ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์

งานสัมมนาวิชาการที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดที่ผมไม่อยากให้พลาดอีกงาน คือ งานสัมมนาวิชาการที่จัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ต้นเดือนหน้า หัวข้องานหลักก็น่าสนใจมากๆ คือ “ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ประเภทของงาน : สัมมนาวิชาการ
ชื่องานหลัก : ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 2-3 มิถุนายน 2554 8.30-16.30 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมปองทิพย์ 1 อาคาร 12 ชั้น 9 นิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ม.กรุงเทพ รังสิต
ผู้จัดงาน : คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.)

เห็นแค่ชื่องานผมก็รู้สึกได้ว่าเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการแนวใหม่ในวงการห้องสมุดจริงๆ ครับ (นานๆ ทีจะรู้สึกตื่นเต้นกับงานแบบนี้) เรื่องของเศรษฐกิจกับห้องสมุดมันอยู่ใกล้กันมากต่างฝ่ายต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันครับ ยิ่งในบ้านเรากำลังสนใจกับคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งแน่นอนครับก่อนที่ธุรกิจจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จะต้องอาศัยซึ่งความรู้เป็นพื้นฐานเสียก่อน และการได้มาซึ่งความรู้ก็มีหลายช่องทางเช่นกัน และหนึ่งในนั้นคือ “ห้องสมุด”

ไม่ได้อยากเชียร์อะไรมากมายหรอกนะครับ แต่เห็นว่างานดีๆ ก็เลยอยากแนะนำ
เอาเป็นว่าลองมาดูหัวข้อที่น่าสนใจในงานกันก่อนดีกว่า
– ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– สมรรถนะของบรรณารักษ์ในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– ห้องสมุดกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– Information Economy and Social Network
– แบรนด์ห้องสมุดในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
– PR 2.0 for Library
– กิจกรรมสร้างสรรค์กับงานห้องสมุด

การสัมมนาครั้งนี้แม้ว่าหัวข้อจะมีความน่าสนใจมากมาย แต่……
ต้องขอบอกว่ามีค่าใช่จ่ายในการเข้าร่วมงานนะครับ ประมาณคนละ 2000 บาท

(เอาเป็นว่าไปอ่านในหนังสือโครงการและแบบตอบรับดูกันเองน้า….)

สำหรับรายละเอียดโครงการ, หนังสือเชิญเข้าร่วมโครงการ และแบบตอบรับการเข้าร่วมสัมมนา เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูและดาวน์โหลดได้ที่ http://www.thaipul.org/?p=252

เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีผลต่อวงการห้องสมุดเพียงใด แล้วห้องสมุดจะพัฒนาไปในแนวทางไหน มางานนี้เพื่อนๆ จะได้คำตอบ…

งานนี้เพื่อนๆ คนไหนไปได้ช่วยกลับมาสรุปให้ผมฟังด่วยนะครับ
เพราะงานนี้ผมพลาดแล้วแน่ๆ (วันที่ 2-4 มิ.ย. ผมไปงาน world book expo ที่สิงคโปร์)
เอาเป็นว่าผมจะรออ่านสรุปจากเพื่อนๆ ที่ไปงานแล้วกันนะครับ

ห้องสมุดดิจิทัล คือ 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ

วันนี้เจอบทความดีๆ ที่มีเรื่องห้องสมุดอยู่ในนั้น ผมก็เลยขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อนะครับ
บทความนี้มาจาก “10 Technologies That Will Transform Your Life” จากเว็บไซต์ http://www.livescience.com

10 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ มีดังนี้
อันดับที่ 10 Digital Libraries (ห้องสมุดดิจิทัล)
อันดับที่ 9 Gene Therapy and/or Stem Cells (เซลล์ต้นกำเนิด)
อันดับที่ 8 Pervasive Wireless Internet (อินเทอร์ไร้สาย)
อันดับที่ 7 Mobile Robots (หุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมได้)
อันดับที่ 6 Cheaper Solar Cells (เครื่องเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า)
อันดับที่ 5 Location-Based Computing (เทคโนโลยีการระบุพื้นที่)
อันดับที่ 4 Desktop 3-D Printing (การพิมพ์ภาพแบบสามมิติ)
อันดับที่ 3 Moore’s Law Upheld (กฎของมัวร์ในเรื่องประสิทธิภาพและขนาดของชิป)
อันดับที่ 2 Therapeutic Cloning (การโคลนนิ่ง)
อันดับที่ 1 The Hydrogen Economy (พลังงานน้ำ, พลังงานทดแทน)


เป็นยังไงกันบ้างครับ 1 ใน 10 ของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ คือห้องสมุดดิจิทัล (อันดับที่ 10)
นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของเราชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์เลยก็ว่าได้นะครับ

เมื่อเรารู้ว่าห้องสมุดดิจิทัลสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนแล้ว
พวกเราในฐานะคนทำงานห้องสมุดและบรรณารักษ์ขอสัญญาว่าจะพัฒนาวิชาชีพนี้ต่อไป
เพื่อให้ห้องสมุดตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในสังคมต่อไป

รวมภาพงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

วันนี้ได้รับเกียรติจากห้องสมุด TKpark อีกครั้งที่เชิญมาบรรยายในงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่ 4) (จริงๆ แล้วรุ่นที่ 3 ผมก็มาบรรยายเช่นเดียวกันแต่ยังไม่ได้เอาสไลด์มาลงในชมเลย) จึงขอเล่าบรรยากาศในงานให้ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ได้อ่านและชมภาพกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับงานนี้แบบย่อๆ
ชื่องาน : การประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่4)
จัดโดย : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.
วันที่จัด : วันอังคารที่ 3 – วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม  2554
สถานที่จัดงาน : โรงแรมเอส ดี อเวนิว

ผมจำได้ว่าครั้งที่แล้ว (รุ่นที่แล้วก็จัดที่นี่เช่นเดียวกัน แต่จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์)
ในรุ่นนี้ผมว่าคนมาร่วมงานนี้คึกคักมากกว่าครั้งที่แล้วเยอะเลย แถมดูกระตือรือร้นในงานมากๆ
ครั้งก่อนผมบรรยายช่วงเย็นๆ มาครั้งนี้ได้อยู่รอบเช้าเลย (อาจจะทำให้เห็นคนเยอะก็ได้)

เรื่องหลักๆ ที่ผมบรรยายเดี๋ยวผมจะขออนุญาตเขียนเป็นอีกเรื่องในบล็อกแล้วกัน
วันนี้ขอเม้าส์เรื่องบรรยากาศในงานและการจัดงานโดยภาพรวมก่อน

รูปแบบของการจัดงานใน 4 วัน มีหลายรูปแบบมาก
เช่น
– ชมนิทรรศการของห้องสมุดมีชีวิตที่เคยอบรมในรุ่นก่อนๆ
– การบรรยายจากวิทยากรเพื่อเติมเต็มความรู้
– การทำ workshop ระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
– การศึกษาดูงานห้องสมุดโรงเรียนในกทม.และอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

นับว่าเป็นการเติมเต็มความรู้ของเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ครูบรรณารักษ์ ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้บริหารได้ดีทีเดียว

ห้องประชุมเดิมที่เคยจัดงานดูเล็กไปมากเลยแทบจะไม่มีที่นั่งเหลือเลยครับ
ขนาดผมไปแต่เช้ายังไม่มีเก้าอี้นั่งเลย จึงต้องยืนฟังบ้าง แอบออกมาเตรียมตัวข้างนอกบ้าง

รอบๆ ห้องประชุมวันนี้มีการแสดงผลงานของการจัดห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนของรุ่นที่เคยอบรมจากงานนี้ไป
(แสดงให้เห็นว่า หลังจากการอบรมแล้วมีการนำไปใช้งานจริงและได้ผลลัพธ์ออกมาจริง)

ผมเองก็ได้เดินชมอยู่หลายๆ บูธเช่นกัน แต่ละห้องสมุดทำได้ดีทีเดียวเลยครับ (พี่เลี้ยงดีมากๆ)

ด้านนอกของห้องประชุมก็มีร้านหนังสือนานมีมาออกบูธด้วย
มีหนังสือเด็กที่น่าสนใจเพียบเลย และมีการแนะนำกิจกรรมการรักการอ่านสำหรับเด็กแถมเป็นความรู้กลับไป

เอาเป็นว่างานนี้ผมยกนิ้วให้เลยว่าจัดงานได้ดีทีเดียว
สำหรับใครที่พลาดงานนี้ผมว่าทางหน่วยงานที่จัดคงมีแผนในการจัดต่อในรุ่นต่อๆ ไปอีกนะครับ
เอาเป็นว่าก็ต้องคอยติดตามข่าวสารกันไปเรื่อยๆ นะครับ
สำหรับวันนี้ก็ชมภาพบรรยากาศในงานก่อนแล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

[nggallery id=38]

รายงานเรื่องการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติสวนหนังสือเจริญกรุง

เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่ผมเขียนตั้งแต่ปี 2008 วันนี้กลับมานั่งอ่านรายงานที่ทำแล้วคิดถึง
ก็เลยขอนำข้อมูล “รายงานเรื่องการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติสวนหนังสือเจริญกรุง” มาเล่าใหม่

ในปี 2008 ช่วงนั้นผมเรียน ป โท เทอมที่สี่ครับ หนึ่งในวิชาที่เรียน คือ “IT Project”
ซึ่งรายงานของวิชานี้เป็นรายงานกลุ่ม ให้เราศึกษาระบบงานของหน่วยงานที่ไหนก็ได้แล้วนำมาวิเคราะห์
นอกจากนี้ให้คิดโครงการใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับไอทีไปเสนอหน่วยงานแห่งนั้นๆ ด้วย

หน่วยงานที่ผมเลือก คือ สวนหนังสือเจริญกรุง
โครงการที่ผมทำชื่อ “การพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติสวนหนังสือเจริญกรุง”
เนื่องจากการพัฒนาระบบห้องสมุดเป็นงานที่คนไอทีหลายๆ คนอยากจะทำ

การทำรายงานก็เริ่มจากการศึกษาข้อมูลทั่วๆ ไปของห้องสมุดก่อนซึ่งจากการอ่านในเว็บไซต์เราได้ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการนำมาวิเคราะห์ ดังนั้นจึงต้องลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาถึงสถานที่จริง

วันนั้นผมกับเพื่อนๆ ก็เดินทางไปที่ สวนหนังสือเจริญกรุง
และเริ่มแบ่งงานกันทำ บางส่วนสัมภาษณ์บรรณารักษ์ บางส่วนสำรวจห้องสมุด บางส่วนก็จำลองเป็นผู้ใช้บริการ

การเก็บข้อมูลวันนั้นที่ไปสวนหนังสือเจริญกรุงก็นับว่าได้ข้อมูลที่ดี และเพียงพอต่อการวิเคราะห์ระบบเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย, ปัญหา, กิจกรรม, การจัดหา, และความต้องการด้านไอที

เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ใจดีตอบให้ทุกข้อ โดยไม่มีบ่นเลย เลยต้องขอขอบคุณ ณ ที่นี้อีกครั้ง

เมื่อได้ข้อมูลแล้วผมก็นำข้อมูลมาทำรายงานและเตรียมนำเสนอ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมีดังนี้
– รายละเอียดทั่วไปขององค์กร
– การวิเคราะห์ปัญหาของระบบการทำงานในปัจจุบัน (Cause and Effect Diagram)
– ที่มาของโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั่วไป (SWOT Analysis)
– วัตถุประสงค์โครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– ขอบเขตของโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– ข้อกำหนดในการเลือกใช้เทคโนโลยี
– งบประมาณที่จัดเตรียมไว้
– Context Diagram ของระบบสารสนเทศ
– แผนการดำเนินงาน
– Work Breakdown Structure
– Hardware และ Software Specifications
– ข้อมูลทั่วไปของ Software
– การส่งมอบงาน
– เงื่อนไขการรับประกันระบบ
– การควบคุมคุณภาพของโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– การจัดการความเสี่ยงของโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– ตัวอย่างการใช้งานโปรแกรม
– บทเรียนที่ได้รับจากโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ
– บทสรุปของโครงการห้องสมุดอัตโนมัติ ฯ

ในส่วนเนื้อหาผมไม่ขอนำมาลงในบล็อกนะครับเนื่องจากมันยาวมาก เดี๋ยวบล็อกผมจะยาวเป็นกิโลไปซะก่อน

หลังจากที่นำเสนอข้อมูลในชั้น เพื่อนๆ หลายๆ คนมาสอบถามเรื่องระบบห้องสมุดกันนอกรอบมากมาย
ซึ่งผมเองก็แปลกใจและไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้ ได้ความมาว่า
“ใครพัฒนาระบบห้องสมุดได้ก็สามารถพัฒนาระบบงานอื่นๆ ได้ด้วย เพราะระบบห้องสมุดมีเรื่อองที่ซับซ้อนมากมาย”

เอาเป็นว่าต้องขอบอกเลยว่า “ผลเกินคาดครับงานนี้”

10 ห้องสมุดในอเมริกาที่ชีวิตนี้ผมต้องไปให้ได้

ห้องสมุดในอเมริกาหลายๆ แห่งมีความน่าสนใจในหลายๆ เรื่องมาก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาปัตยกรรม เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องเทคโนโลยีในห้องสมุด

ถ้ามีโอกาสสักครั้งในชีวิต ผมก็อยากไปชมห้องสมุดในต่างประเทศบ้าง
ในระหว่างนี้ผมคงยังไม่ได้ไปหรอก เพราะงั้นวันนี้ผมขอเขียน list ทิ้งไว้ก่อนแล้วกัน

ก่อนอื่นผมก็คงต้องค้นหาห้องสมุดดีๆ ก่อนสินะ ว่าแล้วก็เปิดเว็บไซต์ค้นข้อมูลทั้งที
และแล้วผมก็เจอบทความนึง “10 great places to take a library tour
ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ USATODAY คอลัมน์ Travel เอาเป็นว่าต้องขอจดไว้ใน list นี้เลย

ห้องสมุด 10 แห่งที่น่าสนใจสำหรับการไปเที่ยวชม มีดังนี้

1. New York Public Library

ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ผมไม่พลาดแน่ๆ เพราะห้องสมุดแห่งนี้ได้ชื่อเรื่องของการจัดกิจกรรมแบบใหม่ๆ และการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากมาย แถมเป็นห้องสมุดที่มีสถาปัตยกรรมงดงามมากมาย สัญลักษณ์ของห้องสมุดแห่งนี้คือ “สิงโต” นั่นเอง

2. Fayetteville Public Library

ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นห้องสมุดที่ได้รับการออกแบบให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากๆ Green Library

3. Seattle Central Library

ไปอเมริกาทั้งทีต้องไปที่นี่ให้ได้ เพราะห้องสมุดที่มีการออกแบบอาคารสุดทันสมัยแถมสอดคล้องกับการทำงานของบรรณารักษ์ ห้องสมุดแห่งนี้ผมเขียนถึงหลายครั้งแล้วก็เลยอยากไปเป็นพิเศษ

4. Geisel Library, University of California-San Diego

ห้องสมุดแห่งนี้ผมก็เคยเขียนลงบล็อกแล้วเช่นกัน ห้องสมุดแห่งนี้รูปลักษณ์อาคารดูแปลกๆ แต่ภายในสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้แบบสุดยอดมาก

5. Thomas Jefferson Building, Library of Congress

ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดของโลกไม่ไปคงเสียดายแย่เลยเนอะ แถมไปดูต้นฉบับการจัดหมวดหมู่แบบ LC ด้วย

6. Weippe Public Library

ห้องสมุดแห่งนี้ผมไม่เคยได้ยินชื่ออ่ะ แต่ก็ลองไปค้นข้อมูลดูแล้ว พบว่ารูปลักษณ์อาคารก็ไม่ได้ดูเด่นอะไร แต่ห้องสมุดแห่งนี้เด่นเรื่องการสร้างชุมชน แถมด้วยการให้บริการ WIFI & CELL PHONE HOTSPOT

7. Harold Washington Library Center, Chicago Public Library

ห้องสมุดแห่งนี้ดูรูปแล้วตอนแรกนึกว่าเป็นห้องสมุดในเมืองจีน ยิ่งได้รู้ว่าห้องสมุดแห่งนี้เด่นเรื่องการจัดนิทรรศการยิ่งน่าไปดูมากๆ

8. Boston Athenaeum

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดที่ยังคงเน้นการจัดตกแต่งภายในด้วยศิลปะ รูปปูนปั้น และภาพเขียนโบราณมากมาย เข้าไปแล้วจะได้ความรู้สึกของห้องสมุดแบบเก่าๆ ได้ดีมาก

9. Deadwood Public Library

ห้องสมุดแห่งนี้คล้ายๆ กับห้องสมุดที่ 8 คือเน้นบรรยากาศภายในห้องสมุดดูเก่าๆ และมีมนต์ขลังดี

10. Central Denver Public Library

ห้องสมุดแห่งนี้เห็นรูปแล้วชอบมากเพราะมีศิลปะอยู่รายรอบห้องสมุด โดยเฉพาะการตกแต่งอาคาร และการออกแบบสถาปัตยกรรม เอาเป็นว่าก็สวยไปอีกแบบ

เป็นไงกันบ้างครับห้องสมุดทั้ง 10 แห่ง บางแห่งผมก็เคยได้ยินมาเยอะ
แต่ก็มีห้องสมุดบางแห่งที่ยังไม่ค่อยรู้จักเลย เอาเป็นว่าสักวันคงต้องไปเยือนจริงๆ สักที

สรุปเรื่องห้องสมุดและบรรณารักษ์ยอดฮิตประจำเดือนเมษายน 2554

ไม่ได้รายงานผลซะนานเลยนะครับ เพราะผมเองก็หายไปจากบล็อกบรรณารักษ์เกือบ 2 เดือน
เอาเป็นว่าผมกลับมาตั้งแต่ต้นเดือนแล้วหล่ะ วันนี้เลยต้องกลับมาทำหน้าที่รายงานเรื่องยอดฮิต

เรื่องยอดฮิตของบล็อกห้องสมุดและบรรณารักษ์ประจำเดือนเมษายน 2554
จากการสำรวจข้อมูลคร่าวๆ พบว่าสถิติในช่วงก่อนการเขียนบล็อกตกลงไปเยอะเลย
แต่หลังจากการกลับมาเขียนอีกครั้งพบว่าสมาชิกหลายๆ คนเริ่มกลับมาอ่าน

แล้วเพื่อนๆ ว่าเรื่องไหนที่ได้รับความนิยม 10 อันดับบ้างหล่ะครับ เราไปดูกันเลยดีกว่า

เรื่องยอดฮิตของบล็อกห้องสมุดและบรรณารักษ์ประจำเดือนเมษายน 2554 10 อันดับได้แก่

1. 3% – บรรณารักษ์สามารถ copy catalog หนังสือจาก Amazon ได้แล้วนะ
2. 3% – ไอเดียจากร้านหนังสือที่ห้องสมุดน่าทำบ้าง : หนังสือละครทีวี
3. 3% – ห้องสมุดจำเป็นต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือไม่
4. 3% – บทสรุปการพัฒนาห้องสมุดไทยคิดด้วยชุมชนห้องสมุดไทยคิด
5. 2% – พาเที่ยวห้องสมุด SCG ? XP Library
6. 2% – แผ่นดินไหวทำให้ห้องสมุดเสียหายแค่ไหน (ชมภาพจากประเทศญี่ปุ่น)
7. 2% – คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์
8. 2% – สวัสดีปีใหม่ไทยและทักทายวันสงกรานต์
9. 1% – นิตยสารบรรณารักษ์ออนไลน์ ปี 4 เล่มที่ 2
10. 1% – คลิปวีดีโอคนต่อแถวแย่งกันเข้าห้องสมุดประชาชนเป็นไปได้หรือนี่

ปล. เรื่องยอดฮิตมีเกณฑ์ในการให้คะแนนเรื่องยอดฮิตมาจาก จำนวนคนเข้าดู, จำนวนคนคอมเม้นต์, จำนวนเรื่องที่ถูกอ้างอิง

เอาเป็นว่าตรงใจหลายๆ คนหรือปล่าวครับ คะแนนเหล่านี้มันจะถูกเก็บสะสมต่อไปเรื่อยๆ นะครับ
ดังนั้นหากเพื่อนๆ ชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษก็โหวตกันได้ (ด้านล่างของบทความจะมีรูปดาวให้ใส่คะแนนได้)
นอกจากโหวตแล้วเพื่อนๆ สามารถคอมเม้นตืเรื่องที่ชอบได้ด้วยนะครับ

สำหรับเดือนพฤษภาคมเรื่องไหนจะได้รับความนิยม เรามาลุ้นได้ในวันที่ 1 มิถุนายนนะครับ

ห้องสมุดจำเป็นต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือไม่

นานแล้วที่ไม่ได้ตั้งแบบสอบถาม วันนี้พอดีได้คุยกับเพื่อนบรรณารักษ์คนนึงเลยได้ไอเดียแบบสอบถาม
ซึ่งแบบสอบถามนี้มาจากการสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนเรื่อง “ห้องสมุดต้องมีสื่อสังคมออนไลน์ด้วยหรือ?”

เอาเป็นว่าก่อนอ่านเรื่องนี้ ผมต้องขอถามเพื่อนๆ ก่อน ว่า “ห้องสมุดต้องมีสื่อสังคมออนไลน์ด้วยหรือ?” (สำรวจแบบจริงจังนะอย่าตอบเล่นๆ)

[poll id=”20″]

เอาหล่ะเมื่อตอบเสร็จแล้วมาอ่านเรื่องการสนทนาของผมกับเพื่อนกันต่อ เรื่องมันมีอยู่ว่า…

เพื่อนผมจุดประเด็นเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์
ซึ่งเพื่อนผมคนนี้มองว่าห้องสมุดหลายแห่งมีการใช้งานของสื่อสังคมออนไลน์แบบแปลกๆ
เช่น มีการ invite เกมส์ออนไลน์, มีการแชร์ของ (เล่นเกมส์), ไม่ค่อยมีการอัพเดทข้อมูลสถานะ…. (ดูรูป)

ซึ่งเพื่อนผมก็เลยถามว่าแล้วตกลงห้องสมุดมีเครื่องมือแบบนี้ไว้เพื่ออะไร

อืม….บางประเด็นผมก็ไม่สามารถแก้ให้เพื่อนๆ ได้ เพราะหลักฐานมันก็ปรากฎจริงๆ
แต่ผมก็บอกได้ว่าก็ยังมีห้องสมุดอีกไม่น้อยนะที่นำมาใช้ประโยชน์จริงๆ
เช่น ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (www.facebook.com/kindaiproject)

จากประเด็นนี้ผมกับเพื่อนจึงมานั่งระดมหัวกันว่า ตกลงแล้ว “ห้องสมุดจำเป็นต้องมีสื่อสังคมออนไลน์หรือปล่าว”
คำถามตอบสำหรับสังคมปัจจุบัน คือ “ควรมี – ต้องมี” ห้ามตอบว่า “ไม่ต้องมีก็ได้”

ทำไมหล่ะ…..ลองนั่งคิดดูนะครับว่าถ้าเรามีกิจกรรมดีๆ ที่จัดในห้องสมุดเราจะประชาสัมพันธ์อย่างไร
– ทำป้ายแล้วมาติดบอร์ดในห้องสมุด (ผู้ใช้บริการอ่านบ้างหรือปล่าว)
– ส่งอีเมล์ไปหาผู้ใช้บริการและแจ้งข่าวสาร (ผู้ใช้บริการเปิดบ้างหรือปล่าว / ไม่แน่อาจมองห้องสมุดเป็นสแปม)
– เอาขึ้นเว็บห้องสมุดเลย (แน่ใจว่าผู้ใช้บริการจะเปิดเว็บไซต์ห้องสมุด)

ปัญหาต่างๆ มากมายยังมีอีกเยอะครับ

อ่ะงั้นเราทำตัวให้เป็นผู้ใช้บริการบ้าง หลักๆ แต่ละวันผู้ใช้บริการทำอะไรบ้าง
…กิจกรรมหลักๆ คือเข้าอินเทอร์เน็ต
แต่อย่าเพิ่งดีใจครับ เขาไม่ได้เข้าเว็บห้องสมุดหรอก
เว็บไซต์ที่ผู้ใช้บริการปัจจุบันเข้าหลักๆ คือ www.facebook.com นั่นแหละครับ

อ่ะกลับมาที่คำถามดังนั้นถ้าเราทำให้ผู้ใช้บริการเป็นเพื่อนกับเราใน facebook แล้ว
นั่นก็หมายความว่าเรามีโอกาสที่จะประชาสัมพันธ์สิ่งดีๆ หนังสือดีๆ กิจกรรมดีๆ ให้ผู้ใช้บริการได้
แล้ว

แล้วมองในอีกมุมนะ ว่าถ้าหาก facebook ของห้องสมุดเต็มไปด้วยเกมส์ผู้ใช้จะคิดว่าอย่างไร…

สื่อสังคมออนไลน์มีหลายตัวนะที่อยากแนะนำ facebook, twitter, youtube, slideshare, flickr….. เอาเป็นว่าใช้ได้ทั้งหมดเลย แถมฟรีด้วย

เรื่องสนทนายังคงเดินหน้าต่อไปเรารู้แล้วว่าผู้ใช้บริการมีชีวิตที่อยู่ในออนไลน์มากมาย
และเราเองในฐานะห้องสมุดเราก็ต้องนำเสนอความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้ใช้บริการ

แล้วตกลงการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในทางอื่นเกิดจากอะไรหล่ะ
– เกิดจากกระแส หรืออาจจะเกิดจากแฟชั่น (คนอื่นเล่นห้องสมุดก็เลยต้องเล่น)
– เกิดจากคำสั่ง (ผู้บริหารสั่งมาก็ทำๆ ให้เขาหน่อย)

เอาเป็นว่าถ้านำมาใช้แบบเรื่อยเปื่อยไม่มีทิศทาง เราก็ไม่สามารถที่จะใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพด้วย
การบังคับให้ทำอาจจะได้ผลในช่วงแรก แต่พอนานไปก็เริ่มเปื่อยและก็ปล่อยให้สื่อสังคมออนไลน์เฉาลงไปเรื่อยๆ

เพื่อนๆ ที่ต้องการรู้เรื่องสื่อสังคมออนไลน์มากกว่านี้ก็ลองค้นหาอ่านในบล็อกผมได้นะ
เพราะผมเขียนเรื่องเหล่านี้ไปเยอะพอสังคมแล้ว ทั้ง facebook – twitter

สุดท้ายนี้เพื่อนๆ รู้หรือยังครับว่า “ห้องสมุดจำเป็นต้องมีสื่อสังคมออนไลน์หรือปล่าว”
และตอบได้หรือยังว่า มีแล้วนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และเพื่อนๆ สนุกกับการใช้แค่ไหน

Facebook Page : เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย

หลังจากที่ประสบความสำเร็จมากมายในการตั้งกลุ่มบรรณารักษ์ไทยใน Facebook มาแล้ว
เพื่อนๆ จำนวนหนึ่งจึงเรียกร้องให้เปิดหน้า page ใน facebook ด้วย
เพื่อให้คนที่อยู่นอกสาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์เข้ามาเห็นว่ากลุ่มเราก็เข้มแข็งนะ ผมเลยจัดให้ตามคำขอ

เอาเป็นว่าขอแจ้งให้ทราบว่าตอนนี้กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยเรามี Facebook page แล้ว
เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.facebook.com/THLibrary

จุดมุ่งหมายและจุดประสงค์ของการเปิด Facebook page : เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย จริงๆ ก็คล้ายๆ กับกลุ่มเครือข่ายบรรณารักษ์ไทยใน facebook นั่นแหละครับ คือ
– เป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงานหรือการศึกษาในสาขาห้องสมุดและบรรณารักษ์
– เป็นพื้นที่ในการพบปะพูดคุยกับเพื่อนใหม่ในสาขาวชาชีพเดียวกัน (ห้องสมุดและบรรณารักษ์)
– ประชาสัมพันธ์ข่าวสารในวงการห้องสมุดและบรรณารักษื เช่น งานบรรณารักษ์ งานอบรมสัมมนา ….
– เป็นเวทีในการรวบรวมข้อเสนอแนะในการพัฒนาวิชาชีพ…

นั่นก็เป็นเพียงวัตถุประสงค์หลักๆ ที่ตั้งขึ้นในช่วงที่มีการตั้งกลุ่มบรรณารักษ์ไทยใน facebook นะครับ

แต่ในเมื่อเปิด group ไปแล้ว ทำไมต้องเปิด page ด้วย หลายๆ คนก็คงสงสัยเรื่องนี้ใช่มั้ยครับ
เอางี้ดีกว่าผมขออธิบายหลักการคร่าวๆ ของ Page กับ Group ดีกว่าว่าต่างกันยังไง
(เพื่อว่าเพื่อนๆ เมื่อเห็นขอดีของการมี page แล้ว เพื่อนๆ จะเข้ามากด Like เป็นแฟนเพจกับเรามากๆ)

เอาเป็นว่าผมขออธิบายแบบคร่าวๆ อีกสักนิดดีกว่า

จุดเด่นของหน้าเพจ (เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย) อยู่ที่ชื่อของ URL ซึ่งเพื่อนๆ จำได้ง่ายกว่าของ Group ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเข้าหน้าเพจโดยพิมพ์ว่า “www.facebook.com/thlibrary” นอกจากนี้สมาชิกที่เพจสามารถรับได้คือไม่จำกัดจำนวน (แต่จริงๆ ผมก็ไม่ได้กังวลเรื่องนี้หรอกนะครับ) แถมด้วยคนที่ไม่ได้เล่น facebook (ไม่มี account ของ facebook) ก็สามารถเปิดหน้าเพจของเราได้ ซึ่งต่างจาก group เพื่อนๆ ต้อง log in ก่อนถึงจะเข้าดูข้อมูลข้างในได้ อีกความสามารถหนึ่งที่น่าสนใจคือ สมาชิกสามารถสร้างอัลบั้มรูปและแชร์รูปภาพได้มากมาย ซึ่งใน group เองเราโพสได้ทีละ 1 รูปเท่านั้น

ความสามารถต่างๆ ของ page ถือว่าดีมากๆ จุดประสงค์อีกอย่างที่ผมเปิด page นี้คืออยากให้คนภายนอกได้เห็นความร่วมมือและกระบวนการในการพัฒนาวิชาชีพห้องสมุดและบรรณารักษ์ด้วย คนนอกไม่เคยรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราจะได้ใช้พื้นที่บนหน้า page นี้อธิบายว่าห้องสมุดหรือบรรณารักษ์มีอะไรมากกว่าที่ทุกๆ คนคิด

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเหตุผลคร่าวๆ ว่าทำไมผมถึงต้องเปลี่ยนจาก group เป็น page
แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าถึงจะมี page แล้ว แต่ผมก็จะไม่ปิด group หรอกครับ

เพราะอย่างน้อยก็ยังมีเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจอีกมากมายให้เพื่อนๆ อ่าน

เอาเป็นว่าผมก็ต้องขอฝาก Facebook Page : เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ด้วยนะครับ
อย่าลืมเข้ามากด Like กันเยอะๆ นะ http://www.facebook.com/THLibrary

คลิปวีดีโอคนต่อแถวแย่งกันเข้าห้องสมุดประชาชนเป็นไปได้หรือนี่

วันนี้วันเสาร์ผมขอนำคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดมาลงให้เพื่อนๆ ดูแล้วกัน
เพราะเข้าใจว่าหลายคนคงไม่อยากจะอ่านอะไรยาวๆ คลิปวีดีโอนี้อยากให้ดูมากๆ

วีดีโอที่ผมนำมาลงนี้เกี่ยวกับการเปิดห้องสมุดประชาชนแห่งใหม่ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (เมื่อวานที่ผมเขียนถึงนั่นแหละ “ห้องสมุดประชาชนที่เปิดใหม่ในสิงคโปร์ 2011“)

ห้องสมุดประชาชนที่เปิดใหม่นี้ คือ Serangoon Public Library ซึ่งเปิดบนห้าง Nex Mall
ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเด่นอยู่ตรงที่มีมุม Digital Media ซึ่งเน้นให้บริการเกมส์เพื่อการศึกษา

ห้องสมุดแห่งนี้เพิ่งเปิดในเดือนมีนาคม 2011 เราไปดูวันแรกของการเปิดห้องสมุดดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=6rTBn2NotCU[/youtube]

สังเกตเห็นอะไรในวีดีโอกันมั้ยครับ
นี่ไม่ใช่งานเปิดตัวสินค้าของ apple หรือเปิดตัว game เครื่องใหม่
แต่ดูคนเข้าแถวสิครับว่าเยอะแค่ไหน นั่นคือคนที่มารอเข้าชมห้องสมุดใหม่นะครับ
แล้วทันทีที่ห้องสมุดเปิดให้เข้าชม คนต่างวิ่งเข้าไปในห้องสมุดหยิบหนังสือกันแบบว่า
เหมือนกับว่าเข้ากำลังจะแย่งซื้อสินค้ากันเลยทีเดียว

จุดเด่นอีกจุดนึงของที่นี่คือมุม Digital media ซึ่งเน้นเกมส์เพื่อการศึกษา เรามาดูกันดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Lf8DKcQT6Wo&NR=1[/youtube]

เห็นวีดีโอนี้แล้วมานั่งคิดถึงห้องสมุดประชาชนในเมืองไทย
ถ้าวันเปิดห้องสมุดมีคนมาต่อแถว แย่งกันเข้าแบบนี้ก็คงดีไม่น้อย

เอาเป็นว่าก็ขอยกเอามาให้ดูเท่านี้ก่อนนะครับ

ปล. ผมขอไปนอนฝันก่อนนะครับ เพื่อจะได้เหนห้องสมุดในเมืองไทยเป็นแบบนี้บ้าง

สำหรับเรื่องห้องสมุดประชาชนในสิงคโปร์เพื่อนๆ อ่านได้ที่ ห้องสมุดประชาชนที่เปิดใหม่ในสิงคโปร์ 2011

ห้องสมุดประชาชนที่เปิดใหม่ในสิงคโปร์ 2011

วันนี้ผมขอนำเสนอข้อมูลการเปิดห้องสมุดประชาชนแห่งใหม่ในสิงคโปร์ประจำปี 2011 มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันดีกว่า ถือว่าเป็นน้ำจิ้มก่อนแล้วกัน เพราะในเดือนมิถุนายนผมจะไปเที่ยวที่สิงคโปร์พอดี จะได้เก็บภาพมาฝากทีหลัง

จากแผนงานของ NLB ปีนี้ จะมีห้องสมุดประชาชนในสิงคโปร์เปิดใหม่ 2 แห่ง
ซึ่งห้องสมุดประชาชนหนึ่งในสองแห่งเปิดไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม นั่นคือ Serangoon Public Library
และห้องสมุดประชาชนอีกแห่งจะเปิดในเดือนพฤษภาคม นั่นคือ Clementi Public Library

จุดเด่นของห้องสมุดประชาชนทั้งสองแห่งนี้คือ อยู่บนห้างสรรพสินค้าทั้งคู่
โดย Serangoon Public Library อยู่บน ห้าง “NEX Mall”
และ Clementi Public Library อยู่บน ห้าง “Clementi Mall”

ข้อมูลทั่วๆ ไปของห้องสมุดประชาชนทั้งสอง
– Serangoon Public Library เปิดในเดือนมีนาคม 2011 รองรับผู้อยู่อาศัยจากเขต Serangoon จำนวน 122,000 คน ห้องสมุดมีพื้นที่ขนาด 1,580 ตารางเมตร
– Clementi Public Libraryปิดในเดือนพฤษภาคม 2011 รองรับผู้อยู่อาศัยจากเขต Clementiจำนวน 91,000 คน ห้องสมุดมีพื้นที่ขนาด 1,900 ตารางเมตร

ห้องสมุดทั้งสองแห่งจะเริ่มต้นด้วยสื่อประเภท หนังสือ วารสาร นิตยสาร มัลติมีเดีย จำนวน 150,000 รายการ (นี่ขนาดว่าจำนวนตั้งต้นนะครับ)

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆ ก่อนนะครับ เดี๋ยวเดือนมิถุนายนผมไปเที่ยวแล้วจะเก็บภาพมาฝากนะครับ
ปล. เดือนมิถุนายนที่ผมไปเที่ยวโชคดีว่ามีงาน World book Expo ที่สิงคโปร์พอดี คงจะได้เรื่องราวมากมายมาฝาก เอาเป็นว่าก็ต้องติดตามชมกันต่อไป

อ้างอิงข่าวจาก http://www.nlb.gov.sg/Corporate.portal?_nfpb=true&_windowLabel=PRHandler_1&PRHandler_1_actionOverride=%2FIBMS%2FcorpHomePR%2FcorpPRHandler%2Fdetail&PRHandler_1detailId=578&PRHandler_1mediaType=1&_pageLabel=Corporate_page_ne_pressreleases