ห้องสมุดประชาชนไทยอยู่ตรงไหนในกลุ่มประเทศอาเซียน

ห้องสมุดประชาชนไทยอยู่ตรงไหนในกลุ่มประเทศอาเซียน

วันนี้ไปเจอแผนภาพที่เกี่ยวกับห้องสมุดประชาชน (Public Libraries) ของคนทั่วโลกมา ข้อมูลในแผนภาพได้บอกถึงจำนวนการมีห้องสมุดประชาชนในแต่ละประเทศว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ดูๆ ไปก็แอบอึ้งเล็กๆ เพราะคนที่รวบรวมต้องใช้เวลานานพอสมควรเลยกว่าจะได้ข้อมูลที่ละเอียดหยิบขนาดนี้

Read more

[Infographic] 100 อันดับ ห้องสมุดขนาดใหญ่ในอเมริกา

[Infographic] 100 อันดับ ห้องสมุดขนาดใหญ่ในอเมริกา

มีการจัดอันดับห้องสมุดสุดใหญ่โตและอลังการในประเทศสหรัฐอเมริกา เกณฑ์ในการตัดสินครั้งนี้ คือ วัดจากจำนวนทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด ใครมีมากกว่าก็จะแปลว่าใหญ่กว่า “ตรงไปตรงมากครับ เพราะถ้ามีพื้นที่ในการเก็บเยอะนั้นก็หมายความว่าต้องมีพื้นที่และขนาดที่เยอะไปด้วย”

สถิติจำนวนทรัพยากรสารสนเทศ ได้มาจากการสำรวจของ สมาคมห้องสมุดสหรัฐอเมริกา (ALA)
ตัวเลขผมเองก็ไม่ค่อยแปลกใจสักเท่าไหร่หรอกครับ
แต่ที่ผมสนใจ คือ การนำข้อมูลนี้มาจัดทำเป็นภาพ infographic ต่างหาก

ไปชมกันได้เลยครับ

Read more

ตามรอยนิทรรศการ เปิดกล่องทางความคิดเส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่

บังเอิญนั่งดูภาพเก่าๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแล้วเจอภาพชุดนึงที่น่าสนใจ เลยขอหยิบยกมาเขียนให้เพื่อนๆ อ่านแล้วกัน ภาพที่พบ คือ ภาพหลังจากที่พวกผมช่วยกันจัดนิทรรศการเปิดกล่องทางความคิดเส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่ กันเสร็จ (ภาพก่อนพิธีเปิดวันนึง ช่วงกลางคืน)

dscf0204

นิทรรศการเปิดกล่องทางความคิดเส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

ปล. งานนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ศูนย์ความรู้กินได้เปิดครบรอบ 1 ปี (20 กรกฎาคม 2553)

ภายในนิทรรศการเปิดกล่องทางความคิดเส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่มีอะไรบ้าง
– ภาพการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุด ก่อนที่จะปรับปรุง – ห้องสมุดในรูปโฉมใหม่
– แบบพิมพ์เขียนและโมเดลอาคารห้องสมุด
– ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย และข้อมูลจากการระดมความคิดเห็น
– ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดประชาชนจากต่างประเทศ
– แนวคิดห้องสมุด 2.0
– การเปิดตัวหนังสือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่”
ฯลฯ

dscf0231

นอกจากข้อมูลที่เป็นแบบบอร์ดนิทรรศการแล้ว การจัดงานในครั้งนี้ยังมีนิทรรศการมีชีวิต (นิทรรศการที่เกิดจากเครือข่ายหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย) เช่น การให้คะแนนในการเข้าชมนิทรรศการด้วยการหยอดแต้มสี (คะแนน) ลงในกล่อง แถมยังมีพื้นที่ในการนั่งชมสื่อมัลติมีเดียที่จัดทำขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะด้วยนะ

dscf0435

แม้ว่า “นิทรรศการเปิดกล่องทางความคิดเส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” จะจบไปแล้ว
แต่ไอเดียในการจัดนิทรรศการแบบนี้ (ที่มีเนื้อหาประมาณนี้) ยังคงประทับใจผมอยู่

อยากเห็นห้องสมุดหรือหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องแหล่งเรียนรู้ได้จัดงานและให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลแบบนี้บ้าง
ลองคิดดูนะครับ ถ้ามีนิทรรศการหรือพื้นที่ในการเปิดไอเดียให้เหล่าห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ ผมว่าในวงการวิชาชีพเราคงคึกคักกว่านี้แน่ครับ

ชมภาพบรรยากาศในงานนิทรรศการเปิดกล่องทางความคิดเส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่ทั้งหมดได้ที่นี่

[nggallery id=65]

Libraryhub พาชมห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีอำเภอเมืองยะลา

ช่วงนี้ได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่บ่อยมาก และการลงพื้นที่ของผมก็ยังคงเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุดอยู่ เมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสไปที่จังหวัดยะลา จึงอยากนำเสนอห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา ให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชนแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา
ที่อยู่ : สำนักงาน กศฯ. จังหวัดยะลา 1 ถนนอาคารสงเคราะห์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://yala.nfe.go.th/lbckyala

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาเพิ่งเปิดให้ใช้บริการเมื่อต้นปี 2555

ลักษณะอาคาร : เป็นอาคารเอกเทศ มี 2 ชั้น
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย
– มุมหนังสือทั่วไป 000-999 , นวนิยาย
– มุมเด็กและครอบครัว
– มุมบริการอินเทอร์เน็ต
– มุมวารสาร / สิ่งพิมพ์
– ห้องนักเขียนเมืองยะลา

ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย
– ห้องใต้ร่มพระบารมี
– ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
– ห้องอาเซียนศึกษา


ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเด่นในหลายเรื่องซึ่งผมจะสรุปให้อ่านดังนี้

1. หน้าจอสืบค้นหนังสือแบบ touch screen
อันนี้ผมชอบเป็นการส่วนตัว โปรแกรมที่ใช้จริงๆ ก็เป็น PLS แต่อุปกรณ์ Hardware ของที่นี่เป็นเครื่องแบบระบบสัมผัสซึ่งใช้ง่ายพอควร

2. ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
ข้อมูลละเอียดดีและเป็นข้อมูลที่ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของเมืองยะลาได้ดีทีเดียว

3. ห้องอาเซียนศึกษา
แยกเป็นห้องเอกเทศมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนค่อนข้างครบ แถมด้วยการจัดห้องในลักษณะคล้ายๆ โรงภาพยนตร์ ซึ่งห้องนี้ใช้ประยุกต์ในการสอนภาษาได้ด้วย

4. พื้นที่บริเวณรอบนอกอาคาร
เป็นพื้นที่โล่งสามารถจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้

5. นอกรั้วของห้องสมุด มีการจัดกิจกรรม “เรียนรู้ภาษาอาเซียน”
ซึ่งมีการเปลี่ยนทุกสัปดาห์สัปดาห์ละคำ (สัปดาห์ที่ผมได้เป็น “คำขอบคุณ” ของทั้ง 10 ชาติอาเซียน)

เอาเป็นว่าพี่น้องที่อยู่แถวนั้นถ้ามีเวลาผมก็ขอแนะนำว่าเป็นห้องสมุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
ปล.อื่นๆ ก็คงเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไปผมไม่ขอบรรยายแล้วกัน

ชมภาพบรรยากาศห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาทั้งหมด

[nggallery id=59]

อ่านอะไรดี : เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่

วันศุกร์ วันสบายๆ แบบนี้ผมขอแนะนำหนังสือสักเล่มดีกว่า (จริงๆ ต้องบอกว่าโปรโมทหนังสือของหน่วยงานตัวเองมากกว่านะ) หนังสือเล่มนี้แค่เห็นชื่อเรื่องก็ต้องบอกว่าสะดุดตาพอสมควรแล้ว นั่นคือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่”

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่องภาษาไทย : เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่
จัดพิมพ์โดย : โครงการศูนย์ความรู้กินได้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
ปีพิมพ์ : 2554
จำนวนหน้า : 192 หน้า
ISBN : 9786162024672

ชื่อหน่วยงานและโครงการหวังว่าเพื่อนๆ คงคุ้นเคยกันนะครับ เพราะเวลาผมไปบรรยายที่ไหนก็ตามผมก็จะกล่าวถึงหน่วยงานนี้ “ศูนย์ความรู้กินได้” ซึ่งเป็นการพัฒนาต้นแบบห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีนั่นเอง

จากการทำงานพัฒนาระบบห้องสมุดของผม 2 ปีกว่าๆ ทีมงานของเราพยายามถอดความรู้จากประสบการณ์และบทเรียนที่เราได้รู้จากการทำงานต่างๆ และได้รวบรวมเพื่อที่จะจัดพิมพ์ออกมาให้เพื่อนๆ ได้อ่าน และนำไปลองใช้ดู

เนื้อหาในเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 บทหลักๆ คือ
– บานประตูใหม่ เพื่อเข้าถึงความรู้ (เกริ่นความสำคัญของการมีห้องสมุด)
– ศูนย์ความรู้กินได้ ยุทธศาสตร์ และเป้าหมาย (ภาพรวมของโครงการและรางวัลห้องสมุดระดับประเทศ)
– การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (พูดเรื่องการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ และโครงสร้างพื้นฐานของอาคารห้องสมุด)
– ปรุง “ความรู้” ให้ “กินได้” (พูดเรื่ององค์ความรู้และการเลือกองค์ความรู้ไปใส่ในห้องสมุด)
– สร้างเครือข่ายผู้ใช้ห้องสมุด เครือข่ายผู้สนับสนุน (การใช้สื่อสังคมออนไลน์และบทบาทของเครือข่ายห้องสมุด)
– การบริหารและพัฒนาบุคลากรในห้องสมุด (พูดเรื่องการพัฒนาบรรณารักษ์ในรูปแบบต่างๆ)

นอกจากนี้ยังมีส่วนภาคผนวกที่จะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับ “การสร้างห้องสมุด” และ “ห้องสมุด 2.0” ด้วย

เอาเป็นว่าเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผมต้องขอบอกเลยครับว่า เน้นข้อมูลที่เพื่อนๆ สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งนั้น ตัวอย่างกิจกรรมดีๆ การเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดแบบถูกใจผู้ใช้บริการ หัวข้อการประเมินผลกิจกรรมต่างๆ และนวัตกรรมการบริการห้องสมุดแบบใหม่ๆ

หนังสือเล่มนี้ต้องขอบอกตามตรงว่ามีจำนวนจำกัดมากๆ
ดังนั้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 นี้จะมีให้แค่บางหน่วยงานเท่านั้น
แต่รับรองว่ายังคงมีการพิมพ์เพิ่มอีกแน่นอน ซึ่งเมื่อไหร่นั้นจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ส่วนใครที่อยากได้จริงๆ วันนี้ผมมีมาแจก 5 เล่ม แต่ต้องร่วมกิจกรรมอะไรสักอย่างนะครับ
นั่นก็คือ เขียนบทความจำนวน 1 หน้ากระดาษ A4 ในเรื่องใดก็ได้ต่อไปนี้ (เลือกแค่ 1 เรื่องนะครับ)
“ห้องสมุดในยุคใหม่ในสายตาของท่านจะมีลักษณะอย่างไร”
“แนวทางในการเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดให้ตรงใจผู้ใช้บริการ”
“บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องพัฒนาทักษะและมีความสามารถด้านใด”

เขียนเสร็จแล้วให้ส่งมาที่ dcy_4430323@hotmail.com หรือ maykin@okmd.or.th ส่งได้ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นะครับ ทางทีมงานจะคัดเลือกบทความที่น่าสนใจและนำมาลงในเว็บไซต์ www.kindaiproject.net และลงบทความของท่านในวันที่ 1-5 มิถุนายน 2555 บทความใดได้ลงจะได้รับหนังสือ “เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” คนละ 1 เล่มครับ

กรุณาใส่ชื่อจริงนามสกุลจริง หน่วยงานของท่าน ที่อยู่และเบอร์ติดต่อเพื่อประสานงานการจัดส่งหนังสือมาด้วยนะครับ

กิจกรรมแจกหนังสือจะมีเป็นระยะนะครับ

สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีบรรยายเยอะมากๆ เอาเป็นว่าจะเอามาสรุปให้อ่านทีละตอนแล้วกันนะครับ
วันนี้ขอคิวของการไปบรรยายที่จังหวัดร้อยเอ็ดก่อนแล้วกัน ในหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน

การบรรยายเรื่องนี้ผมใช้เวลาครึ่งวันบ่ายครับ เพราะช่วงเช้าหัวหน้าผมบรรยายไปแล้ว
(เพื่อนๆ สามารถอ่านได้ที่ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด“)

เริ่มจากไปดูสไลด์ที่ผมใช้บรรยายก่อนดีกว่า
Social media in library at roiet

เอาหล่ะครับมาอ่านบทสรุปของผมต่อแล้วกัน

การบรรยายเริ่มจากการเกริ่นเส้นทางจากบรรณารักษ์ในแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่
และเกริ่นถึงหัวข้อที่จะบรรยายในวันนี้ คือ
– ทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ทุกคนควรรู้….
– ทำความรู้จักสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
– กรณีศึกษาการใช้บล็อกสำหรับห้องสมุด
– กรณีศึกษาการใช้ Facebook สำหรับงานห้องสมุด
– แนวโน้มการก้าวสู่การเป็นห้องสมุดยุคใหม่ในโลก

บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีความรู้ด้านวิชาชีพ (บรรณารักษศาสตร์) และมีความรู้ด้านไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์

การทำงานในห้องสมุดให้ราบรื่น จำเป็นที่จะต้องเห็นภาพรวม
และเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเห็นภาพคือ Library Work Flow ตัวอย่างดังภาพ

ทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้เรื่องไอที – ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรามากมาย เช่น งานบริหารห้องสมุด, งานจัดซื้อจัดหา, งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ, งานบริการต่างๆ, ระบบห้องสมุด

ไอทีสำหรับบรรณารักษ์ ผมย้ำแค่ 3 ประเด็น คือ ต้องรู้จัก เข้าใจ และเอาไปใช้ให้ถูก

ทักษะและความรู้ด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ มี 8 ด้าน ได้แก่
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ประเด็นไอทีในข้อ 1-7 ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ใช้กันอยู่แล้วเพียงแต่ต้องฝึกฝนกันมากๆ แต่ในข้อที่ 8 อยากให้เรียนรู้กันมากๆ นั่นคือ เรื่องเว็บ 2.0 นั่นเอง

เว็บ 2.0 มีลักษณะดังนี้ (สรุปประเด็นตามสไลด์)
– ยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์
– รูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์”
– แนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ
– การปรับเว็บไซต์จากการให้ข้อมูลเพียงทางเดียว เป็นการให้บริการและข้อมูลที่ “ผู้ใช้” เข้าถึงได้ง่ายและร่วมสร้าง แก้ไข


จาก “เว็บ 2.0” สู่ “ห้องสมุด 2.0” ซึ่งสิ่งที่เหมือนกัน คือ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการ รับฟังผู้ใช้บริการ …..

ในอดีตช่องทางที่จะทำให้คนทั่วไปรู้จักห้องสมุดบนโลกออนไลน์ มีเพียงวิธีเดียว คือ “เว็บไซต์ห้องสมุด” แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์มากมายให้เลือกใช้ ที่สำคัญ คือ “ฟรี”

สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งปันความรู้ – เครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันความรู้

ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์แบบต่างๆ เช่น Blog Facebook twitter

ทิศทางสำหรับห้องสมุดในอนาคต (Trend : Library in the Future)
1. Mobile applications.
2. E-book readers.
3. Niche social networking.
4. Google Applications.
5. Google Books.
6. Library socialized.
7. Open source software.
8. Podcasting and ItunesU.
9. Social networking classes for patrons.
10. Library Marketing.


นี่ก็เป็นการสรุปการบรรยายให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ เอาเป็นว่าขอจบแต่เพียงเท่านี้หล่ะกันครับ

ผมขอฝากเอกสารชิ้นนึงให้อ่าน เป็นบทความที่ผมเขียนลงวารสารโดมทัศน์ของธรรมศาสตร์
อยากให้อ่านเพราะว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
อ่านได้ที่ “คิดเล่นๆ และทำจริงๆ จึงได้เครือข่ายบรรณารักษ์ออนไลน์

เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่ ณ ห้องสมุดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ผมและหัวหน้าของผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อบรรยายให้บรรณารักษ์ที่ทำงานอยู่ในห้องสมุดจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในช่วงเช้าเป็นหัวข้อ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ซึ่งบรรยายโดยหัวหน้าของผม และตอนบ่ายเป็นหัวข้อ “สื่อสังคมออนไลน์กับการใช้งานในห้องสมุดประชาชน” โดยผมเอง

ซึ่งในขณะที่หัวหน้าของผมกำลังบรรยายในเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” ผมเองก็ได้ทำการถ่ายทอดสดการบรรยายในหัวข้อนี้ด้วย เผื่อที่ว่าเพื่อนๆ ที่ไม่มีโอกาสได้มาฟังก็สามารถอ่านการรายงานสดของผมได้

การรายงานสดของผมครั้งนี้ ผมใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า Twitter
ซึ่งง่ายต่อการรายงานสดๆ มาก เพราะพิมพ์ข้อความละครั้งไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้น
การดำเนินการรายงานสดของผมใช้ชื่อว่า “Live Tweet” และใช้คำหลักว่า “#Libraryatroiet

ลองอ่านดูแล้วกันนะครับว่า ผมรายงานเป็นอย่างไรบ้าง
[ผมจะเรียงจากข้อความแรกไปจนถึงข้อความสุดท้ายนะครับ]

Live Tweet : “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” #Libraryatroiet

– หัวข้อในช่วงเช้านี้ “เส้นทางสู่บรรณารักษ์ยุคใหม่ & เส้นทางสู่ห้องสมุดยุคใหม่” #LibraryatRoiet

– วิทยากรช่วงเช้านี้ หัวหน้าผมเอง คุณนพดล วีรกิตติ #LibraryatRoiet

– เมื่อกี้วิทยากรพูดถึงแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา #LibraryatRoiet

– การจัดชั้นวารสารที่น่าสนใจอยากให้ห้องสมุดดูร้านหนังสือเป็นตัวอย่าง #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดหลายแห่งจัดนิตยสารโดยการเรียงตามตัวอักษร ดังนั้นผู้ใช้ที่ต้องการหานิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันลำบากในการเดินมากๆ #LibraryatRoiet

– ถ้าจัดชั้นนิตยสารตามหมวดหมู่ หรือ เรียงนิตยสารที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ผู้ใช้สบาย บรรณารักษ์ก็ทำงานง่าย #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังแนะนำเทคนิคเรื่องการนำ mindmap มาใช้ในการหาความคิดสร้างสรรค์ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์มีเสื้อกันเปื้อยด้วย เท่ห์ป่ะหล่ะ #LibraryatRoiet

– Library2.0 แบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี คือ สมุดเซ้นเยี่ยมชมห้องสมุด และ สมุดแสดงความคิดเห็นในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– สมุดเซ็นเยี่ยม หรือ สมุดแสดงความคิดเห็น ที่ดี คือ สมุดวาดเขียน (สมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด) จะดีมากๆ #LibraryatRoiet

– จะทำให้ห้องสมุดมีชีวิต บรรณารักษ์ต้องมีชีวิตชีวาก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วรู้สึกอยากทำงาน #LibraryatRoiet

– อาชีพการจัดการความรู้เป็นอาชีพที่ต้องการมากในต่างประเทศ #LibraryatRoiet

– สังคมต้องช่วยให้คนมีความรู้ที่ดี เพื่อให้คนมีโอกาสในช่วง AEC ห้องสมุดคือหน่วยงานที่ต้องสร้างองค์ความรู้นั้น #LibraryatRoiet

– ในประเทศอเมริกา obama แต่งตั้งให้บรรณารักษ์ดูแลนโยบายการจัดการความรู้ของประเทศ ถ้าเมืองไทยหล่ะ ใครจะได้รับตำแหน่งนี้ #LibraryatRoiet

– ที่อุบลราชธานี ราชภัฎอุบลเองยังต้องมาดูงานที่ห้องสมุดประชาชน #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังยกตัวอย่างห้องสมุดเทศบาลระยอง ที่เทศบาลกู้เงินจาก world bank เพื่อพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– Seattle ประชากรมีมากกว่า 168 เชื้อชาติ ห้องสมุดประชาชนจึงจัดคอร์สอบรมภาษาอังกฤษให้ฟรี #LibraryatRoiet

– ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้มากขึ้น ก็มีโอกาสได้งานมากขึ้น ก็จะมีรายได้มากขึ้น ผลสุดท้ายท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้มากขึ้น นี่แหละกลไล #LibraryatRoiet

– เหตุผลง่ายๆ ที่ท้องถิ่นต้องลงทุนพัฒนาห้องสมุดในท้องที่ของตัวเอง #LibraryatRoiet

– หนังสือดีๆ ควรมีในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ทำไมห้องสมุดถึงจะมีการ์ตูนไม่ได้หล่ะ การ์ตูนเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น #LibraryatRoiet

– รักการอ่านต้องเริ่มจากความสนใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ #LibraryatRoiet

– คนที่ทำงานด้านไอทีอยากได้องค์ความรู้ด้านไอทีมาก แต่หนังสือก็ราคาแพง ห้องสมุดทำไมถึงไม่จัดหาให้คนกลุ่มนี้บ้างหล่ะ #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด ต้องมีกรอบการเลือกที่ชัดเจน ไม่งั้นก็ได้หนังสือมาแบบไม่มีแก่นสาร #LibraryatRoiet

– การจะเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดได้ เราต้องรู้จักพื้นที่ของเราก่อนว่าผู้ใช้บริการต้องการอะไร และเรามีอะไร #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดวัสดุก็เป็นอีกตัวอย่างนึงที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มาจากแค่การอ่านเท่านั้น #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่น กรณี “ผ้าย้อมมะเกลือป้องกันแสงยูวี” เป็นเรื่องที่ห้องสมุดก็นำมาเล่าได้ #LibraryatRoiet

– ในท้องถิ่นจะมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจอีกเพียบ หน้าที่นึงของห้องสมุด คือ การดึงองค์ความรู้เหล่านี้มาเล่าให้คนอื่นฟัง #LibraryatRoiet

– นึกอะไรไม่ออกให้เดินมาที่ห้องสมุด ห้องสมุดอยู่กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ #LibraryatRoiet

– พักเบรค 15 นาทีครับ เดี๋ยวกลับมารายงานต่อครับ #LibraryatRoiet

– อธิบายในช่วงเบรคนิดนึง #LibraryatRoiet คือ การรายงาน live tweet การอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 26 คน

– กลับมาจากเบรคแล้ว เริ่มด้วยของเด่นประจำจังหวัด #LibraryatRoiet

– ร้อยเอ็ดเด่นเรื่องข้าว (ข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดอยู่ที่นี่) #LibraryatRoiet

– ช่วงนี้เน้นเรื่องการเอาองค์ความรู้ท้องถิ่นมานำเสนอในห้องสมุด ตัวอย่างกรณีศึกษาคือ “ตลาดนัดฮักสุขภาพ” ที่ห้องสมุดอุบลราชธานี #LibraryatRoiet

– คนรุ่นใหม่เรียนจบมาทำฟาร์ม ทำสวนกันเยอะเหมือนกันนะ “คนที่ต้องการใช้ความรู้เพื่อทำการเกษตร” ห้องสมุดจะทำอย่างไร #LibraryatRoiet

– การสังเกตความสนใจของผู้ใช้บริการแบบง่ายๆ คือ หยิบหนังสือมาดูด้านหลังตรงที่ประทับตรากำหนดส่ง ว่ามีเยอะแค่ไหน #LibraryatRoiet

– “คุณภาพชีวิต” เป็นประเด็นที่มีคนให้ความสนใจมาก #LibraryatRoiet

– การ survey แบบง่ายๆ และไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเลย คือ การพูดคุยกับผู้ใช้บริการมากๆ #LibraryatRoiet

– การหาความรู้ของคนในต่างจังหวัดมักจะมาจากการพูดคุย ถามกันเอง ไม่ใช่การมาอ่านหนังสือในห้องสมุด ดังนั้นห้องสมุดควรจะจัดเวทีให้ #LibraryatRoiet

– คนขายของไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ของจีนก็เยอะ แต่ถ้าเราหาโอกาสทางธุรกิจเจอก็ไม่ยากนะ ห้องสมุดต้องช่วยหาประเด็นเหล่านั้น #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดไปศึกษาข้อมูลงานวิจัยผู้สูงอายุพบว่า “Lifestyle ของผู้สูงอายุในยุคนี้ต่างจากยุคก่อนหน้านี้” #LibraryatRoiet

– ผู้สูงอายุถามว่า “เวลาไปซื้อของตามศูนย์การค้าทำไมต้องให้พวกเขาเดินหลายๆ ชั้น ทีของเด็กยังมีเป็นมุมช้อปปิ้งของเด็กเลย” #LibraryatRoiet

– การจัดนิทรรศการของห้องสมุดแบบเดิมๆ คือ การจัดบอร์ด ไม่ว่าจะงานไหนก็เป็นการติดบอร์ด ไม่คิดว่าผู้ใช้บริการเบื่อบ้างหรอ #LibraryatRoiet

– คนพูดเรื่อง AEC กันเยอะ แต่ก่อนที่ห้องสมุดจะไปถึงขั้นนั้นได้ ห้องสมุดต้องให้ความสำคัญกับสารสนเทศท้องถิ่นก่อน #LibraryatRoiet

– คนอุบลราชธานีบางคนยังไม่รู้เลยว่าทำไมต้องมีคำว่า “ราชธานี” สารสนเทศท้องถิ่นสำคัญมากนะ #LibraryatRoiet

– Creative Economy = ความรู้ท้องถิ่นต่อยอดกับสินค้าและบริการ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก #LibraryatRoiet

– อาจารย์ปัญญาเล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานีได้สนุกมาก เราก็เชิญเขามาเล่าในห้องสมุดให้ผู้ใช้บริการฟังสิ #LibraryatRoiet

– จังหวัดมอบภาระในการเล่าเรื่องจังหวัดให้ห้องสมุดเป็นคนทำ #LibraryatRoiet

– การตั้งชื่อของกิจกรรมก็มีส่วนในการเรียกคนเข้าห้องสมุดเช่นกัน #LibraryatRoiet

– ขนาดภาพยนตร์ต่างๆ ยังมีการตั้งชื่อให้น่าสนใจเลย ดังนั้นห้องสมุดก็ควรตั้งชื่อกิจกรรมต่างๆ ให้โดนใจบ้าง #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างชื่อกิจกรรมแบบโดนๆ “จัดร้านให้ได้ล้าน, นิทรรศการเฮ็ดจังสิเด้อจังสิมีโอกาส” ภาษาถิ่นก็เป็นอีกไอเดียนึง #LibraryatRoiet

– มีโอกาสและช่องทางมากมายในการพัฒนาห้องสมุด #LibraryatRoiet

– บรรณารักษ์ในอเมริกาใช้วิธีการสมัครเข้าร่วมกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเมือง เช่น กลุ่มไพธอน เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มาใช้พื้นที่ในห้องสมุด #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสถานที่ที่มีคนมาขอใช้ถ่ายทำรายการมากมาย นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการโปรโมทห้องสมุด #LibraryatRoiet

– เรื่องที่คิดไม่ถึง “มีครูมาขอเช่าพื้นที่ในห้องสมุดสอนหนังสือเด็กฟรี” สอนฟรีแถมให้เงินห้องสมุด มีแบบนี้ด้วย ห้องสมุดอุบลฯ #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเปิด stop motion เพื่อการแนะนำหนังสือในห้องสมุด ทำง่าย ใช้ได้จริง #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเล่าต่อถึงเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานอื่นๆ กับห้องสมุด ห้องสมุดไม่ต้องทำงานคนเดียวแล้วนะ #LibraryatRoiet

– หลายๆ คนบอกว่าห้องสมุดจะพัฒนาได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งก็จริงส่วนนึง แต่ส่วนนึงผู้ปฏิบัติต้องพิสูจน์ให้ผู้บริหารเห็น #LibraryatRoiet

– วิทยากรกำลังเกริ่นถึงเรื่องสื่อสังคมออนไลน์กับงานห้องสมุดซึ่ง ช่วงบ่ายผมจะเป็นคนบรรยายเอง #LibraryatRoiet

– ช่วงบ่ายอาจจะไม่มีการรายงานสดๆ แบบนี้ แต่ผมสัญญาว่าจะเอาเรื่องที่ผมบรรยายมาโพสในบล็อกให้อ่านนะครับ #LibraryatRoiet

– แนะนำหลักสูตรการอบรม 10 ด้าน เพื่อการพัฒนาบรรณารักษ์ “ห้องสมุดมีชีวิตเมื่อคนทำงานมีชีวิตชีวา” #LibraryatRoiet

– การอบรม คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้คนทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข #LibraryatRoiet

– ถ้าเรากลัวความผิดพลาด เราก็จะไม่มีแรงในการคิดสร้างสรรค์ #LibraryatRoiet

– การเรียนเรื่อง “การค้นหา” มันมีวิธีมากมาย #LibraryatRoiet

– วิธีการเขียนบล็อกที่ง่ายที่สุด คือ อย่าไปคิดว่าจะเขียนเพื่อเอารางวัลซีไรต์ #LibraryatRoiet

– Unconference ในวงการห้องสมุดก็น่าสนใจนะ #LibraryatRoiet

– ตัวอย่างงาน unconference “พรุ่งนี้บ่ายโมงไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกไปถ่ายรูปกัน” #photowalk #LibraryatRoiet

– ห้องสมุดสมัยใหม่ ต้องเปลี่ยนปัญหาของผู้ใช้บริการ มาเป็น ปัญหาของเรา เช่น ผู้ใช้ไม่ได้เอาบัตรมา เราก็ต้องให้ยืมได้ #LibraryatRoiet

– ผู้บริหารเตือนพนักงาน “คุณจะทะเลาะกับลูกค้าเพราะเงิน 50 บาทอย่างนั้นหรือ” เพราะหลังจากนั้นลูกค้าจะไม่กลับมาหาเราอีก #LibraryatRoiet #Like

– ความสุขของพวกเราคือ การเห็นผู้ใช้บริการมีความสุขกับการใช้ห้องสมุดที่พวกเราทำ #LibraryatRoiet

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นการสรุปประเด็นและเก็บตกไอเดียจากการบรรยายเรื่อง “เส้นทางสู่บรรณารักษ์และห้องสมุดยุคใหม่” โดยคุณนพดล วีรกิตติ นะครับ ส่วนบทสรุปในช่วงบ่าย เนื่องจากผมเป็นคนบรรยายเอง จึงไม่มีการทำ Live Tweet นะครับ แต่เดี๋ยวผมจะสรุปลงบล็อกให้อ่านในตอนหน้าแล้วกัน

กิจกรรมวันเด็ก ณ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดจังหวัดอุบลราชธานี

วันเสาร์ที่จะถึงนี้เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม หรือ ที่เราเรียกว่า วันเด็ก นั่นเอง ช่วงนี้ห้องสมุดหลายๆ แห่งคงกำลังเตรียมงานวันเด็กกันอยู่ ผมจึงขอนำรูปแบบงานวันเด็กในห้องสมุดที่เคยจัดมาเล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับ

จริงๆ เรื่องงานวันเด็กของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีผมเคยเขียนในบล็อกของผมแล้ว
เรื่อง “งานวันเด็ก ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้ผมขอเขียนในมิติที่เกี่ยวกับเรื่องของการเตรียมงานแล้วกันครับ

เริ่มตั้งแต่การประชุมกันในทีมเพื่อหากิจกรรมต่างๆ มาลงในงานวันเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วคิดออกมาแล้วมีมากมาย ได้แก่
– การวาดภาพระบายสี
– การเล่านิทาน
– การตอบคำถามเพื่อแจกของรางวัล
– การพับกระดาษโอริงามิ
– การปั้นดินน้ำมัน
– การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์
– การชมภาพยนตร์

ฯลฯ

จริงๆ แล้วคิดไว้เยอะมาก แต่ก็มาแบ่งเป็นประเภทๆ อีกที เช่น กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมเพื่อนักอ่าน กิจกรรมในห้องคอมพิวเตอร์ กิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้ชื่อโซนต่างๆ ดังนี้

1 โซนสร้างพลานามัย
2 โซนรักการอ่าน
3 โซนสร้างจินตนาการ
4 โซนเทคโนโลยี
5 โซนส่งเสริมอาชีพ

เมื่อได้ชื่อกิจกรรมและโซนกิจกรรมแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องคิดคือ “การเขียนโครงการวันเด็ก” ออกมา
ที่ต้องรีบเขียนออกมาเพื่อที่เราจะนำโครงการนี้ไปขอรับอภินันทนาการของรางวัล ของแจก และเงินทุนจากผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สำหรับจัดงานต่อไป

เมื่อได้ของรางวัล ของแจก และของสนับสนุนต่างๆ แล้วก็เริ่มดำเนินการวางแผนงานต่อ คือ จัดสรรของรางวัลเพื่อลงไปในกิจกรรมต่างๆ

จากนั้นก็เริ่มวางผู้ที่เป็นหลักในกิจกรรมต่างๆ และแบ่งหน้าที่กันทำ
ห้องสมุดประชาชนไม่ต้องกลัวว่าคนจะน้อย กศน สามารถมอบหมายครู กศน มาช่วยห้องสมุดจัดงานได้ด้วย

สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างจุดเด่นให้กับห้องสมุด
ลองคิดดูนะครับ วันเด็ก หน่วยงานต่างๆ ก็จัดงานกันมากมาย
ถ้าห้องสมุดไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เด็กๆ ก็อาจจะหายไปอยู่ที่งานวันเด็กที่หน่วยงานอื่นๆ จัดก็ได้

สุดท้ายก็ประชุมกันอีกสักนิดก่อนจัดงานสองวันเพื่อตรวจสอบว่า ยังขาดเหลืออะไรอีกหรือไม่

นี่แหละครับ กว่าจะเป็นงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

ชมภาพกิจกรรมในงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้ทั้งหมด

[nggallery id=35]

แนวคิดการออกแบบห้องสมุด – 10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด

วันนี้ขอนำบทความเก่าจากบล็อกเดิม projectlib มาเล่าใหม่สักนิดนะครับ
เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้บริการห้องสมุดเยอะมาก

เรื่องๆ นี้ต้นฉบับมาจากเรื่อง “10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด (แนวความคิดในการออกแบบห้องสมุด)
ซึ่งผมแปลมาจากบทความ “Ten Things About What People Want

ซึ่งบทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อปี 2008 นะครับ โดย PLA (สมาคมห้องสมุดประชาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้ ALA

ดังนั้นแน่นอนครับว่าเป็นบทความที่เหมาะกับห้องสมุดประชาชนมากๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดประชาชนเป็นหลัก
โดยดึงรายละเอียดมาจากความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชน
บทความนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดแล้ว ผมขอแนะนำให้นักออกแบบอาคารได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ด้วย

10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด มีดังนี้

1. Comfortable places (soft furniture, fireplaces, lights)
สถานที่ต้องสะดวกสบาย เช่น มีการจัดเฟอร์นิเจอร์สวยงาม มีแสงไฟสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก

2. Meeting rooms and study rooms
มีห้องประชุมกลุ่ม และห้องที่สามารถใช้ศึกษาร่วมกันได้

3. Supported services (self-check out, drive-up windows, outside pick-up lockers)
มีการสนับสนุนในงานบริการต่างๆ เพื่อความสะดวกของตัวผู้ใช้ เช่น บริการยืมคืนด้วยตัวเอง, ที่ฝากของหรือตู้ล็อกเกอร์เก็บของ

4. Food service (Vending is more practical than coffee shops)
มีบริการในส่วนอาหาร โดยอาจจะแยกมุมให้บริการต่างหาก

5. Multi-functional children’s areas (with special sized doors, murals)
มีมุมเพื่อกาศึกษาสำหรับเด็ก เช่น หนังสือเด็ก ของเล่นเด็ก

6. Teen friendly areas
มุมสำหรับวัยรุ่น (ไม่ต้องคิดลึกนะครับ มุมนี้เป็นมุมสำหรับทำกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ร่วมกัน เช่น มีการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น ฉายหนังในวันหยุดสุกสัปดาห์)

7. Retail-oriented merchandising (bookstore-like open face shelving)
นอกจากยืมคืนหนังสือ หรือบริการอ่านแล้ว ห้องสมุดควรมีส่วนที่เป็นการค้าด้วย เช่น ขายหนังสือที่น่าสนใจ หรืออุปกรณ์อื่นๆ

8. Technology (unobtrusive stations, wireless patios, RFD checkout)
เทคโนโลยีในห้องสมุดก็ต้องมีความทันสมัยตามยุค หรือตามสังคมให้ทัน เช่นมีบริการ wifi, ใช้ชิป rfid

9. Good way finding (more than just good signs – good paths)
มีวิธีเพื่อช่วยให้ผู้ใช้หาหนังสือได้เร็วขึ้น เช่น ทำป้ายบอกหมวดหมู่ติดตามชั้นหนังสือให้ชัดเจน บอกรายละเอียดครบถ้วน

10. Sustainable environment (energy efficiency, green materials, pollution free)
ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น มุมไหนที่มีผู้ใช้น้อยก็อาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง บางที่ผมเคยเห็นว่าเครื่องใช้บางอย่างใช้แผงโซล่าห์เซลล์ด้วย

เป็นยังไงกันบ้างครับ ห้องสมุดที่เพื่อนๆ ทำงานอยู่มีลักษณะตามนี้หรือปล่าว
ถ้ามีนั่นก็หมายความว่า ท่านมีสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าไม่มีก็ลองดูสิครับว่าจะทำอะไรได้บ้าง (10 สิ่งนี้ห้องสมุดอาจจะไม่ต้องมีทั้งหมดก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรเป็นหลักครับ)

ที่มา http://plablog.org

เบื้องหลังการถ่ายแบบในห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้หลายๆ คนคงจะยุ่งกันน่าดู เพราะว่าเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ (วันจันทร์) นั่นเอง
แถมด้วยช่วงนี้หลายๆ คนคงกำลังให้ความสำคัญและเครียดกับเรื่องน้ำท่วมกันมาก
ผมเองก็ไม่อยากนำเสนอเรื่องที่อ่านแล้วเป็นวิชาการหรือเครียดมากๆ หรอก

ดังนั้นวันนี้ผมขอเน้นรูปแล้วกันครับ

รูปชุดนี้ผมได้มานานแล้วหล่ะครับ ตั้งแต่ก่อนเปิดห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
วันนี้ระหว่างจัดระเบียบไฟล์ในเครื่องแล้วเจอพอดี เลยขอนำมาลงให้ชมแล้วกันครับ

ก่อนเปิดห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
ทีมงานของเราก็ต้องการภาพห้องสมุดที่ใช้ในการลงสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ
จึงได้นัดชมรมถ่ายภาพจากเว็บไซต์ GuideUbon มาช่วยในงานนี้

ต้องบอกตรงๆ ครับว่าเราไม่ได้จ้างนายแบบหรือนางแบบเลย
เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนก็พร้อมที่จะเป็นนายแบบและนางแบบกันหมด 555

เมื่อพร้อมแล้วเราก็จัดฉาก จัดสถานที่ โพสท่า และก็ถ่ายกันได้เลย….
ภาพก็ออกมาเป็นแบบนี้แหละครับ

[nggallery id=50]

เป็นยังไงกันบ้าง ภาพที่นำมาลงนี่มาจากกล้องผมนะครับเป็นภาพเบื้องหลังทั้งนั้น
แต่ถ้าใครอยากชมภาพสวยๆ ก็ลองเข้าไปดูได้ที่
– น้าไกด์ http://www.guideubon.com/web/viewtopic.php?f=13&t=31638
– นายเต้าทึง http://www.guideubon.com/web/viewtopic.php?f=13&t=31634
– เฮียเซง http://www.guideubon.com/web/viewtopic.php?f=13&t=31644
– เฮียไก่ http://www.guideubon.com/web/viewtopic.php?t=31650
-ตาเอก http://www.guideubon.com/web/viewtopic.php?f=13&t=31649