คลิปวีดีโอ : ทำไมพวกเรายังต้องไปห้องสมุด (2021)

คลิปวีดีโอ : ทำไมพวกเรายังต้องไปห้องสมุด (2021)

วันนี้มาอัพเดทบล็อก Libraryhub บ้าง เดี๋ยวจะหาว่าหายไปนาน …

ก่อนเริ่มงานวันนี้ ผมเข้าไปหาคลิปวีดีโอดูใน Youtube ก็เจอคลิปนี้ “Why do we visit the library? (2021)” หรือแปลตรงตัว คือ “ทำไมพวกเรายังต้องไปห้องสมุด” ซึ่งจัดทำโดย หอสมุดแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) https://www.youtube.com/watch?v=pvwVRY6RaPQ

เราไปดูคลิปวีดีโอกันก่อนเลย

เป็นยังไงกันบ้างครับ

ในคลิปวีดีโอได้มีการถามย้ำว่า “ทำไมพวกเรายังต้องไปห้องสมุด”
ซึ่งเชื่อว่ามีคำตอบมากมายและแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ

“New Worlds” “A Better Tomorrow” “Endless Possibilities”
“โลกใบใหม่” “สิ่งที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้” และ “ความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

นอกจากนี้เราได้เห็น Keyword ที่น่าสนใจอีกมากมาย
โดยห้องสมุดยุคใหม่ที่หลายคนนึกถึง คือ “Connection, Communication, Experience, Discovery, Creation, Growth”

และอีกสิ่งหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) นำเสนอนิยามของห้องสมุดคือ
“A Knowledge platform that connects the world” เราได้เห็นการทำงานที่เชื่อมโยงโลกของหนังสือ ภูมิปัญญา ความคิด จากอดีต ถึงปัจจุบัน และก้าวสู่อนาคต

เอาเป็นว่าก็ขอชื่นชมคลิปวีดีโอนี้และอยากส่งต่อให้เพื่อนๆ ได้ชมครับ

หอสมุดแห่งชาติโฉมใหม่ ชาตินี้ ไม่ต้อง รอชาติหน้า

หอสมุดแห่งชาติโฉมใหม่ ชาตินี้ ไม่ต้อง รอชาติหน้า

วันนี้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนหอสมุดแห่งชาติอีกครั้ง (ช่วงบ่ายผมมีประชุม มรภ.สวนสุนันทา)
เห็นหลายคนพูดถึง NLT Smart Library ของหอสมุดแห่งชาติ ว่าดีงามมาก เลยต้องมาชมให้เห็นกับตา
NLT Smart Library เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561

ภาพแรกที่เห็น คือ การเปลี่ยนจากร้านขายหนังสือเดิมของกรมศิลปากร มาเป็น NLT Smart Library นี่หว่า
(เดินเข้าหอสมุดแห่งชาติมาจะเห็นทันที)

Read more

หอสมุดสำหรับผู้พิการทางสายตาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

หอสมุดสำหรับผู้พิการทางสายตาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

มีน้องคนนึงอยากให้ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดสำหรับผู้พิการแบบต่างๆ และให้ยกตัวอย่างในต่างประเทศ
วันนี้ผมขอแนะนำ ห้องสมุดสำหรับผู้พิการทางสายตา ก่อนนะครับ

จริงๆ มีหลายประเทศที่ยกระดับเป็น “หอสมุดสำหรับผู้พิการทางสายตาแห่งชาติ” หรือ National Library for Blind

Read more

พาชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติฉบับนายบรรณารักษ์พาเที่ยว

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวและเยี่ยมชมอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมา
จึงอยากแชร์ความคิดเห็นและนำเสนอรูปภาพภายในอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติให้เพื่อนๆ ได้เห็น

เพื่อนๆ หลายๆ คนคงทราบว่าเมื่อไม่นานมานี้หอสมุดแห่งชาติได้มีการเปิดตัวอาคารใหม่ที่ได้จัดสร้างจนเสร็จและถยอยย้ายของ (หนังสือวิทยานิพนธ์ รายงานวิจัย หนังสือหายาก เอกสารโบราณ) มาไว้ที่นี่จนเสร็จ

การเดินทางมาที่นี่ผมยังคงใช้รถเมล์โดยสารสาย 9 เช่นเคย (วงเวียนใหญ่ – หน้าหอสมุดแห่งชาติ)

หอสมุดแห่งชาติด้านหน้าเมื่อเรามองเขาไป เราก็ยังคงเห็นอาคารเดิมอ่ะครับ (อาคารใหม่อยู่หลังอาคารเก่า)
เมื่อผ่านประตู รปภ. ก่อนเข้าไปในอาคารเก่า ผมก็สะดุดกับป้ายที่อยู่ที่โต๊ะของพี่ รปภ. มีข้อความสรุปง่ายๆ ว่า

หอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่ราชการ ไม่อนุญาตให้คนที่แต่งกายไม่สุภาพเข้ามาใช้บริการ……” (อันนี้เดี๋ยวผมขอยกยอดไว้เขียนวิจารณ์คราวหน้านะ)

เข้ามาดูที่ตึกใหม่กันดีกว่า หลักๆ แล้วแต่ละชั้นมีอะไรบ้าง

ชั้นที่ 1 บรรณารักษ์ในส่วนงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (งาน ISBN, CIP) + ห้องสมุดวชิรญาณ พื้นที่ลานเอนกประสงค์
ชั้นที่ 2 ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย
ชั้นที่ 3 ห้องบริการหนังสือหายาก
ชั้นที่ 4 ห้องจัดเก็บเอกสารโบราณ ตู้พระธรรม

หลักๆ ในวันนั้นผมลองเดินตรวจสอบจากชั้น 1 (ลานอเนกประสงค์) และ ชั้น 2 นะครับ (ชั้นอื่นๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดบริการอ่ะครับ)

การเดินทางเข้าไปที่อาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติมีหลายวิธีครับ เช่น
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางห้องสมุดดนตรี
– เดินอ้อมอาคารเดิมไปทางหอจดหมายเหตุ
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 1
– ทางเชื่อมจากอาคารเดิม ชั้น 2

ชั้น 1 วันอาทิตย์นี่แบบว่าอย่างเงียบเลย อาจเพราะว่าปิดไฟในลานอเนกประสงค์จึงทำให้มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การนั่งเล่นละมั้ง เดินอยู่คนเดียวแบบว่าน่ากลัวมากๆ เลย แม้ว่าจะเป็นอาคารใหม่ก็เถอะแต่ดูเงียบมากๆ

ชั้น 2 เป็นห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย แต่ถ้าเพื่อนๆ ต้องการจะค้นวิทยานิพนธ์ เพื่อนๆ ก็ควรปฏิบัติดังนี้

“ค้นคว้าวิทยานิพนธ์และรายงานวิจัย โปรดค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือชั้น 2 อาคารเดิม และจดเลขหมู่หนังสือหรือรหัสเลขและปีพ.ศ. ก่อนเข้าใช้บริการชั้น 2 อาคารใหม่”

ข้อความที่ผมนำมาลงนี้เป็นข้อความที่มาจากคำแนะนำที่ทางหอสมุดแห่งชาตินำมาติดไว้ที่ชั้น 1 และหน้าประตูห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของอาคารใหม่ด้วย

ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่าเพราะอะไร เอาเป็นว่าลองดูรูปนี้ครับ แล้วจะเข้าใจ

(ตึกใหม่แต่ระบบไอทียังไม่พร้อมครับ)

ภายในห้องวิทยานิพนธ์เข้าไปแล้วบรรยากาศดีกว่าอาคารเดิมเยอะมาก โต๊ะเก้าอี้เยอะมากๆ เลย ณ เวลาที่ผมเข้าไปนี้มีผู้ใช้บริการ 3 คน บวกบรรณารักษ์อีก 2 คน สรุปว่าห้องนั้นมีแค่ 6 คน (รวมผมด้วย) ห้องใหญ่บรรยากาศดี จริงๆ อยากให้มีการใช้เยอะๆ นะ จะได้คุ้มค่าไฟหน่อย แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปอ่ะครับ

การใช้บริการห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. สืบค้นวิทยานิพนธ์ที่ต้องการ (ที่อาคารใหม่นี้จะเก็บวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปี 2547 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากต้องการฉบับเก่ากว่านี้ต้องไปที่หอสมุดแห่งชาติ เขตลาดกะบัง เฉลิมพระเกียรติ)
2. กรอกแบบฟอร์มขอใช้บริการ (ใส่ชื่อ-นามสกุลผู้ที่ขอยืม, เลขหมู่และปีของหนังสือ)
3. รอบรรณารักษ์ไปหยิบ
4. แลกบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ที่เคาน์เตอร์
5. นำไปใช้ได้เลย
6. นำมาคืนที่เคาน์เตอร์เพื่อแลกบัตรคืน

หนังสือวิทยานิพนธ์ที่จัดเก็บที่นี่มีการลงเลขหมู่ในลักษณะนี้
ตัวอย่าง 054/51 = หนังสือวิทยานิพนธ์ปี 2551 เล่มที่ 54

เอาหล่ะครับวันนี้ก็ขอ Review เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ เนื่องจากเวลามีจำกัดมาก
วันหลังจะกลับมา Review แบบละเอียดอีกทีนึงแล้วกัน เอาเป็นว่าก็ขอชื่นชมในส่วนดีและขอติเพื่อปรับปรุงในส่วนที่ต้องเสริม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ

“เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงนามอนุมัติ ให้ก่อสร้างอาคารใหม่หอสมุดแห่งชาติด้วยงบประมาณ จำนวน 438,000,000 บาท (สี่ร้อยสามสิบแปดล้านบาท) และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2552 และเปิดให้ใช้บริเวณอาคารใหม่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554”

ชมภาพบรรยากาศอาคารใหม่ของหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด

[nggallery id=51]

มาจะกล่าวบทไป…ผลงานสำคัญของหอสมุดแห่งชาติ ปี 2553

บทความที่นำมาลงในวันนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการวิจารณ์การทำงานของหอสมุดแห่งชาตินะครับ
ข้อมูลที่นำมาลงนี้ ผมนำมาจากรายงานประจำปีของกรมศิลปากร ชื่อหนังสือว่า “100 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร”
จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลงานต่างๆ ของหอสมุดแห่งชาติเท่านั้นนะ

ผมเฝ้าตามหารายงานประจำปีของหอสมุดแห่งชาติมาโดยตลอด
ซึ่งต้องบอกตรงๆ เลยว่าหายากมาก ในหอสมุดแห่งชาติเองก็จัดเก็บไว้ที่ชั้นหนังสือเช่นกันแต่เป็นรายงานฉบับเก่าๆ
การตามหาก็ยังคงดำเนินต่อไป…..

จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปเจอหนังสือรายงานประจำปีของกรมศิลปากร
ผมค้นพบว่ามีข้อมูลผลงานของหอสมุดแห่งชาติในแต่ละปีอยู่ในนั้น
ผมจึงเริ่มแสวงหาหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง จนล่าสุดผมได้พบกับหนังสือเล่มนี้ “100 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร”

เล่มนี้เป็นเล่มที่ใหม่ที่สุด ฉบับปี 2554 นั่นเอง

ปล. ผมขอเขียนเป็นเรื่องของหอสมุดแห่งชาตินะครับ เพราะกรมศิลปากรจริงๆ แล้วยังมีหน่วยงานในสังกัดอีกหลายหน่วยงาน

เนื้อหาที่เกี่ยวกับหอสมุดแห่งชาติในเล่มนี้ได้พูดถึงประเด็นดังต่อไปนี้

– ความเป็นมา (เกือบทุกปีก็มีส่วนนี้ ในเว็บไซต์ก็มี เพื่อนๆ ลองเข้าไปหาอ่านกันดูเองนะ)

– ภารกิจหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติ (ขอเกริ่นแบบย่อๆ นะ) มีดังนี้

*** การพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด
*** การอนุรักษ์/สงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุด
*** การจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ
*** การบริการ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้
*** การดำเนินงานด้านโสตทัศนวัสดุ
*** การดำเนินงานศูนย์สารนิเทศห้องสมุด
*** การเป็นแหล่งให้ความรู้และฝึกอบรมปฏิบัติการแก่สถาบันการศึกษาและให้ความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ
*** การดำเนินงานด้านเอกสารโบราณ

– โครงสร้างสำนักงานหอสมุดแห่งชาติ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 1 ศูนย์ 1 ฝ่าย และ 1 สาขา ดังนี้

*** ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
***กลุ่มพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด
***กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก
***ศูนย์สารนิเทศห้องสมุด
***กลุ่มบริการค้นคว้าอ้างอิง
***กลุ่มโสตทัศนวัสดุและกิจกรรมห้องสมุด
***กลุ่มมาตรฐานและวิจัยห้องสมุด
***หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบังเฉลิมพระเกียรติ

– ผลงานสำคัญปีงบประมาณ 2553 (ประเด็นหลักที่อยากให้อ่าน) มีดังนี้

1. โครงการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ – งานที่กำลังดำเนินการพัฒนาอาคารหอสมุดแห่งชาติหลังใหม่ (งบประมาณ 438,000,000 บาท) ตามกำหนดการจะต้องแล้วเสร็จในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554

2. โครงการเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กิจกรรมทวีปัญญา จัดไป 2 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เรื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 มีผู้เข้าร่วม 151 คน
ครั้งที่ 2 เรื่อง “ศิลปะการละคร ในรัชกาลที่ 6” จัดวันที่ 8 มิถุนายน 2553 มีผู้เข้าร่วม 216 คน

3. โครงการนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “เจ้าฟ้าหญิงผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย” จัดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม – 23 พฤษภาคม 2553

4. โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอนุรักษ์หนังสือและเอกสารโบราณในหอสมุดแห่งชาติ วันที่ 9-10 มิถุนายน 2553

5. โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการบริการ จัดวันที่ 1-2 มิถุนายน 2553

6. โครงการจัดการองค์ความรู้ 2 โครงการ คือ
6.1 โครงการความรู้ด้านการอ่านถ่ายถอดอักษรโบราณ : อักษรขอม –> ได้หนังสือคู่มือ
6.2 โครงการจัดทำคู่มือการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดแห่งชาติ –> ได้หนังสือคู่มือ

7. การถ่ายโอนภารกิจหอสมุดแห่งชาติสาขา จำนวน 5 แห่ง ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นี่ก็เป้นเพียงบทสรุปที่ผมนำมาจากหนังสือก็เท่านั้นนะครับ
วันนี้ผมไม่ขอวิจารณ์ใดๆ ก็แล้วกัน เอาไว้วันหลังจะมาวิจารณ์ให้อ่านนะ
สำหรับเพื่อนๆ ที่แสดงความคิดเห็น ผมก็ไม่ขอปิดกั้นนะครับ แต่ช่วยแสดงความคิดเห็นแบบสร้างสรรค์ด้วยน้า….

10 อันดับหอสมุดแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

รู้หรือไม่ครับว่าหอสมุดแห่งชาติของประเทศไหนเก่าแก่ที่สุด
วันนี้ผมไปเจอคำตอบเหล่านี้มาเลยขอนำมาแชร์ให้เพื่อนๆ รู้กันสักหน่อย

10 อันดับหอสมุดแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
อันดับที่ 1 – National Library of the Czech Republic ก่อตั้งในปี 1366
อันดับที่ 2 – National Library of Austria ก่อตั้งในปี 1368
อันดับที่ 3 – National Library of Italy ก่อตั้งในปี? 1468
อันดับที่ 4 – National Library of France ก่อตั้งในปี 1480
อันดับที่ 5 – National Library of Malta ก่อตั้งในปี? 1555
อันดับที่ 6 – Munich, Germany ก่อตั้งในปี 1958
อันดับที่ 7 – National Library of Belgium ก่อตั้งในปี 1559
อันดับที่ 8 – Zagreb National and University Library ก่อตั้งในปี 1606
อันดับที่ 9 – National Library of Finland ก่อตั้งในปี 1640
อันดับที่ 10 – National Library of Denmark ก่อตั้งในปี 1653

ปล. ข้อมูลที่ได้มานี้บอกเพียงแค่ว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกนะครับ
จริงๆ แล้วผมอยากรู้ต่อว่า หอสมุดเหล่านี้ยังคงอาคารเดิมบ้างหรือปล่าว
หรือว่าย้ายไปแล้วสร้างใหม่หมดแล้ว อันนี้เดี๋ยววันมีโอกาสจะหาคำตอบมานำเสนอนะครับ

จริงๆ แล้วผมลองเช็คข้อมูลบางส่วนในวิกิพีเดียแล้วนะครับ แต่รู้สึกว่าหอสมุดแห่งชาติบางแห่งในนี้ มีปีที่ก่อตั้งคาดเคลื่อน
ดังนั้นผมจึงต้องบอกเพื่อนๆ ก่อนว่าอย่าเพิ่งเชื่อข้อมูลนี้ทั้งหมดนะครับ แล้วผมจะลองค้นหาข้อมูลมาลงแก้ให้วันหลังนะ

ข้อมูลมาจากเว็บไซต์ http://www.watchmojo.com/top_10/lists/knowledge/libraries/libraries_oldest_national.htm

งานสัมมนา “การสร้างความเข้มแข็งโดยพัฒนานิสัยรักการอ่าน”

วันนี้ผมมีกิจกรรมดีๆ มาแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักกันอีกแล้ว
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ใช้ในการเตรียมการจัดงานสัปดาห์ห้องสมุดประจำปีนี้ด้วย

reading

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ชื่องานสัมมนาภาษาไทย? : ?การสร้างความเข้มแข็งโดยพัฒนานิสัยรักการอ่าน?
ภายใต้งาน : ประชุมเพื่อเตรียมการจัดงานสัปดาห์ห้องสมุด ครั้งที่ 34
วันและเวลาที่จัด : วันที่ 23 กรกฏาคม 2553 เวลา 07.30-16.45 น.
สถานที่อบรม : ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ

การจัดงานสัปดาห์ห้องสมุดจะมีการจัดขึ้นทุกปีในเดือนสิงหาคม
ซึ่งหากเพื่อนๆ จำได้ ปีที่แล้วจะมีธีมงานหลักว่า “การอ่านเพื่อพัฒนาตนและพัฒนาชาติ”
ส่วนในปีนี้อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นนั่นก็คือธีมงานหลักของปีนี้นั่นเอง
ธีมงานหลักของงานสัปดาห์ห้องสมุด “การสร้างความเข้มแข็งโดยพัฒนานิสัยรักการอ่าน”

ในงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิมากมายด้วย


ตัวอย่างหัวข้อที่น่าสนใจในงานสัมมนา
เช่น
– กลยุทธ์การสร้างนิสัยรักการอ่านสำหรับเด็ก
– กลยุทธ์การสร้างนิสัยรักการอ่านสำหรับวัยรุ่น
– กลยุทธ์การสร้างนิสัยรักการอ่านสำหรับผู้ใหญ่
– การสร้างสาระอิเล็กทรอนิกส์ในห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่าน

งานนี้ผมเชื่อว่าคนที่ได้เข้าร่วมจะได้รู้จักเทคนิคในการสร้างนิสัยการรักการอ่านให้กับคนในชุมชนได้แน่นอน
ดังนั้นบรรณารักษ์จึงไม่ควรจะพลาดงานนี้นะครับ

งานนี้มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยครับ
สำหรับสมาชิกสมาคมฯ ชำระเงินก่อนวันที่ 20/7/53 คนละ 500 บาท? และถ้าชำระเงินหลังวันที่ 20/7/53 คนละ 700 บาท
สำหรับบุคคลทั่วไป ชำระเงินก่อนวันที่ 20/7/53 คนละ 600 บาท และถ้าชำระเงินหลังวันที่ 20/7/53 คนละ 800 บาท

เอาเป็นว่าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมก็เข้ามาดูได้ที่
http://www.tla.or.th/pdf/libraryweek34.pdf

สำหรับวันนี้ผมต้องขอตัวก่อนนะครับ

มาหอสมุดแห่งชาติควรจะพกบัตรมาเยอะๆ

เมื่อวานก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ผมมาใช้บริการที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนครับถ้าไม่มีอะไรผมก็คงไม่เขียนบล็อกหรอก
แน่นอนครับ เกริ่นมาซะขนาดนี้แล้ว….มันมีเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมอีกแล้วครับท่าน
จริงๆ ผมก็เคยพูดไปแล้วในเรื่อง “เรื่องอึ้งๆ ณ ?มุมโน้ตบุ๊ค? ในหอสมุดแห่งชาติ” เกี่ยวกับการแลกบัตรในหอสมุดแห่งชาติ

national-library-thailand

ประเด็นไหนบ้างที่ต้องแลกบัตรในหอสมุดแห่งชาติ
1. ยืมหนังสือออกจากห้องบริการเพื่อถ่ายเอกสาร
2. ขอใช้มุมบริการโน้ตบุ๊ค

เอาเป็นว่าวันนี้ผมมาใช้บริการในหอสมุดแห่งชาติ แบบว่าต้องใช้หนังสือจากหลายๆ ห้องบริการ
เช่น หนังสือในหมวดบรรณารักษ์ ห้อง 213 และนิตยสารจากชั้น 1 เอาเป็นว่าใช้ไปแล้ว 2 ใบ
นอกจากนี้ผมยังต้องใช้บริการโน้ตบุ๊คที่ผมนำมาเองอีก และแน่นอนว่าต้องใช้ไปอีก 1 ใบ

หมายเหตุสักนิด บัตรที่จะใช้ได้ต้องเป็นบัตรที่มีรูปถ่ายเท่านั้น

สรุปวันนี้ผมใช้บัตรเพื่อแลกกับบริการต่างๆ ในหอสมุดแห่งชาติจำนวน 3 ใบ ประกอบด้วย
– บัตรประชาชน
– ใบขับขี่
– บัตรสมาชิกห้องสมุดซอยพระนาง

เอาเป็นว่าเหนื่อยใจ จริงๆ ต้องใช้บัตรเยอะแบบนี้ ลองคิดดูนะครับว่าถ้าผมไม่รู้ธรรมเนียมของหอสมุดแห่งชาติ
ผมคงโวยวายกับบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ของแต่ละห้องไปเรียบร้อยแล้ว

เอาเป็นว่าก็ขอฝากไว้นะครับสำหรับคนที่จะมาใช้บริการในหอสมุดแห่งชาติ
ถ้าต้องการข้อมูลและบริการที่เยอะหน่อยก็ควรพกบัตรที่มีรูปมาหอสมุดแห่งชาติเยอะๆ นะครับ

เรื่องอึ้งๆ ณ “มุมโน้ตบุ๊ค” ในหอสมุดแห่งชาติ

หากเพื่อนๆ มีโน้ตบุ๊คแล้วจำเป็นต้องไปทำงานในห้องสมุด เพื่อนๆ เคยเจออะไรแปลกๆ บ้างหรือปล่าว
วันนี้ผมจะมาขอเล่าเรื่องแปลกๆ เรื่องนึงที่ผมเพิ่งจะเจอมากับตัวเองวันนี้ ณ หอสมุดแห่งชาติ

notebook-corner

เรื่องมันมีอยู่ว่า…

วันอาทิตย์อันแสนสุขที่ผมอยากจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องห้องสมุดประชาชน
เพื่อใช้อ่านประกอบและสร้างแรงบันดาลใจในงานห้องสมุดที่ผมกำลังทำอยู่
ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะไปค้นหาข้อมูลที่ “หอสมุดแห่งชาติ”

และเมื่อผมเดินทางไปถึง “หอสมุดแห่งชาติ”
ผมก็ประทับใจในเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยมากที่อนุญาตให้ผมนำโน้ตบุ๊คและกระเป๋าเข้าไปด้วย

ด้วยความชำนาญในการหาข้อมูลของผม (มาบ่อยเลยรู้ว่าต้องให้ห้องไหน)
ผมจึงได้เข้าไปในห้อง 213 (ห้องที่เก็บหนังสือคอมพิวเตอร์ บรรณารักษ์ ปรัชญา)
แล้วก็ค้นหาหนังสือที่ผมต้องการซึ่งได้มาจำนวน 4 เล่ม

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะกล่าว เพราะว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับมุมโน้ตบุ๊ค
แต่สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี่คือประเด็นของเรื่องๆ นี้…

ผมต้องการใช้คอมพิวเตอร์ของผมในการพิมพ์งาน และจดโน้ตบทสรุปของหนังสือ
ผมจึงสอบถามบรรณารักษ์ในห้อง 213 ว่า

Libraryhub : “ขอโทษนะครับ ไม่ทราบว่าผมจะใช้โน้ตบุ๊คของผมเพื่อพิมพ์งานในห้องนี้ได้มั้ย”
บรรณารักษ์ 213 : “ไม่ได้หรอกนะค่ะ ถ้าจะใช้ต้องไปที่ห้อง 204 – 205 ค่ะ”
Libraryhub : “ทำไมหล่ะครับ ผมไม่ได้ใช้ปลั๊กไฟของที่นี่นะครับ”
บรรณารักษ์ 213 : “อ๋อ ห้องนั่นเขามี “มุมโน้ตบุ๊ค” อยู่นะค่ะ”
Libraryhub : “แล้วหนังสือของผมพวกนี้หล่ะครับ”
บรรณารักษ์ 213 : “คุณก็ทิ้งบัตรประชาชนของคุณไว้ที่ห้องนี้ด้วยสิค่ะ”

เอาเป็นว่านี่เป็นบทสนทนาสั้นๆ ที่ผมคุยกับบรรณารักษ์นะครับ
ซึ่งโอเคผมก็คงต้องปฏิบัติเหมือนคนอื่นๆ แหละครับ คือ ต้องยอมทำตาม

จากนั้นผมก็ทิ้งบัตรประชาชนเพื่อยืมหนังสือ แล้วถือโน้ตบุ๊คไปที่ห้องใหญ่ (204-205)

พอถึงห้องกลาง(204-205) ผมก็เห็น “มุมโน้ตบุ๊ค” ที่บรรณารักษ์ห้อง 213 บอก
ผมก็เดินไปเพื่อที่จะนั่งที่ “มุมโน้ตบุ๊ค” นั้น แต่บรรณารักษ์ที่เคาน์เตอร์กลางก็เรียกผมอีก

บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง :
“เดี๋ยวๆ คุณจะนั่งที่ “มุมโน้ตบุ๊ค” ใช่มั้ย”
Libraryhub : “อ๋อ ใช่ครับ ผมเอาโน้ตบุ๊คมา และต้องการใช้พิมพ์งาน บรรณารักษ์ห้อง 213 บอกให้ผมมาใช้ห้องนี้”
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “ครับ งั้นคุณก็กรอกแบบฟอร์มนี้ก่อนใช้นะครับ”
Libraryhub : “โอเคครับ งั้นกรอกแบบฟอร์มก่อนแล้วกัน”

ในระหว่างที่ผมกรอกแบบฟอร์มผมก็ถามพี่ๆ บรรณารักษ์ที่นั่งตรงกลางเคาน์เตอร์ว่า
Libraryhub : “พี่ครับขอถามอะไรนิดนึงนะครับ เกี่ยวกับการใช้บริการโน้ตบุ๊ตในหอสมุดแห่งชาติ”
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “ได้ครับ มีอะไรหรอครับ”
Libraryhub : “คือ ผมแปลกใจว่าทำไมต้องเล่นได้ที่ “มุมโน้ตบุ๊ค” อย่างเดียวหรอครับ เพราะว่าผมเองก็ไม่ได้ต้องการใช้ปลั๊กนี่ครับ”
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “อ๋อ คือทางส่วนกลาง เขาจัดไว้ให้นะครับ”
Libraryhub : “แล้วทำไมต้องเป็นตรงนี้ด้วยหรือครับ หรือว่ามีสัญญาณ Wifi ตรงนี้หรอครับ”
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “ปล่าวครับ ไม่มีสัญญาณให้เล่นอินเทอร์เน็ตหรอกครับ แต่ส่วนกลางให้เล่นได้เฉพาะ “มุมโน้ตบุ๊ค” ที่เขาจัดเท่านั้นครับ”
Libraryhub : “สรุปคือไม่ได้มีความพิเศษอย่างอื่นเลย นอกจากมีปลั๊กไฟใช่มั้ยครับ”
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “ครับ”

เมื่อจบบทสนทนาผมก็กรอกแบบฟอร์มขอใช้งานเสร็จพอดี ผมจึงถามต่อไปว่าล

Libraryhub : “กรอกเสร็จแล้วครับ งั้นผมขอไปใช้โน้ตบุ๊คของผมก่อนนะครับ”
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “ยังไม่ได้ครับ ต้องแลกบัตรไว้ที่เคาน์เตอร์ด้วยครับ”
Libraryhub : “อ้าว เมื่อกี้ผมเอาบัตรไปใช้ยืมหนังสือจากห้อง 213 มาแล้วนี่ครับ ผมจะใช้บัตรใบไหนอีก”
(เนื่องจากผมมากับเพื่อน บรรณารักษ์ก็เห็น)
บรรณารักษ์เคาน์เตอร์กลาง : “งั้นใช้บัตรของเพื่อนอีกคนก็ได้นะครับ”

สุดท้ายผมก็เลยต้องใช้บัตรของเพื่อนเพื่อแลกกับการใช้โน้ตบุ๊คในหอสมุดแห่งชาติ

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ได้อ่านแล้วรู้สึกยังไงกับเรื่องนี้ครับ
ผมอึ้งแทบจะทำอะไรไม่ถูกเลย แบบว่าตกใจมากๆ

“มุมโน้ตบุ๊ค” ที่หอสมุดแห่งชาติเป็น คือ โต๊ะรวมที่นั่งเล่นโน้ตบุ๊คได้พร้อมกัน 6 เครื่อง
แถมด้วยปลั๊กที่ใช้สำหรับชาร์จแบตของโน้ตบุ๊คได้อย่างเดียว ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายด้วย
ในความคิดเห็นของผม มันก็ไม่ต่างอะไรจากที่นั่งอื่นๆ ในหอสมุดแห่งชาติหรอกนะ
เพียงแค่ที่นั่งที่ต้องกรอกแบบฟอร์ม และใช้บัตรแลกเพื่อใช้งาน

แล้วตกลงเขาเรียกว่า “มุมโน้ตบุ๊ค” เพื่ออะไร…..

เมื่อผมใช้งานโน้ตบุ๊คเสร็จแล้ว ผมจึงเดินไปรับบัตรประชาชนของเพื่อนคืนจากเคาน์เตอร์
แล้วสอบถามถึงแบบฟอร์มการขอใช้บริการ “มุมโน้ตบุ๊ค” ว่าผมจะขอตัวอย่างแบบฟอร์มหน่อยได้มั้ย
ซึ่งได้คำตอบว่า “มันเป็นความลับของหอสมุดแห่งชาติ ไม่สามารถให้ได้”
เออ เอาเข้าไปดิ แค่แบบฟอร์มก็ยังถือว่าเป็นความลับเลย

สุดท้ายนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องมุมโน้ตบุ๊ตของหอสมุดแห่งชาติ
เอาเป็นว่าใครพอรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมุมโน้ตบุ๊คนี้ ก็ช่วยแถลงให้ผมทราบทีเถอะครับว่า
“ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกับหอสมุดแห่งชาติและมุมโน้ตบุ๊ค”

หอสมุดแห่งชาติกับภาพลักษณ์ใหม่ๆ

นำเที่ยวห้องสมุดวันนี้ ผมขอนำเสนอ “หอสมุดแห่งชาติ”
ล่าสุดที่ผมได้ไปเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ ทำเอาผมประหลาดใจในหลายๆ ส่วน
ผมจึงอยากนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของหอสมุดแห่งชาติบ้าง

nlt-banner

ข้อมูลทั่วไปของหอสมุดแห่งชาติ
สถานที่ : หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
ที่อยู่ : ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : 0-2281-5212 โทรสาร : 0-2281-5449
เว็บไซต์ : http://www.nlt.go.th

การนำชมหอสมุดแห่งชาติของผม ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะครับว่า
ผมเข้าชมหอสมุดแห่งชาติในวันอังคาร ดังนั้นจำนวนคนจึงไม่ค่อยมาก
และข้อจำกัดด้านเวลา ที่ผมมีเวลาในการเข้าชมเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
ดังนั้นอาจจะเข้าชมได้ไม่ครบ แต่ผมจะนำเสนอข้อมูลเท่าที่ผมได้เห็นนะครับ

ไปดูในส่วนต่างๆ กันเลยดีกว่าครับ

เริ่มจากเมื่อเดินเข้าประตูหน้า แล้วมาที่ตึกใหญ่
แต่เดิมหน้าหน้าตึกใหญ่เป็นเพียงสวนต้นไม้หน้าตึก
แต่เดี๋ยวนี้มีการสร้างอาคารเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอาคารแบบ 1 ชั้น

อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น ด้านหน้าอาคารใหญ่
อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น ด้านหน้าอาคารใหญ่

อาคารที่สร้างเพิ่มขึ้นมาด้านหน้าตึกใหญ่ ภายในมี
– ร้านกาแฟ
– ร้านอาหาร
– ร้านขายขนม ของว่าง
– ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
– ร้านจำหน่ายหนังสือ

นับว่าเป็นอาคารที่เพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้บริการได้มากเลยนะครับ
มีกาแฟให้ดื่ม หิวข้าวก็กินข้าได้ แถมมีหนังสือจำหน่ายอีก
ครบแบบนี้ผมต้องยกนิ้วให้เลยครับ

ในส่วนต่อมาภายในอาคารใหญ่ของหอสมุดแห่งชาติ

จุดแรกที่ทุกคนจะต้องพบก็คือ ทางเข้าและทางออกของอาคาร ซึ่งจะประกอบด้วย
– ห้องฝากของ (เพื่อนๆ ต้องนำกระเป๋ามาฝากไว้ที่นี่เท่านั้น)
– จุดตรวจของ รปภ. (จุดนี้จะช่วยตรวจของๆ ผู้ใช้บริการตอนออกมาครับ)

แต่ ณ จุดทางเข้าก็ยังคงมีป้ายประกาศ และกฎการเข้าใช้ห้องสมุดติดอยู่นะครับ

จุดต่อมานั่นคือ ห้องโถงใหญ่ บริเวณชั้น 1
แต่เดิมจะใช้ในการแสดงนิทรรศการ (แต่ส่วนใหญ่ผมจะพบกับห้องโล่งๆ มากกว่า)
แต่เดี๋ยวนี้มีเคาน์เตอร์กลาง ซึ่งใช้เป็นส่วนของประชาสัมพันธ์ และจุดบริการตอบคำถาม

nlt2
เคาน์เตอร์กลาง และจุดประชาสัมพันธ์

ในชั้นหนึ่งผมเพิ่งสังเกตเห็นห้องนิทรรศการใหม่ของหอสมุดแห่งชาติ
ซึ่งออกแบบเป็นประตูเลื่อนเพื่อเข้าไปดูนิทรรศการด้านใน
แต่ในระหว่างการเยี่ยมชม ห้องนี้ยังถูกปิดล็อคอยู่ยังไม่สามารถเข้าไปดูได้
ผมเลยขอถ่ายรูปจากด้านนอกเข้าไปก็แล้วกัน

ห้องนิทรรศการ อยู่ชั้น 1 อาคารใหญ่
ห้องนิทรรศการ อยู่ชั้น 1 อาคารใหญ่

จากนั้นผมก็ได้ชมวีดีโอแนะนำหอสมุดแห่งชาติ
ที่น่าตกใจคือ วีดีโอที่แนะนำยังเป็นแบบ เทปวีดีโออยู่เลย
คุณภาพของภาพและเสียงยังไม่ค่อยดีนัก แต่คิดว่าอีกหน่อยเขาคงจะปรับปรุงนะ

หลังจากการชมวีดีโอเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มเดินชมห้องบริการต่างๆ ดังนี้
– ห้องสืบค้นอินเทอร์เน็ต และบัตรรายการ (ชั้น 1)
– ห้องวารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ (ชั้น 1)
– ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย (ชั้น 5)
– ห้องเอกสารโบราณ (ชั้น 4)
– ห้องบริการอ่านหนังสือ (ชั้น 2)

nlt4

แต่ละจุดมีไอเดียการบริการที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง เช่น
– หอสมุดแห่งชาติให้บริการ wifi และปลั๊กไฟสำหรับโน้ตบุ๊ค
– บัครรายการ (บัตรสืบค้นหนังสือ) ยังคงมีการอัพเดทเรื่อยๆ คู่กับระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
– ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่หอสมุดแห่งชาติใช้ คือ Horizon
– หอสมุดแห่งชาติไม่มีการรับสมัครสมาชิก ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ทุกคนไม่จำกัด
– ไม่อนุญาติให้ยืมหนังสือออกจากหอสมุดแห่งชาติ
– การจัดหนังสือในห้องวารสารยังคงใช้การเรียงตามตัวอักษรเป็นหลัก
– การแบ่งห้องบริการต่างๆ ในหอสมุดแห่งชาติ ยังคงยึดหลักตามการแบ่งหมวดหมู่
– หอสมุดแห่งชาติรวบรวมงานวิทยานิพนธ์จากมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ มากมาย
– วิทยานิพนธ์และงานวิจัย ปี 2546-ปัจจุบันถูกจัดเก็บที่นี่ ส่วนที่เก่ากว่านั้นจะอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติลาดกระบัง
– การจัดหมวดหมู่ที่นี่ใช้แบบดิวอี้ และแถบสี เพื่อง่ายต่อการคัดแยกและจัดเก็บ

nlt5

Hilight ของการเยี่ยมชมครั้งนี้อยู่ที่ ชั้น 2 ในห้องอ่านหนังสือ
พอเข้ามาถึงก็ต้องประหลาดใจ เมื่อภาพหอสมุดแห่งชาติแต่เดิมของผมถูกลบออกจากสมอง

แต่เดิมที่ผมมาใช้ห้องสมุดในชั้นสองจะมีการแบ่งออกเป็นสองห้องโดยการกั้นกระจก
ในส่วนโถงกลางของชั้นสองคือบริเวณร้านถ่ายเอกสารที่คอยให้บริการผู้ใช้

แต่สิ่งใหม่ๆ ที่ผมเห็นคือ เคาน์เตอร์กลางที่อยู่ตรงหน้าผมที่จะคอยบริการทั้งสองห้อง
นอกจากนี้ยังมีการเล่นสีสันในห้องสมุดใหม่ เช่น สีเหลือง สีชมพู แบบว่าเอาใจวัยรุ่นมากๆ
จากการกั้นห้องทั้งสองแบบเดิม กลายเป็น การรวมกันของห้อง แล้วแยกเป็นโซนดี

nlt6

ด้านหลังเคาน์เตอร์กลางมีมุมหนังสือพิเศษมากๆๆๆๆๆๆๆ
นั่นคือ Window on Dynamic Korea
เรียกง่ายๆ ว่ามุมหนังสือเกาหลี….. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
แบบว่ามีหนังสือภาษาเกาหลี หนังสือสอนภาษาเกาหลี หนังสือวัฒนธรรมและประเพณีเกาหลี ฯลฯ
นับว่าเป็นมุมที่สร้างสีสันอีกมุมหนึ่งให้ห้องสมุดเลยก็ว่าได้

nlt7

เป็นยังไงกันบ้างครับกับภาพลักษณ์ด้านสถานที่และบริการที่เปลี่ยนไป
หวังว่าคงพอที่จะดึงดูดคนมาเข้าอสมุดแห่งชาติได้บ้างนะครับ
การพัฒนาและปรับเปลี่ยนหอสมุดแห่งชาติยังคงต้องดำเนินการต่อไป
เพื่อการบริการและภาพลักษณ์ที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับเวลาเปิด-ปิดทำการของหอสมุดแห่งชาติ
เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ 9.00 – 18.30
ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ เปิด 9.00 – 17.00
วันหยุดก็ตามวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดชดเชย และวันหยุดพิเศษอื่นๆ

ถ้าว่างๆ ก็ลองมาเที่ยวที่นี่กันดูนะครับ

ปล. หากมีเวลามากกว่านี้ผมคงจะสำรวจทุกซอกทุกมุมได้ทั่วเลยนะครับ
เอาเป็นว่าไว้โอกาสหน้าก็แล้วกันนะครับ

รวมภาพบรรยายกาศภายในหอสมุดแห่งชาติ

[nggallery id=5]