาเป็นแบบ slideshow นะครับ ดูไปเรื่อยๆ ก็เพลินดีเหมือนกัน

Credit : http://www.flickr.com/photos/67718410@N04/

สุดท้ายนี้ต้องขออวยพรให้เพื่อนๆ ทุกท่านพบแต่ความสุขความเจริญถ้วนหน้าครับ
Merry Christmas and Happy New Year 2012

อ่านอะไรดี : พัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยวิธี SQ3R

ช่วงนี้เห็นหลายๆ คน พูดถึงเรื่องความสำคัญของการอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้ผมจึงขอแนะนำหนังสืออีกสักเล่มที่เกี่ยวกับการอ่านมาฝาก
ชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ คือ “พัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยวิธี SQ3R

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : พัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยวิธี SQ3R
สำนักพิมพ์ : สุวีริยาสาส์น
ISBN : 9789741329526
จำนวนหน้า : 152 หน้า
ปีพิมพ์ : 2551

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับการอ่าน และ ตัวอย่างแบบฝึก (แผนการสอนเรื่องการอ่าน)
บทที่ 1 และ 2 เป็นเรื่องทฤษฎีล้วนๆ พูดถึงความสำคัญของการอ่าน และเทคนิดการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
และตั้งแต่บทที่ 3 ไปจนถึงบทสุดท้ายจะเป็นเนื้อเรื่องตัวอย่างที่มีไว้ให้อ่าน ลองอ่านและทำแบบทดสอบดู

หลักๆ ที่ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านก็เพราะคำว่า “SQ3R” นั่นแหละครับ
พอได้อ่านและเข้าใจถึงแนวทางในการอ่านแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมีความสำคัญมากๆ

เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าการวัดผลสำเร็จของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมีอะไรบ้าง
หนังสือเล่มนี้รวบรวมจากนักวิชาการมาหลายคน เช่น อาจารย์เปลื้อง ณ นคร, อาจารย์อรษา บุญปัญญา ฯลฯ

ตัวอย่างการวัดว่าผู้อ่านมีทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมากน้อยเพียงใด จะต้องดูจากสิ่งดังต่อไปนี้
– ความสามารถในการจำแนกประเภทของงานเขียน
– ความสามารถแยกแยะส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น
– ความสามารถอธิบายความหมายของคำศัพท์ สำนวน อุปมา
– การตัดสินสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด
– การบอกจุดประสงค์ของผู้เขียน
– การจับแนวความคิดหลัก
– การจับน้ำเสียงหรือความรู้สึกของผู้เขียน
– การบอกโครงเรื่องหรือสรุปเรื่อง
– การประเมินคุณค่าของเรื่องที่อ่าน

เอาหล่ะครับ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว ผมจะได้อธิบายถึง หลัก SQ3R กันต่อเลย ว่ามันคืออะไรและย่อมาจากอะไร

การอ่านแบบ SQ3R ผู้ริเริ่ม คือ นายฟรานซิส พี โรบินสัน (ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ) เขาได้แนะนำเทคนิคนี้กับนักศึกษา ซึ่งการอ่านแบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

SQ3R = S Q R R R = Survey, Question, Read, Recite, Review
มาดูฉบับแปลไทยโดยอาจารย์ฉวีลักษณ์กันสักหน่อย

Survey = การสำรวจ = สำรวจ ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ สารบัญ คำนำ รวมถึงแนวคิดและจุดมุ่งหมายในการเขียน
Question = การตั้งคำถาม = การพิจารณาให้แน่ชัดว่าเราต้องการคำตอบอะไรจากการอ่าน
Read = การอ่าน = อ่านเพื่อให้ได้คำตอบตามที่ตั้งคำถามโดยมุ่งหารายละเอียดเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในคำถาม
Recite = การจดจำ = เมื่อได้รับคำตอบแล้วควรมีการจดบันทึกไว้เพื่อเตือนความจำ
Review = การทบทวน = ต้องหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงบทสรุปที่ผมอยากให้อ่านก็เท่านั้นนะครับ ถ้าอยากอ่านแบบเต็มๆ ก็หาอ่านได้ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด หรือไม่ก็ห้องสมุดต่างๆ ก็น่าจะต้องมีหนังสือเล่มนี้นะครับ

เอาเป็นว่าผมก็ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ให้เพื่อนๆ อีกสักเล่มหนึ่งแล้วกันนะครับ
อ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องอ่านและคิดวิเคราะห์ได้ด้วยถึงจะทำให้เรารู้จริง

อ่านอะไรดี : 20 คมคิด ฝ่าวิกฤตการอ่าน

แนะนำหนังสือดีๆ มาพบกับเพื่อนๆ อีกแล้วนะครับ ช่วงนี้อ่านหนังสือเยอะมากๆ เลยเนื่องจากอ่านเพื่อให้หายเครียดเรื่องน้ำท่วมอ่ะครับ (แอดมินกลายเป็นผู้ประสบภัยไปซะแล้ว) เมื่อวานเขียนเรื่อง “Libraryhub ขอสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของท่าน” ดังนั้นวันนี้จึงขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่อง “การอ่านหนังสือ” แล้วกันครับ

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : 20 คมคิด ฝ่าวิกฤตการอ่าน
สำนักพิมพ์ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ISBN : 9786167197296
จำนวนหน้า : 63 หน้า
ปีพิมพ์ : 2552


หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมมุมมองและข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมการรักการอ่านจากบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่และเกี่ยวข้องกับการอ่าน

เอาเป็นว่าแต่ละคนกล่าวอะไรไว้บ้าง ลองอ่านได้เลยครับ (ปล. ตำแหน่งของบุคคลหลายๆ คนเป็นตำแหน่งในช่วงปี 2552 นะครับ)

1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : นายกรัฐมนตรี
“การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทรงพลังสำหรับมวลมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาตลอดชีวิต และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งสำหรับคนทุกคน”

2. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
“การเติมเต็มการศึกษาตลอดชีวิต ให้ประชาชนมีความสามารถในการอ่าน การแสวงหาความรู้ เข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา จากสื่อและวิธีการที่หลากหลายในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”

3. ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ : อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ
“รัฐบาลทุกชุดต้องทำเรื่องนี้ เพราะนโยบายรักการอ่านสำคัญมาก และคนในสังคมต้องเข้าใจว่า สังคมดีขึ้นต้องมาจากการศึกษาดี คุณภาพการศึกษาดี ต้องอ่านและเขียน เพราะนี่คือทักษะสำคัญในการครองชีพ”

4. ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล : ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้
“ถ้าเราส่งเสริมการอ่านอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีหนังสือดีๆ อะไรให้อ่าน ก็ไม่เกิดผล แต่ในขณะเดียวกันหากมีหนังสือออกมากองจำนวนมาก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการอ่าน หนังสือก็จะกองอยู่อย่างนั้น ไม่มีคนอ่าน ทั้งนี้หนังสือจะมีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อได้รับการจับต้อง ได้รับการอ่าน”

5. คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต : นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
“รัฐบาลต้องมีนโยบายการอ่านแบบครบวงจร คือ ส่งเสริมให้มีนักเขียนที่ดี ส่งเสริมให้สำนักพิมพ์สามารถจัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณภาพ และมีช่องทางในการจำหน่ายที่กระจายไปอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดโรงเรียน มีกิจกรรมซึ่งสามารถจูงใจให้เด็กเข้าห้องสมุด รวมทั้งดึงเอาคนในชุมชนมาช่วยกันทำงานในห้องสมุด”

6. ชมัยภร แสงกระจ่าง : นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
“ทำให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น จัดกลุ่มนักอ่าน อ่านแล้วเล่าสู่กันฟัง สร้างครอบครัวรักการอ่าน สร้างมุมการอ่านทุกที่ทุกเวลา ทำให้หนังสือราคาถูกและดี การยกย่องและให้กำลังใจนักอ่านและนักเขียนให้มากกว่าดารา”

7. ริสรวล อร่ามเจริญ : นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
“ทุกวันอาทิตย์ในรายการนายกรัฐมนตรีพบประชาชน ควรให้นายกรัฐมนตรีพูดถึงการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวว่า ผู้นำประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่าน”

8. ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน : นายกสมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย
“ภาครัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดพลังทางสังคม ควรจะต้องสร้างนโยบายหลักเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยว่าต้องการให้เป็นเช่นใด”

9. เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป : กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
“การอ่าน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ การสร้างนิสัยรักการอ่านจึงต้องทำในทุกกลุ่มอายุ คือ ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป”

10. ผาณิต เกิดโชคชัย : ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์การเรียนรู้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“การใช้นโยบายภาษีในเชิงส่งเสริมผู้ประกอบการที่สัมพันธ์กับการอ่าน เพื่อให้มีต้นทุนที่เหมาะสมและเอื้อให้ผู้ซื้อมีอำนาจเป็นเจ้าของหนังสือหรือสื่อเรียนรู้เป็นของตนเองได้”

11. พฤหัส พหลกุลบุตร : ผู้อำนวยการฝ่ายละครการศึกษา กลุ่มมะขามป้อม
“เด็กต้องเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมเองจึงจะมีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเขาทำให้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นรูปธรรมจริงๆ และยั่งยืน”

12. ทศสิริ พูลนวล : บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
“รัฐต้องเริ่มจากแผนพัฒนาทุนมนุษย์ ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ในอีกกี่ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องการประชากรที่มีทักษะชีวิตด้านใดบ้าง ประชากรของประเทศต้องพึ่งพาตนเองได้ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ซึ่ง “การอ่าน” อยู่ในฐานะเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด”

13. จรัญ มาลัยกุล : มูลนิธิกระจกเงา
“ผู้ใหญ่เองก็ต้องอ่านด้วย อย่าไปคิดแค่ให้เด็กอ่านเท่านั้น ผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงว่าการอ่านนั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ไม่ใช่ปัญหาของเด็ก”

14. เข็มพร วิรุณราพันธ์ : ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สสส.
“การอ่านควรเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ควรแทรกอยู่ในกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก ซึ่งบูรณาการอยู่ในหลายๆ เรื่อง ไม่ควรแยกออกไปต่างหาก เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็ก ถ้าจะทำยุทธศาสตร์เพื่อเด็ก การอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดผลให้ได้”

15. ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ : สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ (สพร.) สำนักงาน กศน.
“ทุกๆ หน่วยของสังคมต้องช่วยกันสร้างกระบวนรัการอ่าน และควรที่จะสร้างค่านิยม “การอ่าน” ให้เป็นคุณลักษณะจำเป็นขั้นพื้นฐาน”

16. ดร.กมล รอดคล้าย : ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
“ส่งเสริมการอ่านโดยระดมสรรพกำลัง ทำให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และมีกลยุทธ์นอกกรอบ คือ มีนวัตกรรม เทคนิค วิธีการรูปแบบใหม่ๆ ที่จูงใจคนให้อ่านหนังสือ โดยอาจศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับคนไทย”

17. ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม : ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
“การส่งเสริมการอ่านต้องเริ่มจากเด็กเล็กๆ ระดับปฐมวัย ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ Bookstart จึงอยู่ที่ความเข้าใจของพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูเด็ก”

18. ดร.เยาวพา เดชะคุปต์ : โครงการบริการวิชาการ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
“ผู้ใหญ่ต้องช่วยดูแลให้เด็กอ่านหนังสือ หาหนังสือให้เด็กอ่าน ตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ปล่อยปละละเลย ซื้อหนังสือให้เด็ก แทนการให้เด็กเล่นแต่คอมพิวเตอร์”

19. สรวงธร นาวาผล : กลุ่ม We are happy
“หนังสือต้องอยู่ในใจเด็ก ให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จากการอ่านหนังสือ ได้เป็นเจ้าของ และมีความสุขกับหนังสือ โดยสร้างสุขภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านทั้งใน ครอบครัว และชุมชน”

20. วันทนีย์ นามะสนธิ : ผู้ช่วยกรรมการ สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
“ทุกคนในสังคมไทยประสานความร่วมมือกันสร้างสังคมแห่งการอ่าน อาทิ ผู้นำทางความคิด/ผู้นำทางสังคม มีนิสัยรักการอ่าน และเป็นต้นแบบอันดีให้กับเยาวชน และประชาชนในสังคม”

เป็นยังไงกันบ้างครับ ได้รับข้อคิดดีๆ เพียบเลยใช่มั้ยครับ
นี่แหละครับอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า สังคมไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับการอ่านอยู่นะครับ
ผมเองก็อยากให้คนไทยอ่านหนังสือมากๆ ยิ่งอ่านมากภูมิคุ้มกันทางปัญญายิ่งมีมากเช่นกัน

ปล. หนังสือเล่มนี้สามารถยืมอ่านได้ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุด TK park นั่นเอง

อ่านอะไรดี : ไขปริศนาความสำเร็จห้องสมุดมีชีวิต

หนังสือน่าอ่านวันนี้ที่ผมอยากแนะนำ คือ หนังสือ “ไขปริศนาความสำเร็จห้องสมุดมีชีวิต” จากชุด TK ชวนอ่าน นั่นเอง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดและประสบการณ์ในการส่งเสริมการอ่านจากประเทศอังกฤษ เขียนโดย เกรซ เคมสเตอร์

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : ไขปริศนาความสำเร็จห้องสมุดมีชีวิต
ชื่อผู้แต่ง : คุณเกรซ เคมสเตอร์
สำนักพิมพ์ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ISBN : 9789748284262
จำนวนหน้า : 92 หน้า
ราคา : 80 บาท

หลายๆ คนคงอาจจะสงสัยว่า คุณเกรซ เคมสเตอร์ คือใคร
คุณเกรซ เคมสเตอร์ อดีตผู้อำนวยการด้านงานบริการข้อมูล ของบริติชเคาน์ซิล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบัน Read On Write Away (สถาบันเพื่อบริการชุมชนด้านการอ่านออกเขียนได้และทักษะขั้นพื้นฐาน)

หนังสือเล่มนี้ที่เจาะเรื่องของประเทศอังกฤษเพราะว่า ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านมากมายด้วย

ในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 บท ดังนี้
บทที่ 1 – เหตุใดการอ่านจึงสำคัญกับชีวิต
บทที่ 2 – 11 ข้อคิดเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการอ่าน
บทที่ 3 – ปรับนิดเปลี่ยนหน่อย
บทที่ 4 – ไขปริศนาความสำเร็จห้องสมุดมีชีวิต

สรุปใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้
11 ข้อคิดเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการอ่าน มีดังนี้
1. พลังของการแนะนำหนังสือแบบปากต่อปาก (ดูตัวอย่างได้จาก www.whichbook.net)
2. อ่านเพราะคุณอยากอ่าน ไม่ใช่เพราะคุณจำต้องอ่าน (เห็นด้วยครับอ่านด้วยใจดีกว่าถูกบังคับให้อ่าน)
3. ลองสังเกตว่าผู้อ่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ (แต่ละคนมีเหตุผลในการอ่านไม่เหมือนกัน บางคนชอบอ่าน บางคนก็ไม่ชอบอ่าน)
4. ดูความต้องการของผู้อ่านว่าต้องการหนังสือหรือคอมพิวเตอร์ (การอ่านมีหลายวิธีไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหนังสือแบบเดียวก็ได้)
5. ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็ก (การปลูกฝังการอ่านตั้งแต่เด็กจะได้ผลที่ดีที่สุด)
6. มันเป็นแค่เทคโนโลยี (อย่าไปกลัวเรื่องการให้เด็กเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น vdo conference เด็กๆ อาจจะใช้เครื่องมือเหล่านี้เรียนรู้ก็ได้)
7. เยี่ยมๆ มองๆ กับการอ่านออกเขียนได้
8. คนเราตายได้แต่จากความรู้ไม่ได้
9. ทางเลือกอันมากล้น (การเรียนรู้ การอ่าน มีหลายหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านต้องการอะไรมากกว่ากันก็เท่านั้น)
10. การเลือกอย่างรอบคอบ
11. การอ่านโดยการจัดเวลาไว้โดยเฉพาะและเหมาะสม

ปรับนิดเปลี่ยนหน่อย – กิจกรรมที่สามารถนำมาใช้กับห้องสมุด ได้แก่
– การจัดกำแพงนักอ่าน (ใช้เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องการอ่านหนังสือ)
– การเขียนวิจารณ์หนังสือแล้วปะไว้บนหน้าปกหนังสือ
– จัดวาดภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือสักเล่มที่อ่าน หรือเรื่องราวที่สนใจ
– การนำหนังสือออกมาแสดงบนเคาน์เตอร์
– การนำคำพูดของผู้ใช้บริการมาเผยแพร่
– เปลี่ยนเสียงรอสายโทรศัพท์จากเสียงเพลงเป็นเสียงเล่าเรื่องราวต่างๆ จากหนังสือ
– การแลกเปลี่ยนหนังสือ
– การจัดกิจกรรมสำหรับคนวัยต่างๆ
– การตั้งกลุ่มนักอ่าน
– การทำเว็บไซต์เพื่อแนะนำการอ่าน เช่น www.4ureaders.net, www.whatareyouuptotonight.com
– การจัดกิจกรรมโครงการที่กระตุ้นความสนใจแก่นักอ่าน


ไขปริศนาความสำเร็จห้องสมุดมีชีวิต – หัวข้อที่น่าสนใจในบทนี้ (เนื้อหาไปอ่านต่อกันเองนะครับ)

– การวางแผนงานห้องสมุด
– การตลาดกับห้องสมุด
– การใส่ใจผู้ใช้บริการว่าต้องการอะไร
– สร้างมุมมองใหม่ในนิยามของบรรณารักษ์
– อย่าลืมบอกคนอื่นในสิ่งที่เราทำ
– การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและการสร้างพันธมิตร
– การปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี
– บทบาทที่เปลี่ยนไปของบุคลากร
– การหาผู้ร่วมสนับสนุน

ประโยคเด็ดที่ผมชอบเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
– หนังสือทำให้เราหัวเราะ ร้องไห้ สุข ทุกข์ ทำให้เราตั้งคำถามถึงชีวิต และประสบการณ์ของเราเอง
– ถ้าเราไม่เคยดื่มด่ำกับการอ่าน จนรู้สึกว่าเราได้เข้าไปมีชีวิตอยู่ในเรื่องที่เรากำลังอ่านเหมือนกับเป็นตัวละครนั้น เราจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้อย่างไร
– บางสถานที่เรารักด้วยหัวใจ บางสถานที่เรารักด้วยสมอง ที่ๆ เรารักด้วยสิ่งทั้งสอง เรียกว่า “ห้องสมุด”
– หนังสือเป็นโลกที่เคลื่อนที่อย่างแรกที่ครอบครองได้
– แม้แต่เด็กที่เกเรที่สุด หากแม้นมีโอกาสได้สัมผัสกับความล้ำค่าแห่งห้องสมุดแล้ว ยังสามารถกุมปัญญาแห่งปฐพี และไขกุญแจสู่โลกทั้งมวล

เอาเป็นว่าผมใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ในการอ่านหนังสือเล่มนี้
คอนเฟิมครับอ่านไม่ยากเลย และได้เทคนิคดีๆ ไปปรับใช้กับการให้บริการในห้องสมุดได้
ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับผมนะครับ ลองอ่านดู ขอแนะนำ

อ๋อ ลืมบอก หนังสือเล่มนี้หาซื้อได้ในร้านซีเอ็ด หรือไม่ก็มายืมอ่านได้ที่ทีเคพาร์คนะครับ

อ่านอะไรดี : Social Innovation, Inc.

ช่วงนี้หลายๆ คนคงกำลังติดตามข่าวสารเรื่องน้ำท่วมกันอยู่ ผมก็เช่นกันครับ แต่ยิ่งติดตามข่าวก็ยิ่งเครียด
ดังนั้นผมจึงหากิจกรรมอื่นๆ มาทำแก้เครียดครับ กิจกรรมที่ว่านี้ ก็ง่ายๆ คือ “อ่านหนังสือ” นั่นเอง

ช่วงก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมผมเองก็ไปยืมหนังสือที่ TK park มา
กำลังจะเอาไปคืนพอดีแต่ TK park ก็ผ่อนผันให้คืนหนังสือได้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายนครับ
ดังนั้นในระหว่างที่ติดตามข่าว และไม่ได้ออกไปไหน ก็เลยหยิบหนังสือมาอ่านซ้ำไปซ้ำมา
เล่มหนึ่งที่หยิบมาอ่านแล้วรู้สึกว่าให้ข้อคิดดีๆ เยอะมากคือ “Social Innovation, Inc.”

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Social Innovation, Inc.
ชื่อผู้แต่ง : Jason Saul
สำนักพิมพ์ : Jossey-Bass
ISBN : 9780470614501

ตอนแรกที่หยิบหนังสือเล่มนี้เพราะสนใจที่ชื่อเรื่องเป็นหลัก “Social Innovation, Inc.”
อ่านจากชื่อเรื่องแล้วทำให้ผมนึกถึงคำว่า “social enterprise” หรือ กิจการเพื่อสังคม
อีกเรื่องที่ผมนึกถึงเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ก็คือการทำ “CSR” ของเหล่าบริษัทต่างๆ

ในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆ ดังนี้
1. The new economics of social change (เศรษฐศาสตร์แบบใหม่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง)
2. Five strategies for corporate social innovation (5 กลยุทธ์เพื่อการจัดการกิจการเพื่อสังคม)
3. The Roadmap to social innovation (เส้นทางในการพัฒนาไปสู่กิจการเพื่อสังคม)

ซึ่งแยกเป็นบทต่างๆ ดังนี้

Part 1 The new economics of social change

– The Rise of the Social Capital Market
– Responsibility is not a strategy
– Corporate Social Innovation

Part 2 Five strategies for corporate social innovation

– Create revenues through submarketproducts and services
– Enter new markets through backdoorchannels
– Build emotional bonds with customers
– Develop new pipelines for talent
– Influence policy through reverse lobbying

Part 3 The Roadmap to social innovation

– Creating a Culture of Social Innovation
– The Formula for Social Innovation
– Implications of the Social Capital Market

วันนี้ก็ขอฝากเล่มนี้ไว้ให้เพื่อนๆ ตามอ่านก็แล้วกันนะครับ

ปล. หนังสือเล่มนี้สามารถยืมอ่านได้ที่ห้องสมุดทีเคพาร์ค (TK Park)
หรือถ้าอยากซื้อก็ติดต่อที่ Kinokuniya หรือไม่ก็ Asia books ได้เลยครับ

อ่าน Review จากเว็บไซต์อื่นๆ ได้ที่
http://www.amazon.com/Social-Innovation-Inc-Strategies-Business/dp/0470614501
http://beyondprofit.com/book-review-social-innovation-inc/
http://young-leaders-academy.com/blog/sparks/social-innovation-inc/

100 Kindle book ที่น่าสนใจและราคาต่ำกว่า 4 เหรียญ

วันนี้ขอแนะนำ Ebook สำหรับ Kindle บ้างดีกว่า แต่ถ้าแนะนำ ebook แบบปกติก็คงธรรมดาไป
ขอนำเสนอ ebook ที่ราคาต่ำกว่า 4 เหรียญมาให้ดูดีกว่า (100 Kindle Books for $3.99 or less)

ลองเข้าไปดูกันก่อนนะครับ ที่ http://www.amazon.com/gp/feature.html?ie=UTF8&plgroup=1&ref_=br_lf_m_1000706171_pglink_1&docId=1000706171&plpage=1&ie=UTF8&tag=j9bvx4-20&linkCode=ur2&camp=1789&creative=390957

เป็นไงบ้างครับแต่ละเล่มถูกๆ ทั้งนั้นเลยใช่มั้ยครับ
ราคา 4 เหรียญ ตกเป็นเงินไทยราคาประมาณ 120 บาท

Ebook ราคาไม่แพงอย่างที่คิดใช่มั้ยครับ สำหรับคนที่ใช้ Kindle ผมขอแนะนำครับ
ลองเข้าไป Shopping Ebook กันได้เลย เลือกเล่มที่ชอบและซื้อไปได้เลยครับ

ที่สำคัญ คือ อ่านได้ทั้งบนเครื่อง Kindle, PC, Iphone, Ipad, Android…… อ่านได้หลากหลายเครื่องเลย นี่แหละความเป็น Amazon

ลองดูได้นะครับ สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อนแล้วกัน

ที่มา http://www.amazon.com/gp/feature.html?ie=UTF8&plgroup=1&ref_=br_lf_m_1000706171_pglink_1&docId=1000706171&plpage=1&ie=UTF8&tag=j9bvx4-20&linkCode=ur2&camp=1789&creative=390957

พฤติกรรม “ตัวแสบ” ร้อยประเภทในองค์การ

วันนี้ในขณะที่ผมกำลังวิเคราะห์หมวดหมู่หนังสือในห้องสมุดวัดไชยมงคล (ห้องสมุดที่ผมมาช่วยดูแลอีกแห่ง) ผมก็ได้เจอหนังสือเล่มนึง ที่พอผมอ่านชื่อเรื่องแล้วรู้สึกชวนให้หยิบมากๆ นั่นคือ หนังสือ “พฤติกรรม “ตัวแสบ” ร้อยประเภทในองค์การ” ซึ่งเป็นหนังสือในโครงการเอกสารและตำราของ Nida ผมเลยขอนำเนื้อหาบางส่วนมาโพสให้เพื่อนๆ อ่านแล้วกัน

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : พฤติกรรม “ตัวแสบ” ร้อยประเภทในองค์การ
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ รักธรรม และ อริชัย รักธรรม
จัดพิมพ์โดย : โครงการเอกสารและตำราคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปีพิมพ์ : 2539
ISBN : 9748164527

ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับตัวแสบขององค์กรกันหน่อยดีกว่านะ หนังสือเล่มนี้แบ่งตัวแสบขององค์กรเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
1. เจ้านายตัวแสบ
2. เพื่อนร่วมงานตัวแสบ
3. ลูกน้องตัวแสบ

เรามาลองดูกันดีกว่าว่าตัวแสบของแต่ละประเภทมีอะไรกันบ้าง

1. เจ้านายตัวแสบ แบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้ดังนี้

1.1 พฤติกรรมของนายปรปักษ์
1.2 พฤติกรรมของนายประเภทเย่อหยิ่ง
1.3 พฤติกรรมของนายหลอกลวง
1.4 พฤติกรรมของนายหาประโยชน์ส่วนตัว
1.5 พฤติกรรมของนายไม่ให้เกียรติลูกน้อง
1.6 พฤติกรรมของนายคิดถึงแต่ตัวเอง
1.7 พฤติกรรมของนายแบบเรือเกลือ
1.8 พฤติกรรมของนายดื้อรั้น
1.9 พฤติกรรมของนายประเภทเงียบ
1.10 พฤติกรรมของนายชอบจับผิด

2. เพื่อนร่วมงานตัวแสบ แบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้ดังนี้

2.1 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเป็นปรปักษ์
2.2 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานยโสโอหัง
2.3 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานหลอกลวง
2.4 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัว
2.5 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานไร้มารยาท
2.6 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเห็นตนเองเป็นเลิศ
2.7 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเรือเกลือ
2.8 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานดื้อรั้น
2.9 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานไม่ชอบพูด
2.10 พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานคอยจับผิด

3. ลูกน้องตัวแสบ แบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้ดังนี้

3.1 พฤติกรรมของลูกน้องปรปักษ์
3.2 พฤติกรรมของลูกน้องยโสโอหัง
3.3 พฤติกรรมของลูกน้องหลอกลวง
3.4 พฤติกรรมของลูกน้องชอบเอาเปรียบ
3.5 พฤติกรรมของลูกน้องมีปัญหา
3.6 พฤติกรรมของลูกน้องเห็นแก่ตัว
3.7 พฤติกรรมของลูกน้องเรือเกลือ
3.8 พฤติกรรมของลูกน้องดื้อรั้น
3.9 พฤติกรรมของลูกน้องประเภทเก็บความรู้สึก
3.10 พฤติกรรมของลูกน้องคอยจับผิด

เป็นไงบ้างครับแต่ละกลุ่ม แค่ชื่อก็รู้สึกว่าเป็นตัวแสบในองค์การได้แล้วใช้มั้ยครับ

ในหนังสือเล่มนี้จะบอกลักษณะย่อยๆ ของแต่ละกลุ่มลงไปอีกนะครับ แบบว่าละเอียดมากๆ
เช่น พฤติกรรมของนายปรปักษ์ จะแบ่งออกเป็นอีก 4 กลุ่ม เช่น คนเผด็จการ คนดื้อรั้น คนทารุณผู้อื่น คนระเบิดเวลา …

หนังสือจะบรรยายลักษณะของคนในแต่ละกลุ่ม วิธีรับมือกับคนในแต่ละกลุ่ม
รวมถึงตัวอย่างบทสนทนาของเจ้าตัวแสบที่ชอบพูดกับเราพร้อมแนวทางในการโต้ตอบกลับ
เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจก็ไปอ่านเพิ่มเติมในหนังสือดูแล้วกันนะครับ

เพื่อนๆ เคยเจอเจ้าตัวแสบประเภทอื่นๆ อีกมั้ยครับ ยังไงก็เล่าสู่กันฟังได้นะครับ