หลังจากฟังการบรรยายของวิทยากรหลายๆ คนในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
ช่วงบ่ายของวันที่ 3 สิงหาคมก็มีการจัดไปศึกษาดูงานกันที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ผมจึงขอตามไปดูงานด้วย และได้เก็บภาพต่างๆ มามากมายเพื่อให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาได้ชมห้องสมุดกัน
การไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ของกลุ่มบรรณารักษ์การแพทย์ค่อยข้างจะสนุกกว่าทุกที่ที่ผมเคยพบ นั่นคือทางเจ้าภาพของงานได้เหมารถ ปอ สีส้ม สาย 77 จำนวน 1 คัน เป็นรถที่จะพาเราไปศึกษาดูงาน เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร วิทยากร ผู้ฟัง ต่างก็ได้ใช้บริการรถเมล์คันดังกล่าวทั้งนั้น บางคนนั่ง บางคนยืน สนุกสนานครับ เดี๋ยวลองดูในอัลบั้มรูปแล้วกันนะครับ
พอไปถึงที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ก็เกิดอุปสรรคขึ้นนิดหน่อย คือ จำนวนผู้ที่เข้าชมเกือบๆ 70 กว่าคนครับ เลยต้องแบ่งการเข้าชมออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ผลัดกันชมด้านนอกกลุ่มนึงด้านในกลุ่มนึง
เคยได้ยินคนพูดว่า ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) เป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ
เรื่องของประวัติความเป็นมาของห้องสมุด (ของลอกมาจากวิกิพีเดีย : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%8C)
สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) จดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุด เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรี (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งสมาชิกเป็นสุภาพสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีนำมาจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพโดยมีข้อบังคับของสมาคมที่ให้การบริหารงานนั้นต้องประกอบไปด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีจำนวนไม่เกิน 12 คน
นายกสมาคมคนแรกซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งก็คือ นาง Sarah Blachley Bradley ซึ่งเป็นภรรยาของคุณหมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beech Bradley)
ในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อ จากสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ เป็น สมาคมห้องสมุดกรุงเทพ
ส่วนชื่อปัจจุบันของห้องสมุด คือ สมาคมห้องสมุดเนลสันเฮย์ นั้นมาจากชื่อของนาง Jennie Neilson Hays ซึ่งชื่อเดิมของ นาง Jennie Neilson Hays คือ Jennie Neilson เป็นชาวเดนมาร์ก ครอบครัวได้อพยพไปอยู่อเมริกาต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชั่นนารีในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 และได้พบกับคุณคุณหมอ Thomas Heyward Hays ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2429 และทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2430
ต่อมานาง Jennie Neilson Hays ได้เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุดโดยเตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 ตลอดเวลาเธออุทิศตัวและเวลาเพื่อทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในปี เธอทำงานให้กับห้องสมุดเป็นเวลาถึง 25 ปี และเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือน เมษายน พ.ศ. 2463
ตั้งแต่จัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมห้องสมุดในปี พ.ศ. 2414 เป็นต้นมาห้องสมุดไม่มีสถานที่ทำการถาวรย้ายไปตามที่ที่จะได้รับอนุเคราะห์จากสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนาง Jennie Neilson Hays ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2463 ด้วยความรักที่เธอมีต่อห้องสมุด คุณหมอ Thomas Heyward Hays จึงได้สร้างอาคารถาวรและซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อยกให้เป็นของห้องสมุดและเป็นที่ระลึกถึงภรรยาของท่าน ดังนั้นสมาคมห้องสมุดกรุงเทพ (The Bangkok Library Association) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดเนลสันเฮย์” พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จเริ่มเปิดทำการในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2465 โดยสถานที่ตั้งนั้นอยู่ที่ เลขที่ 193,195 ถนนสุรวงศ์ และปัจจุบันห้องสมุดก็ยังเปิดให้บริการอยู่
อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ นายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) และสถาปนิกผู้ช่วยชื่อนายจีโอวานี แฟร์เรโร (Mr.Giovanni Gerreo)ลักษณะอาคารเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิค โดยผังอาคารเป็นรูปตัว H ทางเข้าเป็นห้องทรงกลมหลังคาทางเข้าเป็นโดม ซึ่งปัจจุบันทางเข้าเดิมได้ปิดและปรับปรุงให้ใช้เป็นห้องแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะโดยใช้ห้องนี้ชื่อว่า Rotunda Gallery ส่วนทางเข้าไปย้ายไปอยู่ด้านข้างแทน
อาคารห้องสมุดเนลสันเฮย์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
นี่ก็เป็นเรื่องราวแบบคร่าวของความเป็นมาเกี่ยวกับห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ที่ผมประทับใจ คือ เรื่อง การสร้างห้องสมุดเพื่อเป้นที่ระลึกแก่ภรรยาที่เสียชีวิต เรื่องราวคล้ายๆ ทัชมาฮาล เลยนะครับ
ข้อมูลทั่วไปที่นายบรรณารักษ์ไปสังเกต
– หนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดครับ
– การจัดหนังสือใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้
– มีตู้บัตรรายการใช้อยู่ด้วย
– อยู่ในระหว่างการปรับปรุงห้องนิทรรศการ และห้องสมุดบางส่วน
– ตู้หนังสือทุกตู้มีกระจกปิดเพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้า และรักาาความชื้นในห้องสมุดด้วยระบบการระบายอากาศที่ดี
– กิจกรรมสำหรับเด็กจะจัดทุกเสาร์ โดยมีอาสาสมัครมาช่วยจัด
– ค่าเข้าใช้บริการ ครั้งละ 50 บาท (เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาห้องสมุด)
อัตราค่าสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้
– ประเภทครอบครัว 3300 บาทต่อปี
– ประเภทบุคคลทั่วไป (อายุ 22 ปีขึ้นไป) 2500 บาทต่อปี
– ประเภทผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 1500 บาทต่อปี
– ประเภทเด็ก (อายุ 12 ปีขึ้นไป) 1700 บาทต่อปี
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ได้ที่ http://www.neilsonhayslibrary.com
หรือถ้าอยากไปชมสถานที่จริงก็สามารถเดินทางไปได้อยู่แถวๆ ถนนสุรวงศ์ หรือสอบถามทางได้ที่เบอร์ 0-2233-1731 นะครับ
ชมภาพการไปศึกษาดูงานที่ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library) ทั้งหมด
[nggallery id=46]