ร้านหนังสือมีสไตล์ ณ หัวหิน Rhythm & Books

ไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวนานแล้ว วันนี้เลยขอพาเที่ยวแบบชิวๆ ให้เพื่อนๆ ได้ติดตามแล้วกัน
วันนี้ผมขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวมี่หัวหินนะครับ (ไม่ใกล้ไม่ไกลกรุงเทพฯ ด้วย)
(จริงๆ แล้วที่ไปหัวหิน จุดประสงค์หลักคือถ่ายภาพสำหรับงานแต่งงานของผม (prewedding))

สายๆ ของวันอาทิตย์ก่อนกลับ กรุงเทพฯ ผมก็ออกมาหาของกินรองท้องสักหน่อย
ซึ่งก็เลยขับรถมาหาของกินบริเวณถนนแนบเคหาสน์ และก็จอดรถลงมากินก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่แสนอร่อย
ในระหว่างที่กำลังกินอยู่ตาก็ชำเลืองไปเห็นร้านอยู่ร้านหนึ่งชื่อ “Rhythm & Books”
ก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นไอความเป็นร้านหนังสือ (ตามสไตล์ของคนที่ชอบหนังสือ)
ดังนั้นเมื่อกินข้าวเสร็จ ผมก็ไม่รอช้าที่จะต้องแวะเข้าไปชมสักหน่อย

แต่ก่อนจะเข้าไปในร้านก็ขอหาข้อมูลนิดนึงจากอินเทอร์เน็ต
ในที่สุดก็พบว่า “ร้านหนังสือร้านนี้เป็นของนักเขียนชื่อดังคนนึงนั่นเอง”

คุณภาณุ มณีวัฒนกุล (พี่บาฟ)

เจ้าของร้านหนังสือร้านนี้ คือ พี่บาฟ หรือ “คุณภาณุ มณีวัฒนกุล”
นักเขียนนักเดินทาง “คนทำสารคดี” ที่เดินทางไปเกือบทั่วโลก

พอเข้าไปก็เจอกับพี่เขาเลย พี่เขาต้อนรับดีมากๆ เข้ามาพูดคุยแบบเป็นกันเองกับผม
ได้พูดคุยกันสักพักผมก็เลยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของวงการหนังสือ
และแง่คิดที่หนังสือมีให้ต่อผู้อ่าน
เช่น การอ่านการ์ตูนก็สามารถแทรกแง่คิดให้ผู้อ่านได้ด้วย

ภายในร้าน Rhythm & Books มีขายอะไรบ้าง
– หนังสือมือสอง
– สมุดทำมือ
– ของฝากจากหัวหิน
– ภาพวาด
– เพลง
– ฯลฯ

นอกจากนี้ยังผู้ถึงความเป็นมาของร้านหนังสือร้านนี้และแรงจูงใจที่พี่บาฟมีต่อร้านนี้ด้วย
ซึ่งสิ่งๆ นั่น คือ “ความรักในหนังสือ” นั่นเอง กลับมาย้อนคิดผมเองก็คงคล้ายๆ กัน คือ “รักในห้องสมุด”

“ทำอะไรก็ได้ที่ใจรัก มันจะทำให้เรามีความสุข และไม่รู้จักเหนื่อยหน่ายกับมัน”

แม้ในวันนี้ร้านของพี่บาฟอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากแต่ ผมเชื่อครับว่าสักวันร้านของพี่บาฟจะต้องมีคนมาเยี่ยมชมมากขึ้น
พี่บาฟที่บอกผมอีกว่า จริงๆ แล้ว กำลังใจอีกอย่างที่พี่บาฟประทับใจ คือ การได้พูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยมชมร้านนั่นแหละ

ผมว่าถ้าบรรณารักษ์หลายๆ คนคิดแบบพี่บาฟ ผมว่าคงจะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ
เอาเป็นว่าวันนี้ก็ขอแนะนำร้านนี้ไว้เท่านี้แล้วกัน ใครที่ผ่านมาเที่ยวที่หัวหินก็อย่าลืมมาแวะที่นี่ด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ก็แอบประทับใจและสัญญาว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมมาหัวหิน ผมจะแวะมาที่ร้านหนังสือร้านนี้อีก
แล้วพบกันอีกนะครับ “Rhythm & Books” และยินดีที่ได้รู้จักอีกครั้งครับ พี่บาฟ

ที่อยู่ของ Rhythm & Books เลขที่4/56 ถนนแนบเคหาสน์ ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ 77110 หมายเลขโทรศัพท์ 0814729390
จุดสังเกตง่ายๆ คือ ร้านจะอยู่ในซอยที่เยื้องๆ กับร้านเค้ก บ้านใกล้วัง เข้าซอยมาจะเจอทาวน์เฮาส์หลังที่สาม

ชมภาพบรรยากาศภายในร้าน Rhythm & Books

[nggallery id=41]

แนะนำหนังสือ : หัวใจเล็กๆ กับปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่

วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการเล่าเรื่องห้องสมุดเป็นการเล่าเรื่องหนังสือบ้างดีกว่า
หนังสือที่ผมจะพูดถึงในวันนี้เป็นหนังสือที่มีเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์แนะนำผมมา
(แบบว่าใจดีส่งมาให้อ่านถึงบ้านด้วย) ซึ่งผมก็ได้รับหนังสือเล่มนี้มาเมื่อสามวันที่แล้ว

รายละเอียดเบื้องต้นของหนังสือเล่มนี้
ชื่อหนังสือ : หัวใจเล็กๆ กับปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่
ชื่อผู้เขียน : พรวรินทร์ นุตราวงศ์ (พี่แอ้)
สำนักพิมพ์ : บันลือบุ๊คส์
ปีพิมพ์ : 2554
ISBN : 9786169080336
ราคา : 169 บาท

โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแนวนี้สักเท่าไหร่
ตอนแรกพออ่านชื่อเรื่องแล้วยังนั่งคิดเลยว่า จะอ่านได้กี่อ่านหว่ะเนี้ย (ความรู้สึกส่วนตัว)

ลองอ่านดูก่อนดีกว่า… ปรากฎว่าอ่านแล้วถึงรู้สึกว่าจริงๆ เราน่าจะอ่านหนังสือแบบนี้ตั้งนานแล้ว

อ่านแล้วรู้สึกถึงแรงบันดาลใจของการทำความดีขึ้นมาเลยครับ
ภาษาที่ใช้ก็ดูไม่น่าเบื่อเหมือนที่คิด แถมมีภาพการ์ตูนกราฟิกสร้างสีสันได้มากเลย

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ได้เล่าถึงประสบการณ์ของพี่แอ้ นางพยาบาลที่ทำงานด้วยใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการกำลังใจและแนะนำวิธีที่จะช่วยเติมเต็มที่สิ่งขาดหายไปของผู้ป่วย รวมไปถึงการดูแลจิตใจของครอบครัวผู้ป่วยด้วย

สารบัญในหนังสือเล่มนี้
บทที่ 1 – วิกฤตคือโอกาส
บทที่ 2 – ปาฏิหาริย์สร้างได้
บทที่ 3 – ก้าวข้ามขีดจำกัด
บทที่ 4 – อย่ารอ
บทที่ 5 – เรื่องเล็กๆ ที่มีความหมาย
บทที่ 6 – ลูกหลาน : ความกังวลตราบสิ้นลมหายใจ
บทที่ 7 – อโหสิกรรม
บทที่ 8 – กลับไปตายที่บ้าน
บทที่ 9 – ความปรารถนาของเด็กผู้ต้องจากไปก่อนวัยอันควร
บทที่ 10 – ความผูกพัน
บทที่ 11 – ความรักของพ่อแม่
บทที่ 12 – ยังไม่อยากตาย
บทที่ 13 – พลังของการก่อน

เห็นแค่สารบัญก็น่าติดตามแล้วใช่มั้ยครับ
แต่ละบทจะแทรกหน้าเทคนิคต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยให้ด้วยนะครับ

เอาเป็นว่าผมขอเล่าหน้าที่ผมประทับใจให้ฟังดีกว่า (ขออนุญาตย่อนะครับ ชอบมากๆ)

“จะบอกลาคนที่รักอย่างไร”

เรื่องราวประมาณว่าคนไข้คนนึงถามพี่แอ้ว่าเขาควรจะบอกแม่เขาอย่างไรว่าต่อไปจะไม่มีเขาแล้ว พี่แอ้ก็ตอบไปว่า “ถ้าบอกไปตรงๆ ว่า “แม่ครับ ให้ผมตายนะ ผมไม่ไหวแล้ว” แม่ก็คงหัวใจสลายและตายตามลูกไปแน่ๆ ดังนั้นให้บอกว่า “แม่ครับให้ผมไปก่อนได้มั้ย สักวันแม่ก็ต้องตามไป ทำบุญเยอะๆ นะครับ ผมจะรอแม่” น่าจะดีกว่าหรือปล่าว”

จากนั้นพี่แอ้ก็ไปคุยกับแม่ของคนไข้ต่อว่า “ตอนนี้น้องเขาอาการหนักมาก ถ้าน้องไม่ไหว พี่จะทำอย่างไรคะ” แม่ของน้องก็ยืนยันว่าจะให้น้องเขาอยู่ต่อ พี่แอ้จึงถามต่อไปอีกว่า “ถ้าน้องเจ็บปวดมากต้องให้ยาทุกชั่วโมง ขาดยาไม่ได้ จะให้เขาอยู่ต่อมั้ย” แม่ของน้องจึงตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นให้ลูกไปเถอะ แม่ไม่อยากเห็นเขาทรมาน สงสารลูกมาก

เมื่อถึงเวลาที่ต้องบอกลา แม่ก็ได้จับมือลูกชายแล้วบอกว่า “แม่จะทำบุญให้นะลูก ลูกรอแม่ด้วย แล้วแม่จะตามไป

เป็นยังไงกันบ้างครับนี่เป็นแค่ตัวอย่างเพียงแค่หน้าเดียวเท่านั้น
ยังมีอีกหลายหน้าที่ผมชอบมากๆ อีก เอาเป็นว่าผมก็ขอแนะนำไว้เพียงเท่านี้แล้วกันครับ

เพื่อนๆ หาซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ตามร้านหนังสือทั่วไปเลยนะครับ
สำหรับชาวห้องสมุดผมก็แนะนำให้มีติดไว้ที่ห้องสมุดนะครับ

ปล. ขอบคุณมากนะครับสำหรับหนังสือดีๆ ที่ส่งมาให้ผมอ่าน

แผ่นดินไหวทำให้ห้องสมุดเสียหายแค่ไหน (ชมภาพจากประเทศญี่ปุ่น)

เวลาก็ผ่านมาเดือนกว่าๆ แล้วกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นและสึนามิในญี่ปุ่น
จนถึงวันนี้แล้วก็ยังคงมี after shock เรื่อยๆ และยังคงมีข่าวแผ่นดินไหวอยู่นะครับ
หลายๆ คนก็คงอยากรู้ว่าห้องสมุดในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นยังไงในช่วงแผ่นดินไหว วันนี้ผมจึงขอรวบรวมภาพมาให้ดูกัน

แผ่นดินไหวแน่นอนครับว่า “หนังสือคงหล่นออกมาจากชั้นกันอย่างเละเทะ”
ซึ่งบ้างที่ชั้นหนังสือก็ล้มลงมาเลย ซึ่งเกิดความเสียหายมากมาย บางที่ฝ้าถล่มเลยครับ
เอาเป็นว่าเราไปชมภาพกันก่อนดีกว่านะครับ แล้วจะรู้ว่าแผ่นดินไหวทำให้ห้องสมุดเสียหายแค่ไหน

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นภาพเพียงบางส่วนเท่านั้นนะครับ ที่มาของรูปมาจาก twitter ของเพื่อนๆ บรรณารักษ์ที่อยู่ญี่ปุ่นนะครับ
ขอบคุณเพื่อนๆ จากญี่ปุ่น Thx @spwn11 @popongap @jing_ke @halnaaaaa313 @Sequoia0223 @1daymashoue @tsukubauniv_lib

ภาพห้องสมุดของญี่ปุ่นที่ผมชอบดูมาจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย Tsukuba ครับ
ตามดูได้จาก http://twitpic.com/photos/tsukubauniv_lib

ล่าสุดที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย Tsukuba มีวิธีการแก้ไขไม่ให้หนังสือหล่นจากชั้น
โดยนำเชือกมากั้นไว้กึ่งกลางหนังสือ หรือสื่อประเภทซีดีเพื่อไม่ให้หนังสือหรือซีดีหล่นเวลาเกิดแผ่นดินไหว (ตามภาพด้านล่าง)

เรื่องแบบนี้ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอกนะครับ เพราะมันมีแต่ความสูญเสียและความเสียหายไม่ว่าจะเป็นเงิน รวมไปถึงจิตใจ

สำหรับเมืองไทยในภาคใต้ที่ประสบกับภัยพิบัติดินโคลนถล่มและน้ำท่วม
ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว สู้ๆ นะครับ

ปล.ก่อนจบผมต้องขอบอกก่อนนะครับว่าในช่วงที่แผ่นดินไหวห้องสมุดจะมีหนังสือหล่นออกจากชั้นแบบในรูป แต่ปัจจุบันบรรณารักษ์ก็จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบแล้วนะครับ สังเกตได้จากห้องสมุดของมหาวิทยาลัย tsukuba ครับ

เปรียบเทียบข้อดีของหนังสือฉบับกระดาษกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

วันนี้เจอประเด็นนึงในกลุ่มบรรณารักษ์ไทยใน Facebook “ข้อดีและข้อเสียของ E-Book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง ?” ซึ่งประเด็นนี้ผมจะเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแต่ไม่มีเวลา วันนี้ผมจึงขอเขียนเรื่องนี้ออกเป็นสองประเด็นแล้วกัน

ประเด็นที่ผมจะนำเสนอ มาจากบทความ 2 เรื่อง ดังนี้
1. 5 ประเด็นที่บอกว่าหนังสือดีกว่า ebooks (http://www.readwriteweb.com/archives/5_ways_that_paper_books_are_better_than_ebooks.php)
2. 5 ประเด็นที่บอกว่า ebooks ดีกว่าหนังสือ (http://www.readwriteweb.com/archives/5_ways_that_ebooks_are_better_than_paper_books.php)

เรามาดูกันที่ละเรื่องเลยดีกว่านะครับ

5 ประเด็นที่บอกว่าหนังสือดีกว่า ebooks

1. Feel หรือ ความรู้สึก – เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมากอยู่แล้วว่าหนังสือแบบกระดาษยังคงให้ความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านมากกว่า การได้จับกระดาษ พลิกกระดาษไปทีละหน้าเป็นเรื่องที่ ebooks ยังหาความรู้สึกมาแทนไม่ได้

2. Packaging หรือ รูปลักษณะของตัวเล่มหนังสือ – นอกจากในเรื่องของตัวเล่มแล้วยังรวมถึงสิ่งที่มากับหนังสือ เช่น ภาพประกอบหนังสือด้วย การที่รูปบางรูปไปอยู่ใน ebooks มันทำให้ไม่สะดวกต่อการดูเพราะหน้าจอของ ebooks มันเล็กกว่าหนังสือบางเล่ม แม้ว่า ebooks จะมีฟังค์ชั่นในการขยายรูปภาพ แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่ากับการดูภาพฉบับจริง นอกจากนี้ปกหนังสือก็เป็นจุดดึงดูดให้คนสนใจหนังสือมากกว่าด้วย หากปกหนังสือในอีบุ๊คหลายๆ รุ่นยังไม่มีภาพที่เป็นสีเลย ทำให้จุดนี้หนังสือแบบเดิมก็ยังคงดีกว่า ebooks

3. Sharing หรือการแบ่งปัน – ในแง่นี้หมายถึงการให้เพื่อนยืมไปอ่าน การนำหนังสือไปบริจาคต่อให้คนอื่น ถ้าเป็น ebooks มันจะมีการติดสิทธิ์จำพวก DRM ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวกหรือบางเล่มไม่สามารถนำไปให้คนอื่นอ่านต่อได้ ลิขสิทธิ์ของ ebooks จะมีแค่เจ้าของเพียงคนเดียว แต่หนังสือหากเราอ่านจบแล้วยังส่งต่อให้ใครก็ได้ยืมอ่านต่อ

4. Keeping หรือ การเก็บ – จากเรื่องของ DRM ในข้อเมื่อกี้แล้วสิ่งที่น่าคิดอีก คือ ในอนาคต ebooks อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากกว่านี้ สมมุติว่าเราซื้อ ebooks ในปีนี้ เวลาผ่านไปอีก 10 ปีเราอยากจะอ่านเล่มนี้อีก เราอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ เปลี่ยนโปรแกรมอ่านใหม่ ซึ่งมันก็ไม่เหมาะเลย (ยกตัวอย่างไฟล์โปรแกรมที่เราเคยเล่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ลองเอาโปรแกรมนั้นมาลองเล่นดูสิครับ) แต่มุมมองกลับกันถ้าเป็นหนังสือ อีกสิบปีเราอยากอ่านก็หยิบหนังสือเล่มเดิมออกมาไม่ต้องเปลี่ยนปกใหม่เรก็อ่านได้ครับ 5555

5. Second hand book หรือ หนังสือมือสอง -? เรื่องนี้ก็ไม่พ้น DRM เช่นกัน หากเราอ่านหนังสือเล่มเดิมๆ จนเบื่อแล้ว ถ้าเป็นหนังสือเราก็เอาไปขายต่อเป็นหนังสือมือสองได้ แต่ ebooks ไม่สามารถขายได้เนื่องจากมันจะผูกกับสิทธิ์เจ้าของเพียงคนเดียว

เป็นไงบ้างครับ แบบนี้ยืนยันได้แล้วหรือยังว่าหนังสือย่อมดีกว่า ebooks
แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจจนกว่าเพื่อนๆ จะอ่านบทความที่สองนี้นะครับ

5 ประเด็นที่บอกว่า ebooks ดีกว่าหนังสือ

1. Social Highlighting หรือ ช่วยกันเน้นข้อความที่น่าสนใจ – ฟังค์ชั่นนี้เป็นจุดเด่นของการอ่านหนังสือบน ebooks ความสามารถในการแบ่งปันหรือการอ่านหนังสือร่วมกัน (แต่ละคนต้องซื้อหนังสือหรือดาวน์โหลดเล่มเดียวกันมาเท่านั้นนะ) เมื่อเจอข้อความเด็ดๆ หรือน่าอ่านเราก็จะเน้นข้อความนั้นเพื่อให้เพื่อนๆ ที่อ่านเล่มเดียวกันได้เห็นทำให้การอ่านสนุกมากยิ่งขึ้น ลองมองภาพนะว่าหากเราไปยืมหนังสือห้องสมุดมาอ่านแล้วเราทำ highlight ลงไป คงโดนด่าแน่นอน

2. Notes หรือ จดบันทึก – ฟังค์ชั่นนี้จะคล้ายๆ กับเมื่อกี้ แต่เน้นการเติมข้อมูลลงไปด้วย บางคนอ่านแล้วก็สรุปใจความสำคัญลงไปใน ebooks เผื่อในอนาคตกลับมาอ่านใหม่จะได้จำได้ นอกจากนี้ยังใช้บันทึกเพื่อเตือนความจำในหนังสือได้

3. Look up of word หรือ ค้นหาคำในหนังสือ – หากหยิบหนังสือแบบเดิมมาอ่านการที่เราจะต้องหาคำที่เราอยากอ่านในหนังสือทำได้โดยการที่เราจะต้องอ่านมันทั้งเล่มแล้วก็จดมันออกมา แต่ใน ebooks มีฟังค์ชั่นในการค้นหาคำซึ่งมันสะดวกมากกว่าการที่เราจะต้องอ่านมันทั้งเล่ม

4. Social network หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ – เมื่อเราเจอประโยคเด็ดๆ ในหนังสือบางทีเราก็อยากจะแชร์สิ่งนั้นไปให้เพื่อนๆ ได้อ่านเหมือนกัน ตอนนี้ ebooks device หลายรุ่นก็ทำฟีเจอร์เพื่อให้เครื่อง ebooks ต่ออินเทอร์เน็ตแล้วส่งข้อความผ่าน twitter หรือ facebook ได้แล้ว เช่น? Kindle 2.5

5. Search หรือ การค้นหา – ฟีเจอร์เพิ่มเติมที่น่าสนใจของการอ่าน ebooks คือเราสามารถนำข้อความใน ebooks ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน search engine ได้ด้วย ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่มากกว่าการอ่านหนังสือได้ด้วย

โดยรวมๆ แล้วจุดเด่นของ ebooks จะเน้นไปในแนวทางของสังคมออนไลน์มากขึ้น การอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน การพบปะกับคนที่ชอบหนังสือในแนวเดียวกัน รวมถึงการเรียนรู้ที่มากกว่าแค่การอ่านหนังสือด้วย

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นจุดเด่นของหนังสือและ ebooks ใครชอบอะไรก็เลือกแบบนั้นแล้วกัน
ยังไงซะ การอ่านก็มีประโยชน์อยู่แล้ว รักการอ่านมากๆ ทำให้มีความรู้และเกิดไอเดียมากๆ ครับ

เทศกาลให้หนังสือเป็นของขวัญ ครั้งที่ 1 (Book For Gift 2010)

วันนี้มีอีเว้นท์ที่น่าสนใจมาประกาศให้รับทราบกันอีกแล้วครับ เป็นงานอีเว้นท์ที่เกี่ยวกับหนังสือ
อย่างที่รู้กันว่าเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปี กิจกรรมที่พบบ่อยที่สุด คือ การให้ของขวัญส่งท้ายปี
ซึ่งอีเว้นท์นี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการมอบความรู้ให้เป็นของขวัญ “เทศกาลให้หนังสือเป็นของขวัญ

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องานภาษาไทย : เทศกาลให้หนังสือเป็นของขวัญ
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Book For Gift 2010
วันและเวลาที่จัดงาน : 3 – 12 ธันวาคม 2553 เวลา 10.00-20.00 น.
สถานที่จัดงาน : ฮอลล์ 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ผู้จัดงาน : สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

เอาเป็นว่าแค่ชื่องานเราทุกคนคงเดาออกว่าเป็นงานแนวไหน หลักๆ คือการจำหน่ายหนังสือนั่นแหละครับ แต่ที่พิเศษคือการเลือกหนังสือเพื่อให้เป็นของขวัญนี่สิ หนังสือที่เกี่ยวกับความสุข หนังสือชุดที่น่าสนใจ หนังสือที่เหมาะสำหรับคนในแต่ละกลุ่มเป็นแบบไหน ในงานนี้มีแยกรายละเอียดให้หมด การออกร้านของสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งมีสิ่งที่โดเด่นกว่างานหนังสือปกติ คือ มีการห่อของขวัญให้ด้วย พิเศษจริงๆ เลยใช่มั้ยครับ

กิจกรรมในงานที่น่าสนใจมีหลายอย่าง เช่น

– นิทรรศการ ?คิดถึงของขวัญ คิดถึงหนังสือ? (Book for Gift)
– กิจกรรมสอยดาว ?ต้นไม้แห่งความสุข? (Book Christmas)
– กิจกรรม ?DIY Book for Gift?
– กิจกรรม ?Book for Gift Charity Day: ร้อยรัก ผูกใจ ให้หนังสือเป็น ของขวัญ?

เอาเป็นว่างานนี้ไม่ได้เหมาะแค่บรรณารักษ์อย่างเดียวนะครับ เพื่อนๆ นอกวงการห้องสมุด คนทั่วไป เด็ก ผู้ใหญ่ ชาย หญิง …. น่าจะมางานนี้ครับ

ของขวัญชิ้นไหนจะมีค่ามากกว่า “การให้ความรู้กับคนอื่น” ซึ่งหนังสือถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกได้ครับ

เว็บไซต์ทางการของงาน เทศกาลให้หนังสือเป็นของขวัญ : http://www.thailandbookfair.com/bookforgift2010/

คลิปวีดีโอสอนการจัดห้องสมุดในบ้านของคุณอย่างง่าย

บ้านของเพื่อนๆ มีหนังสือเยอะหรือปล่าว ถ้ามีเยอะอยากจัดให้เป็นห้องสมุดในบ้านหรือไม่
ถ้าอยากผมแนะนำให้ดูคลิปวีดีโอนี้ “คลิปวีดีโอสอนการจัดห้องสมุดในบ้านของคุณอย่างง่ายๆ

ดูคลิปวีดีโอสอนการจัดห้องสมุดในบ้านของคุณอย่างง่ายๆ

ผมขอสรุปเนื้อหาจากวีดีโอนะครับ
การจัดห้องสมุดในบ้านของคุณอย่างง่ายๆ สิ่งที่จำเป็นต่อการจัดการ
1. หนังสือ
2. ทักษะในการจัดการ
3. การกำหนดหมวดหมู่

ส่วนตัวช่วย (ถ้ามีจะดีมาก) คือ โปรแกรมที่ใช้ในการจัดการห้องสมุดอย่างง่ายๆ

การจัดห้องสมุดในบ้านของคุณอย่างง่ายๆ? แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ (เลือกตามถนัด)
1. Organize by genre (จัดกลุ่มหนังสือออกประเภท) อันนี้เป็นการจัดแบบง่ายที่สุด
วิธีการก็ง่ายๆ เอาหนังสือทั้งบ้านมากองไว้ที่เดียวกันแล้วแยกกลุ่มหนังสือออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น สารคดี, วรรณกรรม, หนังสืออ้างอิง, หนังสือภาพ (อันนี้แล้วแต่เราจะแบ่ง ซึ่งเราดูเป็นกลุ่มประเภทใหญ่ๆ ของหนังสือ)

2. Organize by library classification (จัดกลุ่มหนังสือตามเนื้อหาหรือหมวดหมู่) อันนี้เน้นตามหลักบรรณารักษ์
วิธีการนี้ต้องอาศัยทักษะของวิชาบรรณารักษ์นิดนึง คือแยกตามหมวดหมู่ของเนื้อหา แล้วเรียงตามหมวดหมู่ ซึ่งเพื่อนๆ สามารถใช้การจัดหมวดหมู่แบบไหนก็ได้ เช่น ดิวอี้ แอลซี ….. โดยดูง่ายๆ ที่หน้า CIP หรือบรรณารุกรมที่หอสมุดแห่งชาติเป็นคนให้มา

3. Organize by function (จัดหนังสือตาม function การใช้งาน) อันนี้เน้นการใช้งาน

วิธีการนี้เหมาะมากๆ สำหรับการใช้งานที่เจาะจง และเฉพาะทาง เช่น เอาหนังสือการปรุงอาหารไว้ในครัว หนังสือคอมพิวเตอร์ไว้ที่โต๊ะคอมพิวเตอร์ วรรณกรรมไว้หัวเตียง อันนี้จัดหนังสือตามสถานที่เป็นหลัก

4. Organize by color (จัดหนังสือตามสีของปก) อันนี้เน้นสวยงาม
วิธีการนี้สำหรับคนที่ชอบความสวยงามเป็นหลักคือการไล่สีของปกหนังสือ สีเหลือง สีแดง สีเขียว แต่เนื้อหาไม่สนใจซึ่งสิ่งที่ได้เป็นแค่ความสวยงามเท่านั้น

เป็นไงกันบ้างครับ การจัดห้องสมุดในบ้านของคุณไม่ใช่เรื่องยากใช่มั้ย
ลองเอาวิธีต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ดู ผมว่าแค่นี้บ้านของคุณก็สามารถเป็นห้องสมุดส่วนตัวได้แล้วครับ
เอาเป็นว่าวันนี้ก็แนะนำแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ ไว้วันหลังจะหาคลิปวีดีโอแนวๆ มาแนะนำอีกนะครับ

URL คลิปวีดีโอนี้ http://www.howcast.com/videos/241548-How-To-Organize-a-Home-Library

ประชาสัมพันธ์โครงการเปลี่ยนหนังสือสื่อรักประสานความรู้

วันนี้มีข่าวสารมาประชาสัมพันธ์ครับ ข่าวนี้ผมนำมาจาก facebook ประมาณว่ามีคนมาช่วยให้ผมเข้าร่วม
พอเข้าไปอ่านแล้วผมว่ามันน่าสนใจดี โครงการนี้ชื่อว่า “โครงการเปลี่ยนหนังสือสื่อรักประสานความรู้”

ชื่อกิจกรรมนี้ คือ โครงการเปลี่ยนหนังสือสื่อรักประสานความรู้
จัดโดย ห้องสมุดประชาชน ?เฉลิมราชกุมารี? จังหวัดลำพูน

แนวคิดและหลักการของกิจกรรมนี้
คือ ให้ทุกคนนำหนังสือที่ตนเองชอบอ่าน หรือหนังสือโปรดเข้าร่วมโครงการฯ
ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดได้อ่านหนังสือดีๆ และถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้สู่ชุมชนด้วย
โดยบรรณารักษ์จะนำหนังสือที่ได้รับมาจัดเข้าสู่ระบบยืม-คืนหนังสือให้เอง

เพื่อนๆ ลองคิดกันดูนะครับว่า 1 คน 1 เล่ม ถ้ามีคนเข้าร่วม 100 คน ก็จะมี 100 เล่ม ถ้ามีคนเข้าร่วม 1000 คน ก็จะมี 1000 เล่ม
หนังสือ 1 เล่มของเราอาจจะเป็นที่ต้องการของคนอื่น
และเช่นกันเราเองก็อยากอ่านหนังสือของคนอื่นๆ เช่นกัน
โครงการนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ แลกเปลี่ยนหนังสือกันได้ ทำให้ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อหนังสือเพิ่มด้วย

เอาเป็นว่าโครงการนี้ก็มีประโยชน์มากมายนะ และเป็นไอเดียของห้องสมุดประชาชนที่ดีเลย
ห้องสมุดประชาชนอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์และจัดกิจกรรมคล้ายๆ กันได้นะครับ

เพื่อนๆ สามารถสมัครและส่งหนังสือเข้าร่วมโครงการได้ที่
ห้องสมุดประชาชน ?เฉลิมราชกุมารี? จังหวัดลำพูน
ถนนสันป่ายาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 053-562608

หรือเว็บไซต์ห้องสมุด http://lpn.nfe.go.th/lib_muang/
หรือทาง Facebook ห้องสมุด http://www.facebook.com/lib.lamphun

วันนี้ก็ขอฝากไว้เพียงเท่านี้นะครับ ผมเองก็จะส่งหนังสือที่ผมชอบไปให้ที่นี่เช่นกัน
แต่เดี๋ยวต้องกลับไปเลือกก่อนนะ แล้วจะมาอัพเดทว่าผมส่งเรื่องอะไรไปให้นะ

นายห้องสมุดกับการแนะนำหนังสือน่าอ่านแบบง่ายๆ (How to…)

วันนี้ใครที่เขามาที่ Libraryhub แล้วเห็นกรอบด้านล่างขวาเพิ่มก็ขอว่าอย่าตกใจนะครับ
เพราะนั้นคือกล่องสำหรับแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ หรือ กล่อง Bookrc ของผมนั้นเอง

แล้ว Bookrc มาจากไหน –> คำตอบคือมันมาจาก Book Recommend นั่นเอง
ผมตั้งใจว่าเวลาไปร้านหนังสือแล้วเจอหนังสือดีๆ ผมก็อยากจะนำเสนอให้เพื่อนๆ รู้จักเช่นกัน

แล้วข้อมูลในกล่อง Bookrc มาจากไหน???
คำตอบ คือ ผมคิด Tag #bookrc เวลาที่ผมอยากจะแนะนำหนังสือสักเล่มให้เพื่อนๆ
เช่น “รวม 7 สุดยอดวิชาหาเงินผ่านเน็ตพร้อมเคล็ดลับทำเงินที่ได้ผลจริง “ผม รวยออนไลน์ได้ยังไง” 195 บาท #bookrc http://twitpic.com/30g1rj

หลักการง่ายๆ ครับ
1. พิมพ์ข้อความแนะนำแบบสั้นๆ
2. พิมพ์ชื่อหนังสือ
3. พิมพ์ราคา (แล้วแต่นะครับ)
4. ถ่ายรูปหนังสือ (อันนี้ก็แล้วแต่นะครับ)
5. อันนี้ห้ามลืมครับ
#bookrc

หนังสือที่ผมแนะนำจริงๆ แล้วมันคละกันไปใน Timeline ของผมแหละ
แต่ผมเน้นแนะนำหนังสือบางกลุ่มเท่านั้นนะครับ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่ม textbook

ทำไมต้องแนะนำหนังสือเฉพาะกลุ่ม

– กลุ่มท่องเที่ยว เป็นหนังสือที่หลายๆ คนให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องแนะนำการท่องเที่ยว ที่กิน ที่พัก และกิจกรรมในการท่องเที่ยว ซึ่งในกลุ่มนี้ผมยังแถมเรื่องของวัฒนธรรมพื้นเมืองด้วย เช่น วัฒนธรรมของสิงคโปร์ วัฒนธรรมท้องถิ่นสุโขทัย ฯลฯ

– กลุ่มธุรกิจ เป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะอาชีพแนวใหม่ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ หรือธุรกิจออนไลน์ที่กำลังเป็นกระแสในสังคม ซึ่งผมแนะนำหนังสือในกลุ่มเหล่านี้เพื่อให้ผู้ที่อยากทำธุรกิจใช้เป็นแนวทางในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

– กลุ่มคอมพิวเตอร์ อันนี้เป็นความสนใจส่วนตัวจึงต้องแนะนำว่าผมชอบอ่านแนวไหน คอมพิวเตอร์ระดับไหนที่ผมต้องการอ่าน ซึ่งโดยรวมแล้วผมไม่อ่านคอมพิวเตอร์ขั้นสูงมาก เช่น การเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์หรอกนะครับ

– กลุ่ม text book หลายๆ คนคิดว่า text book ราคาแพงมาก ซึ่งผมอยากจะบอกว่าหนังสือ text book หลายๆ เล่มที่ผมแนะนำนี้ไม่ได้แพงเกินไปเลย ราคาผมจะพยายามไม่ให้เกิน 1000 บาท ผมคิดว่าการอ่านหนังสือ text book จะช่วยฝึกให้เราเก่งด้านภาษาด้วย

รูปหนังสือที่ผมแนะนำสามารถดูได้จาก http://twitpic.com/search#q=#bookrc&type=recent&page=1

เอาเป็นว่าใครที่กำลังหาหนังสืออ่าน ก็สามารถแวะเข้ามาดู กล่อง Bookrc ของผมได้นะครับ
ส่วนใครที่สนใจอยากจะร่วมแนะนำหนังสือ ก็อย่าลืมใส่ tag #bookrc (ใน twitter only) นะครับ
สำหรับวันนี้ผมคงแนะนำเท่านี้ก่อนนะครับ แล้ววันหลังผมจะหาวิธีแนะนำหนังสือแบบแปลกมาให้เพื่อนอีกนะครับ

นายห้องสมุดพาเดินงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ 2553 (งานสัปดาห์หนังสือ)

วันนี้ผมแวะไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติมา เลยไม่ลืมแวะมาเล่าเรื่องราวให้เพื่อนๆ อ่าน
นอกจากนี้ผมยังถ่ายรูปบรรยากาศในงานมาพอสมควรเลยเอามาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ดูเช่นกันครับ

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ หรือ ที่หลายๆ คนก็ยังเรียติดปากว่า “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ”
(จริงๆ แล้วงานที่จัดตอนต้นปีต่างหากครับที่เรียกว่างาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ”)
แต่เอาเหอะครับยังไงก็ คือ “งานหนังสือ” เหมือนๆ กันนั่นแหละครับ

ปีนี้จัดดีเหมือนกับทุกๆ ปีแหละครับ บรรยากาศโดยรวมเกือบทุกบูทเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย
เดินไปทางไหนก็มีแต่ฝูงชนที่สนใจในเรื่องของการอ่าน (หนอนหนังสือ) เต็มไปหมด

กิจกรรมในงานโดยภาพรวมนอกจากการจำหน่ายหนังสือแล้ว
ยังมีส่วนที่แสดงนิทรรศการหนังสือน่าอ่าน และกิจกรรมสัมมนาต่างๆ มากมาย

สิ่งที่วันนี้ผมประทับใจในงานสัปดาห์หนังสือ

– ตุ๊กตามาสค็อตในงานนี้มีมากมายเลย ดึงดูดให้เด็กๆ อยากอ่านหนังสือ
– ยังคงมีบริการส่งหนังสือถึงบ้านโดยไปรษณีย์ไทย
– ป้ายเตือนเรื่อง ระวังกระเป๋า หรือ ระวังทรัพย์สิน มีจำนวนมากขึ้น เพื่อเตือนผู้เข้าร่วมงาน
– ร้านหนังสือกระหน่ำลดราคากันเพียบเลย
– กิจกรรมแนะนำหนังสือขายดี 10 อันดับของแต่ละร้าน
– ผู้ปกครองพาบุตรหลานมางานหนังสือเพียบเลย ดีจังเด็กๆ จะได้ฝึกการอ่านตั้งแต่เด็ก
– ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือมีจำนวนมากเหมือนทุกๆ ปี
– กิจกรรมในห้องสัมมนาต่างๆ ได้รับความนิยมและมีผู้เข้าร่วมเหมือนเยอะขึ้น
– หนังสือออกใหม่มีจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายเสียมาก แต่หนังสือแปลก็ได้รับความนิยมเช่นกัน
– พื้นที่แสดงหนังสือที่น่าสนใจของส่วนกลางเป็นระเบียบเรียบร้อย
– ให้พิมพ์หนังสือส่วนตัวฟรีไม่เกิน 200 หน้า
– รับบริจาคหนังสือเพื่อห้องสมุดที่ขาดแคลนหนังสือ รวมถึงห้องสมุดที่โดนน้ำท่วม
– ระบบการสืบค้นหนังสือดีขึ้นเยอะเลย ค้นแล้วเจอบอกว่าอยู่บูทไหนด้วย

เอาเป็นว่าวันนี้ขอสรุปแค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับ แล้วเดี๋ยวภายในอาทิตย์นี้ผมคงได้ไปอีกรอบ
แล้วจะเอามาเล่าเพิ่มเติมนะครับ ยังไงก็อย่าลืมติดตามดูกันได้ที่นี่นะครับ
วันนี้นายห้องสมุดต้องขอตัวก่อน

ชมภาพบรรยากาศในงานได้เลยครับ

[nggallery id=29]

Nanmeebooks Family Day : อ่านหนังสือทุกวันได้ไหมเนี่ย

วันนี้มีข่าวประชาสัมพันธ์มาฝากนะครับ สำหรับคนที่จะไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
นานมีบุ๊คส์ เขาได้จัดกิจกรรม Nanmeebooks Family Day ตอน “อ่านหนังสือทุกวันได้ไหมเนี่ย
กิจกรรมนี้จัดในวันที่ 23 ตุลาคม 2553 ณ Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กิจกรรม Nanmeebooks Family Day ประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น
1. Adult Zone อ่านสนุกครบทุกรส
2. หนังสือภาษา บันเทิงเริงร่า เก่งภาษา ง่ายนิดเดียว
3. หนังสือเสริมความรู้ ฉลาดอ่าน ฉลาดคิด พิชิตความสำเร็จ
4. วรรณกรรมเยาวชน เชิญมาท่องคาถา ฝ่ากระจกวิเศษ สู่ดินแดนวรรณกรรมที่สนุกสุดยอด
5. หนังสือสำหรับเด็กอายุ 0-8 ปี นานมีบุ๊คส์คิดดี้ สร้างเด็กดี มีจินตนาการ
6. การ์ตูนความรู้ ค้นหาความรู้ที่สนุกที่สุดกับเกมปริศนาท้าพลังสมอง

นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีเลย การที่ครอบครัวมางานหนังสือแล้วได้เข้าร่วมนี้
ผมเชื่อว่าจะทำให้บุตรหลานของท่านมีความใฝ่รู้และอาจจะเริ่มทำให้เขาอยากอ่านหนังสือก็ได้
แต่เสียดายที่จัดแค่วันเดียว คือวันที่ 23 ตุลาคม 2553

แต่ไม่เป็นไรครับแค่พาบุตรหลานของท่านมางานหนังสือ
ผมเชื่อครับว่าอย่างน้อยก็ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจในการอ่านแล้ว
เพราะในงานมีหนังสือมากมายและคงต้องมีสักเล่มที่เขาอยากอ่าน

กิจกรรมของ นานมีบุ๊คส์ ยังมีอีก เช่น
22/10/53 – อบรมครูบรรณารักษ์ หัวข้อ ส่งเสริมการอ่านเพื่อปลูกฝังนักเรียนให้เป็นคนดี คิดเป็น และมีคุณธรรม
23/10/53 – งาน Nanmeebook Family Day
23/10/53 – งานเปิดตัวหนังสือ “กระจกวารี”
24/10/53 – งานเปิดตัวหนังสือ “ยอดเขาแห่งความสุข หุบเขาแห่งอุปสรรค”
28/10/53 – งานเปิดตัวหนังสือ “ลูกของลูกสาว”
29/10/53 – อบรมครูวิทยาศาสตร์ หัวข้อ การสื่อความหมายทางวิทยาศาสตร์

เอาเป็นว่าก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย หัวข้อในวันที่ 22 ตุลาคม 2553
เรื่องเกี่ยวกับบรรณารักษ์ มีถึงตอนเย็นเลยนะครับ ดังนั้นยังพอมีเวลาในช่วงบ่าย
เพื่อนๆ สามารถเข้าร่วมฟังได้นะครับ
เอาเป็นว่าผมขอตัวไปเยี่ยมชมงานก่อนนะ

อ๋อ หากอยากพบนักเขียนของบู๊ทนานมีบุ๊คส์?เพื่อนๆ สามารถดูตารางเวลาได้ที่ www.nanmeebooks.com

เพื่อนสามารถดาวน์โหลดบัตรเชิญได้ที่ “บัตรเชิญเข้าร่วมงาน Nanmeebook Family Day